06 ธ.ค. 2565 | 17:53 น.
- ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ จากนักการตลาดมือฉมังสู่ถนนสายการเมือง
- บนเส้นทางการเมืองของเขามีหลายคนให้ความสนใจ รวมถึงล่าสุดการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
- การเข้าร่วมครั้งนี้ มีประเด็นการไม่รักษาคำพูดและตระบัดสัตย์ เพราะก่อนหน้านี้เขาบอกว่า จะไม่เข้าร่วมกับพรรคนี้เด็ดขาด
‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการกับการเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐที่มี ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เป็นหัวหน้าพรรค โดยเขาไม่เพียงเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานเท่านั้น ยังพ่วงตำแหน่งหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ หลังจาก ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ โบกมือลาพรรคนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
ช่วงของการแถลงข่าวเปิดตัว มิ่งขวัญได้บอกถึงเหตุผลที่เข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐว่า มาจาก พล.อ.ประวิตรให้เกียรติเชิญมาร่วมทีมแก้เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยเจอมาหลายปี
“ถ้าไม่คุยวันนี้ว่าผมคิดอะไร ผมไม่รักษาคำพูดหรือ ตระบัดสัตย์ ผมอยากพูดประเด็นนี้ให้ชัด ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนตัวของผม การมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ผมยืนยันไม่มีเรื่องผลประโยชน์และเงินทอง สิ่งที่ตัดสินใจมาเพราะ พล.อ.ประวิทย์ขอให้มาช่วยเรื่องปากท้อง ให้มาดูแลความทุกข์ยากของประชาชน และผมขอไม่เป็นกรรมการบริหารพรรค
.
“พอให้มาช่วยด้านเศรษฐกิจ ก็มีทีมเศรษฐกิจอยู่กันเยอะแยะ ฟังประโยคนี้ให้ช้า ๆ ชัด ๆ ผมมีความถนัดทั้งเรื่องเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ไปจนเรื่องปากท้องประชาชน ผมต้องออกไปดีเบตในสงครามการเลือกตั้งที่จะมาถึงไม่นานนี้ ผมปรึกษากับท่าน (พล.อ.ประวิทย์) ท่านบอกว่าจะออกดีเบต คุณต้องมีบาเรียที่เป็นกำลังในการดีเบต ซึ่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้นที่จะได้ดีเบต เพราะฉะนั้นท่านประวิทย์จึงบอกว่า ผมจะพิจารณาและเอาเข้าวาระให้มิ่งขวัญเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ
“ตอนนั้นที่บอกว่าไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ผมบอกว่าอุดมการณ์ที่ต่างกันคือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนั้นที่แถลงที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ ตกลงไม่ร่วมกับพลังประชารัฐใช่ไหม ผมก็ตอบว่า มติของพรรคไม่ร่วม แต่ประโยคที่ผู้สื่อข่าวไม่ได้นำไปใส่คือ ผมฝากไปเรียน พล.อ.ประยุทธ์ด้วยนะว่า ไม่สามารถร่วมอุดมการณ์กับท่านได้ ผมเน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
นี่เป็นเหตุผลที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้ตอบถึงประเด็นที่หลายคนสงสัย
ย้อนเส้นทางมิ่งขวัญ
มิ่งขวัญ เป็นศิษย์วัดนวลนรดิศสำนักเดียวกับ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี จบการศึกษาปริญยาตรีจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลัดฟ้าไปเรียนหลักสูตรผู้บริหารที่สหรัฐฯ จบประกาศนียบัตรหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง จากโรงเรียนวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รัฐเพนซิลเวเนีย (The Wharton School of The University of Pennsylvania)
สำหรับเส้นทางการทำงานของมิ่งขวัญเริ่มที่ ‘บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด’ ซึ่งเขาถือเป็นนักขายมือหนึ่งที่สร้างความหวือหวาให้กับตลาดรถยนต์ไทย ในยุคที่มหกรรมรถยนต์มอเตอร์โชว์นั้นบูมสุดๆ ยอดรถยนต์โตโยต้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยึดเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ในประเทศไทย
ที่โตโยต้าเหมือนโรงเรียนของมิ่งขวัญ ที่ได้เรียนรู้และบริหารทั้งในแผนกการตลาด แผนกประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร ความสามารถของมิ่งขวัญยังสะท้อนให้เห็นถึงงานในโลกอีกด้านของเขาด้วย นั่นคือด้านสื่อและความบันเทิง
ในยุคที่แมวมองดาราคึกคัก ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘กลิตซ์คลับ’ มิ่งขวัญใช้คอนเนคชันในการดึงดารา-นางแบบในสังกัดมาเป็นหุ้นส่วนและบริกรในร้านเพื่อเรียกลูกค้าที่อยากจะสัมผัสกับดารา–นายแบบอย่างใกล้ชิด หากสมัยนี้คงเรียกกันว่า celebrity marketing จึงเรียกได้ว่าเขามีเซนส์ด้านการตลาดที่ดีคนหนึ่ง
ส่วนงานที่โตโยต้ามิ่งขวัญก็เจิดจรัสเป็นอย่างมากขึ้นไปถึงตำแหน่ง Director ผลงานหนึ่งที่หลายคนน่าจะจำได้ นั่นคือการดึง ‘แบรด พิทท์’ พระเอกระดับโลกมาเป็นพรีเซนเตอร์โปรโมทรถยนต์ “โตโยต้า โคโรล่า “ซีรีส์ใหม่” อัลติส” ทำให้ภาพลักษณ์ของรถยนต์ที่คนมองว่าเป็นรถแท็กซี่ กลายเป็นรถสำหรับเมืองสุดเท่ และกลายเป็นรถยนต์คันแรก ๆ ที่เหล่ามนุษย์ออฟฟิศนึกถึง
เข้าสู่ถนนการเมือง
ด้วยฝีไม้ลายมือที่เข้าตาในยุครัฐบาลไทยรักไทยที่มักจะเปิดให้คนเก่งเข้ามาช่วยงาน คนที่ดึงมิ่งขวัญเข้ามาสู่โลกการเมืองนั่นคือ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ แห่ง บริษัท ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ คอมโพเนนท์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ และเป็นอาของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะแนะนำให้มิ่งขวัญมาช่วยงาน ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ (อดีต)มือเศรษฐกิจคู่ใจ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และเคยอยู่เบื้องหลัง “พรรคพลังประชารัฐ”
มิ่งขวัญใช้ความสามารถทางการตลาดผลักดันแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น “เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์”, “เที่ยวไทยไปได้ทุกเดือน” และงานมหกรรมดนตรีกลางแจ้งอย่าง "พัทยา มิวสิค เฟสติวัล" ล้วนแล้วมาจากมันสมองของมิ่งขวัญ ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้มาเป็น ผอ.อสมท. ช่อง 9 ที่เปลี่ยนโฉมจาก “แดนสนธยา” เต็มไปด้วยรายการน่าเบื่อและสารคดีวนซ้ำ ๆ ให้กลายเป็น “โมเดิร์นไนน์ทีวี” ลุคสุดทันสมัยในขณะนั้น
ต้องไม่ลืมว่า มิ่งขวัญทลายกรอบของวงการโทรทัศน์ไทยยุคดังกล่าว ด้วยการดึง สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังให้ข้ามช่องมาจัดรายการฮาร์ดทอล์กอย่าง “ถึงลูกถึงคน” และคิดนอกกรอบใช้เพลงแร็ปมาเป็นเพลงรีแบรนดิ้งสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวี จากฝีมือ “ดาจิม”
กระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2549 ชีวิตของมิ่งขวัญเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปประชุมสหประชาชาติ ที่สหรัฐฯ ท่ามกลางข่าวลือรัฐประหาร และบรรยากาศความขัดแย้งทาการเมืองจากการปลุกระดมของ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ค่ำวันนั้นทหารเข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อทำรัฐประหาร ทักษิณได้ต่อสายเข้ามาเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านทางโมเดิร์นไนน์ทีวีเป็นช่องเดียว ก่อนที่สัญญาณถูกตัดเพื่อถ่ายทอดแถลงของคณะรัฐประหาร คมช. ภายใต้การนำของ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น
สมญานาม ‘โดเรมิ่ง’
ท้ายสุดมิ่งขวัญตัดสินใจลาออกในวันที่ 27 กันยายน ภาวะการเมืองช่วงนั้น ทำให้มิ่งขวัญตัดสินใจเดินหน้าทางการเมือง โดยใส่เสื้อ “พรรคพลังประชาชน” เข้าสู้ศึกเลือกตั้ง เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ และเสนอชื่อ ‘สมัคร สุนทรเวช’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมิ่งขวัญกลายป็นมือเศรษฐกิจคู่ใจในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจและ รมว.พาณิชย์
ผลงานเด่นๆ คือการเจรจาการค้าในช่วงที่โลกเจอวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ช่วงราคาสินค้าเกษตรกำลังดี และการลดค่าครองชีพเสนอ “รถไฟ-รถเมล์ฟรี” และโยกมาดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่นายกฯ สมัคร ต้องหลุดจากตำแหน่ง จากกรณีการจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” โดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการเปิดพจนานุกรมตีความคำว่า “ลูกจ้าง” และสมชาย วงษ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ท่ามกลางการปลุกระดมของสนธิ ลิ้มทองกุล อีกครั้งกับการเข้ายึดสถานที่ราชการต่าง ๆ และปูทางไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน ก่อนมาเป็นพรรคเพื่อไทย มิ่งขวัญไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค และด้วยผลงานของมิ่งขวัญที่ทำงานเหมือนเสกได้ สื่อมวลชนจึงตั้งฉายาให้ว่า “โดเรมิ่ง”
มิ่งขวัญมาเป็นแกนนำฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย สร้างผลงานอภิปรายเผ็ดร้อนเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพในยุครัฐบาล ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ทั้งเรื่องน้ำมันปาล์มที่มีการสต็อกเชื่อมโยงกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และเรื่อง ‘ไข่ชั่งกิโล’ เหมือนไฟสปอตไลท์จะจับว่ามีโอกาสได้ลุ้นตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป
แต่ท้ายที่สุดการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยเลือกส่ง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นนายกฯ ส่วนมิ่งขวัญเป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ โดยไม่ได้ตำแหน่งใด
จากการถูกลดบทบาทนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มิ่งขวัญลาออกจากพรรคเพื่อไทยช่วงปลายปี 2556 และเว้นวรรคการเมือง ชื่อของมิ่งขวัญถูกหยิบมาพูดอีกครั้ง หลังมีการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งต้นปี 2562 โดยในช่วงปลายปี 2561 มิ่งขวัญยอมรับว่าได้มีการติดต่อจากพรรคพลังประชารัฐให้เข้าไปช่วยงานจริง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
ก่อนที่ข่าวคราวทั้งหลายจะเงียบไปเมื่อมิ่งขวัญปรากฏตัวพร้อมนำ ‘พรรคเศรษฐกิจใหม่’ สู้ศึกเลือกตั้ง ด้วยความเป็นนักการตลาด เขาใช้เวทีดีเบตในการสร้างกระแส อัดนโยบายประชานิยมเอาใจคนชั้นกลาง-บน ทั้งการลดภาษี ลดค่าน้ำมัน-ไฟฟ้าโดยอธิบายแผ่นชาร์ตฟิวเจอร์บอร์ดที่เข้าใจง่าย และท้ายที่สุดกวาดไปได้ 6 ที่นั่งจากปาร์ตี้ลิสต์ มีอำนาจในการเลือกชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะเป็นรัฐบาลระหว่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ….
หลังฝุ่นจากการเลือกตั้งเริ่มจาง มิ่งขวัญตัดสินใจพาพรรคเศรษฐกิจใหม่จับขั้วกับพรรคฝ่ายค้าน แต่ดูเหมือนว่ามิ่งขวัญไม่สามารถกุมเสียง ส.ส. พรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาว่า ส.ส. บางคนของพรรคอยากพลิกขั้วไปจับกับพรรคพลังประชารัฐ
กระทั่งมิ่งขวัญได้เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้งในแวดวงการเมือง เมื่อเขายื่นใบลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่ยังคงฐานะสมาชิกพรรค และ ส.ส. พรรคเอาไว้ ข่าวคราวของพรรคเศรษฐกิจใหม่ปรากฏขึ้นอีกครั้งในปลายเดือนมกราคม ปี 2563 เมื่อพรรคมีมติขอถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน
แต่ตัวมิ่งขวัญยังยืนยันจะร่วมเป็นฝ่ายค้าน ไม่ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐโดยเด็ดขาด กระทั่งช่วงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบสุดท้าย เขาประกาศขอลาออกจากเป็น ส.ส. และถูกจับตามองว่า จะไปรับตำแหน่งหัวหน้า ‘พรรคโอกาสไทย’
กระทั่งเมื่อไม่นานนี้มีข่าวลือจะเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และล่าสุดได้ยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า มิ่งขวัญจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่มีดีกรีเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ
.
เรื่อง: PorryNemo อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565