ไข้หวัดใหญ่สเปน: ภัยร้ายที่ยิ่งระบาดไกล เพราะการปิดข่าว
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มีจุดกำเนิดในประเทศจีน ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกมากขึ้น หลังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ประกาศจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศอยู่ที่ 2,744 ราย และผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 80 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงไม่นานที่โลกได้รู้จักกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในตอนนี้จะมากพอที่จะเริ่มทำให้ทั่วโลกตื่นตระหนก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกลับประเมินว่า จำนวนที่แท้จริงของผู้ติดเชื้ออาจสูงมากกว่านั้น เพราะมีการรายงานว่าค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2019 และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้วหลายคน การที่รัฐบาลจีนเพิ่งจะออกมาประกาศมาตรการกักกันผู้คนในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งคล้อยหลังจากช่วงเวลาตั้งต้นไปแล้วราว 1 เดือน จึงคล้ายจะเป็นทางเลือกที่จำเป็นต้องทำเพราะไม่สามารถปิดข่าว และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงเทศกาลปีใหม่ต่อไปได้อีก
จะว่าไปกรณีการปิดข่าวแบบนี้ ก็พาให้นึกถึงสถานการณ์โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นราว ๆ 100 ปีก่อน เมื่อโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งถือเป็นการระบาดที่สร้างความสูญเสียรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ โรคระบาดที่ลามไกล แต่กลับแทบไม่มีการประกาศระวังภัยจากรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ มันมีชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu)
จนถึงทุกวันนี้ ยังคงไม่สามารถระบุได้ว่าไข้หวัดใหญ่สเปนถือกำเนิดมาจากไหน แต่มันเริ่มต้นระบาดไปอย่างรวดเร็วในหมู่ทหารอเมริกันช่วงที่พวกเขาต้องเดินทางไปรบที่ยุโรป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถติดต่อทางอากาศได้ ด้วยสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นสมรภูมิรบ ค่ายทหารที่แออัด และโรงพยาบาลทหาร ซึ่งเต็มไปด้วยคนไข้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันของพวกเขาล้วนต่ำลงจนถูกเชื้อโรคชนิดนี้คุกคามได้ง่าย
อาการของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ จะมีไข้ ไอ จาม และปวดตามตัว คล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทหารที่ติดเชื้อกลับเสียชีวิตไปโดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ช่วงปี 1918 เชื้อโรคชนิดนี้ถูกตรวจพบว่าได้มีการวิวัฒนาการและกลายพันธุ์ไปเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าเดิม เพราะผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเลือดออกในส่วนต่าง ๆ เริ่มหายใจไม่ออก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เชื้อดังกล่าวพุ่งเข้าเล่นงานทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีสุขภาพดีหรืออ่อนแอ เป็นเด็กหรือคนแก่ ต่างก็ต้องติดเชื้อกลายเป็นผู้ป่วยกันถ้วนหน้า ผู้คนมากมายล้มตายราวกับใบไม้ร่วง
ภายหลังเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ซึ่งเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้ไม่ใช่เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศสเปน หรือมีการแพร่ระบาดในสเปนรุนแรงที่สุด แต่เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งสงคราม ที่ทำให้หลายประเทศต่างก็พยายามปิดข่าวไม่ให้คนภายนอกรู้ว่ากำลังมีโรคระบาดเกิดขึ้นในกองทัพ ทางหนึ่งก็เพราะไม่ต้องการบั่นทอนขวัญกำลังใจของเหล่าทหาร อีกทางหนึ่งก็ไม่ต้องการเปิดเผยสภาวะอ่อนแอให้ฝั่งตรงข้ามรู้ (ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเชื้อได้แพร่กระจายในหมู่ทหารทั้งสองฝ่าย รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก)
ตอนนั้น ประเทศสเปนที่วางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าร่วมในช่วงสงคราม และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปิดข่าว จึงเผยแพร่เนื้อหา ข้อมูลของโรค และตีข่าวการแพร่ระบาดในประเทศตัวเองอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ นานาชาติจึงเข้าใจว่าประเทศสเปนเป็นพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของเชื้อรุนแรงที่สุด และขนานนามการระบาดนี้ว่าไข้หวัดใหญ่สเปน
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1917-1918) กว่าทั่วโลกจะได้รู้ว่าเชื้อดังกล่าวไม่ได้ระบาดอยู่แค่ในสเปน แต่ยังลามไปยังประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ทวีปอาร์กติกที่อยู่ในแถบขั้วโลกเหนือ หรือดินแดนห่างไกลอย่างหมู่เกาะแปซิฟิก ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเวลานั้นก็ประเมินได้ราว 50 ล้านคนแล้ว นับว่ามากกว่าจำนวนทหารและพลเรือนที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 3 เท่า ไข้หวัดใหญ่สเปนจึงกลายเป็นโรคร้ายที่ผลาญชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในศตวรรษที่ 20
เฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตในอเมริกามีมากถึง 675,000 ราย เพราะมีความเป็นไปได้ว่า การคมนาคมของทหารอเมริกันที่เดินทางกลับจากการรบ จะเป็นพาหะที่นำพาเชื้อไวรัสกลับเข้าสู่ประเทศบ้านเกิด ความร้ายกาจของมันสามารถทำให้รัฐหลายรัฐ เมืองหลายเมือง มีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้างในภาพยนตร์สยองขวัญ ผู้คนไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดบางเบา ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง สถานการณ์กลับยิ่งแย่กว่า เพราะจำนวนคนไข้ที่มากเกินไป รัฐบาลจึงต้องใช้พื้นที่โรงละครเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว สำหรับผู้ตายแม้แต่จัดพิธีศพก็ยังทำไม่ได้ เพราะร่างของผู้เสียชีวิตจะต้องถูกกลบฝังโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายต่อ
โชคยังดีที่ช่วงปลายปี 1919 ดูเหมือนอยู่ดี ๆ ข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนก็ค่อย ๆ ลดลง ก่อนจะหายไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงปลายปี 1920 แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่ามันหายไปไหน เชื้อดังกล่าวราวกับแผลงฤทธิ์จนเสร็จธุระ แล้วก็กลับบ้านไปไม่มีการบอกกล่าว แต่สมมติฐานที่ดูน่าเชื่อถือที่สุดพยายามอธิบายว่า อาจเพราะไวรัสชนิดนี้สามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว มันจึงค่อย ๆ กลายพันธุ์เป็นไวรัสที่ร้ายกาจน้อยลง หรือไม่ก็ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้วิวัฒนาการขึ้นจนสามารถปรับตัวเพื่อต้านไวรัสในร่างกายได้
ท้ายที่สุดแล้ว เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม หรือมีการเก็บตัวอย่างไวรัสที่มีประสิทธิภาพ เราจึงไม่สามารถค้นหาคำตอบที่แท้จริง ถึงที่มาที่ไปของไข้หวัดใหญ่สเปนในยุคนั้นได
สำหรับกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีน แม้ทางการจีนจะทำการบันทึกรหัสพันธุกรรมในธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก เพื่อให้นานาชาติสามารถนำรหัสของไวรัสไปเทียบเคียง และตรวจสอบหาผู้ป่วยในประเทศตัวเองได้ แต่ข้อมูลสำคัญอื่น ๆ อย่างพาหะของโรค รายละเอียดอาการของผู้ป่วย หรือภาวะแทรกซ้อนจากกระบวนการรักษา กลับยังไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ หรือแม้แต่ส่งข้อมูลให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ขณะนี้นานาประเทศทั่วโลก จึงไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ได้ (วันที่ 27 ม.ค. 63 ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO จะมีการประชุมกับรัฐบาลจีน ถึงความคืบหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดล่าสุด)
ด้วยวิวัฒนาการของการรักษาและการกักกันโรคที่มีคุณภาพมากขึ้น แน่นอนว่าคงไม่ทำให้เรากลับไปสู่จุดที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้อย่างเก่า แต่บทเรียนจากไข้หวัดใหญ่สเปนก็สะท้อนว่า หากมีการตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถช่วยกันเตรียมตัวรับมือ เพื่อป้องกันและแก้ไขกันได้อย่างทันท่วงที บางทีความสูญเสียก็อาจไม่ร้ายแรง น่าหวาดกลัว จนเป็นภัยต่อโลกได้ถึงเพียงนี้
ที่มา
https://www.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/photos/a.1660406490842033/2550410691841604/
https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/1918-pandemic-h1n1.html
https://www.theguardian.com/world/2018/sep/09/spanish-flu-pandemic-centenary-first-world-war
https://edition.cnn.com/2018/11/08/opinions/klass-flu-pandemic-world-war-i-x/index.html
https://www.passporthealthusa.com/2015/11/how-the-1918-spanish-flu-pandemic-links-to-world-war-i/
https://theconversation.com/world-war-ones-role-in-the-worst-ever-flu-pandemic-29849
https://www.theguardian.com/science/2020/jan/27/china-coronavirus-who-to-hold-special-meeting-in-beijing-as-death-toll-jumps