โซฟี โชล: นักศึกษาขบวนการกุหลาบขาวผู้ไม่ขอก้มหัวให้เผด็จการนาซี

โซฟี โชล: นักศึกษาขบวนการกุหลาบขาวผู้ไม่ขอก้มหัวให้เผด็จการนาซี
ช่างเป็นวันที่แสงแดดจ้าฟ้าสว่างไสวและมันก็ถึงเวลาที่ฉันต้องไปแล้ว ความตายฉันมันไม่มีความหมายอะไรหรอก เมื่อเทียบกับการที่คนนับหมื่นนับแสนจะตื่นและลุกขึ้นมาสู้
ถ้อยคำเหล่านี้ถูกกล่าวโดยหญิงสาวเยอรมันอายุ 21 ปี ก่อนที่เธอจะย่างก้าวเข้าสู่การประหารโดยเครื่องกิโยตินหลังจากที่เธอและผู้ร่วมขบวนการอีก 5 คนในชื่อ ‘กุหลาบขาว’ (The White Rose) ถูกตัดสินว่ากระทำผิดฐานกบฏต่อชาติหรือนาซีเยอรมนี (Nazi Germany) ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการแบบฟาสซิสต์อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ภายใต้การปกครองแบบกดขี่ ข่มเหง แบ่งแยก กวาดต้อน และกำจัดในยุคของเผด็จการอย่างนาซีที่เถลิงอำนาจผ่านการหาเสียงและการเข้ามาดามใจชาวเยอรมนีจากวิกฤติด้านต่าง ๆ ที่เป็นผลประทบมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Recession) บ้านเมืองถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมที่มาพร้อมแนวคิดขวาจัด สิทธิ์และเสียง แม้กระทั่งของประชาชนที่ถูกจัดอยู่ในประเภท ‘สหายร่วมชาติ’ หรือชาวอารยันแท้ก็ถูกริดรอนไปอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงกลุ่มคนเชื้อสายอื่นที่ถูกจำแนก กีดกัน และถึงขั้นกำจัดอย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ตามความเห็นต่างก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะพยายามปิดกั้นและฝังลงดินมากเพียงใดก็ไม่อาจจะหลีกหนีมันพ้น ความหวังจะโค่นล้มระบอบนาซีเกิดขึ้นมาแทบจะควบคู่กับการมีอยู่ของการกดขี่ที่เกิดขึ้น กรณีที่เห็นได้ชัดและเรียกได้ว่าถึงตัวท่านผู้นำได้มากที่สุดก็คงจะเป็นเหตุการณ์ไหนไปไม่ได้ นอกเสียจาก ปฏิบัติการวัลคีรี (Operation Valkyrie) ที่พันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (Claus von Stauffenberg) ได้ทำการวางระเบิดไว้ในห้องประชุมของฮิตเลอร์เองกับมือ (อ่านเรื่องราวนี้ต่อได้ที่บทความ ‘เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ชีวิตจริงของนายทหารผู้พยายามฆ่า “ฮิตเลอร์”’ https://thepeople.co/claus-von-stauffenberg-historical-facts-20-july-plot) แต่นอกจากความพยายามโดยทหารในปี 1944 เองแล้ว หากย้อนกลับไปก่อนหน้าประมาณหนึ่งปีก็มีอีกหนึ่งวีรกรรมที่กล้าหาญที่ถูกจารึกและยกย่องเป็นแรงบันดาลใจจนถึงปัจจุบันนี้อย่าง โซฟี โชล และสมาชิกร่วมอุดมการณ์อีก 5 ชีวิต ที่เป็นกลุ่มสำคัญของประวัติศาสตร์การต่อต้านอำนาจรัฐโดยกลุ่มขบวนการนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่ากุหลาบขาว ในบทความนี้ The People จะพาไปรู้จักเรื่องราวของขบวนการกุหลาบขาวที่ริเริ่มจากใบปลิวแผ่นพับพร้อมกับเนื้อหาต้านเผด็จการที่วางไว้ตามสถานที่และสุ่มส่งไปตามรายชื่อต่าง ๆ สู่ ‘คำประกาศของนักศึกษามิวนิค’ (The Manifesto of the Students of Munich) นับล้านใบที่ถูกโปรยลงมาทั่วแผ่นดินเยอรมนีโดยเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร   จากสหายร่วมชาติสู่ศัตรูของประชาชน โซฟี แมกดาลีนา โชล (Sophie Magdalena Scholl) เกิดในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 1921 ที่ตำบลขนาดเล็กนามว่าฟอร์ชเตนเบิร์ก (Forchtenberg) บริเวณภาคกลางของประเทศเยอรมนี เธอเป็นลูกคนที่หกของครอบครัว บิดาของเธอนามว่า โรเบิร์ต โชล (Robert Scholl) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองฟอร์ชเตนเบิร์ก ผู้ที่ยึดมั่นในหลักการสันติวิธีและไม่อินกับความเป็นชาตินิยมของนาซีที่ฮิตเลอร์ปลุกปั้นขึ้น มารดาของเธอมีนามว่า แมกดาลีเนอ โชล (Magdalena Scholl) ผู้ที่คอยปลูกฝังคำสอนของศาสนาในการปฏิบัติตนในแบบที่ควรจะเป็น สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าลูก ๆ สกุลโชลนับว่าโชคดีกว่าประชาชนเยอรมันอีกหลายล้านคนด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีและสภาวะการเงินที่นับว่าไม่ขัดสนใด ๆ นัก แถมมีหัวหน้าครอบครัวอย่างโรเบิร์ตที่เปิดรับฟังทุกความเห็นให้ถกเถียงกันด้วยบรรยากาศของหลักการประชาธิปไตย ไม่ว่าคนเป็นพ่อจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม บุคคลสำคัญอีกหนึ่งคนก็คือ ฮันส์ โชล (Hans Scholl) พี่ชายที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญและหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการกุหลาบขาวร่วมกับโซฟี แม้ว่าเรื่องราวของโซฟีและฮันส์จะเกี่ยวโยงกับการต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการเป็นหลัก แต่หากย้อนกลับไปในยุคที่พรรคนาซีขึ้นครองเยอรมนีแรก ๆ เยาวชนมากมายรวมถึงโซฟี ฮันส์ และพี่น้องสกุลโชลคนอื่น ๆ ก็เคยเชื่อมั่นและเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ของฮิตเลอร์ที่จะนำพาความรุ่งเรื่องกลับมาสู่เยอรมนีอีกครั้งและเข้าร่วมกับ ยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Jugend - HJ) สำหรับผู้ชาย และ สันนิบาตสตรีเยอรมัน (Bund Deutscher Mädel) สำหรับผู้หญิง ซึ่งก็เป็นค่ายที่เอาไว้ปลูกฝังบ่มเพาะอนาคตของชาติให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ในแบบของนาซีเยอรมนี โดยที่คนเป็นพ่ออย่างโรเบิร์ตไม่เห็นด้วยเพราะเขาไม่เคยเชื่อในอุดมการณ์นาซีตั้งแต่แรก แต่หากลูก ๆ เลือกที่จะเข้าร่วม หน้าที่ของคนเป็นพ่อที่เชื่อในหลักเสรีนิยมก็ต้องมอบสิทธิ์นั้นแก่ลูก ๆ แต่นานวันเข้าการกดขี่ข่มเหงของนาซีก็เริ่มหนักข้อขึ้นถึงขั้นที่ฮันส์ทำผิดกฎโดยการทำกิจกรรมเชิงเสรีชนที่ถูกห้ามโดยรัฐ ทำให้ตัวเขาถูกจำขังและถึงขั้นที่ต้องจับกุมครอบครัวโชลไปสอบสวน ผสานกับความไม่เห็นด้วยหลายประการที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่การแบ่งแยกเชื้อชาติและการริดรอนสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นจึงเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้โซฟีและฮันส์ตื่นจากอุดมการณ์ชาตินิยมที่พวกเขาเคยหลงเชื่อและหันเหเส้นทางจาก ‘สหายร่วมชาติ’ ในฐานะอารยันบริสุทธิ์ที่ได้รับสิทธิพิเศษเต็มขั้นภายใต้นาซีเยอรมนีสู่ ‘ศัตรูของประชาชน’ ที่มีความมุ่งหวังจะกอบกู้สิทธิเสรีภาพและต่อต้านเผด็จการในขบวนการกุหลาบขาว แท้จริงการแสร้งทำตามืดบอดและใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในฐานะสหายร่วมชาติก็เป็นทางเลือกที่นับว่าไม่กระทบกระเทือนชีวิตของพี่น้องโชลเท่าไหร่นัก เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่ถูกกวาดล้าง ไม่ได้เป็นคนถูกนำตัวเข้าค่ายกักกัน หรือแม้โดนคดีก็ถูกพิจารณาในฐานะสหายร่วมชาติที่มักจะได้สิทธิพิเศษอยู่เสมอ ๆ แต่ความเร่าร้อนและความเชื่อมั่นที่หนักแน่นในฐานะจิตวิญญาณนักสู้ที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนมันหนักเกินกว่าจะแสร้งทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เส้นทางที่แม้จะสั้นแต่ทรงพลังจึงได้ถือกำเนิดขึ้น…   กุหลาบขาวและแผ่นพับต้านเผด็จการ “สำหรับโซฟี เธอเป็นเสมือนหัวใจ ส่วนฮันส์กับอเล็กซ์เป็นเหมือนมันสมองของขบวนการ” ขบวนการกุหลาบประกอบไปด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิกห้าคน โซฟี โชล, ฮันส์ โชล, อเล็กซานเดอร์ ชมอเรลล์ (Alexander Schmorell), คริสตอฟ โพรบส์ (Christoph Probst), วิลลี กราฟ (Willi Graf) และศาสตราจารย์วิชาปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิกอีกหนึ่งคนคือ ดร. เคิร์ต ฮูเบอร์ (Kurt Huber) แต่การตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐที่จะก่อร่างสร้างตัวเป็นขบวนการกุหลาบขาวในเวลาต่อมาเกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่โซฟีจะเข้ามาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยโดยฮันส์และอเล็กซ์หลังจากที่ทั้งคู่ถูกเกณฑ์ไปทำสงครามในแนวรบตะวันออกและได้เห็นความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของนาซีและขอยืนหยัดที่จะไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป จึงทำให้พวกเขาเริ่มวิจารณ์การกระทำของนาซีและแพร่กระจายผ่านใบปลิวแรกอย่างเปิดเผยในนามของขบวนการกุหลาบขาว “คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าชาติที่มีมนุษยธรรมแต่ปล่อยให้ตัวเองถูก ‘ปกครอง’ โดยกลุ่มก๊กของผู้ที่ขับเคลื่อนตัวเองด้วยแรงปราถนาอันชั่วร้าย [...] หากพวกเราชาวเยอรมันผุพังถึงขั้นที่ปล่อยให้พวกมัน ประพฤติเลวและกระทำชั่วได้ตามใจต้องการและบงการเราแบบง่ายดายดั่งพลิกฝ่ามือถึงเพียงนี้ หากพวกเราชาวเยอรมันขาดความเชื่อมั่นในปัจเจกภาพและกลายเป็นคนขี้ขลาดไร้สปิริตจนไม่สามารถลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้นก็สมควรแล้วที่เราจะต้องพบเผชิญกับหายนะในภายภาคหน้าอันหลีกเลี่ยงไม่ได้” “หากต้องรอให้คนอื่นเริ่มทำก่อน เราทุกคนจะเคลื่อนที่เข้าใกล้กับปากเหวของอสุรกายที่ตะกละตะกลามในอำนาจ ดังนั้น ทุก ๆ คนควรเริ่มดำเนินการขัดขืนในตอนนี้ นี่อาจจะเป็นวันสุดท้ายหรือชั่วโมงสุดท้ายแล้วที่เรายังสามารถที่จะลงมือทำได้ จงร่วมมือกันต่อต้านเครื่องจักรสังหารนี้ก่อนที่บ้านเมืองจะสลายหายกลายเป็นซากปรักหักพัง” "อย่าลืมว่าทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้มีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่เขาจะได้ผู้นำแบบที่พวกเขาต้องการ" ถ้อยคำบางส่วนจากแผ่นพับใบแรกของกุหลาบขาวได้แสดงให้เราเห็นว่านักศึกษากลุ่มนี้มุ่งเป้าที่จะวิจารณ์การกระทำของเผด็จการนาซีอย่างตรงไปตรงมาและหวังที่จะชักชวนคนให้เห็นด้วยและเข้าร่วม ถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเมื่อเทียบกับในบริบท ณ ขณะนั้น เพราะว่าเพียงแค่เล่นมุขตลกเสียดสีรัฐบาลก็ถือเป็นความผิดต้องโทษที่จริงจัง หลังจากโซฟีก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ก่อนที่เธอจะได้เห็นแผ่นพับกุหลาบขาว เธอไม่ได้ให้ความสนใจการเมืองนัก แต่พอเธอได้มีโอกาสได้อ่านใบปลิวนั้นมันก็เหมือนเป็นการสะกิดสิ่งที่เธอแอบคิดอยู่ลึก ๆ แต่สิ่งที่เปิดประตูให้ความรู้สึกคับแค้นของเธอที่ครุกกรุ่นอยู่ลึก ๆ ไหลหลากออกมาก็เป็นวินาทีที่เธอค้นพบว่าผู้ที่ผลิตแผ่นพับเหล่านี้ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นฮันส์ พี่ชายของเธอ ในคราวแรกฮันส์ห้ามไม่ให้โซฟีมายุ่งเพราะเธอเป็นผู้หญิงจึงไม่อยากให้ต้องมาแบกรับความเสี่ยงที่อาจถึงชีวิต แต่โซฟียืนหยัดที่จะเข้าร่วมขบวนการนี้ด้วยโดยเธอโต้กลับว่าก็เพราะเธอเป็นผู้หญิง ตำรวจลับนาซีอย่าง ‘เกสตาโป’ (Gestapo) หรือ Geheime Staatspolizei ก็จะได้ไม่ต้องมาสังสัยเธอ ฮันส์และสมาชิกคนอื่น ๆ จึงตกลงที่จะให้เธอเข้าร่วม ทำให้เธอเป็นผู้ดำเนินการหลักในหลาย ๆ ภารกิจได้อย่างแนบเนียน นักศึกษาทั้งห้าคนลุยดำเนินการต่อต้านนาซีอย่างลับ ๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่แผ่นพับฉบับต่าง ๆ สู่การนำสีไปทาเพื่อขีดฆ่าสัญลักษณ์สวัสดิกะอันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำของนาซีเยอรมนี การกระทำของขบวนการกุหลาบขาวยิ่งเป็นการกระทุ้งให้พวกนาซีและเกสตาโปอยากจะกระชากคนอยู่เบื้องหลังเรื่องราวนี้มากำจัดให้ได้ ซึ่งข้อมูลเดียวที่พวกนาซีมีคือ คนอยู่เบื้องหลังนี้ต้องมีเกี่ยวโยงกับมหาวิทยาลัย…   ปฏิบัติการสุดท้ายของฮันส์และโซฟี วีรกรรมของขบวนการกุหลาบขาวก็ดำเนินมาเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 1943 โซฟีและฮันส์ตัดสินใจที่จะนำใบปลิวไปวางไว้ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างมาก (Red Alert) เนื่องจากถูกเพ่งเล็งโดยเกสตาโป แต่ทั้งคู่ก็ยืนหยัดที่จะทำเนื่องด้วยเป้าประสงค์ที่อยากจะให้นักศึกษาอีกหลายคนได้ตาสว่างเหมือน ๆ กับพวกเขา ทั้งคู่นำใบปลิวหลายปึกเก็บเข้าประเป๋าในปริมาณที่พอดีพื้นที่แบบเป๊ะ ๆ และมุ่งตรงเข้าสู่มหาวิทยาลัยมิวนิคในช่วงที่อยู่ระหว่างคาบเรียน ดังนั้นจึงทำให้โถงใหญ่ไร้ผู้คน ทั้งคู่ดำเนินการวางแผ่นพับหลายปึกเป็นกอง ๆ ทั่วโถงและชั้นต่าง ๆ ด้วยเวลาที่จำกัดและบรรยากาศที่น่าระแวง เพราะหากมีคนมาเห็นถือว่าจบเห่และในที่สุดทั้งคู่ก็นำใบปลิวกองสุดท้ายไปวางไว้ระเบียงชั้นบนของห้องโถง ก่อนที่ทั้งคู่จะรีบเดินออกจากที่สถานที่เกิดเหตุ มีความคิดบางอย่างผุดขึ้นมาในหัวของเธอ โซเฟียเดินไปผลักกระดาษที่วางอยู่บนระเบียงของชั้นบนสุดของระเบียงโถงใหญ่ให้ตกลงมากระจายปลิวว่อน ในขณะเดียวกันสายตาของภารโรงผู้หนึ่งที่ได้จับจ้องทั้งคู่อยู่พักหนึ่งก็รีบแจ้งเกสตาโปจนทั้งคู่ถูกจับไปสอบสวน   ใจเสรีที่กิโยตินก็ฆ่าไม่ตาย ระหว่างการสืบสวนทั้งคู่ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเสียงแข็ง แต่หลักฐานมัดตัวที่ทำให้ทั้งคู่ดิ้นไม่หลุดกลับกลายเป็นแผ่นพับทั้งหมดที่สามารถเรียงใส่ในกระเป๋าของทั้งคู่ได้อย่างพอดิบพอดี ทางเลือกอื่นจึงไม่มีเหลือนอกจากการยอมรับสารภาพ แต่แม้ว่าจะหมดหนทางในการจะพาตัวเองให้รอดพ้นไปจากสถานการณ์ตรงนี้ แต่ฮันส์และโซฟีก็ไม่เปิดปากให้พวกนาซีสามารถสืบสาวไปหาสมาชิกที่เหลือได้ แต่โชคร้ายที่มีแบบร่างของใบปลิวชิ้นต่อไปที่กำลังจะถูกตีพิมพ์อยู่กับตัวฮันส์ด้วย เพราะเหตุนี้ทางทีมสอบสวนจึงสามารถเทียบลอยนิ้วมือและสืบเสาะหาผู้ร่วมขบวนการอีกหนึ่งคนที่เป็นผู้เขียนร่างนั้นอย่าง คริสตอฟ โพรบส์ จึงถูกจับกุมตัวด้วย ทั้งสามถูกนำตัวเข้าไต่สวนใน ‘ศาลประชาชน’ (People’s Court) หรือ Volksgerichtshof สถานที่ที่แทนที่จะมีอยู่เพื่อ ‘ความยุติธรรมของประชาชน’ แต่จุดประสงค์ของศาลประชาชนแห่งนี้มีไว้เพื่อ ‘มุ่งกวาดล้างศัตรูของอาณาจักรไรช์ที่สาม’ โดยผู้พิพากษาของศาลแห่งนี้ตัดสินคดีโดยยึดเอาหลักของดุลพินิจตนเองเป็นที่ตั้ง โดยการกระทำประเภทนี้จะทำให้หาความแน่นอนในการตัดสินคดีแทบจะไม่ได้เลย การต่อสู้ของทั้งสามคนในศาลประชาชน หากจะกล่าวว่าเป็นการ ‘ทำพอเป็นพิธี’ ก็ว่าได้ เพราะชะตาชีวิตของจำเลยเหล่านั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกแล้ว กระบวนการยุติธรรมภายใต้ศาลประชาชนและผู้พิพากษาอำมหิตที่ไร้ความเป็นมนุษย์อย่าง โรลันด์ ไฟรสเลอร์ (Roland Freisler) พร้อมจะโจมตีจำเลยด้วยถ้อยคำที่มุ่งกดขี่ให้พวกที่เขาจำกัดความว่าเป็น ‘ปรสิตสังคม’ ยอมแพ้แบบไม่ทันจะเอ่ยปากสู้ด้วยซำ้ นอกเสียจากจะมีผู้พิพากษาที่เหมือนดั่งผุดตัวเองขึ้นมาจากนรก โซฟี ฮันส์และคริสตอฟ ไม่มีแม้แต่สิทธิ์ในการที่จะให้การใด ๆ เสียด้วยซำ้ โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 1943 ทั้งสามถูกตัดสินให้ถูกประหารชีวิตโดยกิโยติน (Guillotine) และถ้อยคำแรกของบทความนี้ก็คือถ้อยคำสุดท้ายของโซฟีหญิงสาววัย 21 ที่ถูกพรากชีวิตไปโดยระบอบเผด็จการอย่างนาซี ฮันส์ โชลเองก็แสดงเจตจำนงค์ของตนเองอย่างกล้าหาญก่อนที่ใบมีดของกิโยตินจะแล่นผ่านคอของเขาด้วยการตะโกนถ้อยคำว่า “เสรีภาพจงเจริญ!” ในเวลาต่อมาแผ่นพับของขบวนการกุหลาบขาวก็ถูกลักลอบนำไปส่งให้ถึงมือสหราชอาณาจักร โดยแผ่นพับเหล่านั้นก้ถูกผลิตเพิ่มเป็นล้าน ๆ ฉบับพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น คำประกาศของนักศึกษามิวนิค หรือ The Manifesto of the Students of Munich เพื่อขนขึ้นเครื่องบินเพื่อไปโปรยเหนือน่านฟ้าและตกลงทั่วผืนแผ่นดินเยอรมนี เหมือนดั่งที่โซฟีเคยผลักมันตกจากระเบียงชั้นบนสุดตกสู่พื้นห้องโถงในมหาวิทยาลัยมิวนิก แม้ว่ากระดาษล้าน ๆ แผ่นที่ถูกโปรยลงมาเหล่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดความปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใดในหมู่คนเยอรมันส่วนใหญ่ แต่ในเวลาต่อมา โซฟี ฮันส์ และสมาชิกกุหลาบขาวทุกคนก็ถูกยกย่องไม่ใช่แค่เพียงแต่คนเยอรมันเองเท่านั้น แต่แทบจะทั่วทั้งโลกได้เห็นวีรกรรมความกล้าหาญของเหล่านักศึกษาที่มาพร้อมกับพลังบริสุทธิ์ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยชีวิตก็ตาม ถึงเวลาจะผ่านไปกว่าหนึ่งศตวรรษแต่เรื่องราวของ โซฟี โชล และขบวนการกุหลาบขาวยังคงสร้างแรงบันดาลใจและถูกเล่าขานในฐานะตัวอย่างของอารยะขัดขืนจากราษฎรตัวเล็ก ๆ และเป็นเครื่องย้ำเตือนใจถึงความชั่วร้ายของระบอบเผด็จการไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่จะจารึกในบทต่อ ๆ ไปไม่ซำ้รอยเดิมอีก…   ภาพ: ullstein bild Dtl. / Contributor via Getty Images Pamphlet Distributed by the White Rose Movement. United States Holocaust Memorial Museum Photo Archives. Copyright of United States Holocaust Memorial Museum. Retrieved. https://perspectives.ushmm.org/.../pamphlet-distributed... Jurgen Wittenstein, Public Domain. Retrieved. https://commons.wikimedia.org/.../File:Gestapo_photos_of... https://commons.wikimedia.org/.../File:Gestapo_photos_of... อ้างอิง: ไพรัช แสนสวัสดิ์. โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี. WAY OF BOOK, 2563. Sophie Scholl – The Final Days. (2005). Zeitgeist Films Hans Scholl and Alexander Schmorell. June 1942. “First White Rose leaflet” English Translation. Bundesarchiv, R 3018/NJ 1704, Bd. 32. https://www.gdw-berlin.de/.../topics/15-the-white-rose/. Accessed 8 May 2022. Spitzer, Tanja B. 2020. “Sophie Scholl and the White Rose.” Retrieved. https://www.nationalww2museum.org/.../sophie-scholl-and... Accessed 8 May 2022. Gillespie, Iseult. 2019. “The secret student resistance to Hitler - Iseult Gillespie.” TED-Ed. Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=ZtOKRsF6Rr0. Accessed 8 May 2022. HistoryMarche. 2021. “WWII Sophie Scholl - How a young woman defied Hitler.” Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=3MiSiYPgDtU. Accessed 8 May 2022.