3 แนวคิดสร้างสรรค์ Soft power ใหม่ในแดนอีสาน จาก 3 กิจการพลิกวิธีคิดจากแนวเดิม

3 แนวคิดสร้างสรรค์ Soft power ใหม่ในแดนอีสาน จาก 3 กิจการพลิกวิธีคิดจากแนวเดิม

เมื่อความ ‘สร้างสรรค์’ ไม่ได้ถูกขีดเส้นขวางความเจริญงอกงามของอัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่สามารถนำมาผสมผสานเพื่อให้เกิดความรับรู้ใหม่ ต่อยอดไปสู่พลังอีสานสร้างมูลค่าในที่สุด

  • เวทีเสวนาว่าด้วยเรื่องความสร้างสรรค์นำเสนอ 3 แนวคิดอีสานสร้างสรรค์ Soft power ใหม่แดนอีสาน จาก 3 กิจการพลิกวิธีคิดจากแนวเดิม 
  • ‘เฮือนคำนาง’ ร้านอาหารที่อยากให้ผู้คนได้รู้จักอีสาน และอาหารอีสานมากขึ้น
  • ‘Columbo Craft Village’ การเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับงานคราฟต์
  • ‘มหาสารคราฟต์’  การพัฒนาผ้าทอให้ทันสมัย และไปไกลกว่าเดิม

ใน Session : เว่าสั้น 1 ยืนเดี่ยว เล่าลึกอย่างถึงแก่น อีสานสร้างสรรค์ (Creative Economy) : Soft power ใหม่ในดินแดนอีสาน ของงาน ISAN BCG EXPO 2022 งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืน เพื่อพัฒนา ‘อีสาน’ ให้เป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจ บนฐานคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในระดับประเทศและภูมิภาค สะท้อน 3 แนวคิดการส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์ และมูลค่าที่จับต้องได้

เฮือนคำนาง : ศิลปะและการเสิร์ฟวัฒนธรรมอีสานอย่างสร้างสรรค์
คำพูดที่ว่า ถ้าอยากรู้จักผู้คนให้ไปเดินตลาด ถ้าอยากรู้จักรากเหง้าให้เปิดตู้กับข้าว คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก เพราะวิถีวัฒนธรรมของผู้คนมักถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องปากท้องอยู่เสมอ 

เหมือนจุดเริ่มต้นของ ‘เฮือนคำนาง’ ของ ‘ณัฎฐภรณ์ คมจิต’ อดีตผู้สื่อข่าวการเมืองเมื่อ 15 ปีก่อน ที่อยากให้ผู้คนได้รู้จักอีสาน และอาหารอีสานมากขึ้น

3 แนวคิดสร้างสรรค์ Soft power ใหม่ในแดนอีสาน จาก 3 กิจการพลิกวิธีคิดจากแนวเดิม

ไม่ว่าจะชนิดของอาหารที่วนเวียนอยู่แค่ ส้มตำ ลาบ ก้อย หรือการดูแคลนว่า อาหารอีสานสกปรก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ต้นทุนทางวัฒนธรรมอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นหลากหลาย และลุ่มลึกกว่านั้น   

“ยิ่งแห้งแล้ง ยิ่งกันดาร พืชพรรณยิ่งเข้มข้น”

เธอนิยามถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดต้องยกให้ทุ่งกุลาร้องไห้

แน่นอนว่า สำรับอาหาร หรือพาข้าว น่าจะเป็น สื่อที่นำพาสารที่จะส่งไปถึงผู้คนได้อย่างดีที่สุด เพราะในพาข้าว 1 พานั้น ได้รวบรวมเอาทุกอย่างของความเป็นอีสานเอาไว้อย่างละเมียดละไม ตั้งแต่ วัตนธรรม วิถีชีวิตที่บอกเล่าผ่านลวดลายบนภาชนะ ภูมิปัญญา ความเป็นอยู่ที่สอดแทรกอยู่ในวัตถุดิบ ความเชื่อ-วิถีชีวิตที่สลักเสลาบนเครื่องปรุงหรือวิธีรับประทาน 

ทุกอย่างล้วนสะท้อนความเป็นอีสานได้อย่างหมดจด 

“ตามตำราโบราณ คนอีสานจะรับแขกผ่าน พาข้าว 7 พา เริ่มจาก เหล้ายาปลาปิ้ง สาโท บุหรี่ ยาสูบ ยาเส้น หลังจากนั้นจึงเป็นพาเมี่ยง พาข้าวคาวหวาน ตามมา” เชฟคำนางเล่าถึงคอนเซปต์หลักที่เลือกขึ้นมานำเสนอ ก่อนจะนำไปสู่กลุ่มเป้าหมาย โฟกัสกลุ่มคนที่มี “ความอยากรู้จักอีสาน” เป็นหลัก 

.

ไม่ว่าจะเป็น... 

คนที่รู้อยู่แล้ว หรือ คนในพื้นที่

คนที่อาจจะรู้ หรือ คนนอกพื้นที่ 

รังสรรค์เมนูที่ได้รับความร่วมือจากชุมชนในการเฟ้นหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดในแต่ละวันมาขึ้นสำรับ

“เรารับแขกวันละโต๊ะ และต้องจองเท่านั้น” นี่เป็นความพิเศษอีกอย่างที่ทำให้ เฮือนคำนาง หัวกระไดบ้านไม่แห้งไปถึงเดือนเมษายน ปี 2566 แล้ว 

เธอยืนยันว่า เพียงแค่รับรู้ถึงคุณค่าที่มีในตัวตน และรากเหง้าของเราก่อน มูลค่า และความยั่งยืนก็จะตามมา

Columbo Craft Village : เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้กลายเป็นหมู่บ้านงานคราฟต์ 

จากความชอบร่วมกัน กลายเป็นกลุ่มก้อนของความร่วมสมัย และนำไปสู่การสร้างชุมชนในฝันที่อยากเห็นขึ้นมา นี่น่าจะเป็นคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมาที่สุด สำหรับ ‘ชาญณรงค์ เหลวกูล’  ผู้สร้างสรรค์พื้นที่แห้งแล้ง Columbo Craft Village ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับงานคราฟต์ของเขา และเพื่อนพ้อง

3 แนวคิดสร้างสรรค์ Soft power ใหม่ในแดนอีสาน จาก 3 กิจการพลิกวิธีคิดจากแนวเดิม  

ด้วยการเป็นคนค้าขาย ทำให้เขากับเพื่อนๆ ที่รู้จักได้มีโอกาสไปสัมผัสกับพื้นที่เชิงศิลปะ และความสร้างสรรค์ตามสถานที่ต่างๆ กลายมาเป็นต้นทุนทางความคิดริเริ่มที่ว่า อยากรังสรรค์พื้นที่แบบนี้ใน จ. ขอนแก่นบ้าง 

เขาและเพื่อนรุ่นก่อตั้ง 8 ชีวิต ได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และหาแนวทางความเป็นไปได้ในการสร้างพื้นที่ศิลปะในฝันขึ้น 

โดยมีโจทย์ตั้งต้น 4ข้อใหญ่ 

ทุน หาจากที่ไหน นอกจากการระดมทุนร่วมกันคนละเล็กละน้อยเพื่อเป็นสารตั้งต้น 

ทำเล ที่ตั้งตรงไหนถึงจะเหมาะ ทั้งในแง่การการเป็นศูนย์กลาง และความสะดวกอื่นๆ 

ลูกค้า จะเป็นใครบ้าง กลุ่มเด็กๆ นักเรียนนักศึกษา หรือกลุ่มคนทำงาน

และคำถามสำคัญ ที่ว่า พื้นที่แห่งนี้จะให้อะไรตอบแทนกับชุมชนได้บ้าง นี่จึงกลายเป็นที่มาของ Columbo Craft Village ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น  

“เข้าไปในพื้นที่เราก็จะเจอกับร้านที่หลากหลาย ร้านกาแฟ เซรามิก ร้านสอนดนตรี ร้านหนังสือ ร้านเฟอร์นิเจอร์ และพื้นที่ทำงานศิลปะ” เขาอธิบายให้เห็นภาพ 

กิจกรรมตามความตั้งใจ นอกจากจะเป็นแหล่งรวมของคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันแล้ว ที่นี่ยังจะเป็นพื้นที่ของโอกาส สำหรับคนที่อยากทำงานศิลปะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นสตูดิโอรับรองศิลปินที่จะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา พวกเขาเคยได้รับศิลปินต่างชาติมาร่วมงาน และแสดงงาน รวมทั้งคณะนักศึกษาจากอเมริกาที่มาฝังตัวทำงานเกี่ยวกับศิลปะกว่า 50 ชีวิตมาแล้ว 

นอกจากกิจกรรมเชิงศิลปะกับกลุ่มศิลปิน ที่นี่ยังเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อให้เป็นแหล่งรวมของคนที่มีความสนใจ และความชอบได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันในช่วงเทศกาลต่างๆ อีกด้วย 

ชาญณรงค์ ยอมรับว่า การก้าวเดินของพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ในเมืองที่ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของภาคอีสานนั้นเพิ่งเริ่มต้น แต่พวกเขาก็หมายมั่นปั้นมือว่า ที่นี่จะเติบโตจนกลายเป็นอาร์ตสเปซที่อยู่ในหมุดหมายของคนรักศิลปะทั่วโลกจะมีโอกาสได้มาเยือนสักครั้ง 

แน่นอนว่า มันไม่ต่างจากผลพลอยได้ของความฝัน และความตั้งใจ ที่ตอบแทนกลับมาด้วยรูปธรรมที่เรียกว่าความสำเร็จ นั่นเอง 

มหาสารคราฟต์  : การตีความผ้าทอให้ทันสมัย และออกไปไกลกว่าเดิม 

เวลาพูดถึงผ้าไหมในภาคอีสาน จ.มหาสารคาม มักไม่ค่อยถูกสร้างความรับรู้ในงานฝีมือแขนงนี้มากสักเท่าไหร่ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และการเดินทางครั้งใหม่ของไหมมหาสารคาม ผ่านทีมวิจัย นำโดย ‘รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล’ และสมาชิกสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) 

โดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนารูปแบบและสร้างอัตลักษณ์ให้ผ้าไหมมหาสารคามให้โดดเด่นขึ้นมา ซึ่งงานนี้ มี ‘ชลิต นาคพะวัน’ ศิลปินมากฝีมืออีกคนของวงการมาช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และนำไปสู่การร้างแบรนด์ มหาสารคราฟต์ ขึ้นมา

3 แนวคิดสร้างสรรค์ Soft power ใหม่ในแดนอีสาน จาก 3 กิจการพลิกวิธีคิดจากแนวเดิม

มหาสาร คราฟท์ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าจากทุนวัฒนธรรมในกลุ่มช่างทอ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างเอกลักษณ์ให้กับผ้าทอ จนกลายมาเป็นชุดสีต้นแบบแพนโทนของ จ.มหาสารคาม ในที่สุด 

คนทำงานศิลปะอย่างชลิตยอมรับว่า จุดที่ท้าทายที่สุดของมหาสารคราฟต์ ไม่ใช่เรื่องของการดีไซน์ หรือการหาวัตถุดิบ แต่เป็นเรื่องของ การทำความเข้าใจ และวิธีคิด ของกลุ่มช่างทอ

“นอกจากความคุ้นเคยในสิ่งที่คนในชุมชนทำอยู่แต่เดิมแล้ว ความไม่ไว้ใจ กลัวว่าจะมาหลอกเอาข้อมูลไปทำอย่างอื่น ก็ทำให้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันอยู่พอสมควร” 

แต่หลังจากตั้งหลักได้ ก็เริ่มเรียนรู้ และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้สามารถนำไปสู่การใช้จริงได้ ไม่ว่าจะเป็น การย้อมเส้นไหมด้วยผงสีแก่นฝาง ที่มีจุดเด่นในการ ควบคุมความเข้ม-อ่อนของโทนสีได้หลายเฉดตามความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้การย้อมสีผ้าเหมือนกันทุกครั้ง วิธีการต่อ ปะ ติด ผ้า เพิ่มมูลค่าให้เศษผ้า

รวมทั้งการออกแบบแพทเทินเพื่อตัดเย็บเป็นชุดที่ร่วมสมัย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นอีสานเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน 

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมหาสารคราฟต์ นอกจากจะสามารถสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับผ้าไหมมหาสารคามแล้ว ยังถือเป็นก้าวสำคัญของการหลอรวมภูมิปัญญาเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ที่ชลิตยืนยันว่า นี่จะเป็นต้นทุนสำคัญ ในการที่จะสามารถต่อยอด และนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต