read
history
03 ธ.ค. 2562 | 11:59 น.
ซาดาโกะ ซาซากิ พับนกกระเรียน 1,000 ตัว ด้วยความหวังว่าจะรอดชีวิต
Play
Loading...
“ถ้าพับนกกระเรียนครบ 1,000 ตัว สิ่งใดที่คุณขอจะเป็นจริง”
นี่คือตำนานโบราณของญี่ปุ่นที่เชื่อว่ามีนกกระเรียนศักดิ์สิทธิ์อายุหลายพันปี หากใครก็ตามที่พับนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัวสำเร็จ จะสามารถอธิษฐานขอพรได้ตามใจปรารถนา หลังจากที่
ซาดาโกะ ซาซากิ (
Sadako Sasaki)
ได้ยินตำนานนี้ เด็กสาวผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็ตัดสินใจลงมือพับกระดาษทันที ด้วยความหวังว่าจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ
น่าเสียดายที่ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง หลังต่อสู้กับโรคร้ายได้ 8 เดือน เธอก็จบชีวิตลงในวัยเพียง 12 ปี
ย้อนกลับไปเวลา 8 โมง 15 นาทีของวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาปล่อยระเบิดนิวเคลียร์เหนือเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงนั้นทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตทันทีกว่าแสนคน และอีกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตหลังจากนั้นจากผลพวงของกัมมันตภาพรังสี หนึ่งในนั้นคือ ซาดาโกะ ซาซากิ วัย 2 ขวบ ซึ่งบ้านที่เด็กหญิงอาศัยอยู่ห่างจากจุดระเบิดเพียง 1.6 กิโลเมตรเท่านั้น
แรงระเบิดทำลายบ้านจนย่อยยับ โชคดีที่เธอไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ แต่ก่อนที่เปลวไฟจะลุกลามมาถึงพื้นที่บ้านนั้น ครอบครัวซาซากิก็รีบหนีลงแม่น้ำ ระหว่างหลบหนีคุณยายของเธอพลัดหลงกับครอบครัว ก่อนจะพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ถึงแม้เธอจะเติบโตมาด้วยสุขภาพร่างกายแข็งแรง แถมยังเป็นนักกีฬาวิ่งแข่งที่พาชัยชนะมาสู่โรงเรียน แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเธอจะล้มป่วย ซาดาโกะรู้สึกว่าคอตัวเองบวมและมีอาการเหนื่อยล้าอยู่บ่อยครั้ง หลังจากเข้ารับการตรวจสุขภาพ ผลออกมาพบว่าเธอเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียแบบเฉียบพลัน (สมัยนั้นเรียกว่าโรคระเบิดปรมาณู A-bomb disease) แต่ครอบครัวกลับตัดสินใจไม่บอกความจริงกับเธอ ทั้งยังพยายามสร้างความทรงจำดี ๆ กับเธอด้วยการทำกิโมโนตัวใหม่แสนงดงามให้ใส่อีกด้วย
[caption id="attachment_15853" align="alignnone" width="1005"]
ซาดาโกะ ซาซากิ ตัวจริง[/caption]
ซาดาโกะผู้ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยหนัก คาดหวังว่าตัวเองจะได้กลับไปเรียน แต่ก็ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1955 ความที่ครอบครัวของเธอไม่มีเงินมากนัก ทำให้ไม่สามารถจ่ายยาแก้ปวดหรือทำการรักษาใด ๆ เพิ่มเติม ซาดาโกะจำต้องอดทนกับความทรมาน และแสร้งว่าตัวเองไม่เป็นอะไร
ความรุนแรงของโรคเริ่มเผยโฉมออกมาผ่านผิวหนัง ไม่ว่าบริเวณหน้าอกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนสี รอยจุดสีม่วงเริ่มขึ้นตามคอ แขน และขา แต่เพื่อไม่ให้ใครกังวลใจเวลาเยี่ยม ซาดาโกะขอร้องให้นางพยาบาลนำผ้ามาพันปิดเอาไว้
ช่วงเดือนสิงหาคม 1955 ซาดาโกะย้ายห้องพักไปนอนกับ
คิโยะ (
Kiyo)
เด็กสาวอีกคนที่อายุแก่กว่าเธอสองปี วันหนึ่งเพื่อนร่วมชั้นของคิโยะนำนกกระเรียนกระดาษมาเป็นของขวัญเยี่ยม คุณพ่อของซาดาโกะจึงเล่าเรื่องตำนานนกกระเรียนศักดิ์สิทธิ์ให้ฟัง เมื่อฟังจบ เธอจึงขอกระดาษจากทุกคนเพื่อพับนกกระเรียนแล้วขอพรให้ตัวเองหายดี เธอขอแม้กระทั่งกระดาษห่อยาหรืออะไรก็ตามที่สามารถพับได้ รวมไปถึงเพื่อนสนิทของเธอก็นำกระดาษมาจากโรงเรียนเพื่อให้ซาดาโกะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ
มีการบันทึกไว้ว่า ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมปีนั้น ซาดาโกะแทบไม่มีแรงลุกนั่งพับกระดาษด้วยซ้ำ แถมมือก็บวมเป่งจนพับได้ลำบาก แต่ซาดาโกะก็ใช้ช่วงเวลาที่เหลืออันน้อยนิดของชีวิตพับนกกระเรียนจนครบ 1,000 ตัว
กลางเดือนตุลาคม 1955 อาการของซาดาโกะเข้าขั้นวิกฤต ครอบครัวพยายามขอร้องให้เธอกินข้าว ซึ่งเธอก็ขอข้าวต้มชามากินก่อนจะกล่าวประโยคสุดท้ายในชีวิตว่า
“อร่อยจัง”
และแล้ววันที่ 25 ตุลาคม 1955 ซาดาโกะ ซาซากิ ก็จากไปอย่างสงบ พร้อมครอบครัวที่อยู่เคียงข้างในวินาทีสุดท้าย
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือคนมักคิดว่าซาดาโกะพับนกกระเรียนได้เพียง 644 ตัวแล้วเสียชีวิต ก่อนที่เพื่อน ๆ ของเธอจะช่วยกันพับให้ครบแล้วฝังไปพร้อมกับร่างของเธอ แต่นั่นเป็นเรื่องราวเวอร์ชันนิยาย Sadako and the Thousand Paper Cranes ของนักเขียน
เอเลนอร์ คอร์ (
Eleanor Coerr)
ขณะที่ความจริงตามข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ Hiroshima Peace Memorial Museum ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเธอพับครบ 1,000 ตัว แถมยังพับเกินมาอีก 300 ตัวด้วย เช่นเดียวกันพี่ชายคนโต
มาซาฮิโระ ซาซากิ (
Masahiro Sasaki)
ก็เขียนในหนังสือประวัติซาดาโกะว่า เธอทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ
หลังจากซาดาโกะเสียชีวิต ความลับอย่างหนึ่งก็เปิดเผยออกมา เมื่อใต้เตียงของเธอมีรายงานผลตรวจเลือดวางซ่อนอยู่ ถึงแม้จะไม่มีใครบอกซาดาโกะว่าเป็นโรคอะไร แต่การที่เธอได้อ่านผลตรวจเลือดตัวเองก็พอคาดการณ์ได้ว่า ซาดาโกะรู้ตัวอยู่แล้วว่าตัวเองป่วยหนักขนาดไหน แต่นั่นก็ไม่พ้น “ความหวัง” ที่เธอพยายามพับนกกระเรียนเพื่อขอพรให้ตัวเองหายดี
การสูญเสียซาดาโกะทำให้ครอบครัวและกลุ่มเพื่อนรวมตัวกันระดมทุนสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเด็กที่เป็นเหยื่อของระเบิดนิวเคลียร์ เป็นอนุสรณ์สันติภาพเยาวชน (Children’s Peace Monument) ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางสวนสันติภาพฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
แน่นอนว่าซาดาโกะมิใช่เด็กคนเดียวที่เสียชีวิตจากกัมมันตภาพรังสี เพียงแต่เธอเป็นหนึ่งในตัวแทนความบริสุทธิ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายของสงครามที่ตัวเองไม่ได้ก่อ อนุสรณ์สันติภาพจึงเป็นเครื่องย้ำเตือนความเลวร้ายจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และเรียกร้องให้เกิดสันติภาพบนโลกกลม ๆ ใบนี้
เหมือนดั่งประโยคที่สลักไว้ใต้อนุสรณ์ว่า
“This is our cry. This is our prayer. Peace in the world”
เรื่องโดย
:
สหธร เพชรวิโรจน์ชัย
ข้อมูลจาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_40718
Hiroshima Peace Memorial Museum
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3516
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6952
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
829
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
The People
Sadako Sasaki
Paper Cranes