04 ธ.ค. 2565 | 12:07 น.
เมื่อกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองที่ชื่อ ‘Common School โดยคณะก้าวหน้า’ ได้ร่วมกับผู้จัดทำเกมไพ่การ์ด ออก(บอร์ด)เกมชื่อ ‘Patani Colonial Territory’ ซึ่งเป็นการนำเอาเรื่องประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีมานำเสนอในรูปแบบเกมที่นิยมกันในหมู่คนรุ่นใหม่
แต่ด้วยความที่ประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานีนั้น มีบางช่วงบางตอนที่จัดเป็น ‘ความทรงจำบาดแผล’ เพราะสยามได้ทำสงครามรุกรานแล้วกวาดต้อนคนปัตตานีมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2328 ในการกวาดต้อนครั้งนั้นมีเรื่องเล่าว่า สยามใช้วิธีการเจาะเอ็นส้นเท้าของเชลยแล้วร้อยหวายผูกโยงเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กระโดดหนีลงทะเลเมื่อเรือแล่นออกจากท่าปัตตานี
เมื่อเป็นเกมที่ใช้เรื่องทำนองนี้เป็นเนื้อหา ประกอบกับเป็นการดำเนินการจัดตั้งโดยกลุ่มการเมือง ก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มการเมืองดังกล่าว รู้สึกอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาตอบโต้กันยกใหญ่ว่า เป็นเรื่องไม่จริง หรือเป็นการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์บิดเบือนให้ร้ายต่อสยาม กลายเป็นว่าข้อมูลชุดเดียวกันแต่ก่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกไปคนละทาง ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องปกติสำหรับข้อมูลประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบและอภิปรายถกเถียงกันอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกนำเอาไปเป็นประเด็นทางการเมือง เรื่องก็ดูเหมือนจะไม่จบกันง่าย ๆ
ฤๅจักเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่?
อันที่จริงวิวาทะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเลย มีบทความ งานเขียน งานวิจัยทางวิชาการออกเป็นพอสมควรจนเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างแล้วว่า ควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่ฝ่ายการเมืองมักจะมาเลทเสมอในการอภิปรายเรื่องต่าง ๆ ในขณะที่วงวิชาการเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
เช่นเดียวกับหัวข้อเรื่องที่อภิปรายเกี่ยวกับการใช้อำนาจและการปกครองของสยามจากอีกแง่มุมหนึ่ง แง่มุมที่เราจะไม่ได้พบเห็นจากแบบเรียนประวัติศาสตร์ เรื่องที่ดูจะขัดแย้งกับภาพพจน์คนดีมีเมตตาธรรมของชนชั้นนำสยาม บางฝ่ายอาจจะรู้สึกรับไม่ได้ หรือไม่เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง แต่กรณีนี้ง่ายที่จะพิสูจน์โดยไม่ต้องเป็นหมอหรือมีความรู้การแพทย์ใด ๆ ก็จินตนาการออกว่า เรื่องที่จะเจาะเอ็นข้อเท้าร้อยต่อกันเป็นพวงในระหว่างการเดินทางเพื่อนำเอาตัวมาเป็นแรงงานรับใช้สร้างบ้านแปงเมืองนั้น ดูเป็นไปไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ศ.2328 นั้นก็เพียง 3 ปีหลังโค่นพระเจ้าตากและสถาปนากรุงเทพฯ ชนชั้นนำใหม่ของสยามที่เพิ่งได้อำนาจจากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2325 นั้น ต้องการกำลังคนมากพอสมควรในการกอบกู้บ้านเมือง เนื่องจากยังเป็นช่วงที่ภาคกลางของสยามตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน นับตั้งแต่การกวาดต้อนของพม่าในช่วงหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ตามมาด้วยการศึกสงครามที่มีหลายครั้งในสมัยธนบุรี
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลประวัติศาสตร์อีกเป็นอันมากที่สะท้อนว่า การกวาดต้อนผู้คนหลายพันคนในระยะเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการควบคุมดูแลให้ไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ธรรมดาของผู้คนย่อมไม่ปรารถนาจะพลัดจากถิ่นฐานบ้านช่องของตัวเองด้วยแล้ว ย่อมจะเกิดการต่อต้านขัดขืนเป็นธรรมดา
กรณีการกวาดต้อนชาวปัตตานีมากรุงเทพฯ เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯ ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่สยามเคยกระทำ และทีมชนชั้นนำที่ดำเนินการกวาดต้อนในครั้งนี้ก็มีประสบการณ์เคยกวาดต้อนคนจากที่อื่นมาก่อนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกวาดต้อนครัวชาวล้านนา ครัวลาวล้านช้าง ครัวชาวเขมร มายังภาคกลางของสยาม
การบังคับเทครัวย้ายถิ่นคงไม่สามารถทำได้โดยการพูดจาหว่านล้อมให้ยอมเดินทางไปด้วยแต่โดยดี เมื่อใช้ ‘ไม้อ่อน’ ไม่ได้ ก็ต้องใช้ ‘ไม้แข็ง’ อย่างการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญเป็นธรรมดาสำหรับยุคที่ยังไม่มีกฎบัตรสหประชาชาติและแนวคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ห้ามการกระทำทารุณกรรมต่อประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม
จากเหตุผลที่ว่าสยามต้องการให้ชาวปัตตานีมาเป็นกำลังแรงงานให้แก่ตน แนวโน้มของเรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ ในปัจจุบันจึงเอนเอียงไปทางที่จะสรุปกันว่า เป็นเรื่องไม่จริง แต่เราจะสามารถสรุปได้ง่าย ๆ แค่นั้นได้หรือ?
ในเมื่อต่อให้ไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง อาจจะเหมือนเรื่องอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมายก่ายกองที่เป็นเรื่องเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้มีการบันทึกเล่าเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ทำไมจึงปฏิเสธความเป็นไปได้นี้ ที่สำคัญเรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ นี้ เป็นมุมมองและเสียงเล่าของลูกหลานที่สืบสายมาจากผู้ถูกกระทำในอดีต
บทความนี้จะชวนตั้งข้อสังเกตเล็ก ๆ ก่อนที่จะสรุปกันไปไกลจนถึงกับว่า สยามอาจไม่เคยกระทำทารุณกรรมใด ๆ กับเชลยชาวปัตตานีแต่อย่างใดเลย คำถามสำคัญสำหรับในที่นี้ก็คือ กองทัพสยามเวลานั้นกวาดต้อนชาวปัตตานีได้โดยละมุนม่อม ไม่เคยเจาะเอ็นร้อยหวายหรือทำร้ายร่างกายเชลยอย่างใดเลยอย่างนั้นจริงหรือ? เป็นคำถามซ้อนคำถามอีกต่อหนึ่งว่า ‘เอ็นร้อยหวาย’ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง (จริงหรือ?)
‘เอ็นร้อยหวาย’ ในสมรภูมิประวัติศาสตร์ความทรงจำ
เดิมก่อนหน้านี้ ‘เอ็นร้อยหวาย’ เป็นประเด็นที่พูดถึงควบคู่กับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนการถูกกระทำอย่างทารุณโหดร้ายภายใต้การยึดครองของสยาม และปลุกให้คนลุกขึ้นต่อสู้กับสยามไปในตัว เป็นการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อต่อต้านรัฐและชนชั้นนำสยาม
เรื่องนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายต่อต้านรัฐจะเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ดีกว่าหน่วยงานราชการในปัจจุบัน ในแง่ที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ไม่ได้เป็นได้แค่เครื่องมือกล่อมคนให้รักชาติ หรือเป็นพลเมืองที่เชื่องเชื่อฟังชนชั้นนำแต่โดยดีเท่านั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลประยุทธ์ไม่เข้าใจอย่างเห็นได้ชัด จึงได้แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระสังคมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชังชาติ
ประเด็นเรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ ที่เคยสร้างความหนักอกหนักใจให้กับฝ่ายความมั่นคงของไทยที่เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้รับการคลี่คลายและตอบโต้โดยงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ที่มี ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ ผลงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในชื่อเล่มว่า ‘ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย: ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปาตานี’ โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2561
ภายในเล่มประกอบด้วยบทความวิจัยจำนวน 4 ชิ้น จากผู้วิจัย 4 ท่านด้วยกัน คือ (1) เรื่อง ‘ชาวตานี ราษฎรยุคสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์’ โดย ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ (2) เรื่อง ‘เรื่องราวกล่าวขานว่าด้วยเอ็นร้อยหวาย’ โดย บัณฑิตย์ สะมะอุน (3) เรื่อง ‘วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเอ็นร้อยหวาย’ โดย สมาน อู่งามสิน (4) เรื่อง ‘กายวิภาคของเอ็นร้อยหวาย’ โดย นายแพทย์จีรันดร์ อภินันท์ บรรณาธิการอีก 4 ท่าน คือ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์, ดร.ดลยา เทียนทอง, นายณัฐพจน์ ยืนยง, นางสาวจิตติมา คิ้มสุขศรี ทั้ง 4 ชิ้นข้างต้นเป็นบทความวิจัยขนาดสั้น รวมทั้งเล่มมีจำนวนหน้าเพียง 78 หน้า
งานวิจัยนี้เป็นโครงการใหญ่ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นจำนวนเงินกว่า 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) ระยะเวลาการดำเนินงานวิจัย 12 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2559 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2560 วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้ ก็ดังที่ ศ.ดร.สุเนตร ได้กล่าวเอาไว้เมื่อคราวจัดสัมมนาเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ดังความต่อไปนี้:
“ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2328) เกิดสงครามระหว่างสยามกับปาตานี ผลของสงครามครั้งนี้สยามเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้มีการกวาดต้อนประชาชนและกลุ่มบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ของปาตานีที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 4,000 คน เพื่อเป็นเชลยศึก โดยให้ขึ้นไปอยู่ที่กรุงเทพฯ และให้ไปตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณฝั่งธนบุรี (สี่แยกบ้านแขกในปัจจุบัน) หนองจอก มีนบุรี ปทุมธานี และปากลัดพระประแดง เป็นต้น
ผลของประวัติศาสตร์ข้างต้นส่งผลให้เกิดประเด็นสำคัญที่ตามมา คือ มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่เขียนระบุว่าการกวาดต้อนกลุ่มประชาชนและบุคคลฝ่ายต่างๆ ของปาตานีที่เป็นเชลยศึกให้ขึ้นไปที่กรุงเทพฯ ตามกล่าวนั้น ได้ใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าแล้วผูกพ่วงต่อกันหลายๆ คน เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นกระโดดจากเรือลงทะเลหลบหนี
สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำและเผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งมีการบิดเบือนและนำไปขยายผลในทางที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดทัศนคติในเชิงลบ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นความอ่อนไหวซึ่งนับวันจะสั่นคลอนความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม ในสังกัดของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตั้งรกรากถิ่นฐานของชนชาวปาตานีในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการกวาดต้อนเป็นเชลยศึกด้วยการใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าเพื่อป้องกันการหลบหนี และได้ดำเนินการโครงการวิจัยเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ สยาม-ปาตานี : ศึกษากรณี เอ็นร้อยหวาย’ ขึ้น
ทั้งนี้เพื่อศึกษาต้นตอและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การขึ้นไปตั้งรกรากถิ่นฐานของชนชาวปาตานีในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับการกวาดต้อนเป็นเชลยศึกด้วยการใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าเพื่อป้องกันการหลบหนี โดยใช้บริบททางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมทั้งบริบททางการแพทย์เพื่อทำความจริงให้เป็นที่ปรากฏ สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน โดยดำเนินการวิเคราะห์อธิบายและตีความอย่างเป็นหลักวิชาบนพื้นฐานของสหสาขาโดยคณะวิจัยซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายแขนง ได้แก่ นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทาง นักยุทธศาสตร์ และนักวิชาการท้องถิ่น”
เมื่อหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงอย่างศอ.บต. ลงทุนอัดฉีดงบประมาณกว่า ‘หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน’ (มิตรสหายในแวดวงวิจัยอย่าเพิ่งตกอกตกใจกับตัวเลข หรือน้ำลายไหลนะครับ) เพื่อจ้างนักวิชาการให้ผลิตผลงานออกมา ‘จัดหนัก’ คัดค้านขบวนการต่อต้านรัฐที่ภาคใต้กันขนาดนี้ จะเป็นการวิจัยที่สูญเปล่าได้อย่างไร ไม่แปลกใจเลยที่เมื่อมีการกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองรื้อฟื้นเอาเรื่องนี้ไปประดิษฐ์ใหม่ในรูปเกม งานวิจัยนี้จะถูกใช้เป็น ‘อาวุธ’ หนึ่งในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามหาว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ ใช้เรื่องโป้ปดมดเท็จมาขับเคลื่อนการเมือง
‘เอ็นร้อยหวาย’ บทสุดท้ายของประวัติศาสตร์นิพนธ์สยาม-ปัตตานี & บทแรกเริ่มในความทรงจำบาดแผล
การที่ศอ.บต. ได้ลงทุนให้แก่การผลิตงานวิชาการออกมาตอบโต้กรณี ‘เอ็นร้อยหวาย’ ก็เป็นสิ่งสะท้อนอยู่ในตัวว่า ‘เอ็นร้อยหวาย’ เป็นวาทกรรมแกนกลางของความขัดแย้งมากเพียงใด ในแง่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ‘เอ็นร้อยหวาย’ เป็นบทสุดท้ายในงานเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี แต่ก็เป็นบทแรกเริ่มในความทรงจำบาดแผล
ในแง่หลังนี้ เอ็นร้อยหวายยังคงมีพลังในการสร้างภาวะอารมณ์ความรู้สึกไม่เป็นมิตรและชิงชังต่อกันระหว่างรัฐไทยกับลูกหลานผู้ถูกกระทำในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากที่เรื่องทำนองนี้จะกลายเป็นเครื่องบ่อนเซาะอำนาจความชอบธรรมและกระทบความมั่นคงของรัฐไทยภายใต้เผด็จการทหาร
ภายใต้โครงการวิจัย ‘ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย: ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปาตานี’ ดังกล่าวนี้ งานชิ้นหลักสำคัญนั้น เป็นงานของบัณฑิตย์ สะมะอุน และ สมาน อู่งามสิน นักวิชาการนอกมหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญภาคใต้
บทความวิจัยเรื่อง ‘เรื่องราวกล่าวขานว่าด้วยเอ็นร้อยหวาย’ ของบัณฑิตย์ สะมะอุน เป็นการศึกษาโดยใช้วิธีการประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral history) สัมภาษณ์ผู้สูงวัยในเขตพื้นที่หนองจอก มีนบุรี บางชัน และมัสยิดต้นสนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แขกตานี สืบเชื้อสายมาจากชาวปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมากรุงเทพฯ ในอดีต
บัณฑิตย์ ได้ข้อสรุปว่า ‘เอ็นร้อยหวาย’ เป็นเรื่องเล่าว่าด้วยความทุกข์ยากที่ชาวปัตตานีได้รับหลังจากบ้านเมืองเดิมล่มสลาย ถูกยึดครองโดยสยาม เรื่องการถูกเจาะเอ็นร้อยหวายในระหว่างถูกกวาดต้อนมาสยามนี้ แม้ไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรหรือวัตถุพยานใด ๆ แต่ชาวตานีเชื่อกันมากว่าเป็นเรื่องจริง
บัณฑิตย์ยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า แม้ผู้ให้ข้อมูล (key informant) จะอยู่ถิ่นที่และห่างไกลกันมาก แต่ทุกคนกลับเล่าเรื่องได้คล้ายคลึงและมีใจความหลักที่สอดคล้องตรงกัน เรื่องเอ็นร้อยหวายจึงอาจมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน
บทความวิจัยช้นต่อมาเรื่อง ‘วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเอ็นร้อยหวาย’ โดย สมาน อู่งามสิน ได้รวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับกรณี ‘เอ็นร้อยหวาย’ เอาไว้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นจำนวนกว่า 10 ชิ้นด้วยกัน
งานเหล่านี้คืองานเขียนภายหลังเหตุการณ์ล่วงเลยมามากแล้ว ถ้าจัดแบ่งตามเกณฑ์การจัดประเภทหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถือเป็น ‘หลักฐานชั้นรอง’ แต่หากศึกษาโดยยึดเกณฑ์ปีที่ตีพิมพ์ แล้วเริ่มวิเคราะห์อภิปรายในแง่ว่างานเหล่านี้นำเสนอหรือมีมุมมองต่ออดีตอย่างไร หรือการศึกษาว่างานเหล่านี้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ (Making history) ขึ้นมาอย่างไร จะต้องถือว่างานเหล่านี้คือ ‘หลักฐานชั้นต้น’ ประเด็นของการเป็นชั้นต้น-ชั้นรอง อยู่ที่หัวข้อและคำถามที่ใช้ในการศึกษา ไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักฐานโดยตัวมันเองแต่อย่างใด
ถ้าจัดเรียงงานเขียนเหล่านี้ใหม่ตามลำดับปีที่พิมพ์ครั้งแรก ก็จะได้ดังรายการต่อไปนี้:
จะเห็นได้ว่า ในแง่เอกสารลายลักษณ์อักษรเรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ เพิ่งจะเริ่มมีปรากฏก็เมื่อไม่นานมานี้ คือ พ.ศ.2540 มานี้เอง ในปีนั้นมีงานสำคัญอยู่ 2 ชิ้นด้วยกัน (ตามลำดับที่ 1 และ 2) คือ บทความ ‘จากกรือเซะสู่บางกอก’ โดย อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง และ หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ขุนนางมุสลิมสยาม’ โดย อาลี เสือสมิง
ชิ้นแรก (เขียนโดย อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง), กล่าวถึงกรณีเอ็นร้อยหวายเอาไว้ว่า:
“หลังจากสยามตีเมืองปัตตานีแตกแล้ว ชาวปัตตานี ‘ถูกกวาดต้อนไปเมืองหลวงบางกอกที่ไกลแสนไกลเป็นจำนวนมาก นักรบผู้กล้าหาญเหล่านั้นหลายคนต้องตายไปในระหว่างทาง เพราะทนพิษความยากลำบาก ความหิวโหยและไข้ป่าไม่ได้ หลายคนได้รับความทรมานจากเครื่องจองจำ บ้างถูกผูกคอร้อยเชือกเหมือนวัวเหมือนควาย บ้างถูกเจาะเอ็นร้อยหวายเพื่อไม่ให้หลบหนี บ้างถูกร้อยหูเป็นรูโหว่ สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวเหลือคณา บ้างโชคดีได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง บ้างสามารถหลบหนีเป็นอิสระ และเดินทางลัดเลาะชายป่าเป็นแรมเดือนจนถึงบ้านเกิดอย่างปลอดภัย’ ”
ชิ้นที่สอง (เขียนโดย อาลี เสือสมิง), กล่าวถึงกรณีเอ็นร้อยหวายเอาไว้ว่า:
“ ‘พระยากลาโหมได้นำเชลยชาวปาตานี 4,000 คนลงเรือไปยังกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทาง บางคนก็กระโดดทะเลหนี ทหารสยามได้ใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้นพ่วงต่อกันหลายๆ คน เชลยที่เป็นหญิงถูกร้อยใบหูผูกห่วงไว้เช่นเดียวกัน และให้นั่งอยู่ในเรือเดินทางไปจนถึงบางกอก บางคนเจ็บป่วยล้มตายในเรือระหว่างเดินทาง ที่ไม่ตายก็เกิดแผลเป็นฝีหนองเจ็บป่วยทุกขเวทนาอย่างยิ่ง’ ”
จะเห็นได้ว่า ทั้งสองชิ้นข้างต้นเล่าเรื่องเอ็นร้อยหวายต่างกันอย่างสำคัญตรงที่ชิ้นแรกกล่าวถึงการเจาะเอ็นร้อยหวายเฉพาะบางคน (ที่อาจมีพฤติการณ์ส่อว่าจะหลบหนี) ขณะที่ชิ้นที่สองกล่าวว่าเป็นการกระทำต่อเชลยทุกคน กรณีที่เป็นผู้ชายร้อยเอ็น กรณีที่เป็นหญิงร้อยใบหู กรณีอย่างชิ้นที่สองนี้ไม่ต้องให้หมอที่ไหนมาวินิจฉัย คนธรรมดาทั่วไปก็คิดเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะคนจะเจ็บป่วยทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนเสียชีวิตในระหว่างทางกันไปหมด
ข้อน่าสังเกตต่อมาก็คือว่า มุมมองแบบชิ้นแรกได้สูญหายไป ในขณะที่มุมมองแบบชิ้นที่สองได้รับการเชื่อถือและผลิตซ้ำในงานชิ้นหลังถัดมามาก ที่เป็นดังนี้ก็เพราะงานชิ้นสำคัญอีก 2 ชิ้นที่เปรียบเหมือนคัมภีร์เล่มโตสำหรับประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานี อย่างเล่มเรื่อง ‘ปาตานี ดารุสสลาม (Patai Darussalam)’ เขียนโดย อารีฟีน บันจี, อับดุลเลา ลออแมน และอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2548 และเล่มเรื่อง ‘ปาตานี...ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู’ โดย อารีฟีน บินจิ, อับดุลลอฮุ ลออแมน, ซูฮัยมีย์ ฮิสมาแอล ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นที่อ้างอิงกันมากนั้น ต่างก็นำเสนอมุมมองแบบเดียวกับที่ปรากฏในงานอาลี เสือสมิง เมื่อ พ.ศ.2540
โดยเฉพาะเล่มหลังนี้ (‘ปาตานี...ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู’) ถือเป็นงานประวัติศาสตร์ของฝ่ายต่อต้านรัฐไทยในภาคใต้เล่มโต บรรจุเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานีค่อนข้างละเอียดกว่างานก่อนหน้าที่เคยมีมาอย่างเล่ม ‘ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี’ เขียนโดย อิบรอฮีม ชุกรี ซึ่งก็ถือเป็นงานบุกเบิกและคัมภีร์ทางประวัติศาสตร์ของขบวนการต่อต้านรัฐไทยในภาคใต้ ละเอียดกว่าแม้แต่กับงานวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเล่ม ‘ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต’ เขียนโดย ครองชัย หัตถา ซึ่งถือเป็นงานเขียนอย่างเป็นวิชาการโดยนักวิชาการสังกัดมอ.ปัตตานี
ในเล่ม ‘ปาตานี...ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู’ ได้บรรยายฉากการกวาดต้อนครัวชาวปัตตานีมายังกรุงเทพฯ โดยทางเรือเดินทะเล โดยมีการเจาะเอ็นร้อยหวายเอาไว้คล้ายกับงานอาลี เสือสมิง เอาไว้ดังนี้:
“พระยากลาโหมได้นำเชลยมลายูปาตานี 4,000 คน ลงเรือไปยังกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทางบางคนกระโดดจากเรือลงทะเลหลบหนี จะมีรอดตายอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ตายในทะเล ดังนั้นเพื่อไม่ให้ชาวปาตานีกระโดดเรือหนีลงทะเลทหารสยามจึงใช้วิธีตัดหวายมาร้อยที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้น ผูกพ่วงต่อกันหลายๆ คน เชลยที่เป็นหญิง ก็เอาหวายเจาะใบหูผูกพ่วงไว้เช่นเดียวกัน และให้นั่งอยู่ในเรือเดินทางไปจนถึงบางกอก บางคนเจ็บป่วยล้มตายระหว่างการเดินทาง ก็ถูกโยนศพลงทิ้งทะเล ที่ไม่ตายก็เกิดแผลพุพองเจ็บป่วย ทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง”
น่าสังเกตว่า ข้อมูลในเล่ม ‘ปาตานี...ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู’ ดังกล่าวข้างต้นนี้ ‘เอ็นร้อยหวาย’ เป็นการปฏิบัติต่อเชลยที่เป็นชาย ในขณะที่กับเชลยที่เป็นผู้หญิง ใช้วิธีเจาะใบหู แต่เหตุใดความทรงจำทางประวัติศาสตร์จึงมักเน้นแต่เรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ (ที่ผู้ชายโดน) ไม่ค่อยมีพูดถึง ‘ใบหูร้อยหวาย’ (ที่ผู้หญิงถูกกระทำ) หรือในมุมมองของผู้เล่าการกระทำต่อผู้ชายถือเป็นทารุณกรรมยิ่งกว่าทำกับสตรีก็ไม่ทราบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สมาน อู่งามสิน จะพบว่าในแง่ลายลักษณ์อักษร เล่มแรก ๆ ที่กล่าวถึงกรณีเอ็นร้อยหวาย จะเพิ่งมีปรากฏเมื่อ พ.ศ.2540 แต่ก็ไม่ได้สรุปว่างานสองชิ้นที่ตีพิมพ์ในปีดังกล่าวนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ อันที่จริงแล้ว งานสองชิ้นนี้เพียงแต่หยิบเอาตำนานที่เล่ากันในหมู่ชาวมลายูรุ่นหลังมาใช้เป็นแนวคิดในการบรรยายฉากเหตุการณ์เท่านั้น เรื่องนี้เริ่มเล่ากันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบ
แม้จะเป็นบทความวิจัยตีพิมพ์อยู่ภายใต้โครงการวิจัยที่ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจากศอ.บต. แต่ทว่าสมาน อู่งามสิน กลับได้ข้อสรุปต่างออกไปจากธีมหลักของเล่ม กล่าวคือถึงจะไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษร และงานเขียนประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานีก็เพิ่งจะนำเสนอฉากสุดท้ายหลังเสียบ้านเมืองแก่สยาม โดยมีกรณีเอ็นร้อยหวายเป็นบทสรุปก็จริง แต่สมานกลับเห็นว่า เรื่องเอ็นร้อยหวายไม่ใช่จะไม่มีความเป็นไปได้
เขามองในมุมเดียวกับงานอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ซึ่งเป็นงานบุกเบิกชิ้นแรกเริ่ม (original) ที่เคยเสนอว่า การเจาะเอ็นร้อยหวายเป็นวิธีที่กองทัพสยามใช้กับเฉพาะเชลยบางคนเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับเชลยทุกคน แต่ทั้งนี้การเจาะเอ็นร้อยหวายกับบางคนย่อมก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่เชลยคนอื่น ๆ ดังที่สมานสรุปเอาไว้แห่งหนึ่งดังนี้:
“การเจาะเอ็นร้อยหวายสามารถทำได้ในขอบเขตจำกัดเท่านั้นกับเชลยศึกที่เป็นคนระดับนำ ซึ่งอาจก่อการลุกขึ้นสู้และก่อความวุ่นวาย จึงพิจารณาได้ว่าเป็นแค่เพียงการลงโทษ (punishment) เป็นตัวอย่างเพื่อมิให้เชลยศึกอื่นๆ เอาเยี่ยงเอาอย่าง เพราะถ้าเจาะเอ็นร้อยหวายกับเชลยศึกทุกคน คงจะบาดเจ็บล้มตายกันหมด จากการที่ไม่สามารถทนพิษบาดแผลได้ไหว และท้ายสุดสยามก็จะไม่ได้แรงงานกลับมาเลย”
การลุกขึ้นต่อสู้ขัดขืนของไพร่ราษฎรที่ถูกกวาดต้อนไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายผู้ถูกกวาดต้อนมีจำนวนคนมากกว่าคนคุมอยู่แล้ว และในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ กรณีการกวาดต้อนครัวชาวโคราชโดยกองทัพลาวภายใต้เจ้าอะนุวง ก็เคยมีบันทึกเล่าไว้ใน ‘เอกสารพื้นเวียง’ ว่าเป็นการกวาดต้อนที่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากเชลยได้ต่อสู้ขัดขืนจนหนีกลับบ้านเมืองของตนไป
‘ด้อยอิงเดี้ยง’ : ‘เอ็นร้อยหวาย’ กรณีอยุธยา-อังวะ & หลักอิงที่เพพัง-การอ้างอิงที่ล้มเหลว
ข้อน่าสังเกตอีกข้อก็คือว่า นอกจากกรณีการกวาดต้อนครัวชาวมลายูปัตตานีแล้ว การกวาดต้อนเชลยชาวอยุธยาไปอังวะหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ก็มีเรื่องเล่า (ที่ไม่พบหลักฐานจากยุคสมัยที่เกิดเหตุการณ์) อีกเช่นกันว่า มีการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยเพื่อป้องกันการหลบหนี เป็นเหตุผลทำนองเดียวกับเอ็นร้อยหวายในกรณีสยาม-ปัตตานี
เมื่อมองว่ารัฐในอดีตที่ทำสงครามกันนั้นก็เพื่อแย่งชิงทรัพยากรของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นของตน และทรัพยากรที่สำคัญอันดับต้นเลยก็คือ ‘กำลังคน’ ดังนั้น ในการเคลื่อนย้ายถ่ายเททรัพยากรที่มีจารีตเรียกว่า ‘กวาดต้อน’ นี้ดูเป็นเรื่องไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเป็นการทำให้ร่างกายของเชลยที่จะเป็นแรงงานให้กับตนนั้นต้องได้รับบาดเจ็บหรือพิการทุพพลภาพไป เท่ากับที่ลงทุนลงแรงทำสงครามเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมานั้นต้องสูญเปล่าไปด้วย
จากการตรวจสอบข้อมูลเอ็นร้อยหวายกรณีอยุธยา-อังวะ หลังสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 พบว่าต้นทางมีตัวบทที่บรรยายฉากเหตุการณ์การกวาดต้อนคนจากอยุธยาไปยังอังวะ เอาไว้ดังรายละเอียดต่อไปนี้:
“หลังจากตีกรุงได้แล้วร่วม 2 เดือน (พ.ศ.2310) พม่าได้เชลยสยามจำนวน 30,000 คนเศษ พม่าแยกเชลยออกเป็น 2 พวก พวกที่ 1 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับพระบรมวงศานุวงศ์และชาวเมือง เนเมียวสีหบดีให้กองทัพคุมตัวไปทางเหนือ พวกที่ 2 ราษฎรที่เหลือและพวกมิชชันนารีให้ปกันหวุ่นแม่ทัพทางใต้คุมไปทั้งทางบกและทางเรือ ล่องใต้ไปทางเมืองทวาย แล้วไปบรรจบกับพวกแรกที่ทางเหนือของกรุงอังวะ ส่วนเรื่องเชลยนั้นพม่าจับเชลยคนไทยได้มากเกินกว่าจะมีเครื่องพันธนาการเพียงพอ จึงเจาะบริเวณเอ็นเหนือส้นเท้าแล้วร้อยด้วยหวายติดกันเป็นพวง เพื่อกวาดต้อนเชลยไทยให้เดินทางไปยังกรุงอังวะ ประเทศพม่า ตั้งแต่นั้นมาคนไทยเรียกบริเวณเอ็นเหนือส้นเท้าว่า ‘เอ็นร้อยหวาย’ ’’
ตัวบทข้างต้นเกือบจะดูน่าเชื่อถือ แต่ทว่า ตัวบทนี้ต้นทางจริง ๆ อยู่ที่สารานุกรมเสรี (Wikipedia) ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียน แต่จงใจเขียนให้ดูน่าเชื่อว่ามีการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยอยุธยา ลำพัง Wikipedia ก็ไม่เป็นไร แต่ที่เกิดเป็นประเด็นชวนเคลิ้มให้เชื่อกันขึ้นมาก็เพราะว่า ดันเป็นที่อ้างอิงโดยวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยในภาคใต้อย่างวารสาร ‘รุไบยาต’ Wikipedia อาจเป็นแหล่งข้อมูลความรู้แขนงอื่น ๆ ความรู้ทั่วไปที่ตอบสนองความอยากรู้จิปาถะของคนในยุคมีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ แต่ไม่ valid สำหรับความรู้แบบวิชาการมาแต่ไหนแต่ไร กระนั้น Wikipedia ก็เป็นช่องทางที่ง่ายในการบันทึกข้อมูลที่ผู้คนในยุคหลังมานี้จะเข้าถึงได้ง่าย
‘เอ็นร้อยหวาย’ ในจักรวาลวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์
การไม่พบหรือไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับ ‘เอ็นร้อยหวาย’ ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการกวาดต้อนครัวปัตตานี ไม่ใช่ประเด็นที่จะสรุปได้แน่ชัดว่า ไม่มีเอ็นร้อยหวายในยุคร่วมสมัยกับช่วงที่มีการกวาดต้อนครัวปัตตานี แน่นอนว่ายิ่งเป็นไปไม่ได้ที่สยามจะกวาดต้อนมาด้วยความเมตตากรุณาปรานีไม่มีทำร้ายเฆี่ยนตีทารุณใด ๆ
หลักฐานที่เล่มโครงการวิจัย ‘ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย: ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปาตานี’ ละเลยไป ไม่ได้กล่าวถึงยังมีอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งให้ข้อมูลต่างจากที่โครงการวิจัยดังกล่าวนำเสนอ
เมื่อถามอย่างกว้าง ๆ ว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการเจาะเอ็นร้อยหวายในกรณีอื่นหรือไม่ (นอกจากกรณีการกวาดต้อนคนอยุธยาโดยพม่าอังวะเมื่อพ.ศ.2310 ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรในชั้นต้นเช่นกัน) ผู้ที่ยืนยันกับเราในเรื่องนี้ได้และเป็นผู้บันทึกหลักฐานชิ้นนี้ไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ ‘สุนทรภู่’ มหากวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ในวรรณกรรมเรื่อง ‘รำพันพิลาป’ ที่สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงไล่เลี่ยกับที่สยามทำสงครามกับไทรบุรี ก็ได้บรรยายเล่าถึงความน่ากลัวของโจรสลัดเมื่อปล้นเรือสินค้าได้แล้ว ไม่ฆ่าพ่อค้าและลูกเรือ แต่จะ ‘เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไป’ เพื่อป้องกันไม่ให้กระโดดลงทะเลว่ายน้ำหนีไป ดังเช่นที่กล่าวดังนี้:
สาคเรศเขตแคว้นทุกแดนดาว ดูเรือชาวเมืองใช้ใบไปมา
เรือสลัดตัดระกำร้อยลำหวาย ทำเรือค่ายรายแล่นล้วนแน่นหนา
น้าวกระเชียงเสียงเฮสุเรสุรา ใส่เสื้อผ้าโพกนั้นลงยันต์ราย
เหมือนเรือเปล่าเสากระโดงลดลงซ่อน ปลอมเรือจรจับบรรดาลูกค้าขาย
ตัวคนได้ไม่ล้างให้วางวาย เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไป
สุนทรภู่ไปได้ยินกิติศัพท์เรื่องราวความโหดร้ายของโจรสลัดมาจากไหน ใช่นำเอาเรื่องการกวาดต้อนชาวปัตตานีมาใส่ไว้ในผลงานประพันธ์ของตนหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ แต่อย่างไรเสีย ‘รำพันพิลาป’ เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า คนรุ่นต้นรัตนโกสินทร์มีความคิดในการที่ปฏิบัติต่อเชลยที่จับกุมตัวมาได้ด้วยวิธีเจาะเอ็นร้อยหวายอยู่เหมือนกัน
‘รำพันพิลาป’ นี้แม้เป็นเรื่องแต่ง แต่ผู้ศึกษาวรรณกรรมจะทราบดีว่า เป็นเรื่องที่สุนทรภู่แต่งโดยอ้างอิงสถานที่จริงอยู่หลายแห่ง เช่นมีกล่าวถึงเมืองต่าง ๆ อาทิ พริบพรี (เพชรบุรี), ราชพลี (ราชบุรี), กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, นพบุรี (ลพบุรี), พิศิโลก (พิษณุโลก), เขาม้าวิ่ง (ในเขตพระพุทธบาท สระบุรี), บางกอก (กรุงเทพฯ), เกาะนมสาว (ในประจวบคีรีขันธ์), มาลากา (มะละกา), เกาะชวา (ในอินโดนีเซีย), เมืองสุหรัด (สุรัตในอินเดียใต้) เป็นต้น
นอกจากนี้ ‘รำพันพิลาป’ ยังมีการทำ collapse ผนวกจักรวาล (คล้ายอเวนเจอร์ส ของค่ายหนังมาร์เวล) เข้ากับเรื่องอื่น ๆ อาทิ พระอภัยมณี, สิงหไตรภพ, หลวิชัยคาวี, อิเหนา เป็นต้น และที่สำคัญ สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ.2385 ขณะยังเป็น ‘พระภู่’ จำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ มูลเหตุที่แต่งก็เนื่องจากฝันว่าตนเองเสียชีวิตแล้วได้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นวิมานพบนางฟ้านางสวรรค์มากมาย
ดูเหมือนจะเป็นฝันดีสำหรับกวีอย่างสุนทรภู่ แต่เมื่อตื่นขึ้นก็ตกใจและคิดว่าเป็นนิมิตร้ายลางบอกเหตุว่าตนเองจะสิ้นอายุไขย (ใกล้ตาย) จึงแต่งเรื่องนี้ขึ้นในลักษณะเป็นกลอนเล่าอัตชีวประวัติของตนเอง ประเด็นของการเล่าอัตชีวประวัติก็สะท้อนอยู่โดยนัยว่า สิ่งที่สุนทรภู่แต่งในเรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องจริงที่ตนเองได้ประสบพบเห็นหรือได้รู้ได้ฟังมาในช่วงชีวิตก่อนหน้านั้นด้วย
สิ่งที่โจรสลัดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ทำได้ ก็แล้วทำไมชนชั้นนำที่มีอำนาจและกำลังทหารในมือจะทำบ้างไม่ได้ แต่ก็ไม่น่าจะทำกับทุกชั่วตัวคนดังเช่นที่เล่ากัน อาจทำเฉพาะกับบางคนที่มีพฤติการณ์ส่อว่าจะหลบหนี หรืออาจเป็นวิธีลงโทษแบบ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ก็ได้ ดังที่อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ได้เคยเสนอไว้ในงานของเขา และสมาน อู่งามสิน ก็ได้สรุปไว้ในงานวิจัยของเขาเช่นกัน
‘ขึ้นต้นเป็นบ้องไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา’ การกวาดต้อน ความทรงจำบาดแผล และ ‘ด้านมืด’ ของประวัติศาสตร์ไทย
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ณ ขณะนี้ ยังไม่มีการศึกษาหัวข้อเรื่องการกวาดต้อนในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์กันอย่างเป็นวิชาการจริง ๆ จัง ๆ เราจึงยังไม่รู้อีกมาก แม้กระทั่งระบบบริหารจัดการในการกวาดต้อน วิธีดำเนินการ อำนาจ ความรู้ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง สิ่งนี้สำคัญ และเป็นหลักประกันว่าการลงทุนลงแรงเสี่ยงตายในสงครามที่เพิ่งจบลงไปนั้นจะไม่สูญเปล่า
ในทางตรงข้าม หากปราศจากความรู้ความชำนาญในการกวาดต้อนที่มีประสิทธิภาพมากพอจนมั่นใจได้แล้ว สงครามก็น่าจะเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน การกวาดต้อนจึงเป็นทั้ง ‘เหตุปัจจัย’ และ ‘ผลลัพธ์’ ที่ได้จากสงครามโดยตรง ที่ผ่านมามีงานศึกษาเกี่ยวกับการศึกสงครามมามาก แต่ยังไม่มีงานศึกษาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรงอย่างการกวาดต้อน
มิพักต้องพูดถึงว่าการกวาดต้อนในอดีตนี้เองส่งผลต่อความสัมพันธ์ในทางลบที่เรียกว่า ‘ความทรงจำบาดแผล’ หรือ ‘รอยร้าวลึก’ ในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ และก็แน่นอนว่าในอีกแง่มุมนั้น การกวาดต้อนก็ส่งผลการเกิดสภาพพหุสังคมวัฒนธรรมภายในของแต่ละประเทศ
หากเปลี่ยนคำถามจากคำถามแคบ ๆ ที่ว่าเอ็นร้อยหวายเป็นเรื่องจริงหรือลวง? มาสู่คำถามปลายเปิดที่กว้างขึ้นว่า กองทัพสยามสมัยนั้นไม่ได้กระทำทารุณกรรมต่อเชลยศึกชาวปัตตานีจริงหรือ? ในเมื่อจารีตของสงครามในยุคนั้นสามารถจะทำได้
หลักฐานอีกแหล่งหนึ่งซึ่งเป็นที่อ้างอิงกันในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของฝ่ายต่อต้านรัฐในภาคใต้คือ จดหมายของฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) หรือ ‘พระยาราชกปิตัน’ พ่อค้าชาวอังกฤษ ที่มีไปถึงลอร์ดคอร์นวอลลิส (Lord Cornwallis) ข้าหลวงใหญ่ที่อินเดีย มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการกระทำของกองทัพสยามต่อราษฎรชาวปัตตานีในระหว่างการกวาดต้อนไปกรุงเทพฯ ดังนี้:
“ทั้งชายหญิง คนแก่ และเด็ก ที่ไม่ได้ทำบาปกรรม ถูกจับมัดแล้วโยนลงบนพื้นดิน แล้วขบวนช้างก็เดินเหยียบจนตาย”
ดูโหดร้ายทารุณยิ่งกว่าเจาะเอ็นร้อยหวายเสียอีก! เพราะเป็นการกระทำแบบไร้ความปรานีไม่เว้นแม้แต่กับผู้หญิง คนชรา และเด็ก แต่เรื่องนี้ซึ่งมีหลักฐานลายลักษณ์อักษรยืนยันกลับไม่เป็นที่กล่าวถึงมากเท่าเอ็นร้อยหวาย และหากเรื่องที่ฟรานซิส ไลท์ กล่าวไว้ในจดหมายนี้เป็นเรื่องจริง ก็แล้วทำไมจะเจาะเอ็นร้อยหวายในเชลยบางคนไม่ได้ ในเมื่อหนักกว่านี้ก็ทำอยู่แล้ว
ต่อให้ไม่มีการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลย ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทัพสยามเวลานั้นมิได้มีการกระทำทารุณกรรมต่อเชลยที่ถูกกวาดต้อน การอ้างว่าเอ็นร้อยหวายเป็นเรื่องไม่จริงเพื่อจะโยงไปปกป้องระบบที่ไม่เป็นธรรม ก็หรอบเดียวกับที่ภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า ‘ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด’ โดย ‘ใบบัว’ ในที่นี้หมายถึงกรณีเอ็นร้อยหวาย ส่วน ‘ช้าง’ ที่ ‘ตายทั้งตัว’ คือเมืองปัตตานีที่ถูกสยามทำลายไปในช่วงยุคเดียวกับสถาปนากรุงเทพฯ
‘ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด’ : การกวาดต้อน & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับ ‘โหด ๆ’
‘เอ็นร้อยหวาย’ จะจริงไม่จริงอย่างไร ยังต้องพิจารณาว่า เรื่องนี้เป็นแค่เรื่องแทรกเล็ก ๆ ถ้าพูดอย่างในภาษานักคติชนก็ต้องบอกว่ามีลักษณะเป็น ‘อนุภาค’ของเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น ดังที่พิเชฐ แสงทอง เคยเสนอไว้ เรื่องใหญ่ที่เมื่อเทียบกันแล้ว ‘เอ็นร้อยหวาย’ เป็นเรื่องรองไปถนัดเลย ก็คือเมื่อมองจากมุมของชาวปัตตานี นี่คือการเสียบ้านเมืองแบบเดียวกับที่อยุธยาเสียกรุง พ.ศ.2310 แต่ในเรื่องปัตตานี สยามเป็นผู้เล่นบทเดียวกับที่พม่าเคยเล่นกับตนมาก่อน
การกวาดต้อนที่เกิดหลังเข้ายึดบ้านเมืองเสร็จแล้ว แม้ไม่ถึงขั้นเดียวกับที่เรียกในภาษิตที่ว่า ‘ตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก’ ก็ตาม แต่ในการที่จะบังคับให้คนจำนวนมากต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองไปยังที่อื่นนั้น ในโลกอดีตนั้นมิใช่เรื่องที่จะทำได้โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง
‘ความโหด’ ของการกวาดต้อนหลังสงครามที่สยามเคยกระทำ นอกจากปรากฏเป็นบทสรุปของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-ปัตตานีแล้ว ยังมีตัวอย่างที่กระทำกับกรณีอื่น ๆ อีก อาทิ การกวาดต้อนชาวล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรม ‘เสภาขุนช้างขุนแผน’ ฉบับแต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และการกวาดต้อนชาวลาวล้านช้างที่ปรากฏในบทเพลง ‘ลาวแคน’ ที่เชลยลาวแต่งและร้องเล่นกันทั่วเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
เสภาขุนช้างขุนแผน:
พวกรั้งทัพขับต้อนค่อนเคี่ยวไป เสียงแต่ลาวร้องไห้ในดงดอนฯ
โอ้แสนวิตก ระหกระเหิน หาบคอนหย่อนเยิ่น ดุ่มเดินเข้ารก
บุกแฝกแหวกคา หย่อมหญ้ากอกก เหงื่อไคลไหลตก ตะกรกตะกรำ
กินข้าวกะเกลือ กินเหงื่อต่างน้ำ กินข้าวต่อสาย กินงายตอนค่ำ
หยุดบ้างก็บ่ได้ บักไทยตีร่ำ นั่งเยี่ยวบ่ทันสุด มันฉุดมันคลำ
ของหกตกคว่ำ ลากร่ำเข้าในรก มันทันมันก็ตี วิ่งหนีมันก็ชก
ริมลู่ริมทาง ย่างย่างหยกหยก ขึ้นปกลงปก อกจะแตกตายเอยฯ
เพลงลาวแคน:
................................................ อี่แม่คุณเอ๋ย เฮาบ่เคยจะตกยาก
ตกระกำลำบาก แสนยากก็นี่นักหนา พลัดทั้งที่ดินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา
พลัดทั้งปู่ พลัดทั้งย่า พลัดทั้งตาทั้งยาย พลัดทั้งแม่ลูกเมีย พลัดทั้งเสียลูกเต้า
พลัดทั้งพงศ์ทั้งเผ่า ทั้งลูกเต้าก็หนีหาย บักไทยมันเฆี่ยน บักไทยมันขัง
จนไหล่จนหลังของข้อยนี่ลาย จะตายเสียแล้วหนา ที่ในป่าดงแดน
กรณีการกวาดต้อนครัวลาว แน่นอนยกแรกในศึกเจ้าอะนุวง ลาวเป็นฝ่ายกวาดต้อนก่อน มีเรื่องว่าครัวลาวลุกขึ้นสู้ไม่ยอมไปกับกองทัพลาว มีการโยงว่าผู้นำการลุกขึ้นสู้ครั้งนั้นคือ ‘ท้าวสุรนารี’ หรือ ‘ย่าโม’ ของชาวโค๊ราดบ้านเอ๋ง โดยที่ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรยืนยันเช่นกัน เรื่องของย่าโมนั้น เรายกย่องวีรกรรม แต่เหตุใดกรณีการกวาดต้อนครัวปัตตานี กลับมองตรงกันข้าม เพียงเพราะนั่นคือการกวาดต้อนชาวสยาม แต่พอชาวสยามเป็นฝ่ายไปกวาดต้อนผู้อื่น กลับมองเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป
ขณะเดียวกัน เมื่อมองกรณีการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ชาวอยุธยาถูกกวาดต้อนไปเป็น ‘ชาวโยเดีย’ ที่เมียนมาร์ กลับรู้สึกเศร้าสะเทือนใจทำเป็นละครเป็นหนังดราม่ากันได้หลายต่อหลายเรื่อง แต่กลับไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของชาวปัตตานีที่ก็เสียกรุง-กรุงแตก และต้องถูกกวาดต้อนพลัดถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นเช่นกัน
ทำไมคนไทยเราถึงเป็นคนแบบนี้ไปได้? ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันมาจนจะแยกออกเป็นอีกหมวดวิชาต่างหากอย่างในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร มันใช่แล้วหรือ? ในนามของความรักชาติแบบไทย ๆ ทำไมถึงมีอีกด้านเป็นการสร้างคนให้ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของผู้อื่น แล้วอย่างนี้เราจะอยู่ร่วมกับสังคมโลกเขาได้อย่างไร
‘หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว’ Oral history & การอ่านมุขปาฐะทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทย
จริงอยู่ว่าเรื่อง ‘เอ็นร้อยหวาย’ นี้อาจไม่เป็นจริงตามตัวบท และไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรชั้นต้นมายืนยันด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากยังมีหลักฐานที่กล่าวถึงการเจาะเอ็นร้อยหวายในกรณีอื่น (เช่นโจรสลัดใน ‘รำพันพลาป’) อีกทั้งยังมีหลักฐานที่กล่าวถึงการกระทำทารุณกรรมต่อเชลยปัตตานีระดับที่ ‘โหด’ ยิ่งกว่า (อย่างที่ปรากฏในจดหมายรายงานของฟรานซิส ไลท์) ที่สำคัญ ‘เอ็นร้อยหวาย’ ยังมีลักษณะเป็นเสียงเล่าและมุมมองต่ออดีตของคนชาวตานี ซึ่งเป็นลูกหลานของผู้ถูกกระทำในอดีต การบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องโกหกเหลวไหลไปเสียทั้งหมด จึงไม่น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหา
ในทางตรงกันข้ามการกล่าวหาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่จริงไปเสียทั้งหมดนั้น ในกรณีอย่างนี้จะเท่ากับผลิตซ้ำมายาคติของรัฐไทยที่มีต่อผู้ถูกกระทำ ยิ่งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งเพิ่มหรือขยายบาดแผลมากขึ้น การบอกโดยนัยว่ากองทัพสยามเวลานั้นกวาดต้อนคนโดยไม่ใช้ความรุนแรง นั่นต่างหากที่บิดเบือน เป็นเรื่องโกหก และเหลวไหลไร้สาระ
‘เอ็นร้อยหวาย’ ไม่ใช่เรื่องโกหกหลอกลวง หากแต่เป็นเรื่องเล่าที่แฝงสัญลักษณ์ คำว่า ‘สัญลักษณ์’ ก็หมายความว่า ไม่เป็นไปตามตัวบทอักษร มันมีระหว่างบรรทัด ความจริงพื้นฐานที่มีอยู่ในเรื่องเล่านี้ก็คือการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้บอกกันมานักต่อนักแล้วว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องในอดีต มันยังคงมีพลังในปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะเหตุใดชุมชนชาวตานีจึงได้นำเอาเรื่องนี้มาเล่า ทุกครั้งที่คนหวนย้อนกลับไประลึกถึงอดีตตลอดจนเรื่องราวความเป็นมาของตน ก็เพราะเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นในสภาพชีวิตทางสังคมในปัจจุบัน
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนสำรวจข้อมูลเพื่อวิจัยเกี่ยวกับชุมชนชาติพันธุ์สองฝั่งคลองแสนแสบ ก็พบเรื่องเล่าทำนองนี้ จำนวนไม่น้อย ผู้เล่าเป็นคนที่มีฐานะดี (คือ ‘รวย’ นั่นแหละครับ) เพราะได้มรดกที่ดินจากบรรพชนซึ่งถูกกวาดต้อนมาให้ขุดคลองนั่นแหละ แต่หลายกรณีกว่าจะได้กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินที่บรรพชนเก็บเอาไว้ให้ ก็ยังต้องเป็นคดีความฟ้องร้องกันวุ่นวายจนคนที่ไม่มีกำลังในการจะต่อสู้ในชั้นศาลต้องยอมสูญเสียสิทธิที่พวกเขาพึงมีพึงได้มาแต่กำเนิดนั้นไปเสีย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียว เรื่องสถานภาพความเหลื่อมล้ำและการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ที่มีต่อแขกมุสลิมในสังคมไทยเอง ก็นำไปสู่การหวนระลึกถึงอดีตที่พลัดถิ่นฐานบ้านช่องเดิมของตนมา ความรู้สึกว่าตนเองเป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’ พบเห็นและสัมผัสได้ทั่วไปในชุมชนเหล่านี้
การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของเรื่องเล่าเอ็นร้อยหวายนี้ ในแง่หนึ่งจึงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐสยามในการผนวกรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทย ที่ไม่สามารถจะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคม ระบบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิให้เสียงคนเท่ากันถึงได้สำคัญและเป็นคำตอบไงครับ!!!
อ้างอิง:
กำพล จำปาพันธ์. ‘ลาวแคน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ & ทำไมพระปิ่นเกล้าฯ โปรดปราน (แต่) พระจอมเกล้าฯ ทรงแอนตี้?’ ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2565), หน้า 104-122.
ครองชัย หัตถา. ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต. ปัตตานี: โครงการปัตตานีศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2541.
ชุกรี, อิบรอฮีม. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. แปลโดย หะสัน หมัดหมาน และ มะหามะซากี เจ๊ะหะ, ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2541.
ชุลีพร วิรุฬหะ. บุหงารายา: ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2551.
ธวัช ปุณโณทก. พื้นเวียง: การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
บินจิ, อารีฟิน ลออแมน, อ. และ อิสมาแอ, ซูฮัยมีย์. ปาตานี...ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้, 2550.
พิเชฐ แสงทอง. ‘หน้าที่ของอนุภาคเอ็นร้อยหวาย: เรื่องเล่า ข่าวลือในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้’. วารสารรูสมีแล. ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2561), หน้า 7-12.
ยงยุทธ ชูแว่น (บก.). คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม: ประวัติศาสตร์ตัวตนของภาคใต้สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: นาคร, 2550.
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ‘โครงการวิจัยประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานี: ศึกษากรณีเอ็นร้อยหวายร้อยหวาย’ http://www.ias.chula.ac.th/research (เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564).
สายพิณ แก้วงามประเสริฐ. การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2538.
สุนทรภู่. รำพันพิลาป. พระนคร: กรมศิลปากร, 2504 [ออนไลน์ดู https://vajirayana.org].
สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ. ‘ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย: ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปตานี’. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561.