ย้อนความรุ่งเรืองและถดถอยของห้างในเชียงใหม่ ตันตราภัณฑ์ ถึง กาดสวนแก้ว

ย้อนความรุ่งเรืองและถดถอยของห้างในเชียงใหม่ ตันตราภัณฑ์ ถึง กาดสวนแก้ว

เชียงใหม่ที่โด่งดังในสถานะเมืองท่องเที่ยวและวัฒนธรรม มีศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อยู่มากมาย จากยุคต้นตั้งแต่ ตันตราภัณฑ์ พ.ศ. 2494 ถึง กาดสวนแก้ว ในยุคเศรษฐกิจน่าเป็นห่วง ความเปลี่ยนแปลงของสถานที่เหล่านี้ล้วนสะท้อนมิติต่าง ๆ หลากหลายแง่มุม

  • วิวัฒนาการของห้างสรรพสินค้าในเมืองเชียงใหม่ แบ่งช่วงได้เป็นหลายยุค แต่ละยุคมีลักษณะแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะด้านความเป็นเจ้าของและรูปแบบกิจการ
  • ยุคตั้งต้น ถือเป็นยุคสมัยแห่งการพัฒนา ราวก่อนทศวรรษ 2530
  • ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุควิกฤตการณ์การเมืองและสถานการณ์โควิด-19

ในปี 2015 ได้มีหนังสือชื่อ From Main Street to Mall: The Rise and Fall of the American Department Store [1] ออกมา ซึ่งถูกกล่าวถึงว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่อธิบายถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมห้างค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาที่เป็นภาพรวมในระดับชาติของแต่ละยุคสมัยได้อย่างเป็นระบบที่สุด เขียนโดยวิกกี้ โฮวาร์ด (Vicki Howard) รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากวิทยาลัยฮาร์ทวิค มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

เธอชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของห้างสรรพสินค้าที่ถือกำเนิดขึ้นมาในสังคมอเมริกันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ที่มีนัยเชิงพื้นที่สาธารณะ (Public Space) แลกเปลี่ยนกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เริ่มจาก A.T.Stewart แห่งแรก ที่กลายเป็นต้นแบบทางธุรกิจ เปลี่ยนการค้าปลีกแบบเดิม (Retail) ด้วยการแบ่งออกเป็นแผนกตามสินค้า (Departmentalization) จนถูกเรียกขานว่า “ห้างสรรพสินค้า” และค่อยๆ เดินหน้าเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ท่ามกลางปัจจัยที่มีส่วนเอื้อเสริมหลายปัจจัย ทั้งจากความเป็นเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนการมาของผู้อพยพ

จุดร่วมคือ นิยมตั้งอยู่บริเวณแยกใหญ่ใจกลางเมือง เป็นตึกหลายชั้น บรรยากาศภายในหรูหรา และที่สำคัญคือ เจ้าของกิจการเป็นคนในเมืองนั้นเอง เช่น R.H.Macy and Company, Inc. (ชื่อปัจจุบันคือ Macy’s), Hilton, Hughes & Co. Bloomingdale’s และ B. Altman ของเมืองนิวยอร์ค Marshall Field’s, Montgomery Ward และ Sears, Roebuck and Co. (หรือ Sears) แห่งชิคาโก้ Wanamaker’s กับ Gimbels แห่งฟิลาเดลเฟีย เป็นยุคที่วิกกี้เรียกว่า “พระราชวังแห่งการบริโภค” (Palaces of Consumption)

ในทศวรรษ 1920 เริ่มมีห้างเครือข่าย (Chain Store) เกิดขึ้น และขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ท่ามกลางการเคลื่อนไหววมตัวคัดค้านโดยกลุ่มร้านขายของชำ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Mom-and-pop Store ซึ่งเป็นธุรกิจอิสระเล็ก ๆ ของแต่ละครอบครัว ไม่ได้มีสาขาอะไร

ห้างสรรพสินค้ายุคนี้ประกอบด้วยลิฟท์ และบันไดเลื่อนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า มีสินค้าและร้านรวงหลากหลาย ไม่ว่าเป็นโรงละคร ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านของขวัญ ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ฯลฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เอาอกเอาใจคุณผู้หญิงเป็นพิเศษ สอดรับเข้ากันกับวิถีบริโภคนิยมสมัยใหม่ สามารถยืนหยัดข้ามผ่านมรสุมเศรษฐกิจในห้วงทศวรรษ 1930 ไปได้

กระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดปรากฎการณ์ที่การพัฒนาได้เบนเข็มออกไปแถบชานเมือง (Suburban Sprawl) ซึ่งหมายความรวมถึงศูนย์การค้า (Shopping Center) คนนิยมอาศัยอยู่นอกเมือง เพราะสามารถสร้างบ้านที่มีเนื้อที่ใช้สอยมาก ๆ ได้ แล้วหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อไปไหนต่อไหน สัมพันธ์กับการขยายบทบาทของรัฐบาลกลางที่ทุ่มลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญคือ ถนน ประกอบกับน้ำมันราคาไม่แพง ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์อเมริกันเติบโตชนิดก้าวกระโดด

ภาวการณ์เช่นนี้เองที่เอื้ออำนวยโอกาสให้ทุนใหญ่ระดับชาติ อย่าง J.C. penny ขยับไปลงทุนทำห้างเล็กในเมืองรองที่มีขนาดปานกลาง หรือ J.M. Fields ที่ขยายสาขาตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกเหนือจรดใต้ ตั้งแต่รัฐเมนลงไปถึงฟลอริดา

ต่อมาในห้วงทศวรรษ 1970 ห้างค้าปลีกสมัยนี้ต้องมีขนาดใหญ่ ขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด (Discount Store) โดยพยายามตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าราคาที่จ่ายไป ห้างกลุ่มนี้ เช่น Walmart, Kmart, Target, Cosco มีสาขากระจายอยู่ทั่วไป ไม่ได้มุ่งตั้งสาขาภายในเขตเมืองเท่านั้น หากแต่สนใจพื้นที่ชนบทอีกด้วย

จุดเด่นอยู่ที่มีที่จอดรถอย่างเหลือเฟือรองรับ ขยายเวลาเปิดให้เช้าและปิดดึกขึ้น มีสวนสนุกหรือสนามเด็กเล่นเป็นส่วนประกอบ ห้างประเภทนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ขณะที่ห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่ ขณะเดียวกันก็เกิดห้างเฉพาะทางที่เจาะจงขายสินค้าบางชนิด จำหน่ายวัสดุสำนักงาน เช่น Office Max อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Best Buy (ชื่อเดิม Sound of Music) เฟอร์นิเจอร์ เช่น The Home Depot กีฬา เช่น Dick’s Sporting Goods ของเล่น เช่น Toys-R-Us 

กระทั่งราวปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค กิจกรรมเศรษฐกิจ และบริบทการเมืองขนานใหญ่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ ห้างดั้งเดิมจึงเริ่มทยอยพ่ายแพ้ ล้มหายตายจากเป็นลำดับ

หากไม่ควบรวมกิจการเข้ากับห้างยักษ์ระดับชาติก็ย่อมต้องปิดตัวลงไป ก่อนจะเดินหน้าเข้าสู่โลกทัศน์แบบ Wal-Mart เป็นสถานที่ที่มีขายทุกสิ่งอย่างภายใต้หลังคาเดียว (everything under one roof) ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสโหยหาห้างสรรพสินค้าแบบในอดีต (Local Nostalgia)

ความตายของห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นในสังคมอเมริกันข้างต้น ใกล้เคียงกับปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยตลอดห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งบทความชุดนี้ขอใช้เชียงใหม่มาบอกเล่า

ย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่ทางรถไฟสายเหนือจะมาถึงเชียงใหม่ การค้าขายสมัยนั้นมักนิยมเดินทางโดยใช้วัวต่างม้าต่างบรรทุกสินค้าหรือไม่ก็ล่องเรือมาตามแม่น้ำปิง แต่เมื่อการสร้างทางรถไฟแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2464 หนทางต่าง ๆ ที่เคยใช้มาก่อน ซึ่งต้องนอนแรมกันนานเป็นเดือนก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป

เมื่อกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่เชื่อมถึงกันได้ง่ายและเร็ว ทำให้กลุ่มพ่อค้าคนจีนเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอีกระลอก ทั้งเพื่อทำการค้าขายไปจนถึงขั้นอพยพมาตั้งถิ่นฐานถาวร คนรุ่นนี้เองที่ทำให้เกิดย่านการค้า และได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจของเชียงใหม่แทนที่กลุ่มคนค้าขายดั้งเดิม และชนชั้นนำเก่าแก่ [2] พร้อม ๆ กับที่เชียงใหม่ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐไทย โดยได้รับเงินเพื่อกิจการสาธารณะและสวัสดิการจากกรุงเทพฯ ถนนสายสำคัญ เช่น ถนนท่าแพ, ถนนเจริญเมือง, ถนนลอยเคราะห์ ก็เริ่มสร้างขึ้นสมัยนี้ [3]

ความเป็นศูนย์กลางกิจกรรมเศรษฐกิจ และความเจริญของตัวเมืองเชียงใหม่ที่กระจุกตัวอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทั้งสองข้างที่เคยเป็นเส้นทางสำคัญในการคมนาคมขนส่ง เพราะทั้งสะดวกต่อการเดินทาง ค้าขาย และลำเลียงสินค้า ก็กระจายตัวออกไป ทั้งเพื่อตั้งถิ่นฐานและร้านค้า ทั้งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำอันเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟ โรงสีข้าวและโรงเลื่อยไม้หลายแห่งเกิดขึ้นบริเวณนี้ และทิศตะวันตกของแม่น้ำเข้าสู่พื้นที่ถนนท่าแพ ถนนช้างคลาน จนกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญของเชียงใหม่ในเวลาต่อมา ร้านค้าตั้งเรียงรายตลอดสองข้างทางล้วนเป็นของพ่อค้าจีน สะพานนวรัฐ (ขัวเหล็ก) ที่เชื่อมเมืองทั้งสองฝั่งแม่น้ำก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน [4]

การค้าของคนเชียงใหม่ในอดีตซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนผลิตผลระหว่างชุมชนต่าง ๆ โดยอาศัย “ตลาด” หรือ “กาด” เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้า ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามกาลเวลา จากที่เคยวางขายกันริมทางเดินหรือบนถนนก็ย้ายมาขายในตัวอาคาร [5] จนพัฒนาไปเป็นห้องแถวหรือตึกแถวในย่านเก่า (Shophouse) โดยผู้ประกอบการแต่ละรายจะใช้พื้นที่ค้าขายและอาศัยอยู่ในอาคารนั้นเอง ที่มีลักษณะเป็นห้องแถว ความสัมพันธ์ระหว่างคนขายกับคนซื้อเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เช่นสามารถต่อรองราคาได้

ภายหลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เริ่มมีการจัดตั้งที่ทำการราชการส่วนต่าง ๆ ที่เชียงใหม่ รวมถึงเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ประสบกับภาวะชะงักงัน กระทั่งปี 2494 จึงได้มี “ห้างสรรพสินค้า” แห่งแรกบนถนนท่าแพในชื่อ “ตันตราภัณฑ์”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเมืองมีความเจริญและขยายตัวมากยิ่งขึ้น ย่านการค้าก็ขยับขยายออกไปด้วย เกิดศูนย์การค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ คอมมิวนิตี้มอลล์ และในรูปแบบอื่นอีกสารพัด จากที่เคยมีบทบาทควบคู่กันก็ค่อย ๆ แทนที่ไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างมากในทศวรรษที่ 2530 ยิ่งห้างสมัยใหม่เพิ่มขึ้น ย่านการค้าเก่าแก่ก็เสื่อมถอยลง ในขณะที่กลุ่มทุนคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นทุนท้องถิ่นก็ค่อย ๆ ถูกทุนต่างถิ่น ทุนระดับชาติ กระทั่งทุนข้ามชาติเบียดขับออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ย่านใจกลางเมืองที่เคยรุ่งโรจน์แทบจะถูกทิ้งร้าง

พัฒนาการของห้างสรรพสินค้า [6] ในบทความชุดนี้ หมายรวมถึงศูนย์การค้า [7]  และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ [8] ด้วย คือรูปธรรมที่ใช้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งย่อมสัมพันธ์กับมิติต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ห้างสมัยใหม่ (Modern Trade) ดังกล่าวก็เป็นภาพแทนความทันสมัยของเชียงใหม่ และเป็นพลังดึงดูดผู้คนมหาศาลให้มาอยู่ที่นี่ ไม่ต่างจากที่รถไฟเคยทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน เมื่อกว่า 100 ปีก่อนหน้านี้

หากกล่าวถึงห้างสรรพสินค้าในเมืองเชียงใหม่ สามารถแบ่งช่วงของวิวัฒนาการได้เป็นหลายยุค ซึ่งแต่ละยุคก็มีลักษณะที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะด้านความเป็นเจ้าของและรูปแบบกิจการ

ยุคตั้งต้น: ยุคสมัยแห่งการพัฒนา ก่อนทศวรรษ 2530

ในปี 2494 “ตันตราภัณฑ์” ร้านค้าสมัยใหม่แห่งแรกของเชียงใหม่เกิดขึ้นบนถนนท่าแพ ย่านการค้าดั้งเดิมที่มีลูกค้าอุดหนุนมากโขอยู่แล้ว ดำเนินกิจการโดยตระกูลตันตรานนท์ ที่มีต้นตระกูลคือ นายง่วนชุน แซ่ตัน เขาเกิดและเติบโตที่กวางตุ้ง จนเข้าวัยหนุ่มจึงอพยพมาอยู่เมืองไทย ถือเป็นชาวจีนรุ่นที่สองของเชียงใหม่ เพราะเข้ามาหลังจากเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่สร้างเสร็จ [9]

นายง่วนชุนทำอยู่หลายอาชีพก่อนจะเปิดร้านค้าของตัวเอง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2475 ตามคำชักชวนของเจ้าดารารัศมี ตั้งอยู่ที่ถนนวิชยานนท์ใกล้กับตลาดวโรรส ใช้ชื่อว่า “ตันฮั่วง้วน” จำหน่ายสินค้าของชำนานาชนิด จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการ ต่อมาในปี 2485 จึงได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อไทยคือตันตราภัณฑ์ ตามการเปลี่ยนนามสกุลของนายง่วนชุนจากแซ่ตันไปใช้ตันตรานนท์ เนื่องจากต้องการนำไปใช้ขอใบอนุญาตเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่กระป๋องที่นำเข้าจากต่างประเทศ [10]

เมื่อเถ้าแก่ง่วนชุนเสียชีวิตลงในปี 2493 กิจการจึงสืบทอดมาถึงรุ่นลูก แยกไปตามแต่ความถนัดของแต่ละคน นายธวัช ตันตรานนท์ ลูกคนที่ 6 เป็นผู้สานต่อโดยเปิดห้างตันตราภัณฑ์ท่าแพในอีกหนึ่งปีให้หลัง โดยซื้อที่ดินจากห้างอนุสารของตระกูลนิมมานเหมินท์ สร้างเป็นตึก 3 ชั้น 5 คูหา ใช้เงินกว่า 350,000 บาท [11]

ตันตราภัณฑ์ท่าแพถือว่ามีรูปแบบการจัดการที่ทันสมัย ใช้วิธีตั้งราคามาตรฐาน และติดป้ายกำกับราคาสินค้า ไม่มีการต่อรองราคาตามแบบเก่า จัดวางสินค้าแต่ละประเภทอย่างเป็นส่วนสัด บรรยากาศในห้างถูกตกแต่งให้ดูดี และริเริ่มที่จะนำเทคโนโลยีแปลกใหม่มาใช้อยู่เสมอ เช่น บันไดเลื่อน (ติดตั้งราวช่วงทศวรรษที่ 2510), เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ

ช่วงเวลาของตันตราภัณฑ์มาพร้อม ๆ กับวาทกรรมการพัฒนา ในห้วงเวลาซึ่งสงครามเย็นเริ่มคุกรุ่น และมหาอำนาจข้างฝ่ายเสรีนิยมกลัวว่าไทยจะกลายเป็นโดมิโนอีกตัวหนึ่งที่ล้มคลืนไป หลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก เริ่มประกาศใช้ปี 2504 ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของเชียงใหม่จึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ปี 2499 ก่อตั้งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ปี 2507 สถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งแรกนอกเมืองหลวง ทางหลวงสายหลัก หมายเลข 11 ที่เชื่อมลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่สร้างเสร็จในปี 2512 ช่วงเชียงใหม่-นครสวรรค์ สร้างเสร็จในปีถัดมา กลายเป็นเส้นทางหลักที่ใช้เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน ถนนสายเชียงใหม่-เชียงรายสร้างเสร็จปี 2519 รวมทั้งปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่ให้เป็นสนามบินนานาชาติอีกแห่งของประเทศช่วงปี 2513-2514 ฯลฯ

ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) รัฐบาลมีความต้องการพัฒนาเมืองหลักและเมืองรองในต่างจังหวัดเพื่อกระจายความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เชียงใหม่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจการค้า การบริการ การท่องเที่ยว แหล่งอุตสาหกรรม โดยมีลำปางและเชียงรายเป็นเมืองรอง [12]

ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีอาคารแนวดิ่งเพิ่มขึ้น อาคารสูงเกิน 10 ชั้นหลายต่อหลายแห่งสร้างขึ้นในช่วงนี้ เช่น โรงแรมปอยหลวง เป็นจุดเริ่มของความเป็นเอกนครในเวลาต่อมา

ขณะที่ห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมากจนต้องเปิดอีกสาขาที่ถนนมณีนพรัตน์ในปี 2524 คือ สาขาช้างเผือก โดยที่นายธวัชมอบหมายให้นายวรกร ตันตรานนท์ บุตรชายคนโตดูแลกิจการ จุดดึงดูดความสนใจตอนนั้นคือนำเอาร้านมิสเตอร์โดนัทมาเปิดขายอยู่ด้านหน้า นับเป็นร้านอาหารสัญชาติอเมริกันแรกในเชียงใหม่ก็ว่าได้ และเพิ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตรวมเข้าเป็นอีกส่วนหนึ่งของห้าง

ในอีกด้าน นายวรกรก็มีบทบาทสำคัญทางการเมืองท้องถิ่น โดยนำกลุ่มอานันทภูมิที่เป็นเสียงข้างน้อยในสภาเทศบาลนครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2523 พลิกเป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2528 และได้รับชัยชนะต่อเนื่องจนถึงปี 2533 เขากลายเป็นผู้ที่ครองอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรียาวนานที่สุดถึง 10 ปีเต็ม (พ.ศ. 2528-2538) จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดบทบาท และต้องวางมือทางการเมืองในที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจครั้งใหญ่ไปยังตระกูลบูรณุปกรณ์ [13]

อย่างไรก็ตาม นอกจากห้างสรรพสินค้าเครือตันตราภัณฑ์แล้ว ในยุคนี้ยังมีกิจการห้างสรรพสินค้าอีกราย ได้แก่ “ส.การค้า” ที่เริ่มเปิดสาขาแรกบนถนนวิชยานนท์ ในชื่อ ส.ชอปปิ้งมอลล์ 

เมื่อปี 2525 และเปิดอีกสองสาขา คือ ส.การค้า 2 บนถนนท่าแพ เมื่อปี 2528 กับ ส.การค้า 3 บนถนนช้างคลาน เมื่อปี 2535 ทั้งสามแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก อนึ่ง ปัจจุบันได้เลิกกิจการแล้วทั้งหมด โดยที่มั่นสุดท้ายคือ ส.การค้า 3 ที่ปิดตัวลงไปเมื่อปี 2546

ส.การค้าเป็นธุรกิจของตระกูลศรีสุขวัฒนานันท์ ต้นตระกูลคือ นายฮะเสีย แซ่จิง อพยพมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน เริ่มสร้างฐานะโดยเช่าแผงขายเสื้อผ้าอยู่ในตลาดวโรรส พอมีเงินสะสม เขาก็เอาไปซื้อตึกแถวเปิดเป็นร้านขายส่งเสื้อผ้าให้กับลูกค้าต่างอำเภอตั้งชื่อว่าร้าน ส.เซ็นเตอร์ [14] คนที่มาเป็นหลักหลังนายฮะเสียจากไปคือ นายสมศักดิ์ บุตรชายคนโต ดำเนินกิจการดีขึ้นตามลำดับ จนมี ส.การค้าพร้อมกันมากถึง 3 สาขา [15]

กลยุทธ์ที่ทาง ส.การค้า เป็นผู้ริเริ่มและนำมาใช้แต่เพียงผู้เดียว นั่นคือ มุ่งเน้นการขายในระบบสินเชื่อผ่านคูปองที่กระจายผ่านสมาชิกของห้างฯ พูดง่าย ๆ คือ ถ้ามีคูปอง ลูกค้าก็สามารถซื้อสินค้าแบบเงินผ่อนได้นาน 3 เดือน [16]

กล่าวโดยรวม ห้างสรรพสินค้ายุคนี้เริ่มก่อสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่หลังเดียว มีลักษณะเป็นห้างสรรพสินค้าโดยแท้ และไม่มีที่จอดรถให้บริการ ทำเลที่ตั้งจะเกาะกลุ่มรวมกันอยู่ในย่านการค้าสำคัญในอดีตที่อยู่ใจกลางเมือง บริเวณถนนวิชยานนท์ ถนนท่าแพ และถนนช้างคลาน ก่อนที่จะเริ่มกระจายออกไปบ้าง โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของกิจการคือคนในท้องถิ่นที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน

ยุคต่อมา: ก้าวสู่ความเป็นเอกนครระดับภาค พ.ศ. 2530-2539

ช่วงต้นทศวรรษ 2530 “สีสวนพลาซ่า” ถือกำเนิดขึ้นบนถนนช้างคลาน มีลักษณะเป็นศูนย์การค้าเต็มรูปแบบแห่งแรก จัดพิธีเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยคอนเสิร์ตจากศิลปินดาราส่วนกลาง บริหารงานโดยนายสุรชัย เหลืองชัยรัตน์ที่พื้นฐานครอบครัวทำธุรกิจขายและรับสั่งตัดรองเท้าตัดย่านไนท์บาซาร์ ภายใต้ชื่อเดียวกันคือ สีสวน [17] ก่อตั้งโดยนายเปาเซ็น แซ่หว่อง หนุ่มจีนจากเมืองกวางตุ้ง

สีสวนพลาซ่าเป็นอาคารขนาดใหญ่ 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 4,500 ตารางเมตร ที่จอดรถกว่า 6 ไร่ สร้างบนที่ดินเดิมของครอบครัว ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 15 เดือน ส่งผลให้ราคาที่ดินย่านนี้พุ่งสูงขึ้น, ตึกแถวที่เคยสร้างไว้ก็ได้ขายหมด ฯลฯ [18] อนึ่ง ระหว่างที่มีการก่อสร้างก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่ามีปัญหาการละเมิดเทศบัญญัติซึ่งห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ภายในบริเวณดังกล่าว แต่กลับได้รับการอนุญาตจากเทศมนตรีให้ก่อสร้างได้ [19]

ในห้างสีสวนมีร้านแมงป่อง ร้านขายเทปเพลงและวีดีโอภาพยนตร์ชื่อดังจากกรุงเทพฯ มาเปิดสาขาอยู่ด้วย

กว่าที่ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องคอยถึงปี 2531 ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณนี้เองที่เกิดการขยายตัวในภาคเศรษฐกิจทั่วทั้งประเทศ นโยบายสำคัญคือเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ทำให้มีการลงทุนทำธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดการกว้านซื้อที่ดินในเชียงใหม่เพื่อเก็งกำไรอย่างขนานใหญ่ [20] ภายหลังถูกกล่าวถึงว่าเป็นสภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่

ปี 2532 ตรงเกือบสุดถนนวิชยานนท์ใกล้กับโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีห้างสรรพสินค้าเพิ่มอีกแห่งชื่อ “วรวัฒน์ช๊อปปิ้งเซ็นเตอร์” ห้างท้องถิ่นขนาดกลางที่มีเอกลักษณ์คือ ลิฟต์รถยนต์ สำหรับนำรถยนต์ขึ้นไปจอดยังชั้นบน เริ่มจากรุ่นพ่อ นายฮ่งเซี้ยง แซ่โค้ว ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากการค้าขายผลิตผลทางการเกษตรที่อำเภอแม่ริม ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง โดยเปิดร้านขายของชำแถวตลาดต้นลำไย

ต่อมาจึงซื้อที่ดินบริเวณนี้เก็บและปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เนื่องจากปี 2525 มีการลดค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีจึงยังไม่สามารถลงทุนได้ รอจังหวะจนสามารถเริ่มสร้างและเปิดได้ในปี 2532 และให้รุ่นลูก 2 คน คือ นายชาตรีกับนายวรศักดิ์ อิสรชีววัฒน์ ดูแลกิจการสืบต่อมาจนทุกวันนี้ [21]

ตั้งแต่ปี 2534 รัฐบาลพยายามเปลี่ยนเชียงใหม่ให้เป็นเมืองศูนย์กลางของความเจริญแทบทุกด้าน รวมถึงด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศ และการศึกษา ลำปางในฐานะศูนย์กลางการบริหารราชการของภาคเหนือถูกเชียงใหม่แย่งชิงบทบาทนั้นไป แน่ละ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากเช่นนี้ เมืองเจริญขึ้นทุก ๆ ด้าน ภาคราชการก็ขยายตัวตามมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งหน่วยราชการใหม่หรือย้ายหน่วยราชการมาจากจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะจากลำปางมาตั้งที่เชียงใหม่ เช่น ตำรวจภูธรภาค 5 (ปี 2534) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2540) และสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 หรือช่อง 11 ภาคเหนือปัจจุบัน (ปี 2543)

อาจกล่าวได้ว่าจังหวะเวลาของพลเอกชาติชายมาพร้อมกันกับสถานการณ์โลกที่เปิดกว้างขึ้นตามระเบียบโลกใหม่ ระหว่างปี 2531-2534 เกิดโครงการห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าจำนวนมากต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ [22] และจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น ขอนแก่น ภูเก็ต รวมทั้งที่เชียงใหม่ โดยเฉพาะช่วงปี 2535 มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ กาดสวนแก้ว กับ แอร์พอร์ตพลาซ่า

“อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว” มาจากความริเริ่มของร้อยตำรวจโทสุชัย เก่งการค้า พื้นเพเป็นคนสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย [23] แต่เติบโตและร่ำเรียนในกรุงเทพฯ จบสถาปัตย์ออกมาทำงานรับเหมาจนประสบความสำเร็จจากโครงการหินสวยน้ำใสที่ระยอง ก่อนจะผันตัวขึ้นมาทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่เชียงใหม่ เช่น ม่อนหินไหล รีสอร์ท [24] ที่มียศนำหน้า เพราะเคยรับราชการ ทำหน้าที่เป็นสถาปนิกของกรมตำรวจมาก่อน ด้วยมองว่าเชียงใหม่ยังไม่เคยมีศูนย์การค้าแบบนี้

กาดสวนแก้ว ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว [25] เปิดให้บริการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 11 ชั้น (รวมส่วนสำนักงานและชั้นใต้ดิน) เน้นบรรยากาศศิลปวัฒนธรรมล้านนา ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

จุดขายสำคัญที่สุดคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล นอกจากนั้นยังประกอบด้วยโรงแรม โรงภาพยนตร์ (ซึ่งต่อมาเป็นของเครือวิสต้าทั้งหมด) สวนสนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงละคร “กาดเธียเตอร์” ที่เปิดตัวด้วยการนำคณะละครบอร์ดเวย์จากต่างประเทศเรื่อง South Pacific มาแสดง [26] ปีถัดมาก็ได้มีโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ข้างเคียงกัน

กาดสวนแก้วได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งของธุรกิจ “แห่งแรก” ในเชียงใหม่หลาย ๆ อย่าง เช่น ร้านไก่ทอดเคเอฟซี (KFC) ร้านเอแอนด์ดับบลิว (A&W) ลานไอซ์สเก็ต สนามเอ็กซ์ตรีม ตลอดจนสนามโบว์ลิ่ง และคาราโอเกะในห้าง

การมาของเซ็นทรัล [27] ช่วยให้กาดสวนแก้วดูโดดเด่น เพราะนั่นคือการขยายสาขาออกสู่ต่างจังหวัดครั้งแรกของเซ็นทรัล และห้างสรรพสินค้าใหญ่จากกรุงเทพฯ เซ็นทรัลโดนกระแสการต่อต้านจากห้างท้องถิ่นที่เชียงใหม่อย่างหนัก โดยเฉพาะจากตันตราภัณฑ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการตกลงกันไว้ระหว่างนายสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ กับนายธวัช ตันตรานนท์ว่าเซ็นทรัลจะไม่ขยายสาขามาเปิดที่เชียงใหม่ [28]

ขณะที่ทางตันตราภัณฑ์ในฐานะที่ครองตลาดอยู่ขณะนั้นก็ได้ทุ่มทุนสร้างศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า และเปิดในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อแข่งขันกับทั้งเซ็นทรัลและกาดสวนแก้วโดยตรง

“ตันตราภัณฑ์แอร์พอร์ตพลาซ่า” ตั้งอยู่บนถนนมหิดลบริเวณสี่แยกหางดง-สนามบินเชียงใหม่ เปิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2535 เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 6 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) ด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์อยู่ด้วย เริ่มนำระบบบาร์โค้ดมาใช้เป็นที่แรก ๆ 

ศูนย์การค้าทั้งสองแห่งมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกต่าง ๆ โรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหาร อาคารจอดรถ สวนสนุก เป็นแหล่งรวมของธุรกิจบันเทิงหลายอย่างไว้ในที่เดียวกัน พร้อมที่จอดรถซึ่งสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้นับพันคันขึ้นไป [29] ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวเชียงใหม่เปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้คนนิยมจับจ่ายใช้สอย ณ สถานที่แห่งเดียว ด้วยเหตุผลนานา อาทิ วิถีชีวิตเร่งรีบ การจราจรติดขัดในเขตเมือง เป็นต้น

ต่อมาในปี 2536 “เชียงอินทร์พลาซ่า” เปิดตัวที่ย่านไนท์บาร์ซ่า เป็นอาคารสูง 4 ชั้น บริหารงานโดยตระกูลกิติบุตร อีกตระกูลคณบดีเก่าแก่ของเชียงใหม่ นอกเหนือจากห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าแล้ว ธุรกิจการค้ารูปแบบใหม่ของบรรษัทข้ามชาติก็เริ่มเข้ามา เน้นความประหยัดและคุ้มค่าของสินค้า บ้างใช้คำว่า Discount Store หรือ Hypermarket หรือไม่ก็ Supercenter สุดแท้แต่จะเรียก

เจ้าแรกสุดคือ “แม็คโคร” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกสันกำแพง นับเป็นสาขาที่ 6 ในไทยของกลุ่มทุนสัญชาติเนเธอร์แลนด์รายนี้ ในนามบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โดยคาดหวังกลุ่มเป้าหมายที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงด้วย [30]  เอกลักษณ์จะอยู่ที่เน้นสินค้าราคาขายส่ง ระบบสมาชิก และกลยุทธ์ด้านราคา ในปีเดียวกันนี้ จำนวนประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด [31]

การเข้ามาของทุนต่างถิ่น ตลอดจนทุนข้ามชาติที่มีศักยภาพความพร้อมมากกว่าในหลายด้าน ทำให้ทุนท้องถิ่นไม่อาจต่อสู้ในการแข่งขันทางธุรกิจได้ ห้างสรรพสินค้ายุคแรกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่มีศูนย์การค้าใหญ่ตั้งขึ้นใหม่ นั่นคือ เครือตันตราภัณฑ์ต้องแบกรับภาระจากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ ที่ลงทุนไปกับโครงการแอร์พอร์ตพลาซ่า ทำให้ราวปี 2537 ต้องตัดสินใจขายทั้งสาขาท่าแพและสาขาช้างเผือก [32] ให้กับคาเธ่ยทรัสต์ เจ้าหนี้รายใหญ่ คงเหลือแอร์พอร์ตพลาซ่าเป็นหลัก และขอเข้าร่วมทุนกับโรบินสันกลายเป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน-ตันตราภัณฑ์ [33] เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูกิจการให้เกิดสภาพคล่อง

ทว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เนื่องจากยังขาดทุนสะสม สุดท้ายปี 2539 ตันตราภัณฑ์ต้องขายกิจการให้กับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ปิดตำนานห้างสรรพสินค้าเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ตลอด 4 ทศวรรษ [34] จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้ามาปรับปรุง และเปิดตัวเต็มรูปแบบ เมื่อ 9 มีนาคม 2539 พร้อมด้วยโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ของเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ที่มีรวมกันอยู่ที่เดียวมากถึง 7 โรง

เช่นเดียวกับที่กิจการเชียงอินทร์พลาซ่าของตระกูลกิติบุตรได้เปลี่ยนมือจนไปอยู่กับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี นายเจริญเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ จากครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา เริ่มขายสินค้าให้โรงงานสุรา เป็นเจ้าของโรงงานสุรา และได้รับสัมปทานโรงกลั่นสุราทั้งหมดในนามกลุ่มแสงโสม ก่อนขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น เบียร์ เครื่องดื่มต่าง ๆ และได้เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน

นอกจากนี้เขายังได้ปรับปรุงเชียงอินทร์พลาซ่าเป็นศูนย์การค้าเดอะพลาซ่า เชียงใหม่ และกลายเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่หลายแปลงในย่านนี้ [35]

ยุคนี้จะเรียกว่าเป็นจุดสุดยอดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ย่อมได้ ตลอดทศวรรษ 2530 เกิดการลงทุนด้านนี้มากอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่าช่วงปี 2534-2537 มีโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบของหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และอพาร์ตเมนท์เกิดขึ้นในเขตเมืองเชียงใหม่ และถนนสายสำคัญรอบนอกมากถึงเกือบ 90 โครงการ ซึ่งที่ตั้งของโครงการส่วนใหญ่มักอยู่ในทิศทางที่สัมพันธ์กับที่ตั้งของศูนย์การค้าใหญ่ทั้งสิ้น [36] เนื่องจากเชียงใหม่มีบรรยากาศโดยรวมที่เหมาะแก่การลงทุน อีกทั้งรัฐบาลยังให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่จะจัดขึ้นที่เชียงใหม่ในปี 2538 ซีเกมส์หนแรกที่เจ้าภาพไม่ใช่เมืองหลวง ได้แก่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, ถนนเลียบคันคลองชลประทาน ฯลฯ

ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเชียงใหม่ครบรอบ 700 ปีที่ตามมาใหญ่ในปี พ.ศ. 2539 กอปรกับสถาบันการเงินปล่อยให้เงินกู้โดยง่าย ทำให้ธุรกิจด้านนี้ขยายเกินกำลังซื้อและความต้องการที่เป็นจริงของผู้บริโภคยุคนั้น กระทั่งปี 2540 จึงเริ่มเผชิญห้วงเวลาของความตกต่ำและซบเซา

ศูนย์การค้าคือแนวทางร่วมของยุคนี้ แตกต่างยุคก่อนหน้าที่เป็นห้างสรรพสินค้าทั้งหมด ศูนย์การค้าคล้าย ๆ ย่านการค้าในอดีต เพียงแต่จัดพื้นที่ค้าปลีก (Retails) ให้มาอยู่ภายในอาคารเดียว (หรือหลายอาคารซึ่งมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน) ส่วนห้างสรรพสินค้าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าก็ได้ จุดเด่นเช่น จัดให้มีที่จอดรถอย่างเพียงพอ แบ่งพื้นที่ตามกลุ่มประเภทสินค้า มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย แต่ละห้างเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่ามีกลุ่มเป้าหมายระดับใด บ้างอาจจะจับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ความเป็นเมืองขยายตัวไปด้านตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในทิศทางที่สัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะกาดสวนแก้ว หรือแอร์พอร์ตพลาซ่า (ดูภาพข้างท้ายประกอบ) ทำให้ผู้บริโภคที่พำนักอยู่ในพื้นที่รอบนอกไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาถึงย่านใจกลางเมืองที่อึดอัดและจอแจ พร้อมกับโครงการอาคารชุดจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่ใกล้ดอยสุเทพ คอนโดมีเนียมกับศูนย์การค้าจึงเอื้อเสริมซึ่งกันและกันอยู่ ยิ่งเสียกว่านั้นการเติบโตของเมืองมีแนวโน้มที่จะขยายไปตามแนวถนนที่มุ่งสู่ต่างอำเภอ 

อิทธิพลของศูนย์การค้าต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่

(ที่มาภาพ: กิจฐเชต ไกรวาส, อิทธิพลของศูนย์การค้าต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่, วิทยานิพนธ์ การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538, 95.)

ศูนย์การค้ายุคนี้มีบทบาทสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมผู้คน และโฉมหน้าของเมืองที่เปลี่ยนไป ย่านการค้าต่าง ๆ ถดถอย จำนวนผู้ใช้บริการและยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ โดยรอบศูนย์การค้าเป็นพาณิชยกรรมกับที่พักอาศัยมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ว่างเปล่าก็ลดลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มภาระให้กับเมือง โดยเฉพาะปัญหาการจราจร รวมถึงภูมิทัศน์ที่ดีที่หายไป [37]

ยุคที่สาม การมาของนายกฯ คนเมืองหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40

ปีเริ่มต้นของทศวรรษนี้มีเหตุการณ์ที่ต้องเอ่ยถึงอย่างน้อยสองเหตุการณ์คือ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียจนประเทศไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) [38] กับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เงื่อนไขปัจจัยข้อแรกเปิดช่องให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนทำห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น จากตอนแรกต้องร่วมทุน (Joint Ventures) กับกลุ่มทุนชั้นนำของไทย นับเนื่องจากเครือ  ซีพีเปิดโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาแรก (ซีคอนสแควร์) ประมาณปี 2536 จากนั้นในปี 2537 กลุ่มเซ็นทรัลก็เปิดบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาแรก (วงศ์สว่าง) และเข้าร่วมธุรกิจกับคาร์ฟูร์จากฝรั่งเศสในปี 2538

ทว่าเมื่อประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 บีบให้กลุ่มทุนไทยจำต้องขายหุ้นออกไป เป็นผลให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาถือหุ้นของห้างค้าปลีกเกือบทั้งหมด ซีพีต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มเทสโก้ของอังกฤษ (ปี 2541) เช่นเดียวกับที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กลุ่มคาสิโนของฝรั่งเศส (ปี 2542) และขายหุ้นทั้งหมดให้กับคาร์ฟูร์ (ปี 2540) [39] ตามมาด้วยการขยายสาขาออกไปยังหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านค้าปลีกค้าส่งดั้งเดิมจนยากจะทัดทาน [40]

เชียงใหม่เองก็ไม่มีข้อยกเว้น ปี 2540 ปีเดียวมีห้างค้าปลีกสมัยใหม่ทยอยผุดขึ้นแห่งแล้วแห่งเล่า ทั้ง “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” บนถนนเชียงใหม่-หางดง (เปิดวันที่ 14 พฤศจิกายน สาขาลำดับที่ 11 ในประเทศ) และ “คาร์ฟูร์” (เปิดวันที่ 20 พฤศจิกายน) กับ “โอชอง” (เปิดวันที่ 28 พฤศจิกายน) ที่เป็นกลุ่มทุนสัญชาติฝรั่งเศสทั้งคู่ โดยที่โอชองถือเป็นสาขาแรกและสาขาเดียวของไทย ซึ่งได้ลงทุนทำอุโมงค์แห่งแรกของเชียงใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า (หลายคนยังเรียกติดปากทางลอดนี้ว่าอุโมงค์โอชอง)

ใกล้ ๆ กันนั้นก็มีสะพานข้ามแยกดอนจั่นที่ก็ถือเป็นสะพานข้ามแยกแห่งแรกในจังหวัดอีกเช่นกัน ภายหลังได้ขายกิจการให้ “บิ๊กซี” โดยบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โอชองเปลี่ยนเป็นบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์เมื่อปี 2544 และคาร์ฟูร์เปลี่ยนเป็นบิ๊กซีเอ๊กซตาร์เมื่อปี 2554 ขณะที่ราวปี 2545 เทสโก้-โลตัส โดยบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด [41] ได้เปิดเพิ่มอีกหนึ่งสาขาที่ด้านหน้าตลาดคำเที่ยงใกล้กับสี่แยกข่วงสิงห์

จุดน่าสนใจคือ ยกเว้นเพียงเทสโก้-โลตัสสาขาหางดง นอกนั้นตั้งอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เหมือนกันหมด ซึ่งได้ขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทางแล้วเสร็จตั้งแต่หลายปีก่อนหน้าจะมีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ จากนั้นจึงได้สร้างสะพานข้ามแยกและทางลอดหลายจุดในเวลาต่อมา

ปี 2546 เกิดกระแสต่อต้านห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของต่างชาติในหลายจังหวัด ทำให้รัฐบาลได้ใช้พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 กับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่มีอยู่แล้วมาควบคุมเป็นรายจังหวัด เพราะไม่สามารถที่จะออกกฎหมายเฉพาะเรื่องการประกอบธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งมาจัดการได้โดยตรง เนื่องจากถูกต่างชาติมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า

กล่าวโดยรวมคือ ส่งผลให้อาคารค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่กว่า 1,000 ตารางเมตร ไม่สามารถสร้างในเขตตัวเมืองได้อีกต่อไป จะต้องอยู่นอกเขตผังเมือง หรือพื้นที่กำลังจัดทำผังเมืองรวม และตั้งอยู่ไกลจากเขตเทศบาล (ระยะห่างขึ้นอยู่กับแต่ละท้องที่) อีกทั้งยังสามารถสร้างได้เฉพาะในเขตที่กำหนดเท่านั้น [42] การขยายตัวของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในภาพรวมทั่วประเทศจึงเข้าสู่ภาวะชะงักงันอยู่ชั่วระยะหนึ่ง

อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อเชียงใหม่ที่เป็นผลสืบเนื่องของเหตุการณ์ที่สองดังกล่าวในตอนต้นก็คือ ในการเลือกตั้งทั่วไปต้นปี 2544 และ 2548 พรรคไทยรักไทยที่มีหัวหน้าพรรคเป็นคนเชียงใหม่ได้รับชัยชนะถล่มทลายถึงสองครั้ง นอกจากเรื่องนโยบายที่ดึงดูดใจประชาชนแล้ว ยังเกี่ยวกับปัจจัยด้านตัวบุคคลที่ชูพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนภาคเหนือ (หรือกลุ่มคนที่นิยมเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” [43] )

ภายใต้อำนาจบริหารของเขา ระยะปี 2544-2549 มีการผลักดันให้โครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ มาลงที่เชียงใหม่ เช่น ถนนเลียบทางรถไฟเชื่อมเชียงใหม่-ลำพูน หรือ Local Road (เปิดใช้ปี 2547), ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ซึ่งมีทางลอดมากถึง 7 แห่ง (เปิดต้นปี 2549), เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (เปิดปี 2549), งานมหกรรมพืชสวนโลก (ปลายปี 2549), ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ (เปิดปี 2556) [44] เรื่อยไปจนถึงการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นฮับทางการบินในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ยังมิพักเอ่ยถึงโครงการใหญ่ของภาคเอกชน อย่างช่วงปี 2546-2547 ก็มีโรงแรมห้าดาวเกิดขึ้นจำนวนมาก [45]

เดือนเมษายน 2547 มีศูนย์การค้าอีกแห่งที่ได้เปิดอย่างเงียบ ๆ คือพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนช้างคลานตรงสี่แยกที่ตัดกับถนนศรีดอนไชย เป็นอาคารสูง 5 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) เป็นศูนย์รวมสินค้าด้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอที เช่นเดียวกับพันธุ์ทิพย์พลาซ่าหลายสาขาที่กรุงเทพฯ เดิมเป็นอาคารร้างที่อดีตเจ้าของคิดจะทำโครงการศูนย์การค้า แต่ประสบปัญหาจนธนาคารยึดไปจากการจำนอง

ในที่สุดก็เป็นนายเจริญ สิริวัฒนภักดีที่สามารถซื้อไปครอบครอง และปรับปรุงทำเป็นศูนย์การค้าอีกแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ของเขา [46] ถึงขนาดได้ชื่อว่าเป็นผู้ยึดกุมพื้นที่เศรษฐกิจย่านไนท์บาซาร์เบ็ดเสร็จ [47]

เมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เห็นได้ชัดว่าทุนท้องถิ่นไม่ได้มีบทบาทนำทางธุรกิจอีกต่อไป ห้างค้าปลีกที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคล้วนแต่เป็นของทุนข้ามชาติ เคียงคู่ไปกับศูนย์การค้าของทุนภายนอกจังหวัดจากยุคก่อนหน้า ห้างสรรพสินค้าแบบเดิมจำนวนลูกค้าหดหายจนต้องทยอยปิดตัวไปเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้

แนวโน้มการลงทุนใหม่ ๆ ยุคนี้หนักไปที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งทำเลที่ตั้งมักกระจายอยู่ตามเขตขอบตัวเมือง (จุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ด้านในเมืองกับย่านที่พักอาศัยบริเวณรอบนอก) ด้วยภายในเมืองไม่หลงเหลือพื้นที่กว้างขวางเพียงพออีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนซุปเปอร์ไฮเวย์ (ถนนอ้อมเมือง) ที่มีศักยภาพพร้อมสรรพขึ้นเรื่อย ๆ ทำหน้าที่รองรับผู้คนที่อยู่อาศัยแถบชานเมืองด้านต่าง ๆ บริเวณอำเภอโดยรอบตามแนวถนนรัศมี ได้แก่ แม่ริม, สันทราย, ดอยสะเก็ด, สันกำแพง, สารภี, หางดง อย่างถนนเชียงใหม่-แม่โจ้กับเชียงใหม่-หางดงก็กลายเป็นชุมชนบ้านจัดสรรที่มีกำลังซื้อขึ้นมา

ขณะที่ถนนเชียงใหม่-แม่ริมนั้น ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากถูกยึดครองพื้นที่โดยหน่วยงานราชการ โดยมากก็คือค่ายทหาร

ยุคที่สี่ จากวิกฤตการณ์การเมืองถึงสถานการณ์โควิด-19

ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นล้มจากอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การเมืองไทยก็หวนคืนเข้าสู่วงจรเดิม ๆ ที่เคยเป็นมาตลอด นั่นคือ วนเวียนอยู่กับการร่าง ใช้ และฉีกรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความขัดแย้งในเชิงสีเสื้อ ตัดสลับระหว่างเลือกตั้งกับรัฐประหาร ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

ต้นทศวรรษที่ 2550 ห้างค้าปลีกข้ามชาติเร่งเปิดสาขาใหม่อีกระลอก ไม่ว่าจะบิ๊กซี สาขาหางดง 1 (เปิดปี 2550) แม็คโคร สาขาหางดง (เปิดปี 2550) คาร์ฟูร์ สาขาหางดง (เปิดปี 2551 กลายเป็นบิ๊กซี สาขาหางดง 2 เมื่อปี 2554) และกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อเข้าช่วงกลางของทศวรรษ ได้แก่ แม็คโคร สาขาแม่ริม (เปิดปี 2554) เทสโก้-โลตัส สาขารวมโชค (เปิดปี 2556)

ต่อมาจึงเกิดการเปลี่ยนมือครั้งใหญ่ ความเป็นเจ้าของได้คืนกลับสู่กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของไทย ไล่ตั้งแต่ซีพีออลล์ของเจ้าสัวธนินท์เข้าซื้อแม็คโครจากกลุ่มทุนเนเธอร์แลนด์ (2556) ตามด้วยการเอาเทสโก้โลตัสจากบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอังกฤษคืนสู่อ้อมอกของผู้ให้กำเนิดได้อีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อเป็นโลตัส (2563) ทีซีซีกรุ๊ปของเสี่ยเจริญคว้าเอาบิ๊กซีไปครอง (2559)

ความน่าสนใจของยุคนี้อยู่ในช่วงปี 2556-2557 ที่มีศูนย์การค้าเกิดขึ้นใหม่เกือบจะพร้อม ๆ กันอีกถึง 3 แห่ง ไล่เรียงตั้งแต่พรอมเมนาดา เซ็นทรัลเฟสติวัล และเมญ่า ห้างแห่งแรกเป็นของทุนข้ามชาติ ส่วนอีกสองแห่งเป็นของทุนระดับชาติ พรอมเมนาดากับเมญ่าเหมือนกันตรงที่ไม่ได้มีห้างสรรพสินค้ารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าด้วย 

“พรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ เชียงใหม่” ตั้งอยู่บนถนนสันกำแพงสายใหม่ (เชียงใหม่-แม่ออน) ใกล้กับแยกดอนจั่น เป็นอาคาร 3 ชั้น จำนวน 2 อาคารเชื่อมต่อกัน เปิดให้บริการเฟสแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 ตกแต่งสไตล์รีสอร์ทมอลล์ที่พยายามให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติสวยงาม บริหารงานโดยบริษัท อีซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เรียลเอสเตท จำกัด บริษัทในเครืออีซีซีจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งประสบความสำเร็จจากการปฏิรูปการค้าปลีกในยุโรปกลาง มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มครอบครัว และชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักระยะยาว [48]

โดยมีร้านขายของเล่นทอยส์ “อาร์” อัส ร้านเสื้อผ้าแบรนด์ญี่ปุ่นอย่างยูนิโคล่ (UNIQLO) มาร่วมอยู่ด้วยในช่วงต้น นับเป็นสาขาต้น ๆ ของยูนิโคล่ในต่างจังหวัด ทว่าภายหลังเมื่อยูนิโคล่เปิดสาขาที่เซ็นทรัลเฟสติวัล สาขาที่พรอมเมนาดาก็มีอันต้องปิดไป ประหนึ่งเป็นสัญญาณเตือนกลาย ๆ เกี่ยวกับสายป่านทางธุรกิจซึ่งทุนนอกไม่ได้มีเครือข่ายแน่นหนาแบบที่ทุนไทยมี

“เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่” อาคาร 6 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) พื้นที่ใช้สอย 250,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณแยกไปอำเภอดอยสะเก็ด ห้างลำดับที่ 2 ของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาที่เชียงใหม่ มูลค่าโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท เปิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 พร้อมกับร้านรวงมากมายที่ได้ชื่อว่าเปิดที่เชียงใหม่ครั้งแรกที่นี่ เช่น ร้านมูจิ (MUJI), ร้านเอชแอนด์เอ็ม (H&M), โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ (IMAX) ฯลฯ หาใช่ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าแค่ในเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังคาดหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานกำลังซื้อจากจังหวัดใกล้เคียงด้วย [49] ทั้งที่หลายปีก่อนหน้านั้นเซ็นทรัลก็ได้รุกคืบขึ้นมาเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าทั้งที่เชียงราย (2554) และลำปาง (2555) รวมแล้วทั้งประเทศกว่าสิบสาขาภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

“เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์” บริเวณสี่แยกรินคำ อาคาร 8 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแนวโมเดิร์น ใช้งบลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านบาท เปิดเมื่อ 23 มกราคม พ.ศ. 2557 ธุรกิจในเครือเอสเอฟซีเนม่า มี C.A.M.P. ห้องอ่านหนังสือเปิดตลอด 24 ชั่วโมง โรงภาพยนตร์ 10 โรง และมีแหล่งรวมสถานบันเทิงอยู่บนชั้นดาดฟ้าเรียกนิมมานฮิลล์

กลุ่มเอสเอฟก่อตั้งโดยนายสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ที่รับช่วงต่อจากคุณพ่อคือนายสมาน ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทุกค่ายในเขตภาคตะวันออกแต่เพียงผู้เดียว ก่อนที่ได้เข้าสู่การดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ที่มีสาขาครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดของภาคตะวันออก จากนั้นจึงได้ก่อตั้งบริษัท เอสเอฟซีเนม่าซิตี้ จำกัด [50] เพื่อขยายตลาดเข้าสู่เมืองหลวง

โดยเริ่มทำธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ และขยายสาขาต่อเนื่องเรื่อยมา แต่เมญ่าถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจภาพยนตร์มาทำธุรกิจศูนย์การค้าครั้งแรก โดยเลือกมาปักหมุดลงทุนที่เชียงใหม่ กลุ่มกำลังซื้อหลักที่เขาวางไว้คือ ฐานลูกค้าในย่านถนนนิมมานเหมินท์และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หมู่บ้านจัดสรร สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ฯลฯ [51]

ขณะที่มีอีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันคือ “แพลตตินั่ม แฟชั่น มอลล์ เชียงใหม่” หวังให้เป็นศูนย์ค้าปลีก-ส่งเสื้อผ้าแฟชั่น และไอทีใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ลักษณะเดียวกับห้างแพลตตินั่มย่านประตูน้ำ ทำเลอยู่ในโครงการเชียงใหม่โครงการเชียงใหม่บิสซิเนสพาร์ค (CBP) ใกล้ห้างบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ดำเนินการโดยบริษัท วีกรุ๊ป จำกัดของตระกูลตันตรานนท์ [52] แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถเปิดได้จริง

อาจกล่าวได้ว่าการขยายตัวของห้างค้าปลีกและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่นั้นสัมพันธ์กับรอยต่อในช่วงขาดอายุของผังเมืองรวมอย่างมีนัยสำคัญ [53]  เพราะอยู่ในช่วงที่มีสุญญากาศทางผังเมืองกินเวลายาวนานถึง 7 ปี (2549-2556) ระหว่างปี 2555-2556 จึงพบเห็นโครงการคอนโดมีเนียมสูงใหญ่ผุดขึ้นอย่างรีบเร่งทั่วทุกมุมเมือง

ปัจจัยส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ มองหาที่พำนักในเชียงใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้อีก กอปรกับเชียงใหม่ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน ผลจากภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand นำไปสู่การลงทุนของคนจีนที่เชียงใหม่มากมายตามมา ซึ่งในเชิงลบ ส่งผลให้เมืองเติบโตแบบสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง และไม่มีแบบแผน

สภาพเศรษฐกิจเชียงใหม่ดีขึ้นเป็นลำดับ แม้แต่ในช่วงที่ คสช.มีอำนาจจากการทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณนักท่องเที่ยวจีน กระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2562 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจในเชียงใหม่หดตัวลงอย่างมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดของทั้งทางการไทยและต่างประเทศ

เพราะเศรษฐกิจเชียงใหม่โดยรวมต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการที่ตลาดจีนต้องปิดยาวนาน ธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่มุ่งรับใช้ฐานลูกค้ากลุ่มนี้ยิ่งได้รับผลกระทบเดือดร้อนหนัก สาขาท่องเที่ยวเป็นสาขาที่ฟื้นตัวช้าที่สุด ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของพื้นที่หายไป ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ รวมมาถึงธุรกิจศูนย์การค้า

ในที่สุด สองห้างที่สถานการณ์ไม่สู้ดีนักก็ต้องตัดสินใจปิดตัวลง (ชั่วคราว?) มีทั้งที่จู่ ๆ ก็ปิดชนิดลูกค้าไม่ทันตั้งตัวอย่างพรอมเมนาดา (5 พฤษภาคม 2565) และประกาศให้รู้ก่อนล่วงหน้าคือ กาดสวนแก้ว (เปิด 30 มิถุนายน 2565 เป็นวันสุดท้าย) จนเกิดกระแสคนพากันแห่ไปรำลึกความหลังวันวานจนแน่นห้าง ช่วยให้อีกหลายห้างมองเห็นปลายทางของตัวเองอยู่รำไร

ข้อค้นพบ

แรงดึงดูดของเชียงใหม่มาจากหลายเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนึ่ง ขนาดเศรษฐกิจใหญ่โต และ สอง จำนวนประชากรมหาศาล กำลังซื้อระดับนี้ได้ไปช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการบริการขึ้นมากมายในจังหวัด ขณะเดียวกันก็เกื้อหนุนให้ทุนจากภายนอกเข้ามาลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีก

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Provincial Product: GPP) ของจังหวัดเชียงใหม่ สาขาที่สูงสุดมาตลอดนับแต่ปี 2538 คือ การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน แม้ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ระหว่างปี 2541-2544 ตัวเลขตกลงไปบ้าง แต่แนวโน้มหลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีสถานการณ์โควิดส่งผลให้เศรษฐกิจเชียงใหม่หดตัวต่อเนื่องมากว่า 2 ปีติดแล้ว โดยเชียงใหม่เป็นเพียงจังหวัดเดียวในภาคเหนือตอนบนที่คนมีรายได้เกินหลักแสน

ประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ในปีปัจจุบันตามรายงานอย่างเป็นทางการมีทั้งสิ้น 1,628,663 คน โดยหนึ่งในสามอยู่อาศัยในเขตเมืองและอำเภอปริมณฑลรวมกัน แน่นอนที่สุด จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมประชากรแฝง ถ้ายึดรวมด้วยจะมีมากถึงประมาณ 7 ล้านคน [54] ซึ่งย่อมได้แก่ผู้ย้ายที่อยู่อาศัย คนทำงาน นักเรียน-นักศึกษา แรงงานข้ามชาติ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่แบบลองสเตย์ ฯลฯ

ข้างต้นยังไม่พูดถึงกำลังซื้อของชาวจีนที่เดินทางมาเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งตลอดหลายปีก่อนหน้าจะมีโควิด-19 [55] นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนสูงมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวเชียงใหม่ทั้งหมด

ที่ทางทำเลหลักของศูนย์การค้าระยะหลังจึงชอบที่จะขยับตัวเองออกไปดักผู้ซื้ออยู่บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจรวดเร็ว รวมถึงอำเภอใกล้เคียง เช่น สันทราย หางดง และอำเภอที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว เช่น ฝาง จอมทอง มิให้ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องเดินทางเข้าไปใช้บริการถึงในเมือง

ลองย้อนพินิจห้างสรรพสินค้าที่ถือกำเนิดในยุคก่อน ๆ ที่ถือกำเนิดโดยกลุ่มทุนระดับท้องถิ่น ตันตราภัณฑ์ท่าแพทุกวันนี้ปิดร้างจากที่เคยเป็นท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตันตราภัณฑ์ช้างเผือกตึกส่วนหน้าถูกทุบทิ้งทำเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ขนาดย่อม ตึกส่วนหลังปรับปรุงให้เป็นอาคารสำนักงาน ในส่วนของ  ส.การค้า สาขาวิชยานนท์เป็นร้านแฟชั่นซิตี้ ซึ่งขณะนี้ปิดชั่วคราว สาขาท่าแพเป็นร้านพิซซ่า สาขาช้างคลานเปิดให้บริการห้องพัก

ส่วนอาคารสีสวนพลาซ่าเดิมจากที่เคยเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพวาดสามมิติ (Art in Paradise) มานานก็มีอันกลับต้องถูกทิ้งร้างไป ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเพราะการแพร่ระบาดของโรค     โควิด-19 เป็นสถานการณ์บีบคั้นที่สุด แม้แต่กาดสวนแก้วที่ยืนหยัดมาถึง 30 ปีก็ยังไปต่อไม่ไหว

ขณะที่ศูนย์การค้าบางแห่งที่ยังเปิดอยู่ก็ต้องเรียกว่ากำลังหายใจอย่างโรยริน จากอัตราการเช่าพื้นที่ซึ่งเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

ข้อค้นพบที่ได้อย่างน้อย ๆ 5 ข้อของบทความชุดนี้ สรุปคือ

ประการแรก ห้างค้าปลีกในเชียงใหม่ผุดขึ้นเป็นระลอก ห้วงก่อนเกิดขึ้นช่วงกลางทศวรรษ 2530 คือระลอกแรก ต้นทศวรรษ 2540 เป็นระลอกต่อมา ระลอกเกิดขึ้นเมื่อราว 10 ปีก่อน แน่นอนว่าเกี่ยวพันกับหลายปัจจัย ตั้งแต่เรื่องนโยบายของภาครัฐ, ช่องว่างทางกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง/การควบคุมอาคาร/การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฯลฯ, การขยายตัวเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนความเป็นศูนย์กลางแทบทุกด้านของเชียงใหม่เองที่มีพลังดึงดูดกลุ่มทุนหลากสี 

ประการที่สอง ในยุคต้นเรียกได้ว่าเป็นยุคทุนท้องถิ่นโดยแท้ อาทิ ตระกูลตันตรานนท์, ศรีสุขวัฒนานันท์, เหลืองชัยรัตน์ จากนั้นจึงเป็นทุนต่างถิ่นเข้ามา ตามด้วยทุนข้ามชาติ ทั้งแม็คโคร โลตัส คาร์ฟูร์ โอชอง ก่อนจะอยู่ในความสนใจของทุนเมืองหลวงระดับชาติ เช่น กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาและเครือเอสเอฟ

ประการที่สาม ทำเลมีแนวโน้มขยายตัวจากในสู่นอกอย่างชัดเจน ห้างสรรพสินค้าเริ่มตั้งอย่างกระจุกตัวในย่านชุมชนธุรกิจบริเวณศูนย์กลางของเมือง บนถนนท่าแพ ถนนวิชยานนท์ ถนนช้างคลาน กระทั่งเมืองกระจายตัวออกมา ห้างสรรพสินค้าก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นศูนย์การค้า ก่อนจะออกไปอยู่ ณ จุดเชื่อมระหว่างเมืองชั้นในกับแถบรอบนอก ไปตามถนนห้วยแก้วและสายอ้อมเมือง

ขณะที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่จะเริ่มตั้งที่ขอบเขตเมืองโดยเฉพาะบนเส้นซุปเปอร์ไฮเวย์ จากนั้นถึงค่อยขยับขยายสาขาใหม่ ๆ ไปบริเวณถนนวงแหวนรอบนอก หรือออกไปยังต่างอำเภอที่มีศักยภาพ

ประการที่สี่ ธุรกิจประเภทนี้มักถูกท้าทายโดยผู้แข่งรายใหม่ที่มีความพร้อมกว่า ด้วยจุดขายโดดเด่น และแปลกใหม่อยู่เสมอ น้อยรายที่จะผูกขาดความสำเร็จและอยู่รอดได้อย่างจีรัง เป็นวัฏจักรทางธุรกิจที่เป็นสัจธรรม

ประการสุดท้าย โครงการเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นบนพื้นที่เกษตรและพื้นที่สีเขียวเดิม ส่งผลในระยะยาวทำให้เมืองขาดพื้นที่สีเขียว สูญเสียพื้นที่โล่ง พื้นที่ว่าง กระทั่งพื้นที่สาธารณะ อันเนื่องมาจากการเติบโตของบริเวณโดยรอบห้างค้าปลีกเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม บทความชุดนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงห้างค้าปลีกเฉพาะทางที่ก็มีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น พาวเวอร์บาย, สยามทีวี, อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์, โฮมโปร, คอมพลาซ่า, ดีแคทลอน รวมทั้งศูนย์การค้าที่มีลักษณะเปิดโล่ง เช่น สิบสองห้วยแก้ว, มีโชคพลาซ่า, สตาร์อเวนิว, เดอะฮาร์เบอร์, นิ่มซิตี้เดลี่, กาดฝรั่ง (ที่มี Premium Outlet เป็นจุดขายสำคัญของโครงการ), ธิงค์พาร์ค (Think Park), วันนิมมาน (One Nimman) ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่สร้างผลเปลี่ยนแปลงต่อเมือง ทั้งเชิงกายภาพ และในมิติอื่น ๆ อยู่ไม่น้อย

เชียงใหม่ก็เช่นเดียวกับเมืองที่มีชีวิตอื่น ๆ ในโลก ผ่านการพิสูจน์ความเปลี่ยนแปลงมายาวนาน ทว่าสิ่งที่คนเชียงใหม่อยากจะเห็น ไม่ว่าจะเป็นเมืองโตแนวดิ่ง เมืองโตแนวราบ กระทั่งเมืองอนุรักษ์ ภายใต้บริบทกฎหมายปัจจุบันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะอำนาจเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่ส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่น

การรวมศูนย์อำนาจอย่างเคร่งครัดก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งยุ่งยาก ล่าช้า และไม่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ปฏิเสธมิได้เลยว่าเมืองเชียงใหม่ขยายตัวอย่างมาก และกินอาณาบริเวณกว้างไกลกว่าแค่เขตอำเภอเมือง การจัดวางรูปแบบโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นสำหรับเชียงใหม่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จึงพ้นสมัย ไม่สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลง คนเชียงใหม่ควรมีโอกาสตัดสินใจเลือกหนทางเดินนี้ได้ด้วยตัวเอง

ย้อนความรุ่งเรืองและถดถอยของห้างในเชียงใหม่ ตันตราภัณฑ์ ถึง กาดสวนแก้ว

เรื่อง: ณัฐกร วิทิตานนท์ และ รัฐนันท์ โสภโณดร

ภาพ: Facebook/Promenada Chiang Mai

เชิงอรรถ

[1]  Vicki Howard, From Main Street to Mall: The Rise and Fall of the American Department Store, (Philadelphia, PA: University of Pennsylvania Press, 2015).

[2]  มุจลินทร์ เพ็ชรรุ่ง, การศึกษาบทบาทของชาวจีนใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในสมัยรัตนโกสินทร์, การค้นคว้าอิสระ        ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553, 79.

[3]  เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊ค, 2552), 27.

[4]  เรื่องเดียวกัน, 30.

[5] จักรพงษ์ คำบุญเรือง, “จากท่าเรือสู่ห้างสรรพสินค้า...ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านของการค้าเมืองเชียงใหม่,” Chiangmai Mag      ปีที่ 6 ฉบับที่ 65 (มีนาคม 2557), 38-39

[6]  ห้างสรรพสินค้า (Department Store) ร้านค้าปลีกใหญ่ที่จำหน่ายสินค้าหลากหลาย โดยแบ่งแยกพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน และอยู่ภายในอาคารเดียวกัน เช่น เซ็นทรัล, โรบินสัน เป็นต้น สรุปจาก http://www.businessdictionary.com/definition/department-store.html 

[7]  ศูนย์การค้า (Shopping Mall) ศูนย์รวมร้านค้าปลีกครบครัน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านอาหาร, โรงภาพยนตร์, สวนสนุก ฯลฯ มาอยู่ด้วยกันในอาณาบริเวณที่กว้างขวาง และจัดให้มีที่จอดรถสำหรับลูกค้า เช่น กาดสวนแก้ว, แอร์พอร์ตพลาซ่า เป็นต้น สรุปจาก http://www.businessdictionary.com/definition/shopping-center.html 

[8]  ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (Discount Store) มีพื้นที่มากกว่าห้างสรรพสินค้า เน้นจำหน่ายสินค้าที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด มีสาขาอยู่ทั่วไป ภายใต้ระบบกระจายสินค้าและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่น โลตัส, บิ๊กซี เป็นต้น สรุปจาก http://www.businessdictionary.com/definition/discount-store.html  

[9]  เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊ค, 2552), 110.

[10]  มุจลินทร์ เพ็ชรรุ่ง, การศึกษาบทบาทของชาวจีนใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในสมัยรัตนโกสินทร์, การค้นคว้าอิสระ        ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553, 22.

[11]  เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่, อ้างแล้ว, 114.

[12]  ธเนศวร์ เจริญเมือง, การปกครองเมืองในสังคมไทย กรณีเชียงใหม่เจ็ดศตวรรษ, (เชียงใหม่: โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540), 63-67.

[13]  ดู ณัฐกร วิทิตานนท์, “การเมืองท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2542-2554): กลุ่มการเมืองผูกขาด จุดพลิกผัน และการฟื้นคืนอำนาจ,” ใน วสันต์ ปัญญาแก้ว (บรรณาธิการ), การเมืองของราษฎรไทยยุคหลัง (หลัง) ทักษิณ, (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555). 86-87.

[14]  ตัวอักษร ส. ก็มาจากชื่อของนายฮะเสีย ซึ่งในภาษาจีนหมายถึงสมใจที่หวังไว้ ส.ในที่นี้จึงหมายถึง “สมใจ” นั่นเอง อ้างใน อนุ เนินหาด, “ย่านกาดหลวง (8),” ไทยนิวส์ (2 สิงหาคม 2556).

[15]  เรื่องเดียวกัน.

[16] “ถึงคราวอวสานห้างท้องถิ่นเชียงใหม่อย่างแท้จริง,” ผู้จัดการรายวัน (16 เมษายน 2546), จาก http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=6165 

[17]  เดิมทีเจ้าของตั้งใจจะใช้ชื่อร้านว่า Season (ซีซัน) ตามคำแนะนำของครูสอนภาษาอังกฤษชาวอินเดีย แต่ด้วยอพยพมาจากเมืองจีนพูดไทยไม่ค่อยชัด ทำให้ช่างทำป้ายฟังผิดเพี้ยนกลายไปเป็น “สีสวน”‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬ อ้างใน ธีระ รักอริยะธรรม, การวิเคราะห์ผู้ซื้อของห้างสรรพสินค้าสีสวนพลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่, การค้นคว้าแบบอิสระ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537, ภาคผนวก (ไม่ปรากฏเลขหน้า).

[18]  เรื่องเดียวกัน, ภาคผนวก.

[19]  ดู ธเนศวร์ เจริญเมือง, อ้างแล้ว, 105; เวียงรัฐ เนติโพธิ์, “อิทธิพลในการเมืองท้องถิ่นของไทย: ศึกษากรณีเมืองเชียงใหม่,” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2543), 215.

[20]  ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เชียงใหม่: ปัญหาเอกนครในภาคเหนือ, (เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่, 2537), 123.

[21]  อนุ เนินหาด, “ย่านกาดหลวง (24),” ไทยนิวส์ (24 มกราคม 2557).

[22]  เฉพาะปี 2532 เพียงปีเดียว มีห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นนับ 10 กว่าแห่ง ดู วิรัตน์ แสงทองคำ, บัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ และสมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย, 70 ปี จิราธิวัฒน์ Central ยิ่งสู้ ยิ่งโต, (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่มนิตยสารผู้จัดการ, 2546), 49.

[23]  อนุ เนินหาด, “ย่านถนนห้วยแก้ว (6),” ไทยนิวส์ (7 กุมภาพันธ์ 2557).

[24]  องอาจ ฤทธิ์ปรีชา, เจ้าสัวล้านนา, (กรุงเทพฯ: สิริมงคลคำ, 2549), 32.

[25]  ชื่อของกาดสวนแก้วมาจากการประสมของ 3 คำ “กาด”  หมายถึงตลาดในภาษาเหนือ “สวน” เนื่องจากเดิมพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นสวนผักมาก่อน และ “แก้ว” มาจากถนนห้วยแก้วนั่นเอง, “กาดสวนแก้ว ตำนานที่ยังมีชีวิต,” (20 สิงหาคม 2562), TrueID จาก https://travel.trueid.net/detail/p2YkkxweyaJn 

[26]  องอาจ ฤทธิ์ปรีชา, อ้างแล้ว, 35.

[27]  “เซ็นทรัล” (Central) เป็นคำที่นายสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ บุตรชายคนโตของนายเตียงเป็นคนคิด เนื่องจากนายเตียง บิดาผู้ก่อตั้งห้างสนใจการเมือง คิดถึงสมัยที่ประเทศจีนมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางขึ้นมาแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ภาษาจีนเรียกว่า “ตงเอียง” หรือแปลว่า “กลาง” แต่สัมฤทธิ์เห็นว่าใช้คำภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายเดียวกันจะไพเราะกว่า แรกเริ่มจากร้านชำเล็ก ๆ ขายของจิปาถะ ก่อนจะพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของคนไทยในกรุงเทพฯ เริ่มที่สาขาวังบูรพาในปี 2499 จากนั้นก็ขยายไปเปิดอีกหลายสาขา จนปี 2526 เปิดสาขาลาดพร้าวในรูปแบบของศูนย์การค้าครบวงจร ต่อมาได้นำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ในนามบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ดู วิรัตน์ แสงทองคำ, บัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ และสมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย, อ้างแล้ว, 53.

[28]  สมบุญ รุจิขจร, Thai Grocer, (กรุงเทพฯ: Tipping Point Press, 2545), 6.

[29]  “ศูนย์การค้าจึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมเมืองยุคใหม่ ทำให้กลายเป็นสังคมที่เน้นการใช้รถยนต์ให้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับเป็นตัวเร่งในการทำลายชุมชนตึกแถวดั้งเดิม เพราะปัจจัยที่สำคัญของสังคมการค้าขายยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองก็คือเรื่องที่จอดรถนั่นเอง” ผู้เขียนหนังสือการเมืองเรื่องสยามสแควร์ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีของกรุงเทพฯ ไว้ดังนี้, พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ, การเมืองเรื่องสยามสแควร์, (กรุงเทพฯ: ลายเส้นพับบลิชชิ่ง, 2553), 221-222.

[30]  เคยมีการศึกษาว่าในทศวรรษ 2530 นั้น ชาวลำปางจำนวนมากเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่ศูนย์การค้าครบวงจรและศูนย์การค้าส่งค้าปลีกที่เชียงใหม่ โดยเฉพาะที่ห้างแม็คโครเชียงใหม่ อ้างใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ “ผังเมืองลำปาง” สมัยใหม่ (พ.ศ. 2442-2557) กรณีศึกษา เขตผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง, รายงานวิจัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2558, 212.

[31]  จำนวนประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2536 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.04 เทียบกับหลายปีก่อนหน้าที่มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ราวร้อยละ 1 เท่านั้น ดู เฉลิมชัย คำแสน, พฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้บริการห้างสรรพสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่, การค้นคว้าแบบอิสระ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536, 4.

[32]  หลังจากกาดสวนแก้วเปิดไม่นาน ห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ช้างเผือกก็ประสบปัญหาใหญ่หลายเรื่องจนต้องเลิกกิจการไป เช่น ยอดขายตกลงไปมากเนื่องจากมีคู่แข่งที่มาตั้งอยู่ใกล้กันคือเซ็นทรัลกาดสวนแก้วแย่งลูกค้าไป, การจัดการจราจรแบบใหม่รอบคูเมืองจากเดินรถสองทางเป็นเดินรถทางเดียวทำให้การเดินทางมาลำบากยิ่งขึ้น ลูกค้าลดจำนวนลงไปมาก, อนุ เนินหาด, “กำเนิดและการเลิกกิจการของห้างตันตราภัณฑ์ (ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในเชียงใหม่),” Old Thailand Department Store (10 สิงหาคม 2554), จาก http://therabbitmafia.blogspot.com/2011/08/blog-post_10.html 

[33]  โรบินสันได้เริ่มธุรกิจในปี 2522 ซึ่งต่อมาได้ควบรวมธุรกิจเข้ากับกลุ่มเซ็นทรัลรีเทลในปี 2538 ราวหนึ่งปีก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาจะเข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าจากเครือตันตราภัณฑ์

[34]  เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่, อ้างแล้ว, 119-121.

[35]  “เจ้าพ่อน้ำเมายึดไนท์บาร์ซาร์ “เขตช้าง สิงห์ห้ามเข้า”,” ประชาไท (18 กรกฎาคม 2548), จาก https://prachatai.com/journal/2005/07/4946

[36]  สรุปจาก กิจฐเชต ไกรวาส, อิทธิพลของศูนย์การค้าต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่, วิทยานิพนธ์ การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538, 255-260.

[37]  สรุปจาก เพิ่งอ้าง, 227-229.

[38]  ทำให้ไทยต้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามแนวทางของไอเอ็มเอฟ นำไปสู่การออกกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจรวม 11 ฉบับ หนึ่งในนั้นได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้การค้าปลีกสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้นมากกว่า 100 ล้านบาท หรือทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านมากกว่า 20 ล้านบาท ถือเป็นกิจการที่ต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจได้ เปิดโอกาสให้ทุนข้ามชาติรุกเข้ามา และขยายตัวอย่างรวดเร็ว, สุพัฒน์  โตวิจักษณ์ชัยกุล และกรวรรณ สังขกร, ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่มีต่อธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กของไทย, (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552), 9-10.

[39]  เรียบเรียงจาก วิรัตน์ แสงทองคำ, บัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ และสมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย, 70 ปี จิราธิวัฒน์ Central ยิ่งสู้ ยิ่งโต, (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่มนิตยสารผู้จัดการ, 2546), 30-40.

[40]  ดู พรพินันท์ ยี่รงค์, ณัฐพรพรรณ อุตมา และปฐมพงศ์ มโนหาญ, “ยักษ์ค้าปลีกสู่สมรภูมิชายแดนจังหวัดเชียงราย,” สำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (6 กรกฎาคม 2558), สืบค้นจาก http://rs.mfu.ac.th/obels/ 

[41]  ว่ากันว่าคำว่า “เอก” มาจากชื่อของนายเอ็กชอ แซ่เจี๋ย บิดาของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ส่วน “โลตัส” หมายถึงดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีนั่นเอง

[42]  จีรศักดิ์ ชาติอารยะวดี, นโยบายควบคุมห้างค้าปลีกขนาดใหญ่: ศึกษาเปรียบเทียบญี่ปุ่น-ไทย, วิทยานิพนธ์     ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548, 118-119.

[43]  คำนี้เริ่มถูกใช้มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช่วงล้านนาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม (แบบหลวมๆ) ด้วยเนื่องจากในสมัยนั้น การกอบกู้บ้านเมืองมีการ ‘เทครัว’ กวาดต้อนผู้คนหลายหลากกลุ่มมามากมาย (ยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”) ทำให้มีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มเป็นอันมาก คำว่า “คนเมือง” จึงเกิดขึ้นมาใช้เรียกตัวเอง สื่อถึงความเป็น “คนพื้นเมือง” ซึ่งในทางชาติพันธุ์ก็คือ คนไทยวน หรือโยน หรือโยนก ประมวลจาก ธเนศวร์ เจริญเมือง, คนเมือง ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ (พ.ศ. 2317-2552), (กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552).

[44]  ข้อมูลบางส่วนจาก “MEGA PROJECT กับอนาคตเมืองเชียงใหม่,” Compass Magazine ปีที่ 13 ฉบับที่ 144 (พฤษภาคม 2558), 104-105.

[45]  อาทิ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทวี, โรงแรมแชงกรีลา ดู เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่, (กรุงเทพฯ:      โอเพ่นบุ๊ค, 2552), 54-55.

[46]  ภูมิกนก อริยนานา, ความพึงพอใจของลูกค้าต่อการใช้บริการศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเชียงใหม่, การค้นคว้าแบบอิสระ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553, 1; เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่, อ้างแล้ว, 57-58.

[47]  นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีศูนย์การค้าโอ.พี.เพลส., กาแลไนท์บาซาร์, ตลาดอนุสาร รวมถึงโรงแรมเลอเมอริเดียน, อิมพีเรียลแม่ปิง, ซีเอสเชียงใหม่ และโรงแรมพรพิงค์ ตลอดจนร้านหนังสือเก่าแก่อย่างสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ก็ไม่วายเป็นของเสี่ยเจริญ, ดู ““เจริญ” ทุ่มพลิกโฉมเชียงใหม่ บูมช้างคลานเมกะคอมเพล็กซ์,” ประชาชาติธุรกิจ (30 กันยายน 2558).

[48]  “เดิมพันศูนย์การค้าเชียงใหม่ เซ็นทรัล-เมญ่า-พรอมเมนาดา ชิงกำลังซื้อ...นักช็อปไทย-เทศ,” ประชาชาติธุรกิจ (6 มิถุนายน 2556).

[49]  “CPN เป่านกหวีดจัดเต็ม สกัด “เม-ญ่า-พรอเมนาดา,” ASTVผู้จัดการ (16 พฤศจิกายน 2556), จาก https://m.mgronline.com/daily/app-detail/9560000142568

[50]  “เอสเอฟ” (SF) ย่อมาจากสมานฟิล์ม อันเป็นชื่อธุรกิจเดิมของคุณพ่อของนายสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ดู พรพรรณ ปัญญาภิรมย์, “SF Cinema III: ก้าวต่อไปของพระรองกับพระเอกวัย 23,” ฟอร์บสไทยแลนด์ (24 ตุลาคม 2557).

[51]  “สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ฝ่าดงค้าปลีก มั่นใจ “เม-ญ่า” ตอบโจทย์คนเชียงใหม่,” ประชาชาติธุรกิจ (17 มิถุนายน 2556).

[52]  “วีกรุ๊ปทุ่ม2พันล.เปิด’แพททินั่มฯเชียงใหม่’,” คมชัดลึก (28 พฤศจิกายน 2554), จาก https://www.komchadluek.net/news/116290 

[53]  สรุปจาก สุดารัตน์ อุทธารัตน์ และคณะ, การศึกษากลไกและเครื่องมือที่สนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำผังเมืองรวม และกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามผังเมืองรวม: กรณีศึกษา ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่, รายงานวิจัย สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557.

[54]  ข้อมูลประมาณการของปี 2555, “เชียงใหม่เมืองสำหรับคนเมืองหรือคนต่างถิ่น,” Compass Magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 132 (พฤษภาคม 2557), 76-77.

[55]  ดู หนี ห่าว มา: ไกด์บุ๊กธุรกิจท่องเที่ยวจากจีนสู่เชียงใหม่, (กรุงเทพฯ: ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), 2558), 103.