06 ม.ค. 2566 | 23:54 น.
- ‘นอสตราดามุส’ คือนามปากกาของ ‘มิแชล เดอ นอสเทอร์ดัม’ เขาคือเจ้าของคำทำนายที่ส่งต่อกันมากว่า 400 ปี
- ช่วงที่นอสตราดามุส มีชีวิตอยู่คือช่วงที่ยุโรปเผชิญภัยทั้งโรคระบาดและความขัดแย้งทางสังคม
- ชีวิตของนอสตราดามุส พบเจอความขมขื่นมากมาย
เหตุการณ์ร้ายหลายอย่างในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายนับแต่กรณี 11 กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001) ตามมาด้วยสงครามในตะวันออกกลาง วิกฤติโลกร้อน การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความเชื่อเรื่องโลกแตกเป็นที่พูดถึงกันมาก และพอเป็นเรื่องวิกฤติร้ายแรงระดับโลกเช่นนี้เกิดขึ้นทีไร ชื่อของ ‘นอสตราดามุส’ (Nostradamus) และคำทำนายของเขาก็มักจะเป็นที่พูดถึงกันอยู่เสมอ
‘นอสตราดามุส’ เป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิว เกิดเมื่อปี ค.ศ.1503 เสียชีวิตไปเมื่อ ค.ศ.1566 นับถึงปีปัจจุบัน ค.ศ.2023 นี้ เขาเสียชีวิตไปเป็นเวลาตั้งกว่า 457 ปี คำถามเบื้องต้นที่หลายคนสงสัยก็คือว่า เพราะอะไร ทำไม คำทำนายของคนเมื่อเกือบ 5 ศตวรรษ ถึงยังเป็นที่เชื่อถือหรือพูดถึงกันอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อดูแต่ละคำทำนายของนอสตราดามุส ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคำทำนายในแง่ลบเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ นานา เป็นการมองอนาคตอย่างไม่สดใสสวยงาม
บทความนี้ไม่ใช่จะถกเถียงว่าคำทำนายของนอสตราดามุส แม่นหรือไม่แม่นยังไง หากแต่จะพิจารณาสิ่งซึ่งมีผลให้เกิดคำทำนายเกี่ยวกับโลกและสังคมในแบบของนอสตราดามุส เพราะที่จริงนอสตราดามุส ไม่ใช่คนเดียวที่ให้คำทำนายในลักษณะนี้
ปูมหลังชีวิตและสภาพการณ์ของยุคสมัย
‘นอสตราดามุส’ ไม่ใช่บุคคลในตำนานที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เขาเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เรื่องของเขาเองก็กลายเป็นตำนานไม่แพ้คำทำนายของเขาด้วย ศพของเขาฝังอยู่ที่โบสถ์คณะฟรานซิสกันในเมืองซาลอง (Salon) ปัจจุบันกลายเป็นภัตตาคารชื่อ ‘ลาโบรเชอรี’ (La Brocherie) เพราะในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ได้มีการขุดศพเขาไปฝังที่แห่งใหม่ที่ป่าช้าโบสถ์แซ็ง-ลอแร็งต์ (Saint-Laurent) ศพของเขายังอยู่ที่นี่ตราบทุกวันนี้
‘นอสตราดามุส’ เป็นนามปากกาที่ใช้เขียนหนังสือ ชื่อจริงของเขาคือ ‘มิแชล เดอ นอสเทอร์ดัม’ (Michel de Nostredame) ค.ศ.1503 ที่เขาเกิดนั้นเป็นปีหนึ่งในยุคกลาง เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวที่ละทิ้งศาสนาเดิมมานับถือคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ชีวิตจึงไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่เด็ก เพราะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างคนสองชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อถือทางศาสนาแตกต่างและไม่ลงรอยกัน คือกลุ่มชาวยิวเดิมกับชาวยุโรปเชื้อสายอื่น ๆ ที่นับถือคริสต์
ยุโรปต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้นมีการเรียนการสอนในระดับชั้นมหาวิทยาลัยแล้ว นอสตราดามุส ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอาวีญอง (University of Avignon) แต่เรียนได้เพียงหนึ่งปี มหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของกาฬโรค (Black death) ครอบครัวจึงได้ส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมองเปอลีเยร์ (University of Montpellier) โดยหวังว่าจะเรียนจนถึงขั้นดุษฏีบัณฑิต (ปริญญาเอก)
แต่แล้วไม่นานหลังจากเริ่มเรียนเขาก็ถูกไล่ออก เนื่องจากมหาวิทยาลัยพบว่าเขาหารายได้จากการประกอบอาชีพเป็น ‘เภสัชกร’ ซึ่งสำหรับยุโรปสมัยนั้นยังเป็นอาชีพต้องห้าม ไม่เป็นที่ยอมรับ อนุญาตเฉพาะหมอที่จบแพทยศาสตร์มาโดยตรงเท่านั้นที่มีสิทธิจัดยาให้ผู้ป่วย
แม้ไม่ได้เรียนจบแพทย์ นอสตราดามุส ก็เป็นที่รู้จักและถูกเรียกจากผู้คนว่า ‘หมอ’ หลังถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเขายังคงประกอบอาชีพเป็นหมอและเภสัชกรเถื่อนอยู่ต่อมา นั่นเพราะยุโรปสมัยนั้นถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของกาฬโรค ผู้คนเรือนแสนเรือนล้านต่างล้มหายตายจากไปเพราะการระบาดของโรคนี้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หมอ เภสัชกร ตลอดจนการรักษาพยาบาลสารพัดทุกวิธีถูกระดมเข้ามาใช้หมด แม้แต่คริสตจักรก็ต้องหันมาเล่นบทบาทรักษาผู้คนจากโรคระบาด
นอสตราดามุส เองก็เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรที่เรียกว่า ‘ลูกกลอนกุหลาบ’ (Rose pill) สำหรับป้องกันกาฬโรค แม้ว่าผู้กินยาของเขาบางคนก็ไม่รอดพ้นความตายจากกาฬโรค แต่ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยนิยมซื้อยาชนิดนี้รวมทั้งชนิดอื่น ๆ อีกสารพัดที่อวดอ้างสรรพคุณป้องกันหรือรักษากาฬโรคได้
ในจำนวนคนที่กินยาลูกกลอนกุหลาบของเขา แต่ก็ไม่รอดพ้นกาฬโรค มีเมียกับลูกสองคนของเขาเองด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ยาของเขาก็เสื่อมความนิยมลง ความเศร้าเสียใจกับการจากไปของภรรยากับลูก ทำให้เขาตัดสินขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มีแล้วออกเดินทางไปจากฝรั่งเศส ไปอยู่อิตาลีอยู่ช่วงหนึ่ง
ระหว่างที่อยู่อิตาลี เขาได้หันเหความสนใจจากยาสมุนไพรไปสู่เวทมนต์ (magic) และศาสตร์ลี้ลับต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกกีดกันโดยคริสตจักร แต่เมื่อกาฬโรคระบาดจนคุมไม่อยู่ คริสตจักรก็ไม่อาจห้ามปรามผู้คนไม่ให้หันไปหาศาสตร์ความเชื่อลี้ลับเหล่านี้ได้
เมื่อสำเร็จวิชาลี้ลับแล้ว นอสตราดามุส ได้กลับฝรั่งเศสอีกครั้ง ครั้งนี้เขามี ‘ญาณวิเศษ’ ติดตัวกลับมาด้วย ในค.ศ.1554 ขณะอายุ 51 ปี นอสตราดามุส กลายเป็นหมอดูและนักเขียนที่มีชื่อเสียง เขาได้เขียนคำทำนายออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือขายดี พร้อมกับประกอบอาชีพเป็นนักโหราศาสตร์ให้คำทำนายดวงชะตาแก่ผู้คน
ประชาชนชาวฝรั่งเศสบางคนเชื่อว่าเขาเป็นผู้วิเศษ มีอำนาจเวทมนต์ล่วงรู้อดีตและทำนายอนาคตได้ บางคนก็หาว่าเขาเป็นพวกขายวิญญาณให้แก่ปีศาจซาตาน บางคนก็ว่าเขาเป็นแค่นักต้มตุ๋น
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของเขาในเวลานั้นเกิดดังไกลไปถึงหูของคนในแวดวงชนชั้นสูงของฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนางแคทเธอรีน เดอ เมดีชี (Catherine de' Medici) พระราชินีของพระเจ้าอองรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ผู้ซึ่งเป็นแฟนคลับผลงานเขียนคำทำนายต่าง ๆ ของเขา ในปี ค.ศ.1555
พระนางได้เรียกเขาเข้าวังไปให้คำทำนายแก่โอรสของนาง นอสตราดามุส ได้ให้คำทำนายอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเป็นคำทำนายในแง่ลบ แต่พระนางไม่เพียงไม่กริ้วโกรธเขา กลับแต่งตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาหรือ ‘ปุโรหิต’ (Counselor) และหมอหลวง (Physician-in-Ordinary)
หลังจากนั้น ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตรงนี้สำคัญ ในแง่นอกจากเป็นหมุดหมายในชีวิตของเขาเองแล้ว ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในงานของเขาด้วย เพราะคำทำนายของเขาที่ออกมาในช่วงนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1555 เป็นต้นมา จะเป็นคำทำนายของปุโรหิตและหมอหลวงของราชสำนักฝรั่งเศสด้วย ผิดไปจากก่อนหน้านั้นที่เขายังเป็นเพียงหมอดูข้างถนนคนหนึ่ง
เมื่อปุโรหิตและหมอหลวงของราชสำนักที่ตั้งอยู่ใจกลางของยุโรป ก่อนเสียชีวิตได้มีคำทำนายว่าโลกกำลังจะแตก ย่อมต่างกันโดยสิ้นเชิงกับคำทำนายเดียวกันนี้ที่มาจากหมอดูข้างถนนธรรมดา ดังนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่า ในเบื้องต้นราชสำนักฝรั่งเศสเป็นผู้ทำให้คำทำนายของนอสตราดามุส เกิดเป็นที่เชื่อถือขึ้นมาในช่วงระยะแรกเริ่ม
โลกแตก กับศาสนาตะวันตก
ความเชื่อเรื่องโลกแตกมีอยู่ในเกือบทุกลัทธิศาสนาทั่วโลก ตั้งแต่ในอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย ปฎิทินของเผ่ามายาในอเมริกาใต้ซึ่งย้อนหลังไปกว่า 2,300 ปี ก่อนหน้า นอสตราดามุส จะเกิดเป็นอันมาก คริสต์ศาสนาก็รับความเชื่อเรื่องโลกแตกมาจากอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย
ศาสนาพราหมณ์ฮินดูของอินเดียก็มีความเชื่อเกี่ยวกับดวงตาที่สามของพระศิวะที่มีพลานุภาพล้างโลกทำลายจักรวาล พุทธศาสนาแม้จะไม่เน้นความเชื่อนี้ แต่ก็มีแนวคิดพื้นฐานว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง มีเกิดมีดับไม่เว้นแม้แต่โลกและจักรวาล
อีกตัวอย่างไม่ใกล้ไม่ไกล ก็คือความเชื่อตาม ‘หลักปัญจอันตรธาน’ ของสังคมพุทธ โดยมีเกณฑ์ทางเวลาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้าสมณโคดมดำรงอยู่ไปจนถึง 5 พันปีแล้วโลกจะสูญสิ้นไป ระหว่างนี้ทุกสิ่งอย่างจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะกลับฟื้นขึ้นสู่อีกยุคของพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปคือ ‘พระศรีอาริยเมตไตรย’ หรือ ‘พระศรีอาริย์’ ผู้คนถึงจะพบความสุขสัมบูรณ์กันถ้วนหน้า ไม่มีทุกข์โศกโรคภัย และเมื่อสิ้นพระศรีอาริย์ก็จะค่อย ๆ เสื่อมลงอีกเป็นรอบ ๆ หมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นนี้อีกตลอด
กล่าวกันว่า นอสตราดามุส มีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว 3 อย่าง คือ
(1) กลัวจะติดเชื้อกาฬโรค เป็นความกลัวที่ปกคลุมชาวยุโรปในยุคนั้นทั่วทุกตัวคน
(2) กลัวหัวหลุดจากบ่า เพราะเข้าไปพัวพันกับแวดวงชนชั้นสูง บ่อยครั้งที่คำทำนายของเขาไม่เป็นที่สบอารมณ์ แต่เพราะ ‘ติ่ง’ คนสำคัญของเขาคือพระราชินี ซึ่งมีอำนาจที่แท้จริงเหนือราชสำนักฝรั่งเศส ทำให้เขารอดพ้นจากความตายมาได้ หลายครั้งก็อย่างหวุดหวิด
(3) กลัวถูกศาสนจักรจับตัวไปลงโทษ เพราะเขามีคำทำนายเกี่ยวกับการล่มสลายของคริสตจักรไว้ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเขาถูกคุกคามจากคริสตจักรแต่อย่างใด เพราะเขาเป็นคนของพระราชินีที่มีอำนาจ อีกทั้งคำทำนายของเขาเกี่ยวกับโลกแตกนั้นก็เป็นความเชื่อที่มีอยู่เดิมของคริสต์ศาสนา คริสตจักรบางส่วนจึงมองว่าคำทำนายของเขาเป็นประโยชน์ต่อการโน้มน้าวจิตใจคนให้ยังเชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระคริสต์
Les Prophéties กับคำทำนายโลกแตก
ใน ค.ศ.1554 หลังกลับจากอิตาลี เขาเริ่มเขียนกาลานุกรม (Almanacs) ออกมาปีละเล่ม ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของแต่ละปี แต่บางปีก็เริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม เมื่อรวมกาลานุกรมทั้งหมดแล้ว จะเป็นคำพยากรณ์จำนวน 6,338 บท เป็นปฏิทินอย่างน้อย 11 ปี
แต่ผลงานชิ้นเอกที่เป็นที่พูดถึงกันจนทุกวันนี้มีชื่อว่า ‘Les Prophéties’ (เลพรอเฟซี) หรือในภาษาอังกฤษ ‘The Prophecies’ (คำพยากรณ์) ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1555 (ปีเดียวกับที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตและหมอหลวงของราชสำนัก)
‘Les Prophéties’ บรรจุคำทำนายล่วงหน้าช่วงเวลาต่าง ๆ โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 10 ศตวรรษ แต่ละช่วงเขียนเป็นบทกวีเปรียบเปรยสั้น ๆ ราว 4-5 บรรทัด ทั้งหมดมี 942 บท มีจุดเด่นด้านเนื้อหาที่อ้างอิงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และการใช้ภาษาโน้มน้าว
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางท่านจึงถือว่านอสตราดามุส เป็นนักประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสด้วยผู้หนึ่ง และถือว่า ‘Les Prophéties’ เป็นงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography) แบบมือสมัครเล่นชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส บ้างก็ว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์อนาคต’ (History of future)
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยากจะยอมรับนอสตราดามุส ในฐานะนักประวัติศาสตร์ เพราะวิธีการของเขายังอ้างหลักฐานจาก ‘ญาณวิเศษ’ ที่คนทั่วไปไม่สามารถจะเข้าถึงหรือรับรู้ได้ และหากต้องถือว่าเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ก็ย่อมต้องถือว่าหมอดูคนอื่น ๆ เป็นนักประวัติศาสตร์ไปด้วยเหมือนกัน
ในจำนวนคำพยากรณ์มากมายที่ปรากฏใน ‘Les Prophéties’ ที่ถือว่า ‘เล่นใหญ่’ นั้นมี 5 ข้อด้วยกันดังนี้:
Post-diction กับการทำนายที่ไม่มีวันผิด
จะเห็นได้ว่า ทุกข้อล้วนสามารถนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังไปตีความเข้ากับตัวบทได้หมด จากยุคสมัยของนอสตราดามุส มีสงครามใหญ่หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยุโรป สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชวงศ์ฝรั่งเศสที่พบเจอการปฏิวัติ 1789 หรืออย่างกรณีการปฏิวัติจีน ค.ศ.1911 การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 คริสตจักรก็ถูกท้าทายอยู่ตลอดจนเกิดกระแสฟื้นฟูศิลปวิทยาการนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ความอดอยากยากจนที่แผ่ขยายทั่วโลกก็เป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ในศตวรรษปัจจุบัน ภัยลึกลับจากนอกโลกก็ถูกตีความเข้ากับความเชื่อเรื่องการรุกรานจากมนุษย์ต่างดาว เหล่านี้ล้วนแต่มีผู้นำเอาไปตีความว่าเกิดขึ้นตรงตามคำทำนายของนอสตราดามุส
การตีความคำทำนายของนอสตราดามุสมีลักษณะเป็น ‘การตีความหลังเหตุการณ์’ (Post-diction) ไม่ใช่ ‘การตีความที่เป็นจริงก่อนเกิดเหตุการณ์’ (Pre-diction) เป็นการทำนายที่ไม่มีทางผิด เพราะสามารถจะนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังไปตีความเข้ากับคำทำนายในอดีตได้เสมอ
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคำทำนายที่มองได้ว่าผิดทั้งหมดด้วยเช่นกัน อีกทั้งการไม่มี Pre-diction ยังถือว่าผิดขนบของโหราศาสตร์ จนไม่อาจถือเป็นคำทำนายตามหลักโหราศาสตร์ได้ แต่ก็นั่นแหละ ‘แฟนคลับ’ ของนอสตราดามุส ก็มีคำอธิบายสำหรับประเด็นนี้อยู่แล้วด้วย
ในการให้คำทำนาย นอสตราดามุส มักจะให้ ‘ลูกค้า’ ส่งมอบวันเดือนปีเกิด เขียนลงบนตารางให้สำหรับใช้ทำนาย ไม่มีการคำนวณตัวเลขเหล่านั้นด้วยตนเองเหมือนดังที่นักโหราศาสตร์มืออาชีพกระทำ และเมื่อจำเป็นต้องคำนวณให้ตามตารางวันเดือนปีที่เผยแพร่กันอยู่แล้ว ก็ปรากฏว่าเขามักคำนวณพลาดอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดเลขชะตาให้ตรงกับวันเดือนปีหรือสถานที่เกิดของลูกค้าได้
แต่เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับนอสตราดามุส เพราะเขาอ้างว่าที่มาของคำทำนายของเขานั้นมาจาก ‘ญาณวิเศษ’ ไม่ได้มาจากการคำนวณตัวเลขวันเดือนปีเกิด ถึงเขาจะเคยเรียนโหราศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น แต่ไม่ได้เรียนจนจบการศึกษาตามหลักสูตร ที่สำคัญการไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยสำหรับปุโรหิตและหมอหลวงของราชสำนักแล้วไม่ถือเป็นปัญหาแต่อย่างใด
เมื่อเขียนคำทำนายตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส นอสตราดามุส ก็เป็น ‘โหรนอกขนบ’ ของยุคสมัย เพราะไม่ลงวันเวลาที่แน่นอนกำกับไว้ในคำทำนาย แต่เขียนเป็นบทกวีที่ไพเราะชวนให้จดจำ
การทำเช่นนี้ นอสตราดามุส อาจมีข้ออ้างอีกว่า ทำไปเพราะเกรงจะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลทางศาสนา เขาจึงเขียนให้มีเนื้อความกำกวมและครอบคลุมเข้าไว้ โดยใช้กลวิธีทางวากยสัมพันธ์แบบเวอร์จิล (Virgil) อีกทั้งยังเล่นคำ และแทรกภาษาอื่นปะปน เช่น ภาษากรีก, ภาษาอิตาลี, ภาษาละติน และภาษาถิ่นพรอว็องส์ในฝรั่งเศส
กล่าวโดยสรุป
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากปูมหลังชีวิตและสภาพการณ์ของยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่นอสตราดามุส มีชีวิตเผชิญอยู่และจนกระทั่งสร้างคำทำนายบรรลือโลกออกมา จะพบว่ายุคนั้นยุโรปกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของกาฬโรค สังคมเกิดความระส่ำระสาย เพราะผู้คนทยอยล้มหายตายจากไปมากภายในเวลาอันรวดเร็ว
คริสตจักรและราชวงศ์ที่มีอำนาจอยู่ต่างพบความสั่นคลอนเนื่องจากไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นได้ หลังจากนอสตราดามุส เสียชีวิตไปเพียง 50 ปี ยุโรปก็เปลี่ยนผ่านจากยุคกลางเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)
ชาวยุโรปในยุคของนอสตราดามุส ต่างต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางคู่ตรงข้ามของสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน เช่น ระหว่างความเป็นกับความตาย ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ศิลปะกับเวทมนต์ ฯลฯ จึงเกิด ‘ช่องว่าง’ สำหรับคนที่ดูเหมือนจะมีทั้งสองขั้วอยู่ในตัวคนเดียวแต่ก็ไม่เสียทีเดียว คือคนแบบนอสตราดามุส ที่เคยเรียน ‘ศาสตร์ทางโลกย์’ ในมหาวิทยาลัยแม้จะไม่จบการศึกษาก็ตาม แต่เขาก็ได้พิสูจน์ตนเองจนเป็นที่ยอมรับกับคนที่เรียน ‘ศาสตร์ลี้ลับ’ เพราะศาสตร์ทางโลกย์อย่างวิทยาศาสตร์สมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้าพอจะจัดการกับโรคระบาดได้
ที่สำคัญ สถานภาพทางสังคมของเขาในช่วงเวลา 10 ปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้คำทำนายของเขาเกิดแพร่หลายและเป็นที่เชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก คือการที่เขาได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิตและหมอหลวงของราชสำนัก
ประกอบกับคำทำนายของเขาเองก็มีลักษณะเป็น ‘ตัวบทที่ลื่นไหล’ เป็นคำทำนายที่ผิดไปจากขนบของโหราศาสตร์ ไม่มีตัวเลขวันเดือนปีที่แน่นอนกำกับคำทำนาย จึงสามารถนำเอาไปตีความเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง (ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปีใด) ได้หมด
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวยุโรปจำนวนไม่น้อย คำทำนายของนอสตราดามุส ย่อมมีลักษณะเป็น ‘ภูมิปัญญามรดกจากบรรพชน’ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติเลวร้ายลงในช่วงหลังก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้คนจะหวนคิดกลับไปหาคำอธิบายในอดีตมาเป็นคำอธิบายในปัจจุบัน
บรรพชนอย่างนอสตราดามุส ผู้ซึ่งเคยเผชิญวิกฤติมาก่อน สำหรับผู้คนในยุคสมัยเดียวกับนอสตราดามุสแล้ว กาฬโรคที่ทำให้ความตายมาจ่ออยู่แค่ที่ปลายจมูก ย่อมทำให้ความคิดที่ว่าโลกกำลังจะแตกนั้นดูเป็นความจริงที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วนั่นเอง
แต่เหตุการณ์อย่างเดียวกัน เมื่อเกิดในช่วงเวลาต่างกัน ผลลัพธ์ที่เกิดตามมาย่อมต่างกันด้วยเสมอ เพราะเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างไปจากเดิม มีหลายสิ่งอย่างที่คนรุ่นนอสตราดามุส ไม่มีและไม่รู้จัก สุดท้ายจึงข้ามพ้นวิกฤติโลกแตกต่าง ๆ กันมาได้เสมอนั่นแหละ
อ้างอิง:
Alexandra, Rae. “Perhaps Nostradamus Predicted Coronavirus After All...” in kqed.org (Published: April 6, 2020).
Binder, Rainer. “Nostradamus: Facs, Quotes, and Predictions” in history.com (Updated: July 26, 2022).
Elwell, James H. Nostradamus: The key to prophecy. Independently published, 2022.
Nostradamus. The Prophecies (Les Prophéties): English-French Parallel Text Bilingual Edition, Texte Parallèle Anglais-Français Édition Bilingue. Raul Kask (ed.) and Edgar Leoni (Trans.), ndependently published, 2021.
Reading, Mario. Nostradamus: The Complete Prophecies for The Future. Watkins Publishing, 2015.
Staff, Reuters. “False claim: Nostradamus predicted the coronavirus outbreak” in reuters.com (Published: April 10, 2020).