จอห์น ลี: มือปราบ ‘ยิปมัน - ปิกาจู’ ตำรวจคนแรกที่ขึ้นสู่ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง

จอห์น ลี: มือปราบ ‘ยิปมัน - ปิกาจู’ ตำรวจคนแรกที่ขึ้นสู่ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง
ฮ่องกง ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อผู้บริหารสูงสุด (chief executive) คนใหม่จะไม่ใช่นักธุรกิจ หรือข้าราชการอีกต่อไป แต่เป็นอดีตนายตำรวจมือปราบวัย 64 ปีที่ชื่อ จอห์น ลี จอห์น ลี หรือชื่อเต็ม จอห์น ลี กา-จิว (John Lee Ka-chiu) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต่อจาก แคร์รี แลม ซึ่งครบวาระ 5 ปีในช่วงกลางปี 2022  ลีได้คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดเกือบ 1,500 คน ในการลงคะแนนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมปีเดียวกัน และกลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงคนที่ 5 นับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 1997 เขาเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่เลือกผู้นำคนใหม่แทนชาวฮ่องกงเกือบ 7.5 ล้านคน ขณะที่สื่อต่างชาติระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ต่างจากสภาตรายางที่ทำตามใบสั่งกรุงปักกิ่ง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัฐบาลจีน ก่อนหน้านี้ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง ถ้าไม่มาจากนักธุรกิจ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในชุมชน ก็เป็นข้าราชการที่รัฐบาลจีนไว้วางใจ แต่การเลือกอดีตตำรวจอย่างลี มาทำหน้าที่ผู้นำสูงสุดครั้งแรก ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า จากนี้ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ฮ่องกงจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยเหนือสิ่งอื่นใด มือปราบสั่งได้สลายม็อบ ลีสร้างชื่อเสียงจนเป็น ‘ลูกรัก’ ของกรุงปักกิ่งตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีความมั่นคงของฮ่องกงในยุคแคร์รี แลม เขาสนับสนุนการออกกฎหมายเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความสงบเรียบร้อย และปฏิบัติตามคำสั่งของกรุงปักกิ่งอย่างเคร่งครัด
“เมื่อมีคำสั่งลงมา เขาปฏิบัติตามทันที ง่าย ๆ แค่นั้น” เท็ด ฮุย อดีตสภานิติบัญญัติฝ่ายประชาธิปไตยของฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลียกล่าวถึงการทำงานของลี ซึ่งมีบุคลิกเป็นคนพูดน้อย และไม่ค่อยออกสื่อ
นอกจากทำตามคำสั่งไม่ต่างจากหุ่นเชิด ลียังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ในปี 2019 เนื่องจากผู้ประท้วงเกรงว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ต้องสงสัยบางคนอาจถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่จีน ซึ่งพวกเขาไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม การประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสันติกลายเป็นความรุนแรงเมื่อตำรวจภายใต้การดูแลของลี ตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยระดมทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และบางครั้งถึงขั้นใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม การปะทะกันครั้งนั้นทำให้ฮ่องกงจมดิ่งลงสู่ความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม ลีไม่เคยออกมาขอโทษหรือสำนึกผิด ในทางตรงข้าม เขากล่าวปกป้องการใช้ ‘กำปั้นเหล็ก’ กับผู้ชุมนุมของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยอ้างว่าผู้ประท้วงบางคนนิยมความรุนแรง เป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และ ‘สุดโต่ง’ ขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นบัญชีดำลี และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ชุมนุม ทิ้งเรียนวิศวะมาทำงานตำรวจ ลี เกิดวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1957 ในครอบครัวยากจนที่ซัมซุยโป (Sham Shui Po) หนึ่งในย่านชุมชนคนใช้แรงงานที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกง แม้จะเกิดมายากจน แต่ความขยันและเรียนดีทำให้เขาได้เข้าเรียนมัธยมฯ ปลายในโรงเรียนคริสเตียนชื่อดังของเขตเกาลูน  อดีตเพื่อนร่วมชั้นบรรยายถึงลี สมัยเป็นนักเรียนว่า เขาเป็นเด็กฉลาดและแต่งตัวเก่ง เคยไว้ผมยาว สวมกางเกงขาบาน ชอบตามจีบสาวและออกงานเลี้ยงสังสรรค์ตามประสาวัยรุ่น หลังเรียนจบไฮสคูล ขณะที่เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย ลีปฏิเสธเข้าเรียนวิศวะที่สอบได้ แต่เลือกไปสมัครเป็นตำรวจแทน เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า สาเหตุที่เลือกเป็นตำรวจเพราะมักถูกนักเลงอันธพาลในละแวกบ้านรังแก แต่อดีตเพื่อนร่วมชั้นบอกว่า เหตุผลที่แท้จริงน่าจะมาจากความต้องการอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากเจเน็ต ภรรยาของเขาตั้งครรภ์ และมีลูกคนแรกด้วยกันหลังเรียนจบมัธยมฯ ปลายไม่นาน กวาดล้างแก๊งมาเฟียเรียกค่าไถ่ลูกเศรษฐี ลีเริ่มอาชีพตำรวจในปี 1977 ขณะมีอายุเพียง 19 ปี โดยเข้าสังกัดหน่วยปราบปรามอาชญากรรม เขาต้องรับมือกับบรรดามาเฟียชื่อดังของฮ่องกงในยุคนั้น โดยหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดง คือ การตามล่าตัว ‘เชียง เจ๋อ เกียง’ หัวหน้าแก๊งมาเฟียเจ้าของฉายา ‘เจ้าบุญทุ่ม’ ซึ่งโด่งดังในยุค ‘90s จากการก่อคดีลักพาตัวบรรดาสมาชิกครอบครัวเศรษฐีเรียกค่าไถ่ หนึ่งในเหยื่อของเชียง เจ๋อ เกียง คือ วิคเตอร์ ลี ลูกชายคนโตของมหาเศรษฐี ‘ลีกาชิง’ (Li Ka-shing) ซึ่งถูกจับเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อปี 1996 หลังจากนั้น 2 ปี ตำรวจชุดสืบสวนของลี สามารถแกะรอยจนพบแหล่งกบดานของแก๊งนี้ และบุกยึดระเบิดน้ำหนัก 800 กิโลกรัมเอาไว้ได้ แม้ปฏิบัติการณ์ครั้งนั้น หัวหน้าแก๊งจะไหวตัวทันและหลบหนีไปจีนแผ่นดินใหญ่ได้ก่อน แต่สุดท้ายก็ถูกจับกุมตัวและถูกประหารชีวิตทันทีที่นั่น ได้ฉายา_ยิปมัน_และ_ปิกาจู ลี ทำงานเป็นตำรวจอยู่นาน 35 ปี จนได้เลื่อนขั้นถึงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ จากนั้นปี 2012 ในยุคผู้นำฮ่องกงชื่อ เหลียง ชุนหยิง เขาถูกแต่งตั้งให้เป็นรองรัฐมนตรีความมั่นคง จนกระทั่งปี 2017 เมื่อแคร์รี แลม ขึ้นสู่อำนาจ ลีได้เลื่อนขั้นเป็นรัฐมนตรีความมั่นคง และขยับเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากแลมในเดือนมิถุนายน 2021  ลี ลาออกจากผู้นำหมายเลขสองมาลงสมัครผู้บริหารสูงสุดแทนแคร์รี แลม ในเดือนเมษายน 2022 ขณะที่ ไหล ตุง-กวอก อดีตรัฐมนตรีความมั่นคงคนก่อนหน้าลี กล่าวถึงผู้ที่เคยมารับตำแหน่งต่อจากตนว่า ลีเหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ทุกประการ
“เขาคือคนที่ผ่านการทดสอบแล้ว หากเขาต้องการทำสิ่งใดให้สำเร็จ เขาจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ให้หมดไป” 
ไหลพูดถึงลี พร้อมบอกด้วยว่า ในหน่วยงานความมั่นคง ลีมีฉายา ‘ยิปมัน’ ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามปรมาจารย์กังฟูชื่อดังเพื่อเป็นการยกย่องความมุ่งมั่นทุ่มเทที่เป็นบุคลิกเฉพาะตัวของเขา อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฝั่งตรงข้าม ลี คือ ‘ปิกาจูของกรุงปักกิ่ง’ โดยคำว่า ‘ปิกาจู’ คือชื่อตัวการ์ตูนญี่ปุ่นจากเรื่องโปเกม่อน ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า ‘ลี กา-จิว’ ที่เป็นชื่อจีนของเขา นอกจากนี้ ‘ปิกาจู’ ยังสื่อถึงความเป็นทาส เพราะในโปเกม่อน มันคือสัตว์เลี้ยงนักสู้ที่เป็นเครื่องมือของมนุษย์ สร้างรัฐตำรวจรวมศูนย์เป็นระบบเดียว? แม้ที่ผ่านมาจีนจะย้ำมาตลอดว่า เขตปกครองพิเศษฮ่องกงอยู่ภายใต้นโยบาย ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ ซึ่งหมายความว่า ฮ่องกงจะยังคงมีรูปแบบการปกครองของตนเองต่อไปแม้จะกลับคืนสู่อ้อมอกของจีน หลังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมานาน 99 ปี ทว่าการเลือกลี ขึ้นมาอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนกำลังต้องการเปลี่ยนฮ่องกงให้เป็นระบบเดียวกับปักกิ่ง และอาจกลายเป็น ‘รัฐตำรวจ’ ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น สัญญาณที่ว่าเริ่มมาตั้งแต่ลีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีความมั่นคง โดยช่วงนั้นนอกจากเขาจะใช้อำนาจกวาดล้างผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เขายังพยายามปิดปากฝ่ายตรงข้ามด้วยการจับกุมคุมขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตย  หนึ่งในสื่อชื่อดังที่ตกเป็นเหยื่อของลี รวมถึง จิมมี่ ไหล เจ้าพ่อสื่อฮ่องกงเจ้าของหนังสือพิมพ์ แอลเปิล เดลี่ ที่ถูกสั่งปิดกิจการ อายัดทรัพย์ และจับกุมคุมขัง
“การเลือกเขา (จอห์น ลี) เข้ามาเป็นการส่งสัญญาณว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มั่นใจความมั่นคงในฮ่องกง และยังทำให้เรารู้ด้วยว่า รัฐบาลกลางยังคงไม่ไว้ใจทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวฮ่องกง” บีบีซี อ้างความเห็นของจอห์น เบิร์นส คอลัมนิสต์ ‘ฮ่องกง ฟรี เพรส’ สื่อออนไลน์อิสระ
แม้ลี จะมีจุดแข็งเรื่องความมั่นคง แต่มีจุดอ่อนเรื่องความไร้ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม ดูเหมือนบรรดาชนชั้นนำฮ่องกงจะมองข้ามจุดอ่อนของเขา และหันมาสนับสนุน โดยสังเกตได้จากรายชื่อทีมที่ปรึกษาหลังเสนอตัวเป็นผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ ซึ่งมีทั้งมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของฮ่องกงอย่าง ลีกาชิง และแจ็คกี้ ชาง (เฉินหลง) ดารานักบู๊ชื่อดังรวมอยู่ในนั้นด้วย
“เมืองจะเจริญรุ่งเรืองไม่ได้หากไร้เสถียรภาพความมั่นคง” วิคเตอร์ ลี (Victor Li) ประธาน ซีเค ฮัตชินสัน โฮลดิ้ง ลูกชายลีกาชิง กล่าวสนับสนุนจอห์น ลี อดีตนายตำรวจที่เคยไล่ล่าคนร้ายผู้จับตัวเขาเรียกค่าไถ่ในอดีต
ไม่ว่าลี จะเป็นฮีโร่ของฝ่ายสนับสนุนและได้ฉายา ‘ยิปมัน’ หรือเป็น ‘ปิกาจู’ ในสายตาของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ดูเหมือนอนาคตของฮ่องกงยุคต่อไปจะยังเป็นเครื่องหมายคำถาม เป็นคำถามที่ต้องตามหาคำตอบว่า ฮ่องกงจะยังคงอยู่ภายใต้นโยบาย ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ หรือไม่ และดินแดนที่เคยรุ่งโรจน์แห่งนี้จะยังสามารถคงสถานะฮับทางการเงินของเอเชียต่อไปได้อีกนานเพียงใด คำถามนี้ผู้ที่ตอบได้ดีที่สุดคงมีแค่รัฐบาลปักกิ่งและ จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดคนต่อไปของฮ่องกง . อ้างอิง: https://www.bbc.com/news/world-asia-china-61267490 https://www.channelnewsasia.com/asia/john-lee-hong-kong-new-chief-executive-former-cop-beijing-trusts-2670951 https://www.nytimes.com/2022/05/06/world/asia/john-lee-hong-kong-election.html https://www.wsj.com/articles/john-lee-former-policeman-poised-to-be-hong-kongs-next-top-official-11649244872