03 ธ.ค. 2565 | 11:36 น.
พบกันอีกครั้งกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “World Film Festival of Bangkok” หรือ “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” (ครั้งที่ 15) กลับมาอีกครั้งในรอบ 5 ปี จัดขึ้นระหว่าง 2-11 ธันวาคม 2565 ภายใต้ธีม ‘Return to Cinema’ โดยมีผู้อำนวยการเทศกาล คือ ‘ดรสะรณ โกวิทวณิชชา’ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยอิสระที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก
โดยเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดงาน เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 15 (World Film Festival of Bangkok) ซึ่งเครือเนชั่นกรุ๊ป เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน มีทั้งนักการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน ดารา นักแสดง ผู้สร้างหนัง คนในวงการภาพยนตร์ เข้าร่วมจำนวนมาก
สำหรับเทศกาลครั้งนี้คัดสรรภาพยนตร์มากถึง 61 เรื่อง ภาพยนตร์สั้นทดลอง 20 เรื่อง มาจากทั้งหมด 51 ประเทศทั่วโลก และกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งเทศกาล 10 วัน เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจนถึงระดับสากล ซึ่งงานนี้ยังเป็นอีก 1 งานสำคัญที่อยู่ในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “Soft Power” ผลักดันส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ของประเทศไทย ในด้านภาพยนตร์ (Film) ซึ่งเทศกาลจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2565 ณ โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
สำหรับภาพยนตร์ที่ถูกฉายในเทศกาลครั้งนี้ มีเรื่องราวที่หลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงความหลากหลายทางเพศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คนจากทุกสภาพสังคมทั่วโลก โดยแบ่งหมวดต่าง ๆ ดังนี้:
Kaleidoscope: ไม่ว่าจะเป็นหนังแรงที่เป็นที่กล่าวขวัญจากเทศกาลดังทั่วโลก หรือหนังที่เก็บกวาดชนะรางวัลมาจากเทศกาลหนังระดับแนวหน้า ทีมงานได้รวบรวมมาให้แฟนภาพยนตร์ในประเทศไทยได้รับชมกันที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
Record: เพื่อเอาใจคอหนังสารคดี "World Film Festival of Bangkok" จึงเฟ้นหา และคัดสรร เพื่ออัปเดตภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวและมุมมองในเนื้อหาที่น่าสนใจจากหลากหลายประเทศ พลาดไม่ได้สำหรับคอหนังสารคดีดังที่คัดมาจากทั่วทุกมุมโลก
Windows: ด้วยวิถีการเล่าเรื่องแนวใหม่ๆ และการใช้เทคนิคการถ่ายทำที่พัฒนาขี้นอย่างก้าวกระโดดด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่โลกได้เปลี่ยนไปแล้วในห้วงเวลาจากล็อกดาวน์ และมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับโลกภาพยนตร์ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์แนวทดลองที่น่าจับตามองที่สุดของปี 2022-2023
Special Presentation: โปรแกรมพิเศษที่เป็นมากกว่าการฉายภาพยนตร์ แต่ผู้ชมจะได้สัมผัส และทำความรู้จักกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแห่งการเล่าเรื่องบนโลกหนังมากขึ้นผ่านกิจกรรมสุดพิเศษที่ทางเทศกาลได้เตรียมไว้อย่างครบครัน
Classics: รวบรวมภาพยนตร์ระดับตำนานที่หาดูได้ยาก และยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำและประทับในความรู้สึกที่ผู้ชมยังคงต้องการที่จะได้ร่วมรับประสบการณ์สุดประทับใจอีกครั้ง ทางเทศกาลได้เตรียมจัดฉายเป็นกิจกรรมพิเศษในงานครั้งนี้ด้วย
ภาพยนตร์ไฮไลต์ครั้งนี้จำนวน 12 เรื่อง จากทั้งหมด 61 เรื่อง ยกพลมาให้ผู้ร่วมงานได้เข้าไปสู่โลกของเทศกาลภาพยนตร์อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น อาทิ AFTERSUN จากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา, ALCARRÀS จากประเทศสเปนและอิตาลี, IN VIAGGIO จากประเทศอิตาลี, EO จากประเทศโปแลนด์และฝรั่งเศส, NO BEARS จากประเทศอิหร่าน, A MAN จากประเทศญี่ปุ่น, TORI AND LOKITA จากประเทศเบลเยียม, A HUNDRED FLOWERS จากประเทศญี่ปุ่น, RULE 34 จากประเทศ บลาซิลและฝรั่งเศส, RETURN TO SEOUL หนังความร่วมมือจากหลายประเทศอย่าง ฝรั่งเศส, เกาหลีใต้, กัมพูชา, เยอรมนี และเบลเยี่ยม, TCHAIKOVSKY’S WIFE จากประเทศรัสเซีย, ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์, CLOSE จากประเทศเบลเยี่ยม
โดยภาพยนตร์ทั้ง 12 เรื่องได้รับการยอมรับและถูกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอย่าง Cannes Film Festival, Venice Film Festival, Toronto Film Festival และ Busan International Film Festival เป็นต้น
เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 15 ยังเป็นเทศกาลที่เชื่องโยงผู้คนแวดวงภาพยนตร์จากทั่วโลกมาเจอกัน ปีนี้มีผู้กำกับ นักแสดง และผู้เชี่ยวชาญวงการภาพยนตร์ เดินทางมาร่วมเทศกาลครั้งนี้ราว 40 ท่าน
สำหรับรางวัลประจำเทศกาล “Lotus Award” จะมอบให้ผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับการจับตามองในเทศกาลยนตร์นานาชาติทุกมุมโลก โดยปีนี้มีภาพยนตร์เข้าชิงทั้งหมด 21 เรื่อง ได้แก่
1) #LOOKATME จากประเทศสิงคโปร์
2) I HAVE ELECTRIC DREAMS จากประเทศเบลเยี่ยม, ฝรั่งเศส, ตอสตาริกา Belgium
3) A MAN จากประเทศญี่ปุ่น
4) RULE 34 จากประเทศบลาซิล, ฝรั่งเศส
5) SAFE PLACE จากประเทศโครเอเชีย, สโลวีเนีย
6) LEONOR WILL NEVER DIE จากประเทศฟิลิปินส์
7) SCALA จากประเทศไทย
8) STONEWALLING จากประเทศญี่ปุ่น
9) THE SALES GIRL จากประเทศมองโกเลีย
10) TORA'S HUSBAND จากประเทศอินเดีย
11) HOW IS KATIA? จากประเทศยูเครน
12) JOYLAND จากประเทศปากีสถาน
13) AUTOBIOGRAPHY จากประเทศอินโดนีเซีย, ฝรั่งเศส, สิงคโปร์, โปแลนด์, ฟิลิปปินส์, เยอรมนี, กาต้าร์
14) BLUE AGAIN จากประเทศไทย
15) HAVE YOU SEEN THIS WOMAN? จากประเทศเซอร์เบีย, โครเอเชีย
16) VICTIM จากประเทศสโลวาเกีย, เซ็ก รีพับลิค, เยอรมนี
17) MEMENTO MORI: EARTH จากประเทศเวียดนาม
18) RICEBOY SLEEPS จากประเทศแคนาดา
19) THE CORD OF LIFE จากประเทศจีน
20) A HUNDRED FLOWERS จากประเทศญี่ปุ่น
21) KLONDIKE จากประเทศยูเครน
ทั้งนี้ทางเทศกาลฯ ริ่เริ่มรางวัลพิเศษ “รางวัลเกรียงศักดิ์ศิลากอง” เพื่อรำลึกการจากไปของ “วิคเตอร์ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง” อดีตผู้อำนวยการเทศกาล ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศเชิดชูบุคลากรที่มีคุณูปการแก่วงการภาพยนตร์ทั้งในไทยและระดับนานาชาติ
และเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพขอร่วมรำลึกและอาลัยต่อ หม่อมน้อย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับละครโทรทัศน์ และละครเวที ชื่อดังที่สร้างผลงานไว้อย่างมากมายในสายตาคนไทยและต่างชาติ ทางเทศกาลฯจัดฉายภาพยนตร์คุณภาพการกำกับฝีมือชั้นครู 3 เรื่อง ได้แก่ ฉันผู้ชายนะยะ, นางนวล และ มหัศจรรย์แห่งรัก
“World Film Festival of Bangkok” หรือ “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ” (ครั้งที่ 15) ซึ่งจัดเต็มภาพยนตร์ระดับโลก และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายตลอดทั้งเทศกาล จัดขึ้นระหว่าง 2-11 ธันวาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ติดตามข่าวสารและโปรแกรมภาพยนตร์ได้ทางเว็บไซต์ www.worldfilmbangkok.com และ Facebook: World Film Festival of Bangkok Official
ติดต่อสอบถามอีเมล์ [email protected]