16 ม.ค. 2566 | 14:40 น.
- เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ คือเจ้านายฝ่ายเหนือที่ได้รับยกย่องว่า คือแบบฉบับของสตรีสูงศักดิ์ที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นและเป็นแบบอย่างที่ดีของกุลสตรีชาวเหนือ
- บทบาทของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ กลายเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงสมัยใหม่ในอดีต จาก ‘หลังบ้าน’ ที่ออกมา ‘หน้าบ้าน’ ช่วยเหลือสามีออกไปช่วยหาเสียงทางการเมือง และยังทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมด้วย
เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2566 นครเชียงใหม่ (จ.เชียงใหม่) ได้สูญเสียเจ้านายฝ่ายเหนืออาวุโสผู้เป็นที่รักและเคารพนับถือไปหนึ่งท่านคือ ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ ธิดาในเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) และหม่อมจันทร์เทพย์ ณ เชียงใหม่ บุคคลผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดินล้านนา
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ หรือ ‘เจ้ายาย’ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือเชื้อสายในกลุ่มตระกูลเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ผู้ซึ่งได้อุทิศตนในการบำเพ็ญประโยชน์ทางสังคมต่อส่วนรวมโดยเฉพาะงานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาและอีกทั้งดำรงเกียรติแห่งวงศ์ตระกูลของเจ้านายฝ่ายเหนือได้อย่างสมบูรณ์
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2564 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ (สอช.) ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง ให้เป็นบุคคล ‘ค่าแห่งแผ่นดิน’ ในด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม
ในอดีตเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ซึ่งเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือนหกหรือวันวิสาขบูชาจึงได้รับการตั้งนามว่า ‘ดวงเดือน’
ดังจากคำสัมภาษณ์ว่า “...มีคนบอกข้าเจ้าว่า...เจ้าดวงเดือนมีสิริวุฒิ ข้าเจ้าถามว่าแปลว่าอะไร ก็ข้าเจ้าเกิดในคืนวันเพ็ญ เจ้าพ่อจึงตั้งชื่อดวงเดือน เพราะเกิดมาในวันเดียวกับพระพุทธเจ้า คือวันวิสาขบูชานั่นเอง..” เป็นธิดาคนที่สามในเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) (บุตรในเจ้าราชภาติกาวงศ์ (เจ้าบัวรวงศ์) กับเจ้าฟองนวล) หม่อมมารดาคือหม่อมเทพหรือหม่อมจันทร์เทพย์ ณ เชียงใหม่ มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันตามลำดับ คือ เจ้าอาทิตย์ เจ้านิภาพันธุ์ และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่
ในวัยเด็กได้รับความเมตตาให้เป็นธิดาบุญธรรมและการอนุบาลเลี้ยงดูจากเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ (ธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 กับแม่เจ้าจามรี ณ เชียงใหม่) ได้รับการฝึกอบรมด้านการเรือน การทำอาหาร และการขับร้องฟ้อนรำเพื่อต้อนรับราชอาคันตุกะ จากคุ้มหลวงนครเชียงใหม่
“...ข้าเจ้าเติบโตจากคุ้มหลวง ชีวิตที่สัมผัสเมื่อครั้งเจ้านายยังรุ่งเรืองก็ถูกอบรมมาแบบชาวคุ้ม คือนอกจากการเรียนที่โรงเรียนแล้ว จะต้องเรียนรู้เรื่องกิริยามารยาท การไหว้ การหมอบ การคลานการเดิน การวางตัวให้เหมาะสมถูกที่ ถูกกาลเทศะ หัดเรียนหมากจีบพลู ปอกมะปรางริ้ว สลักแตง หรือฟักทอง การเอาดอกไม้หอมมาทำน้ำอบ การอัดกลีบผ้าม่วงให้เจ้าพ่อก็ทำเป็น...ทำให้ซึมซาบหล่อหลอมเข้าสู่ตัวโดยปริยาย...”
ซึ่งเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่แห่งราชวงศ์ทิพย์จักรนั้น เริ่มต้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่พระเจ้ากาวิละได้รับสถาปนาเป็น ‘พระเจ้าประเทศราช’ สืบมาจนถึงเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ได้ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2482 จึงได้ยุติการแต่งตั้งเจ้าประเทศราช ทำให้ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สิ้นสุดลงนับแต่นั้นมา คงเหลือเพียงการสืบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในการเป็นผู้สืบราชสกุล ‘ณ เชียงใหม่’ เท่านั้น โดยที่สายตระกูลของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ผู้สืบเชื้อสายรุ่นที่ 6 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ปรากฏสายสกุลดังนี้
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นเจ้านายสตรีล้านนารุ่นใหม่ที่ได้เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัยนอก (โรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์) โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และโรงเรียนดาราวิทยาลัย จนกระทั่งจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เข้าเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากบิดาป่วยหนักจึงไม่ได้เรียนต่อจนจบการศึกษา
“...ตอนเรียนอักษรศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ เจ้าพ่อท่านเรียกตัวกลับมาเพราะอยากให้อยู่ใกล้และไม่ยอมบอกว่าท่านป่วยเป็นมะเร็ง...”
เมื่ออายุย่างเข้า 19 ปี จึงได้สมรสกับคุณพิรุณ อินทราวุธ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มีบุตร-ธิดา 4 คน การสมรสครั้งนี้ทำให้บทบาทของท่านได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงสมัยใหม่ จาก ‘หลังบ้าน’ ที่ออกมา ‘หน้าบ้าน’ ด้วยการช่วยเหลือสามีออกไปช่วยหาเสียงด้านการเมืองจนทำให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2495 ดังคำสัมภาษณ์ว่า
“...คุณพิรุณ เริ่มต้นด้วยการเป็นทนายความ และถูกดึงให้เข้าสู่ชีวิตทางการเมือง เริ่มตั้งแต่สภาเทศบาล สภาจังหวัด และสภาผู้แทนราษฎร ครอบครัวญาติพี่น้องเพื่อนฝูง จะอยู่ในกระแสผูกพันเกี่ยวข้องในแวดวงการเมืองทุกระดับ และได้ประจักษ์ว่าการเป็นลูกของเจ้าพ่อ (เจ้าราชภาคินัย) ที่ถูกเคี่ยวมาตลอด มีประโยชน์คุ้มค่าเพียงไร...”
จากนั้นบทบาทของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้เด่นชัดมากขึ้นอีก เมื่อสามารถสอบเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนในปี พ.ศ. 2513 อีกทั้งได้ทำหน้าที่บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ ‘เสียงเชียงใหม่’ ที่ขายดีที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือและอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคในเวลาต่อมา
รวมทั้งบทบาทการเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ท่านได้เสนอรายการเกี่ยวกับสาระปัญหาของสังคมไทยในขณะนั้น ด้วยรายการที่มีรูปแบบแตกต่างกันถึง 4 รายการ จากการที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลายมิติรอบด้าน แนวคิดและวิธีนำเสนอที่แหลมคมจึงทำให้ได้รับรางวัล Voice of America (เหรียญ VOA.)
ต่อมาภาพลักษณ์สตรีล้านนาแบบสมัยใหม่ของท่านได้ฉายภาพเด่นชัดที่สุดเมื่อได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2516 “...เจ้ายายได้เข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากการคัดเลือก ซึ่งมีผู้หญิงเพียง 15 คน...”
นับเป็นเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือเพียงคนเดียวที่ได้เป็นตัวแทนสตรีจากส่วนภูมิภาคและได้เสนอให้สังคมในยุคนั้นร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ บทบาทพิทักษ์ความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอแก้ไขปัญหาสตรีเหนือที่ถูกตกเขียวของหมู่บ้านดอกคำใต้ เสนอให้กลุ่มสตรีสามารถสร้างกลุ่มและพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้มแข็ง และการรณรงค์วางแผนครอบครัวทำให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานเขต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และการส่งเสริมสถานภาพสตรีในภาคเหนือให้ทัดเทียมกับบุรุษ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ว่า
“...แม่ญิงต้องมีศักดิ์ศรี ต้องมีความรู้ความสามารถ ต้องเป็นผู้นำในครอบครัว บทบาทที่ควรจะมีคือ หนึ่งเป็นแม่ของลูก...สอง แม่ญิงนั้นเป็นแม่และเป็นภรรยาที่ดี...
นอกจากนั้น ผู้หญิงไทยจะต้องเป็นคนที่ทันโลก ทันสมัย การแต่งเนื้อแต่งตัวต้องให้ทันสมัย จะต้องสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้ ต้องอ่าน ต้องสนใจในเรื่องข่าวสารบ้านเมือง ไม่ใช่คนพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องสักอย่าง อันนี้เป็นการเริ่มต้นและความรู้นั้นจะได้สอนถ่ายทอดไปให้แก่ลูกได้...”
ในขณะที่บทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นของท่านเริ่มปรากฏจากการเป็นผู้ส่งเสริมการทอผ้าในกลุ่มสตรีภาคเหนือโดยได้เริ่มกิจการการทอผ้าภายใต้ตราสินค้า ‘ผ้าฝ้ายดวงเดือน’ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของชาวบ้านในเขตจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เนื่องจากกลุ่มสตรีภาคเหนือภายหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะว่างจากงานหลัก จึงได้รณรงค์อนุรักษ์การทอผ้าฝ้ายลวดลายโบราณและสืบสานวิธีการย้อมสีด้วยวิธีธรรมชาติและได้ศึกษาอย่างจริงจังจนยกมาตรฐานการทอผ้าฝ้ายที่มีคุณภาพ
ส่งผลให้ ‘ม่อนดวงเดือน’ กลายเป็นโรงทอผ้าฝ้าย ‘ศูนย์อบรมหัตกรรมพื้นเมืองจอมทอง’ ที่ได้รับมาตรฐานจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นกิจกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายและสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านไปพร้อมกัน ทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คนแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2549 ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ว่า
“...เจ้าพูดได้เต็มปากเลยว่า งานวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นได้เพราะเจ้ายายเลยจริง ๆ ในตอนแรกนั้นเขาเชิญคนที่มีบทบาทและพระสงฆ์มา เจ้ายายเป็นคนบรรยายโน้มน้าวให้ทุกท่านช่วยกันทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อบ้านเมือง
ตอนนั้นยังไม่มีสภาวัฒนธรรมหรือหน่วยงานใดของรัฐมารองรับ มีแต่สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ แห่งเดียว เจ้าก็บรรยายเรื่องที่ต่อสู้เรื่องแม่ญิง...”
จากการเป็นผู้ที่มีความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนามาโดยตลอด อาทิ การส่งเสริมและอนุรักษ์การพูดภาษาคำเมือง
“...เจ้ายาย อยากจะบอกว่า ดีใจที่ได้เกิดมาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนเมืองเหนือ แม้ว่าจะมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่เราก็ยังรักษาภาษาพูดที่ไพเราะเหมือนเสียงดนตรี วรรณยุกต์ในภาษาไทยกลางผันได้ห้าเสียง แต่คำเมืองผันได้ตั้งเจ็ดแปดเสียง...” การอนุรักษ์และส่งเสริมการแต่งกายของสตรีในภาคเหนือด้วยผ้าทอพื้นเมือง “...ทุกครั้งที่เจ้ายายไปไหน อย่างต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็จะแต่งตัวชุดราชนิกุลฝ่ายเหนือ ทั้งกิริยามารยาท ก็จะปฏิบัติดีพร้อม ใครๆก็จะชื่นชมว่าเป็นเจ้าหญิง หญิงแก่ใจดี บางทีที่มีนักข่าวหญิงมาก็จะพามาทักทายเรา กล่าวว่าเป็นหญิงที่งดงาม เจ้ายายคิดว่าตนได้ทำหน้าที่ตัวแทนสตรีไทยได้ดีที่สุด...” อีกทั้งการส่งเสริมให้มีการจัดขันโตกล้านนากลับมาเป็นที่นิยมแพร่หลายได้รับความนิยมอีกครั้งในปัจจุบัน
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา สิริอายุรวม 93 ปี นับเป็นแบบฉบับของสตรีสูงศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นและเป็นแบบอย่างที่ดีของกุลสตรีชาวเหนือสมดั่งเป็น ‘รัตนแห่งเวียงพิงค์’ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ตัวแทนวัฒนธรรมล้านนา กอปรด้วยคุณูปการเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและแผ่นดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เรื่อง: จิรัฏฐิตติ สันต๊ะยศ คณะอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต
ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO
เอกสารอ้างอิง:
คณะกรรมการจัดงาน 80 วัสสา เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่. (2552). เดือนส่องหล้า สืบสานล้านนา. เชียงใหม่: เอส พี พลับลิชชิ่ง กรุ๊ป จำกัด.
ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พุทธศักราช 2516. (2516, 24 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 90 ตอนที่ 171. หน้า 1-18.
ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (2523). ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เรืองศิลป์.
ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. (2538). เพ็ชร์ลานนา1-2. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่ : นอร์ทเทิร์นพริ้นติ้ง.