‘เจมส์ คาเมรอน’ ผู้ทำ Avatar ผงาดสู่ภาค 2 จากหนุ่มที่เคยขับรถบรรทุกเพื่อตามฝันด้านหนัง

‘เจมส์ คาเมรอน’ ผู้ทำ Avatar ผงาดสู่ภาค 2 จากหนุ่มที่เคยขับรถบรรทุกเพื่อตามฝันด้านหนัง

จากคนขับรถบรรทุกผู้ลุ่มหลงในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ‘เจมส์ คาเมรอน’ (James Cameron) ตามความฝันมาเป็นผู้สร้างหนังเหนือจินตนาการมากมาย ผลงานลือลั่นที่สุดของเขาย่อมต้องมี ‘AVATAR’ ซึ่งกำลังมาสู่ภาค 2

  • เจมส์ คาเมรอน สร้างสรรค์ Avatar เป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการภาพยนตร์หลายด้าน กระทั่งมาถึงการสร้างภาคต่อเข้าฉายปี 2022 
  • ก่อนสร้างผลงาน เขาเคยต้องขับรถบรรทุกขณะไล่ตามฝันในสายงานด้านภาพยนตร์
  • เส้นทางชีวิตของเจมส์ คาเมรอน นำมาสู่การสร้างหนัง Avatar: The Way of Water ที่เขาเรียกว่าใช้ต้นทุน ‘โคตรแพง’ 

‘AVATAR’ ภาพยนตร์เมื่อปี 2009 อีกหนึ่งภาพยนต์ที่น่าจดจำที่สุดตลอดกาลของโลกภาพยนต์และจะมีภาคต่อออกฉายใน 14 ธันวาคม 2022 หลังจากการรอคอยนานถึง 13 ปี

เมื่อครั้งอดีต ครอบครัวหนึ่งในสหรัฐ มีเด็กชายตัวเล็ก ๆ ผู้มีความฝันว่าอยากเป็นนักสำรวจและหมกมุ่นเป็นอย่างมากกับการนั่งอ่านนวนิยายแนวไซ-ไฟ และท่องไปยังโลกในจินตานาการ ค้นหาไอเดียแล้วจดบันทึกลงในสมุด ปัจจุบันเด็กคนนั้นกลายเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนต์ที่น่าจดจำที่สุดตลอดกาล ความสงสัยใคร่รู้ได้กลายเป็นพลังที่ผลักดันให้ ‘เจมส์ คาเมรอน’ ปราศจากขีดจำกัด กล้าคิด กล้าทำ กล้าสร้างผลงานยิ่งใหญ่

ความหลงใหลในเรื่องราววิทยาศาสตร์นี้เองที่นำเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เอกฟิสิกส์ แล้วเปลี่ยนเป็นเอกภาษาอังกฤษ สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะดรอปออกมาและทำงานขับรถบรรทุกอยู่พักหนึ่งระหว่างเส้นทางไล่ตามหาความฝัน แต่แล้วคนขับรถบรรทุกคนนั้นก็โดนภาพยนตร์ Star Wars (1977) ดึงดูดเจมส์ เข้ามาทำงานในสายภาพยนตร์

ผลงานเรื่องแรกที่เจมส์ สร้างเกี่ยวกับโลกไซไฟล้ำยุคของคู่รักหนุ่มสาวที่ต้องเอาชีวิตรอดจากหุ่นยนต์ยักษ์ ที่มีความยาวเพียง 12 นาที เป็นผลงานที่สร้างชื่อจนทำให้เขาได้งานสายเทคนิคพิเศษ หลังจากเดินทางสายนี้ เจมส์ได้ผลิตผลงานที่ออกมาจากไอเดียของเขาเองให้โลดแล่นอยู่บนจอเงินและจอแก้ว ไม่ว่าจะเป็น The Terminator (1984) หรือ Aliens (1986) เจมส์ร่วมมือกับทีมวิชวลเอฟเฟกต์ Industrial Light & Magic (ILM) กว่า 6 เดือนเพื่อร่ายเวทมนต์สร้างตัวละครที่ใช้คอมพิวเตอร์ กราฟิก 100% ตัวแรกให้กับภาพยนต์เรื่อง The Abyss (1989) 

ถึงแม้เจมส์ จะเป็นคนที่มักผลิตผลงานที่มีเรื่องราวล้ำยุคล้ำสมัย แต่อีกหนึ่งผลงานระดับโลกที่เล่าเรื่องราวความรักเรียบง่ายทว่าโศกเศร้าอย่าง Titanic (1997) เขาใส่ความทุ่มเทที่ถึงขั้นใช้เรือจำลองขนาดเท่าของจริง และการระเบิดพื้นที่บริเวณชายหาดในประเทศเม็กซิโกเป็นแอ่งบรรจุน้ำ ก็ได้รับผลลัพธ์กลับมา หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุด ณ ช่วงเวลานั้น และได้รับออสการ์มากถึง 11 สาขา

ขณะที่ผลงาน Ghosts of the Abyss (2003) การดำน้ำสำรวจเรือไททานิก และ Aliens of the Deep (2005) สำรวจสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดใต้ทะเล เป็นสารคดีที่สนองความต้องการส่วนตัวของเจมส์ คาเมรอนเอง เมื่อตอนที่อายุ 15 เขามีความฝันว่าอยากจะเป็นนักดำน้ำ และพ่อของเขาก็ได้พาเข้าโรงเรียนสอนดำน้ำ จนได้ใบอนุญาตดำน้ำในสระ ในที่สุดเขาก็สามารถลงทะเลจริง ๆ ได้ในอีกสองปีต่อมา

กว่า 3,000 ชั่วโมงที่เขาดำน้ำ และอีกกว่า 500 ชั่วโมงในเรือดำน้ำ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี เขาได้เรียนรู้และพบเห็นสิ่งน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับระบบนิเวศของท้องทะเลลึก และมันทำให้เขาได้รู้ว่า จินตนาการของธรรมชาติไร้ซึ่งขอบเขตหากเทียบกับจินตนาการอับคับแคบของมนุษย์ ความงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจของโลกใต้ทะเลลึกยังคงตราตรึงอยู่ในใจของเขาตลอดมา

เมื่อถึงเวลาของภาพยนต์เรื่อง Avatar (2009) ถูกปล่อยสู่สายตาผู้คน ผลงานนั้นพลิกประวัติศาสตร์วงการภาพยนต์โดยกลายเป็นหนังที่ถ่ายด้วยกล้อง 3 มิติเรื่องแรกของโลก ประกอบกับทุนสร้างมหาศาล และล้มสถิติหนังทำเงินสูงสุดของโลกก่อนหน้าได้สำเร็จ

เรื่องราวของ Avatar เล่าเกี่ยวกับ ‘เจค ซัลลี่’ (Jake Sully) นาวิกโยธินผู้ที่จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการ ‘อวาตาร’ บนดาวแพนโดรา ดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากดาวบ้านเกิดของเขาเองอย่างสิ้นเชิง

เจคต้องเข้าไปทำภารกิจซื้อความเชื่อใจจากชนพื้นเมือง ‘ชาวนาวี’ (Na’vi) เผ่า ‘โอมาทิคายา’ (Omaticaya) เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่แอบแฝงมาของเหล่าผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ แต่หลังจากการเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขา ทำให้เจคค้นพบบางอย่างและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวโอมาทิคายาอย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุให้เจคต้องเลือกระหว่างการทำภาระกิจให้ลุล่วงหรือกลายเป็นคนทรยศต่อเผ่าพันธุ์ของตนเอง

ต้นกำเนิดเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อเจมส์ อายุได้ 19 ปี เรื่องราวของดาวแพนโดรา ชนพื้นเมืองโอมาทิคายา และชาวนาวี สิ่งมีชีวิตตัวสูงใหญ่ ผิวสีฟ้าที่สร้างวัฒนธรรมให้กับดาวแพนโดรามาช้านานและมีภาษาพูดเป็นของตัวเองได้ผุดเข้ามาในหัวของเจมส์

ในส่วนของการพัฒนาภาษาและการสื่อสารของสิ่งมีชีวิตบนดาวต้องอาศัยความร่วมมือของนักภาษาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาอย่าง University of Southern California ภาษาในเรื่องจึงเป็นภาษาที่มีไวยากรณ์ คำศัพท์และสำเนียง จนสามารถสื่อสารกันได้จริง และสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อร้องในเพลงประกอบภาพยนต์ได้อีกด้วย

ในขณะที่พัฒนาการของดาวแพนโดราคืบหน้าไปเรื่อย ๆ ทางฝั่งเจมส์ ระดมทีมสร้างจากบริษัท Weta FX เพื่อรับหน้าที่ดูแลในส่วนของ visual effect ของตัวภาพยนตร์ และยังมีการพัฒนากล้อง 3 มิติ SONY HDC-F950 ที่สามารถบันทึกภาพในแบบที่เจมส์ต้องการมาใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

และหลังจากระยะเวลาหลาย 10 ปี เหล่าตัวละครก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวบนจอเงินสู่สายตาผู้ชม ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของอวตารในการกลายเป็นภาพยนต์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดการโดยการล้มคู่แข่งใน box office รวมไปถึงผลงานของเจอมส์ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้อย่าง Titanic เมื่อปี 1997 รวมไปถึงการคว้ารางเวทีระดับโลกอย่าง เวที OSCARS มาถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม ยังมีรางวัลที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรวมทั้งสิ้น 9 เช่น ภาพยนต์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม

ในปี 2022 เรื่องราวภาคต่อของดาวแพนโดราและชาวนาวี ได้รับการสานต่อมาสู่ภาพยนตร์ ‘Avatar: The Way of Water’ ที่จะมีความยาว 3 ชั่วโมง 10 นาที

13 ปีหลังจากที่หนังภาคแรกสร้างความสำเร็จเอาไว้มากมายในโลกภาพยนต์ เรื่องราวของภาคต่อถูกเล่าผ่านตัวอย่างภาพยนต์ซึ่งมีการสร้างครอบครัวของตัวละครเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราว นักแสดงจากภาคแรกอย่าง Sam Worthington, Zoe Saldaña ก็กลับมารับบทเดิมในหนังภาคต่อด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องราวภาคนี้จะพาแฟน ๆ และผู้ชมท่องไปในท้องทะเลแห่งดาวแพนโดรา จากชื่อภาค ‘The Way of Water’ เราจะได้เห็นวิถีชีวิตของชนเผ่า ‘เมตคายีนา’ (Metkayina) ที่ผูกโยงเป็นหนึ่งเดียวกันกับสายน้ำและเหล่าสัตว์ใต้ท้องนทีบนดาวแพนโดรา อีกทั้งไฟสงครามเผ่าพันธุ์ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกดับไปแล้วในอดีตกลับถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับปริศนาการกลับมาของศัตรูตัวฉกาจจากภาคแรก เป็นการรับรองว่าการกลับอวตารยังคงเสิร์ฟความน่าพิศวงและความน่าตื่นตาให้เหล่าผู้ชมได้อย่างที่ครั้งหนึ่งเคยทำ 

ส่วนที่น่าทึ่งในหนังทุกเรื่องของเจมส์ คาเมรอน คือ การใช้ Visual Effect ด้วยความที่ภาคต่อมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นใต้น้ำและการสร้าง CG น้ำ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องท้าทายที่สุดในโลกภาพยนต์ แต่ด้วยความที่ผู้กำกับคือเจมส์ คาเมรอน เขาไม่คาดหวังน้ำในแบบที่หนังเรื่องอื่น ๆ ทำได้ แต่เขาต้องการมากกว่านั้น ข้อจำกัดมากมายในการสร้าง ‘น้ำ’ ให้ออกมาสมจริงตามแบบที่เจมส์ต้องการมีมากเกินไป ทำให้เพื่อนร่วมงานของเขาพยายามเกลี้ยกล่อมเจมส์ อย่างสุดความสามารถที่จะเปลี่ยนใจเจมส์ ให้ใช้การถ่ายแบบเฉพาะที่เรียกว่า ‘dry for wet’ ซึ่งใช้เทคนิคการถ่ายทำด้วยตัวช่วยเช่น ควัน ฟิลเตอร์สี และเอฟเฟกต์ด้านแสงเพื่อให้ภาพออกมาดูเหมือนภาพจากใต้น้ำแต่การถ่ายทำจริงเกิดขึ้นบนพื้นที่ซึ่งถูกจัดวางขึ้น

เจมส์ บอกกับ Entertainment Weekly ว่า “มันไม่เวิร์คแน่ มันจะไม่สมจริง” เจมส์เลือกที่จะท้าทายข้อจำกัดนี้ โดยการให้ทีมงานทำการทดสอบถ่ายแบบ dry for wet แล้วจึงลองวิธีถ่ายภาพใต้น้ำ และผลลัพธ์ก็คงเป็นที่แน่ชัดว่าภาพที่ได้จากการถ่ายทำแบบ dry for wet นั้นเทียบไม่ได้เลยกับภาพที่ได้จากการถ่ายทำในน้ำจึงเป็นที่มาของการที่นักแสดงต้องลงไปแหวกว่ายในแทงค์ที่บรรจุน้ำ 900,000 แกลลอนเพื่อถ่ายทำ

นักแสดงจึงต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ เพื่อเรียนรู้การฝึกกลั้นหายใจให้ได้เป็นนาที เคต วินสเลต (Kate Winslet) หนึ่งในนักแสดงใน Titanic ถูกรายงานว่า เธอสามารถกลั้นหายใจได้มากกว่า 7 นาทีด้วยซ้ำ

ในปีเดียวกันกับการถ่ายทำภาคสอง เจมส์ก็ได้ทำการถ่ายทำ Avatar 3 เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน เจมส์บอกว่าโอกาสที่จะได้ทำภาคต่อ ๆ ไปจะขึ้นอยู่กับการตลาดและความชื่นชอบของแฟน ๆ ผู้ให้กำเนิดแฟรนไชส์เรื่องนี้อย่างเจมส์เองก็ยังสัมผัสได้ว่ากราฟความสำเร็จอาจจะไม่ได้พุ่งขึ้นเป็นเส้นตรงอย่างสวยงามขนาดนั้น เขาจึงบอกอย่างชัดเจนว่า แฟรนไชส์อวาตารอาจจะมีเพียงสามภาคเพราะทั้งหมดนี้ถ่ายเอาไว้เสร็จหมดแล้ว

ความยาวของหนังภาคต่อทำให้ผู้คนมากมายต้องทึ่ง เพราะมันมีความยาวร่วม 3 ชั่วโมงเพื่อเป้าหมายที่จะเล่าเรื่องราวที่น่าทึ่งและลึกซึ้งเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึก ถ้าถามว่าผู้ชมที่ต้องการเข้าห้องน้ำระหว่างการฉายควรจะลุกไปช่วงไหนดี เจมส์พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ตอนไหนก็ได้ที่ต้องการ เพราะเดี๋ยวพวกเขาก็ได้ดูฉากที่พลาดไปตอนมาดูอีกรอบ”

คาเมรอนเล่าด้วยว่า ความสำคัญของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ตัวละคร เรื่องราว และความสัมพันธ์ และในผลงานในครั้งนี้ของเจมส์มีตัวละครที่เพิ่มมากขึ้น และเรื่องราวมากมายที่เขาอยากถ่ายทอด ความยาวจึงต้องเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

เจมส์ เปิดเผยกับ นิตยสาร GQ ว่าทุนสร้างของภาคต่อครั้งนี้มีมูลค่ามหาศาลมาก เชื่อกันว่า The Way of Water ใช้งบมหาศาล คาเมรอน ใช้คำว่าการสร้างภาคนี้เป็นต้นทุนที่ “โคตรแพง” และ “เป็นเคสด้านธุรกิจภาพยนตร์ยอดแย่ในประวัติศาสตร์”

จากการประมาณโดยแหล่งข่าวของ The Hollywood  Reporter มีเพียงการติดอันดับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์ที่อับดับ 3 หรือ 4 เท่านั้นถึงจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป นั่นคือภาพยนต์เรื่องนี้ต้องทำรายได้ทะลุหลัก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ ภาพยนตร์ภาคแรกทำเงินทั่วโลกรวมแล้ว 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แต่นั่นคือสิ่งที่เขาคิดก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าฉาย คงต้องรอดูกันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำรายได้ไปถึงจุดไหน

 

เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior) และ รักษิต เนาวเกตุ

อ้างอิง: 

ELLE Thailand

Variety

The People

Collider

True ID

Hollywood Reporter

Time

Variety (2)

Dexerto