สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ‘ฮุน เซน’ นายกฯ ‘ตลอดกาล’ กัมพูชา ที่มาจาก ‘ลูกชาวนา-เด็กวัด’

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ‘ฮุน เซน’ นายกฯ ‘ตลอดกาล’ กัมพูชา ที่มาจาก ‘ลูกชาวนา-เด็กวัด’

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ‘ฮุน เซน’ (Hun Sen) ยังคงเป็นหัวหน้ารัฐบาลแห่งกัมพูชาเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่ไทย เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาแล้วมากกว่า 14 คนในช่วงเวลาเดียวกัน

  • ฮุนเซน เป็นที่รู้จักจากบทบาทนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ยังอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลก ดำรงตำแหน่งมา 37 ปี (นับถึงปี 2022)
  • ภูมิหลังของเขามาจากครอบครัวชาวนา วัยเด็กยังใช้ชีวิตแบบเด็กวัด ก่อนไปเข้าร่วมเขมรแดง จับอาวุธสู้รบจนสูญเสียตาข้างหนึ่ง
  • หลังแปรพักตร์จากเขมรแดง จึงมีโอกาสเข้าสู่วังวนทางการเมือง และปักหลักอยู่ยาวมาหลายทศวรรษ

‘ฮุน เซน’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี กัมพูชา เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) สมัย ‘พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์’ ยังเป็นนายกฯ ของไทย หากนับถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2022) เท่ากับว่า เขานั่งเก้าอี้นายกฯ มาแล้ว 37 ปี แม้ 8 ปีแรกจะเป็นการทำหน้าที่ในฐานะ ‘แต่งตั้ง’ แต่นั่นก็ไม่ทำให้สถิตินายกฯ จากการเลือกตั้งที่ยังอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในโลกของเขาต้องสั่นคลอน

“ผมขอทำหน้าที่นายกฯ กัมพูชาต่อไปอีก 10 ปี” 

ฮุน เซน บอกกับนักข่าวเมื่อปี 2018 เพื่อส่งสัญญาณว่า เขายังไม่มีความคิดวางมือทางการเมืองในอนาคตอันใกล้ และกัมพูชา จะยังมีนายกฯ ชื่อ ‘ฮุน เซน’ ต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2028

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ ‘ฮุน เซน’ ครองอำนาจมาได้ยาวนาน และเส้นทางชีวิตของเขากว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องเจออะไรมาบ้าง นั่นอาจเป็นคำถามในใจใครหลายคน

จากลูกชาวนาสู่เด็กวัดเมืองกรุง

‘ฮุน เซน’ เป็นลูกคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน ของครอบครัวชาวนายากจนจากจังหวัด ‘กัมปงจาม’ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากกรุงพนมเปญ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 120 กม.

ตามทะเบียนราษฎร์ เขาเกิดวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1951 แต่ต่อมา ‘ฮุน เซน’ ขอแก้ไขวันเกิดตัวเองเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 1952 โดยอ้างเหตุผลความผิดพลาดของสำนักทะเบียนในยุคสงครามกลางเมือง แต่นักวิจารณ์เชื่อว่า น่าจะเป็นการปรับดวงชะตาตามตำราโหราศาสตร์ จาก ‘ปีเถาะ’ (กระต่าย) เป็น ‘ปีมะโรง’ (มังกร)

‘ฮุน เซน’ ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่กับครอบครัวจนถึงอายุ 13 ปี ก่อนเดินทางเข้าเมืองหลวงไปเรียนหนังสือกับพระ และเป็นเด็กวัดอยู่ที่ ‘วัดเนียคะวอน’ (Wat Neakavoan) ในกรุงพนมเปญ จากนั้นปลายทศวรรษ 1960s หนุ่มน้อยผู้นี้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม ‘เขมรแดง’

เขาจับอาวุธสู้รบให้เขมรแดง จนสูญเสียดวงตาข้างซ้ายจากการปะทะกับฝ่ายตรงข้ามในสมรภูมิแนวรบฝั่งตะวันออก ทำให้ต่อมาชีวิตต้องอยู่กับปัญหาสายตาและการมองเห็นที่จำกัด อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ท้อถอย หรือหันหลังให้กับอุดมการณ์ของตัวเอง

หลังเขมรแดงยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลนิยม ‘ลัทธิเหมา’ แบบเข้มข้นในกัมพูชาเมื่อปี 1975 ‘ฮุน เซน’ ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้คุมกองทัพเขมรแดง จากนั้นรัฐบาลเขมรแดงภายใต้การนำของ ‘พอล พต’ ก็ใช้บดขยี้ผู้เห็นต่างจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ‘ทุ่งสังหาร’ ทำให้มีเพื่อนร่วมชาติเสียชีวิตนับ 2 ล้านราย

‘ฮุน เซน’ ปฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้น โดยในปี 1977 เขาเลือกแปรพักตร์จากเขมรแดง ซึ่งมี ‘จีน’ ให้การหนุนหลัง หลบหนีไปยัง ‘เวียดนาม’ เพื่อเข้าร่วมกับรัฐบาลพลัดถิ่น ‘เฮง สัมริน’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม และสหภาพโซเวียต

หลังจากเวียดนามส่งกองทัพบุกกัมพูชา เพื่อช่วยขับไล่ ‘เขมรแดง’ จนได้รับชัยชนะในปี 1979 ‘ฮุน เซน’ ถูกแต่งตั้งให้เป็น ‘รัฐมนตรีต่างประเทศ’ ในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ จนกระทั่งปี 1984 นายกฯ ‘จัน ซี’ (Chan Sy) ของกัมพูชา เสียชีวิตกะทันหันระหว่างเดินทางไปรักษาโรคหัวใจที่กรุงมอสโก ทำให้ปีต่อมา ‘ฮุน เซน’ ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ สมัยแรก ขณะมีอายุเพียง 33 ปี

ผู้นำอายุน้อยกับคู่แข่งคนสำคัญ

“พวกเขารับรู้ความสามารถของผม ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ” 

ฮุน เซน ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของการถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ กัมพูชาสมัยแรกเมื่อปี 1985 แม้เวลานั้น เขาจะมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาสมาชิก ‘โปริตบูโร’ ทั้ง 5 คนของพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายนิยมเวียดนาม

ปี 1991 หลังการลงนาม ‘ข้อตกลงสันติภาพปารีส’ เพื่อยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ‘ฮุน เซน’ เปลี่ยนชื่อพรรคของเขาใหม่เป็น ‘พรรคประชาชนกัมพูชา’ (Cambodian People’s Party: CPP) และเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 1993 โดยมีองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นผู้กำกับดูแล

แม้การเลือกตั้งดังกล่าว พรรค CPP จะพ่ายแพ้ให้กับพรรค ‘ฟุนซินเปก’ ของ ‘สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์’ แต่ ‘ฮุน เซน’ ปฏิเสธยอมรับผลเลือกตั้ง และยังไม่ยอมลงจากอำนาจ จนต่อมา ‘พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ’ กษัตริย์กัมพูชาทรงเข้ามาไกล่เกลี่ย และสุดท้ายจบลงด้วยการจับมือตั้งรัฐบาลผสม พร้อมครองเก้าอี้นายกฯ คู่กันกับ ‘เจ้ารณฤทธิ์’

อย่างไรก็ตาม พรรค CPP ของ ‘ฮุน เซน’ ซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ยังคงไม่ลงรอยกับพรรค ‘ฟุนซินเปก’ ของฝ่ายนิยมเจ้า ด้วยอุดมการณ์ที่ขัดกันทำให้ทั้งสองฝ่ายประลองกำลังกันมาต่อเนื่อง จนกลายเป็นการปะทะบนท้องถนน และ ‘ฮุน เซน’ นำกองทัพก่อรัฐประหารนองเลือดในปี 1997 ส่งผลให้ ‘เจ้ารณฤทธิ์’ ต้องลี้ภัยเข้ามาใน ‘ไทย’ เป็นการชั่วคราว

จากนั้นในปีถัดมา กัมพูชาจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ และพรรค CPP ของ ‘ฮุน เซน’ ได้รับชัยชนะ ก่อนจะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค ‘ฟุนซินเปก’ อีกครั้ง แต่คราวนี้ ‘เจ้ารณฤทธิ์’ ไม่ขอนั่งเก้าอี้นายกฯ ยอมให้ ‘ฮุน เซน’ กลับมาทำหน้าที่ผู้นำเต็มตัว โดยไม่ต้องแบ่งเก้าอี้นั่งกับใครอีกต่อไป

ฮุนเซน

เผชิญหน้า ‘สม รังสี’ และการประท้วงใหญ่

หลัง ‘เจ้ารณฤทธิ์’ ถอดใจ ไม่สามารถสู้เกมการเมืองของพรรค CPP ทำให้ ‘ฮุน เซน’ ครองอำนาจผู้นำรัฐบาลมาได้แบบไร้คู่แข่ง จนกระทั่งการเลือกตั้งปี 2013 พรรคฝ่ายค้าน ‘สม รังสี’ จับมือกับ ‘พรรคสิทธิมนุษยชน’ ของ ‘กึม ซกคา’ ตั้งพรรคใหม่ในชื่อว่า ‘พรรคสงเคราะห์ชาติ’ (CNRP) และก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของเขา

แม้การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรค CPP จะครองเก้าอี้ในรัฐสภาได้มากที่สุด แต่ผู้สังเกตการณ์ท้องถิ่นและนานาชาติประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งมีความไม่ชอบมาพากลในหลายพื้นที่ จน ‘สม รังสี’ ที่เพิ่งกลับจากลี้ภัยใน ‘ฝรั่งเศส’ จัดการชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งยืดเยื้อยาวนานเกือบปี สุดท้าย ‘ฮุน เซน’ จึงสั่งเจ้าหน้าที่นำกำลังสลายการชุมนุม และใช้กฎหมายบีบให้ ‘สม รังสี’ ต้องลี้ภัยกลับไป ‘ฝรั่งเศส’ อีกครั้ง

การไม่มี ‘สม รังสี’ มาเป็นเสี้ยนหนาม ยังคงไม่ทำให้ ‘ฮุน เซน’ ไว้วางใจ เพราะในการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2017 พรรค CNRP ที่ยังมี ‘กึม ซกคา’ เป็นผู้นำ ทำผลงานได้ดีจน ‘ฮุน เซน’ นั่งไม่ติด

เขาพยายามหาทางสกัดพรรคดาวรุ่งนี้ก่อนการเลือกตั้งใหญ่รอบใหม่จะมาถึงในปีถัดไป และเป็นที่มาทำให้ ‘กึม ซกคา’ ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ และสมรู้ร่วมคิดกับ ‘สหรัฐอเมริกา’ เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ก่อนจะยื่นฟ้องศาลให้ ‘ยุบพรรค’ CNRP พร้อมกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามที่เหลือ และ ‘ปิดสื่อ’ ที่วิจารณ์รัฐบาล จนการเลือกตั้งปี 2018 เป็นต้นมา พรรค CPP สามารถมีชัยแบบไร้คู่แข่ง และกลายเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ครองอำนาจในกัมพูชามายาวนาน

‘ฮุนเซนโนมิกส์’ และระบอบเครือญาติ

หากมองแง่ดี ระบอบ ‘ฮุน เซน’ มีคุณูปการสำคัญต่อการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในกัมพูชา หลังเผชิญกับความขัดแย้งรุนแรงมาในยุค ‘ทุ่งสังหาร’ นอกจากนี้ เขายังช่วยให้เศรษฐกิจของดินแดนที่เคยยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลกสามารถลืมตาอ้าปากได้

อย่างไรก็ตาม ความสงบสุขและการพัฒนากลับต้องแลกมาด้วยการอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่รวมศูนย์ไว้กั ‘ฮุน เซน’ นอกจากระบอบนี้จะถูกโจมตีว่าพยายามรักษาอำนาจด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมาย บังคับขู่เข็ญ ซ้อมทรมาน หรืออุ้มฆ่า การบริหารเศรษฐกิจซึ่งเรียกว่า ‘ฮุนเซนโนมิกส์’ ก็นำเอาระบบเครือข่ายอำนาจมาใช้ด้วยเช่นกัน

หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ‘ฮุน เซน’ หันมาปกครองประเทศด้วยระบอบทุนนิยมเต็มตัว แต่ ‘ฮุนเซนโนมิกส์’ เน้นการจัดสรรผลประโยชน์และให้สัมปทานผ่านเครือข่ายชนชั้นนำ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไล่ที่ชาวบ้าน และเชื่อมโยงผลประโยชน์ผ่านการแต่งงานในระบอบเครือญาติ ทั้งฝ่ายการเมือง ธุรกิจ และความมั่นคง

ฮุนเซน

ด้านชีวิตครอบครัว ‘ฮุน เซน’ มีภริยาชื่อ ท่านผู้หญิง ‘บุน รานี’ ทั้งคู่พบรักกันตั้งแต่ฝ่ายชายยังเป็นทหารให้เขมรแดง ส่วนฝ่ายหญิงทำงานเป็นนางพยาบาลผดุงครรภ์ ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 5 คน (ชาย 3 หญิง 2) และมีลูกสาวเป็นบุตรบุญธรรมอีก 1 คน

บรรดาลูก ๆ ทั้งหมดของเขาล้วนถูกวางตัวในเครือข่ายอำนาจ โดยลูกชายคนโต ซึ่ง ‘ฮุน เซน’ วางไว้เป็นทายาททางการเมือง มีชื่อว่า นายพล ‘ฮุน มาเนต’ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเคยสร้างชื่อจากการคุมกองทัพปะทะกับทหารไทย ระหว่างเกิดข้อพิพาทบริเวณชายแดนในคดี ‘เขาพระวิหาร’ เมื่อปี 2008 และ 2011

ลูกชายคนรองชื่อ ‘ฮุน มานิต’ ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองคอยดูแลเรื่องความมั่นคง และ ‘ฮุน มานี’ ลูกชายคนเล็ก เป็น ส.ส. และประธานกลุ่มยุวชนของพรรค CPP ส่วนลูกสาวถูกวางตัวให้มีบทบาทในแวดวงธุรกิจ คอยดูแลกิจการสำคัญหลากหลายบริษัท รวมถึงด้านสื่อมวลชน

ฮุนเซน

ฟื้นตำนาน ‘เสด็จกอน’ 

นอกจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ รวมถึงอำนาจศาล และกองทัพมาเป็นเครื่องมือในการรักษาเก้าอี้ ‘ฮุน เซน’ ยังขึ้นชื่อเรื่องการอาศัยความขัดแย้งกับชาติเพื่อนบ้านมาเป็นประเด็นหาเสียง และใช้ ‘ซอฟต์ เพาเวอร์’ มาปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อโกยแต้มต่อทางการเมือง

หนึ่งใน ‘ซอฟต์ เพาเวอร์’ สำคัญที่ ‘ฮุน เซน’ นำมาใช้และได้รับการพูดถึงในวงกว้าง คือ การเชิดชู ‘พระเสด็จกอน’ (Sdech Kan) กษัตริย์เขมรโบราณในศตวรรษที่ 16 เขาสนับสนุนให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่พระราชประวัติของกษัตริย์พระองค์นี้ โดยลงทุนจรดปากกาเขียนคำนิยมเพื่อชื่นชม ‘พระเสด็จกอน’ ด้วยตนเอง

ตามเรื่องเล่าในตำนาน ‘พระเสด็จกอน’ คือ สามัญชนที่ลุกขึ้นมาโค่นบัลลังก์กษัตริย์ซึ่งถูกมองว่าปกครองประเทศอย่างไร้คุณธรรม ก่อนจะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ โดย ‘ฮุน เซน’ ยกย่องให้เป็น ‘วีรกษัตริย์’ ผู้สร้างบ้านแปลงเมืองที่ควรได้รับการเชิดชู

หลายคนเชื่อว่า การนำตำนาน ‘พระเสด็จกอน’ กลับมาปัดฝุ่นเผยแพร่ คือความพยายามในการเชื่อมโยงเรื่องราวมายังประวัติของตัวเขาเอง ขณะที่บางคนมองว่า ‘ฮุน เซน’ ที่เชื่อไสยศาสตร์ อาจคิดว่า ตนเองเป็น ‘พระเสด็จกอน’ กลับชาติมาเกิด หลังมีการปรับแก้วันเกิดให้เป็น ‘ปีมะโรง’ ตรงกับในตำนาน

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากความพยายามในการรักษาอำนาจเพื่ออยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปให้ยาวนานที่สุดจนยากที่ผู้นำรัฐบาลคนอื่นจะทำลายสถิติ ‘ฮุน เซน’ ยังต้องการเป็นตำนานในบันทึกประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกและชาวกัมพูชาได้จดจำ

...แต่จะเป็นการจดจำในฐานะ ‘นายกฯ ในดวงใจตลอดกาล’ ‘รัฐบุรุษ’ หรือ ‘ทรราช’ ยังไม่มีใครสามารถพูดได้เต็มปาก จนกว่าวันที่เขายอมก้าวลงจากอำนาจจะมาถึง

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

อ้างอิง:

NST

VOA News

BBC

Foreign Policy

VOA Cambodia

Phnom Penh Post