ลิซ ทรัสส์ (อดีต)นายกฯ หญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ กับวิกฤตที่ทำให้ทำงานได้แค่ 45 วัน

ลิซ ทรัสส์ (อดีต)นายกฯ หญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ กับวิกฤตที่ทำให้ทำงานได้แค่ 45 วัน

ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ จ่อเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์บริติชเพียง 45 วัน สตรีที่เคยประกาศต่อต้านราชวงศ์อังกฤษ และยังกลับมาภักดี ยืนหยัดข้างฝ่ายขวา ถึงจุดที่ประกาศลาออก

หลังจาก ‘บอริส จอห์นสัน’ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2022 ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษต้องหัวหมุนกันเป็นเวลานานกว่าสองเดือน

วันที่ 5 กันยายน 2022 การเฟ้นหาหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมและนายกฯ คนใหม่ถึงคราวต้องยุติลง หลังจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมกว่า 81,326 คะแนน หรือ 57.4% มีมติให้ ‘ลิซ ทรัสส์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่แห่งสหราชอาณาจักร

เส้นทางของลิซ ทรัสส์ ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอังกฤษก็ไม่ธรรมดา เริ่มตั้งแต่เป็นนักศึกษาวัย 19 ที่ปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องความเท่าเทียม ปลดแอกชนชั้น และสนับสนุนการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ จนมาถึงวันที่ ‘เปลี่ยนใจ’ หันมายืนหยัดเคียงข้างฝ่ายขวา ฝ่ายที่เธอเคยมองว่าต้องล้มล้างให้สิ้นซาก

เธอขึ้นมารับตำแหน่งในช่วงสภาวะเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงอย่างยิ่ง และมีปัญหารุมเร้าอย่างหนัก รัฐบาลยุคของเธอเผชิญภาวะระส่ำระสาย ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2022 เธอปลดรัฐมนตรีการคลังจากตำแหน่ง อีกทั้งยังตัดสินใจถอนมาตรการลดภาษีซึ่งถือเป็นแผนลดภาษีครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร และต้องขอโทษกับการกลับลำ 

ความปั่นป่วนในรัฐบาล ตามมาด้วยข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลาออกจากตำแหน่ง สะท้อนสภาวะไม่มั่นคงของรัฐบาลยุคนี้

แผนการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ เจอกระแสท้วงติงและถูกกดดันอย่างหนัก กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างมาก

กระทั่งในวันที่ 20 ตุลาคม 2022 (ตามเวลาในไทย) ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนั่นทำให้สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า การลาออกครั้งนี้ส่งให้ลิซ ทรัสส์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์บริติชด้วยระยะเวลาเพียง 45 วัน (รายงานข่าวบางแห่งระบุว่า 44 วัน)

...นี่คือเรื่องราวของเธอ

นักศึกษาผู้ปลุกระดมมวลชนให้ล้มล้างสถาบัน

“เราชาวเสรีประชาธิปไตย เชื่อในโอกาสที่เป็นของทุกคน เราไม่เชื่อในคนที่เกิดมาเพื่อปกครอง”

คือคำประกาศเจตนารมย์ของ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นักศึกษาสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดขณะอายุ 19 ปี ที่เชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่าชนชั้นปกครองเป็นเรื่องตื้นเขิน ไม่ควรมีใครเกิดมามีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร การเกิดมาอยู่ในชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

ลิซ ทรัสส์ หรือชื่อเต็มคือ แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ (Mary Elizabeth Truss) เกิดวันที่ 26 กรกฏาคม 1975 ณ เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวที่มีความสนใจทางการเมืองในระดับเข้มข้น พ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ แม่เป็นพยาบาล ที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย และหนึ่งในผู้ต่อต้านนโยบายการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในสมัยแทตเชอร์

ทรัสส์ มีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกฯ หญิงคนแรกของอังกฤษเป็นต้นแบบ ตอนอายุ 7 ขวบ เธอเลือกที่จะสวมบทบาทเป็นผู้นำหญิงเหล็กในการแสดงละครเวทีของโรงเรียน ความหลงใหลการเมืองของเธอเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากผู้เป็นแม่ บอกเธอว่าจะไปเข้าร่วมการเดินขบวนของกลุ่มเรียกร้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากแทตเชอร์อนุญาตให้มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน

ในวัยเด็ก แม้เธอจะไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เป็นแม่ต้องต่อต้านการกระทำของนายกหญิงเหล็ก แต่ภาพของผู้นำหญิงคนนี้ยังคงเป็นสิ่งที่เธอเฝ้าฝันว่าสักวันหนึ่ง ที่นั่งในทำเนียบจะต้องเป็นของเธอ

หลังจากนั้น ทรัสส์ก็มุ่งมั่นเข้าศึกษาต่อด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และทำกิจกรรมการเมืองที่มีนักศึกษาเป็นผู้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด รวมถึงสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) เพื่อประกาศจุดยืนทางการเมืองว่าเธอ ‘เลือก’ ว่าจะอยู่เคียงข้างประชาชน

“มันคือสิ่งที่ผิดพลาด ตอนนั้นดิฉันยังเด็ก แต่หลังจากได้เข้าพบกับควีน ดิฉันก็ทราบได้โดยทันทีว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิด ควีนสุภาพและใจดีกับดิฉันมาก”

เธอเปลี่ยนความคิดจากนักศึกษาหัวรุนแรง มาเป็นพลเมืองผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์แทบจะในทันทีหลังจากกล่าวสุนทรพจน์ปลุกระดมให้นักศึกษาลุกขึ้นมาต่อต้านสถาบัน

หลังจากจบการศึกษา เธอทำงานเป็นนักบัญชีที่บริษัทเชลล์ (Shell) และบริษัทเคเบิล แอนด์ ไวร์เลส (Cable & Wireless) จากนั้นได้แต่งงานกับ ฮิวจ์ โอเลียรี (Hugh O'Leary) เพื่อนร่วมอาชีพในปี 2000 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน

มุ่งสู่เส้นทางการเมือง

แม้ชีวิตจะดูสมบูรณ์พร้อม แต่อีกหนึ่งความฝันที่ทรัสส์ยังไม่สามารถเติมเต็มได้คือ การเป็นนายกฯ หญิงตามรอยแทตเชอร์ ในปี 2001 เธอจึงลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. พรรคอนุรักษนิยม เขตเฮมส์เวิร์ต ในเมืองเวสต์ยอร์กเชียร์ แต่ก็พ่ายแพ้ และแพ้การเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2005

ทรัสส์ยังไม่หมดหวัง เธอยังคงเดินหน้าลงเล่นเกมการเมืองอย่างต่อเนื่อง และในปี 2006 ความพยายามของเธอก็สำเร็จ ทรัสส์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาของกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน และอีก 2 ปีให้หลัง เธอก็ได้ทำงานเป็นรองผู้อำนวยการของรีฟอร์ม (Reform) สถาบันวิจัยที่เอนเอียงมาทางฝ่ายขวา

เส้นทางการเมืองของเธอก็เริ่มอยู่กับร่องกับรอย เพราะนับตั้งแต่ปี 1996 เธอก็ได้ ‘เปลี่ยนใจ’ มาอยู่ฝ่ายขวาโดยสมบูรณ์...

จนมาถึงปี 2010 เธอได้เข้ามานั่งในสภาฯ ฐานะ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม เขตเซาธ์เวสต์นอร์ฟอล์ก และโลดแล่นอยู่ในการเมืองอังกฤษมานับแต่นั้น ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยด้านการศึกษาและดูแลเด็กในปี 2012 และได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมในปี 2019

นอกจากนี้ ทรัสส์ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ต่อในอียู (EU) ซึ่งเธอก็ได้เปลี่ยนใจอีกครั้ง “การอยู่ต่อถือเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร นั่นหมายความว่าเราสามารถทำให้อังกฤษมุ่งหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายในบ้านตัวเองได้” ซึ่งเธอได้เผยภายหลังว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

หลังจากนั้นในปี 2021 ทรัสส์ได้รับความไว้วางใจจาก ‘บอริส จอห์นสัน’ (Boris Johnson) ให้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดในรัฐบาล

นายกฯ หญิงคนที่ 3ของอังกฤษ กับการตั้งเป้าแก้ปัญหาราคาพลังงาน

ทรัสส์ให้คำมั่นสัญญาก่อนที่จะขึ้นเป็นผู้นำอังกฤษว่า หากได้เป็นนายกฯ คนใหม่ของอังกฤษ จะเสนอให้ยกเลิกการปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม และยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 19% เป็น 25% ในปี 2023

รวมถึงระงับการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อากรสีเขียว’ (green levy) และปรับเกณฑ์จัดเก็บภาษี สำหรับคนที่ต้องอยู่บ้านดูแลเด็กและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่ง เธอจะทำแผนเพื่อจัดการกับค่าพลังงานที่สูงขึ้น และหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงในอนาคต

แม้การกระทำของเธอจะสามารถ ‘ซื้อ’ ใจ ประชาชนชาวอังกฤษได้ แต่เมื่อมองบริบทโดยรวม จะเห็นว่าอังกฤษกำลังตกที่นั่งลำบาก ทั้งปัญหาขาดแคลนพลังงานและเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 10.1 (สูงสุดในรอบ 10 ปี) อีกทั้งยังเพิ่มสูงสุดในกลุ่มประเทศ G7 อีกด้วย

“เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราจะส่งผ่านประเทศได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะมอบแผนการที่กล้าหาญในการลดภาษีและทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต เริ่มจากจัดการกับวิกฤตพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่เราจะต้องร่วมกันแก้ไข” 

แต่การจัดการด้านพลังงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเธอประกาศชัดว่าจะต่อต้านและทำทุกวิถีทางเพื่อล้มล้างปูติน และมอบชัยชนะให้แก่ยูเครน

“ดิฉันให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นผู้นำโลกเสรี ที่พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านปูติน และนำชัยชนะมายังยูเครน”

นอกจากนี้ทรัสส์ยังบอกอีกว่า เธอจะทำทุกอย่างเพื่อทำลายประธานาธิบดีรัสเซียที่นำสงครามมาสู่ชาวยูเครนและประชาคมโลก โดยไม่หวาดหวั่นต่อภัยคุกคาม เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เธอคาดหวังมากที่สุดในศึกครั้งนี้คือ ‘ชัยชนะ’ ที่ยุโรปมีเหนือรัสเซีย

ซึ่งจุดยืนที่แข็งกร้าวของเธอทำให้ ดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกเครมลินออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว “ทันทีที่อังกฤษประกาศแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการ ผมต้องเรียนตามตรงว่า สิ่งต่าง ๆ มันกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่เลวร้าย และไม่มีอะไรที่จะแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว”

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เครมลินไม่พอใจ ต้องย้อนกลับไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หลังจากทรัสส์เดินทางไปเยือนกรุงมอสโก และเข้าประชุมร่วมกับ ‘เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ’ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย

ลาฟรอฟบรรยายการประชุมครั้งนี้ไว้ว่า การสนทนาระหว่างเขาและทรัสส์เต็มไปด้วยความน่าอึดอัดใจ ไม่ต่างจากการพูดคุยกับคนหูหนวกตาบอด เพราะเธอยังอ่อนหัดนัก อีกทั้งยังสับสนระหว่าง ‘ทะเลดำ’ กับ ‘ทะเลบอลติก’ อยู่เลย

แม้ว่าเธอจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากหลายประเทศในยุโรป แต่หนึ่งในปัญหาใหญ่ของหญิงที่เคยเปลี่ยนใจไปมาในคราวนี้คงหนีไม่พ้นรัสเซีย ที่เป็นปัจจัยหลักซึ่งกุมทิศทางราคาพลังงาน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เผชิญปัญหารุมล้อมอย่างหนัก 

แม้เธอจะเคยยืนยันในช่วงที่รัฐบาลของเธอเสียกระบวนว่า จะไม่ลาออก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ลิซ ทรัสส์ ไม่อาจยื้อเอาไว้ได้อีกต่อไป

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/uk-politics-58575895

https://www.youtube.com/watch?v=-kLJlaIfP7o

https://www.bbc.com/news/world-europe-62799899

https://www.bbc.com/thai/international-62330534

https://www.theguardian.com/politics/2022/sep/05/kremlin-scathing-over-truss-but-kyiv-praises-britains-new-pm

https://www.theguardian.com/politics/2022/sep/04/bills-russia-and-angry-tories-key-challenges-liz-truss-will-face-as-pm

https://www.independent.co.uk/news/world/europe/russia-liz-truss-pm-britain-b2160003.html

https://www.standard.co.uk/news/uk/sergei-lavrov-mocks-liz-truss-deaf-talks-moscow-ukraine-b981948.html

https://www.businessinsider.com/liz-truss-new-uk-pm-after-johnson-brexit-tax-cuts-2022-9

https://kyivindependent.com/world/will-uk-support-for-ukraine-change-under-liz-truss

https://www.prachachat.net/world-news/news-1038725