‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

‘บี – ชนิดา อรุณรังษี’ เปิดเผยเรื่องราวของเธอกับจุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจลาออกจากอาชีพแอร์โฮสเตสที่ทำมา 12 ปี แล้วผันตัวเองมาเป็นศิลปินวาดภาพเต็มตัว โดยเริ่มจากการวาดภาพเหมือน (Portrait) จนมาเป็นศิลปินสาวที่หลงใหลในความ Abstract

  • จุดเริ่มต้นของศิลปินสาวสไตล์ Abstract กับอาชีพแอร์โฮสเตสและวันที่ตัดสินใจลาออก
  • เรื่องราวระหว่างการเดินทางต่างประเทศ กับไฟแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากเป็นศิลปินวาดภาพ
  • ความหมายและคอนเซปต์งานนิทรรศการกับธีม 9:16 ชีวิต และความสุขบนโซเชียลมีเดีย 

อาชีพในฝันของสาว ๆ เชื่อว่า ‘แอร์โฮสเตส’ ก็คือหนึ่งในนั้นไม่ว่าจะยุคสมัยไหน แต่อาชีพที่มั่นคงกับ passion ที่โหยหาบางทีอาจจะต้องเลือกเมื่อเสียงข้างในเรียกร้องจนเกินต้าน อย่างศิลปินสาวสวย ‘บี – ชนิดา อรุณรังษี’ ที่ยอมทิ้งอาชีพแอร์ฯ หลังทำมานานถึง 12 ปี เพื่อตามความฝันที่หลงใหลตั้งแต่เด็ก ๆ

บี – ชนิดา ได้พูดคุยกับ The People ถึงเรื่องราวที่มาของเธอ ก่อนที่จะผันตัวเองสู่การเป็นศิลปินวาดภาพเต็มตัว ช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความลังเลใจ และเสียงเรียกร้องจากความหลงใหลของเธอ ทำวันหนึ่งเธอตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่มั่นคงอย่างถาวร

 

เป็นเด็กผู้หญิงที่ต่างจากเพื่อน

เมื่อถามย้อนไปในวัยเด็กว่า บี – ชนิดา เป็นเด็กที่ชอบในความเป็นงานศิลปะอยู่แล้วหรือไม่ เธอเล่าว่า “จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เป็นคนที่ชอบเขียนกำแพงเล่น ชอบขีดเขียน แต่ไม่ใช่คนที่ชอบมานั่งวาดการ์ตูนสวย ๆ อย่างการ์ตูนตาหวานญี่ปุ่น ทั้งที่เพื่อน ๆ คนอื่นชอบวาดการ์ตูนแบบนั้น”

“บี เป็นเด็กผู้หญิงที่ไม่มีตุ๊กตาด้วย ไม่ได้เป็นคนชอบตุ๊กตา อย่างบางคนก็จะมีชอบ Snoopy หรือตัวการ์ตูนอื่นที่มาเป็นไอดอลในวัยเด็ก แต่เราไม่มี ตอนนั้นก็รู้สึกแตกต่างจากคนอื่นเหมือนกันว่าทำไมเราไม่มีไอดอล ไม่มีตุ๊กตา ไม่ชอบอะไรแบบอย่างนั้น”

สำหรับ บี – ชนิดา มองตัวเธอเองว่า บางทีเราอาจจะไม่รู้ว่าตัวเราชอบอะไร หรือมีพรสวรรค์ด้านไหนบ้าง เพราะมันอาจจะมาเจอตอนที่เราเดินทางไปจนหมดแล้วก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราพูดคุยต่อว่า ในช่วงเวลาที่เธอเป็นแอร์ฯ เธอมักจะไปท่องเที่ยว หรือมีไลฟ์สไตล์อย่างไร

‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

สำหรับหลายคนการช้อปปิ้ง ทานอาหารอร่อย ๆ คงเป็นกิจกรรมที่ชอบทำเมื่อไปต่างประเทศ แต่สำหรับ บี – ชนิดา สถานที่ที่เธอไปบ่อยที่สุดในระหว่างทริปต่างประเทศก็คือ ‘มิวเซียม’

“ความโชคดีของการเป็นแอร์ฯ ก็คือเราได้ไปมิวเซียม ได้เดินดูเมืองในมุมต่าง ๆ แม้กระทั่งพื้นที่โรม หรือการเห็นตึกรามบ้านช่อง เห็นศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากในมิวเซียม และแกลลอรี่ มันทำให้เรารู้สึกเอ็นจอยกับสิ่งเหล่านี้ เราชอบถ่ายพื้นที่สวย เราชอบถ่ายตึก เราชอบมองมุมของแสง คิดดี ๆ เราเป็นคนชอบความอาร์ตนะแต่ไม่รู้ตัว”

ถึงแม้ว่า สำหรับ บี – ชนิดา เธอมองว่าการที่ชอบงานศิลปะกับการเป็นศิลปินมันคนละเรื่องกัน แต่ก็น่าจะมีส่วนทำให้ความกระหายในงานอาร์ตของเธอเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งที่เธอทำงานเป็นแอร์ฯ ได้ 3 - 5 ปี บี – ชนิดา ตัดสินใจเริ่มงานศิลปะควบคู่ไปกับการเป็นแอร์ฯ เพื่อทดลองอะไรบางอย่าง

 

ปลุกความอาร์ตในตัวบี

บี – ชนิดา ได้เล่าต่อว่า ตอนที่เธอได้ไปที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เธอได้เดินในฮอลล์แห่งหนึ่งเพื่อเสพงานศิลปะ และเธอก็ได้เห็นงานศิลปะนามธรรม (abstract) รูปใหญ่รูปหนึ่ง เธอนั่งมองอยู่นานและรู้สึกว่าเป็นงานศิลปะที่มีเส่นห์ มีความดึงดูดบางอย่าง

“เราก็ดูไม่รู้หรอกว่าเขาเขียนอะไร แต่มันมีคำถามเต็มไปหมดว่าคนพวกนี้เขาคิดอะไร แล้วมีอะไรในความคิดเขา ทำไมเขาทำอะไรแบบนี้ออกมา แล้วทำไมงานศิลปะแบบนี้ถึงน่าสนใจ และน่าหลงใหล และสิ่งหนึ่งที่ถามตัวเองตอนนั้นก็คือ ฉันเป็นคนหนึ่งคนในคนพวกนั้นมั้ย? แล้วเราจะทำได้มั้ย? จุดนี้เองทำให้เราอยากลองทำ เพราะมันน่าจะสนุก บีก็เลยไปหาพี่ชลิต นาคพะวันค่ะ”

‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

“แต่พอไปจริง ๆ พบว่า มันไม่ใช่แค่ไปเรียนในคอร์สสั้น ๆ แต่มันคือการไปใช้ชีวิตกับเขา ไปขอคลุกคลีอยู่กับเขา พอเราไปได้คุยกับเขามากขึ้น เราก็รู้สึกว่าคนเหล่านี้น่ารักดี เขามีชีวิตที่เราคาดไม่ถึง อย่างพี่ชลิต ก็จะตื่น 4 เพื่อมาเขียนหนังสือ ทำงานตอนเช้ากับทำงานตอนเย็น ด้านความคิดของเขามันก็ต่างจากสิ่งที่เราเคยรู้จัก เราก็เลยเริ่มหลงใหลในโลกของอาร์ตมากขึ้น"

ในช่วงที่ บี – ชนิดา ยังเป็นแอร์ฯ อยู่ก็เรียนรู้เกี่ยวกับงานศิลปะควบคู่ไปด้วย มีทั้งเปิดงานแสดงเดี่ยว หรือไปร่วมแสดงผลงานกับศิลปินท่านอื่น ทำแบบนี้เรื่อย ๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่า ‘อยากลาออกจากการเป็นแอร์ฯ’ แต่เสียงข้างนอก (คนรอบข้าง) ไม่มีใครเชื่อไม่มีใครสนับสนุน อาจเพราะว่า บี – ชนิดา ไม่ได้เรียนดเนนี้มาโดยตรง และ 2 คือ อาจเป็นเรื่องน่าตกใจที่จะทิ้งอาชีพแอร์ฯ เพื่อมาทำงานอดิเรก (วาดภาพ) เต็มตัว

“สุดท้าย บี ก็ทำอาชีพแอร์ฯ นานถึง 12 (ระหว่างนั้นก็เป็นแอร์ฯ และวาดภาพด้วยตลอด) จนเรารู้สึกผิดว่านี่คืองานประจำของเรา แต่เราจะต้องไปขอแลกกับเพื่อน หรือรูทบินนี้เราลาป่วย เริ่มไม่อยากบินแล้วประมาณนี้ จนเราต้านตัวเองไม่ไหวก็คือ ยังไงต้องลาออก พอจังหวะนั้นมีแพลนจะแต่งงานพอดีเลยได้โอกาสลาออกในตอนนั้น”

“แต่พอลาออกมาปุ๊บก็คิดว่าจะได้วาดรูป แต่ก็เปล่าเพราะบี ไปทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวีอยู่ช่วงนึง จากนั้นก็ท้อง เป็นหน้าที่มาเป็นคุณแม่เลี้ยงลูกเต็มตัวเพราะเลี้ยงเอง”

 

จุดที่กลับมาวาดรูปอีกครั้ง

หลังจากที่ชีวิตของ บี – ชนิดา หลุดโฟกัสไปจากความชอบความหลงใหลไปครู่หนึ่ง อย่างช่วงเวลาต่อจากการแต่งงานมีลูก เธอก็ทุ่มเทไปกับลูกอันดับหนึ่ง เลยทำให้ห่างหายไปกับการวาดภาพอยู่ระยะหนึ่ง

“บี ลองไปทำงานคราฟต์ หัดทำอะไรที่เกี่ยวกับแม่ ถักนิตติ้งก็ถักจนเป็นปีกนก หรือฝึกทำขนมก็ทำจนขายได้ ปกติเราเป็นคนทำอะไรแล้วทำลึกเลย ทุ่มเท เป็นสายลึก”

“พอลูกอายุได้ประมาณ 4-5 ขวบ เรารู้สึกว่ารูปในโทรศัพท์ที่ถ่ายเอาไว้มันเยอะมากเป็นหมื่น ๆ รูป ไม่ใช่แค่หลักพัน คือ นาน ๆ ทีถึงจะเจอรูปที่ต้องการดูทีหนึ่ง คือมันไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่เอารูปมาใส่กรอบติดบ้าน บางทีเรารู้สึกว่าอยากเก็บรูปนี้ไว้จังเลย เพราะว่าพรุ่งนี้ลูกเราก็โตกว่าวันนี้แล้ว เราอยากเก็บไว้เป็นแบบภาพความทรงจำ”

“บีไปค้นห้องเก็บของค่ะ ก็มีสี มี canvas เหลือก็เอามาเขียน ซึ่งปกติบี ไม่ได้เขียนภาพแนว Portrait (ภาพเหมือน) อยู่แล้ว เพราะตอนที่เรียนกับพี่ชลิต ก็จะเป็นสไตล์ symbolic abstract คล้าย ๆ ผลงานของพี่ชลิต”

‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

“พอวาดเสร็จเรารู้สึกว่า เอ้ย มันเหมือนอยู่นะ แต่มันอาจจะไม่ได้แบบ Anatomy เราไม่ได้แม่นขนาดนั้น ตั้งแต่นั้นมาพอบีได้จับพู่กันแล้วก็รู้สึกว่าขาดหายไปจากกันไม่ได้แล้วค่ะ”

ช่วงเวลาที่ บี – ชนิดา เริ่มกลับมาจับพู่กันอีกครั้งกับสไตล์ภาพ Portrait ที่เธอวาดและโชว์ผลงานลงบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เธอมีโอกาสไปวาดรูปให้กับ ‘ลูกเกด - เมทินี กิ่งโพยม’ ที่ติดต่อมาเพราะอยากให้เธอเขียนรูปสามีเพื่อเซอร์ไพรส์วันเกิด

จุดเริ่มต้นและการหวนคืนพู่กันค่อย ๆ ก้าวมาทีละนิด จน บี – ชนิดา เริ่มเป็นที่รู้จักและมีผลงานที่น่าพึงพอใจตลอด 2 ปีจนเธอได้แสดงโชว์ผลงานที่ Trendy Gallery เป็น Portrait แบบนามธรรมหน่อย ๆ ไม่ได้เป็นภาพเหมือนจริง

การวาดภาพของ บี – ชนิดา ที่แม้ว่าจะเป็น Portrait แต่ลึก ๆ เธอก็มีความโหยหาความเป็น Abstract มาตลอด ซึ่งหลังจาก 2 ปีที่เล่ามานั้น เธอหันเหชีวิตอีกครั้งด้วยการจับงานศิลปะแบบ Abstract เพราะเชื่อว่า “คนเราต้องเดินต่อไป ทำไมต้องเจอสิ่งนี้แล้วต้องใช่เลย เพราะมันอาจจะแค่สถานีหนึ่งที่เดินผ่านมาก็ได้”

 

ทำไมต้อง 9:16 คอนเซปต์นิทรรศการล่าสุด

“จริง ๆ แล้วคนที่รู้จักงานของบี ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าบีใช้โซเชียลมีเดียค่อนข้างเยอะ แล้วตอนแรกที่บีเริ่มขายงาน Abstract หรือแม้แต่งาน Portrait บี ก็ได้เสียงตอบรับผ่านโซเชียลเยอะเหมือนกัน”

“เราวนเวียนอยู่ในโลกของโซเชียลค่อนข้างเยอะ ตัวบีเองก็ใช้มันเยอะ อยู่กับมันทุกวัน โซเชียลมีเดียเปรียบเหมือนหน้าต่างบ้านเราอะไรอย่างนี้ สมัยก่อนนะคะเวลาที่ทำงานเสร็จก็จะลงช่วงเวลาทำงานที่ตัดวีดีโอลงเป็น 9:16 อะไร ๆ ก็เป็นไซส์ 9:16 อีกแล้ว คือใครถ่ายภาพมาแนวขวางบีก็จะแบบทางขวาง ไม่ได้ เธอต้องถ่ายตามนี้ให้ฉันประมาณนี้ค่ะ”

‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

ซึ่งคอนเซปต์ 9:16 ก็คือที่มาของการใช้โซเชียลมีเดียของเธอนั่นเอง นอกจากนี้ ตัวคอนเซปต์งานนิทรรศการ 9:16 SOLO EXHIBITION BY BeCHANIDA ณ ชั้น 4 เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ บี – ชนิดา ยังพูดถึงธีมของงานศิลปะ Abstract ว่าเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับตัวของบี และคนอื่น ๆ ที่ใช้โซเชียล

“เราอยู่กับโซเชียลเยอะ เรารู้อยู่แล้วว่ามีทั้งดีและไม่ดี เราก็คิดไปเรื่อย ๆ แหละตามสไตล์ศิลปิน ก็คิดไปต่าง ๆ นานาว่า รูปบนโซเชียลบางทีเราไม่รู้เลยว่าเบื้องหลังมันคืออะไรบ้าง โมเมนต์ต่าง ๆ เหล่านั้นมันคืออะไร แล้วสิ่งนั้นคือการแต่งภาพให้สวยขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะบีมองว่า เราไม่ได้ anti เกี่ยวกับการปรับแต่งเพื่อให้สวยขึ้นเลย เพราะสำหรับบี ทุกครั้งที่จะลงโซเชียลรูปบีก็ต้องสวยเหมือนกัน”

“ทุกอย่างมันถูกทำขึ้นมาเพราะว่าดีมานด์ เพราะความต้องการของมนุษย์ เราต้องการสิ่งที่สวยขึ้น ดีขึ้น แล้วภาพต่าง ๆ เหล่านั้นเราก็ไม่สามารถไปตัดสินใครได้เลยว่าเขาใช้แอปพลิเคชั่น หรือ เขาลงภาพอย่างนั้นอย่างนี้ มันเหมือนเตือนตัวเองด้วยว่า เอ้ย สิ่งที่เราเห็น เราอ่าน เราต้องเลือกที่จะรับ เลือกที่จะเห็น ไม่ใช่รับมาหมดทุกอย่าง”

“สำหรับบี แค่รู้สึกว่าการพัฒนาตัวเอง เพื่อจะมีความสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเป้าหมายในชีวิตของบี เพราะฉะนั้นงานศิลปะของบีส่วนมากที่ทำออกมาก็จะเป็นในแนวทางของเรื่องความคิดที่จะชีวิตอย่างมีความสุขในทุกวัน”

‘ชนิดา อรุณรังษี’ จากชีวิตบนรันเวย์สู่ศิลปิน เชื่อในคติเสพสุขทางตา ชมความงามทางใจ

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจหรือคนที่ บี – ชนิดา ชอบที่จะเสพงานศิลปะ ชอบในตัวผลงาน คนไทยก็คือ ‘ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี’ มองว่า สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากผลงานศิลปะมันเท่ห์ มันดูมีเสน่ห์ ส่วนศิลปินต่างชาติก็คือ ‘ไซ ทูมอมบลี่’ (Cy Twombly) จิตรกรชาวอเมริกันที่มีผลงานเป็นเส้นวาดอันยุ่งเหยิงตวัดไปมาอย่างอิสระ ไร้กรอบไร้เกณฑ์และความหมายตรงตัว

ทั้งนี้ ผลงานของ บี – ชนิดา จะแสดงโชว์จนถึงวันที่ 4 ธันวาคมนี้เท่านั้น เธอมักพูดว่า “เวลาเราเห็นงานศิลปะของใครสักคน มันเหมือนเขาแก้ผ้าให้เรารู้ เพราะศิลปินจะปกปิดตัวตนไม่ได้” ซึ่ง ความเท่ห์ ซ่อนความหวานในสไตล์ที่เป็นแบบ บี – ชนิดา หลากหลายอารมณ์ด้วยสีฉูดฉาดและเรียบเฉย ถือว่าเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะอย่างหนึ่งที่รอให้คนที่ชื่นชอบไปเสพสุขทางตาด้วยกัน