โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น

บทสนทนาว่าด้วยตัวตนของ 'ธนาพล อิ๋วสกุล' บรรณาธิการบริการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ชายผู้ 'ไม่มีตรงกลาง' มีเพียงจุดยืนเดียวคือการอยู่เคียงข้างประชาธิปไตย

ท่ามกลางกระแสการเมืองอันเชี่ยวกราก ชื่อของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สำนักพิมพ์ที่คง ‘ความขบถ’ ไว้อย่างคงเส้นคงวา ตั้งแต่จัดทำเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองที่ทั้งตรง แรง และลึก ไปจนถึงการเปิดเว็บบอร์ด (กระดานสนทนา) โลกอีกใบที่มี ‘คุณซาบซึ้ง’ เป็นไอคอน เข้ามาสั่นสะเทือนสายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทย ชื่อของธนาพลและฟ้าเดียวกันยังคงอยู่ในความสนใจของนักอ่าน แม้เวลาจะล่วงเลยมานานถึงสองทศวรรษ

จากวารสารเล่มแรกที่เปิดตัวในปี 2546 โดยมีนักกิจกรรม 3 คน ประกอบด้วย ธนาพล อิ๋วสกุล, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ชัยธวัช ตุลาธน ร่วมกันสร้างการรับรู้และจุดประกายไฟของพลังแห่งเสรีภาพให้ลุกโชน ผ่านการขยับเพดานทางความคิด ให้สามารถเข้าถึงคลังความรู้ ‘อีกด้าน’ ที่ไม่ถูกบรรจุอยู่ในตำรากระแสหลัก

ปรากฏการณ์ที่บูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้รับความสนใจจากนักอ่านรุ่นใหม่ในงานมหกรรมหนังสือหลายครั้งที่ผ่านมา คงมีคนไม่มากนักที่คิดว่าภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นกับบูธของ ‘ฟ้าเดียวกัน’

เวลาผ่านมานานพอที่จะทำให้คนไทย ‘บางกลุ่ม’ ค้นพบปรากฏการณ์ตาสว่าง ผ่านหนังสือวิชาการที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสังคมการเมืองระดับเข้มข้น ถึงขนาดผู้มีอำนาจวางกรอบและตีตราให้หนังสือหลายเล่มส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

แม้ในบางยุคสมัย เขาจะถูกขึ้นสถานะว่าเป็นศัตรูของรัฐ แต่ธนาพล ยังคงยืนหยัดต่อสู้ทางความคิดร่วมกับประชาชนโดยไม่หวั่นเกรง 

ในแง่หนึ่งอาจทำให้เขาและสำนักพิมพ์ถูกจับตาเป็นพิเศษ แต่อีกด้าน ผลจากความขบถและไม่ขึ้นตรงต่อขั้วอำนาจใด ทำให้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้รับชนะเลิศรางวัล ปรีซ์ วอลแตร์ (Prix Voltaire) คณะกรรมการด้านเสรีภาพทางการตีพิมพ์ ของสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (International Publishers Association หรือ IPA) ซึ่งประกาศไปเมื่อเดือนกันยายน 2565 ด้วยเหตุผลหลักคือ การยึดมั่นในเสรีภาพอย่างกล้าหาญและไม่เกรงกลัวต่ออำนาจที่คุกคามประชาชน

“เรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องมีความเสี่ยง ถ้าต้องขึ้นศาลก็ไป ไม่ได้กลัว เพราะเราทำงานบนดิน เราไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธอะไรเลย มีหมายจับก็ไปรายงานตัวแค่นั้น

“แต่ถ้าในกรณีของรัฐประหาร ผมมองว่าถ้าคุณไม่กลัวก็แสดงว่าคุณต้องมีผลประโยชน์กับการรัฐประหารนั้น ...รัฐประหารมันไม่เคยมีตรงกลาง คุณต้องมีจุดยืน ซึ่งจุดยืนสำหรับผมสำคัญมากนะ ใครบอกว่าคุณต้องเป็นกลาง คือคุณบ้าไปแล้ว มันไม่มีทางจะกลางได้เลย ในสภาวะที่ต้องตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร”

นี่คือเรื่องราวของ ธนาพล อิ๋วสกุล คนทำหนังสือผู้ ‘ไม่มีตรงกลาง’ กับความพยายามผลักดันงานวิชาการนอกกระแสให้อยู่ในที่แจ้ง โดยไม่สนกรอบและกฎเกณฑ์ใด

หมายเหตุ: บทสนทนาระหว่าง The People และ ธนาพล อิ๋วสกุล เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศอันเข้มข้นของนิทรรศการ ​ 6 ตุลา ​เผชิญหน้า​ปิศาจ​ | 6 October : Facing Demons’ ที่เปิดให้เข้าชมฟรีได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 - 21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์) ที่ คินใจ คอนเทมโพรารี แกลเลอรีตึกแถว ติดถนนราชวิถี ใกล้แยกบางพลัด

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : ก่อนที่คุณจะสนใจการเมืองอย่างจริงจัง วัยเด็กของคุณยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ธนาพล : วัยเด็กผมก็เหมือนกับเด็กต่างจังหวัดทั่วไป ที่เกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผมเกิดปี 2516 แต่พอดีที่บ้านเนี่ย ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้น มันมีแร่ดีบุกหรือว่าอะไรสักอย่างมาอยู่หน้าบ้านผม แล้วก็มีคนมาเช่าหน้าร้านของที่บ้าน เขาเช่าไปทำพวกแร่อะไรพวกนี้

แล้วเขาก็รับหนังสือพิมพ์มาวาง ผมจำได้เลยว่าพอเราอ่านหนังสือพิมพ์ เราก็เริ่มเห็นข่าวสารอะไรบางอย่างที่มันมีหลายเรื่องสัมพันธ์กัน ทั้งเรื่องราคาดีบุก ราคายาง ทุกอย่างมันก็เริ่มอยู่ในความสนใจเรามากขึ้น

ผมก็โตมากับการอ่านหนังสือพิมพ์นี่แหละ จำได้ว่าตอนนั้นอ่านไทยรัฐ อ่านเดลินิวส์ อันแรกก็เหมือนเด็กทั่วไป คุณก็ต้องเริ่มอ่านการ์ตูนของชัย ราชวัตร ก็ประมาณนี้ แล้วผมก็เข้าใจว่าตอนนั้นทีวียังไม่มี ถึงทีวีจะมีแล้วแต่ที่บ้านผมก็ติดอยู่ช่องเดียว คือช่อง 7 เพราะว่า โอเค ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าสถานีมันยังมาไม่ถึง แล้วช่องอื่นมันส่งสัญญาณมาไม่ได้ ทีวีก็เลยไม่ได้เป็นสิ่งที่เราดูหรือให้ความสนใจเป็นหลัก

หนังสือเลยเป็นสิ่งที่อยู่กับเรามากที่สุด แล้วเราก็รู้สึกว่าบรรยากาศคนใต้เขาก็คุยการเมืองเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่บ้านก็คุยกัน ไม่ได้อะไร พอมีหาเสียงเราก็ไปฟังบ้างอะไรอย่างนี้ ถ้าจำไม่ผิดตอนที่ไปฟังครั้งแรก ผมเกิด 2516 ตอนที่มีเลือกตั้งครั้งแรก เท่าที่อยู่ในความทรงจำนะ มันคือเลือกตั้งปี 2526 แต่แบบเลือนรางมาก รู้แค่ว่า เฮ้ย! ตอนนั้นมีคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลง ส.ส. ครั้งแรกที่ใต้ แต่ประชาธิปัตย์แพ้ไป 1,104 คะแนน

หลังจากนั้นเราก็เริ่มติดตาม เริ่มอะไรมาเรื่อย ๆ แล้วพอมีอีกเลือกตั้งในปี 2529 ประชาธิปัตย์มีปราศรัย ผมก็ไปยืนตากฝนฟัง คุณชวน หลีกภัย ปราศรัย นี่คือประสบการณ์ทางการเมืองครั้งแรกของผม ผมจำได้นะว่าไม่ได้มีแค่คุณชวน ปี 2526 เนี่ย วีระ มุสิกพงศ์ ก็มาแล้ว

ถ้าปี 2529 จำได้ตอนนั้นน่าจะคุณพีรพันธุ์ พาลุสุข ตอนหลังที่เคยอยู่ไทยรักไทย คุณพีรพันธุ์ก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นนักเรียนนอกนะ เป็นอาจารย์ที่รามฯ แล้วออกมาสมัคร ส.ส. อีสาน เขาก็ออกมาเดินสายกัน นี่คือประสบการณ์ที่จำได้คือยืนตากฝนฟังคุณชวนปราศรัย

แล้วที่ผมออกไปฟังส่วนหนึ่งเพราะผมอ่านหนังสือพิมพ์ คือถ้าคุณอ่านหนังสือพิมพ์แล้วตัวจริงของคนที่อยู่ในนั้นมาหน้าบ้านคุณ คุณไม่ออกไปดูได้ยังไง ใช่ไหม ก็เป็นปกติ

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : นอกจากการเมืองมีประเด็นไหนที่สนใจรองลงมา

ธนาพล : กีฬาก็อ่านได้ ข่าวบันเทิงก็อ่านได้ แต่ทีวีมันมีช่องเดียวแล้วมีน้อย ดังนั้นเนี่ยพูดจริง ๆ การ์ตูนผมไม่เคยดูเลยนะนอกจากช่อง 7 การ์ตูนเวลาเขาบอกนี่การ์ตูนช่อง 9 ชีวิตผมไม่เคยดูการ์ตูนช่อง 9 เลย ขึ้นมากรุงเทพฯ ก็ไม่มีทีวี

ดังนั้นเรื่องอะไรแบบนี้ ผมเข้าไม่ค่อยถึง คือถ้าเรารู้ก็คือเรารู้ผ่านสิ่งพิมพ์ แล้วก็อีกอันหนึ่งนะคือถ้าคนต่างจังหวัดจะรู้ข่าวช้ามาก เพราะหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดคือหนังสือพิมพ์ออกบ่ายในกรุงเทพฯ

ตอนเด็ก ๆ ข่าวที่เรารู้เร็วที่สุดก็จะมาจากรายการวิทยุคือคุณปรีชา ทรัพย์โสภา เขาก็จะเอาหนังสือพิมพ์ตอนเช้ามาอ่าน แปลว่าคุณอยู่ต่างจังหวัด ถ้าคุณไม่มีทีวี คุณฟังจากคุณปรีชา เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์พร้อมคนกรุงเทพฯ

ซึ่งตรงนั้นเราพูดถึงยุคก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตนะ นี่คือชีวิตผม ถ้าถามเรื่องความสนใจ ผมก็สนใจหลายด้านอยู่นะ เพราะด้วยความที่เราเป็นคนต่างจังหวัด ก็มีสนใจประวัติบุคคลบ้าง แต่เรื่องที่ไม่สนใจเลยจริง ๆ คือพวกศาสนาที่ผมไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่อยู่ในหัวเลย

The People : เพราะคุณเกิดที่ใต้หรือเปล่า บรรยากาศโดยรอบเลยหล่อหลอมให้คุณสนใจการเมือง

ธนาพล : ก็ไม่แน่ใจนะ คือพูดแบบนี้ดีกว่า พอเราโตขึ้น คุณบอกว่าเพราะโตมาที่ใต้เลยสนใจ มันไม่ใช่ เพราะคุณต้องไปให้ทั่วก่อนถึงจะพูดได้ว่าการเป็นคนใต้ทำให้สนใจการเมืองมากกว่าภาคอื่นจริงไหม แต่โอเค ในมาตรฐาน คนใต้อาจจะสนใจการเมืองมากกว่าคนภาคอื่น ๆ จริง

แต่มันไม่ใช่ทุกคน คนใต้ไม่สนใจการเมืองก็มีอยู่บ้าง แต่ด้วยบรรยากาศความเป็นภาคใต้ มันก็อาจจะเอื้อให้คนสนใจการเมืองมากกว่าปกติ ผมว่าบรรยากาศเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสนใจการเมือง แล้วในยุคผมเนี่ย การปราศรัยแบบเดินสาย เอาง่าย ๆ เฉพาะที่ทำงาน ผมแทบไม่เห็นพรรคอื่นมานอกจากประชาธิปัตย์

The People : ที่สนใจการเมือง เพราะคุณแค่สนใจหรือว่าไปเผชิญอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าการเมืองมันใกล้ตัวกว่าที่คิด

ธนาพล : สำหรับผมมี 2 การเมืองนะ เรียกว่าการเมืองร้านกาแฟ กับการเมืองในฐานะของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเมืองร้านกาแฟมันก็คือ เฮ้ย! จำได้หมด ส.ส. คนนี้ชื่ออะไรยังไง ฉายาอะไรยังไง อันนี้เรียกว่าเป็นความรู้พื้นฐาน ซึ่งมันจำเป็นต้องมีนะ ฉายาอะไรยังไงก็ว่าไป

อีกมิติหนึ่งของการเมืองที่ทำให้เราสนใจคือ การเมืองในฐานะของความเปลี่ยนแปลง การเมืองคือการเข้าสู่อำนาจ การอยู่กับอำนาจ เพราะการเมืองนำมาสู่การกำหนดนโยบาย แล้วการกำหนดนโยบายก็นำมาสู่การแบ่งปันทรัพยากร มันก็มี 2 มิตินี้

อย่างการเมืองร้านกาแฟ มันก็เหมือนการเชียร์มวย ซึ่งการเมืองลักษณะนี้ สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือ มันเหมือนดาราใช่ปะ คือพอคุณชอบใคร คุณเชียร์ใคร คุณก็จะมีเหตุผลร้อยแปดข้อที่จะให้คะแนนคนนั้น ซึ่งพอเราโตขึ้นมาหน่อย การเมืองร้านกาแฟมันก็ไม่ healthy ในความหมายว่า เออ…มันเป็นความผูกพันความภักดีไป การเมืองไม่ควรเป็นอะไรขนาดนั้นอะไรอย่างนี้

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : การที่คุณเข้าร่วมวงสนทนาการเมืองร้านกาแฟบ่อย ๆ มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมหรือเปล่า

ธนาพล : ไม่ขนาดนั้น คืออย่างนี้ ผมเข้าใจว่าตอนเด็ก ๆ เวลาเราสนใจการเมือง ผมก็คิดว่า กูก็ทำได้นี่หว่า กูก็เป็นได้นี่หว่านักการเมืองเนี่ย คือถ้าพูดตรง ๆ ก็คงเป็น มึงก็ไม่ได้เก่งกว่ากูสักเท่าไรหรอก แต่นี่คือความคิดแบบเด็ก ๆ

การเป็นนักการเมืองมันก็เหมือนเด็กอยากเป็นหมอ ทหาร อะไรพวกนี้ เราอยากเป็นนักการเมือง เพราะเราสนใจการเมือง แต่พอโตขึ้นคุณก็รู้ว่า เฮ้ย! ถ้าคุณสนใจการเมือง มันไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นอย่างเดียวนะ แล้วอีกอย่างบุคลิกของผม บางครั้งผมก็แบบพูดกันจริง ๆ การเมืองมันต้องโม้ มันต้องประกาศตัวหน่อยว่าเราเก่ง แต่เราไม่ได้เก่งสักเท่าไร ก็เลยไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นนักการเมือง

เราแค่สนใจเฉย ๆ เราสนใจในเกมการเมือง เราสนใจอ่านแล้ววิเคราะห์ เก็บข้อมูลสถิติ แล้วเอามาเปรียบเทียบอะไรก็ว่าไป ส่วนความฝันตอนเด็ก ๆ อันแรกสุดเราก็เริ่มมาจากการอ่านการ์ตูน พอเริ่มจากตรงนี้ เราก็ต้องอยากเป็นนักวาดการ์ตูน ถึงผมจะวาดไม่เป็น แต่ผมมีมุกที่จะมาเขียนแน่ ๆ

The People : เลยปูทางมาสู่การทำหนังสือ

ธนาพล : หนังสือเหรอ จริง ๆ โดยส่วนตัวก็อย่างที่บอกว่า เราก็อยากเป็นคนเขียนการ์ตูนการเมือง ตอนแรกคิดว่าจบมาแล้วก็คงไปสมัครงานหนังสือพิมพ์มั้งอะไรอย่างนั้นน่ะ แต่ก็วาดอะไรยังไม่เป็นเลยนี่หว่า แต่ไม่เคยสมัครทำงานหนังสือพิมพ์นะ ไม่เคยสมัครเลย

The People : ตอนนั้นพอจะมีสังกัดในใจมั้ย

ธนาพล : ยังไม่มีหรอก เพราะจังหวะชีวิตของผม ผมจบธรรมศาสตร์ตอนต้นปี 2539 ก็ได้รู้จักกับคนที่จัดงาน 20 ปี 6 ตุลานะ พี่ ๆ ที่รู้จักเขาก็ชวนมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ผมเห็นชื่อมันเท่ดีก็เลยลองทำ ทำมันทุกเรื่อง วิ่งนู่นวิ่งนี่ ก็โอเค มันเป็นจังหวะชีวิตที่ดี พอเราได้มาคลุกคลีเราก็ได้รู้จักหลายคน แต่ผมจำชื่อแบบเป๊ะ ๆ ไม่ได้ จำไม่ได้แล้วว่าใครชวนผมมาทำ แต่ก็คือรุ่นพี่เดือนตุลาฯ นี่แหละ มัน 20 กว่าปีที่แล้วนะ ไอ้ตอนนั้นเราเพิ่งจบ อายุแค่ 21 - 22 เอง

แล้วด้วยความที่เป็น activist ทำกิจกรรมมหา’ลัย โอเค มันก็ไม่ได้อะไรมากมายหรอกกิจกรรมช่วงนั้น เพียงแต่ว่าพอทำกิจกรรมมหา’ลัยเนี่ย คุณก็ได้รู้จักกับเพื่อน ๆ ต่างมหา’ลัย ตอนนั้นทำสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แต่มาไม่ทันรุ่นพี่อย่าง พี่เอก ปริญญา, พี่กรุณา บัวคำศรี แล้วรุ่นผมที่มารุ่นไล่ ๆ กันเนี่ย คือ บุญเลิศ วิเศษปรีชา, สุริยะใส กตะศิลา นี่คือพวกเรานี่คือโตมาด้วยกัน รู้เช่นเห็นชาติกันตั้งแต่เด็กแล้ว

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : เคยคิดไหมว่าคุณและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของสังคมไทยที่ทำให้คนเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากขึ้น

ธนาพล : ไม่มี แล้วก็ไม่เคยคิดด้วย คืออย่างนี้ เรื่องบางเรื่องเนี่ยคือเรื่องคนอื่นประเมิน หน้าที่เราก็คือทำหนังสือออกมา เอาง่าย ๆ ก็คือถ้าเราคิดว่ามันมีหนังสือที่มันเรียกว่ามันพอใจอยู่แล้ว เราก็คงไม่ต้องออกมาทำ แล้วอย่างเพื่อนผมที่ร่วมกันลงหุ้นกันเนี่ย มันก็ไปทำการเมือง ทำพรรคการเมือง ก็เหมือนกับที่ผมบอกว่าถ้าเรามีอะไรที่พอใจอยู่แล้วเราคงไม่ทำ แต่ที่ทำเพราะมันไม่มีไง

แล้วเราก็คิดว่าเราแตกต่าง เราเลยมาทำ ผมคงไม่มานั่งทำเหมือนกับคนอื่น เหมือนกับไอ้ที่เขามี เวลาเราทำเหมือน ๆ กัน ถ้าคนจะทำพรรคการเมืองหรืออะไรก็ทำไป แต่ผมจะทำหนังสือ

The People : ชื่อฟ้าเดียวกันมาจากไหน

ธนาพล : ฟ้าเดียวกัน มันเกิดจากความคิดง่าย ๆ แต่ยากฉิบหาย คือต้องเป็นชื่อภาษาไทย ชื่อหัวหนังสือในตอนนั้นไปดูได้ ไม่มีชื่อภาษาไทยเลย มันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด แต่หัวสุดท้ายก็อาจจะเป็นมติชน กว่าจะได้ชื่อก็เกือบวันสุดท้ายที่ทำวารสารถึงจะจบกันที่ชื่อนี้จริง ๆ

แต่ถ้าเล่าง่าย ๆ มันก็มาจากไอเดียผมนี่แหละ จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ มันมีหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชื่อ เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน ในหน้าแรกแกบอกว่า ฟ้าเดียวกันของแกมาจากโคลงของศรีปราชญ์​ แล้วบังเอิญชื่อหนังสือมันก็เพราะดีนะ ก็เลยมาเป็นชื่อ ‘ฟ้าเดียวกัน’ คือเจ้า-ข้าฟ้าเดียวกันก็อยู่ใต้ under same sky มันก็เท่ากันนี้แหละ เราก็เอาไอเดียนี้มา มันก็ไม่ขัดกับอุดมการณ์กับความใฝ่ฝันของเราด้วย

The People : อุดมการณ์ในการทำหนังสือของคุณคืออะไร

ธนาพล : คือสำหรับผมเนี่ยอุดมการณ์จริง ๆ ที่สุดของประเทศนี้ที่ยังไม่มีนะ ผมว่าคือเสรีนิยม เสรีนิยมในความหมายว่าถ้าในทำงานทางความคิด คุณไปให้ไกลที่สุด … คุณต้องมีข้อถกเถียงมีอะไรยังไง หรือว่า เฮ้ย! เรื่องบางเรื่องกูรู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่รู้ รู้อยู่แล้วคือมันต้องมีคำตอบที่น่าพอใจกว่านี้สิวะ ใช่ไหม เราก็ต้องหาคำตอบหรือว่าไอ้คำอธิบายไหนที่มันไม่เพียงพอ แล้วก็คำตอบที่มันมีไม่ตอบคำถาม เราก็แค่เอามาทำเอง มาหาคำตอบเอง

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : ที่บอกว่าไปได้เรื่อย ๆ แล้วคิดว่าเราควรจะมีเพดานไหมว่าควรหยุดที่ตรงไหน

ธนาพล : ถ้าทำงานความคิดก็ไม่ควรมีเพดาน ไม่ได้บอกว่าถูกผิดนะ เพราะความคิดมันปิดไม่ได้ มันฆ่ากันไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเราทำงานเรื่องความคิด วิเคราะห์สังคม หาทางออก หาคำตอบ ผมว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ควรมีเพดาน แล้วจริง ๆ มันไม่ควรเป็นแค่เรื่องคนทำหนังสือด้วยซ้ำ สำหรับผมนะในสังคมมันควรจะมี freedom of speech แล้วก็มีอุดมการณ์อื่น ๆ ที่ให้คนมาเชื่อถือให้ยึดถือ มากกว่าอุดมการณ์เดียว

The People : การที่ฟ้าเดียวกันได้รับรางวัลปรีซ์ วอลแตร์ (Prix Voltaire) จะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตไหม

ธนาพล : ผมคิดว่าในเมืองไทย เขาไม่คิดว่าผมเป็นสื่อ เป็นสื่อในความหมายสื่อมวลชน เอาง่าย ๆ เวลาลิสต์คนที่ถูกคุกคาม ผมไม่ค่อยอยู่ในลิสต์นะ มีแต่คนบอกว่าไอ้นี่มันเป็นลูกน้องธนาธร มันก็คงอยู่ในประเภทภัยคุกคามทางการเมืองมั้ง หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่

พอผมเริ่มมีคดีชุกตั้งแต่ปลายปี 2564 มาพร้อม ๆ กัน พี่คนที่เขาเสนอชื่อฟ้าเดียวกันเข้าไปในเวทีก็คงแบบ เออ…หาอะไรที่เป็นหลักฐานหน่อยไหมว่าเราเป็นสื่อ แล้วมีใครรู้จัก recognize บ้าง จังหวะมันก็พอดีกันอีก ทางคณะกรรมการเขาก็ให้รางวัล IPA มา

ซึ่งผมเป็นคนตั้งใจไว้ว่าชีวิตนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับรางวัลอะไรเลย เพราะคงไม่มีคนให้ด้วยแหละ แต่ถ้าเขาให้ก็จะไม่ไปรับ เราอยากจะอยู่ของเราอย่างนี้ ชีวิตเราไม่เคยได้รางวัลอะไรเลย พอได้รางวัลมา แน่นอนว่าชีวิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่ ๆ คือผมต้องไปรับรางวัล (หัวเราะ) ต้องไปหาชุด หาอะไรไปงาน ทุกวันนี้ก็ยังเถียงกับตัวเองว่าต้องทำแค่ไหนมันถึงจะพอดี

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : หากต้องอยู่ในโลกสมมติ โลกที่ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณคิดว่าตัวคุณในโลกใบนั้นจะทำอะไรอยู่

ธนาพล : ผมก็คงใช้ชีวิตเหมือนปกติ เป็นลูกจ้าง เป็นเด็กยกกระเป๋าอยู่โรงแรม เพราะดนตรีเราก็เล่นไม่เป็น อาหารก็ไม่ได้ รถก็ขับไม่เก่งอีก เลยนึกไม่ออกว่าเราพอจะมีทักษะอะไรบ้าง หรือไม่ก็ตอนนั้นผมอาจจะตายไปกับสึนามิแล้วก็ได้ เพราะมีเพื่อนหลายคนที่เสียชีวิตไปกับสึนามิ 

แต่ตอนมัธยมฯ ผมเป็นนักวิเคราะห์บอลนะ เวลาเพื่อนมันจะแทงก็แซวกัน เพราะเราไม่มีอินเทอร์เน็ตไง หนังสือพิมพ์บางทีมันก็มาช้า ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด ผมโทรไป

เบอร์ 0 2249 0447 ตอนนี้น่าจะเป็นของสยามโพสต์ ไทยโพสต์ แล้วเพื่อนสนิทผม จริง ๆ เขาเสียชีวิตไปแล้วนะ มันก็เคยเป็นนักข่าวของสยามกีฬา แต่ตอนเราเด็ก ๆ เราคงไม่คิดว่าอันนี้มันจะเป็นอาชีพได้หรอก ยิ่งมาในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตมันเข้าถึง มันคงไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์อะไรขนาดนั้นแล้ว ก็เลยกลายเป็นเรื่องสนุก ๆ ตอนเรียนมากกว่า

The People : เชียร์ลิเวอร์พูล?

ธนาพล : ไม่ได้เชียร์อะไรมากมายหรอก คือเหมือนตอนเด็ก ๆ นะมันก็มี 2 - 3 อัน พอโตขึ้นเราก็แบบคือประเภทอดหลับอดนอนไม่มีแล้ว อย่างหนังสือพิมพ์อันแรกที่มาถึงมือเราตอนเด็ก ๆ ก็จะเปิดหน้าท้ายก่อน อ่านดูข่าวกีฬา เหมือนเช็กข่าวปกติ ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไร แล้วเราก็ไม่ได้เป็นคนเล่นพนันในความหมายนี้อยู่แล้ว

เป็นการเดิมพันมากกว่า ผมมีทฤษฎีอันหนึ่งนะเรื่องพนัน ถ้าคุณจะเล่นพนัน คุณต้องเป็นเจ้ามือ ดูความน่าจะเป็นระบบนี้ พอดีเราไม่ได้เลือกเส้นทางนี้ ดังนั้นเราคงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องซื้อหงซื้อหวย แต่การพนันที่ยุติธรรมที่สุด สำหรับผมคือปั่นแปะ คือ 50:50

โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น The People : ตอนที่ตั้งฟ้าเดียวกัน เคยมีมุมมองไหมว่าท้องฟ้าของเราจะเป็นสีอะไรช่วงนั้น แล้วเทียบกับช่วงนี้ สีของท้องฟ้าเป็นอย่างไร

ธนาพล : ไม่รู้ใช่ฟ้าไม่ฟ้านะ แต่ผมคิดว่าความคิดคนเปลี่ยนแน่ ๆ อะไรที่เคยดูว่าแปลกประหลาดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติ...

ผมคิดว่าการทำงานทางความคิด การทำงานหนังสือ มันไม่ใช่เรื่อง ณ ปัจจุบัน เพราะอย่างน้อย ผมคิดว่าเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ การทำงานความคิดอะไร มันไม่จำเป็นจะต้องออกมาเดี๋ยวนั้น หนังสือหลายเล่มคนเขียนตายไปเป็นสิบเป็นร้อยปีถึงจะกลับมา

การทำหนังสือของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราทำ เราเชื่อ เดี๋ยวมันก็มาเอง ขณะเดียวกันคุณก็ต้องยอมรับนะ หลายเรื่องมันก็เอาต์ได้ อะไรที่เราเคยเชื่อในตอนนี้ มันอาจจะผิดก็ได้ ในบริบทที่มันเปลี่ยนไป แต่มันอยู่ที่ความหนักแน่นทั้งข้อมูลทั้งกรอบวิเคราะห์อะไรมากกว่า

The People : ยกตัวอย่างหนังสือจากฟ้าเดียวกันที่เป็นตัวคุณมากที่สุด

ธนาพล : รัฐประหาร 19 กันยาฯ คือไม่ต้องเป็นกลางเลยครับ ทำหนังสือด่ารัฐประหารทั้งเล่มเลย ยกเล่มเดียวก็ได้ คือในสภาวะทางสังคมบางอย่างเราต้องเป็นกลางให้ทั้งสองฝ่ายพูด โอเค คุณให้คนอื่นพูดไป แต่ในสภาวะที่รัฐประหารยึดไปหมดแล้ว แล้วเราต้องหาหนังสือที่เป็นกลาง เราใช้คำพูดฝ่ายเดียวไม่ได้นะ สำหรับผม bullshit นึกออกปะ คือคุณสู้กับไอ้ระบบที่บ้าบอเนี่ย มันไม่ใช่เรื่องเป็นกลาง

โอเค เราเป็นกลาง เรามองรอบด้านอยู่แล้ว แต่ในท้ายที่สุด มันต้องมีจุดยืนแน่ ๆ จุดยืนสำหรับผม จุดยืนมันสากลมากนะ การที่ไม่ยอมรับไอ้บ้าคนไหนที่ลากรถถังมาล้มกติกา คือใครบอกว่าคุณต้องเอาเป็นกลาง คุณบ้าไปแล้ว มันไม่มีทางจะกลางได้เลย ในสภาวะที่ต้องตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร โลกที่ไม่มีตรงกลางของ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ ผู้ให้กำเนิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ สนพ.ที่คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น