26 พ.ย. 2565 | 09:54 น.
- แมววิเชียรมาศ ปรากฏในภาพถ่ายของนักเขียนรัสเซียคนดังอยู่เสมอ
- วิเชียรมาศ ถูกจดทะเบียนในฐานะ ‘ไซมีสแคท’ หรือ ‘แมวสยาม’ เป็นแมวที่เดินทางไปจากสยาม และนิยมกันถึงต่างแดน
- ความเป็นมาของความนิยมแมววิเชียรมาศ ในต่างแดนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งแง่สังคม ค่านิยม และสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กลายเป็นไวรัลแชร์กันกระหน่ำ เมื่อมีโพสต์จากเพจเฟซบุ๊กหนึ่งของต่างประเทศนำเสนอภาพและเรื่องราวของ Yuri Knorozov นักเขียนและนักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในทศวรรษ 1950-1970 กับแมวของเขาที่ชื่อเจ้า Asya งานที่สร้างชื่อให้กับ Yuri Knorozov นั้น เป็นงานเกี่ยวกับการไขรหัสภาษาของชาวมายาในอเมริกาใต้
เดิมในต้นฉบับผลงานที่ส่งให้สำนักพิมพ์ เขาใส่ชื่อเจ้า Asya เป็นผู้เขียนร่วมด้วย แต่บรรณาธิการได้ตัดชื่อแมวออก Knorozov ซึ่งปกติมักมีนิสัยประหลาดอยู่แล้ว เมื่อถูกกระทำเช่นนั้น เขาก็แก้เผ็ดโดยการถ่ายรูปคู่กับแมวของเขาตลอด ยิ่งตอนที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อก็จะอุ้มแมวเข้ากล้องด้วยตลอด
จนกระทั่งภาพเขากับแมวอยู่ด้วยกันตลอด เป็นนักเขียนที่มีแมวตลอด แม้กระทั่งหลุมฝังศพและอนุสรณ์สถานต่าง ๆ ที่สร้างเป็นเกียรติแก่เขาก็เป็นรูปเขาอุ้มแมว
ที่สร้างความฮือฮาแก่เหล่านักท่องโซเชียลชาวไทยก็คือ Asya นั้นเป็นแมวไทยหรือที่ต่างประเทศรู้จักและเรียกกันว่า ‘ไซมีสแคท’ (Siamese cat) ชนิดวิเชียรมาศ
แต่หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ จะพบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่น้องแมววิเชียรมาศของไทย ได้ไปปรากฎตัวเป็น ‘เจ้านาย’ ของพวกฝรั่งมังค่า
ประวัติศาสตร์ของแมววิเชียรมาศในไทยและต่างประเทศมีความเป็นมาย้อนหลังไปจากยุคของ Knorozov กับ Asya เป็นระยะเวลากว่า 2 ศตวรรษเลยทีเดียว
ในรอบ 2 ศตวรรษนั้นมีอะไรสำคัญ ที่จะนำมาเล่าสนุก ๆ ได้บ้าง โดยคร่าว ๆ ก็มีดังลำดับต่อไปนี้
แมวชื่อ ‘วิเชียรมาศ’
ในอดีตนิยมเขียนว่า ‘วิเชียรมาส’ ปัจจุบันนิยมเขียน ‘วิเชียรมาศ’ แต่จะ ‘มาส’ หรือ ‘มาศ’ ก็ความหมายเดียวกัน
คำว่า ‘วิเชียรมาศ’ โดยทั่วไปนิยมแปลว่า ‘เพชรแห่งดวงจันทร์’ เป็นการสมาสกันสองคำ ‘วิเชียร’ แปลว่า ‘เพชร’ ส่วน ‘มาศ’ แปลว่า ‘ดวงจันทร์’ แต่ยังมีความหมายอื่นอีก เช่น ‘วิเชียร’ ยังหมายถึง ‘วชิระ’ แปลว่า ‘สายฟ้า’ และ ‘มาศ’ ก็แปลว่า ‘ทอง’ รวมกันแปลว่า ‘สายฟ้าทอง’
แต่แมววิเชียรมาศ เป็นแมวสีกายขาวเป็นพื้น หน้า หู เท้า สีดำ ไม่เข้าลักษณะสีทอง สีทองดูจะเข้ากับแมวส้มมากกว่า โดยทั่วไปจึงเชื่อว่าหมายถึง ‘เพชรแห่งดวงจันทร์’
แน่นอนว่าดวงจันทร์ก็สีเหลืองทอง แต่ส่วนที่ระบุสรรพางค์เฉพาะนั้นคือสีตา ที่เป็นสีฟ้า เหมือนสีอัญมณีจำพวกเพชรพลอย แต่ที่จริงแล้วสีฟ้า คือต้อของแมว แมวขาวมณีก็มีตาสีฟ้าข้างหนึ่ง สีเหลืองข้างหนึ่ง บางตัวสีฟ้าทั้งสองข้าง บางตัวสีเหลืองทั้งสองข้าง สีฟ้าของแมวขาวมณีก็เกิดจากต้อในตาแมวเช่นกัน แต่ยุคที่ยังไม่มีความรู้เรื่องต้อ คนก็ถือว่าสีตาฟ้านั้นเป็นอัญมณีที่มีชีวิต
จาก ‘ตำรานพรัตน์’ ซึ่งเป็นตำราความรู้โบราณในการจำแนกประเภทระหว่างหินทั่วไปกับหินแร่อัญมณี ก็จะพบเนื้อความบางส่วนเปรียบเทียบเพชรพลอยกับตาแมว ภายหลังความรู้ชนิดนี้เปลี่ยนไปเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชอง (Chong ethnic group) กับ กุลา (Kula ethnic group) ในแถบหัวเมืองตะวันออกและกัมพูชา ได้นำอัญมณีจากป่าเขามาสู่เมืองมากขึ้น
คนชองกับกุลากลายเป็นมือวางอันดับต้นหรือผู้เชี่ยวชาญหลักอย่างเป็นทางการของการพิสูจน์เพชรพลอยและแร่อัญมณีต่าง ๆ
คำว่า ‘วิเชียร’ ยังเป็นคำเดียวกับ ‘วชิระ’ ในทางตำนานปรัมปราหมายถึง ‘พระอินทร์’ อีกด้วย แต่ไม่พบคติที่ถือว่าแมววิเชียรมาศเป็นพระอินทร์มาจุติ มีแต่คติที่ถือกว้าง ๆ ว่าเป็น ‘ผู้มีบุญ’ มาเกิดเท่านั้น
และตำราแมวก็ถือเป็นตำราไสยศาสตร์ในหมวดพรหมชาติอีกประเภทหนึ่ง คงเพราะพระอินทร์ตามคติสีกายเป็นสีเขียว ซึ่งไม่มีแมวใดเข้าลักษณะสีกายแบบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว สีดำ สีส้ม สีทองแดง ผสมปนกันจาก 4 สีข้างต้น สีใดจะเด่นชัดขึ้นกับยีนส์ของแต่ละตัว
‘แมวแก้ว’ แมวมงคล ในตำราแมวโบราณ
แม้จะไม่มีความหมายเกี่ยวกับการจุติของพระอินทร์ (หรือนัยหนึ่งคือคุณท่านของเรานี้มิใช่พระอินทร์ตกสวรรค์มาเป็นเจ้านายในเรือนผู้ใดแต่อย่างใด) แต่สิ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญก็คือความนิยมเรียกแมวชนิดนี้ในอีกชื่อว่า ‘แมวแก้ว’
คำว่า ‘แก้ว’ นั้นนอกจากหมายถึงอัญมณีด้วยเหมือนกัน แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ ‘แก้ว’ ยังหมายถึง ‘ของวิเศษ’ ด้วย เช่น ในคัมภีร์ไตรภูมิ เมื่อกล่าวถึงของวิเศษคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ระดับท๊อปที่เรียกว่า ‘พญาจักรพรรดิราช’ นั้น จะมีคำว่า ‘แก้ว’ เป็น adjective เช่นมีว่า ‘ช้างแก้ว’ ‘ม้าแก้ว’ ‘ขุนพลแก้ว’ ‘ขุนคลังแก้ว’ ‘จักรแก้ว’ ‘มณีแก้ว’ ‘นางแก้ว’ เป็นต้น
แม้ว่าไตรภูมิจะไม่มี ‘แมวแก้ว’ แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นต้องทรงพระ ‘มีแมว’ ด้วย กล่าวคือในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร (ภาษาชาวบ้านก็คือ ‘ขึ้นบ้านใหม่’ นั่นแหละ) อันถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของพระราชพิธีการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ จะต้องมีขุนนางเชื้อพระวงศ์ ‘อุ้มวิฬาร์’ นำหน้าเสด็จขึ้นสู่ปราสาทราชมณเฑียร
แมวในพระราชพิธีดังกล่าวนี้ก็นิยมใช้แมววิเชียรมาศนี่แหละ อาจจะด้วยเหตุผลเพราะว่ามันมีอีกชื่อว่า ‘แมวแก้ว’ หรืออาจจะเพราะความนิยมใช้แมวชนิดนี้ในพระราชพิธีจึงเกิดการเรียกขานพวกในอีกชื่อว่า ‘แมวแก้วคู่พระบารมี’ ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม จากตำราแมวฉบับคัดลอกจากฉบับนายนุดและนายบุญมีเสมียน ปราชญ์สามัญชนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ผู้แต่งตำราแมว จะพบว่า ‘แมวแก้ว’ ก็เป็นชื่อเรียกแมววิเชียรมาศในหมู่ไพร่ราษฎรสามัญชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแมวอยู่ด้วยเหมือนกัน เช่นที่บางฉบับระบุว่า “แม้วแก้ววีเสดอันโสภา” (แมวแก้ววิเศษอันโสภา)
แมวแก้ว/วิเชียรมาศ ในตำราแมวโบราณ
‘ตำราแมว’ บางครั้งเรียกว่า ‘ตำราดูแมว’ หรือ ‘ตำราดูลักษณะแมว’ เพราะเป็นตำราสำหรับพินิจพิจารณาลักษณะสรรพางค์กาย สีขน ท่วงท่า กิริยา สีขน อุปนิสัยของแมวแต่ละชนิด ตลอดจนวิธีการเลี้ยงบำรุงบำเรอแมวแต่ละชนิดให้เหมาะสม
ดังนั้น ที่เรียกว่า ‘ตำราดูลักษณะแมว’ นั้น จะไม่ใช่แค่ตำราทำนายทายทักลักษณะของแมวเท่านั้น หากแต่เป็นคู่มือการเลี้ยงแมวสำหรับคนสมัยก่อนไปด้วยในตัว
ส่วนตำราเลี้ยงแมวโดยเฉพาะนั้น เพิ่งมีเมื่อความรู้สัตววิทยาแบบตะวันตกเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ที่มีบทบาทในเรื่องนี้คือ ‘พระองค์เจ้าจันทรทัดจุธาธาร’ ซึ่งเป็นนักเขียนคนแรก ๆ ผู้ถ่ายทอดวิชาการเลี้ยงสัตว์ ผ่านวารสารสำคัญของยุคสมัยนั้นอย่าง ‘วชิรญาณวิเศษ’
ตำราแมวมีหลากหลายฉบับ เนื่องจากการคัดลอก ชำระ และแต่งเพิ่มเติมอยู่มากมายหลายครั้งหลายคราด้วยกันตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงกึ่งพุทธกาล 2500 ต้นฉบับบางส่วนที่ยังไม่ปริวัตรเป็นภาษาปัจจุบัน มักเขียนว่า ‘แม้ว’ ไม่เขียน ‘แมว’
ทั้งนี้ เป็นการเขียนตามเสียงสำเนียงอย่างที่รู้จักและเรียกกันว่า ‘เหน่อ’ ในภายหลัง แต่ที่จริงสำเนียงนี้ในสมัยอยุธยาถือเป็น ‘สำเนียงหลวง’ คือภาษาพูดมาตรฐานของชนชั้นนำ แต่สำเนียงที่เขียนว่า ‘แมว’ (เฉย ๆ) นั้นเป็น ‘สำเนียงจีน’ เพราะคนจีนเป็นใหญ่ในสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์
ดังนั้น ตำราฉบับที่เขียน ‘แม้ว’ กับฉบับที่เขียนว่า ‘แมว’ จึงสะท้อนความต่างระหว่างคนสองสำเนียงภาษาดังกล่าวข้างต้น แต่ก็อยู่ในยุคเดียวกัน ไม่เก่าไปถึงสมัยอยุธยาแต่อย่างใด เพียงแต่ฉบับที่เขียนว่า ‘แม้วแก้ว’ เช่น ตำราแมวฉบับหอสมุดแห่งชาติ หมายเลข 248 ที่ระบุว่า ‘แม้วแก้ววีเสดอันโสภา’ ผู้แต่งเป็นปราชญ์สามัญชน ไม่ใช่จีนที่เป็นใหญ่ในราชสำนัก
ดินาร์ บุญธรรม นักประวัติศาสตร์และอาจารย์ท่านหนึ่งของผู้เขียน เคยกล่าวไว้ในรายการวิทยุไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2555 เกี่ยวกับความสำคัญของแมวในวิถีชีวิตคนไทยและบทบาทของตำราแมวโบราณดังความต่อไปนี้:
“แมว เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านในสังคมไทยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งได้อภิสิทธิ์ให้ขึ้นไปอยู่บนเรือนได้ ดังเห็นได้จากประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ของคนไทยที่นิยมมอบข้าวของที่เป็นสิ่งของมงคลต่าง ๆ แก่เจ้าของเรือน ซึ่งรวมถึงสัตว์เลี้ยง 2 ชนิด คือ ไก่ และ แมว
นอกจากนี้ ในสุภาษิตหรือสำนวนไทยต่าง ๆ มีการกล่าวถึงแมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านอยู่มากมาย เช่น หุงข้าวประชดหมา-ปิ้งปลาประชดแมว ฝากปลาย่างไว้กับแมว หรือ แมวนอนหวด ก็สะท้อนให้เห็นว่าแมว เป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
คนไทยโบราณเชื่อว่าการเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดีจะทำให้เกิดคุณแก่เจ้าของบ้านจนกลายเป็นค่านิยมสืบต่อกันมา และได้บันทึกลายลักษณ์อักษรจนเกิดเป็นตำราดูแมว
สันนิษฐานว่า ตำราดูแมว มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในตำราพรหมชาติ กล่าวกันว่าเป็นตำราโบราณที่คัดลอกสืบต่อกันมา ซึ่งมีฉบับหนึ่งอยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) สมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน (ในพ.ศ. 2555 - กองบรรณาธิการ) ท่านเป็นพระเถระที่โปรดการเลี้ยงแมวเป็นพิเศษ
ตำราดูแมวดังกล่าวเป็นสมุดข่อย มีเนื้อหาแต่งเป็นโคลง และมีภาพวาดพันธุ์แมวต่าง ๆ ประกอบ ในตำรานี้กล่าวถึงแมวพันธุ์ต่าง ๆ 23 สายพันธุ์ แบ่งเป็นแมวมงคล 17 สายพันธุ์ และแมวให้โทษอีก 6 สายพันธุ์
แมวที่เป็นมงคล ได้แก่ เช่น แมววิเชียรมาศ มีขนสีเหลืองนวล มีแต้มสีน้ำตาลออกน้ำตาลเข้ม 9 จุด และตาสีฟ้าสวยงามมาก แมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง ขนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดงทั้งตัว แมวมาเลศ หรือแมวโคราช มีสีเทาทั้งตัว แมวนิลรัตน์ หรือแมวโกนจา เรียกทั่ว ๆ ไปว่าแมวดำปลอด มีสีดำทั้งตัวและมีหางยาว
แมวเก้าแต้ม เป็นแมวสีขาวแต่มีจุดแต้มสีดำตามลำตัว 9 จุด แมวปัดเศวต เป็นแมวดำแต่มีขนบริเวณหน้าอกเป็นสีขาวโดยรอบไปถึงหลัง แมวแซมเสวตร เป็นแมวสีดำแต่จะมีขนสีขาวแซมทั้งตัว แมวขาวมณี หรือขาวปลอด มีสีขาวทั้งตัว
นอกจากนี้ ยังมีแมวที่ตำรากล่าวถึงอีก อย่างเช่น แมวกระจอก แมวสิงหเสพย์ แมวการเวก แมวจตุบท เป็นต้น แมวต่างๆ เหล่านี้จะให้คุณแก่ผู้เลี้ยงแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือการเสริมสร้างเสน่ห์
แมวที่เป็นโทษ ได้แก่ แมวทุพลเพศ เกิดมาพิการ แมวพรรณพยัคฆ์ หรือแมวลายเสือ แมวปีศาจ คือแมวที่กินลูกตัวเอง แมวหิณโทษ คือแมวที่ลูกตายในท้องด้วย แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่ชอบซุกตัวอยู่ตามมุมต่าง ๆ ไม่รับแขก และแมวเหน็บเสนียด มีหางลักษณะคดงอ มักเอาหางเหน็บไว้ใต้ท้อง ซึ่งเชื่อกันว่าแมวเหล่านี้จะนำความเดือดร้อนมาให้แก่ผู้เลี้ยง
นอกจากตำราดูแมวพรหมชาติแล้วยังมีตำราดูแมวสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากตำราตะวันตก กล่าวถึงรูปพรรณสัณฐานของแมวมงคลที่แต่งต่างจากตำราเดิม
ตัวอย่างเช่น แมวลายเสือ กลายเป็นแมวมงคลเนื่องจากสามารถเลี้ยงไว้ปราบหนู นก งู ภายในบ้านได้เป็นอย่างดี แมวสีทอง หรือแมวจิงเจอร์ เลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้มีเสน่ห์ แมวสีเทาเป็นแมวนักปราชญ์ รวมถึงแมวด่างและแมวสีทองแดงก็เป็นแมวให้คุณ
หากวิเคราะห์ตำราดูแมวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพบว่าแมวที่ให้คุณล้วนแต่มีรูปพรรณสัณฐานที่ดี ในขณะที่แมวที่ไม่ควรเลี้ยงจะมีลักษณะไม่พึงประสงค์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยในเรื่องรูปลักษณ์ โดยเฉพาะการเลี้ยงแมวซึ่งเป็นสัตว์อยู่ในเรือนก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้านอย่างหนึ่ง คนไทยจึงนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะชวนมองและเป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้พบเห็น”
ในตำราเหล่านี้มีกล่าวถึง ‘แมวแก้ว’ หรือ ‘วิเชียรมาศ’ เอาไว้มาก เนื่องจากถือเป็นแมวมงคลชนิดหนึ่ง ควบคู่ ‘แมวทองแดงหรือศุภลักษณ์’ ‘แมววิลาศ’ ‘แมวเก้าแต้ม’ ‘แมวมาเลศหรือดอกเลา’ ‘แมวรัตนกำพล’ ‘แมวแซมเศวต’ ‘แมวจตุบท’ ‘แมวโกญจา’ ‘แมวขาวมณี’ ‘แมวขาวปรอท’ ‘แมวดำปลอด’ ‘แมวกรอบแว่นหรืออานม้า’ ‘แมวสิงหเสพย์’ เป็นต้น
ตัวอย่างการกล่าวถึงแมววิเชียรมาศในตำราแมวฉบับต่าง ๆ ก็มีอาทิ:
ตำราแมวฉบับหอสมุดแห่งชาติ หมายเลข 234:
‘อีกนามหนึ่งชื่อแก้ว มงคล
ขาวทั่วกายกันดล หมึกแท้
แด้ดำปากลางขน สองเนตรเขียวนา
ท้าวและหางดำแล้ เลิศล้วนนครถวิล’
ตำราแมวฉบับหอสมุดแห่งชาติ หมายเลข 248:
‘วิลารียที่ห้านั้นดางดางดูขำดี พื้นดั่งสำลีอันผองใสย
สองหูดูหางนั้นดำไปย สี่ท่าวนั้นไสยครึหมึกมา
นามนั้นปรากฏเรืองเดช ชื่อแม้วแก้ววีเสดอันโสภา
ในยเนตรทังสองครึมุกดา งามปรากฏร่จนาเปนแสงใสย’
ตำราแมวฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี:
‘แมวชื่อ วิเชียรมาส
ปากบนหางสี่เท้า โสตสอง
แปดแห่งดำดุจปอง กล่าวไว้
สีเนตรดั่งเรือนรอง นาคสวาดิ ไว้เอย
นามวิเชียรมาสไซร้ สอดพื้นขนขาว’
ตำราแมวฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม นอกจากมีโคลงแล้วยังมีกาพย์ 16 อธิบายคุณและโทษของแมว กรณีของแมวแก้วหรือวิเชียรมาศนี้ ตำรานี้อธิบายมงคลหรือกุศลที่จะเกิดแก่ผู้เลี้ยงดังนี้:
‘หนึ่งนามแมวแก้วโดยหมาย ขาวทั่วทั้งกาย แลเนตรนั้นดั่งมณี
สี่เท้าดำงามมีศรี หูหางดำดี ดังหมึกมาลายลาดทา
มีคุณยิ่งล้ำนักหนา จักนำโภคา พิพัฒน์สมบัติเพิ่มพูน
ใครเลี้ยงจักได้ไอศูรย์ ศฤงคารบริบูรณ์ ทุกสิ่งสารพรรณ์จักมี’
เหตุที่ตำราแมวมักกล่าวถึงการเลี้ยงแมวมงคลว่าจะให้โชคลาภวาสนาต่าง ๆ นานาแก่ผู้เลี้ยง (ถ้าพูดในภาษาปัจจุบันก็คือถูกหวย) นั้น ก็เพราะตำราแมวยึดโยงคำอธิบายตามคติความเชื่อว่าแมวคือ ‘ผู้มีบุญ’ มาเกิด การอุปถัมภ์เลี้ยงดูผู้มีบุญย่อมจะเกิดกุศลหรือมงคลแก่ชีวิตของผู้อุปถัมภ์นั้นด้วย
คตินี้มิได้มีแต่เฉพาะกับสัตว์เลี้ยง ในประวัติศาสตร์จะพบการอุปถัมภ์หรือรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมที่เชื่อว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีบุญมาเกิด เช่น เจ้าพระยาจักรี (ครุฑ) รับเอานายสินแซ่แต้ (สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในเวลาต่อมา) ไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น
‘แมวหลวง’ (Royal cat) กับการเดินทางย้ายประเทศ
ไม่เพียงแต่ในประเทศสยาม/ไทยเท่านั้นที่มีแมวชนิดนี้ ลาว กัมพูชา พม่า มาเลย์ ต่างก็มี แต่เนื่องจากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเริ่มมีแนวคิดการจดทะเบียนจำแนกสัตว์เลี้ยงที่มาจากอาณานิคมในหมู่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก วิเชียรมาศ ได้รับการจดทะเบียนในฐานะ ‘ไซมีสแคท’ (Siamese cat) เป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องขอบคุณพวกเจ้าอาณานิคมเขาอยู่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เหตุที่วิเชียรมาศได้รับการจดทะเบียนในฐานะ ‘ไซมีสแคท’ หรือ ‘แมวสยาม’ ก็เพราะวิเชียรมาศที่ไปเฉิดฉายในโลกตะวันตกนั้น ส่วนใหญ่เดินทางไปจากสยาม ที่สำคัญพวกมันยังมักไปยึดบ้านและเป็นเจ้านายของชนชั้นนำตะวันตกอีกเสียด้วย ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ (ของแมว) นี้ ‘ไซมีสแคท’ มีความหมายเท่ากับ ‘วิเชียรมาศ’ ชนิดเดียวเท่านั้น ยังไม่ได้หมายถึงแมวที่ไปจากประเทศสยามหรือสายพันธุ์ไทยทั้งหมดแต่อย่างใด
พวกมันเดินทางไปอย่างไรนั้น โดยมากคำอธิบายที่เป็นทางการมักจะกล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าชาวต่างประเทศโดยเฉพาะสตรีที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่การงานหรือที่ติดตามสามีมาทำงานในเมืองไทยในรัชสมัยของพระองค์นั้น ล้วนแต่มีความนิยมชมชอบแมวสยาม
เมื่อชาวต่างชาติเหล่านี้มาเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลลากลับบ้านเมืองของตนเอง พระองค์ก็ทรงโปรดพระราชทานแมวให้แก่พวกเขาได้นำพวกมันไปเลี้ยงยังบ้านเมืองของตนด้วย
แมวที่มักจะได้รับพระราชทานโดยมากก็คือแมววิเชียรมาศ ฝรั่งสมัยนั้นจึงนิยมเรียกพวกมันว่า ‘แมวหลวง’ (Royal cat) เพราะพวกเขาได้รับพระราชทานมาจากพระมหากษัตริย์ และก็เข้าใจ (กันไปเอง) ว่าแมวชนิดนี้เป็นแมวที่เลี้ยงกันแต่ในพระบรมมหาราชวัง ชาวบ้านสามัญชนไม่เลี้ยง
แต่ภายหลังเมื่อมีชาวต่างประเทศมากรุงเทพฯ ใช้ชีวิตคลุกคลีตีโมงเห็นสภาพชีวิตชาวบ้านธรรมดามาก หนึ่งในนั้นคือ เออร์เนสต์ ยัง (Ernest Young) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เข้ามารับราชการอยู่กระทรวงธรรมการ เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ในบันทึกของเขาชิ้นที่เล่าเรื่องราวสมัยปฏิบัติงานอยู่ในสยามนั้นได้เล่าเรื่องการเลี้ยงหมาแมวเอาไว้หลายแห่งด้วยกัน
เออร์เนสต์ ยัง ได้ชี้ให้เห็นว่าจะในบ้านเรือนราษฎร คหบดีที่มีฐานะร่ำรวย ขุนนางที่ทรงอำนาจ จนวังของเจ้านาย ล้วนแต่มีแมวมีหมาชนิดเดียวกันปะปนกัน ซึ่งก็เข้ากับอุปนิสัยของแมวและหมาเป็นอย่างดี เพราะพวกมันไม่รับรู้หรอกว่า สถานที่นั้นคืออะไร จะบ้าน วัด หรือวัง มันก็โนสนโนแคร์ พวกมันรับรู้เพียงว่าเป็นแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม อีกแนวอธิบายที่ซับซ้อนกว่าและหาหลักฐานได้ยากกว่า ก็คือการเดินทางออกนอกประเทศไปในระดับที่ไม่ใช่เป็นทางการหรือภายใต้การทูตแบบที่รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้ริเริ่ม เพราะการเดินทางโดยสารเรือสมัยก่อนนั้น กัปตันที่ชำนาญการเดินเรือ มักจะอนุญาตให้ลูกเรือนำแมวขึ้นเรือไปด้วย เพราะแมวจะเป็นประโยชน์แก่เรือหลายประการ
เป็นต้นว่าช่วยไล่หนูไปจากสินค้าที่บรรทุกมา เป็นเพื่อนคลายเหงาแก่ชาวเรือ คำว่า ‘แคทวอล์ค’ (Catwalk) ที่ใช้สำหรับเรียกเวทีเดินแบบในปัจจุบัน ก็มีที่มาจาก ‘แมวเรือ’ (Ship’s cat) นั้นแหละ เมื่อมันออกมาเดินเล่นบนกราบเรือยืดเส้นยืดสาย มันก็กลายเป็นขวัญใจที่สะกดทุกสายตา ดารานายแบบนางแบบควรจะสำนึกบุญคุณแมวไว้บ้างก็ดีนะ
ที่สำคัญ เมื่อมีแมวบนเรือ ชาวเรือยังจะได้ประโยชน์จากสัญชาตญาณระวังภัยของแมวอีกด้วย เช่น เวลาฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คลื่นลมแรง เผชิญโขดหิน ปร่ะโจรสลัด ฯลฯ ถ้าแมวยังเดินเล่นเฉย แสดงว่าภัยนั้นอยู่ในระดับ ‘จิ๊บจ๊อย’ แต่หากแมวไปหลบอยู่ไหนก็ไม่รู้หรือแมวไปนอนขดสั่นอยู่ในที่แคบ ชาวเรือจะต้องฉุกคิดขึ้นว่า ‘ภัยนี้ไม่ใหญ่แน่นะวิ’ อะไรประมาณนั้น
การเดินทางประเภทที่สองนี้พบหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ปัญหาคือหลักฐานบันทึกต่างชาติสมัยอยุธยาเท่าที่ผู้เขียนพยายามอ่านสแกนมา พบว่ามักไม่ได้ระบุว่าแมวสยามที่ร่วมเดินทางไปกับเรือของชาวชาตินั้นเป็นแมวชนิดใด ใช่วิเชียรมาศ สำหรับในที่นี้หรือไม่
ส่วนที่ว่าทำไมพวกมันถึงย้ายประเทศข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลนั้น ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าเพราะมันมีประโยชน์เมื่ออยู่บนเรือ แต่ถ้ามองจากมุมแมว พวกมันอาจจะเบื่อหน่ายคนไทยและประเทศสยามก็เป็นได้!!!
‘ไซแอ้ม’ (Siam) แมวของสุภาพสตรีหมายเลข 1 และผู้ยึดทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกาสมัยปธน.รูเทอร์ฟอร์ด บี. เฮยส์
กรณีการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลว่า ‘ไซมีสแคท’ ตัวหนึ่ง ได้เดินทางไปยึดทำเนียบขาว (White House) ตั้งแต่เมื่อ ค.ศ.1879/พ.ศ.2422 (ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ 5) ก่อนหน้าการประกวดแมวนานาชาติที่คริสตันพาเลซ กรุงลอนดอน ครั้งที่แมวสยามชนะเลิศเป็นเวลากว่า 5 ปี
โดยใน ค.ศ.1879 นั้น กงสุลอเมริกันประจำกรุงเทพฯ ได้นำเอาแมวสยามกลับสหรัฐอเมริกาด้วย โดยออกเดินทางถึงท่าเรือซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1879/พ.ศ.2422 จากนั้นเปลี่ยนเรือเดินทางต่อจนถึงกรุงวอชิงตันดีซี แล้วถูกส่งตรงไปยังทำเนียบขาวเพื่อให้เป็นของขวัญแด่นางลูซี่ เวบบ์ เฮยส์ (Mrs. Lucy Webb Hayes) ภริยาของประธานาธิบดี รูเทอร์ฟอร์ด บี. เฮยส์ (Rutherford B. Hayes)
เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางอันจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของมันแล้ว วิเชียรมาศตัวนี้ก็ได้รับการตั้งชื่อตามประเทศที่มันมาว่า ‘ไซแอ้ม’ (Siam) มันเป็นแมวตัวโปรดของสุภาพสตรีหมายเลข 1 และประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวกันว่าประธานาธิบดีรูเทอร์ฟอร์ด บี. เฮยส์ และภริยานั้น มีความชื่นชอบและประทับใจในวรรณกรรมแนวผจญภัยเรื่อง ‘โรบินสัน ครูโซ’ (Robinson Crusoe) ผลงานอมตะของแดเนียล เดโฟ (Daniel Defoe) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงมีการจัดตกแต่งทำเนียบขาวให้เต็มไปด้วยแมกไม้และสิงสาราสัตว์
ครอบครัวปธน.เฮยส์ เลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด แต่ที่เป็นตัวเอกได้รับความรักความเอ็นดูจากครอบครัวนี้มากที่สุดก็คือเจ้า ‘ไซแอ้ม’ นี่แหละ เมื่อ ‘ไซแอ้ม’ เสด็จกลับดาวแมว สุภาพสตรีหมายเลข 1 กับบุตรสาวคือ แฟนนี่ เฮยส์ (Fanny Hayes) ต่างก็ร้องห่มร้องไห้เสียใจต่อการจากไปของมัน
มิใช่แต่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ชอบเลียนแบบการใช้ชีวิตหรูหราสไตล์ผู้ดีชั้นสูง ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็เป็นเช่นกัน เมื่อผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นปธน. มีความนิยมชมชอบต่อ ‘ไซมีสแคท’ ก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่รัชกาลที่ 6 ทรงนิยามเรียกว่า ‘ลัทธิเอาอย่าง’ ขึ้น โดยเฉพาะชาวพรรครีพับริกันสมัยนั้น ซึ่งเป็นพรรคสังกัดของปธน.เฮยส์
กล่าวกันว่าที่ทำการพรรคเต็มไปด้วยแมว การที่วิเชียรมาศเป็นแมวมีสีขนหลักขาวหม่น เท้า หู หน้า เป็นสีดำ ยังเป็นสิ่งที่เข้ากันได้กับสังคมอเมริกัน ที่มีประเด็นเรื่องการแบ่งแยกสีผิว (Racism)
‘พ่อ’ (Pho/father) กับ ‘แม่’ (Mia/mother) วิเชียรมาศที่ชนะการประกวดแมวนานาชาติที่คริสตันพาเลซ กรุงลอนดอน
การประกวดแมวนานาชาติ ณ คริสตัลพาเลซ (Crystal Palace) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428) ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์แมววิเชียรมาศในต่างแดน เพราะเป็นการประกวดที่แมววิเชียรมาศได้รับรางวัลชนะเลิศ
โดยแมวสยาม (วิเชียรมาศ) ที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ เจ้าของคือ มิสซิส. แอล. เวลีย์ (Mrs. L. Veley) น้องสาวของโอเวน กูลด์ (Oven Gould) ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทวินด์เซอร์คล๊าก
กูลด์เคยมาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้นำแมวสยามคู่หนึ่งกลับอังกฤษไปเมื่อ ค.ศ.1884/พ.ศ.2427 (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยเมื่อถึงกรุงลอนดอนแล้ว กูลด์ได้มอบแมวคู่นี้ให้เป็นของขวัญแก่น้องสาวของเขาซึ่งเป็นคนรักแมว โดยเขาได้ตั้งชื่อแมวคู่นี้ในภาษาไทย ตัวผู้ชื่อว่า ‘พ่อ’ (Pho/father) ตัวเมียชื่อว่า ‘แม่’ (Mia/mother)
หลังจากนั้นอยู่กับเวลีย์ ได้ 1 ปีผ่านไป เมื่อมีการประกวดแมวนานาชาติขึ้นที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน เวลีย์ก็ได้นำ ‘พ่อ’ กับ ‘แม่’ เข้าร่วมประกวด ปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศเป็นที่ 1 นับแต่นั้นมา ชาวอังกฤษก็นิยมเลี้ยงแมวสยามกันมากขึ้น ถึงกับตั้งสโมสรคนรักแมวสยามขึ้นเมื่อ ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) โดยใช้ชื่อสโมสรว่า ‘The Siamese Cat Club’
อีก 27 ปีต่อมาคือ ในค.ศ.1927/พ.ศ.2471 (สมัยรัชกาลที่ 7) มีการก่อตั้งสมาคมแมวสยามแห่งจักรวรรดิอังกฤษ (The Siamese Cat Society of the British Empire) ขึ้นอีกสมาคมหนึ่ง ทำให้แมวสยามหรือ ‘ไซมีสแคท’ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะอังกฤษสมัยนั้นยังเป็นมหาอำนาจอันดับต้นที่มีดินแดนในอาณานิคมมากที่สุด
และการที่วิเชียรมาศ ถูกเข้าใจว่าเป็น ‘แมวหลวง’ หรือสัตว์เลี้ยงในพระราชวังของประเทศเพื่อนบ้านในอาณานิคม ส่งผลอย่างสำคัญที่ทำให้ผู้ดีอังกฤษต้อนรับมันเข้าสู่พระราชวังของตนเช่นกัน
วิเชียรมาศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.7
ทราบกันดีว่าชนชั้นสูงของสยามมักโปรดหมามากกว่าแมว เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เป็นพิธีแบบตะวันตก พระองค์ได้เลิกการ ‘อุ้มวิฬาร์’ ในพระราชพิธีไปด้วย แต่แมวก็ไม่ได้สูญหายไปจากพระบรมมหาราชวัง
การที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้สตรีฝ่ายในไปจับเอาแมวมาให้พระองค์พระราชทานแก่ชาวต่างประเทศได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก แค่เพียงในช่วงที่ชาวต่างประเทศนั้นมาเข้าเฝ้า ก็เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยถึงการที่แมวยังคงสถิตอยู่ในพระราชมณเฑียร โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีพิธี ‘อุ้มวิฬาร์’ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่อย่างใด
รัชกาลที่ 6 นั้นได้ชื่อว่าเป็นยุครุ่งเรืองของหมาในพระราชวัง มี ‘ย่าเหล’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรด รัชกาลที่ 7 เองก็ทรงโปรดหมาเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 5-6 แต่ในรัชสมัยของพระองค์กลับเป็นสมัยที่มีการฟื้น ‘อุ้มวิฬาร์’ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงโปรดให้มีการถ่ายภาพงานพระราชพิธีไว้ด้วย ทำให้สมัยรัชกาลที่ 7 มีภาพการ ‘อุ้มวิฬาร์’ ในงานเฉลิมพระราชมณเฑียร และแมวในพิธีนี้ก็แน่นอนว่าคือแมววิเชียรมาศ
เพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 จึงทรงฟื้นประเพณีอุ้มวิฬาร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก?
ประการแรก, น่าจะเกี่ยวกับการที่ทรงมีภูมิหลังเป็นนักเรียนอังกฤษในช่วงยุคที่แมวสยาม/วิเชียรมาศ กำลังโด่งดังเป็นที่สนอกสนใจแก่เหล่าผู้ดีอังกฤษ มีการจัดงานประกวดแมวนานาชาติที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ซึ่งแมวสยามได้รับรางวัลชนะเลิศ และมีการก่อตั้งสมาคมผู้นิยมแมวสยาม (The Siamese Cat Club) ขึ้นที่อังกฤษ
ดังนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทรงไม่ทราบว่า การอนุญาตให้มีแมวในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของพระองค์ ถ่ายภาพเผยแพร่ออกไป จะก่อให้เกิดความสนอกสนใจในหมู่ชาวต่างประเทศได้ และนั่นก็ส่งผลเป็นการทวงคืนแมวกลับประเทศสยามในทางสัญลักษณ์ไปโดยปริยาย
‘นุดไทย’ นี่ก็แปลก อยู่ด้วยกันไม่เห็นคุณค่า พอย้ายประเทศไปเด่นดังแล้ว ถึงจะแลเหลียวกัน กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่จะให้ตลกขบขัน เพราะช่วงที่พวกมันออกนอกประเทศกันมาก เป็นช่วงเดียวกับที่ชนชั้นนำโปรดหมาและเลิกอุ้มวิฬาร์ในพระราชพิธี พวกมันอาจจะรู้ก็ได้!!!
ประการที่สอง, แม้พระองค์จะโปรดสุนัขไม่โปรดแมว แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงโปรดแมว แม้จะทรงขึ้นครองราชย์ แต่ ‘หลังบ้าน’ พระองค์ต้องทรงรับฟังสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีซึ่งมีดีกรีเป็นนักเรียนอังกฤษเช่นเดียวกับพระองค์ ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวความเด่นดังของแมวสยามในต่างประเทศเป็นอย่างดี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงโปรดแมวมากเพียงใด คนจันท์ที่มีอายุมากจะทราบดีว่า เมื่อทรงเสด็จไปประทับที่ตำหนักวังสวนบ้านแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อ.เมือง จ.จันทบุรี) 3 สิ่งที่ทรงโปรดก็คือ (1) การทอเสื่อกก (2) การจัดสวนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และ (3) การเลี้ยงแมว
เช่นเดียวกับหลายแห่ง ที่มักจะเกิด ‘ลัทธิเอาอย่าง’ เมื่อเจ้านายโปรดปรานสิ่งใด ขุนนางท้องถิ่นก็โปรดตาม กล่าวคือ คนจันท์ในรุ่นนั้นก็จะนิยมเลี้ยงแมวตามเจ้านายที่มีประทับอยู่ในบ้านเมืองของพวกเขา เป็นเหตุให้จันทบุรีมีแมวพันธุ์ตกค้างอยู่เป็นอันมาก
ช่วงที่ผู้เขียนลงพื้นที่ภาคสนาม กลางคืนขับรถกลับที่พักจู่ ๆ ก็มีน้องขาวมณีตาสีเหลืองข้าง สีฟ้าข้าง วิ่งตัดหน้า ไปชมภาพจิตรกรรมที่วัดออกจากโบสถ์มาที่ร้องเรียกแง้ว ๆ ๆ ๆ หันไปอ้าวนั่นน้องเก้าแต้ม อีกตัวที่หล่อ ๆ คอยเลียขนให้อยู่ก็แมวจตุบท เฮ้ย! เจ้าตัวอ้วน ๆ โต ๆ ที่ฟัดกับหมาอยู่นั่นก็แมวโคราชชัด ๆ
‘ยายทวดแมว’ ที่เป็นข่าวว่าเป็นแมวอายุยืนที่สุดในโลก อายุ 34 ปี เทียบอายุคนเท่ากับ 160 ปี ก็พบที่ ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี เจ้าของคือนางวรรณา โกศการิกา หรือ ‘ป้าไพ’ คุณท่านทวดแมวท่านนี้ก็ ‘วิเชียรมาศ’ (อีกแล้วครับท่าน)
ที่จันทบุรี นอกจากโบราณสถานอายุนับพันปีอย่างเมืองเพนียต โบสถ์สีน้ำเงิน โบสถ์พระแม่มารี ตลาดเก่าริมน้ำ อนุสาวรีย์เจ้าตาก ทะเลสวย ๆ อย่างคุ้งวิมาน เนินนางพญา แหลมสิงห์ น้ำตกพลิ้ว เขื่อนชลธาร ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง น้ำมะปี๊ด ทุเรียน ฯลฯ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยก็คือ ‘แมว แมว แมว’ (แล้วก็แมว)
อ้างอิง:
กำพล จำปาพันธ์ และนนทพร อยู่มั่งมี. ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก: พัฒนาการความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์’ เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ จัดโดย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ร่วมกับ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ลานข้างวัดพระราม วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เวลา 18.00-20.00 น.
ดินาร์ บุญธรรม. ‘ตำราดูแมว’ รายการวิทยุของไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .thaistudies.chula.ac.th (เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2555).
ตำราดูลักษณะแมว กวนข้าวทิพย์-พิธีพิรุณศาสตร์ของวัดอนงคาราม. จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2500, พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2500.
ตำราพรหมชาติ ร.ศ. 120. กรุงเทพฯ: โครงการศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย, 2557.
ไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์พญาลิไท. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2555.
อภินิหารบรรพบุรุษ. พระนคร:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนกร, 2473.
หสช. (หอสมุดแห่งชาติ) เลขที่ 234 มัดที่ 25 ตู้ 112 ชั้น 5/5 สมุดไทยขาว อักษรไทย ภาษาไทย หมวดสัตวศาสตร์ (ตำราแมว).
หสช. (หอสมุดแห่งชาติ) เลขที่ 248 มัดที่ 25 ตู้ 112 ชั้น 5/5 สมุดไทยขาว อักษรไทย ภาษาไทย หมวดสัตวศาสตร์ (ตำราแมว).
Black, Corbin. ‘Man Credited Siamese Cat with Helping Him Decipher Maya Script’ in coleandmarmalade.com [Published: August 16, 2022].
Clutterbuck, Martin R. The Legend of Siamese Cats. Chiangmai: White Lotus Press, 1998.
Defoe, Daniel. Robinson Crusoe. Retold by Nancy Taylor, Essex: Pearson, 2000.
Eustace, May. The Royal Cat of Siam. Pelham Books, 1968.
Frankin, Sally. The Complete Siamese Cat. New York: Howell Book House, 1995.
Hayes, Rutherford B. Diary and Letters of Rutherford Birchard Hayes: 1865-1881. Ohio State Archæological and Historical Society, 1924.
Pond, Grace. The Cat-Lover's Bedside Books. Batsford, 1974.
Weir, Harrisson William. Our Cats and All about Them: Their Varieties, Habits, and Management; and for Show, the Standard of Excellence and Beauty; Described and Pictured. Tunbridge Wells [England]: R. Clements and Co., 1889.
Young, Ernest. Siam with Eight full-page illustrations in Colour. Translated by Edwin A. Norbury, London: A. and C. Black, 1927.