20 พ.ย. 2565 | 21:01 น.
โจ้ – สาโรจน์ ยอดยิ่ง ได้คุยกับ The People ในงานเทศกาลดนตรี CAT EXPO 9 ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่สวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ รามอินทรา เขาได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลก่อนจะมาเป็น เขียนไขและวานิช ว่านามปากกานี้เขาหยิบยืมมาใช้หลังจากที่เปลี่ยนจากชื่อจริง เพราะมองว่าเขาควรจะต้องมีนามปากกาของตัวเองจริง ๆ และมันควรต้องสื่อสารบางอย่างไปถึงคนอื่นได้เกี่ยวกับตัวเขา
ที่มาของชื่อและการแต่งเพลง
โจ้ – สาโรจน์ เล่าย้อนไปถึงตอนที่เขากำลังเรียนมหาวิยาลัย คณะศิลปกรรม สาขาภาคพิมพ์ ซึ่งเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสกรีนภาพพิมพ์ ในมุมของเขามองงานสกรีนแต่ละชิ้นคืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง เพียงแต่มีกระบวนการผลิตไม่เหมือนกัน
“ที่มาของชื่อ เขียนไขและวานิช ก็เลยมาจากเทคนิคหนึ่งที่ได้จากตอนเรียน ก็คือ การใช้ดินสอไขเขียนภาพพิมพ์และเอาวานิชมาปิด จากนั้นก็สกรีน ผมก็เลยนำมาเป็นชื่อวง”
โดยปกติ โจ้ – สาโรจน์ เป็นคนที่ชอบแต่งเพลง ชอบบทกวีต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น ในวันว่าง ๆ หรือบางเวลาที่เขากำลังรู้สึกอะไรอยู่ เขามักจะเขียนเพลงที่มาจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งแรงบันดาลในในการแต่งเพลงของ โจ้ – สาโรจน์ มาจากการเดินทาง, มาจากเพื่อน, ครอบครัว, เรื่องความรัก โดยเฉพาะความรักที่มีอิทธิพลกับเพลงของเขามา ดูจากหลาย ๆ เพลงที่ถูกเขียนขึ้นมาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักอยู่บ่อย ๆ
“ปกติผมแต่งเพลงอยู่แล้ว และเป็นแนว ๆ การใช้คำควบกล้ำหรือว่าให้ประโยคเหล่านั้นสัมผัสกัน บางทีก็เป็นบทกวี หรือบทความสั้น ๆ ที่เอามาวนอยู่ที่เดิม ไม่ได้ซับซ้อนมาก คล้ายกับเพลงของพี่บอย อิมเมจิ้น ก็เป็นการเล่าเรื่องมากกว่าครับ”
ซึ่งเพลงแรกที่ โจ้ – สาโรจน์ แต่งขึ้นมาก็คือ ‘อาจจะเพียง’ เขามองว่า เพลง บทความ บทกวี ที่จริงก็คล้ายกับงานศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะว่าเราสามารถฉีกกฎทำแบบอื่นได้ อย่างความหมายในเพลงนี้ก็เช่นเดียวกันที่ โจ้ – สาโรจน์ พยายามสื่อสารและพูดถึงคนที่ไม่เจาะจงเกินไป และไม่สื่อสารตรง ๆ ว่า “ฉันรักเธอ” หรือ “เธอรักฉัน” แต่เอาดอกไม้ สิ่งของมาแทนเป็นตัวบุคคลในการเล่าเรื่อง
อย่างเช่น ประโยคหนึ่งในเพลงอาจจะเพียง ที่ร้องว่า “อาจจะเพียงแค่ลมที่พัดมา เวลาที่ฉันเดิน แล้วเจอกับดอกไม้ คงจะยิ้มเมื่อเห็นทันใด พอแล้วก็สุขใจ ที่ฉันได้เดินผ่านทาง” ซึ่งความหมายที่ซ่อนอยู่ของเพลงนี้บอกความรู้สึก บอกเล่าอารมณ์ได้ชัดเจนอยู่แล้ว
สำหรับ โจ้ – สาโรจน์ มองเรื่องของดนตรีกับงานศิลปะเป็นเรื่องเดียวกัน เขาพูดว่า “ที่จริงดนตรีกับศิลปะถ้ามองมันในแง่ดี ๆ ก็คือ มันเป็นธรรมชาติ เป็นสากล สำหรับผมมันคือความไม่ผิดไม่ถูก ขึ้นอยู่กับเราจะถ่ายทอดออกมาเป็นแบบไหนมากกว่า”
ดนตรีโฟล์กกับความนิยมที่คนเริ่มเปิดใจ
โจ้ – สาโรจน์ ได้พูดว่า “ในวงการโฟลก์ของเชียงใหม่ถือว่าขยับตัวได้น้อยมากและก็ยากมาก มันกระจุกตัวเพราะศิลปินเยอะมาก ดังนั้น หากไม่พยายามที่จะสร้างชื่อเสียงที่อื่น (นอกเหนือจากที่เชียงใหม่) ก็แทบจะไม่มีใครโด่งดังหรือเป็นที่รู้จักเลย”
“วงการเพลงโฟล์กในสมัยก่อนแคบมาก วนกันอยู่แค่นี้ ส่วนใหญ่อยู่ที่ร้านเหล้า ดังนั้นเราก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเองแค่นี้ ดังนั้น ศิลปินเพลงโฟล์กต้องพยายามหนักขึ้นเพื่อเข้าร่วมหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างชื่อเสียง เช่นที่ผมทำอยู่ก็คือ Chiangmai Original ที่เป็นการเปิดพื้นที่แสดงดนตรีให้กับนักดนตรีเชียงใหม่”
“เมื่อก่อนจะมีคนฟังเพลงโฟล์กน้อยมาก ก็จะมีแค่คนฟังเฉพาะกลุ่มใน SoundCloud (บริการแพลตฟอร์มเพลงออนไลน์) แต่ช่วงหลัง ๆ เริ่มมีการขยับขยาย มีเทศกาลที่มีบรรยากาศเกี่ยวกับงานแคมป์มากขึ้น คนเริ่มสนใจแนวทางนั่งชิล ฟังเพลง สบาย ๆ มากขึ้น ซึ่งก็เหมือนเปิดโอกาสให้กับแนวเพลงโฟล์กมากเหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ 4 ปีแล้วที่มีงานเทศกาลประมาณนี้ คนก็ยังไม่ซาเลย”
ความฝันของเขียนไขฯ
โจ้ – สาโรจน์ เล่ากับ The People ว่าปัจจุบันศิลปินเพลงโฟล์กของต่างประเทศเก่ง ๆ มีเยอะมาก เช่น โฟล์กมาเลเซีย หรืออย่างที่รุ่นพี่ในวงการได้ประสบการณ์จากการเปิดหมวกและร้องเพลงในเกาหลีใต้ ทำให้เรียนรู้วัฒนธรรมหรือแลกเปลี่ยนสิ่งใหม่ ๆ ได้เยอะมาก
“ผมอยากลองไปเล่นที่ต่างประเทศ อยากไปเล่นที่ญี่ปุ่น ผมอยากไปเจอโฟล์กของต่างประเทศ ปีหน้าผมคิดว่าจะไปญี่ปุ่นอยากไปเรียนรู้ประสบการณ์ตรงนี้ เพราะที่ผ่านมาศิลปินโฟล์กของญี่ปุ่นมาเล่นที่เชียงใหม่เยอะมาก และผมเห็นว่าเรื่องภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการฟังเพลง เพราะเรื่องของดนตรีมันสื่อสารด้านอารมณ์มากกว่า”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความฝันของ โจ้ – สาโรจน์ ก็คือ กลับไปทำงานศิลปะอีกครั้งเพราะที่ผ่านมาไม่มีเวลา ทั้งที่ที่บ้านก็เปิดแกลเลอรีแต่กลับไม่มีเวลาไปทำภาพพิมพ์ตามที่ใจอยากทำ ซึ่งในอนาคตเราน่าจะเห็นผลงานของโจ้ หรือ เขียนไขและวานิช ในรูปแบบที่ต่างออกไป นั่นก็คือการกลับไปเป็นศิลปินภาพพิมพ์อีกครั้ง
สำหรับงานของ Cat Radio หรือ เทศกาลดนตรี CAT EXPO 9 โจ้ – สาโรจน์ เล่าว่า ครั้งแรกที่มาร่วมงานเทศกาลนี้ก็กล้า ๆ กลัว ๆ เพราะกลัวคนยังไม่เปิดใจรับแนวเพลงนี้ แต่พอผลตอบรับดีเกินคาดกลังจากนั้น เขียนไขและวานิชก็ได้ร่วมงานเทศกาลแห่งนี้มาตลอด
ซึ่งต้องพูดว่า CAT EXPO กลายเป็นสัญลักษณ์เทศกาลดนตรีของคนเล็กไปแล้ว เพราะอย่างงานที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้แบ่งออกมาเป็น 4 เวทีด้วยกัน จะเห็นว่าศิลปินที่มาร่วมงานค่อนข้างหลากหลายแนวเพลง ดังนั้น หากจะพูดว่าเวที CAT EXPO เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ดี ๆ ที่เปิดโอกาสให้กับศิลปินและทำให้คนเข้าร่วมงานเปิดใจรับสิ่งใหม่มากขึ้นก็คงไม่ผิด
เขียนไขและวานิช ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ที่ชัดเจน ขณะที่ความนิยมของเพลงที่เขียนและร้องโดยเขียนไขและวานิช ไม่ว่าจะเป็นเพลงแก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร, หนีห่าง, ภาพฝันในจักรวาล ฯลฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่าความนิยมในแนวเพลงโฟล์กสำหรับคนไทยก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
ภาพ: surasee_tawewat/Instagram