read
interview
23 เม.ย. 2562 | 18:25 น.
WHY “Y” ทำความเข้าใจวัฒนธรรมวายกับ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม
Play
Loading...
“สาววายมีสายตาแบบพิเศษ
สมมติว่าคนในโลกนี้เขาอาจจะเดินแบบกอดคอกันเป็นเรื่องปกติ แต่พอสาววายเห็นคู่วายกอดคอกัน เขาจะคิดอีกแบบหนึ่ง คิดว่าการกอดคอนั้นลึกซึ้งกว่าเพื่อน ลึกซึ้งแต่ไม่ถึงแฟน เป็นพี่น้องแต่ก็มีเส้นบาง ๆ คั่นอยู่ เป็นพี่น้องที่รักกันเหลือเกิน”
นี่คือคำอธิบายง่าย ๆ เกี่ยวกับสาววายโดย
รศ.ดร.นัทธนัย
ประสานนาม
อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อาจารย์ที่ศึกษาวัฒนธรรมวายอย่างจริงจัง อีกหนึ่งวัฒนธรรมย่อยที่แทรกอยู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการขยับขยายวัฒนธรรมนี้ในบริบทสื่อมากขึ้น
The People จึงชวนคุยกับ รศ.ดร.นัทธนัย เพื่อทำความเข้าใจ มองการขยับขยายของวัฒนธรรม และตอกย้ำกับพวกเราทุกคนว่า “ความรักสมบูรณ์แบบที่ไม่มีจริง”
The People: ทำไมคุณถึงสนใจศึกษาวัฒนธรรมวาย
นัทธนัย
:
ผมเริ่มศึกษาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2551 ครับ เป็นการศึกษารูปแบบของยาโออิ (Yaoi) ที่อยู่ในรูปแบบในนวนิยาย เกิดจากการพบว่ามีลูกศิษย์สนใจงานกลุ่มนี้ แล้วมันทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์การอ่านครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2545 เป็นงานวายเวอร์ชันมังงะหรือหนังสือการ์ตูนซึ่งแปลมาจากภาษาญี่ปุ่น
จุดตั้งต้นที่ทำให้สนใจเกิดจากสิ่งที่นักวรรณคดีถูกตั้งคำถามว่า งานที่พวกเราศึกษากันมักเป็นงานวรรณกรรมคลาสสิก หรือ Literary Canon แล้ววรรณกรรมที่คนอ่านกันจริง ๆ มันอยู่ตรงไหนในการศึกษาวรรณคดี ซึ่งผมที่เป็นคนศึกษาวรรณกรรมปัจจุบันใช่ไหม? จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาวรรณกรรมที่คนอ่านในโลกความจริงด้วย ประกอบกับลูกศิษย์อ่านหนังสือแนวนี้ ผมก็เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
The People: ความสนุกในการศึกษาวรรณกรรมประเภทวายคืออะไร
นัทธนัย
:
สนุกในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการรับวัฒธรรมวายเข้ามาในวัฒนธรรมไทย ทำให้ผมศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่รูปแบบของมันเปลี่ยนแปลงไป
ช่วงแรกที่ผมสัมผัสในปลายทศวรรษ 2540 ผมเจอมาในรูปแบบมังงะ และกลายมาเป็นนวนิยายขายใต้ดินก่อน พอเวลาเปลี่ยนไป เราพบว่าอิทธิพลของมันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวายเข้ามาสู่วัฒนธรรมความบันเทิงอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงอันนี้มันเป็นจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่า วัฒนธรรมวายไม่หยุดนิ่ง มีสีสัน แล้วสนุกที่น่าจะศึกษาต่อ
The People:
ปรากฏการณ์การขยายตัวของวัฒนธรรมวายเป็นอย่างไรบ้าง
นัทธนัย
:
สิ่งแรกที่ชัดมากคือมันมาจากใต้ดินที่ขึ้นมาบนดินแล้ว
มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่สื่อวายหรือยาโออิถูกแบนหรือถูกเซ็นเซอร์ เนื่องจากมีฉากแสดงให้เห็นความใกล้ชิดมากเป็นพิเศษระหว่างตัวละครชาย ซึ่งบางคนอาจจะเรียกว่าเลิฟซีน ซึ่งเป็นเลิฟซีนที่ปรากฏในนวนิยายจะไม่ได้ปิดบังอำพราง มันชัดมาก เพราะฉะนั้น มันก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกแบน
พอวัฒนธรรมวายกลับมาใหม่ คราวนี้มันกลับขึ้นมาบนดิน และผสมกับวัฒนธรรมนิยมเกี่ยวกับนักร้องญี่ปุ่นและเกาหลี แต่ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 ที่ผมศึกษา ผมเจอว่านวนิยายวายที่คนไทยเสพส่วนใหญ่คือ “แฟนฟิกชัน” หรือบันเทิงคดีสำหรับแฟน ซึ่งตัววัตถุดิบเอามาจากความสัมพันธ์ของนักร้องชายเกาหลีผูกขึ้นมาเป็นเรื่อง แล้วมันก็ไปสัมพันธ์กับวัฒนธรรมความบันเทิงของไทยเอง เช่น การจับคู่กันของนักร้องไทยที่เราเจอใน Academy Fantasia หรือแม้แต่ใน The Star
ความเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังพูดถึงอยู่คือการขยับจากพื้นที่ออนไลน์มาสู่วัฒนธรรมหรืออุตสาหกรรมการพิมพ์ และเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อมีการจัดพิมพ์นวนิยายวายมากขึ้น ถูกเสพอย่างกว้างขวางมากขึ้น จนกระทั่งสำนักพิมพ์เริ่มก่อตั้งเพื่อพิมพ์เรื่องวายโดยเฉพาะ
พออุตสาหกรรมการพิมพ์เติบโตมากขึ้น ก็มีการหยิบเอานวนิยายไปทำเป็นซีรีส์ แรกสุดคือเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2557 เรามี “Love Sick The Series” ซึ่งเป็นนวนิยายออนไลน์ พิมพ์เป็นเล่ม แล้วมีการดัดแปลงกลายเป็นซีรีส์ หลังจากนั้นเป็นต้นมามันเหมือนเป็นการคืนชีพของวัฒนธรรมวายหลังจากมีแบบจาง ๆ เจือ ๆ ในวัฒนธรรมไทย คืนชีพกลับมาทั้งในบริบทของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ วัฒนธรรมภาพยนตร์ และซีรีส์โทรทัศน์
The People: เท่ากับว่าวัฒนธรรมสื่อ
วายมีพัฒนาการที่สวนทางกับวัฒนธรรมสื่ออื่น ๆ ที่มักเกิดจากสิ่งพิมพ์แล้วย้ายไปออนไลน์
นัทธนัย:
ใช่ครับ มันสลับกัน สาเหตุที่เรื่องวายอยู่ในออนไลน์ก่อนเพราะไม่มีสำนักพิมพ์จะมาพิมพ์ให้ กลุ่มคนเสพเป็นกลุ่มคนที่เฉพาะมาก ๆ เพราะฉะนั้นถ้าพิมพ์มันอาจจะไม่คุ้มเงิน จนกระทั่งคนที่ชอบเรื่องวายขยายตัวมากขึ้น มันจึงกลายเป็นตลาด พอวัฒนธรรมวายกลายเป็นตลาดปุ๊บ มันถึงมีสำนักพิมพ์มารองรับการพิมพ์เรื่องวายโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเราไปดูในร้านหนังสือใหญ่ ๆ เราจะพบว่าบนชั้น best seller ทุกสาขา จะต้องมีวรรณกรรมวายไปแทรกอยู่ มันแปลว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ถูก boost เสริมพลังโดยการมีอยู่ของวัฒนธรรมวายด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะอุตสาหกรรมความบันเทิงในจอโทรทัศน์อย่างเดียว
The People:
การ ‘จิ้น’ ตอบสนองอะไร
นัทธนัย:
จากการไปคุยกับสาววาย เราจะพบสำนวนหรือแฮชแท็กที่เขียนว่า “ชายได้ชายสาววายนิพพาน” หรือ “ตายอย่างสงบศพสีชมพู” เขาบอกว่า การที่เขามองคู่วายหรือคู่จิ้นว่ามีความสัมพันธ์กัน มันเป็นคนที่เขาชอบทั้งคู่ สมมติเขาชอบนักแสดงชายคนหนึ่ง แล้วนักแสดงชายคนนั้นถูกจับคู่กับนักแสดงชายอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้รังเกียจ เวลาเขามาคู่กันเท่ากับว่าสาววายไม่ได้สูญเสียทรัพยากรให้ใคร สาววายไม่ได้สูญเสียผู้ชายคนนั้นให้ใคร
อีกแง่หนึ่งมันเป็นความสัมพันธ์ที่มีช่องว่างให้จินตนาการ ถ้าเทียบกันระหว่างคู่จิ้นชาย-หญิง กับคู่จิ้นชาย-ชาย ถ้าเกิดเป็นคู่จิ้นชาย-หญิง สมมติเราจับคู่
เวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ)
กับ
เบลล่า (ราณี แคมเปน)
แล้วพอเขาเป็นแฟนกันจริง ๆ มันก็ไม่เหลืออะไรให้จิ้นแล้ว แต่ถ้าเทียบกันกับคู่ชาย-ชาย มันทำให้รู้สึกว่าเกือบแล้ว อีกนิดหนึ่ง เป็นที่ว่างให้มีจินตนาการ
The People: การ “จิ้น”
เป็นความสุขของการจินตนาการ
?
นัทธนัย:
ถูก มันคือความสุขที่ได้จากการที่ได้เสพ intimacy (ความสนิทสนม) ของนักแสดงชายหรือว่าคู่วาย สิ่งนี้เรากำลังพูดถึงคู่วายจริง ๆ ที่อาจจะเป็นนักแสดง ซึ่งบางทีความสัมพันธ์มันสนุกในการจินตนาการคือ ส่วนใหญ่แล้วความสัมพันธ์ของคู่จิ้นมักจะปรากฏในรูปแบบของความสัมพันธ์แบบ brotherhood เป็นพี่น้องกัน แต่ว่าในความเป็นพี่น้องกัน มันเหมือนมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ บางทีมีการล้ำเส้นเข้าไปไปหน่อยหนึ่งแล้วถอยกลับมา หรือเกิดความแง่งอนขึ้น มันเป็นจุดที่น่าสนใจ และเอามาใช้ได้ดีในฐานะวัตถุดิบของจินตนาการ มันสนุกตรงนั้น
อีกคำอธิบายคือความสัมพันธ์ระหว่างคู่วายที่เกิดขึ้นในนามพี่น้องที่มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ มันคือความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันเลิกกัน ถ้าเกิดว่าเขาคบกันจริง ๆ ขึ้นมา ทุกความสัมพันธ์มันมีจุดสิ้นสุด ถ้าไม่แต่งงานก็ตายจากกัน แต่คู่วายจะมีคำพูดของสาววายว่า
“ขอให้อยู่ดูแลกันไปเรื่อย ๆ อย่างนี้”
จะมีคำพูดประมาณนี้เยอะมาก และตลอดเวลา
ฉะนั้นแปลว่าสิ่งที่สาววายอยากเห็นคือความยั่งยืนของความสัมพันธ์นี้ ซึ่งในธรรมชาติความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนก็คือความสัมพันธ์ที่ยังมีช่องว่าง ไม่ได้มาแนบกันสนิท ถ้าลงเอยแต่งงานสร้างครอบครัวมันคือความสัมพันธ์ที่ไม่เหลือช่องว่างแล้ว เป็นความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์สำเร็จ
หรือคำว่า “คู่ชิป” ชิปกร่อนมาจากคำว่า relationship ที่แปลว่าความสัมพันธ์ แล้วคำว่าชิปสาววายยังไปโยงกับ “เรือ” เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาเจอคู่ชิป เขาจะเรียกว่า 2 คนนี้ลงเรือไปด้วยกันแล้ว เรียกคนที่เป็นฝ่ายนำในความสัมพันธ์ว่า “กัปตันเรือ” เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจในการเป็นคู่ชิปคือการมีความสัมพันธ์แบบที่เราเรียกว่า “เรือผี” เรือผีก็คือคู่ที่ไม่ใช่คู่กัน แต่เกิดการข้ามคู่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง นายเอเป็นคู่ชิปของนายบี ขณะเดียวกันนายบีเคยเล่นละครกับนายซี บางทีนายบีกับนายซีก็จะปรากฏตัวด้วยกัน ก็จะมีสาววายก็จะบอกเรือผีมาแล้ว
นี่คืออีกหนึ่งช่องว่างตรงนั้น เป็นช่องว่างที่ผมบอกว่าจำเป็นต้องใช้จินตนาการเข้าไปเติม ฉะนั้นการที่เรามีเรือแล้วยังมีเรือผีสลับคู่ไปมาได้ มันคือการเล่นสนุกกับจินตนาการของเรา
The People:
การขยายตัวของวัฒนธรรมวายในวงการสื่อ ส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อกลุ่มชายรักชาย
นัทธนัย:
เคยมีผู้กำกับซีรีส์วายออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาต้องการสื่อสารกับสังคมในประเด็นเพศวิถีของผู้ชายที่รักกัน ฉะนั้นในระยะหลังเราจะเห็นการสอดแทรกฉากสำคัญที่แต่เดิมเราจะไม่เห็นในซีรีส์วาย นั่นคือฉาก coming out หรือการเปิดเผยตัวตนกับคนในครอบครัว เป็นฉากที่เราจะเห็นมากขึ้นในซีรีส์วายระยะไม่เกิน 2 ปีนี้ ซึ่งสิ่งนี้เราไม่ค่อยเห็นในซีรีส์วายยุคแรก ๆ หรือแม้แต่ในกับวรรณกรรมวายเองแต่เดิมก็ไม่ค่อยเขียนถึงประเด็นนี้
The People: วัฒนธรรมวายเป็น
LGBTQ ไหม
นัทธนัย:
คำถามนี้มีปัญหานะ ถ้าไปถามสาววายเขาอาจจะตอบว่า “ไม่ใช่” เพราะจุดตั้งต้นในบริบทญี่ปุ่น เส้นแบ่งเรื่องเพศระหว่างความเป็นกึ่งหญิง-กึ่งชาย ความไม่เป็นชาย-ไม่เป็นหญิง อะไรทุกอย่างพร่าเลือนหมด เช่น ผู้ชายญี่ปุ่นกันคิ้วเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นจุดกำเนิดเรื่องวายในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เส้นแบ่งของความเป็นชาย-หญิงมันพร่าเลือน คอนเซปต์ LGBT จึงไม่มีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมวาย
พอวัฒนธรรมนี้ถูกส่งต่อมาในหมู่ผู้หญิง ซึ่งอยู่ในฐานะผู้สร้างและผู้เสพ กลุ่มผู้หญิงซึ่งเป็นจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของสาววายเป็นรักต่างเพศ ชอบผู้ชายปกตินั่นแหละ อันนี้มาจากข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนะ สาววายส่วนใหญ่เป็นรักต่างเพศ ฉะนั้นเรื่องวายจึงไม่ไป engage (ผูกมัด) กับ LGBT แบบที่ภาพยนตร์เกย์หรือวรรณกรรมเกย์ทำ เพราะเรื่องวายเป็นความสัมพันธ์ของผู้ชายที่รักกัน แต่ถูกจินตนาการขึ้นมาโดยผู้หญิง แล้วก็ถูกบริโภคโดยผู้หญิง
The People: หมายความว่าต่างประเทศไม่มีเส้นแบ่งเรื่องเพศ?
นัทธนัย:
ไม่ใช่ ผมพูดถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่บทบาทเพศที่ใช้คำง่าย ๆ ว่า ฝ่ายรุก-ฝ่ายรับ ใช่ไหม ถ้าพูดเป็นศัพท์เทคนิคของสาววายก็คือ “ฝ่ายรุก” เรียกว่า “เซะเมะ” (Semeru) “ฝ่ายรับ” เรียกว่า “อุเคะ” (Ukeru) สาเหตุหนึ่งที่เรื่องวายของไทยยังมีการแบ่งตัวแบบนั้นอยู่คือเป็นขนบของการแต่งเรื่องวาย เพราะว่าญี่ปุ่นเป็นคนแต่งให้มีเซะเมะกับอุเคะ เพราะฉะนั้นพอเรารับมา มันก็ยังมีเซะเมะกับอุเคะอยู่
ประเด็นที่สองคือเป็นวิธีการมองเรื่องเพศของไทยเอง มันจะมีปัญหาเวลาเราแบ่งว่าใครเป็นคิง-ใครเป็นควีน การแบ่งลักษณะแบบนี้มีการเหมารวม ซึ่งคอนเซปต์เรื่องเกย์คิง-เกย์ควีนไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมอื่น ถ้าเกิดว่าเราไปพูดกับคนอื่นเขาอาจจะไม่เข้าใจ ซึ่งเราใช้โมเดลการมอง gender แบบ male กับ female ไปสวมทับให้กับเพศอื่นด้วย
สิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่ใช่แค่เกย์คิง-เกย์ควีนเท่านั้น มันยังมีทอม-ดี้ในคอนเซปต์แบบไทย ๆ ถ้าพูดว่าทอมเป็นฝ่ายรุกและดี้เป็นฝ่ายรับ แต่จริง ๆ แล้วในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงรักหญิงหรือเลสเบี้ยน มันไม่ได้มีการแบ่งแบบนั้นชัดเจน
ฉะนั้นโมเดลการมองชาย-หญิงแบบไทย หรือ bipolar gender มันเข้าสอดคล้องเข้ากันพอดีกลับขนบการแบ่ง เซะเมะ-อุเคะ จากญี่ปุ่น มันก็เลยเป็นอย่างนี้แบบที่เราเห็นกัน
The People: สมัยก่อนในวรรณกรรมเก่า ๆ มันมี
วัฒนธรรมวายสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาไหม
นัทธนัย:
ในวรรณกรรมทั้งของไทยและต่างประเทศ เราอาจจะไม่เรียกว่าวาย แต่อาจจะเรียกว่า “ความปรารถนาที่มีต่อเพศเดียวกัน” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Homoeroticism เช่น วรรณกรรมบางเรื่องจะมองผ่านสายตาผู้ชายที่ชมโฉมผู้ชายด้วยกัน บางคนก็นับว่าเป็นการแสดงถึงความปรารถนาที่มีต่อเพศเดียวกัน มันอาจจะไม่ได้ชัดแจ้งถึงขนาดที่ว่าสองคนนั้นต้องไปมีเพศสัมพันธ์กัน แต่มันมีความปรารถนาแบบนี้แฝงเร้นอยู่ในวรรณกรรมเก่า ๆ ในของทุกชาติเลย
เช่น งานเขียนแนวผจญภัยในสมัยศตวรรษที่ 19 จากอังกฤษของ Sir Henry Rider Haggard ที่แปลเป็นภาษาไทย “สมบัติพระศุลี” หรืองานวรรณกรรมผจญภัยฉบับไทยอย่าง “เพชรพระอุมา” บางตอนที่เราอ่านก็จะรู้สึกว่าตัวละครผู้ชายมีความปรารถนาต่อกัน มันมีความปรารถนาแบบนี้แฝงเร้นอยู่ ฉะนั้นถ้าเรานับว่านั่นคือความวายแล้วเอามาจิ้นต่อ ก็อาจจะใช่ ก็อาจจะสังเคราะห์ให้เป็นวายได้ เพราะว่าสาววายเป็นคนที่มีสายตาแบบพิเศษ
The People: เคยได้ยินมาว่าวรรณกรรม
วายมักถูกมองเป็นสื่อชั้นรอง แล้วปัจจุบันมันยังถูกมองเป็นสื่อชั้นรองอยู่ไหม
นัทธนัย:
เวลาที่เราบอกว่าวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีสถานะสูงกว่าอีกเรื่องหนึ่ง หรือเวลาเราใช้คำว่า “วรรณกรรมชั้นรอง” แปลว่ามันต้องมี “วรรณกรรมชั้นสูง” นี่ไม่ใช่การมองแบบ popular culture เป็นการมองแบบแบ่งวัฒนธรรมเป็น high culture กับ low culture
ประเด็นสำคัญคือเรื่องวายถูกเขียนขึ้นมาแล้วถูกบริโภคในวงกว้าง มันไม่ได้ตอบสนองความต้องการในเชิงสุนทรียภาพอย่างเดียว สมมติเราเปรียบเรื่องวายกับเรื่องอื่น เช่น “ข้างหลังภาพ” คนเสพข้างหลังภาพอาจไม่ได้เสพแค่ความสัมพันธ์ระหว่าง นพพร กับ กีรติ ไม่ได้เสพความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มกับผู้หญิงอายุมากกว่าอย่างเดียว แต่เสพภาษาของ
ศรีบูรพา
ด้วย
ฉะนั้นคนอาจจะรู้สึกว่าเรื่องวายไม่ได้มีแง่มุมอื่นให้เสพ นอกจากการจิ้น ฟิน กับจินตนาการ หลายคนจึงมองว่าเป็นวรรณกรรมชั้นรอง ไม่มีวรรณศิลป์ ไม่มีความงามทางภาษา ซึ่งไม่แปลกที่มันจะเป็นวรรณกรรมชั้นรอง
เพราะตั้งแต่จุดกำเนิดในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มีคนบอกว่าคำว่า “วาย” ที่มาจากคำว่า “ยาโออิ” (Yaoi) แปลว่าเรื่องที่ไม่มีเนื้อหา ไม่มี climax ไม่มีประเด็น มันเป็นวัฒนธรรมกระแสรองตั้งแต่จุดกำเนิดของมันแล้ว ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าพอถ่ายโอนมาอยู่ในวัฒนธรรมของเราจะยังถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมรองอยู่
The People:
ภูมิภาคไหนในโลกที่วัฒนธรรมวายได้รับการยอมรับที่สุด
นัทธนัย:
ตอบได้เลยว่าภูมิภาคเอเชีย (หัวเราะ) แต่ปัจจุบันฐานแฟนคลับของคู่วายหรือแฟนซีรีส์วายไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศเอเชียเท่านั้น เราพบว่ามีแฟนกลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในอเมริกาใต้ จากการศึกษาใน instagram หรือว่า facebook fanpage เกี่ยวกับเรื่องวาย เราพบว่ามีการเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ซึ่งเป็นแฟนที่มาจากประเทศทางอเมริกาใต้เพิ่มจำนวนขึ้น ซีรีส์ที่เราดูกันอย่างกว้างขวาง เช่น “เดือนเกี้ยวเดือน” มีซับภาษาสเปนด้วย เรามีแฟนจากทวีปอเมริกาใต้มากขึ้น
ผมรู้สึกว่าประเทศไทยน่าจะเป็น hub ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในการสร้างคู่วาย คือวัฒนธรรมนี้เกิดจากญี่ปุ่นก็จริง แต่ว่าคนที่ทำให้มันเป็นอุตสาหกรรมขั้นสุดน่าจะเป็นประเทศเรา เพราะการเซ็นเซอร์หรือการตรวจสอบโดยรัฐของเราไม่ได้เข้มข้นเท่าประเทศอื่น เช่น ประเทศที่มีขนาดใหญ่สุดในเอเชีย เว็บซีรีส์เรื่องวายถึงขั้นถูกแบน หรือตัดจบให้เลิกฉาย เวลามีกิจกรรม fan meet ก็มีคำสั่งจากรัฐบาลว่าห้าม 2 คนนี้ยืนใกล้กัน แต่ประเทศไทยไม่ได้ตรวจสอบควบคุมถึงขนาดนั้น ซึ่งมันเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้วัฒนธรรมวายในประเทศเราเฟื่องฟูมากพอที่จะส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย
The People:
วัฒนธรรมวายกลายเป็นสินค้า
?
นัทธนัย:
แต่เดิมวัฒนธรรมวายสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า “ตัวบทของแฟน” (fantext) เช่น แฟนคลับทำคลิปดาราผู้ชาย 2 คนมาสร้างเป็นเรื่องราวมิวสิกวิดีโอเวอร์ชั่นของเขาเอง สิ่งที่เขาทำเรียกว่า poach ถ้าแปลเป็นไทยอาจหมายถึงการฉวยใช้ คือการเอาคลิปที่บริษัทซีรีส์นั้น ๆ ทำมาดัดแปลง เติมแต่งจินตนาการ ใส่เพลง ตัดต่อเนื้อหาให้กลายเป็นของตัวเอง นี่คือสิ่งที่แฟน poach ฉวยใช้จากบริษัทหรือสตูดิโอ
แต่ปัจจุบันมันเกิดเหตุการณ์ว่า บริษัทกลับฉวยใช้วัฒนธรรมแฟนเองแล้ว ยกตัวอย่าง บริษัทซีรีส์หนึ่งเขาไม่รอให้แฟนทำ เขาทำเอง นำคลิปตัวเองมาตัดต่อตามไวยกรณ์ที่สาววายชอบ ฉะนั้นแปลว่าตัวภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจก็ศึกษาวัฒนธรรมนี้จนจับไวยากรณ์มาทำตลาดเองได้ ความซับซ้อนก็คือ ปัจจุบันเราไม่รู้ว่า ใครเป็นคนซื้อ-ใครเป็นคนขาย คนที่ซื้อก็เหมือนซื้อในสิ่งที่ตัวเองเป็นคนทำ
The People: การเสพวัฒนธรรมวายมีปัญหาหรือความเสี่ยงอะไรไหม
นัทธนัย:
ปัญหาหนึ่งคือการอินเกินขนาด อินเข้าไปในจินตนาการแล้วสร้างการคุกคาม เกิดภาวะการณ์ล้ำเส้นคู่สัมพันธ์ของดาราคนนั้นในชีวิต ทั้งนี้ในหมู่สาววายด้วยกันเองก็พยายามควบคุมการไม่ล้ำเส้นนี้ด้วย เราจะศึกษาได้จากแฟนหลาย ๆ แหล่งจะพบว่า มีการห้ามกันเองว่า “อย่าไปล้ำเส้นนะ”
The People: ทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่า ความรักไม่ได้มีแค่ ชาย
-
หญิง
นัทธนัย:
เป็นไปไม่ได้ ในโลกนี้เป็นไปไม่ได้
สิ่งที่เรากำลังทำผ่านวัฒนธรรมวายคือการเปิดเสรีความรักว่า “ทุกคนรักกันได้” ชาย-ชายรักกันได้ แล้วในเรื่องวายบางทีก็มีชาย-หญิงรักกัน บางเรื่องก็มีผู้หญิงรักกัน คือความรักมันเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ แต่เราไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกเข้าใจหรือยอมรับความรักที่หลากหลายได้ คือคนที่รับก็รับ คนที่ไม่รับก็ไม่รับ ลองคิดง่าย ๆ แม้แต่ความรักชาย-หญิงเองที่เรามองว่าเป็นความรักกระแสหลัก มันยังมีความรักที่เป็นไปไม่ได้เลย เช่น ความรักข้ามชนชั้นยังเป็นไปไม่ได้เลย เธอโคตรเหง้าศักราชไม่โอเค ตระกูลเธอไม่สูงศักดิ์ก็ยังมีกีดกันกัน คือแม้แต่ความสัมพันธ์แบบชาย-หญิงมันยังมีเส้น เช่น อายุ ชนชั้น ความสามารถทางกาย ชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้แม้แต่ในความรักหญิง-ชายถ้ายังมีอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ความสัมพันธ์ในหมู่คนเพศเดียวกันจะไม่ถูกตั้งคำถาม หรือว่ายอมรับได้แบบไม่มีคำถามเลย มันเป็นไปไม่ได้
The People: เพราะ
รักสมบูรณ์แบบไม่มีจริง
?
นัทธนัย:
ไม่มีจริง ใครในห้องนี้มีความรักที่สมบูรณ์แบบบ้าง มันไม่มี ถ้าความรักของมนุษย์ในโลกนี้เป็นความรักที่แบบตื่นมาสมหวังภายใน 24 ชั่วโมงนะ หนังรักก็ขายไม่ได้ นิยายรักก็ขายไม่ได้ ซีรีส์วายก็ขายไม่ได้ ถ้าความรักในชีวิตจริงไม่มีอุปสรรคเลย เรื่องพวกนี้มันขายไม่ได้ เพราะหน้าที่หนึ่งของเรื่องพวกนี้เป็นเสมือนหลุมหลบภัยจากความไม่สมหวัง ความไม่สมปรารถนาในโลกจริง เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมในการหล่อเลี้ยงจิตใจและความหวังของคน เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่โลกนี้ทุกอย่างจะรักกันแบบไม่มีเงื่อนไข รักกันแบบไม่ถูกตั้งคำถาม ไม่ถูกกีดกัน มันเป็นไปไม่ได้ และมันจะไม่เกิดขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3535
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6960
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
848
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
Yaoi
Natthanai Prasannam
วัฒนธรรมวาย