พระพุทธเจ้า กับรับสั่งเรื่องพระที่ดูการละเล่น-มหรสพ ภิกษุที่ลงเล่นเองในสมัยพุทธกาล

พระพุทธเจ้า กับรับสั่งเรื่องพระที่ดูการละเล่น-มหรสพ ภิกษุที่ลงเล่นเองในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุที่ชมการละเล่น รวมไปถึงเหล่าภิกษุที่ลงเล่นเอง ซึ่งมีปรากฏทั้งในพระวินัยและพระสูตร ในพระวินัยปิฎก มีบันทึกไว้ พร้อมรับสั่งและคำติเตียนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วย

การดูการละเล่นของภิกษุในสมัยพุทธกาล

การละเล่นต่าง ๆ ที่มีปรากฏมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การเล่นละคร หรือการเล่นกีฬา เป็นต้น ล้วนมีเรื่องราวของต้นกำเนิดที่แตกต่างกันไป ตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนในภูมิประเทศนั้น ๆ  และการละเล่นต่าง ๆ นั้น ถูกจัดขึ้นเพื่อความบันเทิงสนุกสนานแก่เหล่าผู้ชม

อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถมากกว่าคนทั่วไปได้แสดงศักยภาพของตนเองอีกด้วย จะกล่าวได้ว่า การละเล่น เป็นของคู่โลกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวโลก เพราะชาวโลกส่วนใหญ่ล้วนยังมีความต้องการความสุขที่เป็นโลกิยะโดยผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถที่จะดูการละเล่นได้ตามปกติอย่างวิสัยของชาวโลก แต่เมื่อว่าทางพระพุทธศาสนา แน่นอนว่าการดูการละเล่นนับว่าเป็นสิ่งที่มีโทษแก่ภิกษุทางพระวินัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงกระนั้น ก็เป็นโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งที่ไม่ได้ทำให้ขาดจากความเป็นพระหรือขาดจากความเป็นพุทธศาสนิกชน เพียงแต่เป็นสิ่งที่ขัดขวางการประพฤติปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนผู้มีความต้องการจะหลุดพ้นจากทุกข์เท่านั้น เพราะการละเล่นบางชนิดในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะเป็นข้าศึกต่อกุศล

เมื่อกล่าวถึงการละเล่นในสมัยพุทธกาลนั้น มีการละเล่นหลากหลายชนิดทั้งที่เป็นสิ่งบันเทิง และทั้งที่เป็นการแข่งขัน คำว่า การละเล่น นั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านจะใช้คำว่า วิสูกะ ซึ่งให้ความหมายตามรูปศัพท์ว่า สิ่งที่ทิ่มแทงคำสอนโดยไม่คล้อยตาม

กล่าวคือเป็นสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่กุศลนั่นเอง ถึงแม้คำว่า การละเล่น จะดูมีความหมายไปในเชิงลบ แต่เมื่ออ่านดูตามตำราในพระพุทธศาสนาก็จะพบได้ว่า การละเล่นบางอย่างเช่น การฟังเสียงเครื่องดนตรี หรือ เสียงขับร้อง ก็สามารถให้คุณประโยชน์แก่ผู้ฟังได้ถึงขนาดให้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ก็มี

ยกตัวอย่างในหนังสือปฐมสมโพธิกถา มีปรากฏเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังดำรงเป็นพระโพธิสัตว์ ในขณะที่ท่านบำเพ็ญทุกรกิริยา ได้มีพระอินทร์แปลงร่างมาเป็นมาณพมาดีดพิณ 3 สายให้พระองค์ได้ฟังพิจารณา หรือในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีปรากฎเรื่องราวของภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังเพลงขับร้องที่ประกอบเนื้อหาทางธรรม ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้า ก็มี

การละเล่นที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ค้นพบได้จากหลายพระสูตร เช่น สามัญญผลสูตร พรหมชาลสูตร เป็นต้น การละเล่นที่มีปรากฏในพระสูตรเหล่านั้น ได้แก่ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ 

ทั้งยังมีการละเล่นอีกรูปแบบหนึ่งที่ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นการละเล่นที่เป็นลักษณะพนัน ได้แก่ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่น ธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ

สิ่งที่น่าสังเกตในเรื่องการดูการละเล่นนี้ พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษสำหรับภิกษุที่ขวนขวายในการดูการละเล่นเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะปรับโทษว่า ภิกษุเดินผ่านแล้วมีการจัดการละเล่นที่ชาวบ้านจัดทำกันในระหว่างทาง เมื่อเห็นหรือได้ยินเข้า จะเป็นโทษสำหรับภิกษุผู้ดูหรือผู้ฟังเพียงอย่างเดียว แต่พระพุทธองค์แนะนำว่าเมื่อพบหรือได้ยินควรอยู่ในอาการสำรวมอินทรีย์เท่านั้น แต่เป็นโทษสำหรับผู้ที่ขวนขวายในการดูการละเล่นสิ่งเหล่านี้ ดังปรากฏในข้อความในสามัญญผลสูตรแห่งพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)

“ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็น ข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี

การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง”

ในข้อความนี้ จะเห็นได้ว่า การละเล่นไม่ได้มีแค่การขับร้องฟ้อนรำเท่านั้น แต่มีการแข่งขันในเชิงลักษณะที่เป็นกีฬาเช่น กีฬาชกมวยและกีฬามวยปล้ำ เป็นต้น ซึ่งหากเทียบกับกีฬาในยุคปัจจุบันแล้ว ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เป็นต้น แม้กระทั่งไปดูการรบกันในสมัยนั้น เมื่อพิจารณาจากบริบทชนิดกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม ก็สามารถจัดเป็นการการละเล่นในยุคสมัยนั้นได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีปรากฏในตำราเท่านั้น

ภิกษุที่ดูการละเล่น

ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะเสนอเรื่องราวตัวอย่างของเหล่าภิกษุผู้ดูการละเล่น รวมไปถึงเหล่าภิกษุผู้ลงเล่นเองในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีปรากฏทั้งในพระวินัยและพระสูตร พอเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นการประกอบอธิบายให้ชัดเจนมากขึ้น

ดังมีเรื่องเล่าที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก จุลลวรรคที่ 2 ว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้พากันไปดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายพอเห็นเข้าก็พากันตำหนิประณามกันว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การบรรเลงดนตรีบ้าง เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า” 

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทราบ พระผู้มีพระภาคจึีงรับสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดูการฟ้อนรำ การขับร้อง หรือการบรรเลงดนตรี รูปใดไปดู ต้องอาบัติทุกกฏ”  

ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การไปดูการละเล่นเป็นอาบัติสำหรับภิกษุผู้ที่ไปขวนขวายดูเท่านั้น ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวถึงกรณีที่จะไม่เป็นอาบัติไว้ว่า “หากมีการละเล่นทุกอย่างที่ถูกจัดในวัด ก็ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อยู่ในวัด”

ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า การจะเป็นอาบัติหรือไม่ใช่อาบัติอยู่ที่เจตนาหรือสถานที่มากกว่า  หากมีการจัดอยู่ในวัดไม่มีอาบัติ แต่เมื่อภิกษุไปยังสถานที่จัดงานที่ไม่ใช่วัด นับว่าเป็นอาบัติ อนึ่งใน คำว่า การละเล่่นทุกอย่าง ที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ ก็รวมไปถึง การแข่งชนช้าง ชนม้า หรือการชกมวยและมวยปล้ำ เป็นต้น เข้าด้วยเหมือนกัน

พระพุทธเจ้า กับรับสั่งเรื่องพระที่ดูการละเล่น-มหรสพ ภิกษุที่ลงเล่นเองในสมัยพุทธกาล

ภิกษุที่ร่วมในการละเล่นด้วย

ยังมีอีกหนึ่งเรื่องราวของภิกษุ 2 รูป คือ พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาคที่ 1 ซึ่งทั้ง 2 รูปนี้ ไม่ได้เพียงแค่ดูการละเล่นเท่านั้น แต่ไปเป็นผู้เล่นกับเขาด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า ภิกษุทั้งสองรูปรวมถึงลูกศิษย์ของพวกท่าน เป็นเจ้าถิ่นอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ได้ประพฤติสิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะต่างๆ เช่นการปลูกต้นไม้นานาชนิดเพื่อให้เป็นของกำนัลชาวบ้าน รวมไปถึงการจัดการละเล่นต่างๆ อาทิ ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี เต้นรำ โดยจ้างหญิงที่มีความชำนาญในแต่ละด้านมาร่วมฟ้อนรำ ขับร้องเป็นต้นด้วย

ทั้งยังจัดการแข่งขันเล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง แถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆบ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยไม้ไบ้บ้าง เล่นรถน้อย ๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง

รวมไปถึงหัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง เพื่อแข่งวิ่งผลัดช้างบ้าง แข่งวิ่งผลัดม้าบ้าง แข่งวิ่งผลัดรถบ้าง แข่งวิ่งขับกันบ้าง แข่งวิ่งเปี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง และยังมีการจัดมวยปล้ำและชกมวยกันอีก

สิ่งที่ภิกษุทั้งสองรูปที่ทำกันนั้น ก็ดังกระฉ่อน จนกระทั่งไปถึงพระเนตรพระกรรณของพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนว่า 

“การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ”

จากเรื่องราวตัวอย่างที่ยกขึ้นมาแสดงนี้ จะทำให้เห็นว่า การเที่ยวดูการละเล่นของภิกษุไม่ได้มีแค่ในปัจจุบันเท่านั้น แม้แต่ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องราวการเที่ยวดูการละเล่นของภิกษุกลุ่มหนึ่งจนเป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อห้ามไว้เป็นสิกขาบทเพื่อความเลื่อมใสแก่ประชุมชนและทรงประสงค์ให้ภิกษุขวนขวายในการประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยมากกว่ามัวแต่ขวนขวายในการดูการละเล่นอันเป็นสิ่งที่ให้โทษมากกว่าคุณสำหรับผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้ 

แต่เมื่อพิจารณาบริบทในปัจจุบันการเที่ยวดูการละเล่นของภิกษุในยุคปัจจุบันนับว่าเป็นโทษเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ตามธรรมวินัย แต่ในมุมมองของชาวพุทธทั่วไป ต่างก็มีความเห็นที่ปะปนไปด้วยความถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือรู้สึกเฉย ๆ นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาในยุคสมัยนี้ 


อ้างอิง:

https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1435&Z=1553
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=07&siri=2
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=1
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=18863&Z=19113
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=614