07 มิ.ย. 2562 | 17:16 น.
“ทุกปีตอนนี้ต้องหาให้เจอ สิ่งใดเหมาะสมเป็นของขวัญให้เธอ”
ประโยคสวย ๆ ที่ผ่านปลายปากกาของ “นะ” หัวหน้าวง POLYCAT ที่ควบตำแหน่งนักร้องนำ กับการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านน้ำเสียงหวาน ๆ ที่เจือด้วยกลิ่นอายความเป็นโซล บวกกับไลน์กีตาร์ที่รับกับเสียงร้องแบ็กอัพตามแบบฉบับเพลงกอลเปล (Gospel) เสียงซินธิไซเซอร์ (Synthesizer) ฟุ้ง ๆ และเบสหนึบ ๆ ทำให้ “อาวรณ์” กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เพราะจับใจคนฟังอีกครั้ง หลังจากที่ POLYCAT เคยสร้างปรากฏการณ์เดียวกันไว้กับเพลงอย่าง “พบกันใหม่”, “มันเป็นใคร” และ “เพื่อนไม่จริง”
แต่กว่าที่วงแมวเล่นซินธ์ที่ชื่นชอบในดนตรียุค 80s จะ “ดูดี” ได้ขนาดนี้ เบื้องหลังของพวกเขาก็คือกลุ่มคนเอาแต่ใจ ที่รักในเสียงดนตรีวงหนึ่ง
วง Ska ที่อยากเป็นแมว
“สำหรับเรา คำว่า CAT มันคืออะไรสักอย่าง คือสักสิ่งมีชีวิต มารวมกับคำว่า POLY ที่เป็นซินธิไซเซอร์ มันก็คือสิ่งมีชีวิตที่เล่นซินธ์ แค่นั้นเอง” นี่คือคำพูดของ นะ เมื่อถูกถามว่า POLYCAT คืออะไร
ย้อนกลับไป สมาชิกไลน์อัพแรกนั้น ยังไม่ใช่ “แมว” เหมือนทุกวันนี้ แต่นักดนตรีชาวเชียงใหม่ต่างรู้จักพวกเขากันดี ในชื่อ “Ska Rangers” วงสกาที่แอบมีความพังก์เล็ก ๆ Ska Rangers ไม่ใช่วงที่ยิ่งใหญ่แต่พวกเขาคือกลุ่มนักดนตรีที่เต็มไปด้วยความหลากหลายการทดลองสิ่งใหม่และความเป็นสกา
หลังจากหลบซ่อนอยู่ในแสงไฟหลากสีของผับในเชียงใหม่อยู่หลายปี Ska Rangers ก็ได้โอกาสในการปรากฏกายในหนัง Hollywood อย่าง The Hangover 2 และการได้รับโอกาสในครั้งนั้นทำให้ทิศทางดนตรีของวงเปลี่ยนไป “ตอนนั้นโคฟเวอร์เพลง Ireland ของ A Flock Of Seagulls ซึ่งเป็นเพลงนิวเวฟยุค 80s แล้วเพลงยุคนั้นมันจะมีซินธิไซเซอร์เยอะมาก เราเลยต้องเอาซินธ์มาเล่นในวง จนเริ่มรู้สึกรักเครื่องดนตรีนี้ขึ้นมา เรากลายเป็นวงสกาที่มีซินธ์”
นอกจากการเป็นวงดนตรีเล่นกลางคืน อีกสิ่งหนึ่งที่ Ska Rangers มักจะทำอยู่เสมอ คือการแต่งเพลงใหม่ ๆ และด้วยซินธ์ เครื่องดนตรีที่เปรียบเสมือนเพื่อนใหม่ที่พวกเขาหลงใหล จึงเป็นที่มาของเพลงที่ชื่อว่า “ถ้าเธอคิดจะลืมเขา” และเพลงนี้นี่เองที่เป็นใบเบิกทางของพวกเขา ให้ก้าวเข้าสู่อ้อมกอดของค่ายเพลงอย่าง Smallroom และเป็นจุดกำเนิดของการเป็น “แมวเล่นซินธ์” หรือ POLYCAT อย่างเต็มตัว
มันเชย เลยชอบ
“เราก็ไม่รู้ว่าเสน่ห์ของเพลง 80s คืออะไร มันจะฟังดูเก่า ๆ เชย ๆ หน่อย ซึ่งไม่รู้ว่านี่คือเสน่ห์หรือเปล่า” นี่คือเสน่ห์แบบงง ๆ ของซาวนด์ดนตรี 80s ที่ติดอยู่ในใจของสมาชิกวง POLYCAT ความล้น ความฟุ้ง และความเกินจริงที่ถูกเล่นผ่านเครื่องดนตรีเก่า ๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้แมวเล่นซินธ์ทั้งห้ารู้สึกตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ความรักของแมวนั้นเอาแต่ใจเสมอ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นศิลปินในค่ายบนดิน แต่ทุกบทเพลงของพวกเขา สมาชิกทั้งห้าก็ขอเป็นคนสร้างสรรค์มันขึ้นมา จากปลายปากกาและปลายนิ้วที่กดลงบนเครื่องเล่นซินธิไซเซอร์ด้วยตนเอง ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาถูกถ่ายทอดออกมาผ่านอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรก 05:57 ที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2011 ที่มีเพลงอย่าง “ถ้าเธอคิดจะลืมเขา” และ “เมื่อเธอมาส่ง”
“อัลบั้มแรกผมไม่รู้สึกท้อเลย เป็นช่วงที่มาอยู่แรก ๆ และไม่ได้รู้สึกว่าแบกภาระอะไร อยากจะสนุกอย่างเดียว อยากไปโชว์ อยากไปเล่นดนตรี มีคนดูเท่าไหร่ก็ไม่สน” คงไม่อาจโทษอะไรนอกจากจังหวะและเวลา ที่ทำให้อัลบั้มนั้นยังไม่ใช่ผลงานที่สามารถแจ้งเกิดให้กับวงได้ จนสมาชิกสองในห้าต้องบอก “ลา” ไปไม่นานหลังจากนั้น
"จะตามไปจนให้เจอว่าเขามันเป็นใคร"
เสน่ห์อีกอย่างของดนตรีแนว 80s ที่เหล่าแมวติดอกติดใจ ก็คงจะเป็นเสน่ห์ของการตามหา เมื่อพวกเขาเชื่อกันว่าเครื่องดนตรีที่ให้เสียงแบบ 80s ได้ ก็ต้องเป็นเครื่องดนตรีจากยุคเดียวกัน นั่นจึงเป็นที่มาของการตระเวนหา ซื้อ ซ่อม เครื่องดนตรีเก่าเพื่อนำมาใช้ทำอัลบั้มต่อไป “ซาวนด์ของวงดนตรีทุกวันนี้มันคือการก้าวไปข้างหน้า แต่กับ POLYCAT กลายเป็นว่าเราจะถอยหลังกลับไป”
ในตอนนั้น สามเพลงแรกที่พวกเขาพยายามทำและออกมาเป็นรูปเป็นร่างคือ “เพื่อนไม่จริง”, “เวลาเธอยิ้ม” และ “พบกันใหม่” ในปี 2016 “ตอนที่มีสามเพลงออกมา เราไม่ได้คิดว่ามันจะมีคอนเส็ปต์คืออะไร เราแค่ ‘เพียวเรามาทำ 80s กันมั้ย?’ มาทำจริง ๆ จัง ๆ แบบไม่ต้องสนใจคนฟังอะ แต่พอออกมาสามเพลง พี่รุ่ง (ผู้บริหารค่าย Smallroom) เขาเริ่มรู้สึกว่า เฮ่ย! พวกเอ็งเริ่มมีเอกลักษณ์แล้วนะ”
เอกลักษณ์ที่ POLYCAT ตามไปจนเจอนั้นก็คือ “ความโรแมนติกแบบมีสไตล์” ผ่านการเล่าเรื่องราวด้วยถ้อยคำเรียบง่าย แต่ร้อยเรียงมาอย่างสละสลวย และสามเพลงที่พวกเขาทำกันเองโดยยังคงความเอาแต่ใจต่อจากอัลบั้มก่อนนี่แหละ ที่กลายเป็นจุดพลิกผัน POLYCAT กลายเป็นที่รู้จักและจดจำได้ และยิ่งตอกย้ำว่าดนตรีเชย ๆ จากสองทศวรรษที่แล้วก็ยังไม่เฉิ่มจนเกินไป ซ้ำยังกลายเป็นความแปลกใหม่ เมื่อวงเลือกที่จะปล่อยเพลง “มันเป็นใคร” ตามมา
โรแมนติกแบบมีสไตล์
“พี่นะเอาเสื้อพ่อมาใส่” นี่คือคำพูดของ เพียว สมาชิกในวง เมื่อถามถึงการเสาะหาสไตล์ที่ว่า “คือทำทุกอย่างให้เหมือนเราอยู่ในยุค 80s ฟังเพลงจากซาวนด์อะเบาท์ ดูหนังยุคนั้น พอพระเอกผิดหวังก็จะไปยืนอยู่ตรงตู้โทรศัพท์ แล้วฝนก็ตก เป็นฝนตกแบบปลอม ๆ ไม่ใช่ฝนจริง ๆ ด้วย ถ้าเป็นฝนจริง ๆ มันจะไม่สวย ต้องเป็นฝนปลอม”
เป็นอันเห็นได้ชัดว่าความอิน ความเนิร์ด ของแมวเล่นซินธ์ทั้งสามที่มีต่อทุกอย่างที่เป็นความย้อนยุคย้อนสมัยนั้นมีสูงมาก แต่พวกเขากลับเล่ามันออกมาได้อย่างเรียบง่าย จนคนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจระหว่างบรรทัดได้เป็นอย่างดี จนเกิดเป็นกระแส Alright! ขึ้นในโซเชียล แบบที่ว่าหากวงไปเล่นที่ไหน ก็จะได้ยินเสียงแฟนชานท์คำว่า Alright! กันให้ลั่นทุกครั้ง และ POLYCAT ก็เลือกที่จะสานต่อความรักที่รับจากแฟนเพลง ด้วยการผลิตผลงานคุณภาพชิ้นใหม่
“ฉันยังอาวรณ์อยู่ Baby, I want you.”
คือเนื้อเพลงสุดกินใจ เข้ากับจังหวะดนตรีที่เป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างเพลงป็อบในยุค 80s นีโอโซล และอาร์แอนด์บี บอกเล่าเรื่องราวของการมีความหวังบนความสิ้นหวัง เพลงที่ถูกเขียนขึ้นโดย นะ ครั้งนี้ เต็มไปด้วยความคมคายในภาษาแบบที่หลาย ๆ คนฟังแล้วต้องแปลกใจว่า ช่างสรรหาคำที่เหมาะจะใช้พูดแทนใจขนาดนี้มาจากไหน และความน่ารักในการเล่าเรื่องของวงก็ยิ่งมากขึ้นอีกในเพลง “ดูดี” ที่ฟังแล้วอดร้องตามไม่ได้ เพราะมันดูดีที่สุดเลยเว้ยแก
ความสำเร็จของ POLYCAT ทำให้วงการเพลงไทยได้รู้ว่าเสียงซินธิไซเซอร์ แนวดนตรีซินธ์ป็อป และซาวนด์เก่า ๆ มันไม่เคยตายจากเราไปไหน มันยังคงอยู่ที่เดิม รอให้นักดนตรีสักคน หรือสักวง หยิบมาใช้ แล้วเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดถ้อยคำให้คมคาย ในรูปแบบที่ต่างออกไปจากที่เคยมี อย่างที่วง POLYCAT ยืนยันที่จะทำโดยไม่ให้ความเก่าเก็บของมันมาเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
เรื่อง : จิรภิญญา สมเทพ (The People Junior)
ที่มา : https://readthecloud.co/bird-9/
https://adaymagazine.com/entertainment-polycat/