เทพบาร์: บาร์วัฒนธรรมที่อนุรักษ์ความเป็นไทยแบบไม่ทิ้งไว้บนหิ้ง

เทพบาร์: บาร์วัฒนธรรมที่อนุรักษ์ความเป็นไทยแบบไม่ทิ้งไว้บนหิ้ง
พระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน แต่ชีวิตกลางคืนของผู้คนกำลังเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซอยนานาที่เต็มไปด้วยร้านลับและกลิ่นอายแห่งความทรงจำของย่านกรุงเก่า เราเดินเปิดแผนที่เพื่อตามหาร้านนั่งกินนั่งดื่มที่ไม่ได้มีดีแค่อาหารและดนตรี แต่บรรยากาศและเครื่องดื่มยังคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายความเป็นแผ่นดินทองของไทย ชนิดที่การันตีโดยชื่อเทพยดาที่กลายมาเป็นเมนูค็อกเทล และชื่อของร้านอย่าง ‘เทพบาร์’ บาร์ลับนำทีมโดย ‘แอนท์ - อัศวิน โรจน์เมธาทวี’ เจ้าของร้านไฟแรงที่ทำให้แขกผู้มาเยือนได้รู้ว่า ‘ความเป็นไทยนั้นเป็นอย่างไร’ โดยไม่ต้องจ้องดูเพียงหน้ากระจก หรือชะเง้อหน้ามองบนหิ้ง แต่สามารถ ‘สัมผัส’ ประสบการณ์กันได้จริง ๆ เทพบาร์ถูกเรียกขานกันว่าเป็น ‘บาร์วัฒนธรรม’ เพราะตั้งแต่คอนเซ็ปต์ของร้าน เมนูอาหาร เครื่องดื่ม ดนตรี อุปกรณ์ของตกแต่ง ไปจนถึงกำแพง ทุกอย่างล้วนมีสารตั้งต้นเป็นวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ ‘ของไทย’ ไม่หยุดอยู่แค่ในประเทศ แต่โด่งดังไปไกลถึงทั่วโลกจากประสบการณ์ที่ตราตรึงใจผู้มาเยือนทุกคน สำหรับใครยังไม่เคยได้ยินชื่อเทพบาร์ หรือยังมีคำถามอยู่ว่า บาร์แห่งนี้เสิร์ฟความเป็นไทยให้กับแขกอย่างไร บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะไขทุกคำตอบ พร้อมพาคุณไปรู้จักกับบาร์ยุคใหม่ในพื้นที่ยุคเก่าที่มีดีมากกว่าแค่คอนเซ็ปต์ เพราะความเป็นมาของร้าน และการฝ่าฟันอุปสรรคช่วงโควิด-19 ของเจ้าของร้านก็ติดตามไม่แพ้กัน The People: อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเปิดบาร์วัฒนธรรมแห่งนี้ แอนท์: 8 ปีที่แล้วผมกับภรรยาทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งที่นั่นเป็นจุดศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย แรงงานต่างชาติทั้งตะวันตกและตะวันออกไปทำงานที่สิงคโปร์กันเยอะมาก พอเป็นแบบนั้น หลาย ๆ คนก็เริ่มหลงใหลของ ๆ คนไทย เช่น ร้านอาหารไทยเต็มสิงคโปร์เลย ทุกคนพอรู้ว่าเราเป็นคนไทย เขาก็จะบอกว่าเขาชอบอาหารไทยมาก เขาชอบหลายอย่างของไทย เราก็สั่งสมมา พร้อมคำถามว่า ชอบขนาดนั้นเลยหรอ ทั้ง ๆ ที่เราอยากจะหนีออกไปในตอนนั้นนะ เสร็จแล้วก็เกิดจุดพลิกประมาณปี 2013 ที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเยอะมาก ๆ เราชนะทุกประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เราเป็นอันดับหนึ่งของโลก กรุงเทพฯ เนี่ยนะที่มีคนมาเที่ยวเยอะที่สุด ตอนนั้นททท. เขาเปิดข้อมูลเป็นสาธารณะ เราก็เห็นว่าคนเข้ามาในเมืองจากทางไหนบ้าง ใช้จ่ายต่อหัวเท่าไหร่ จ่ายเงินโรงแรมเท่าไหร่ เราก็เห็น Top 10 ของชาติที่ใช้จ่ายแล้ว เราก็เลยคิดว่าจะออกจากบริษัทมา ก็ชวนเพื่อน ๆ มา ที่มาที่ไปคือ ถ้าบ้านเรามีของดี ของดีนั้นคืออะไร? ถ้าเรากลับมาทำแบรนด์ของคนไทย เราจะทำได้ไหม? เทพบาร์จึงเกิดจากการคิดว่าอยากมีแบรนด์ของคนไทย และหาทางรอดให้ได้ โดยที่ไม่เป็นพนักงานเงินเดือน จากข้อมูลนั้น เราก็ทำการบ้านต่อจนได้ว่า ของดีของไทยคือวัฒนธรรม วัฒนธรรมก็คือของที่ชาติอื่นไม่มี หรือของที่เรามีโคตรเยอะเลย มันเยอะมากจนไม่รู้จะขายอะไร The People: เส้นทางพัฒนาคอนเซปต์วัฒนธรรมหลังจากนั้นเป็นอย่างไร แอนท์: เราลองไปเสิร์ชคำว่าไทยบาร์ ตอนนั้นที่อยากทำบาร์ เพราะธุรกิจที่ทำที่สิงคโปร์คือบริษัทเบียร์ มีแบ็คกราวน์ประมาณ 7-8 ปีที่บริษัทเบียร์ก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่พอเสิร์ชไทยบาร์ สิ่งที่ขึ้นคือ อะโกโก้ พัฒพงษ์ เราอยากให้ชาวต่างชาติจำภาพประเทศไทยแบบนี้หรอ? ไหนวัฒนธรรม? ก็เลยมาปั้นว่าถ้าทำไทยบาร์หรือไทยแบรนด์มันต้องมีอะไรบ้าง เราเลยเรียกว่ามันว่า Cultural Bar หรือบาร์วัฒนธรรมเลย แล้วก็ตั้งชื่อว่าเทพ เพราะกรุงเทพฯ คือชื่อที่เรารู้จักกัน แต่ถ้าจะให้ฝรั่งเรียกกรุงเทพฯ ในยุคนั้นคงยาว ก็เลยเป็นชื่อเล่น เทพ อีกความหมายหนึ่งก็คือ มันไม่ใช่บาร์ที่คุณเห็นในกูเกิ้ลที่มันฮิตในยุคนั้นนะ มันคือประสบการณ์อีกขั้นหนึ่ง เหมือนคุณถูกยกระดับอะไรบางอย่าง เราก็ได้คอนเซ็ปต์และเริ่มหาตึก ที่นี่คือตึกสมัยรัชกาลที่ 5 จริง ๆ เราหาหลายโลเคชัน เขตนี้คือเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นเขตที่ 2 จากพระราชวัง มันก็จะมีตึกยุคนี้อยู่เยอะมาก เราก็มาทำเยอะมาก มันไม่ได้มาเป็นบ้านที่สวยงามแบบนี้ เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์บาร์วัฒนธรรมมันก็เลยเป็นที่มาที่ไปมาต่อยอด แล้วบาร์วัฒนธรรมแปลว่าอะไร? วัตถุดิบทั้งเครื่องดื่มและอาหารต่อยอดจากของดีของบ้านเราหมด มันเหมือนเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำ อย่างโบราณ เดินออกจากบ้าน เดินลงชานบ้านมา ของในบ่อน้ำ ของในดิน ต้นไม้ทุกอย่าง เอามากินเอามาใช้ได้หมด นั่นคือคอนเซ็ปต์ ทุกอย่างจึงเน้นวัตถุดิบไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาจากชาวบ้าน อาหารเองก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่ตัววัตถุดิบอาหาร แต่รวมถึงอุปกรณ์ที่เราใช้เสิร์ฟ อย่างไม้ ก็เป็นไม้ต้นมะม่วง ซึ่งสมัยนี้คนไม่ปลูกแล้ว เพราะต้นมะม่วงไม่เท่ แต่จริง ๆ แล้วไม้มะม่วงมันกลายมาเป็นจาน ซึ่งจานยี่ห้อนั้นเขาส่งไปขายที่อเมริกา คนไทยไม่มีใครซื้อ แต่เราก็ไปคุยกับเขาว่าอยากได้ทรงนี้ พี่ทำให้ผมได้ไหม เขาก็ทำให้ เพราะฉะนั้นก็คิดทุกขั้นตอนเลย ทุกอย่างใช้ของไทย ของกิน เครื่องดื่มเป็นภูมิปัญญาจากทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ส่วนของตกแต่ง เรากำลังบอกว่ายุคทองของไทยมันต้องกลับมาได้ไหม ถ้าดูจากผนังร้าน มันเหมือนมีทองฝังอยู่ ก็เป็นคอนเซ็ปต์ยุคทองของไทยว่า มันต้องเรืองรอง มันคือการเอาวัฒธรรมที่คนแก่ชอบบอกว่า อย่าไปยุ่ง ห้ามทำ ถ้าเราแขวนไว้บนหิ้ง มันก็จบ แต่เราคิดว่า วัฒนธรรมมันจะอยู่ได้ เราต้องเอามาต่อยอด มันจะขัดกับความคิดโบราณว่า ทุกอย่างต้องเก็บไว้ ห้ามไปแตะต้อง เราโดนชาเลนจ์เรื่องนี้มาเยอะมาก แต่เราก็ไม่สน เรารู้สึกว่าต้องทำ ในยุคทองของไทยมันมีอะไรอีกเยอะมาก เช่น การเสพดนตรี ที่นี่มีดนตรีสด เป็นวงดนตรีไทยเดิม แต่เราเอามาสร้างใหม่ ปกติวงดนตรีไทยเดิม เขาจะเล่นตามงานศพ งานพิธีต่าง ๆ เล่นอยู่ไกล ๆ แต่เราโมดิฟายมา จาก 10 กว่าคนมาเป็น 4-5 คน เป็นพระเอกอยู่กลางร้าน นักดนตรีก็เป็นอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครุศาสตร์ ดนตรี หรือศิลปศาสตร์ มศว ดนตรีก็เป็นอีกสิ่งที่คนมาเทพมาแล้วมาดู เราเปิดเพลงไทยจากทุกยุคทุกสมัย The People: ทำไมถึงไม่อยากเก็บวัฒนธรรมไทยไว้บนหิ้ง แอนท์: เราอยากต่อยอดวัฒนธรรม ถ้าจะให้มันอยู่ได้ มันต้องไปได้ ยุคนี้เขาเรียก soft power แต่เห็นพูดกันเยอะมาก ไม่เห็นมีใครทำอะไรเลย ปีนี้เราเปิดมาเข้าปีที่ 7 แล้ว ททท. มาขอใช้พื้นที่ถ่ายโฆษณาเยอะมาก บางทีโปรดักชันเฮาส์ก็มาเช่า ร้านเราอยู่ในหนังที่ไปเผยแพร่เยอะพอสมควร จริง ๆ ช่วง 5 เดือนแรกที่เปิดร้านไม่มีคนไทยมาเลย ก็คิดว่าจะเจ๊งไหม ตั้งแต่คนใกล้ตัว พ่อแม่ยุคนั้นเขาก็ตั้งคำถามว่า ใครจะมากินของไทย จนกระทั่งมันมีหนังสือ Monocle ที่เป็นเรื่องแบรนด์ เรื่องดีไซน์ เขาค้นเจอเราในเฟซบุ๊กแล้วก็บินมาสัมภาษณ์ พอ Monocle เอาเราไปลงในหนังสือของเขา หลังจากนั้นทุกสื่อในไทยก็แห่กันมา กลายเป็นว่าคนมากัน The People: บรรยากาศของร้านช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดเป็นอย่างไรบ้าง แอนท์: ส่วนใหญ่ที่นี่นักท่องเที่ยว 80% คนไทย 20% กลายเป็นว่า 3 ปีให้หลังก่อนโควิด-19 มันก็เป็นเป้าหมายว่า ถ้าแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเรา เขาจะพามาที่นี่ ถ้าฝรั่งอยากมาเขาก็จะมากันที่นี่ เราก็พัฒนาผลงานไปเรื่อย ๆ The People: แล้วช่วงโควิด-19 ระบาดเป็นอย่างไรบ้าง ดิ้นรนกันอย่างไร แอนท์: หนักมาก (ยิ้ม) รายได้แทบจะเหลือ 0 ไม่เกิน 10% โดนปิดด้วย ปิดรอบแรก เราคิดกันก่อนว่าจะทำอย่างไรดี คนมาเสพประสบการณ์หรือเสพอาหารกัน? ตอนแรกเราก็ทำอาหารก่อน ทำเดลิเวอร์รี คิดว่าน่าจะขายได้ใส่กระบอกไม้ไผ่ ทำเต็มที่ ส่งขายกัน เจ๊ง เพราะคนไม่ได้อยากจะกินอาหาร คนอยากมาเสพประสบการณ์ที่นี่ อาหารเป็นตัวรอง แต่หยุดไม่ได้ เพราะถ้าหยุด ทุกคนจะไม่มีรายได้ เราคิดต่อ งั้นลองค็อกเทลไหม ก็ทำค็อกเทลซีซันแรกออกมา เรียกว่า ‘Work from home series’ เป็น DIY ค็อกเทลที่เราคิดสูตรขึ้นมาว่า เพียงแค่คุณฉีกซองที่หนึ่ง สอง สาม เทใส่น้ำแข็ง คุณกินได้เลย แต่มันทำเดลิเวอร์รีไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ก็ต้องเป็นแบบทูโก สั่งแล้วมารับเอง มันเป็นช่องว่างไร้สาระที่ทำให้เรา suffer เสร็จแล้วก็เริ่มมีกฎหมายออกมา ตำรวจมาตรวจ บอกคุณห้ามขาย ห้ามลงรูป จบอีก ก็เลยออกเป็นซีรีส์ที่ 2 non - alcohol เป็นม็อกเทล มีลิมิเต็ดอิดิชันให้คนซื้อ แต่เสร็จแล้วปิดอีกเวฟ 3 ทีนี้ยาวเลย พอดียุคนั้นเป็นยุคที่คนพูดถึงหมอชนะ เราชนะ เราก็ประชุมกัน งั้นเอาเครื่องดื่มที่เป็นสมุนไพรเป็น booster ไหมชื่อ ‘เทพชนะ’ ก็กลายมาเป็นเครื่องดื่มเทพชนะ มี 7 สูตร ใช้สมุนไพรที่เราสั่งไว้มากมายแล้วไม่ได้ขาย แต่ต้องทำ เพราะไม่งั้นมันเสีย ก็เอาสมุนไพรพวกนั้นมาต้มแล้วทำเป็น booster อันนี้ขายออนไลน์ได้เต็มที่ ทุกคนต้องปรับโหมดกันหมด แล้วก็ปิดอีกนานมาก 6-8 เดือน จนได้มาเปิดเมื่อธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา The People: ปิดร้านกันไปนานขนาดนั้น อะไรคือแรงใจให้กลับมาเปิด แอนท์: มีแค่ 2 เรื่องหลัก ไม่รู้ว่าน้ำหนักเท่าไหน แต่เรื่องที่ 1 คือ หนี้ (หัวเราะเบา ๆ) ถ้าเราสวมหมวก 2 ใบ ใบที่หนึ่งคือธุรกิจ เราต้องพยายามประคองเพื่อให้คนของเราอยู่กับเราไปได้ไกลที่สุด ทำให้เราต้องกลับไปเป็นหนี้อีกครั้ง ต้องไปกู้เพิ่ม ผมเชื่อว่าทุกคนมีกันหมด ไม่ใช่ผมทุกข์คนเดียว อันที่สอง ผมรู้สึกว่าแบรนด์นี้มันไปได้ ที่เล่าเรื่องแบรนด์ที่มาที่ไป เรารักมันมาก เรามีไฟกับมันมาก เราอยากให้มันไปต่อ เพราะก่อนยุคโควิด-19 คนเกาหลีก็อยากให้เราไปเปิดที่โซล แต่พอโควิด-19 มา ทุกอย่างก็ยุติไปนานแล้ว นั่นคือความคิดว่า ถ้ามันต่อยอดไปอยู่ต่างประเทศไทยมันอาจจะเวิร์กก็ได้ The People: เทพบาร์อยากส่งมอบอะไรให้กับแขกผู้มาเยือน หรืออยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต แอนท์: ในฐานะที่เราเป็นร้านเล็ก ๆ ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ เรารู้สึกว่า เสียงเล็ก ๆ หรือสิ่งเล็ก ๆ ที่เรากำลังทำมันจะส่งพลังไปสู่คนไทย หรือคนต่างชาติ หรือใครก็ได้บนโลกนี้ที่รู้สึกว่า การต่อยอดวัฒนธรรมของเรามันน่าจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุดของประเทศนี้ จะขายข้าวอยู่วันยังค่ำมันไม่ได้ คุณต้องทำให้ข้าวนั้นมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสิบเท่าร้อยเท่า ทำไมเราไม่ทำ ดนตรีไทยของเราจะปล่อยให้มันตายหรอ? ก็ต่อยอดให้มันคุณค่ามากขึ้นสิ ซึ่งเราทำอยู่ ร้านเราขายของแพงนะ ราคาเหมือนโรงแรม 5 ดาว มี service charge มี vat แต่เราไม่เคยมีปัญหากับนักท่องเที่ยวหรือใครก็ตามที่อยากมาใช้จ่าย เพราะเขามีความสุขกับบริหารและประสบการณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำแบบนี้มาได้ปีนี้ปีที่ 7 จะเข้าปีที่ 8 ถ้าประเทศไทยเอาจริง เชื่อว่าของที่เรามีมันขายได้ เขาต้องหยุดทำเรื่องไร้สาระ แล้วหันมามองเรื่องนี้อย่างจริงจังสักที มันถึงจะไปได้ เกาหลี เหล้าโซจูไปทั่วโลก เขาไม่ได้มาปิดกั้นไร้สาระ นักร้องนักแสดงเป็นพรีเซนเตอร์ได้ นี่คนธรรมดาจะโพสต์รูปเหล้ายังผิด ยังโดนปรับ ทำไมเหล้าอุ เรณูนคร ยังเป็นแบบนี้ ยังอยู่แค่นี้ คนอยากกินมาก คนตื่นตาตื่นใจอยากกิน มันทำจากข้าวเหนียว แต่เขาไม่สามารถสัมผัสมันได้ คนธรรมดาทำให้มันกลายเป็นแบรนด์ยิ่งใหญ่ไม่ได้ เพราะมันคือการผูกขาดสำหรับเจ้าสัวเท่านั้น ถ้า 77 แบรนด์จาก 77 จังหวัดมันสามารถไปได้ทั่วโลก แต่ตอนนี้ไม่ได้ 77 แบรนด์ต้องแดกแต่เบียร์อันนี้ ๆ เท่านั้น เรารู้สึกว่าเสียงเล็ก ๆ สิ่งเล็ก ๆ ที่เรากำลังทำมันถึงเวลาต้องขยายได้แล้ว เราใช้ซัพพลายเออร์หลายอย่างจากชุมชน กระบอกไม้ไผ่ที่เราใช้มาจากหลายจังหวัด ยุคแรกมาจากสุพรรณ ปรับกันไปเรื่อย ๆ ถ่านไม้มาจากราชบุรี ข้าวเกรียบว่าว ทุกคนมีรอยยิ้ม เราก็ใช้ของพวกเขามาหลายปีแล้ว ถึงเราจะเป็นร้านเล็ก แต่เวลาเราสั่งของทุกคนก็มีความสุข The People: โควิด-19 ที่ผ่านมาสอนให้เราเติบโตอย่างไรบ้าง แอนท์: มันสอนให้เราประคองสติ ทุกอย่างมีทางออก มันแทบจะไม่มีปัญหาอะไรที่เราแก้ไม่ได้ เราจะบอกว่าโควิด-19 คือไวรัสฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ได้ แต่ถ้าเอาจริง ๆ ถ้าเราถอดใจแต่แรก เราคงปิดร้านไปแล้ว ไม่ต้องกู้เพิ่ม แต่เราไม่เลือกทางนั้น เท่าที่เช็คกับเพื่อนในวงการเหล้า-เบียร์ ร้านที่ถูกปิดตัวไปในยุคโควิด-19 ประมาณ 40-50% จากจำนวนทั้งหมด สมมติมีแสนร้านค้าก็คือหายไป 40,000 ไม่สามารถกลับมาได้อีกแล้ว นั่นคือความเป็นจริง ซึ่งจริง ๆ มากกว่านั้นอยู่ร้าน ร้านเล็ก ๆ ไม่ได้อยู่ในระบบ ของเราทุกคนในร้านอยู่ในประกันสังคม เราถูกนับจริงในระบบ นั่นแหละ ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ แต่ว่าแก้ยากเหมือนกันนะประเทศนี้ (หัวเราะ) The People: สำหรับคนที่เจอประสบการณ์หนัก ๆ แบบเดียวกัน อยากจะฝากข้อความอะไรถึงพวกเขาบ้าง แอนท์: เราคุยกันอยู่ในกลุ่มที่รู้จักกัน ทุกคนก็ปิดร้านเยอะมาก มีช่วงที่บางคนถูกปิดเลย แล้วเปิดไม่ได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นร้านอาหาร แต่เราจดทะเบียนเป็นร้านอาหารตั้งแต่วันแรก แต่ว่ายุคที่ใคร ๆ ปิด เราเปิดได้หมด เพราะฉะนั้นถ้าจะให้กำลังใจ การทำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในเมืองไทยมันมีข้อจำกัด เงื่อนไขเยอะมาก เยอะจนไม่อยากทำ ถ้าผมถอดใจตั้งแต่เห็นเอกสารปึกนั้นผมก็ไม่เปิดแล้ว แต่ทุกคนร่วมกันทำให้มันเกิด เลยรู้สึกว่า ถ้าคุณเข้าใจมันอย่างจริงจัง ไม่นับเรื่องงบประมาณ มันมีช่องเยอะ เราต้องขอบคุณทีมงานที่เขายอมเดินไปกับเรา พอเราพร้อมเขาก็กลับมา การรู้ตนว่าเมื่อไหร่ต้องหยุด เมื่อต้องเดิน เมื่อไหร่ต้องชะลอ อันนี้คือสำคัญ The People: บรรยากาศเก่า ๆ ในซอยนานาเป็นอย่างไรบ้าง คิดถึงไหม แอนท์: ซอยนานาครึกครื้นมาก เรามาร้านแรก ๆ แล้วร้านที่เหลือก็ตาม ๆ กันมาจนเป็นชุมชน บางร้านทะเลาะกับชาวบ้านบ้าง เขาบอกเสียงเราดัง เราก็ทำที่กั้นเสียงเพิ่ม แต่ตอนนี้ปิดถาวร 2 ร้าน ที่เหลือกลับมาเปิดแล้ว ตอนนี้เราทำ ATK Test ทำกันเอง เพราะรัฐไม่สนใจ เราทำมาหลายเดือนแล้ว ตรวจ ATK ทุกคนก่อนเข้าร้าน แล้วก็แสตมป์ ถ้าแสตมป์แล้ว เข้า 7-8 ร้านในซอยนี้ได้หมด เราทำกันเอง จ้างพยาบาลเอง ซื้อ ATK เอง ส่งยอดเอง เราอยากให้มันกลับมาเป็นเหมือนเดิม เหมือนเดิมคือก่อนโควิด-19 จะมา ยุคนั้นมันอยู่ได้ด้วยตัวมัน ไม่ใช่ข้าวสาร เราไม่เคยอยากให้มันเป็นข้าวสาร ไม่ใช่ร้านเรา ตอนแรกที่เรามา ห้องว่างเต็มเลย เราตั้งใจเลือกมุมนี้ ไม่ใช่เพราะไม่มีห้อง เพราะเราอยากให้คนได้กลิ่นยาจีนก่อนที่จะเปิดเข้ามาแล้วเจอ เห้ย! มันมีแบบนี้หรอ การที่เรามาอยู่ตรงนี้ มันคึกคักได้ แต่ต้องมีสมดุลระหว่างเรากับคนที่เขาอยู่ เราอยากให้มันกลับมาเหมือนเดิม จุดที่ดีที่สุดคือยุคที่เรากับชาวบ้านร่วมกันทำถนนคนเดิน ‘ซอยนานา Craft+Jumble Trail’ เปิดพื้นที่ให้คนมาตั้งโต๊ะขายของ บ้านก็เปิดให้คนเข้าไปดู ชาวบ้านบางคนก็ขายส้มตำ เราก็เปิด เราคิดว่าทุกคนร่วมมือกันมันเจ๋งดี The People: แนะนำเมนูเด็ด ๆ ของร้านปิดท้ายกันหน่อย แอนท์: ที่นี่ไม่มี classic cocktail เพราะที่นี่ไม่ขาย เราตั้งใจขายวัตถุดิบที่เป็นของดีจากบรรพบุรุษของไทย เรามีเมนูแนะนำหลายตัว แต่อยากแนะนำตัวที่ใช้สุราไทย สมุนไพรจากภูมิปัญญา หลัก ๆ คือ ‘สงกรานต์’ เป็นค็อกเทลที่เสิร์ฟในขัน เป็นเมนูที่เกือบจะได้ไปเสิร์ฟบนการบินไทยแล้ว เหมือนที่เขามี ‘Singapore Sling’ ที่ขายทั่วโลก ทำไมเราจะมีสงกรานต์ไม่ได้ มันคือเมนู refreshing เหมือนเทศกาลสงกรานต์ มาแล้วร้อน ๆ คุณจะเย็นชุ่มฉ่ำ ซึ่งไม่มีใครทำ เราทำคนแรกแล้วขายดีมาก เป็น Best Selling มาตลอด 7 ปี สงกรานต์มันมาจากอันนี้ ยาดอง บางคนกินโซจูได้ แต่พอพูดถึงยาดอง กินไม่ได้ นี่คือพืชล้วน เหล้าคนไทย มันมี 3 สูตร สมุนไพรไม่เหมือนกัน ก็มี ‘พระอภัยมณี’ ทำให้กระปรี้กระเปร่า เปิดปุ๊บติดปั๊บ โบราณจะเชื่อว่ามีสรรพคุณเรื่องเพศ ‘ราชสีห์คำราม’ สรรพคุณบอกว่า เปิดแล้วไม่มีกำลังก็หมดประโยชน์ และ ‘กากี’ จะมีพวกหญ้าที่ผู้หญิงใช้ให้มันรีเฟรชกล้ามเนื้อต่าง ๆ เวลากินแบบโบราณเขาจะกระดกช็อตเลยไม่จิบ แล้วจิบน้ำใบเตย เคี้ยวของดองตาม ซึ่งของดองก็เปลี่ยนไปตามเทศกาล แต่หลัก ๆ คือมะกอกและมะม่วง สำหรับใครที่อยากสัมผัสความสดชื่นต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ด้วยเครื่องดื่มชื่อเดียวกันก็สามารถเดินทางมาที่ร้านเทพบาร์ได้ในซอยนานา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นอกจากนี้ยังมีดนตรีสด เครื่องดื่ม และอาหารแสนอร่อยที่ปรุงจากความภูมิใจในความเป็นไทยของร้านรอคอยทุกคนอยู่ด้วย