จินต์ณิภา ปัญญาวุฒิไกร: ฟาร์มแคร์ ผู้ให้บริการที่ยกระดับเภสัชกรจากคนขายยาสู่คนในครอบครัว

จินต์ณิภา ปัญญาวุฒิไกร: ฟาร์มแคร์ ผู้ให้บริการที่ยกระดับเภสัชกรจากคนขายยาสู่คนในครอบครัว
จากผลสำรวจขององค์การสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในปี 2561 มีการรายงานว่าประชาชนได้เข้าร้านยาใกล้ตัวเป็นปริมาณ 310 ล้านครั้งต่อปีด้วยสาเหตุหลักสามอย่างคือ ภาวะเผาผลาญ การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ และโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจอย่างไข้หวัด โพรงจมูกอักเสบ คออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบ ส่วนผู้คนที่เกิดอาการบ่งชี้ในสามโรคเหล่านี้และไปที่โรงพยาบาลทันที มีจำนวนประมาณ 75 ล้านครั้งต่อปี
.
จากตัวเลขที่เห็นจากการสำรวจขององค์การสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยะพบว่าร้านยานั้นเป็นสถานที่ที่ผู้คนนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก อาจจะเป็นเพราะเวลาชีวิตที่เร่งรีบและปัจจัยต่าง ๆ ในหน้าที่การงานทำให้ผู้คนเหล่านั้นไม่มีเวลาพอที่จะไปพบแพทย์ในโรงพยาบาล ทุกคนต่างรู้ว่าการไปโรงพยาบาลนั้นมีขั้นตอนที่มากมาย โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่มีความแออัดสูง หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชนเองก็เช่นกัน
.
ร้านยากลายเป็นทางเลือกแรกโดยปริยาย โดยปกติแล้วร้านยาที่ตั้งอยู่ตามชุมชนจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนชุมชนคล้าย ๆ กับร้านซักรีด ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย องค์ประกอบทุกส่วนรวมตัวกันเป็นการใช้ชีวิตของชุมชนหนึ่ง ๆ เภสัชกรในร้านยาเหล่านั้นปฏิบัติตนตามบทบาทแบบดั้งเดิมคือ ‘คนขายยา’ ทั้ง ๆ ที่เภสัชกรประจำร้านยาที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนจะรู้พลวัตการใช้ชีวิตและอาการบ่งชี้ของโรคของคนในชุมชนได้ดีที่สุด
.
หากเภสัชกรประจำร้านยาเหล่านั้นสามารถดึงแหล่งข้อมูลเหล่านั้นเพื่อ ‘ทำความรู้จัก’ ผู้คนในชุมชนตัวเองอย่างลึกซึ้ง ให้คำปรึกษาที่ละเอียด และจ่ายยาได้อย่างถูกต้องเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีสุขภาพดีแบบ ‘ยั่งยืน’ ก็คงจะดีไม่น้อย
.
เมื่อจินต์ณิภา ปัญญาวุฒิไกร (อิง) ผู้ก่อตั้งบริษัทฟาร์มแคร์ จบการศึกษาทางด้านการบริหารจัดการทางชีวเคมีโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยคุณภาพอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ซึ่งมีศิษย์เก่าที่คุ้นเคยกันดีอย่างเซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้คิดค้นยาเพนิซิลลินที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และกลับมาที่ประเทศไทย เธอได้เห็นปัญหาความแออัดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล
.
“อิงเคยทำอาชีพเป็นที่ปรึกษาทางด้านบริหารธุรกิจตอนกลับมาจากอังกฤษ และมีโอกาสได้ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ข้อมูลสถิติของระบบสุขภาพในประเทศไทยเมื่อตอนปี 2560 อิงเลยได้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ระบบสาธารณสุขไทยยังมีอยู่ในปัจจุบัน เช่นทั้งความแออัดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ โรงพยาบาลประจำจังหวัด จำนวนบุคลากรที่อาจไม่เพียงพอในการรองรับรูปแบบการให้บริการในปัจจุบัน”
.
นอกจากนี้เธอยังพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปอีกด้วยว่า “มันมีความเหลื่อมล้ำด้านราคาในรูปแบบการให้การรักษา ยกตัวอย่างนะคะ ไปโรงพยาบาลรัฐก็เสียเวลาทั้งวันถึงจะได้ความคุ้มครอง หรือถ้าหันไปอีกทาง ก็จะเป็นรูปแบบการรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในขณะที่ได้รับบริการที่สะดวกสบายกว่า อิงเลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนที่มีกลุ่มอาการป่วยเบื้องต้นมีทางเลือกมากขึ้น”
.
ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นสิบ ๆ ปี ทางสภาเภสัชกรรมได้เล็งเห็นอยู่แล้วว่าร้านยาเป็นหน่วยหนึ่งของระบบสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ด้านการกระจายยาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญเปรียบเสมือนเป็น ‘ที่พึ่งด้านสุขภาพของชุมชน’ เป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการใช้บริการเมื่อมีอาการหรือเจ็บป่วยเบื้องต้น (common illness) อีกทั้งร้านยายังเป็นแหล่งที่สามารถให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง การแนะนำและส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม
.
ประเทศไทยมีร้านยาจำนวนมากและกระจายในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข การให้บริการของเภสัชกรในร้านด้วยใจที่เต็มเปี่ยมนั้นจะเป็นการเพิ่มตัวเลือกการรักษาของผู้ป่วยและช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลอีกด้วย
ดังนั้นในช่วงต้นปี 2545 สภาเภสัชกรรมจึงได้จัด ‘โครงการพัฒนาและรับรองคุณภาพร้านยา’ ขึ้น โดยมีแนวคิดมาจากรูปแบบร้านยาที่พึงประสงค์และเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อพัฒนาร้านยาให้สามารถเป็นหน่วยบริการหนึ่งในเครือข่ายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น เกณฑ์ในการประเมินรับรองคุณภาพร้านยาประกอบด้วย 5 ด้านด้วยกัน ด้านสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร การให้บริการเภสัชกรรมที่ดี การปฏิบัติตามกฎระเบียบ
.
“พอมีร้านยาคุณภาพขึ้นมา มันก็เหมือนเรามีส่วนผสมที่มากขึ้นในการสร้างอีกทางเลือกให้กับประชาชนที่จะสามารถรับบริการที่สะดวกสบายในกลุ่มโรคกลุ่มอาการเบื้องต้นที่คนไข้อาจเป็นได้ในชีวิตประจำวัน และต้องมีคุณภาพการบริการที่น่าพึงพอใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองหรือว่าแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเบื้องต้นได้ค่ะ”
.
เมื่อร้านยาใกล้บ้านเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองจนผ่านเกณฑ์ของสำนักงานรับรองคุณภาพร้านยาภายใต้สภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว ร้านยาเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า ‘ร้านยาคุณภาพ’ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือร้านยาเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามชุมชนก็จริง แต่ประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ไม่ทราบว่าเภสัชกรในร้านยาคุณภาพแห่งนั้นได้พัฒนาตนเองและให้บริการที่มากกว่าการเป็น ‘คนขายยา’ แบบเดิม และเปลี่ยนแปลงบทบาทเป็นคนในครอบครัวไปแล้ว
.
“อิงเป็นคนที่โตมาในร้านยาชุมชน เห็นเภสัชกรชุมชนทำงานมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งก็คือคุณแม่อิงเอง คุณแม่อิงมีร้านยาเล็ก ๆ อยู่ในชุมชนย่านบุคคโล แล้วก็ให้บริการดูแลสุขภาพกับประชาชนในชุมชนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนคนในชุมชนนั้นก็จะมองเห็นคุณแม่อิงเหมือนเป็นคุณหมอประจำตัวนะคะ เดินไปที่ไหนก็มีแต่คนเรียกว่าคุณหมอ คุณหมอ แต่จริง ๆ แล้วแม่เป็นเภสัชกรแต่เขาสามารถเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของคนในชุมชนได้ใกล้ชิด ทำให้คนในชุมชนไว้ใจเขา แล้วก็รักเขาเหมือนกับเขาเป็นหมอประจำตัวเลย บางคนย้ายบ้านไปอยู่คนละมุมเมืองแล้วก็ยังต้องกลับมาขอคำปรึกษา ไม่ว่าจะมีปัญหาสุขภาพอะไร ทุก ๆ เทศกาลก็จะมีคนไข้เอาขนมมาฝากด้วยความรักใคร่เหมือนคนในครอบครัว”
.
แต่เมื่อ COVID-19 ได้ระบาดมาถึงประเทศไทย ร้านยาหลายร้านรวมถึงร้านยาคุณภาพต้องประสบปัญหารายได้ที่น้อยลง และต้องเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้นจนต้องไป ‘ขายยาออนไลน์’ การใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้เป็น e-commerce นั้นสะดวกมากขึ้นก็จริง แต่ถ้าหากผู้ใช้บริการต้องการการบริการในเชิงลึกหรือข้อมูลการปฏิบัติตัวเชิงลึกขึ้นมาจะทำเช่นไรในเมื่อการเดินทางในช่วง COVID-19 นั้นถือเป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อ
.
อิงเห็นการกระจายตัวของร้านยาคุณภาพอยู่ตามชุมชนกว่า 1,000 แห่ง ร้านยาส่วนใหญ่ก็ผันตัวไป ‘ขายยาออนไลน์’ กันแล้ว แต่อิงต้องการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดภาวะ ‘สุขภาพดีอย่างยั่งยืน’ เธอกล่าวว่า “เราให้ประชาชนได้มีความตระหนักรู้ เข้าใจ แล้วก็สามารถเข้าถึงบริการร้านยากลุ่มนี้ได้ เพราะว่าร้านยาเป็นเหมือนกับด่านแรกที่คนไข้คิดถึง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่ามีอะไรเจ็บป่วยเล็กน้อยนิดหน่อยก็จะเดินเข้าร้านยาเป็นอย่างแรก เราก็เลยคิดว่าที่จริงแล้ว ร้านยาเป็นด่านที่สำคัญที่สุดในระบบสุขภาพไทย เราก็อยากจะพัฒนาคุณภาพมันให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นส่วนช่วยลดภาระของแพทย์ในระบบสุขภาพได้”
.
เพราะเหตุนี้เธอจึงได้สร้างเว็บไซต์ที่รวบรวม ‘ร้านยาคุณภาพ’ ทั้งหมดกว่า 200 ร้าน และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อประชาชนกับร้านยาคุณภาพ โดยการให้บริการค้นหาร้านยาผ่านทางเว็บไซต์ app.pharmcare.co
.
วินิจฉัยตัวเอง
ด้วยความเข้าใจถึงปัญหาด้านการเดินทางและเวลาที่จำกัด หากไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกเดินทางไปที่ร้านยาคุณภาพเอง แต่ต้องการคำปรึกษาเรื่องยา มีข้อสงสัยในการปฏิบัติตนหรือข้อควรระมัดระวังจากเภสัชกรแบบละเอียด วิชาชีพเภสัชกรรมโดยเฉพาะเภสัชกรรมบริบาลมีบทบาทสำคัญมากในระบบสุขภาพไทยในยามนี้ (และยามอื่น ๆ ก็ตามที)
.
เภสัชกรรมบริบาลถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญเนื่องจากเวลาที่ป่วยขึ้นมาคนส่วนใหญ่จะเดินเข้าร้านยาซึ่งเป็นจุดที่จะได้พบกับเภสัชกร ทางอิงและฟาร์มแคร์จึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเข้ามาสร้างฟังก์ชันที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในกรณีที่ต้องการการบริการในเชิงลึกแต่ไม่มีเวลา ซึ่งคือ TeleConsultation (การปรึกษากับเภสัชกรออนไลน์) และ TelePharmacy (บริการเภสัชกรรรมทางไกล)
.
“ประเทศเราควรจะมีมาตรฐานการให้บริการที่ดีนะคะ ซึ่งจะทำให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ ไม่ต้องหาซื้อยาทกินเอง ไม่ต้องคิดเองเออเอง วินิจฉัยตัวเอง ซึ่งเกิดผลเสียมานักต่อนักแล้ว” เธอเน้นย้ำถึงประเด็นนี้
 .
“ประชาชนควรจะปรึกษาเภสัชกรในการใช้ยา รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวหรือพฤติกรรมสุขภาพที่เขาสามารถปรับเปลี่ยนในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะทำให้สุขภาพเขาดีขึ้นหรือว่าอาการบรรเทาลงได้เร็วขึ้น ก็เลยมองว่าส่วนนี้เป็นแนวทางสำคัญที่เภสัชกรและวิชาชีพเภสัชกรรมจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบสุขภาพไทยค่ะ”
.
TeleConsult : ปรึกษากับเภสัชกรออนไลน์
จากเดิมที่ในอุตสาหกรรมร้านยานั้นไม่มีการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมต่อกับคนไข้หรือผู้ใช้บริการ เมื่อได้ทำการเชื่อมต่อร้านยาคุณภาพกับผู้ใช้งานที่มีแอปพลิเคชันแล้ว ตัวแอปพลิเคชันสามารถอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการด้วยฟังก์ชัน ‘พูดคุยกับเภสัชกรออนไลน์’ ขึ้นมาเพื่อให้คนไข้ได้รับการปรึกษาตัวต่อตัวและปลอดภัยกว่าการซื้อยาออนไลน์โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของเภสัชกรในเรื่องผลข้างเคียงของยา
.
ผู้ใช้สามารถเลือกบริเวณที่เกิดอาการเจ็บป่วย อาการเบื้องต้น และเข้าสู่การปรึกษาเภสัชกรที่ระบบจะทำการจับคู่ผู้ใช้บริการกับเภสัชกรในร้านที่อยู่ใกล้ที่สุด เมื่อเชื่อมสายกันเสร็จ ผู้ใช้บริการสามารถวิดีโอคอลและพูดคุยกับเภสัชกร เมื่อได้รับคำปรึกษาเรียบร้อยแล้ว ทาง Pharmcare จะทำการจัดส่งยาจากร้านยาให้ถึงมือผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าหลังจากนั้นจะมีรีพอร์ตการปฏิบัติตนจากเภสัชกรเพื่อย้ำเตือนให้ผู้ป่วยระมัดระวังตัว
.
“สิ่งหนึ่งที่ฟาร์มแคร์เน้นมากคือการจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผลในร้านขายยานะคะ เป็นการจ่ายยาโดยเภสัชกรเพื่อบรรเทาอาการของกลุ่มโรคเบื้องต้น ในร้านขายยาควรจะมีเกณฑ์การใช้ยาที่ดี ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotic) โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะสามกลุ่มโรคตัวอย่างที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่ายอย่างเช่น อาการท้องเสีย อาการเจ็บคอ เป็นหวัด หรือแม้กระทั่งเป็นแผลหรือว่าโรคผิวหนัง สามตัวอย่างนี้เรามองว่ามีความเข้าใจที่ผิดอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดว่า พอเป็นหนึ่งในสามของโรคนี้แล้วก็คิดว่าตัวเองจะต้องกินยาปฏิชีวนะทันที ซึ่งจริง ๆ แล้วอยากจะให้ได้ปรึกษาเภสัชกรในร้านขายยาก่อนนะคะว่า อาการของคนไข้นั้น ๆ สืบเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งจะต้องกินยาปฏิชีวนะจริง ๆ หรือเปล่า ความจริงนะ การดูแลตัวเองอาจมีความสำคัญมากกว่าการกินยาเสียด้วยซ้ำ ทีมเราจึงมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเชิงวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยามากกว่าการจ่ายยาค่ะ”
.
TelePharmacy : จ่ายยาตามใบสั่งยาแพทย์
การบริการนี้เป็นการรับไม้ต่อจาก Telemedicine หรือโทรเวชกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้งสองฝ่าย ไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ แน่นอนว่าเมื่อพบแพทย์แล้วจะต้องมีการสั่งยาและรับยา ฟาร์มแคร์จึงรับไม้ต่อและสร้างส่วนงานให้บริการจ่ายยาตามใบสั่งยาแพทย์ออนไลน์
.
เมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์ในสถานพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายของฟาร์มแคร์ผ่านเข้ามาในระบบ เภสัชกรจะต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนของผู้ป่วยกับสถานพยาบาล จัดทำแฟ้มผู้ป่วย ต้องมีสัมภาษณ์ผู้ป่วยเพื่อให้รู้ประวัติความเจ็บป่วยและการใช้ยา การแพ้ยา หรือแม้กระทั่งการใช้อาหารเสริม หลังจากนั้นเภสัชกรจะทำการวิเคราะห์ใบสั่งยา ชนิดของยา ขนาดยา ความถี่ และระยะเวลาการให้ยา เมื่อจัดยาเสร็จแล้วก็จะทำการนัดการจัดส่งยากับผู้ป่วยและบริษัทขนส่ง
.
เภสัชกรคือคนในครอบครัว
อิงกล่าวปิดท้ายว่า “ในอนาคต ฟาร์มแคร์ต้องการเป็นเภสัชกรประจำครอบครัวให้กับประชาชนทั่วประเทศค่ะ ให้คนไทยได้มีที่ปรึกษาด้านสุขภาพที่พูดคุยได้เหมือนกับเป็นคนในครอบครัว เราต้องการพัฒนาบริการสุขภาพในร้านยาให้เป็นบริการปฐมภูมิที่มีบริการครบครันให้กับคนในชุมชน เมื่อเรามีกลุ่มร้านยาที่นำร่องให้บริการปฐมภูมิแล้วและเกิดความยั่งยืนทางธุรกิจด้วย ในบันไดขั้นต่อไป เราอยากให้ร้านยาทั่วไปที่อาจไม่มีเภสัชกรอยู่ให้บริการตลอดเวลาทำการ หันกลับมามองความสำคัญของงานบริการแทนกำไรจากการขายยา แทนที่จะต้องแข่งกันที่ราคา เรามาพัฒนางานบริการกันดีกว่าค่ะ”
.
ตัวกลางเชื่อมต่อสู่สาธารณสุขระดับประเทศ
ในแง่ของภูมิภาค พื้นที่ รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คนแต่ละชุมชนนั้นมีความเฉพาะตัว และเภสัชกรประจำร้านยาจะมีความใกล้ชิดกับผู้คนในชุมชน เพียงแต่ตัวเภสัชกรและร้านยาอาจลืมไปว่าตนเองมีพื้นฐานของการ ‘เข้าใจชุมชนของตัวเอง’ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากเภสัชกรในแต่ละชุมชนเข้าใจโครงสร้างและลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คนในชุนชนของตัวเองอย่างดี ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพคนในชุมชนทั้งหมด เนื่องจากเภสัชกรเริ่มมองการขายยาของร้านตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ระบบ’ ที่ยกระดับสุขภาพของชุมชน
.
‘ระบบ’ ที่ว่าคือการที่เภสัชกรสามารถเห็นลักษณะการใช้ชีวิตของแต่ละคนในชุมชนผ่านการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของโรคเมื่อตอนที่เคยซักถามในการซื้อยาครั้งก่อน ๆ การซักอาการและการจ่ายยาในทุกวันจะกลายเป็นเหมือนถังข้อมูลเล็ก ๆ ประจำบุคคลที่เภสัชกรมีไว้กับตัว เมื่อเชื่อมโยงถังข้อมูลของผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกัน เภสัชกรก็จะสามารถเห็นโรคที่น่าจะเกิดขึ้นและหาวิธีการยับยั้งและรักษาโรคของคนในชุมชนได้อย่างทันท่วงที
.
การเชื่อมระบบร้านยาคุณภาพและแสดงให้กับประชาชนได้เห็นผ่านแอปพลิเคชันไม่ได้เกิดผลดีเพียงแค่กับชุมชนเท่านั้น ถ้าเภสัชกรสามารถ ‘ดักจับ’ อาการของโรคเรื้อรังได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และเก็บเป็นข้อมูลส่วนตัวไว้ เภสัชกรสามารถแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคความดัน เบาหวาน โรคอ้วน ที่มักจะมาเป็นโรคยกกำลังสามให้กับผู้คนในชุมชนคนอื่นที่ยังไม่มีอาการของโรคได้ การกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับภาวะโรคระบาดนั่นเอง นอกจากนี้ ระบบสารสนเทศที่ดีเพียงพอจะช่วยส่งต่อตัวเลขหรือข้อมูลการจ่ายยาให้กับผู้ที่มาซื้อยาเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศ เพื่อทำการวิจัยและทำนายถึงโรคที่จะเกิดขึ้นในระดับชุมชน เมือง และประเทศได้อีกด้วย
.
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย
.
เว็บไซต์อ้างอิง