ลิ้นชักแห่งความทรงจำ : เรื่องราวของช่างกุญแจ กับเก๊ะสะท้อนสังคม

ลิ้นชักแห่งความทรงจำ : เรื่องราวของช่างกุญแจ กับเก๊ะสะท้อนสังคม
“สุข เศร้า เหงา รัก ลองไขเข้าไปดูสิครับ” คำโปรยชวนหวนอดีตพาดอยู่ที่หลังปกของหนังสือการ์ตูนกึ่งภาพประกอบ จากสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เรื่อง ‘ลิ้นชักแห่งความทรงจำ’ (Drawers of Memory) เขียนโดย ‘อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์’ นักเขียนการ์ตูนชาวไทยผู้ฝากฝีมือไว้ในผลงานหลายเรื่องทั้ง ‘โรงเรียนเม็ดก๋วยจี๊’ ‘รักท่วมหัวเอาตัวให้รอด’ และ ‘อุดมสุข’ นี่ก็เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ไม่ได้หยิบการ์ตูนเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน นับตั้งแต่ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือในปี 2550 ซึ่งเป็นปีแรกที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ การหยิบยกการ์ตูนเล่มนี้มากล่าวถึงในปัจจุบัน คงไม่ต่างอะไรจากการขอให้ ‘ช่างกุญแจ’ คนเดิมช่วยไขความประทับใจและความทรงจำที่มีต่อหนังสือเล่มนี้กลับมา ช่างกุญแจกับลิ้นชักแห่งความทรงจำ เรื่องราวของลิ้นชักแห่งความทรงจำถูกนำเสนอผ่านลายเส้นที่เรียบง่าย แต่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายแห่งความสงบที่ชวนค้นหา ไม่ต่างจากคาแรกเตอร์ของตัวละคร ‘อุดมสุข’ หนุ่มคนซื่อที่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน รู้แต่เพียงว่าเขาประกอบอาชีพเป็นช่างกุญแจ และมักจะทำหน้าที่หากุญแจที่เหมาะสม เพื่อไขลิ้นชักแห่งความทรงจำผ่านรูกุญแจบน ‘หน้าผาก’ ของลูกค้าแต่ละคน เมื่อไขลิ้นชักออกมาได้ อุดมสุขก็มักจะพบกับเรื่องราวในความทรงจำที่นำพาความรู้สึกทั้งสุข เศร้า เหงา รัก มาให้ ซึ่งบางความทรงจำอาจเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการใช้ชีวิต บางความทรงจำช่วยให้หัวใจอบอุ่นและมีแรง แต่บางความทรงจำของ ‘เขา’ กลับเรียกความทรงจำของ ‘เรา’ ในฐานะคนอ่านกลับมา พร้อมน้ำตาแห่งความคิดถึงและขมขื่นปะปนกันไป ไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 14 ปี คุณค่าในแต่ละเรื่องราวกลับยังคงเด่นชัด อุดมสุขที่ไม่แก่ขึ้นเลยยังฝากข้อคิดดี ๆ ให้นำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ เราจะได้หัวเราะไปกับความตลกร้ายที่ต้องเห็นว่าสังคมในเรื่องและปัจจุบันยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก การนำเรื่องราวที่อุดมสุขพบเจอมาอ่านอีกครั้งในขวบวัยที่โตขึ้น ช่วยให้คุณค่าที่แอบแฝงโดดเด่น และน่านำมาแลกเปลี่ยนกันกว่าก่อน ต่อจากนี้ไปคือเรื่องราวในสังคมจากเรื่องสั้น 3 ตอนที่ถูกสะท้อนผ่านการ์ตูนเมื่อ 14 ปีที่แล้ว / บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ ลิ้นชักแห่งความทรงจำ / ลูกเราเขาเลี้ยง  อุดมสุขนั่งอยู่ในร้านทำกุญแจของตัวเองเหมือนเช่นทุกวัน แต่วันนี้เขาได้พบกับคุณชบา คุณแม่ของเด็กชายลูกอ๊อดที่เดินเข้ามาหาด้วยท่าทางอิดโรย “ลูกอ๊อดกลัวผี กลัวความมืดมากขึ้น ๆ ทำเอาดิฉันไม่ได้หลับไม่ได้นอน” นั่นคือปัญหาที่คุณชบา ลูกค้าของวันนี้ต้องการให้อุดมสุขช่วย ต้องบอกว่าทุกคนที่มาพบอุดมสุข หรืออุดมสุขไปพบล้วนมีเรื่องอยากให้เขาช่วย ‘ไข’ และในครั้งนี้เอง ช่างกุญแจก็รีบควานหากุญแจดอกน้อย เพื่อไขความทรงจำของเด็กชายลูกอ๊อด ‘เด็กตัวแค่นี้ จะมีปัญหาอะไรกันนะ?’ ความทรงจำของเด็กชายถูกละเลงไปด้วยความมืดมิดชนิดที่ผู้ใหญ่อย่างอุดมสุขและแม่ยังหวาดกลัว และที่ห้องในสุดของความทรงจำ พี่เลี้ยงของเด็กชายลูกอ๊อดกำลังขู่ให้เขาหวาดกลัวความมืดและการอยู่คนเดียวอย่างออกรสออกชาติ “อย่าออกไปเดินตอนกลางคืนนะ ผีมันจะมาจับตัวไป” “อย่าดื้อให้มาก ตำรวจชอบจับเด็กดื้อเข้าคุกนะ” “ระวังให้ดี ผีปอบมันจะมาควักไส้เอา” กุศโลบายที่ผู้ใหญ่ในอดีตใช้หลอกเด็กด้วยความเป็นห่วงกำลังวนกลับมาทำร้ายจิตใจของลูกหลาน โดยที่พวกเขาไม่ได้คิดถึงผลลัพธ์ว่า อุบายเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจและการเติบโตของเด็กได้อย่างจริงจัง และคำกล่าวอ้างเพื่อความปลอดภัย คือสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ส่วนอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ถูกสะท้อนออกมาภายในเรื่องคือ ‘ปัญหาของสถาบันครอบครัว’ การไม่มีเวลาให้กันและกันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทุกครอบครัวต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ‘พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก’ หากไม่ปล่อยลูกอยู่เพียงลำพัง ก็อาจปล่อยลูกอยู่กับพี่เลี้ยง หรือให้เครือญาติเลี้ยงดู ซึ่งแน่นอนว่าความเหินห่างย่อมส่งผลต่อชีวิตและสภาพจิตใจของเด็กไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กระนั้นปัญหาเหล่านี้เมื่อ 14 ปีที่แล้วก็ยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน และอาจกลายเป็นปัญหาที่หนักกว่าเดิม เมื่อทุกคนต่างเร่งรีบและทำงานกันจนไม่มีเวลาให้คนสำคัญ หากเป็นเช่นนั้น ไม่นานพวกเขาอาจกลายเป็นเพียงความทรงจำที่รออุดมสุขมาไขก็เป็นได้ ความเศร้าไม่เชิงไร้ประโยชน์ นี่เป็นอีกตอนที่สะท้อนความจริงในจิตใจมนุษย์ออกมา อุดมสุขช่วยไขลิ้นชักของชายคนหนึ่งที่อัดแน่นไปด้วยเศษกระดาษแห่งความโศกเศร้า อิทธิวัฐก์อาจต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความทรงจำที่โศกเศร้า แต่หากเก็บสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ในใจ โดยไม่ได้ใช้มันเป็นแรงผลักดันในการทำให้ชีวิตดีขึ้น สักวันความเศร้าคงจะล้มทับเจ้าของจนหมดหนทางเยียวยา หรืออาจนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด อุดมสุขรู้ว่าความทรงจำที่ไม่ดีนั้นยากที่จะลืมเลือน หากแต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไปในทุกวัน เขาแนะนำให้ชายคนเดิม ‘เอาความเศร้าออกมาขาย’ โดยให้รถเก็บขยะมารับไป ถึงแม้ในชีวิตจริง เราจะไม่สามารถเอาความเศร้าไปชั่งกิโลขายได้ แต่หากเราหาวิธีการจัดการกับมันได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม ความเศร้าเหล่านั้นจะกลายเป็นเพียงประสบการณ์ชีวิตที่สอนให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง หรืออาจเป็นแรงบันดาลใจให้บางคนเปลี่ยนความเศร้าเป็นเม็ดเงินผ่านหนังสือ หรือบทเพลง “เป็นไงล่ะ! ความเศร้าก็ทำเงินให้เราได้” อุดมสุขคิดเช่นนั้น โลกทุนนิยมของคนธรรมดา เมื่อเงินคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งในใจใครหลายคน พวกเขามักใช้ชีวิตโดยทุ่มเทไปกับการทำงานเก็บเงิน เช่นเดียวกับ ‘คุณรุ่งโรจน์’ ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ ฟิตเนสส่วนตัว และสิ่งของหรูหราราคาแพงอีกหลายอย่าง โดยที่ไม่เคยมีโอกาสได้ใช้มันเลย อุดมสุขพบร่างของคุณรุ่งโรจน์ที่ทำงานหนักจนเป็นลมในสภาพเปลือยเปล่า ลิ้นชักแห่งความทรงจำของเขาเต็มไปด้วยเงินจำนวนมาก แต่น่าเสียดายว่ามันถูกคนที่พบเห็น ‘ขโมย’ ไปจนหมด อุดมสุขไม่รอช้า เขารีบควานหาลิ้นชักอื่น เผื่อว่าคุณรุ่งโรจน์จะยังพอมีความทรงจำอะไรเหลือบ้าง “โชคดี…รุ่งโรจน์ยังมีที่พักใจเหลืออยู่” อุดมสุขและรุ่งโรจน์นั่งพักผ่อนกันที่ริมทะเล ในสังคมที่ทุกคนต่างทำงานเพื่อเก็บเงินสร้างตัว พวกเขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ บางคนหลงลืมการให้เวลากับตัวเอง และบางคนหลงลืมคนอื่น เป็นวงจรชีวิตของมนุษย์ที่พบเห็นได้ทั่วไป หากไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่รู้จักแบ่งเวลา อาจถึงคราวที่ต้องตั้งคำถามถึงสาเหตุของการกระทำเหล่านี้ ทำไมพวกเขาต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ? ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้ค่าจ้างที่เพียงพอและได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ? คำถามที่อุดมสุขแฝงและฝากไว้ให้คิด คงต้องพิจารณาไปพร้อมกับนโยบายของรัฐบาลที่ควรเอื้อให้ชีวิตคนในสังคมมีคุณภาพมากกว่านี้ อยากเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลา การพบกันของอุดมสุขและลูกค้าทั้ง 9 คนไม่ใช่เหตุบังเอิญ หากแต่ ‘เวลา’ ที่เหมาะสมและ ‘ปัญหา’ ที่สุกงอมได้นำพาพวกเขามาเจอกัน เมื่อลูกค้าบางคนเริ่มมีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พวกเขาอาจมาหาอุดมสุขเพื่อนำความทรงจำที่เป็นดั่งโซ่ล่ามความเจริญของพวกเขาออก หรือพวกเขาอาจใช้ความทรงจำทั้งดีและร้ายเป็นแรงผลักดันในการทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น การยอมให้อุดมสุขเข้าไปในความทรงจำ คือการที่พวกเขายอมรับอดีตและตัวตนของตนเอง พวกเขาได้ย้อนดูตัวเองและพยายามเปลี่ยนแปลงโดยการถอดรื้อความทรงจำ ทั้งความรู้สึกในใจและการกระทำ เกิดการตั้งคำถาม และทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาล้มเหลว หรืออะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตไม่เดินหน้า เมื่อหาต้นเหตุจนเจอก็ถึงเวลาของ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ไม่น่าแปลกใจที่เรื่องราวของลิ้นชักแห่งความทรงจำจะได้รับคำชมและรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด ครั้งที่ 4 รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2551 และรางวัลรักลูก อวอร์ด ครั้งที่ 5 เพราะเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า และความหมายของอิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ ไม่ได้ให้เพียงแค่ความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่การ์ตูนเล่มนี้เป็นทั้งบันทึกสังคม และจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง สุดท้าย หนังสือเล่มนี้คงเป็นลิ้นชักแห่งความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายคนเช่นกัน หากคิดถึงก็ลองเปิดอ่านอีกครั้ง ไม่แน่ว่า เราอาจจะได้ความทรงจำสมัยเดินซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือกลับมา หรือจำได้ว่านั่งอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ครั้งแรกกับใครที่โรงเรียน ส่วนความทรงจำในตอนนั้นแตกต่างจากตอนนี้ขนาดไหน? สังคมเปลี่ยนแปลงหรือเหมือนเดิม? ตัวเราเติบโตขึ้นมากขนาดไหน? คงต้องลองสังเกตจากความรู้สึกที่ได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้อีกครั้ง เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ที่มา: หนังสือเรื่อง ลิ้นชักแห่งความทรงจำ โดย อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ ที่มาภาพ: หนังสือเรื่อง ลิ้นชักแห่งความทรงจำ โดย อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์