24 พ.ย. 2565 | 19:09 น.
เมื่อบางคนได้ยินว่า มีคนร้องเพลง ‘วาดไว้’ ของ BOWKYLION ท่อนหนึ่งเป็น ‘พี่กะเทยบอกฉัน อย่าร้องไห้’ แล้ว หลายคนนั้นก็ไม่สามารถกลับไปร้องเนื้อเก่า (ที่เธอเคยบอกฉัน อย่าร้องไห้) ได้อีกเลย
แม้ว่าคุณโบกี้จะออกเสียงเนื้อร้องค่อนข้างชัดเจน แต่เวลาได้ยินเพลงถึงท่อนนี้ หลายคนสลัด ‘พี่กะเทย’ ออกไปไม่ได้ สาเหตุที่ ‘ที่เธอเคย’ สามารถเปลี่ยนเป็น ‘พี่กะเทย’ ได้อย่างง่ายและติดหูขนาดนี้ เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้เสียง (perception) ของมนุษย์ที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ
จริงอยู่ที่การฟังเป็นเรื่องของเสียงที่มากระทบอวัยวะที่ใช้ในการได้ยิน แต่คลื่นเสียงไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่ทำให้เกิดการประมวลผลการรับรู้เสียงพูด
การได้ยินเสียงเป็นกระบวนการขั้นต้นที่นำไปสู่กระบวนการรับรู้เสียง และเมื่อเสียงที่รับรู้ประกอบขึ้นเป็นพยางค์และคำ สมองก็จะประมวลผลจนเข้าสู่กระบวนการรู้จำ (recognition) และเข้าใจ
ดังนั้น คลื่นเสียงจึงเป็นเพียงสิ่งกระตุ้นเบื้องต้น แต่กระบวนการหลังจากนั้นมีตัวแปรอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง หนี่งในนั้นคือ ‘ความรู้’ และ ‘ความคิด’ ที่ส่งผลต่อการประมวลผล เราจึงพบว่า หลายครั้ง เวลาที่เราได้ยินการแปลงเนื้อเพลง เนื้อเพลงที่แปลงใหม่ มันติดอยู่ในหัวเราเวลาที่เราได้ฟังเพลงนั้น หรือทำให้เราฮัมเป็นเนื้อเพลงอีกอย่างอยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความคิดสามารถบิดเบือนการรับรู้เสียงได้
มีการทดลองทางภาษาศาสตร์จำนวนมากพิสูจน์ทราบอิทธิพลของความรู้และความคิดที่ทำให้เราบิดเบือนการรับรู้เสียงและถ้อยคำ เช่น มีการวิจัยที่นำคำมาแล้วตัดเสียงบางเสียงออก และให้ผู้ร่วมการทดลองบอกว่า ได้ยินว่าอะไร ผู้ร่วมการทดลองจำนวนมากสามารถฟังได้ถูกต้อง และยืนยันว่าได้ยินเสียง (ที่ถูกตัดหายไป) การประมวลผลกู้คืนเสียงที่หายไป (phoneme restoration) นี้ มีปัจจัยหลายอย่างประกอบ หนึ่งในนั้นคือบริบท (context) ที่ชี้นำความคิด
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองอีกประเภท คือนำเสียงมาดัดแปลงให้มีความกำกวม อยู่ริมขอบของการแบ่งแยกเสียงพูด พอมีปัจจัยกระตุ้น ผู้ร่วมการทดลองจะได้ยินเสียงหนึ่งเป็นอีกเสียงหนึ่งทันที จะเห็นได้ว่า นอกจากคลื่นเสียงที่ผลิตโดยผู้ออกเสียงแล้ว ความคิดของผู้ฟังยังแทรกแซงการรับรู้เสียงอีกด้วย
ทั้งนี้ การที่เราจะฟังเสียงเปลี่ยนเป็นอีกเสียง และส่งผลให้คำหนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกคำหนึ่งได้ ปัจจัยสำคัญคือ เสียงทั้งสองเสียงจะต้องมีความคล้ายคลึงกันบางประการในเชิงคุณสมบัติของเสียงนั้น
เมื่อกลับมาพิจารณากรณีท่อน ‘ที่เธอเคยบอกฉัน อย่าร้องไห้’ ในเพลง ‘วาดไว้’ ที่เป็น ‘พี่กะเทยบอกฉัน อย่าร้องไห้’ โดยเทียบทีละพยางค์ หากฟังดูจะพบว่า พยางค์แรก ‘ที่’ อาจจะฟังดูไม่ค่อยเป็น ‘พี่’ เท่าไหร่ แต่เนื่องจากพยางค์นี้ไม่ได้ถูกเน้นมาก จึงพอจะไปได้
ที่น่าสนใจคือ ‘เธอเคย’ กับ ‘กะเทย’ พยัญชนะต้นของ ‘เธอ’ เป็นเสียงกักที่ปุ่มเหงือก (alveolar stop) กลายเป็น ‘กะ’ ซึ่งมีพยัญชนะต้นเป็นเสียงกักที่เพดานอ่อน (velar stop)
ส่วนพยัญชนะต้นของ ‘เคย’ ที่เป็นเสียงกักที่เพดานอ่อน กลับกลายเป็น ‘เทย’ ซึ่งมีพยัญชนะต้นที่ปุ่มเหงือก
จะเห็นได้ว่า เสียงกักที่ปุ่มเหงือก กับเสียงกักที่เพดานอ่อน มีการฟังสลับกันไปมา กล่าวคือมีทั้งเสียงกักที่ปุ่มเหงือกเป็นเสียงกักที่เพดานอ่อน และมีทั้งเสียงกักที่เพดานอ่อนเป็นเสียงกักที่ปุ่มเหงือกได้ด้วย
หากวิเคราะห์เรื่องอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง พบว่า เป็นพยัญชนะกักเหมือนกัน แต่ตำแหน่งของฐานกรณ์ (place of articulation) อยู่ห่างกัน ‘ปุ่มเหงือก’ และ ‘เพดานอ่อน’ อยู่ไกลกันมาก และใช้ลิ้นคนละส่วนในการออกเสียง กล่าวคือ เสียงปุ่มเหงือกใช้ลิ้นส่วนปลาย ส่วนเสียงเพดานอ่อนใช้ลิ้นส่วนหลัง และเมื่อพิจารณาปัจจัยเสียงแวดล้อมก็พบว่า ไม่มีเงื่อนไขทางเสียงแวดล้อมกระตุ้นด้วย
การที่เสียง ‘ปุ่มเหงือก’ และ ‘เพดานอ่อน’ สามารถฟังสลับกันไปมาได้ ไม่สามารถอธิบายได้ในเชิงสรีรสัทศาสตร์ (Articulatory Phonetics) หรือในเชิงของการผลิตเสียงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องวิเคราะห์ไปถึงค่าคลื่นเสียงที่ส่งผลต่อการรับรู้เสียงด้วย
เสียงกัก มีองค์ประกอบของการออกเสียงสำคัญ 3 ส่วนคือ อวัยวะเคลื่อนเข้าหากัน ปิดสนิท และระเบิดลมออก ถึงแม้ว่าเสียงกักที่ปุ่มเหงือกและเสียงกักที่เพดานอ่อน จะปิดสนิทที่ตำแหน่งต่างกัน แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือการผลิตเสียง และคลื่นเสียงในช่วงที่ระเบิดลมออก โดยย่านของความถี่ของลมที่ระเบิดออกเป็นหนึ่งในค่าบ่งชี้ของการรับรู้
เสียงปุ่มเหงือก จะมีย่านของช่วงระเบิดในช่วงความถี่สูง ๆ ส่วนเสียงเพดานอ่อน จะมีคลื่นของช่วงระเบิดในย่านความถี่สูงเมื่อปรากฏกับสระที่ลิ้นอยู่ต้านหน้าหรือสระหน้า และคลื่นของช่วงระเบิดในย่านความถี่ต่ำเมื่อปรากฏกับสระที่ลิ้นอยู่ด้านหลังหรือสระหลัง ความพิเศษอยู่ที่สระกลาง คลื่นของช่วงระเบิดของพยัญชนะกักที่อยู่หน้าสระกลางจะมีค่ากลาง ๆ ซึ่งเสียงปุ่มเหงือกที่ช่วงระเบิดอยู่ในย่านความถี่สูง สูงน้อยลงมาหน่อยเมื่ออยู่กับสระกลาง
คำว่า ‘เธอเคย’ มีสระเป็นสระเออ ซึ่งเป็นสระกลางทั้งคู่ (หากลองออกเสียงสระ เอ-เออ-โอ จะเห็นว่า ลิ้นขยับเป็นตำแหน่ง หน้า-กลาง-หลัง)
คำว่า ‘กะเทย’ เวลาออกเสียงเร็ว ๆ หรือไม่เน้นพยางค์แรกคือ ‘กะ’ จะไม่ออกเสียงโดยที่ลิ้นลงต่ำเหมือนเวลาเน้นเสียง เสียงสระอะในภาษาไทยซึ่งเป็นสระกลางต่ำ (central low) เมื่อออกเสียงเร็ว ๆ ก็จะยกขึ้นไปช่วงกลาง ใกล้กับตำแหน่งของสระเออ ส่วนคำว่า ‘เทย’ ก็เป็นสระกลางเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า ทุกคำที่ฟังสลับกันต่างก็อยู่หน้าสระกลาง ทำให้ย่านความถี่ของช่วงระเบิด เข้ามาใกล้กันระหว่างพยัญชนะปุ่มเหงือกและพยัญชนะเพดานอ่อน กล่าวคือแม้จะมีขอบเขตของการแบ่งแยกการรับรู้ (perceptual boundary) อยู่ แต่พออยู่หน้าสระกลาง ก็จะมาอยู่ใกล้ ๆ เส้นแบ่ง
นอกจากนี้ เมื่อเสียงพยัญชนะอยู่หน้าสระ การออกเสียงต่อเนื่องระหว่างพยัญชนะและสระจะทำให้ค่าคลื่นเสียงของสระในช่วงต้นในระยะรอยต่อได้รับอิทธิพล โดยเฉพาะค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่ 2 (second formant frequency) ซึ่งเป็นอีกค่าหนี่งในการรับรู้ด้วย โดยพยัญชนะกักที่ปุ่มเหงือกและพยัญชนะกักที่เพดานอ่อนเป็นคู่พยัญชนะที่ทำให้เกิดการบิดเบนของค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่สองของสระที่ตามมามีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยมีการบิดเบนในทิศทางตกลง แตกต่างที่ระดับของความชัน (แตกต่างจากพยัญชนะกักที่ริมฝีปากที่ทำให้เกิดการบิดเบนในทิศทางขึ้น) จึงเป็นอีกตัวแปรแทรกแซงที่เสริมให้คล้ายคลึงในเชิงการรับรู้ด้วย
จากความความคล้ายคลึงกันของค่าคลื่นเสียงสำคัญที่ส่งผลต่อการรับรู้ และการรู้เนื้อที่มีคนแชร์กันมาในโลกออนไลน์ที่ส่งเสริมกัน ดังนั้น พอเคยได้ยินว่า ‘กะเทย’ สมองเราก็พร้อมจะประมวลการรับรู้ค่าคลื่นเสียงพยัญชนะ ‘เธอเคย’ ซึ่งอยู่ค่อนข้างใกล้เคียงกันในขอบการแบ่งแยกการรับรู้ให้เป็นอีกเสียงและประกอบขึ้นเป็นอีกคำได้อย่างง่ายได้
หลายคนเลยไม่สามารถกลับไปฟังเพลงนี้ได้อย่างเดิมอีกต่อไปได้แล้ว
เรื่อง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์
ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ: Whattheduck/YouTube