ชวิน อัศวเสตกุล แอปฯ เดลิเวอรี ‘Yindii’: ก่อนโลกจะร้อนเกินแก้ไข ‘ขยะอาหาร’ ช่วยได้ 

ชวิน อัศวเสตกุล แอปฯ เดลิเวอรี ‘Yindii’: ก่อนโลกจะร้อนเกินแก้ไข ‘ขยะอาหาร’ ช่วยได้ 

ชวิน อัศวเสตกุล แอปฯ เดลิเวอรี ‘Yindii’: ก่อนโลกจะร้อนเกินแก้ไข ‘ขยะอาหาร’ ช่วยได้ 

ข้าวเม็ดที่หนึ่ง ข้าวเม็ดที่สอง...ข้าวเม็ดที่ร้อย ผักใบเขียวที่เขี่ยไว้ข้างจาน แอปเปิลลูกเล็กที่กลิ้งหล่นลงจากรถระหว่างการขนส่ง เบเกอรีที่ขายไม่หมดแต่มีอายุจำกัด เมื่อหมดวันก็ต้องเททิ้งลงถัง จากเม็ดข้าวสวยที่ถูกผัดจนน่ารับประทานไปจนถึงขนมหวานยั่วน้ำลาย สิ่งเหล่านี้หากไม่มีมนุษย์คนใดลิ้มรสอร่อยให้ทันเวลา ก็จะกลายเป็น ‘ขยะอาหาร’ หรือ ‘อาหารเหลือ’ (food waste) ที่มีปลายทางเป็นถังขยะใบโตอย่างน่าเสียดาย ปัญหา food waste มีอะไรมากกว่าแค่เททิ้งลงถังขยะ เพราะแม้แต่ข้าวหนึ่งเม็ดที่เหลือทิ้งในจาน เมื่อรวมกับอาหารเหลือจากจาน ชาม บ้าน และร้านรวงอื่น ๆ  ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อโลกทั้งใบในหลายแง่มุมได้   อาหารเหลือ ภัยพิบัติทางระบบนิเวศ จากประเทศในซีกโลกตะวันตก ถึงเอเชีย และทวีปอื่น ๆ ทั่วโลก ‘food waste’ นับเป็นปัญหาข้อใหญ่ใกล้เคียงกับปัญหาพลาสติก ขณะที่องค์การอาหารโลกให้ข้อมูลว่าทั่วโลกผลิตขยะอาหารอย่างน้อย 30% จากอาหารที่ถูกผลิตทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าราว 940 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว ขยะอาหารทั้งจากกระบวนการผลิต และจากการกินเหลือทิ้งของผู้คน รวมกันเป็นภูเขาขยะขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายทั้งในแง่เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รัฐและเอกชนต้องเสียเงินมากมายในกระบวนการกำจัดอาหารเหลือทิ้งเหล่านั้น นอกจากนี้กระบวนการกำจัดอาหารที่มักทำโดยการ ‘ฝังกลบ’ ยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทน หรือก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจกรุนแรงยิ่งกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า (อ้างอิงข้อมูลจาก "อาหารที่ถูกทิ้ง" (Food Waste) : ผลกระทบของปัญหาอาหารที่ถูกทิ้ง (3) ผ่านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)  ด้วยข้อมูลดังที่เรียบเรียงมานี้ จึงไม่ผิดไปจากความจริงนัก หากใครสักคนจะเรียกปัญหา food waste ด้วยถ้อยคำว่า ‘ภัยพิบัติทางระบบนิเวศ’ ขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงถังมากมายนั้นนับเป็น ‘ภัยพิบัติทางระบบนิเวศ’ ในสายตาของ ‘Yindii’ หรือ ‘ยินดี’ แอปพลิเคชันส่งอาหารหน้าใหม่ที่คอนเซ็ปต์น่าสนใจไม่น้อย เพราะพวกเขาเปิดตัวด้วยความตั้งใจที่ว่า ‘จะใช้อาหารเหลือช่วยโลก’ “ปัญหาของ food waste คือเราใช้ทรัพยากรและสร้างก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก แต่หลายครั้งเราไม่ได้อะไรกลับมาเลย - ทุกอย่างที่มนุษย์ทำ สร้างมลพิษ แต่เราได้บางอย่างกลับมา อย่างเช่นการที่เรานั่งรถจากจุด A ไปยังจุด B แทนที่จะเดิน แม้การเดินจะดีต่อโลกมากกว่า แต่สิ่งที่เราได้มาคือเราไปถึงที่หมายได้ไวขึ้น แต่การผลิตอาหารแล้วเกิด food waste มันคือเราใช้ทรัพยากรจำนวนมาก แต่สุดท้ายมันสูญเปล่าเพราะเราเทมันลงถังขยะ” “ถ้าถามผมว่า worst case ที่สุดของ food waste คืออะไร แน่นอนเลยว่ามันจะเร่งกลไกการเกิดภาวะโลกร้อน ให้เรื้อรังจนยากจะแก้ไข”   ก้าวแรกของยินดี The People มีโอกาสได้พูดคุยกับ ชวิน อัศวเสตกุล (Chawin Asavasaetakul) ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชันเดลิเวอรีส่งอาหารเหลือเจ้าแรกในไทย ถึงที่มาที่ไป และความ ‘ยินดี’ ของเขาที่ได้ก่อตั้งสตาร์ตอัปรูปแบบใหม่ ที่เขาเรียกว่า ‘social impact startup’ หรือธุรกิจที่ส่งผลดีต่อโลกและสังคม ชวินเพิ่งเรียนจบมัธยมฯ หมาด ๆ ในตอนที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในไทย ทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ ต้องล็อกดาวน์หรือปิดการให้บริการชั่วคราว ภาพที่เด็กหนุ่มที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ แต่ไม่ทันมีโอกาสได้เก็บกระเป๋าบินลัดฟ้าไปศึกษายังต่างแดน และทดแทนด้วยการเรียนออนไลน์ เห็นจนชินตาในช่วงเวลานั้น คือภาพที่ร้านรวงต่าง ๆ เทอาหาร ขนม และเบเกอรีหน้าตาน่ารับประทานลงถังขยะใบโต เพราะไม่สามารถขายให้หมดในหนึ่งวันได้ “ในหนึ่งวัน ผมเห็นร้านค้าทิ้งอาหารคุณภาพดีจำนวนมากลงถังขยะ ขณะเดียวกันก็เห็นว่ายังมีคนอีกมากมายที่ไม่มีอาหารกิน หรือเข้าถึงอาหารที่สะอาดและปลอดภัยไม่ได้ จะดีแค่ไหนถ้ามีช่องทางสำหรับอาหารเหลือเหล่านั้น ให้มันถูกใช้ประโยชน์สูงสุด และไม่เสียเปล่า” ด้วยความเสียดายอาหารที่ถูกทิ้งโดยไร้ประโยชน์ ชวินและ Louis-Alban Batard-Dupre จึงร่วมกันก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัป ‘Yindii’ ขึ้นเพื่อแก้ไข - หรืออย่างน้อยที่สุดก็บรรเทาปัญหาที่เขาได้เห็นในวันนั้น หากย้อนกลับไปมองนานาประเทศ แนวคิด ‘แอปฯ ส่งอาหารเหลือ’ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ชวินบอกกับเราว่าอันที่จริงแล้วเขาได้แนวคิดการส่งอาหารคุณภาพดีที่กำลังจะถูกทิ้งลงถังขยะ ให้ถึงมือผู้บริโภค มาจาก ‘Too Good To Go’ แอปฯ ขายอาหารเหลือถูกคิดค้นและพัฒนาโดยนักพัฒนาแอพ​ในเดนมาร์ก และมียอดดาวน์โหลดกว่า 21 ล้านครั้งทั่วโลก  ในระยะเวลาอันสั้น แอปพลิเคชัน ‘Yindii’ ถือกำเนิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2020 จนถึงปัจจุบันมีร้านอาหาร ภัตตาคาร และบุฟเฟต์ชื่อดังที่ ‘ยินดี’ ให้แอปพลิเคชันน้องใหม่นำส่งอาหารเหลือคุณภาพดีให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยราคาถูกกว่าหน้าร้าน 50-80% มากกว่า 100 ร้านด้วยกัน พร้อมด้วยผู้ใช้งานที่สั่งอาหารผ่านแอปฯ กว่า 40,000 คน   การต่อสู้เพื่อโลกด้วยขยะอาหาร “ช่วงแรกก็ลำบากพอสมควร ผมเองเพิ่งจบมัธยมฯ ในช่วงที่ต้องตระเวนติดต่อร้านค้าต่าง ๆ ให้มาวางขายบนแอปพลิเคชัน ‘Yindii’ ด้วยอย่างแรก ส่วนอย่างถัดมาที่ยากก็คือจะทำอย่างไรให้เขามั่นใจที่จะร่วมธุรกิจไปกับเรา” ชวินเล่าให้เราฟังว่าหนทางการต่อสู้ด้วยอาหารเหลือของเขาและทีมนั้นไม่ได้ราบรื่นนักในช่วงแรก เนื่องจากชวินต้องการให้อาหารในแอปพลิเคชัน ‘Yindii’ เป็นอาหารที่มีคุณภาพ เขาจึงต้องเดินหน้าเข้าติดต่อกับร้านอาหารใหญ่ ๆ ที่มั่นใจในรสมือและความสะอาด รวมทั้งโรงแรมและบุฟเฟต์ต่าง ๆ ที่โดยมากมีชื่อเสียงในระดับชั้นนำ คำถามแรก ๆ ที่เขามักจะเจอคือ การขายอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่ระบุชัดเจนว่าเป็น food waste จะทำให้เสียแบรนด์หรือไม่ “ก็ต้องอธิบายให้ผู้ร่วมงานและพาร์ตเนอร์ของเราเข้าใจว่าอาหารเหลือไม่ได้แปลว่าเป็นอาหารไร้คุณภาพ แทนที่จะเสียแบรนด์ การมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Yindii’ จะช่วยส่งเสริมแบรนด์ของคุณให้เป็นมิตรกับโลกและผู้บริโภคมากขึ้นต่างหาก” ภายในเว็บไซต์และแฟนเพจของ ‘Yindii’ พวกเขาบอกเล่าพันธกิจของตนที่ทำร่วมกับผู้อ่านว่าเป็นการ ‘ต่อสู้’ และ ‘ช่วย’ โลกด้วยอาหารขยะ โดยชวินบอกกับเราว่าสิ่งที่เขาอยากให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันรู้สึกในทุกครั้งที่กดซื้ออาหารคือ รู้สึกว่าทุกคนกำลังช่วยโลกใบนี้จากจุดเล็ก ๆ ที่ตัวเองยืนอยู่ “ด้วยเงินจำนวนไม่มากเกินไปและอาหารอิ่มท้องหนึ่งมื้อ คุณกำลังช่วยลด food waste บนโลกให้น้อยลงวันละนิด สิ่งที่ผมได้เรียนรู้หลังจากเริ่มธุรกิจ ‘Yindii’ คือได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วคนไทยเข้าใจและใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม พวกเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกดีขึ้น”   ก้าวต่อไปของยินดี “ภายในปลายปีนี้ เราอยากเพิ่มจำนวน user ที่ใช้บริการให้ถึง 100,000 ราย และเริ่มร้านค้าให้มากขึ้น รวมทั้งขยายสาขาไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ” คือถ้อยคำของชวินที่เปิดเผยถึงเป้าหมายในระยะใกล้ของ ‘Yindii’ ในฐานะสตาร์ตอัป เรียกได้ว่าเป็นองค์กรธุรกิจขนาดเล็กที่เติบโต และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงองค์กรหนึ่งเลยทีเดียว และสำหรับคำถามที่ว่า มี feedback จากลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์ครั้งไหน ที่ ‘Yindii’ รู้สึกภูมิใจ หรือ ‘ยินดี’ สมชื่อบ้างไหม ชวินตอบด้วยน้ำเสียงดีใจว่า “สำหรับผมและทีมงาน คำขอบคุณที่ฟังแล้วรู้สึกอุ่นใจมาจากพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านค้าของเรา ผมรู้สึกดีที่พวกเขาบอกกับ ‘ยินดี’ ว่า ขอบคุณที่สร้างแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา ขอบคุณที่มีพื้นที่ให้เขาได้ขายของจนหมด ขอบคุณที่ทำให้เขาไม่ต้องเทอาหารลงถังขยะ เพราะในสายตาของเชฟ ทุกคนล้วนอยากเห็นอาหารของตนถูกรับประทานอย่างอร่อย ไม่ใช่ถูกทิ้ง”   สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ อ้างอิง https://thaipublica.org/2018/03/foodwastecrisis-tesco1/ https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/603554