‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

หลาย ๆ งานที่สินค้าของไทยไปโลดแล่นในประเทศมาเลเซีย ส่วนหนึ่งมาจากไอเดียของ ‘โน้ต - วรวรรณ วรรณวิล’ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) คนที่เปรียบตัวเองว่าเป็น ‘เซลส์แมน’ ที่พยายามผลักดันให้สินค้าไทยไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมไหนสามารถขายได้ มีคนจดจำในต่างประเทศ

อย่างผลงานล่าสุด งานแฟชั่น ‘VersaThai: Think Fashion Think Thailand’ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่คลอดไอเดียให้แบรนด์แฟชั่นของไทย 14 แบรนด์ ได้แก่ Bwild Isan, Black Sugar, Clothear Vestiaire, Yano, Heritage, Mirah, Varithorn, Shu, Siri Dress House, SC Grand: Circular, De Quarr Community, Olive, Gemio และ Scholl เปิดโอกาสโชว์ของบนรันเวย์สู่สายตาชาวมาเลเซีย

ซึ่งโครงการ ‘VersaThai: Top Thai Fashion Brands 2022’ สร้างมูลค่าเกินคาดไปมาก เพราะหลังจากเปิดตัวโครงการ เกิดการซื้อขายทันทีเป็นมูลค่าถึง 15.6 ล้านบาท (จากเป้าที่คาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางการค้าภายใน 1 ปี ประมาณ 12.5 ล้านบาท)

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ยังมีอีก 2 โปรเจกต์ที่มาจากไอเดียของวรวรรณ เช่นงาน THINK THAILAND ที่โปรโมตอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ของไทยสู่ชาวมาเลเซีย จนทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 56 ล้านบาท (เกินคาดการณ์เดิมที่ 48 ล้านบาท) และยังเป็นเจ้าของแนวคิดติดหูที่ว่า ‘รักใครให้ไรซ์เบอร์รี่’ จนถึงทุกวันนี้

The People มีโอกาสได้พูดคุยกับวรวรรณ และอยากถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองการคิด การทำงานของเขา เพราะมีหลาย ๆ มุมที่ชวนให้รู้สึกว่า คนที่ทุ่มเทและใช้หัวใจในการทำงานจนสร้างมูลค่าทางการค้าคืนกลับประเทศไทยได้ขนาดนี้ ถือเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่น่ายกย่องและน่าสนใจ

เส้นทางชีวิตของข้าราชการกว่า 17 ปี

“ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีมา ก็ต่อปริญญาตรีโทเลย และก็เริ่มทำงานเลย โดยทำงานครั้งแรกก็คือรับราชการ ตอนนี้ก็ 17 ปีย่างปีที่ 18 แล้ว

“ถ้าพูดถึงประสบการณ์การทำงาน โน้ตทำงานในสายเดียวตลอด แต่ว่ามีความโชคดีนิดหนึ่งที่ว่าตลอดเส้นทาง 17 ปีที่ผ่านมาได้ทำงานหลาย ๆ หน้า เริ่มจากเป็นนักยุทธศาสตร์ คือถอดจากแผนชาติ 12 ปีแล้วมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แผนที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าก็เอามาถอดเป็นกิจกรรม จนมาทำงานด้านการส่งเสริมทางการค้าเป็นหลัก”

 

จุดเริ่มต้นความฝันนักการทูตกัวลาลัมเปอร์

“ตอนเรียนปี 3 นะครับทุกคนก็ไปฝึกงาน เพื่อนโน้ตฝึกงานแบงก์บ้าง ตลาดหุ้นบ้าง บริษัทใหญ่ ๆ บ้าง ซึ่งตอนนั้นคิดแบบเด็ก คิดแค่ว่าอยากออกจากไทย อยากออกไปอยู่เมืองนอกแค่นั้นแหละ แต่เราก็ไม่ได้มีเงินเยอะ ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ก็เลยลองติดต่อจะมาฝึกงานที่สถานทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์นะครับ แล้วก็ได้ ตอนนั้นเขาก็รับมาทำงาน

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

“ตอนนั้นที่มาฝึกงานปี 2003 ก็มาฝึกงานที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ มาฝึกในสำนักงานที่ดูแลเรื่องการค้าล้วน ๆ มันทำให้เรามองภาพการทำงานของภาครัฐใหม่ รู้สึกว่างานมันสนุก แล้วงานมันส่งผลกับคนจริง ๆ

“พอจบการฝึกงานตอนนั้น โน้ตยังจำคำของตัวเองได้เลยว่า อยากเป็นทูตพาณิชย์ตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว”

ทำไมต้องมาเลเซีย?

“ถ้าเราดูตัวเลขการค้าตามด่านทั้งหมด การค้ากับทางใต้เยอะที่สุด เยอะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการค้าในด่านทั้งหมดเอามารวมกัน ซึ่งโน้ตได้บอกกับคณะกรรมการตอนสัมภาษณ์งานว่า (1) เข็มการค้ามันเบนมาที่นี่ก็คือมาเลเซีย (2) คือมาที่นี่งานจะยากและเยอะกว่าที่อื่น ๆ และโน้ตเชื่อว่าโน้ตทำได้

“ตั้งแต่มาที่นี่เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่าง 2 ประเทศเยอะมาก ที่เราทำที่แก้ไขไปก็เยอะมาก ตัวโน้ตจะเป็นด่านแรกสุดที่เคลียร์ให้มันไม่เกิดการฟ้องร้องกันระหว่างรัฐกับรัฐ อันไหนที่พอเคลียร์ได้ก็จะทำ”

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

ซึ่งวรวรรณได้เล่าตัวอย่าง เช่น การส่งออกพืชผักจากไทยไปมาเลเซีย เป็นหนึ่งในข้อพิพาทที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เวลาที่สุ่มตรวจสารพิษ ไทยมักจะติดอยู่ในลิสต์เสมอ 4 - 5 ปีติดต่อกัน ก็คือเป็นแชมป์เรื่องสารตกค้าง

“วิธีแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ใช้ไม้อ่อน’ เราเลือกที่จะพูดจากฝั่งผู้ซื้อก่อน บอกให้เขาแจ้งกับ sourcing ว่าต้องมีการตรวจสอบนะ ต้องมีการเช็กสินค้าก่อนส่งออกนะ นอกจากนี้โน้ตยังคุยกับสมาคมผู้ส่งออก คุยกับกรมฯ และย้ำทุก ๆ ครั้งที่ไปบรรยายว่า ต้องดูเรื่องสินค้าไม่มีสารตกค้างด้วย และก็คุยกับด่านฝั่งไทยด้วยว่าถ้ามีสินค้าประเภทนี้ช่วยสุ่มตรวจให้หน่อย”

นอกจากนี้ วรวรรณได้พูดถึงการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างไทยกับมาเลเซียด้วย เพราะมีผลต่อเนื่องมาถึงการส่งเสริมการค้า ซึ่งความยากของที่นี่ก็คือการดีลกับคน เพราะที่มาเลเซียจะมีความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติปะปนกันไป ทั้งมาเลเซีย, จีน, อินเดีย

“แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือ ความเป็นไทยเป็นใบเบิกทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นคนไทย, อาหารไทย, สินค้าไทย เขาเชื่อว่ามันดีหมดเลย เขาพร้อมเปิดใจรับหมดเลย มันเลยทำให้งานเราง่ายขึ้นหน่อยหนึ่ง”

 

 

เชื่อว่าการค้ามาจาก 'ความเชื่อใจ'

วรวรรณยังได้พูดถึงตลาดไทยกับมาเลเซียที่สามารถเชื่อมต่อกันมากกว่าที่เราคิด อย่างหนึ่งเพราะว่าเชื้อชาติหนึ่งในประเทศนี้คือ จีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย และไทยสามารถใช้มาเลเซียเป็นฐานการส่งออกได้

“ที่นี่เป็นฐานส่งออกต่อไปจีนได้ดีมาก ด้วยความที่เขาเป็นคนจีนเหมือน ๆ กัน คำถามคือถ้าโน้ตรู้แบบนี้แล้วทำไมโน้ตไม่ส่งออกตรงไปจีนเลย เหตุผลเพราะว่าการค้ามันขึ้นอยู่กับความเชื่อใจ มันขึ้นอยู่กับเส้นสาย

“เขาเรียกว่า ‘เส้นความเชื่อถือ’ ซึ่งถ้าให้โน้ตเลือกระหว่างการไปสร้างเส้นใหม่กับใช้เส้นเดิมให้มันแน่นขึ้น โน้ตเลือกใช้เส้นเดิมและส่งออกไปจีนดีกว่า

“นอกจากนี้ยังเป็นฐานส่งออกไปประเทศตะวันออกกลางได้ เพราะเป็นประเทศมุสลิมเหมือนกัน”

 

 

จาก F&B มาเป็นธุรกิจแฟชั่นของไทย

“กลุ่ม F&B เราแน่นแล้วยังไงเราก็ยังจับอยู่ ถ้าให้โน้ตจู่ ๆ จะลุกขึ้นมาจัดงานแฟร์ที่เป็น F&B หรือจัดงานอะไรที่เป็น F&B โน้ตเชื่อว่าโน้ตทำได้ง่าย เร็ว และออกมาดีแน่นอน

“แต่ตอนนี้กรมฯ กำลังจะผลักดันสินค้าในกลุ่มพวกเสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์ คราวนี้โจทย์มันเปลี่ยนไปจริง ๆ เวลาพูดถึงการค้าเราต้องเอา needs มาเป็นตัวตั้งแล้วค่อยหาของ แต่คราวนี้เราเอาของที่อยากขายเป็นตัวตั้งแล้วจึงต้องคิดมุกในการขาย ซึ่งพอเราพูดถึงประเทศคนมุสลิม ทุกคนคงคิดว่าต้องขายเสื้อผ้ายาว ๆ ผ้าคลุมหัวอย่างนี้ แต่คนกลุ่มนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่ม mass แต่กำลังซื้อน้อย และก็ไม่ match กับเสื้อผ้าของไทย

“ดังนั้น เสื้อผ้าของไทยที่พอจะตอบโจทย์ก็คือ ‘กลุ่มคนจีน’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แล้วพร้อมจับจ่ายถ้าหากว่าชอบจริง ๆ แต่ข้อเสียคือติดแบรนด์เนม โน้ตมองว่าสินค้าของไทยเป็นแบรนด์เนมก็จริง แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่เขาอยากจะจ่าย”

โจทย์ที่ยากทำให้วรวรรณต้องปรับตัว เขาเปรียบตัวเองเป็นเหมือน ‘เซลส์แมน’ ที่พยายามขายและนำเสนอแฟชั่นแบรนด์ไทยว่าดีอย่างไร มีคุณภาพอย่างไร ซึ่งไอเดียของวรวรรณก็คือ การเปิด shop-in-shop ในร้านที่มียอดขายและเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในมาเลเซีย

ซึ่งก็คือร้าน By Thian เป็นร้านที่อินกับสินค้าของไทย และเป็นร้านที่มียอดขายสูงมากประมาณ 3 - 5 ล้านบาทต่อเดือน โดยทาร์เก็ตหลัก ๆ ของร้านนี้คือคนจีนที่มีกำลังซื้อ

“การทำ shop-in-shop เรามีการทำ soft launch คือเชิญแขกประจำของร้านเขามาเมื่อวันที่ 2 - 4 กันยายนที่ผ่านมา โน้ตก็อยู่ในวันนั้นด้วย ช่วยขายสินค้าไทยด้วย ซึ่ง 3 วันแรกยอดขายปลีกอยู่ที่ 500,000 บาท ภายใน 3 วัน แม้แต่โน้ตเองก็นึกไม่ถึงว่าจะขนาดนี้ ดังนั้นตลาด needs มันมีอยู่จริง แต่อยู่ที่เราจะหาของไปตอบ needs ได้มั้ย”

 

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

 

ที่มาของชื่อ 'VersaThai'

“ในเมื่อโจทย์เราคือ ขายของ ทำโชว์เพื่อสื่อสารทางการค้า ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น โน้ตอยากให้ทุกคนเปลี่ยนภาพลักษณ์ในการมองเสื้อไทย มองชุดไทยใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถใส่ได้ทุก ๆ วัน

“เสื้อผ้าไทยสามารถ mix & match ได้ จึงทำให้นึกถึงคำว่า versatile (การเปลี่ยนหมุน) ก็เลยใช้ชื่อเป็น ‘VersaThai’ เพราะมันคือการ mix & match Thai dresses

“เราเอาทั้ง 14 แบรนด์มากรุ๊ปรวมกัน เลือกที่มีความคล้ายกัน ดังนั้นกลุ่มแรกก็คือ ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ชอบในความอาร์ตและคราฟต์ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะตอบโจทย์คนที่ชอบลุคที่มีความแพงความหรู และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนที่มีความรักษ์โลก

“ดังนั้น เป้าหมายหลักของโน้ตในการทำงานนี้ ต้องการเน้น B2B ซึ่งแขกที่เชิญมาก็คือนักธุรกิจรายใหญ่ เจ้าของห้างฯ เจ้าของตึกให้เช่า เป็นต้น

“สิ่งที่โน้ตคาดหวังในครั้งนี้ไม่ใช่การให้เขามาซื้อปลีก โน้ตไม่อยากให้เขามาซื้อเสื้อ แต่โน้ตอยากให้เขามาซื้อแบรนด์เพื่อเอาไปเปิด shop ที่ห้างฯ นอกจากนี้ก็จะมีแขกที่เป็นกลุ่มคนซื้อที่มีกำลังซื้อ และ influencers/KOL”

 

 

ทำงานเน้นสนุก ความคุ้มค่าไม่ใช่เงิน

ผลงานการันตีความสำเร็จที่ผ่านมาของวรวรรณ ทำให้เกิดความสงสัยในเป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคืออะไร คำตอบที่ได้ยินชวนประทับใจเพราะว่าเน้นทำงานให้สนุกและไม่คาดหวัง “ยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งอินยิ่งทำ ถ้าถามว่าคุ้มไหม ตอบได้เลยว่าเกินคุ้ม แต่คำว่าคุ้มของเรามันไม่ได้พูดถึงเงินที่กลับมา ถ้าขึ้นชื่อว่าทำงานหลวงอย่าหวังรวยเด็ดขาด

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

“ทุก ๆ ครั้งที่เกิดไอเดียใหม่ ๆ โน้ตใช้วิธีคิดแบบถ้าโน้ตเป็นคนขายจะทำอย่างไร เรามองว่าการคิดแบบที่ให้เกิดงานกับคิดแบบที่ให้เกิดผลมันต่างกันนะ

“โน้ตเชื่อเสมอว่า ทุกครั้งที่เราคิดงานคิดอีเวนต์ต่าง ๆ ถ้าทำแล้วโลกไม่จำจะทำทำไม โน้ตอยากให้เป็นสิ่งที่จบปุ๊บ ทุกคนพูดต่อ ทุกคนจำมันได้

“ตลอดเส้นทางเดิน 17 ปี โน้ตโชคดีได้ทำงานใกล้ ๆ กับนาย ซึ่งก็ระดับอธิบดี ระดับปลัดเลย ทุกครั้งที่อยู่ใกล้เขา โน้ตก็เรียนรู้จากเขา ทุกคนมีจุดดีจุดอ่อนหมด แต่โน้ตเลือกจุดแข็งเขา เลือกสิ่งที่เราปรับได้ สามารถเอามาใช้ได้ ทุกวันนี้นะครับเวลาโน้ตเจอปัญหาไหนก็ตาม โน้ตคิดว่าถ้าโน้ตเป็นนายคนนี้เขาจะคิดอย่างไร คนนี้เขาจะคิดอย่างไร ประมาณนี้ครับ”

วรวรรณได้พูดย้ำถึงตลาดมาเลเซียว่า มีความคล้ายไทยสูงมาก และเขาก็เปิดรับกับสินค้าไทยมากเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของไทย เพราะทุกวันนี้ยังขายของเหมือน ๆ กัน

“โน้ตไม่อยากขายของไทยถูก ๆ ไม่อยากขายของไทยซ้ำ ๆ โน้ตเหนื่อยมากกับการที่แบบว่า พริกอบแห้งเรามีเป็นสิบแบรนด์แล้วทุกคนอยากส่งออกมาที่นี่หมด แล้วโน้ตเป็นเซลส์แมน ถ้าจะบอกกับห้าง A ว่า พริกอบแห้งแบรนด์ A มันดีกว่าแบรนด์ B มันก็พูดยาก (เพราะเหมือนกัน)

‘วรวรรณ วรรณวิล’ คนที่อยู่เบื้องหลังให้กับสินค้าไทยในมาเลเซีย และเชื่อว่า ‘ถ้าทำแล้วโลกต้องจำและมีคนพูดถึง’

“สุดท้ายทั้ง 10 แบรนด์จะกลายเป็นเหยื่อให้เขาเคี้ยว เพราะถ้าเขาบอกว่าแบรนด์ A ให้ 10 บาท ถ้าอีกแบรนด์ให้ 9 บาทเขาก็จะซื้อ ซึ่งมันก็จะถูกเตะไปอยู่ใน price war อันนี้เป็นสิ่งที่โน้ตไม่อยากเจอแล้ว

“ตอนนี้โน้ตทำงานเหลือที่นี่อีก 2 ปีครึ่ง เราทำงานแบบนับถอยหลัง เหลืออีก 10 ปี เหลืออีก 9 ปีแบบนี้ มันจะทำให้เราทำวันที่เหลืออยู่ให้มันดี เพราะตัวโน้ตเองอยากให้ทุกคนจำโน้ตในแง่ดี”

สุดท้ายนี้ วรวรรณได้พูดถึงตัวเอง 3 คำ ก็คือ ‘รัก - ให้ - จำ’ “รัก คือทุกอย่างที่โน้ตทำโน้ตรักถึงทำ เพราะความรักล้วน ๆ ส่วนคำว่า ให้ คืออะไรที่โน้ตให้ได้ โน้ตก็จะให้ อะไรที่ให้ยังไม่ได้ โน้ตก็จะทำให้ดีที่สุด และสุดท้ายคือ จำ โน้ตอยากให้จำ จำว่าเราเคยทำอะไร ผลงานเรามีอะไร นี่คือสิ่งที่ต้องการ”

 

 

ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน