28 ม.ค. 2563 | 13:05 น.
"เกมแคสเตอร์" หนึ่งในอาชีพยุคใหม่ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของสื่อโซเชียลทั่วโลก งานของพวกเขาคือการถ่ายทอดประสบการณ์และความสนุกของการเล่นเกมให้กับผู้คนที่รับชมผ่านวิดีโอ โดยหนึ่งในเกมแคสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในไทย คือ แป้ง-นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส หรือที่รู้จักกันดีในหมู่แฟนคลับด้วยชื่อ “zbing z.” นัยรัตน์คือยูทูเบอร์คนแรกที่มีผู้ติดตามกว่า 10 ล้านคน ด้วยวิธีการพากย์เกม และการเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ติดตามส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเด็ก ๆ ต่างก็อยากเติบโตมาเป็นแบบเธอ แต่ใครจะรู้ว่าเรื่องราวก่อนจะเดินมาถึงจุดที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนมากมาย เธอเองก็เคยล้มเหลวและหาตัวเองไม่เจอมาก่อน ทำความรู้จัก แป้ง “zbing z.” กับเรื่องราวของคนที่พาเอาความสนุกมาสู่หัวใจเด็ก ๆ ว่าอะไรที่ทำให้เธอตัดสินใจเป็นเกมแคสเตอร์อย่างเต็มตัว และตลอด 4 ปี อาชีพนี้ได้มอบอะไรให้กับเธอบ้าง The People: เริ่มต้นเล่นเกมตั้งแต่เมื่อไหร่ นัยรัตน์: ตอนเด็ก ๆ เล่นเป็นเครื่องแฟมิคอม (Famicom) มาก่อน เป็นเกมตลับ ครอบครัวเขาซื้อมา ตอนนั้นเวลาเล่นเกม บ้านเราก็จะมานั่งออกันอยู่ตรงห้องรับแขก ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักเกม ปกติครอบครัวเราไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมาก แต่พอได้มาเล่นเกม ได้ใช้เวลาร่วมกัน มันเหมือนเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก จากนั้นแป้งก็เลยเล่นเกมมาตลอด จากแฟมิคอม ไปเกมคอม เพลย์วัน (PlayStation 1) เพลย์ทู (PlayStation 2) ก็ค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ The People: ครอบครัวสนับสนุนให้เล่นเกม? นัยรัตน์: ที่จริงก็ไม่ถึงขั้นสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้ค้าน เราก็มีการจำกัดเวลาเล่นด้วย The People: มีความฝันอยากจะเป็นเกมแคสเตอร์มาตั้งแต่เด็กเลยไหม นัยรัตน์: ไม่ใช่ค่ะ เมื่อก่อนแป้งยังไม่รู้จักคำว่าแคสเตอร์เลย ตอนเด็กเราแค่ชอบเล่นเกมเฉย ๆ พอโตมาก็เลยคิดแค่ว่า ขอเรียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเกม แต่ด้วยความที่ไม่รู้มาก่อน เราเลยไปเลือกเรียนคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งที่จริงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเกมเลย พอจบมาก็เลยรู้ตัวว่า เรายังไม่ได้เก่งพอที่จะไปทำงานสายนั้นได้เต็มที่ ทีนี้พอจะหางานทำช่วงปีแรกก็ยังหาไม่ได้ เวลาผ่านไปสักพัก คุณพ่อคุณแม่เลยเริ่มกดดัน บอกว่าต้องหางานทำได้แล้ว เลยกลับมาคิดว่า ถ้าเราจะทำงาน เราอยากทำงานที่เป็นธุรกิจของตัวเอง เลยลองหาพวกของกระจุกกระจิก ของอินดี้ต่าง ๆ มาขาย แต่พอทำ ๆ ไปสักพักก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ คุณแม่เขาเลยบอกว่า ต้องหาอะไรทำสักอย่างแล้วนะ ถ้าไม่ทำก็กลับมาทำงานที่บ้านเลย The People: แล้วมาเป็นเกมแคสเตอร์อย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร นัยรัตน์: อย่างที่บอกว่าเราชอบเล่นเกมใช่ไหม แป้งก็เล่นมาจนโต เล่นมาเรื่อย ๆ คลายเครียด ตอนนั้นเหมือนจะเล่นเกม Luigi's Mansion แล้วติดอยู่ด่านหนึ่งที่เล่นเท่าไหร่ก็ไม่ผ่านสักที ตอนนั้นพยายามเสิร์ชหาวิธีเล่นในกูเกิล แล้วดันไปเห็นคลิปยูทูบที่เขาเล่นเกมให้ดู คือบอกก่อนว่าก่อนหน้านี้เรารู้แค่ว่ายูทูบมีเพลง เราเข้าไปฟังเพลง ดูคลิปตลก ๆ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเกม พอเห็นเขาเล่นเกม เราก็ตกใจว่า เฮ้ย ทำไมมีคนเล่นเกมลงไปในนี้ด้วย ก็ดูเขาเล่นไปเรื่อย ๆ ก่อน พอวันหนึ่งเห็นข่าวที่เขาสัมภาษณ์เกมแคสเตอร์คนไทย เราก็ตกใจว่ามีอาชีพนี้ด้วยเหรอ อัดคลิปเล่นเกมมันหาเงินได้เหรอ เลยคิดจะลองทำบ้าง เพราะรู้สึกว่าตรงสายกับเรามาก เป็นอะไรที่เราอยากจะเป็นมาโดยตลอด เลยลงมือทำดู แล้วก็ขอคุณแม่ว่า ขอเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วกัน ถ้าสมมติว่าไม่ได้จริง ๆ มันเจ๊งเหมือนที่เคยทำมา ก็คงไม่ทำแล้ว เดี๋ยวทำตามที่แม่บอก The People: เกมแคสเตอร์มือใหม่ต้องใช้อะไรบ้าง นัยรัตน์: ตอนนั้นแป้งซื้อแค่ไมโครโฟนอย่างเดียว ไมค์ก้านอันละไม่กี่ร้อยนี่ล่ะค่ะ เสียบใช้กับโน้ตบุ๊กเก่า ๆ ของเรา แล้วก็เริ่มได้เลย ตอนนั้นไม่ได้อยากลงทุนอะไรมาก เพราะแค่อยากรู้ว่าถ้าลองทำแล้วเราจะทำได้ไหม The People: เกมแรกที่แคสต์? นัยรัตน์: ชื่อเกมว่า Which เป็นเกมอินดี้ อย่างที่บอกว่าไม่อยากลงทุนกับตรงนี้ เพราะก่อนหน้านี้ที่เคยขายของแล้วขอเงินแม่ไปลงทุน ปรากฏว่าดันเจ๊ง รอบนี้เลยเลือกเกมที่ดาวน์โหลดได้ฟรี แล้วเป็นเกมที่ผู้พัฒนาเขาเอามาให้ลองเล่นกันก่อนที่จะวางขาย The People: ผลตอบรับจากการแคสต์เกมครั้งแรก? นัยรัตน์: ก็เงียบ ๆ ค่ะ คือเราไม่ได้ถึงกับคาดหวังว่ามันจะดัง แค่อยากทำงานนี้ให้พอประทังชีวิตได้ ต่อยอดต่อไปได้ แต่พอโพสต์คลิปแรกไปมียอดวิวแค่ 200-300 ก็แอบผิดหวังนิดหน่อย The People: ช่วงเวลานั้นมีเกมแคสเตอร์ในวงการเยอะไหม นัยรัตน์: ในไทยไม่เลย น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นต่างประเทศมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีนะคะ ตอนนั้นที่เราดูก็มีลุงพี (TeamGarryMovieThai) มีพี่เอก (Mr.Heartrocker) ช่อง Xcroxz ผู้หญิงก็มีพวกช่อง GibPuri Ch ช่องน้องขวัญ (KNCraZy) อะไรพวกนี้ เขาก็จะเป็นคนที่ทำมาก่อน แล้วก็ทำให้เราเห็นว่า คนไทยที่ดัง ๆ ก็มีนะ เราเองก็ต้องลองทำให้เต็มที่ดู The People: ทำไมต้องชื่อ “zbing z.” นัยรัตน์: เป็นชื่ออีเมลมาก่อนค่ะ มาจากคำว่าสะบัดสะบิ้ง คือแต่ก่อนลองนึกย้อนไป เราอยากตั้งชื่ออีเมลให้มันดูแปลก ๆ ใช่ไหมคะ บางคนก็แบบแป้งซ่า แป้งเทพ แป้งป็อปปูล่าอะไรแนวๆ นี้ ตอนนั้นเราก็อยากได้อะไรแปลกๆ เลยเลือกคำนี้มา พอเรามาทำช่องจริง ๆ เรารู้สึกว่าอยากได้ชื่อที่อยู่กับเรามาตั้งแต่แรก เพราะเมลนี้แป้งใช้มาตั้งแต่แรกเลย ไม่ว่าจะสมัครเกม สมัครนู่นนี่ ก็เลยตัดเหลือแค่คำว่า zbing z. แล้วก็เอามาใส่ The People: zbing z. เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่เมื่อไหร่ นัยรัตน์: ที่จริงก็ไม่นานหลังจากเริ่มเล่น พอดีเราเล่นเกมผีด้วย ตอนเล่นก็เปิดเว็บแคม เลยพอจะมีคนจำเราได้ บางทีเวลาไปงานเกมต่าง ๆ ก็จะมีคนมาทักว่าพี่เล่นเกมผีใช่ไหม พอทำมาได้สักระยะ ทาง Online Station ก็ติดต่อมา เราเลยมีโอกาสทำคลิปให้เขา มีโอกาสได้ไปออกรายการเกี่ยวกับเกมด้วย ถือเป็นจุดที่คนเห็นเราเพิ่มขึ้นอีกจุดหนึ่ง แต่ที่ทำให้บูมจริง ๆ มีคนติดตามเยอะจริง ๆ จะเป็นเกม Ark Survival เป็นเกมแนวเอาชีวิตรอด ที่เรามีการสร้างเรื่อง สร้างคาแรคเตอร์ตัวละครลงไป อย่างไดโนเสาร์ตัวที่เป็นทีเร็กซ์ เราตั้งชื่อมันว่า ‘บิ๊กบอย’ แล้วก็มีตัวอื่น ๆ อีก เหมือนว่าเราเล่นแบบนี้แล้วทำให้เด็ก ๆ ติด แล้วก็อยากให้เราเล่นเกมนั้นอีกเรื่อย ๆ ช่วงนั้นเลยเป็นช่วงที่มีเด็ก ๆ มา subscribe เยอะค่ะ The People: แฟนคลับของ zbing z. เป็นเด็ก ๆ เสียส่วนใหญ่ สิ่งนี้ส่งผลต่อวิธีการแคสต์เกมของตัวเองไหม นัยรัตน์: จริง ๆ ก็มีหลายช่วงอายุนะคะ เวลาไปงานเกมก็มีคนหลายวัยที่เข้ามาขอถ่ายรูป แต่ที่จริงแป้งก็ไม่ใช่คนเล่นเกมแบบหยาบคายอะไรอยู่แล้ว ถึงตอนแรกเราจะเปิดช่องมาแล้วคิดแค่ว่าก็แค่แคสต์เกมไป ใส่อารมณ์เข้าไปหน่อยจะได้สนุก แต่พอมีคนดูเด็ก ๆ เยอะขึ้น มีคุณพ่อคุณแม่เริ่มมาบอกว่า น้องชอบนะ เราก็เลยเริ่มทำช่องโดยที่คำนึงถึงคำพูดเยอะขึ้น ช่วงหลัง ๆ ก็พยายามเปลี่ยนแนวให้ตัวเองคลีนมากขึ้น แล้วดูได้ทุกเพศทุกวัย เราก็พบว่าที่จริงความสนุกของเกมมันไม่จำเป็นต้องหยาบคาย เราจะทำยังไงก็ได้ให้คนดูรู้สึกสนุก The People: อะไรคือเอกลักษณ์ของช่อง zbing z. นัยรัตน์: หลัก ๆ เลยคงเป็นความหลากหลาย คือเราจะชอบเล่นเกมแปลก ๆ เพราะเราเป็นคนเบื่อง่าย ต้องหาอะไรใหม่ ๆ มาเล่นตลอด เลยทำให้ช่องเราสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลกว่าบางคนที่อาจจะเล่นแค่แนวเดียว เพราะคนที่เข้ามาใหม่เขาสามารถเลือกดูได้ว่าตัวเองอยากจะดูเกมไหน อีกอย่างคือเราพยายามจะพากย์ให้เกมนั้นดูมีบทบาท มีเรื่องราวขึ้นมาด้วย เลยทำให้คนเขาสนุกไปกับเรื่องใหม่ที่เราสร้างให้เกม The People: เกมแคสเตอร์หญิงมักจะถูกมองว่าเล่นเกมไม่เก่งเท่าผู้ชาย คุณเคยเจอความเห็นเชิงลบพวกนี้บ้างหรือเปล่า นัยรัตน์: มีค่ะ ก็มีมาบ่อย ๆ คือผู้หญิงบางทีเหมือนจะทำอะไรไม่เป็นที่ถูกใจเยอะกว่า เช่น บางทีเวลาเราพากย์เกม คนก็จะบอกว่าเสียงเราแหลมไป เสียงเราไม่น่าฟัง คือเป็นอะไรที่เราคงเปลี่ยนให้ไม่ได้ หรือไม่ก็มีเรื่องที่เราเล่นเกมไม่เก่ง อันนี้เราก็ไม่ได้บอกว่าเราเก่ง แต่เราแค่ชอบความสนุก ชอบเอนเตอร์เทน เราก็เล่นมันทั้งเกมง่ายและเกมยาก ถ้าเข้ามาดูแค่เกมเดียวก็จะไม่รู้ แต่ถ้าลองเปิดใจดู จะเห็นว่าเรามีเกมเยอะมาก เกมยาก ๆ แนวเอาชีวิตรอดหลาย ๆ เกมเราก็มี เคยเจอคอมเมนต์เปรียบเทียบว่าทำไมเล่นเกมไม่ดีเลย ไม่เหมือนคนนู้นคนนี้ คือส่วนตัวแป้งไม่ได้ซีเรียสกับมันนะคะ เพราะรู้สึกว่าถ้าเรามีความสุขกับการทำอะไร หรือคิดว่าเราทำตรงนี้ได้ดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฟังคนอื่น เราจะฟังแล้วปรับ ตามคนที่เข้ามาติเพื่อก่อเท่านั้น แต่จะไม่สนใจคนที่มาแบบไม่มีเหตุผล The People: ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อาชีพนี้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคุณบ้างไหม นัยรัตน์: เปลี่ยนเยอะ ตัวแป้งก่อนหน้านี้ไม่ใช่คนพูดเก่งเลย ขี้อายมาก แต่พอได้เริ่มฝึกสกิล ได้ลองพากย์ ลองแคสต์เกมมาเรื่อย ๆ มันทำให้รู้สึกว่าเวลาเราคุยกับคนอื่น เราไม่เขิน เราไม่อายอีกต่อไปแล้ว เหมือนเราได้ปรับบุคลิกภาพเราใหม่ แล้วเนื้อหาในช่องก็ปรับเปลี่ยนไปเยอะ จากตอนแรกที่เล่นเกมผีเป็นส่วนใหญ่ ก็มีการเล่นเกมให้หลากหลายขึ้น เล่นเกมเนื้อเรื่อง มีการทำคลิปท่องเที่ยว ทำคลิปน้องแมว ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก็มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะค่ะ ก็เหมือนเป็นการเติบโตของช่องมากขึ้น The People: ผลตอบรับหลังจากผลิตเนื้อหาแนวอื่น? นัยรัตน์: ค่อนข้างดีนะคะ เหมือนคนที่ติดตามกันมานาน บางทีเขาก็ไม่ได้รู้จักตัวตนของเรามากขนาดนั้น เพราะเห็นแต่ด้านที่เราเล่นเกม แต่พอเราทำคลิปแบบนี้ ก็เหมือนเราเปิดเผยด้านอื่น ๆ ให้เขาเห็นด้วย เวลาไปเที่ยวเราก็จะทำเหมือนเขาเที่ยวไปกับเราด้วย เพราะในคลิปจะพยายามคุยกับเขาตลอดว่า ที่นี่เป็นยังไง อันนี้ดีไหม ก็คอยรีวิว เหมือนเป็นการสร้างคอมมูนิตีระหว่างเรากับแฟนคลับด้วยค่ะ The People: ตอนนี้ครอบครัวของคุณมองเกมอย่างไร นัยรัตน์: ดีกว่าแต่ก่อนมากค่ะ แต่ก่อนคุณแม่มองเกมไม่ดีเลย แต่ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าเราเป็นเด็กไม่ดีมาก่อน เราติดเกม เราก้าวร้าวด้วยเพราะโดนควบคุมเวลา สมัยก่อนกว่าจะเปิดคอมพิวเตอร์ กว่าจะต่อเน็ตได้ ก็ใช้เวลาไปแล้ว 20 นาทีใช่ไหมคะ กว่าจะได้เล่น เราก็รู้สึกไม่เพียงพอเลยโวยวาย พอเป็นแบบนี้เลยทำให้คุณแม่มองเกมเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกของเขาก้าวร้าว แต่ปัจจุบัน เขาคงรู้สึกว่าพอเป็นงานจริง ๆ จัง ๆ แล้ว เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น เราไม่ได้เล่นเกมเพื่อให้สนุกอย่างเดียว แต่เราทำเพื่อคนอื่นด้วย เราเล่นเกมแล้วตัดต่ออย่างยากลำบาก ตัดต่อหลายชั่วโมงมากเพื่อให้ได้คลิป 10 นาทีมาให้น้อง ๆ ได้ดู แป้งรู้สึกว่าคุณแม่เข้าใจเรามากขึ้นแล้ว ทุกวันนี้เขายังคอยถามอยู่เลยว่า เล่นเกมไหม เล่นเกมให้ผ่อนคลายก่อนไหม อย่าไปเครียดมาก The People: คุณบอกว่าตัวเองเป็นคนเบื่อง่าย แต่ก็ยังทำอาชีพนี้มานานถึง 4 ปีได้โดยไม่เบื่อ งานนี้ให้อะไรกับชีวิตคุณบ้าง นัยรัตน์: สำหรับแป้ง เกมให้ทุกอย่างเลยในชีวิต จากแต่ก่อนเราเป็นเด็กขี้อาย ทำอะไรก็กลัว ๆ กล้า ๆ ทำอะไรก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ แต่พอได้มาอยู่จุดนี้ ได้มาเล่นเกมให้ทุกคนได้ดู มันทำให้แป้งมีบ้าน มีทุกอย่างที่ทำให้พ่อแม่สบาย มันทำให้เราเปลี่ยนทัศนคติของเรา จากเดิมที่เคยทำอะไรโดยไม่ได้แคร์คนอื่น เล่นเกมอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่พอมาอยู่ตรงนี้ เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเด็ก ๆ ที่ดูเราด้วย ไม่ว่าใครที่มาดูเรา เขาจะได้ความสุขกลับไป และจะไม่ต้องมานั่งติเราว่า เฮ้ย ลูกฉันดูไม่ได้เพราะว่าคุณหยาบคายเกินไป หรือว่าคุณเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็ก ๆ เพราะเราก็พยายามทำให้ตัวเองเป็นเหมือนไอดอลที่ดีของคนที่อยากจะเป็นเกมแคสเตอร์ หรือเป็นยูทูเบอร์สายเกมด้วย The People: คิดว่าจะเล่นเกมไปถึงเมื่อไหร่ นัยรัตน์: ตอบยากมาก คงเล่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่ไหว หรือไม่ก็เหนื่อยเกินไป เพราะตอนนี้เรามีความสุขมาก ๆ จากการที่ได้เล่นเกมทุกวัน มันมีความหมายมาก เพราะฉะนั้นถ้าวันหนึ่งต้องหยุดไป ความสุขตรงนี้ก็คงหายไปด้วย ก็คงจะทำจนกว่าจะไม่มีคนดูแล้วค่ะ The People: ในอนาคตมีแผนจะทำอะไรต่อ นัยรัตน์: ในหัวก็ยังมีคอนเทนต์ที่อยากทำอีกเยอะมาก นอกจากเล่นเกม เราก็อยากทำการ์ตูน ทำเกมด้วย อย่างปีนี้แป้งก็จะมีการ์ตูนเป็นของตัวเอง เป็นการ์ตูนน้องแมวที่เรื่องราวก็จะเกี่ยวกับน้องแมวที่ได้มาอยู่ในโรงเรียนกับพี่แป้ง คิดว่าน้อง ๆ น่าจะชอบค่ะ เพราะแป้งก็พยายามหาเนื้อเรื่อง หากิมมิกที่น่ารัก ๆ สนุก ๆ มาให้ทุกคนได้ติดตามต่อ ปีนี้ก็คงเป็นอีกปีที่สนุกแน่นอน