สัมภาษณ์ ‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ ผู้มุ่งมั่นขับเคลื่อน-เติมสีสันให้ขอนแก่น ผลักดันอีสาน Soft Power

สัมภาษณ์ ‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ ผู้มุ่งมั่นขับเคลื่อน-เติมสีสันให้ขอนแก่น ผลักดันอีสาน Soft Power

สนทนากับ ‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ กรรมการ บริษัท Khon Kaen Innovation Center จำกัด (KKIC) อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสีสันให้ขอนแก่น เขามาพร้อมความมั่งมั่นอย่างแรงกล้าในการหนุนดันพื้นที่อีสาน

  • กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท Khon Kaen Innovation Center จำกัด (KKIC) เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสีสันให้ขอนแก่น
  • กวิน มองว่า นอกจากคอนเซปต์ BCG แล้ว ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Isan Soft Power เป็นคุณค่าที่ต้องสานต่อ เพื่อก้าวไปให้ถึงระดับสากล

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา หลายคนอาจสังเกตพบว่า มีกิจกรรมในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จัดขึ้นที่ ‘ขอนแก่น’ จนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแก่ภูมิภาคนี้

ล่าสุดคืองาน ‘Isan BCG Expo’ นำโดยกลุ่มมิตรผล ร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เพิ่งผ่านพ้นไปอย่างงดงาม เมื่อช่วงวันที่ 9-12 เดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

ในโมงยามที่ถนนทุกสายมุ่งสู่ขอนแก่น เรามีโอกาสสนทนากับ กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท Khon Kaen Innovation Center จำกัด (KKIC) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีสีสันให้แก่เมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเนรมิตโรงแรมหรู Ad Lib , ร้านอาหารระดับ Fine Dining อย่าง Food by Fire ตลอดจนถึง Live House พื้นที่ที่ออกแบบอย่างมีคุณภาพสำหรับการแสดงดนตรี ตลอดจนอีกหลายโครงการที่กำลังเดินหน้าทยอยออกมาเปิดตัวในเร็ววันนี้

และนี่คือควันหลงต่อจากงาน Isan BCG Expo ซึ่ง กวิน ตอกย้ำว่า นอกจากคอนเซปต์ BCG แล้ว เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ หรือ Isan Soft Power ถือเป็นคุณค่าที่ต้องสานต่อ เพื่อก้าวไปให้ถึงเวทีระดับสากล

สัมภาษณ์ ‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ ผู้มุ่งมั่นขับเคลื่อน-เติมสีสันให้ขอนแก่น ผลักดันอีสาน Soft Power

The People: ช่วยเล่าถึงที่มาของงาน Isan BCG Expo ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ขอนแก่น

กวิน ว่องกุศลกิจ: โดยแนวคิดของงานเป็นผลจากการคุยกันระหว่างกลุ่มมิตรผล กลุ่มหอการค้า และเมืองขอนแก่น โดยขอนแก่น มีกลุ่ม ‘ขอนแก่นพัฒนาเมือง’ อยู่แล้ว ผมทำงานอยู่ในหอการค้าจะได้ยินเรื่อง BCG มาเกือบ 10 ปี ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เอาสิ่งที่ประเทศไทยเราสู้คนอื่นได้มาพัฒนาต่อ แล้วพอดีเป็นเรื่องเทรนด์ของโลกด้วย ที่ถูกขับเคลื่อนด้วย Climate Change เมื่อคนในโลกอยู่ไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนจาก Product ที่เป็น Chemistry-based หรือ Petroleum-based มาเป็น Bio-based

Bio คือสิ่งที่ปลูกได้ คือสิ่งที่หาได้จากธรรมชาติ ด้วย concept นี้ ทางมิตรผลคิดว่า เราต้องมาทำที่ภาคอีสาน มาปักธงไว้ตรงกลางภาคอีสาน คือ ขอนแก่น ผมเป็นกรรมการของมิตรผลอยู่แล้ว ด้วย background ผมทำพวก Startup Ecosystem ทำ co-working space อย่าง Glowfish มา ดังนั้น จึงขอมาทำโครงการนี้ จนเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

เราเอา BCG มาปรับใช้ เลือกแต่ตัวที่เรียกว่า ‘ไม้ตาย’ ของประเทศไทย โดยภาคอีสานมีความสำคัญ เพราะว่าภาคนี้มี Bio-Based เป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ แล้วเกษตรกรจำนวนมากที่สุด ราว 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในภาคอีสาน

นอกจากจะมีศักยภาพเป็นแหล่งของวัตถุดิบแล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนส่งอีกด้วย ต้องนึกว่าจะทำอย่างไรให้ส่งออกไปสู่ตลาดได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้ Region นี้มีศักยภาพมาก อย่างเช่น สนามบิน มีการขยายเพิ่มเป็น 3 เท่า จาก 1.7 ล้านคน เป็น 5.1 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับ traffic ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วน Circularity คือการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน การกำจัด Waste เปลี่ยนเป็น Waste to Value เพราะอุตสาหกรรมน้ำตาล ถ้าเราขายน้ำตาลอยู่วันยังค่ำ Margin นิดเดียว ถ้าเกิดราคาตกลงนิดหนึ่ง เราขาดทุนเลย นี่คือยุคสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราจึงเปลี่ยนน้ำตาล Upcycle มาเป็น Ethanol หลัง ๆ น้ำตาล ซึ่งเป็น Bio-Based ทำได้ทุกอย่าง ทำ Prebiotic, Probiotic Anti Oxidant ทำเป็นพวกอาหาร ทำเป็นยา ทำเป็น Cosmetic ทำเป็น New Materials ที่ใช้แทนเสื้อที่พวกเราสวมใส่กันอยู่ เปลี่ยนแปลงได้เยอะมาก แล้วมาทดแทนทรัพยากรที่หมดง่าย อย่างพวก Petroleum ซึ่งยิ่งทำให้โลกร้อน Bio-Based ดีกว่านั้น คือมัน Renewable และเป็น Capture Carbon อยู่ในตัวของมัน

ที่เมืองไทย เมื่อเราพูดถึง Circularity เราพูดถึงทรัพยากร เราพูดถึงคนที่ดูแลทรัพยากรด้วย ส่วนมากทรัพยากรพวกนี้ดูแลด้วยเกษตรกร ซึ่งในอดีตถือว่าด้อยโอกาสที่สุดในประเทศ ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เทียบกับ Service Sector คนใน Sector การเกษตรถือว่ารายได้ต่ำมาก

เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูแลตรงนี้ได้ พัฒนา BCG ได้ คนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศที่รายได้น้อยที่สุด จะมีโอกาสได้ Benefit ได้ประโยชน์จากตรงนี้

The People: เนื่องจากจัดงานในปีนี้เป็นปีแรก เสียงตอบรับจากพันธมิตรเป็นอย่างไร

กวิน ว่องกุศลกิจ: พันธมิตรเยอะ ตอนที่ตั้งใจจะทำ ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีหน่วยงานหรือคนมาร่วมทำเยอะขนาดนี้ ตอนที่เราจัดงานนี้ โทร.ไปหาหน่วยงานต่าง ๆ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนเริ่มเรื่อง BCG ใช่ไหมครับ ตั้งแต่รัฐบาล ตั้งแต่สภาพัฒน์ คือเราก็โทร.ไปถามว่า ท่านอยากจะมาช่วยเราผลักดันเรื่องนี้ไหม ซึ่งจะเป็นคนระดับประเทศ แล้วก็เบอร์ 1 เบอร์ 2 ของทุกหน่วยงาน ตอบรับมาดีมาก แล้วคนในท้องถิ่นเอง หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตรด้วย ในภาคอีสานมากันทุกจังหวัด เราแค่ถือธงนำ แล้วทุกคนก็มาร่วมกันทำในสิ่งที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศ จริง ๆ แล้ว ผมว่างานนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย

The People: จากที่คุณได้สัมผัสมา ความเป็นขอนแก่นมีจุดแข็งอะไรบ้าง

กวิน ว่องกุศลกิจ: คือความร่วมมือกัน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ผมไม่เคยเห็นในที่ไหนมาก่อน แล้วเป็นของจริง คือเมืองนี้ เขามีหน่วยงานที่เรียกว่า ‘ขอนแก่นพัฒนาเมือง’ เป็นหน่วยงานที่ร่วมมือกันระหว่างเอกชนหลายฝ่ายกับฝ่ายเทศบาล เขาสามารถลงทุนในพวก Infrastructure ได้ เขามีกระบวนการมาเป็น 10 ปี กระบวนการที่ชวนคน ซึ่งไม่ใช่แค่ในขอนแก่นเอง แต่ในภาคอีสาน จังหวัดที่ connect กันง่าย ๆ อย่างเช่น อุดรธานี หนองคาย โคราช อย่างนี้ เขามาชวนกันคุยทุก ๆ ปี ทุก ๆ สองปี เช่น ล่าสุด เรื่อง Northeastern Economic Corridor เขาก็จะชวนทั้งสื่อ ทั้ง NGO ทั้งชาวไร่มา บุคคลสำคัญต่าง ๆ ในแต่ละบทบาทมาคุยกัน

ทีนี้ คือน่ารักตรงที่คุยกันได้หมด คุยกันได้จากทุกภาค มาหารือกัน เราจะร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งมันน่ารักนะครับ มันจะแข่งขันกันก็จริง แต่เป็นการแข่งขันที่เปิดเสรี มันทำให้มีพลัง เพราะถ้าเราเข้าไปแล้ว ‘โอ๊ย เดี๋ยวต้องมาดู อันนี้ฝั่งใคร อันนั้นฝั่งใคร อันไหนพูดไม่ได้ อันไหนชวนใครแล้ว ต้องไม่ต้องชวนอีกฝั่งหนึ่ง’ มันจะยุ่งมาก แต่นี่เขาทำกันร่วมกันหมดเลย ไปทางเดียวกันหมดเลย ที่นี่เขามีรากลึกมาก ตอนเรามาถึง เราเริ่มเห็น Offshoot มันออกมาจากดินแล้ว เริ่มเห็นดอก เริ่มเห็นผลแล้ว เราแค่มาโรยปุ๋ยให้โตเร็วขึ้น

สัมภาษณ์ ‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ ผู้มุ่งมั่นขับเคลื่อน-เติมสีสันให้ขอนแก่น ผลักดันอีสาน Soft Power

The People: ในแง่บทบาทของ KKIC ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ขอนแก่น มีแผนจะทำอะไรต่อไป

กวิน ว่องกุศลกิจ: จริง ๆ เราก็ปรับแผนตัวเองตามเขาด้วย แต่ว่าปักธงอยู่แล้ว เราทำเรื่อง BCG ก่อน มันมีอุตสาหกรรมที่ทำในอีสานได้ เน้น ๆ เลยคือพวก Medicine เพราะขอนแก่นเป็นเมืองของการวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์อยู่แล้ว นักวิจัยเป็นพันคน แล้วเป็นนักวิจัยที่ไม่เหมือนประเทศอื่นด้วย ประเทศอื่นเขาจะไม่คุยกัน ประเทศเราเป็นนักวิจัยที่คุยกัน คือคุยกับคนหนึ่งนี่ Link กันได้หมดเลย เรื่อง Medical เรื่องการเกษตร เรื่องอาหาร เรื่อง Smart City เพราะว่าเขามีกระบวนการทำขอนแก่นเป็น Smart City อยู่แล้ว แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ Last But Not Least คือเรื่อง Creative

The People: จริง ๆ แล้ว เป็นสิ่งที่เราละทิ้งไม่ได้ ประเทศนี้ละทิ้ง Creative ไม่ได้

กวิน ว่องกุศลกิจ: คือมิตรผลเราเป็นบริษัทการเกษตรใช่ไหมครับ เราก็ไม่ได้คิดเรื่อง Creative ตั้งแต่แรก ทีนี้พอไปถึง ไปเวียนร้านทั่วเมือง พบว่ามันมีศักยภาพ อาจจะเป็นเพราะมีนักเรียนจำนวนมาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แค่ 2 มหาวิทยาลัยนี้ ก็ใหญ่มากแล้ว อีสานเป็นที่ที่มีคน Creative มาก ดารา Influencer ระดับโลก อย่าง ลิซ่า (BLACKPINK) ก็เป็นคนอีสาน คือมีจุดเด่นในพลังด้าน Creative

ถ้ารัฐบาลจะพูดถึง Soft Power มันต้องมองไปที่อีสาน ถ้าพูดถึงความสนุก ความ Entertain ความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น เราต้องทำเรื่องพวกนี้ด้วย

The People: เวลาคุณพูดถึงเรื่องนี้ สังเกตว่าดวงตาเป็นประกาย ดูคุณจะมี Passion ข้างใน?  

กวิน ว่องกุศลกิจ: ใช่ ๆ มี Passion อยู่แล้วครับ มี Passion ถึงขนาดว่า พอเห็นศักยภาพตรงนี้ เราเปลี่ยนเลย คือของเราตอนแรกจะ Develop เป็นแค่ศูนย์นวัตกรรมที่มี Research ตอนนี้เรามี Live House อยู่ชั้นบนสุดของ KKIC เพื่อให้เป็น Performing Art เพื่อให้เป็นที่ปล่อยของ อันนี้เน้นในวงการดนตรีก่อน โดยอย่างน้อย ๆ เราต้องทำอย่างไร ให้ของที่เราปล่อยออกไปแล้ว Audience ที่เขามาฟังมาชม ต้องไปไกลกว่าประเทศไทยอย่างเดียว มันต้องเป็นอินเตอร์ฯ ต้องสื่อสารกับโลกได้ เพราะเราจะขายของเป็น export ออกไป เราจะเป็น Soft Power เราให้คนกันเองอยู่วันยังค่ำไม่ได้

พอเราทำ BCG Expo แล้ว เราก็อยากจะมีอีก festival หนึ่งที่เน้น creative อย่างเดียว อาจจะเริ่มจากดนตรี เพราะเป็น content ที่มีอยู่แล้ว และแข็งแรงอยู่แล้ว จากดนตรีเป็นหนัง เผลอ ๆ ในอนาคต เราฝันว่ามันจะเป็นเกมได้ด้วย เป็น festival ระดับโลก ที่ทำอย่างไรให้คนอยากมา แล้วถ้ามาเมืองไทยครั้งหนึ่ง ต้องมาจังหวะที่มีงานนี้ แล้วต้องมาในภาคอีสานด้วย ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ มันจะช่วยสร้าง Value มากเลย

ไม่ใช่แค่แขกมาเมืองไทย มากรุงเทพฯ ก่อน เสร็จแล้วก็กระจายไป ถ้า culture หน่อยก็ไปภาคเหนือ ซึ่งน่ารักดี ถ้า beach หน่อยก็ไปภาคใต้ แต่ตอนนี้ ภาคอีสานไม่ค่อยมา มีแต่พวก Eco พวก Green Tourism ซึ่งแน่นอนก็ดี แต่กลุ่มเล็ก เราอยากได้ mass เราคิดว่า festival เป็นวิธีที่เร็วที่สุด แล้วก็เป็นวิธีขายของ ขาย Soft Power ด้วย เพราะจุดประสงค์เรา เราไม่เปลี่ยนนะ คือเราไม่ได้จัด festival เอามันอย่างเดียว จัด festival อย่างไรให้คนเขาอยากมา แล้วเขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เห็นว่าภาคอีสานมี character อย่างไร มันสนุกอย่างไร มันเซิ้งอย่างไร เดี๋ยวจะมี festival แนว ๆ นั้น มาแน่นอนครับ

สัมภาษณ์ ‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ ผู้มุ่งมั่นขับเคลื่อน-เติมสีสันให้ขอนแก่น ผลักดันอีสาน Soft Power

The People: ผู้คนหลงใหลในวัฒนธรรมอีสาน ทั้งอาหารการกิน สิ่งทอ ดนตรี หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง ในความเห็นของคุณ เสน่ห์ของอีสานอยู่ตรงไหน

กวิน ว่องกุศลกิจ: สำหรับผม คือความสนุกและความเป็นกันเอง ไปแต่ละครั้ง ไปที่ไหนก็ตาม คนเขาต้อนรับ คนเขาเป็นกันเอง คนเขาไม่มี Barrier ไม่มีกำแพง ผมว่าเป็นเสน่ห์ แน่นอน มันเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยด้วย แต่พอไปที่ภาคอีสาน มันจะไปอีกระดับหนึ่งเลย พอเราไปรู้จักตรงนี้ เขาจะพาไปรู้จักต่อเรื่อย ๆ แล้วจะมี community ที่หลากหลาย ผมว่าเป็นเสน่ห์ตรงนั้น

แล้วอาจจะเป็นเพราะว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่ราบ คนไปมาหาสู่ได้ แล้วในอดีตเป็นพื้นที่ที่คนทำการเกษตร อาจจะไม่ได้มีฐานะมาก เขาต้องพึ่งพาอาศัยกัน ด้วยอดีตที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จริง ๆ แล้วมันกลับกลายเป็นพลังอย่างหนึ่ง เพราะมันสอนให้คนรู้จักที่จะแบ่งปันกัน เป็น community ขึ้นมา ผมคิดว่าถ้าจะทำอะไรที่มันมี Impact ได้ ก็ต้องทำกับกลุ่มคนที่มีลักษณะแบบนี้

ผมเปรียบมันเหมือน Blues เหมือนอีสานเขาจะมีหมอลำ มันเหมือน Blues ของเขา จริง ๆ แล้ว Blues เกิดจากความยากลำบากของคนกลุ่มหนึ่งใช่ไหม แล้วมันเป็นต้นแบบของ R&B เป็น Jazz เป็น Rap เป็นอะไรอีกมากมาย ผมว่า culture และดนตรีของภาคอีสาน มันเหมือน Blues เกิดขึ้นจากความยากลำบากเหมือนกัน จากความยากลำบาก ความคิดถึงบ้าน กลายเป็นความรักความคิดถึง

บางทีเห็นแล้วก็น่ารักดี อย่างคนขับรถบรรทุก พวกชาวรถบรรทุกอ้อย คือ โอ้โห สักเต็มตัวเลย … รถใหญ่ ๆ ขับมา มาถึงก็จอดรถให้ควายผ่าน และเราก็ได้ยินเพลงของเขา เป็นเพลงรัก แบบคิดถึงบ้าน แบบโดนแฟนทิ้ง แบบแฟนไปเมืองกรุง คือชีวิตมันยาก แต่ข้างในเป็นคนที่หวั่นไหว มันน่ารักดีครับ

The People: หากมองในแง่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราจะเอาสิ่งที่เป็นอีสาน culture อีสาน Soft Power ไปสู่เวทีสากลได้ไหม ด้วยหมอลำ กันตรึม หรือด้วยอะไรต่อมิอะไรที่อีสานมีอยู่

กวิน ว่องกุศลกิจ: ผมคิดว่าหมอลำน่าจะไปได้เร็วที่สุด แรงที่สุด ถ้าพูดถึงดนตรี ลักษณะการร้องเพลง ไม่ต้องอะไรคนที่ทำสากล อย่าง โจอี้ ภูวศิษฐ์ แม้จะร้องเป็น Style สากล แต่เขาสามารถที่จะมี character ของอีสานออกมาชัดเจน ถ้าไปทาง art หน่อย ก็มี รัสมี (เวระนะ) Rasmee Isan Soul อันนี้ก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง อันนี้ก็ไปอินเตอร์ฯ แล้ว ใช่ไหมครับ หรือ The Paradise Bangkok Molam International Band

ผมว่าแต่ละคนก็จะมีทางของตัวเอง แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งอุตสาหกรรม หรือทั้ง culture ถูกสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน ไปในกรอบเดียวกัน คนทั้งโลกจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น อันนี้เป็น challenge ที่อาจจะต้องปรึกษากับหลาย ๆ คนที่กำลังทำกันอยู่ กำลังพยายามจะหาทางอยู่ครับ

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม