15 ส.ค. 2565 | 10:46 น.
เรื่องราวของ จอนนี่ นานาชาติ มีความน่าสนใจหลายมุม เขาถือว่าเป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ (Survivor) ในหลาย ๆ ยุคของวงการตลกในประเทศไทยตั้งแต่ที่ผันตัวเองมาทำอาชีพนี้ในไทย
อาชีพในฝันเพียงหนึ่งเดียวคือเป็นตลก
จอนนี่ นานาชาติ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1980 ที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เปิดใจคุยถึงความฝันที่ชัดเจนตั้งแต่เด็กคืออยากเป็นตลก ซึ่งเขาผลักดันความฝันด้วยการเรียนการแสดงและสำเร็จการศึกษาในสถาบันการแสดงชื่อดังในสหรัฐฯ
“ตอนอายุ 13 ปี ผมได้ดูการแสดงโชว์ตลกจากคณะของอังกฤษ ผมได้เห็นความสุขของทุกคน และก็รู้สึกตกใจว่าทำแบบนี้เป็นอาชีพได้ด้วยเหรอ อยากทำบ้างจัง ก็เลยไปเรียนการแสดงตั้งแต่ตอนนั้น และได้ไปทำละครเวทีด้วย ผมเป็นตลกที่อเมริกาอยู่หลายสไตล์เลย เพราะผมชอบเรียนรู้"
“ผมเริ่มเล่นตลกจริงจังตอนอายุ 17 ปีที่อเมริกา เล่นอยู่หลายสไตล์ แต่ที่อเมริกาจะเป็นตลกเดี่ยวไมโครโฟน และก็จะเป็น Sketch comedy ก็คือเรื่องตลกสั้น ๆ ที่จบในตอน จบใน 2 นาทีหรือมากกว่านั้น แต่จะมีหลายเรื่องทำให้เรื่องยาวต่อกันเป็นชั่วโมง"
“แต่ผมก็ยังไม่เคยเจอตลกคาเฟ่เหมือนในไทย ในสมัยนั้นตลกคาเฟ่ที่ไทยเป็นตลกที่บูมมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการตลกโลกแล้ว ผมอยู่วงการนี้มานาน ผมศึกษามา ผมรู้ว่าไม่มีที่ไหนแล้วที่จะเหมือนกับตลกคาเฟ่ของไทยในยุคนั้น”
จุดเริ่มต้นอาชีพตลกคาเฟ่ในไทย
ด้วยความที่ จอนนี่ นานาชาติ เป็นคนที่ชอบเรียนรู้และต้องการลับคมวิชาตลกจากหลาย ๆ ประเทศอยู่แล้ว ทำให้การมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยพายัพ (1 ปี) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาศาสตร์ของ ‘ตลกคาเฟ่’ ที่ไทย ซึ่งนั่นทำให้จอนนี่ นานาชาติ หลงรักประเทศไทยมากขึ้น และตัดสินใจต่อเวลาอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็ 17 ปีแล้ว (เข้ามาในไทยปี 2005)
“ตอนตัดสินใจอยู่เมืองไทย ผมคิดว่าตลกคาเฟ่ในไทยอะเมซิ่งมาก เลยรู้สึกว่าต้องอยู่เรียนรู้"
“สมัยก่อน (ช่วงตลกคาเฟ่) ผมเคยเล่นตลกได้มากสุด 9 ที่ต่อคืน แต่ก็แค่ครั้งเดียว ซึ่งปกติจะเล่นได้มากสุด 3 - 4 ที่ เพราะผมมาช่วงท้าย ๆ ของตลกคาเฟ่แล้ว แต่ก็ถือว่ายังบูมอยู่ แต่ว่าก่อนที่ผมจะมาเป็นตลกที่ไทย ตลกคนอื่นปกติเขาได้ 10 ที่กันทั้งนั้น”
ตั้งแต่ตอนที่เรียนที่มหาวิทยาลัยพายัพ จอนนี่ นานาชาติ รู้ตัวทันทีว่าอยากเป็นตลกและก็รักเมืองไทยด้วย พอมีคนรู้จักคณะตลก ‘ทองก้อน นานาชาติ’ เขาจึงเริ่มไปแนะนำตัวเองทันทีอย่างไม่รอช้า ซึ่งก็ทำให้เขาได้อยู่ในคณะทองก้อน นานาชาติ 1 ปี จากนั้นก็ขยายเส้นทางตลกไปที่คณะต่าง ๆ อย่างมาเล่นกับคณะเหลือเฟือ มกจ๊ก แล้วก็มาอยู่กับคณะตลกดอกกระโดนฟีเวอร์
“ปัจจุบันผมก็ยังเล่นกับคณะอื่นอยู่ อย่างเหลือเฟือ มกจ๊ก ผมก็ยังเล่นอยู่ ถ้าคนที่จ้างบอกว่าอยากดูจอนนี่ นานาชาติด้วย หรือว่าจะจ้างผ่านคณะของผมก็ได้เหมือนกัน”
หมดยุคตลกคาเฟ่แต่ชีวิตต้องไปต่อ
ย้อนไป 25 ปีที่ผ่านมากับยุคตลกคาเฟ่ในไทยที่ต้องยอมรับว่าทยอยหายไป ค่อย ๆ ซบเซาจนหายไปกับตา ซึ่งตลกในวงการไทยหลายคนยอมรับว่าเป็นช่วงวิกฤตของตลกคาเฟ่อย่างมาก เช่นเดียวกับจอนนี่ นานาชาติ ในฐานะที่เขาก็เป็นตลกคาเฟ่ในไทยรุ่นสุดท้ายก่อนจะหายไป
แต่ DNA ของความเป็นตลกนั้นเข้มข้นกว่าหยาดเหงื่อและน้ำตา สำหรับจอนนี่ นานาชาติ ความหมายของคำว่าตลกมันคือ ‘งานศิลปะ’ อย่างหนึ่ง ดังนั้นในช่วงเวลาที่งงงวยหลังหมดยุคตลกคาเฟ่ จอนนี่ นานาชาติก็พยายามสร้างรายได้จากช่องทางอื่น เช่น เป็นนักแสดง (เคยเป็นตั้งแต่ยังไม่มาเมืองไทย), นักเขียน, รับลงเสียง, รับจ้างงานโชว์ตลกทั่วไป ซึ่งทั้งหมดนี้เขามองว่ามันเป็นศิลปะของการแสดงตลกทั้งหมด (แค่ต่างสไตล์เท่านั้น)
นอกจากนี้ จอนนี่ นานาชาติ ยังได้เปิดร้าน stand-up comedy (เดี่ยวไมโครโฟน) เป็นภาษาอังกฤษในไทยด้วย ซึ่งเขาเคยทำที่อเมริกา ส่วนในไทยเคยมีประสบการณ์จากร้านของเพื่อน ชื่อว่าร้าน Katanyu comedy club แถวพระราม 4 ซึ่งเป็นร้านแรกในไทยที่มีโชว์ตลกเดี่ยวไมโครโฟนภาษาไทยทุกคืน
“งานตลกคาเฟ่เริ่มน้อยลง ผมก็เลยมาเปิดร้าน stand-up comedy สร้างตลกที่พูดภาษาอังกฤษขึ้นมา”
ซึ่งปัจจุบัน จอนนี่ นานาชาติ มีร้านเป็นของตัวเองอยู่ 2 ที่คือ ที่ข้าวสาร (ปิดให้บริการชั่วคราว) และที่กำลังจะเปิดกลางเดือนสิงหาคมนี้คือ ร้านมันส์ฝรั่ง comedy (club) อยู่ตรงข้ามกับ MRT ลาดพร้าว
“เริ่มแรกเพราะงานตลกคาเฟ่น้อยลงมาก ๆ ผมเลยมาเปิดร้านที่ข้าวสารเพื่อให้ตัวเองได้เล่นตลกทุกวัน ซึ่งก่อนที่จะมาเปิดร้านในถนนข้าวสาร ผมเคยเปิด stand-up comedy แบบ open-mic (เดี่ยวไมโครโฟนที่เปิดให้คนมาลองฝึกพูดสั้น ๆ ก่อนที่คนแสดงหลักจะขึ้นโชว์) ซึ่งเป็นโชว์แรกของประเทศไทยด้วย
“หรือใครที่อยากจะมาฝึกพูดกับเดี่ยวไมโครโฟนที่เป็นผู้แสดงหลักบนเวทีก็ได้ สำหรับ open-mic ในไทยแทบจะไม่มีคนเล่นเป็นภาษาอังกฤษ สมัยที่ผมสร้างตอนนั้นมีแค่ 3 คน แต่ว่าตอนนี้มีหลากหลายมากขึ้นแล้ว
“ซึ่งตอนนั้นเว็บไซต์ Tripadvisor เคยจัดอันดับให้โชว์ของผมเป็นโชว์ที่ดีที่สุดในประเทศไทยสมัยที่เปิดร้านที่ถนนข้าวสาร พอคนรู้ว่าเราได้คะแนนจัดอันดับดี ผมก็สามารถขายบัตรดูโชว์ได้”
ชีวิตที่ถูกมองเป็นตัวประหลาดและตลกเป็นอาชีพต่ำ
จอนนี่ นานาชาติ เล่าถึงชีวิตตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่มาไทย ซึ่งตอนนั้นคนไทยยังไม่เปิดรับชาวต่างชาติมากเท่าสมัยนี้ จอนนี่ นานาชาติ เล่าว่า “แรก ๆ ผมกลายเป็นตัวประหลาดเลยตอนที่มาไทย เคยท้อกับชีวิตจนอยากจะกลับอเมริกา แต่ผมก็รักเมืองไทย ยังอยากเล่นตลกที่นี่และเรียนรู้วิชาตลกในไทย
“ตอนที่ผมเปิดร้านที่ข้าวสาร เคยมีนักท่องเที่ยว (คนเมา) ดูถูกเพราะผมพยายามขายบัตรเขาเพื่อมาดูโชว์ เขาไม่เชื่อว่าผมเป็นนักแสดงจากอเมริกา และมาเล่นตลกที่นี่”
นอกจากนักท่องเที่ยวดูถูก จอนนี่ นานาชาติ ยังถูกคนไทยหลายคนมองว่า “ถ้าคนมีการศึกษาที่ดี มีความสามารถที่ดี เขาไม่มาเล่นตลกหรอก เพราะมันเป็นอาชีพต่ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาเองที่ไม่เข้าใจว่ามันเป็นการแสดงศิลปะ
“การเล่นตลกทำให้คนที่เศร้ามีความสุขได้ ผมมองว่าเป็นการทำบุญเหมือนกันนะครับ เขามีความสุขกับงานของผม”
สำหรับจอนนี่ นานาชาติ เขามองว่าวัฒนธรรมการแสดงตลกของต่างชาติกับคนไทยไม่ต่างกัน เพราะผลลัพธ์มันคือเสียงหัวเราะเหมือนกัน ‘เสียงหัวเราะมันเสียงเดียวกันทั่วโลก’ แต่สิ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับจอนนี่ นานาชาติ คือ ‘ภาษา’ โดยเฉพาะกับการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน เพราะว่ามันจำเป็นต้องพูดชัด แต่ตลกคาเฟ่ไม่จำเป็น เพราะมันเล่นเป็นมุกตลกได้
ภาษาเป็นข้อจำกัดการรับบทนักแสดง
นอกจากแขนงของการแสดงตลก และเป็นเดี่ยวไมโครโฟนแล้ว จอนนี่ นานาชาติ ยังเป็นนักแสดงหลายเรื่องด้วย ทั้งภาพยนตร์และซิตคอม ซึ่งก่อนที่เขาจะมีชื่อเสียงพอจะเป็นที่คุ้นตาและจำชื่อได้ เขาเคยรับงานแสดงเป็นตัวประกอบมาก่อนตั้งแต่สมัยเรียนที่ไทย ซึ่งตอนนั้นพูดภาษาไทยไม่ได้เลย
“ตอนนั้นทำให้ผมรู้ว่า อ่านไทยไม่ออกแต่ก็ยังรับงานแสดงได้” ซึ่งจอนนี่ นานาชาติ เริ่มให้ความสนใจกับอาชีพนักแสดงมากขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น โดยเขาพยายามติดต่อหาโมเดลลิ่ง ฝ่ายจัดหานักแสดงเพื่อไปแคสติ้ง
“เรื่องแรกที่ทำให้คนเริ่มเห็นหน้าเราและจำได้คือ บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม 2, หลวงพี่เท่ง 2 แต่คนก็พอ ๆ จำหน้าได้ (แต่ยังจำชื่อไม่ได้) เพราะผมเข้าฉากกับพี่หม่ำ
“ซิตคอมเรื่องนัดกับนัดที่รับบทเป็นผู้จัดการธนาคาร ทำให้เริ่มมีคนจำชื่อผมได้แล้ว อาจจะเพราะเล่นบททั่วไปด้วย ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร”
จนมาเรื่องปัจจุบันก็คือ ‘บุพเพสันนิวาส ๒’ ซึ่งจอนนี่ นานาชาติ รับบทเป็นบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ พูดง่าย ๆ ก็คือครูสอนภาษานั่นเอง (ศาสนามักจะเชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษในสมัยนั้น)
อย่างที่พูดไปว่าข้อจำกัดของจอนนี่ นานาชาติ คือเรื่องภาษา จึงทำให้เขารับบทการแสดงซ้ำ ๆ โดยวนอยู่ประมาณ 4 บทด้วยกันที่ผ่านมาคือ นักธุรกิจต่างชาติที่มาเอาเปรียบคนไทยหรือโดนหลอก, คนต่างชาติที่ติดยาบ้า ๆ บอ ๆ, คนต่างชาติที่บ้ากาม และครูสอนภาษาอังกฤษ
ซึ่งความฝันใหญ่ที่สุดของจอนนี่ นานาชาติ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ในไทย แต่เขามีฝันที่ใหญ่กว่านั้นนั่นก็คือ ‘การเป็นนักแสดงตลกเดินสายทั่วโลก’ เป็นตลกที่สามารถแสดงโชว์ได้หลายภาษา เช่น ภาษาลาว, อังกฤษ, อิตาลี, สเปน ฯลฯ “ผมรักในการแสดงจริง ๆ ผมเลยสนใจอยากสร้างตลกภาษาอื่นด้วย เหมือนที่ผมพยายามสร้างตลกภาษาไทยในตอนนี้”
ก้าวแรกของตลกเดินสายทั่วโลก
จอนนี่ นานาชาติ เล่าว่า แพลนของผมคือมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเติมเต็มความฝันเป็นนักแสดงตลกเดินสายทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้บ้างแล้ว เพราะเดินสายแสดงตลก (เดี่ยวไมโครโฟน) ในหลายประเทศทั่วเอเชีย
“เกือบจะทุกคนที่รู้จักจอนนี่ ทั้งร้านใหญ่หรือร้านเล่นที่เป็น comedy club ในเอเชียที่ผมไปมาแล้ว เช่น ฮ่องกง, กัมพูชา, จีน, สิงคโปร์, เมียนมา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดีย ส่วนประเทศที่ยังไม่เคยไปบางทีเขายังไม่มี comedy club
“เวลาที่ผมไปแสดงโชว์ที่ต่างประเทศ ผมจะใช้ชื่อว่า โจนาธาน แซมซัน และส่วนใหญ่จะโชว์เป็นภาษาอังกฤษ”
จากการได้พูดคุยกับนักแสดงตลกชาวอเมริกันคนนี้ ทำให้รู้สึกว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผู้ชายที่ชื่อว่า ‘โจนาธาน แซมซัน’ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีชีวิตที่น่าสนใจมาก ผลักดันความฝันที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ แม้ว่าจะเป็นนักแสดงตลกคาเฟ่รุ่นสุดท้ายของไทย
แต่เขากลับเป็นผู้บุกเบิกสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับเดี่ยวไมโครโฟนแบบ open-mic และศาสตร์ของศิลปะนี้อีกหลายอย่าง เรียกว่าเป็นชาวอเมริกันที่มีหัวใจเป็นนักแสดงตลกที่น่านับถืออีกคนหนึ่งในวงการนี้
ภาพ: จอนนี่ นานาชาติ