จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว

จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว

เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว

“นี่แหละสงครามกลางเมืองที่ผมต้องเจอเกือบทุกวัน เพียงแต่สงครามที่ว่า ไม่ได้ต่อสู้กับใครที่ไหน สิ่งที่พวกผมต้องต่อสู้ คือความเจ็บไข้ ความตาย…” นี่คือฉากต้น ๆ ในซีรีส์ทริอาช (Triage) เสียงบรรยายในหัวของ ‘หมอติณห์’ (แสดงโดย เต้ - ดาวิชญ์ กรีพลฤกษ์) แพทย์ประจำบ้านแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉินอายุ 29 ปี เมื่อเจอกับ ‘เวรเยิน’ หรือเวรดูแลผู้ป่วยในช่วงเวลาที่วุ่นที่สุดในห้องฉุกเฉินที่กลายเป็นสมรภูมิย่อม ๆ ที่คุณหมอต้องลงไปปฏิบัติการ หากเพียงแต่ว่า สมรภูมินี้ไม่ใช่สมรภูมิการรบราประหัตประหารชีวิตกัน แต่มันคือสมรภูมิแห่งการรักษาชีวิตคนที่ตัวละครต้องทำงานอย่างหนักในการถ่ายทอดบทบาทของทีมแพทย์ในห้องฉุกเฉิน นำโดยหมอติณห์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยตั้งแต่คิ้วแตกไปจนถึงเกิดอุบัติเหตุหนักทางรถยนต์  ฉาก long take ที่ถ่ายยาวโดยไม่สะดุดนี้ ทันทีที่เปิดตัวออกมาใน EP.1 ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมในแง่ความสมจริงของฉากและการแสดงในห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล ซึ่งมาจากการเตรียมงานอย่างละเอียดของทีมทำซีรีส์กับการใส่ใจรายละเอียดกับบทสนทนาที่ดูจริงจัง แต่มีคำอธิบายถึงกระบวนการทำงานของแพทย์ที่เข้าใจง่ายแต่ก็ยังคงความสนุกอยู่ จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว “เห็นฉากที่เขาเข้าห้องฉุกเฉินเป็น long take คุณมะเดี่ยวจัดซะ (มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) น่าจะทั้งวัน 14 เทค ถ่ายออกมาใช้ประมาณ 4 - 5 นาที long take ก็คือเดินเข้าห้องฉุกเฉินเจอเคสนี้กล้องตัวเดียวจับอยู่เตียงนี้ เคสอีกเคสหนึ่งมา เคสหนึ่งมา กลับมาเคสนี้ หยิบอุปกรณ์ พยาบาล นักแสดงสมทบทุกอย่าง long take ทั้งหมด” นี่คือคำอธิบายเบื้องหลังฉากสำคัญของซีรีส์ทริอาชที่จารุพร กำธรนพคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานผลิต บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้เป็น Show Runner อำนวยการผลิตให้ซีรีส์เรื่องนี้ ได้เล่าให้กับ The People ได้ฟัง ทริอาชเป็นซีรีส์ Medical Drama ผสมกลิ่นอายแฟนตาซี ว่าด้วยเรื่องราวของหมอติณห์ที่เจอกับเคสนักศึกษาหนุ่มที่บาดเจ็บหนักจากอุบัติเหตุ เขาไม่สามารถช่วยนักศึกษาคนนี้ได้ จึงต้องตกในลูปเวลาวนแล้ววนเล่าเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ให้ได้ ก่อนจะมาเป็นซีรีส์เรื่องนี้... ผ่านกระบวนการทำงานอย่างไร ตั้งแต่การคัดบท การเขียนบท การกำกับ การทำการบ้านของนักแสดง ไปจนถึงเพลงประกอบ ถึงกลายเป็นงานที่น่าสนใจอีกชิ้นของ ‘ทีวี ธันเดอร์’  นี่คือบทสัมภาษณ์ที่จะพาไปสำรวจมุมมองของคนทำงานเบื้องหลัง - จารุพร กำธรนพคุณ คนทำงานเบื้องหน้า - ดาวิชญ์ กรีพลฤกษ์ ผู้รับบทหมอติณห์ ทุกส่วนประกอบ คอยเติมเต็มให้งานซีรีส์นี้ช่วยยกระดับซีรีส์ของไทยได้อย่างไร จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว จุดคัดกรองคุณภาพงาน นวนิยาย-บทดัดแปลง *** ทริอาช (Triage) มาจากคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า Trier หรือภาษาอังกฤษว่า Sort แปลว่า การคัดแยก แยกจัด เป็นหมวด ในทางการแพทย์ ทริอาช จึงเป็นระบบการคัดแยกผู้ป่วยเพื่อจัดลำดับก่อนหลังในการให้การรักษาพยาบาล เบื้องหลังการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ ละเอียดตั้งแต่การเลือกบทซึ่งตั้งต้นมาจากนวนิยายออนไลน์ชื่อดังจากปลายปากกาของ SAMMON ซึ่งนอกจากจะเป็นนักเขียนแล้ว อาชีพหลักของผู้เขียนก็เป็นหมอเช่นเดียวกับตัวละครหลักในเรื่อง “การเลือกบทประพันธ์ จริง ๆ ถ้าถามว่าเรา, ทีวีธันเดอร์ เราทำซีรีส์ ทำละครมาตลอดนะ เราก็สายละคร แต่ก่อนก็มักจะเอาวรรณกรรม ทมยันตี โสภาค สุวรรณ หลาย ๆ อย่าง มาพัฒนาเป็นละคร จนถึงวันหนึ่งเราก็ค้นพบว่า พอมันเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า มันเป็น contemporary drama มันก็ควรเป็นสิ่งที่ หรือมันเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ เขาอ่านกัน เออ…มันก็เป็นเรื่องอีกยุคหนึ่ง มันก็มีโอกาสที่ทำให้เราได้เลือกเรื่องได้หลายแบบมากขึ้น จริง ๆ อย่างเด็กดีก็ถือว่าเป็น platform ที่มันสร้าง เวลาบอกว่าเด็กรุ่นใหม่เขาไม่อ่านหนังสือ อาจจะไม่ใช่ เขามีแบบที่เขาอยากอ่าน แล้วเราเอามาทำให้มันเข้มข้นขึ้น” จารุพรเล่าว่า การทำงานหนักเพื่อคัดเรื่องนวนิยายมาสร้างเป็นซีรีส์ ทำให้เขารู้จักงานนี้ที่เขียนโดย SAMMON ซึ่งถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ “แซมเขาเขียนมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ บทประพันธ์ที่เราเลือกมา เขายินดีให้เรามาปรับพัฒนา มะเดี่ยวเข้าใจแก่นสารของบทประพันธ์ที่เป็น original พี่รู้ว่าตั้งแต่ day 1 พี่ต้องการอะไร มะเดี่ยวเข้าใจในสิ่งที่พี่อยากให้เปลี่ยน พี่เข้าใจในสิ่งที่มะเดี่ยวจะเสนอ เจ้าของบทประพันธ์ยินดี พอมันทำงานร่วมกัน 3 parties แล้วมาเจอนักแสดงที่พร้อมที่จะอุทิศ และเจอแพลตฟอร์มที่พร้อมจะร่วมลงทุนอย่าง AIS PLAY นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะบอกว่า เราจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้อย่างไร” แม้ว่าจะได้นวนิยายที่ดีอันเป็นต้นน้ำแล้ว การจะปรับเปลี่ยนเป็นบทละครที่ดีก็ไม่ต่างจากผลไม้ ที่ต้องบ่มให้สุก ให้หอมหวานด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมถึงจะเห็นผล บทของซีรีส์นี้ จึงใช้เวลาเขียนทั้งหมด 7 - 8 เดือน โดยมีทั้งผู้ประพันธ์และคนที่ทำงานสายแพทย์ช่วยเป็นที่ปรึกษา “จากบทประพันธ์ เรามาคุยกันว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรให้คนดูเสพและย่อยง่าย ทีมนักเขียนบท คนเขียนบท มะเดี่ยวที่คุมทิศทางบททั้งหมดก็ทำการบ้าน คนเขียนบทก็ต้องทำเรื่อง medical มาอยู่แล้ว พอทำ medical เสร็จ เราทำการแก้ไขกันประมาณหนึ่งแล้ว ถึงเวลาเรามีทีมแพทย์ ทีมผู้เชี่ยวชาญมาปรับ มาดูเรื่อง medical check มาดูว่า medical error ต่าง ๆ มีไหม ทีมแพทย์เขาก็จะมาช่วยเช็ก ถึงเวลาเราก็จะมีหน้าที่กรองเอาตะแกรงกรองว่า จะ balance ยังไง อรรถรสทางแบบนวนิยาย และข้อมูลทางการแพทย์ให้ไปในทางเดียวกัน ก็มาช่วยกรองแล้วก็คุยกัน  “ซีรีส์ทริอาช ได้เจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย แล้วเราก็มีที่ปรึกษาอีกท่านหนึ่งที่เป็นหมอเฉพาะทางทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินเลย เพราะฉะนั้นเราบอกกับทีมงานเสมอว่า สิ่งที่ต้องทำมันไม่ใช่แค่กลัว กลัวเดี๋ยวมันไม่ถูกนะ แต่ว่าอาชีพเขาเป็นอาชีพมีเกียรติ อาชีพหมอ แล้วเราจะไปเอาเรื่องของเขามาแล้วทำแบบ เอ้ย! ประมาณนี้น่ะ ถือแฟ้มได้ก็ ถือแฟ้ม ใส่สเต็ทโตสโคปก็เป็นหมอแล้ว มันไม่ได้ ต้องอิงกับข้อมูลของคนที่เป็นแพทย์จริง ๆ” จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว ผู้กำกับและทีมงานที่หายใจในจังหวะเดียวกัน คีย์แมนสำคัญที่ผลักดันให้ซีรีส์นี้ถูกพูดถึง จะไม่พูดถึงชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (มะเดี่ยว) ไม่ได้ เพราะเขาทั้งกำกับซีรีส์และเป็นหัวหน้าทีมเขียนบท ซึ่งรับประกันความละเอียดในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะการลงรายละเอียดในการแสดงออกทางความรู้สึกของตัวละครอันเป็นลายเซ็นที่ชัดเจนและสวยงามผ่านภาพยนตร์ที่เขาเคยกำกับหลายต่อหลายเรื่อง อย่างเช่น 13 เกมสยอง, รักแห่งสยาม, Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ, เกรียน ฟิคชั่น และ ดิว ไปด้วยกันนะ จารุพรเล่าว่า การที่ชูเกียรติมาร่วมปั้นซีรีส์นี้ เหมือนกับได้คนที่มีหัวใจแบบเดียวกันมาร่วมงาน “เราคัดกรองให้เจอคนที่มีหัวใจแบบเดียวกันมาร่วมงานกัน เพราะอุตสาหกรรมบันเทิงมันพร้อมจะเติบโต แล้วเป็น soft power ให้กับประเทศนี้ได้จริง ๆ content ที่เป็นซีรีส์ มันนำพาประเทศเราไปอยู่บนพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั่วโลกจริง ๆ แล้วยิ่งวันนี้มันรวดเร็วมาก การที่อุตสาหกรรมทั้งหมดมันช่วยกันพัฒนาให้มีนักแสดงแบบนี้ มีคนเขียนบทแบบมะเดี่ยว มีผู้กำกับอย่างมะเดี่ยว มีทีมทั้งหมดที่เราสร้างขึ้นมา ที่เข้าใจกระบวนการ research แม่นยำ ตรวจสอบช่วยกันผลักดันให้ดี “อันนี้มันเป็น asset มันเป็นทุนมนุษย์ของประเทศนี้จริง ๆ เพราะฉะนั้น ความสนุกของเราในตอนนี้คือ เราโชคดีว่ะ เราหายใจจังหวะเดียวกัน เรา tempo เดียวกันกับทีมงาน มีมะเดี่ยวเป็น director แล้ว เราไม่กลัวว่ะ เราไม่กลัวอะไรเลย เดี๋ยวเราจะเจออะไรกันอีก เดี๋ยวเราก็ใช้โมเดลนี้ในการสร้างงาน พี่ว่า เออมัน happy และมีความหวัง” จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว การทำงานหนักเพื่อสวมบทบาทของ ‘หมอติณห์’ แม้ว่านวนิยาย บทดัดแปลง ทีมงานกำกับ จะหายใจในจังหวะเดียวกันอย่างไร ซีรีส์ ‘ทริอาช’ จะสมบูรณ์ครบองค์ประกอบไม่ได้ หากขาดนักแสดงผู้นำเสนอเรื่องเล่าดังกล่าวนี้ ตัวละครหมอติณห์ ที่รับทโดย ดาวิชญ์ กรีพลฤกษ์ ถือเป็นอีกหนึ่งรสการแสดงที่ได้รับคำชมเชยในความสมจริงของการรับบท ระดับที่จารุพรบอกว่า เขาได้ ‘กลืน’ ตัวละครตัวนี้เข้าไปในระดับที่แม้ว่าจะถ่าย long take ถึง 14 ครั้ง แต่ดาวิชญ์ก็ยังจำบทและเล่นต่อแบบมืออาชีพได้อย่างไหลลื่น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว สมัยเรียนปริญญาตรีเขาเรียนบริหารธุรกิจ แต่เมื่อรับบทเป็นหมอ โจทย์สำคัญของเขาคือ จะใช้เวลาเตรียมตัวในหลัก ‘เดือน’ อย่างไรเพื่อให้คนดูเชื่อในบทบาทนี้ ซึ่งในความเป็นจริงต้องใช้เวลาหลักหลาย ‘ปี’ ในการก่อร่างสร้างความเชี่ยวชาญในอาชีพแพทย์ในชีวิตจริง ดาวิชญ์เล่าถึงการทำการบ้านอย่างหนักหน่วง ก่อนที่ผู้กำกับในซีรีส์ ‘ทริอาช’ จะพูดคำว่า ‘แอ็กชัน’ เพื่อเรียกเขาเข้าฉาก “วันแรกที่ผมไปเจอคุณหมอ ER (หมอห้องฉุกเฉิน) ก็ถามเขาว่าหมอติณห์ในเรื่องรับบทเป็น ER resident ปี 3 (แพทย์ประจำบ้าน หรือแพทย์ที่กำลังเรียนต่อสาขาเฉพาะทาง) เขาชำนาญแค่ไหน เขาเก่งแค่ไหนในชีวิตจริง เขาก็บอกว่าเรียนแพทย์ 6 ปี ไปใช้ทุนอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วก็ไปเรียนต่อเฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินอีก 3 ปี นั่นแหละครับคือ ER ปี 3 resident ปี 3 เต้ก็ตายละ มันไม่ใช่แค่ถือแฟ้มประวัติคนไข้ เดินไปเดินมาแล้วครับ แต่คือคนที่ผ่านประสบการณ์แพทย์มาถึง 10 ปี เคสแต่ละเคสคงผ่านตามาหมดแล้ว คุณต้องเชี่ยวชาญมาก ๆ ประมาณหนึ่งเลย คุณคงไม่จับสเต็ทโตสโคปของคุณหมอ หรือว่าถือเข็ม ถือเครื่องมือทางการแพทย์แล้วมันไม่เข้ามือ เต้ก็เลยคิด โห! งั้นเราต้องเป็น resident ปี 3 ให้ได้ “ภายในเวลา 3 – 4 เดือนเราคงเป็นคุณหมอที่มีประสบการณ์ 10 ปีไม่ได้ทั้งหมดหรอก เต้ก็เลยพยายามนั่งลิสต์ทำ to do list ของตัวเองว่า ภายในเวลา 2 – 3 เดือนเนี่ย เราต้องฝึกสิ่งที่จำเป็น ต้องใช้ในการแสดง ดึงทั้งหมดนั้นออกมา เต้ก็เริ่มลิสต์เลยว่า อะไรที่เราต้องใช้ โรคอะไรที่เราต้องรู้จัก เครื่องมือหรือว่าอุปกรณ์ไหนที่เราต้องฝึกให้ชินมือ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการฝึกเพื่อถ่ายทอด attitude ของการเป็นหมอ ก็คือลองฝึกเอาสิ่งที่เราต้องใช้ในเวลาจำกัด หลังจากที่ไป workshop ก็ครั้งแรกให้ลองจับสเต็ทโตสโคป หูฟังคุณหมอ หรือว่าจับเข็ม พอไปจับครั้งแรกแล้วมือสั่นครับ คือกลายเป็นว่า เฮ้ย! ไม่ได้ละ เราเป็น resident ปี 3 จะมาจับอุปกรณ์แพทย์แล้วจะหลุดมืออย่างนี้ไม่ได้ หลังจากนั้นเต้เลยขออุปกรณ์คุณหมอที่มา consult กลับบ้าน เพราะว่าถ้าด้วยเวลาเท่านี้ เต้จะจับมันทุกวัน กลับบ้านไปเต้ห้อยสเต็ทโตสโคปไว้ตลอด” นอกจากจะฝึกฝนการใช้เครื่องมือแล้ว ทางลัดในการเรียนรู้คือการอ่านวารสารทางวิชาการแพทย์ หรือเปิดยูทูบหาข้อมูลเพื่อจูน attitude ให้ตรงกับตัวละคร “ก็ดูยูทูบ อ่านบทความว่าแบบ อ๋อ! ฟังเสียงชีพจรตรงนี้เพื่ออะไร โรคนี้มีกรรมพันธุ์หรือว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ต้องระวังอะไรบ้าง พออ่าน ๆ เริ่มทำความเข้าใจ มันเลยแทบไม่ต้องจำแล้ว มันให้อารมณ์แบบ อ๋อ! โรคนี้เหรอ มันเกิดจากสาเหตุนี้ เราต้องจัดการมันด้วยวิธีการรักษาแบบนี้ พอเรามั่นใจ ก็เริ่มสบายใจ เริ่มโอเคแล้ว และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำการบ้านก็คือ attitude ของคุณหมอ อันนี้เป็นหัวใจเลย เหมือนที่พี่นุ้ยจะบอกตลอดว่า attitude ของคุณหมอ ER คืออะไร คำถามนี้ทำให้เต้จะคอยตอบตัวเองเสมอเวลาเข้าฉากว่าคุณหมอต้องมี Determination และ Commitment ในการที่จะช่วยเหลือคนไข้จริงๆ อันนี้แหละเป็นเหมือนเสาหลักที่เรายึดถือไว้ในการที่จะเป็นตัวละคร เป็นหมอติณห์ให้ดีที่สุดจริงๆ” ความสำเร็จนี้ไม่มีทางลัด การฝึกตัวเองอย่างหนัก ผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างชัดเจนคือเสียงชื่นชมของคนดูที่มีต่อบทบาทหมอติณห์ที่เขาถอดหัวใจมาใส่ในงานแสดง จารุพร กำธรนพคุณ: เบื้องหลัง‘ทริอาช’ ซีรีส์การแพทย์ที่ยกระดับซีรีส์ไทยไกลอีกก้าว ทริอาช จะพาซีรีส์ไทยไปไกลแค่ไหน นี่แหละสงครามกลางเมืองที่ผมต้องเจอเกือบทุกวัน…” เสียงบรรยายของหมอติณห์ที่พูดถึงบรรยากาศในห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลนั้น ไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิในโลกของซีรีส์เลย  นอกจากการแข่งขันอย่างหนักหน่วงกับซีรีส์ของไทยที่พัฒนาขึ้นแบบดีวันดีคืน ทีวี ธันเดอร์ ในฐานะผู้ผลิตทริอาชยังอยากเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับงานของตัวเองขึ้นมาเทียบเคียงกับนานาชาติ โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลีที่ไปไกลระดับโลกแล้ว “เราไม่กล้าพูดว่า content ไทยจะไปเวทีโลกได้ แต่วันนี้เราจะ move ไปไหน เรา move เพื่อช่วยกันดันอุตสาหกรรมนี้ให้มันเติบโตได้จริง ๆ ถ้าอุตสาหกรรมนี้มันเติบโต ทั้งหมดมันจะโตหมด นักแสดงมีงานทำ ทีมงานทุกคนที่อยู่ในองคาพยพทั้งหมดของกระบวนการผลิตมันมี เพราะฉะนั้น ถามว่าเราจะหาอะไร คำตอบคือ เราก็หาโอกาส หา content ที่มัน touch ได้ในระดับสากล โดยที่เรื่องมันอาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องไทยนะ แต่สุดท้ายงานที่ทำ นักแสดงไทย วิธีคิดแบบไทย คนเขียนบทคนไทย เจ้าของบทประพันธ์ไทย แล้วมันจะดัน แล้วกลายเป็นเครื่องมือที่เป็น soft power “วันนี้ถ้าถามว่า ถ้าภาษาการตลาดมันก็คงพูดว่า เราหา blue ocean เนอะ  content เป็น red ocean อยู่แล้ว เพราะมันเยอะ แต่ content ในรายละเอียดปลีกย่อย เราว่ามันมีโอกาสให้ทำได้เยอะ สมัยก่อนคนไม่กล้าทำเรื่องอาชีพ อาชีพก็ทำได้ไม่กี่อาชีพ นักธุรกิจก็ประชุมอย่างเดียว อาชีพนักธุรกิจทำอยู่แต่ในห้องประชุม แต่ว่าต่อไปเราอาจจะเริ่มแบบอาชีพ start-up ก็ได้ แบบที่ประเทศเกาหลีทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถามพี่ว่า Content ทีวี ธันเดอร์ จะ move ไปไหน สิ่งที่เราพยายามทำตลอดก็คือเราพูดเรื่อง contemporary drama ก็คืออะไรที่มัน คน related ได้จริง ๆ” จารุพรทิ้งท้ายว่า ความสำคัญของประเด็นนี้อยู่ที่การมีส่วนผลักดันให้เกิดการสร้าง soft power ให้เกิดขึ้นจริง ๆ ในไทยให้ได้ “ทริอาชทำให้นักเขียนไทยเติบโตได้มีคนรู้จัก นวนิยายเรื่องนี้ดังในต่างประเทศ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ถูกแปลไปเป็นภาษาอื่น ๆ นี่เรียกว่า soft power นักแสดงไทย production ไทย ถูกต่างชาติมอง เรื่องนี้พี่ขายลิขสิทธิ์ให้ได้แล้วในหลายประเทศ กำลังจะฉายที่ญี่ปุ่นใน platform ที่ใหญ่ที่สุด “นี่เรียกว่า soft power เมืองนอกได้เห็นว่า เฮ้ย! วงการแพทย์ไทยมันโอเค คนเขียนบทไทยมันโอเค นักแสดงไทยมันโอเค production ไทยมันโอเค แล้วเค้าสนใจซื้อ content ไทย นี่เรียกว่า soft power สร้างมูลค่าได้ หัวใจมันอยู่ตรงนี้ นักแสดงเข้าใจ คนเขียนบททำงานร่วมกันแล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แล้วก็ได้ตั้งไข่ที่คนบอกว่า เฮ้ย! ซีรีส์แบบนี้ ซีรีส์ทางการแพทย์มันจะทำได้เหรอ มันก็ทำได้จริง ๆ มันยังไม่ได้ดีที่สุด แต่เราก็พร้อมที่จะปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ให้ดีกว่าเดิมได้อีก”   *** ติดตาม AIS PLAY Original เรื่อง “ทริอาช” ผลิตโดย “ทีวี ธันเดอร์” ทุกวันจันทร์ทาง AIS PLAY และทาง ช่อง 3 กด 33 เวลา 23.00 น.