'นิด พาร์ทไทม์' ผู้สร้างเพลงในยุคสึนามิ 2547 และไว้อาลัยสมเด็จพระพี่นางฯ

'นิด พาร์ทไทม์' ผู้สร้างเพลงในยุคสึนามิ 2547 และไว้อาลัยสมเด็จพระพี่นางฯ

นิด พาร์ทไทม์: ศิลปินระยองนักสู้ชีวิตที่รอดจากหลอดเลือดในสมองแตก และผู้สร้างเพลงประกอบรายงานข่าว จากเพลงยุคสึนามิ 2547 ถึงไว้อาลัยสมเด็จพระพี่นางฯ

The People ได้พูดคุยกับ ‘นิด พาร์ทไทม์’ หรือ สุดชาย ชาครนิพิท นักแต่งเพลงผู้มากความสามารถ ที่เคยฝากผลงานเพลงให้กับทางช่องทางโทรทัศน์ และงานเพลงที่เล่าเกี่ยวกับโครงการสำคัญต่าง ๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยผลงานแต่ละครั้ง เขาไม่เคยคิดค่าใช้จ่ายเลย 

เรื่องราวชีวิตของศิลปินที่โด่งดังในระยองยังรวมถึงการฝ่าฟันช่วงวิกฤติด้านสุขภาพเพื่อให้ชีวิตยังคงดำเนินต่อ มาทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นผ่านบทความชิ้นนี้

 

ประวัติศิลปินระยอง

นิด พาร์ทไทม์ คือศิลปินชาวระยองที่เปิดกิจการร้านอาหารกลางคืน มีดนตรีสดที่เล่นโดยเขาเอง พร้อมกับการแสดงดนตรีจากสิ่งที่เขาพัฒนาขึ้น จนมีโอกาสได้ไปออกรายการ เกมส์พันหน้าทางช่อง 7 กับรายการตีสิบทางช่อง 3 

เขาคนนี้ยังมีความสามารถด้านการแต่งเพลงที่เท่าทันเหตุการณ์ ครั้งหนึ่งในช่วงเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ทางภาคใต้ นิด พาร์ทไทมม์ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า 

“เริ่มต้นเขียนเพลงจริง ๆ น่าจะเป็นช่วงเหตุการณ์ สึนามิ ปี 2547 ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเพลงน่าจะสามารถต่อยอดได้ เลยลองลงไปกรุงเทพฯ แล้วเอาแผ่นไปเสนอตามช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ 

ปรากฎว่ามีอยู่ช่องหนึ่ง คือ ช่อง ITV ที่เราไปเจอ ‘พี่บ๊อบ อลงกรณ์’ บรรณาธิการ เขาเดินผ่านมาพอดี เราเลยลองให้เขาฟัง เขาคงรู้สึกถูกใจ เลยขอนำไปใช้งานจริงบนจอทีวีในวันนั้นเลย หลังจากนั้นก็มีการติดต่อเข้ามาให้ทางเราแต่งเพลงส่งไปตามสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ บ้าง

เหมือนเขาจะรู้ว่าเราแต่งเพลงได้ดีแล้วไวต่อสถานการณ์ อย่างผลงานที่พี่คิดว่าแพร่หลายที่สุดน่าจะเป็น เพลงสู่สวรรค์นิรันดร บทเพลงไว้อาลัยแด่สมเด็จพระพี่นางฯ ในรัชกาลที่ 9” 

ซึ่งผลงานเพลงชิ้นนี้ถูกนำเสนอครั้งแรกบนช่อง ITV แล้วเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ นิด พาร์ทไทม์ ได้รับเชิญไปร่วมงานจากกระทรวงวัฒนธรรมฯ แสดงผลงานพร้อมกับศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, ปาน ธนพร, วงโปงลางสะออน, แอ๊ด คาราบาว, ติ๊ก ชีโร่, ชาย เมืองสิงห์ ฯลฯ การแสดงในครั้งนั้นมีการบันทึกเป็นแผ่น CD แจกในงานด้วย

ผลงานทั่วไปที่ นิด พาร์ทไทม์ แต่งขึ้นในแต่ละครั้งนั้น ใช้เวลาในการสร้างสรรค์เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งตัวเขาเองไม่เคยคิดค่าใช้จ่ายเลยในการทำเพลง เพราะตัวเขามองว่าการแต่งเพลงก็เหมือนกับงานศิลปะที่เข้ามาเยียวยาจิตใจของคนในยามวิกฤติ 

การสร้างผลงานที่รวดเร็วฉับไวทำให้เขาก็ยังคงมีผลงานเพลงชิ้นอื่น ๆ ตามเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น เพลงมหาอุทกภัย น้ำท่วมกรุงเทพครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ในรายการข่าว 3 มิติ ผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่ได้ทำร่วมกับทางช่อง 3 ยังมีอีกมากมาย ขณะที่เพลงเดียวกันนี้ยังถูกนำไปเปิดตามช่องต่าง ๆ อย่างช่อง 5 และช่อง 7 อีกด้วย

 

หลอดเลือดในสมองแตก

หลังจากนั้นเราได้พูดคุยกับ นิด พาร์ทไทม์ ถึงเรื่องประสบการณ์รักษาตัวด้านสุขภาพหลังพบว่า ตัวเองมีหลอดเลือดในสมองแตก เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาแต่ นิด พาร์ทไทม์ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีและฟื้นกลับคืนมาจนใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 100% จากเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวคือพักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วนที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปให้ครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดีไม่เสี่ยงต่อโรคภัยอย่างหลอดเลือดในสมอง

เมื่อเขามีโอกาสเข้าร่วมในงาน “Music for brain health” นิด พาร์ทไทม์ ยังแสดงผลงานเพลงที่แต่งให้กับโครงการกุศลนี้ นั่นคือเพลง “Walk Run Bike Fighting Stroke” เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงข้อควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดในสมอง พร้อมแนะนำข้อดูแลสุขภาพ และเป็นการสนับสนุนโครงการ “Music for brain health” เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือด

 

Music_for_brain_health กิจกรรมห่างไกลจากโรคหลอดเลือดด้วยเสียงเพลง

เมื่อกลางเดือน สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ เอ็มควอเทียร์ The People ได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการกุศล “Music for brain health” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช จัดแสดงดนตรีนอกสถานที่ ในชื่อรายการว่า “Music for brain health” นำแสดงโดยวงดนตรีจุฬาฯ เชมเบอร์ (CU chamber Ensemble) 

โครงการนี้ใช้ดนตรีสนับสนุนการรณรงค์การรับรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือที่คนทั่วไปใช้คำว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งปัญหาสุขภาพที่เริ่มพบบ่อย และมีการแสดงจากศิลปินอีกมากมาย อาทิ มัม ลาโคนิคส์, ไก่ อัญชุลีอร บัวแก้ว (ไก่ The voice Thailand), อุ้ย รวิวรรณ จินดา, ต้น สุชาติ ชวางกูร, อ้วน วารุณี สุนทรีสวัสดิ์, เท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์ และชรัส เฟื่องอารมณ์

โครงการฯ ยังเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ของจุฬาฯ และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ (Network Relationship) กับองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อจัดกิจกรรมอันเป็นสาธารณะประโยชน์ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ภายในงานมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องของหลอดเลือดสมองผ่านนิทรรศการ การเสวนาให้ความรู้แนวทางการใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือด ในหัวข้อ “A Lift without STROKE” โดย รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์, ผศ.นพ.ชัชวาล รัตนบรรณกิจ, อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, นวลพรรณ ล่ำซำ, หมู Asava พลพัฒน์ อัศวะประภา มี ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ และอรพิมพ์ รักษาพล เป็นพิธีกร 

ในงานยังมีจำหน่ายเสื้อที่ระลึกจากกิจกรรมเพื่อระดมเข้ากองทุน ดนตรี กีฬา และศิลปะ เพื่อสุขภาพสมองของคนไทยในศิริราชมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคนไทยอีกด้วย

 

 

เรื่อง: ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์

ภาพ: นิด พาร์ทไทม์