สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน

สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน

“รอสักครู่นะครับ เดี๋ยวพี่ลงไปรับ” สิ้นเสียงสนทนาจากปลายสาย เราก็ได้ยินเสียงคนสับฝีเท้ารัว ๆ ดังมาจากชั้น 2 ของ ‘Karb Studio’ โฮมออฟฟิศสูง 3 ชั้นที่ด้านนอกถูกฉาบทับไปด้วยสีเทาเข้มให้ความรู้สึกเคร่งขรึม ทรงพลัง และเรียบง่ายในคราวเดียวกัน

เขาเปิดประตูต้อนรับ ส่งรอยยิ้มหวาน และบอกให้เราทำตัวตามสบาย บรรยากาศภายในสตูดิโอดูอบอุ่น เมื่อผสมปนเปกับรอยยิ้มใจดีของคนตรงหน้า ยิ่งทำให้เรารับรู้ได้เลยว่ามวลความสุขที่เอ่อล้นออกมา คงมาจากชายคนนี้ไม่ผิดแน่ ต่างจากตึกสีทึมเทาด้านนอกอย่างสิ้นเชิง

“พี่ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องรากเหง้า” ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ระดับแนวหน้าของไทยที่คว้ารางวัลออสการ์อาหารโลก หรือ กูร์มองด์ อวอร์ดส (Gourmand Awards) รางวัลที่ก่อตั้งมาเพื่อสดุดีและเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนภาพลักษณ์อาหารให้เป็นสากล เป็นระยะเวลา 15 ปีติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน เริ่มบทสนทนาขณะรินน้ำจากเหยือกพร้อมยื่นมาให้เรา

ก่อนจะขยายความต่อว่า “พี่เป็นคนจังหวัดบึงกาฬ โตมากับความเรียบง่ายอยู่ในพื้นที่ชนบท ทั้งหมดคือ ‘ราก’ ที่เราเกิดและเติบโตมาเพื่อที่จะเป็นพี่ในทุกวันนี้” สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน The People พูดคุยกับขาบ ฟู้ดสไตลิสต์ผู้ถ่ายทอดความ ‘เลอค่า’ ของอาหารพื้นถิ่นให้กลายเป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก และไม่ลืม ‘รากเหง้า’ ของตัวเอง โดยนำความเชี่ยวชาญด้านอาหารพื้นถิ่นและความเข้าใจผู้คนในชุมชนมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน เหมือนดั่งคำที่เขาเน้นย้ำตลอดการสนทนาว่า “เพราะรากเป็นสิ่งที่สำคัญ และคนต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง”

และนี่คือเรื่องราวของเขา ‘ขาบ - สุทธิพงษ์’ ชายผู้ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณ เพื่อหันหลังกลับมาพัฒนาบ้านเกิดให้กลายเป็นตำนานระดับโลก

จากอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก

ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ คือนักพัฒนาชุมชนวัย 50 ต้น ๆ ที่ไฟในใจเขายังคงลุกโชนไม่ดับมอดไปตามกาลเวลา เขาอยากเห็นสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นอาหารถิ่นอีสานเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และอยากจะเห็นชุมชนที่เขารักยังคงสามารถส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมแบบอีสานดั้งเดิมไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอย่างมั่นคงและยั่งยืน เขาจึงนำศาสตร์ด้านอาหารและศิลปะที่เขาหลงรักมาขับเคลื่อนชุมชนให้ถึงฝั่งฝัน ภาพจาก Karb Studio รับสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าภาคการเกษตร และธุรกิจอาหารแบบครบวงจร

“พี่เห็นอาหารพื้นถิ่น เห็นอยู่รอบตัวมาตั้งแต่เด็ก เราเข้าครัวกับแม่ รู้วิธีเลือกวัตถุดิบจากพ่อ พ่อเขาก็ทำอาชีพซื้อขายพืชไร่การเกษตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร พี่ก็ได้เรียนรู้ ซึมซับ และอยู่กับขั้นตอนของทั้ง 2 อย่างมาโดยตลอด แล้วด้วยความที่เราอยู่ในพื้นที่ของชนบท ซึ่งเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่ดีที่สุดในชีวิต ทำให้ทั้งชีวิต หัวใจ และจิตวิญญาณ เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดนี้คือรากที่หล่อหลอมเรามา

“ส่วนในอีกบทบาทหนึ่ง ตัวของพี่ชอบเรื่องของศิลปะ ซึ่งความชอบของศิลปะบางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเกิดมาในชนบททำให้พี่คุ้นเคยกับเรื่องวิถีชีวิต กลิ่นอายความเป็นธรรมชาติ กับโลกของการสร้างสรรค์และจินตนาการมาตั้งแต่เด็ก” ภาพจาก Karb Studio รับสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าภาคการเกษตร และธุรกิจอาหารแบบครบวงจร

เมื่อความหลงใหลในอาหารและศิลปะถูกนำมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ประเทศไทยจึงได้เพชรเม็ดงามที่เฉิดฉายอยู่เคียงคู่เวทีออสการ์อาหารโลกมาเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ

“ถ้าพูดตั้งแต่การกระโดดเข้ามาอยู่ในแวดวงอาหารก็น่าจะ 25 ปีแล้ว จากนั้นจึงพัฒนามาเป็น ‘Karb Studio’ องค์กรที่รับปั้นแบรนด์ออกแบบภาพลักษณ์อาหารการเกษตร ซึ่งใน 25 ปีนี้พี่ไม่เคยหลุดทำอย่างอื่นเลย เรียกได้ว่าตกหลุมรักอย่างรุนแรง (ยิ้ม) อย่างในการประกวดทุกครั้งพี่ได้รู้จักกับศิลปินที่หลากหลาย แม้กระทั่งเชฟระดับโลกก็รวมอยู่ด้วย การที่พี่นำเอาผลงานของเราไปประกวดเวทีกูร์มองด์ อวอร์ดส อันนี้ก็สามารถบอกกับเราได้ว่า ไม่สำคัญว่าเราจะมาจากที่ไหน แต่ที่สำคัญคือเราจะทำผลงานให้ได้มาตรฐานโลกได้อย่างไร พี่เองก็อยากบอกทุกคนว่า ทุกคนสามารถที่จะเป็นดาวเด่นได้ ขอแค่ให้มีการทำงานที่เป็นระบบสากล

“ประเทศไทยมักชอบบอกว่าตัวเองติด 1 ใน 5 ของอาหารโลก ในอันดับที่ว่าก็จะมีอาหารฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ไทย ในเวทีการกิน (มิชลิน) ก็จะมีผู้ประกอบอาหารทำอุตสาหกรรมอาหารอยู่ทั่วโลก แต่เวทีภาพลักษณ์ (กูร์มองด์ อวอร์ดส) ถ้าได้ไปยืนในจุดนั้น ในวันที่มีการประกาศรางวัลประจำปี เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด เพราะประเทศไทย ไม่-มี-ใคร-เลย มีพี่แค่คนเดียว ซึ่งในความเป็นจริงมันควรจะสอดประสานกันไป สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยก็เหมือนกับผักชีโรยหน้า” สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน ขาบบอกกับเราว่าเขาเสียดายโอกาสที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องอาหาร แต่การผลักดันจากภาครัฐกลับมีน้อยจนน่าน้อยเนื้อต่ำใจ แต่เขาก็ยังไม่หมดไฟ ยังคงพยายามเป็นกระบอกเสียงให้แต่ละหน่วยงานคำนึงถึงความสำคัญของอาหารพื้นถิ่นมากขึ้น แม้จะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตก็ตาม

“อย่างในปัจจุบัน ตอนนี้เรากำลังพูดถึง solf power ซึ่งอาหารเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่สุด แต่ประเทศไทยไม่ทำเรื่องนี้อย่างยั่งยืน กลับเลือกที่จะทำแบบประเดี๋ยวประด๋าวตามกระแส จริง ๆ ประเทศไทยเองก็มีโครงการอยู่เหมือนกัน แต่คนที่ทำอย่างจริงจังมีน้อยมากในเรื่องภาพลักษณ์อาหาร“พี่เองก็มีการพูดคุยกับภาครัฐในเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็รอมานานแล้ว… อย่างบ้านพี่ที่ทำเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตเมืองกาฬ’ ทำอาหารพื้นถิ่นให้เป็นลักษณะ Chef’s Table ก็มีราคาประมาณหนึ่ง ที่หากมีลูกค้าที่มีกำลังซื้อพวกเขาก็จะมากินกัน ชุมชนของพี่ที่ทำอยู่เป็นเพียง 1 ใน 80,000 ชุมชนของประเทศไทย 

“แต่อาหารพื้นถิ่นในไทยไม่ค่อยมีคนที่จะเข้าไปช่วย มันเป็นอะไรที่ย่ำแย่มากสำหรับประเทศไทย

“พี่ก็ได้แต่หวังว่าชุมชนที่พี่ทำจะเป็น solf power ให้กับชาวบ้านพื้นที่อื่น ๆ ได้เข้ามาศึกษาและนำไปพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไป” สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน พัฒนาบ้านเกิดจนกลายเป็นสถานที่สุดเลอค่า

แต่กว่าที่เขาจะหันหลังกลับมามอง ‘รากเหง้า’ ของตัวเอง โดยเปลี่ยนจากเรือนอีสานอายุกว่า 70 ปีให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต’ ขาบบอกกับเราว่าเขาเคยไล่ตามความฝันเสียไกล จนเกือบลืมไปแล้วว่าสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นฟู้ดสไตลิสต์ระดับโลกมาจากสถานที่ที่เรียกว่า บ้าน

“ต้องย้อนกลับไปช่วง 5 ปี พี่ทำงานเลี้ยงตัวเองและทำงานให้กับต่างประเทศมากมาย ซึ่งการทำงานแบบนี้เป็นการทำไปเพื่อตอบสนองกิเลส ตัณหาของตัวเราเอง” ขาบยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าครั้งหนึ่งเขาก็เคยลุ่มหลงในภาพมายา จนกระทั่งเจอเหตุการณ์หนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล“สิ่งที่เข้ามาชนจนทำให้สะดุดมากที่สุดคือตอนที่พี่สูญเสียคุณแม่ พี่ล้มอย่างรุนแรง ไม่เคยคิดว่าจะเสียใจมากเท่านี้มาก่อนในชีวิต ตอนงานศพแม่ พี่ก็ไม่รู้หรอกว่าแม่พี่ทำคุณความดีอะไรไว้บ้าง แต่พี่ไม่เคยเห็นงานศพที่มีคนในชุมชนหลั่งไหลเข้ามาอย่างคับคั่งขนาดนี้ เพราะแม่พี่เองก็เป็นแค่ชาวบ้านคนธรรมดา แต่ทำไมคนมาแบบเยอะจนมืดฟ้ามัวดิน พี่ก็เลยหาโอกาสถามคนรอบตัวเรื่องของแม่พี่ จนพี่ได้รับรู้ว่าแม่เป็นปราชญ์ประจำหมู่บ้านดี ๆ นี่เอง สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน “มันเหมือนเป็นการกลับมาต่อจิ๊กซอว์ที่เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เรามองเห็นเพชรในตัวของแม่ หลังจากบ้านเกิดไปนาน จนทำให้เราอยากจะเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน พี่จึงหันกลับมามองดูว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง จนมาเห็นว่าบ้านของเราเอง หลังจากนั้นพี่เลยลุกขึ้นมาปฏิวัติอย่างสุดขั้ว เปลี่ยนจากหมู่บ้านร้างเล็ก ๆ ให้เป็นสถานที่ที่มีชีวิตอีกครั้ง”

ขาบยอมรับว่าการปฏิวัติอย่างรวดเร็วฉับพลันย่อมทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในพื้นที่ แต่หัวใจนักพัฒนาและศิลปินกลับร้องตะโกนออกมาว่า เขาจะต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ เพราะไม่อย่างนั้นชุมชนที่เขาเคยอยู่คงไม่ต่างจากเมืองร้างไร้การเหลียวแล

โดยเขาได้นำเรื่องที่ถนัดที่สุดอย่างอาหาร ศิลปะ และการท่องเที่ยวมาผูกเข้าด้วยกัน จากนั้นสิ่งที่เขาหลงรักมาตลอดทั้งชีวิต ก็นำทางให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาสัมผัสความมีชีวิตชีวาของชาวลุ่มแม่น้ำโขงโดยมี ‘พญานาค’ เป็นเจ้าบ้านทำหน้าที่ต้อนรับเหล่าแขกผู้มาเยือน

อีกทั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ยังได้รับรางวัลในประเภทสาขาสถาบันเพื่อสาธารณะ (Institutions) จากเวทีออสการ์อาหารโลก เวทีที่เขายืนหนึ่งมาตลอดระยะเวลา 15 ปี  สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน “ต้องบอกก่อนนะครับว่า ‘ลมหายใจ’ และ ‘จิตวิญญาณ’ ของชุมชนอยู่กับสิ่งไหน เราก็ต้องเคารพและศรัทธาสิ่งนั้น เพราะจังหวัดบึงกาฬคือจังหวัดริมแม่น้ำโขง เรากำลังจะทำเรื่องศรัทธา แต่แปลงโจทย์ให้เป็นการค้า มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะหากทำผิดไปเพียงเล็กน้อยเราอาจจะถูกต่อว่าได้ เราเลยหยิบความศรัทธานำมาสร้างเป็นภาพลวดลายตามสถานที่ต่าง ๆ

“พี่เริ่มวาดครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีแต่เสียงก่นด่าต่อว่าพี่นะ (ยิ้ม) ว่ากล้ามากที่เอาสิ่งที่คนเขากราบไหว้มาทำอย่างนี้ แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านเขามีรายได้ เพราะการที่คนอื่นต่อว่า มันไม่สำคัญเท่ากับคนในพื้นที่ ยิ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเท่าไร มันก็ทำให้คนเกิดความสนใจแล้วเข้ามาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น

“ส่วนในชุมชนเขาก็ทำกิจกรรมต่าง ๆ เตรียมเอาไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดเป็นเม็ดเงิน สร้างรายได้ให้กับพวกเขา เพื่อให้มีการขับเคลื่อนไปได้ครบมิติ ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะคนรวย เพราะไม่งั้นคนรวยก็รวยขึ้น แต่คนจนก็จนกันต่อไป เราก็คงไม่สามารถที่จะเรียกคุณค่าอาหารพื้นถิ่นที่เรานำมาปรับใช้ในชุมชนอำเภอโซ่พิสัยว่ามันมีคุณค่าได้อย่างเต็มปาก”

ทุกครั้งที่ขาบได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขาไม่เคยท้อ มีแต่จะนำคำเหล่านั้นมาพัฒนาให้ดีขึ้น อีกทั้งยังมองทุกอย่างตามความสัตย์จริงผ่านความจริงแท้ของชีวิต โดยยึดโยงธรรมะ ธรรมชาติ และธรรมดาเข้ามาไว้ด้วยกัน 

“ธรรมแรก คือ ธรรมะ เราต้องมีธรรมในการดำเนินชีวิต ส่วนธรรมที่สอง คือ ธรรมชาติ เราต้องมองทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ เพราะเรามาจากธรรมชาติ และสุดท้ายคือ ธรรมดา เรามองเห็นอะไรต่าง ๆ ได้มากมาย แต่โปรดจงทำตัวธรรมดาเข้าไว้ อย่ายึดติด แล้วเราจะผ่านทุกสิ่งไปได้” สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน นักพัฒนาผู้ไม่หยุดฝัน

แม้ขาบจะอยู่ในสังเวียนการต่อสู้มาเป็นเวลาค่อนชีวิต แต่ดูเหมือนว่าชายตรงหน้าไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย แววตายังฉายแสงแห่งความหวัง เหมือนมีประกายไฟเล็ก ๆ ที่คอยบอกกับเราตลอดการสนทนาว่า สังคมนี้ยังมีหวัง แต่เขาไม่ได้โลกสวยเสียจนไม่เข้าใจความเป็นไปของโลก เพราะในสังคมมนุษย์ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่าง

“บางคนมีความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็มีนักพัฒนาที่ทำงานแล้วไม่สามารถที่จะไปต่อได้ ซึ่งคนเขาไม่ค่อยพูดกัน (หัวเราะ) เหตุผลที่ทำให้พวกเขาพูดออกมาไม่ได้เป็นเพราะการถูกต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองท้องถิ่น หรือข้าราชการที่เห็นว่าเรามีบทบาทมากกว่า นี่คือตัวแปรหลักที่ท้าทายกับเรามากที่สุดเท่าที่เจอมา

“แต่ในชุมชนก็ยังมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่ละชุมชนก็มีเจ้าของพื้นที่อยู่อีก เอาเข้าจริงเราก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้เลยหรอก มันต้องค่อย ๆ ทำในพื้นที่ ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่เขาเปิดให้เราได้ทำ ในช่วงปีแรกเป็นอะไรที่ยากที่สุดของชีวิต ยากมาก ในตอนนั้นทำให้พี่มานึกถึงคำของแม่ที่บอกว่า ‘ถ้าได้ดีแล้วจะต้องกลับบ้าน’ คำนี้ทำให้พี่จำเป็นต้องกลับมายังบ้านเกิด

“พี่ก็คิดนะว่าเรามีความพร้อมทุกอย่าง แล้วเราจะกลับไปทำไม มันไม่มีเหตุผลอะไรให้เราจำเป็นต้องกลับไป เพราะเราจากบ้านเพื่อมาหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เราต้องกลับไปบ้านอีกครั้ง คงหนีไม่พ้นการถูกแทงใจดำ อย่างของพี่คือคำของแม่ที่เข้ามาแทงใจดำ

“อีกส่วนหนึ่งคือมันมาจากอุดมการณ์ของพี่ที่เติบโตอยู่ในชุมชน ฉะนั้นคนที่ลุกขึ้นมาทำงานแบบนี้ เมื่อลุกขึ้นมาทำงานในชุมชนทำให้พี่เห็นฐานรากมาตั้งแต่ต้น อีกอย่างคือพี่ทำงานเป็นนักธุรกิจในการทำแบรนด์ด้วย เราก็จะมองในเชิงนักธุรกิจ เมื่อเราเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้ว มันต้องมีผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นเม็ดเงินที่จับต้องได้คืนกลับมา ส่วนความเจริญนั้นเราได้อยู่แล้ว รายได้เองก็ต้องไหลเข้าสู่พื้นที่ด้วยวิธีการใดบ้าง

“และภาครัฐต้องมองเห็นแล้วนำเขาไปอยู่บนเวทีสภาที่จะทำให้เขามีสิทธิ์มีเสียงในการทำงาน เพื่อที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนในเครือข่ายที่จะพัฒนาต่อไปในทางที่ดี” แม้เขาจะขึ้นชื่อว่าเป็นนักพัฒนามากประสบการณ์ แต่กลับไม่ได้เสียงตอบรับเท่าที่ควร

“บางคนเขาก็หันหลังให้กับภาครัฐนะ (หัวเราะ)

“แต่ถ้าถามถึงคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองก็คือ พี่อยากให้เขาเหล่านั้นมุ่งมั่นต่อไป แม้วันนี้สปอตไลต์มันยังส่องไม่ถึงตัวของคุณ แต่คุณต้องลุกขึ้นแล้วเดินหน้าต่อโดยใช้เครื่องมือกลไกของโซเชียลมีเดีย เอาผลงานของเราโพสต์ลงไปพร้อมแฮชแท็กระดับโลกไปเลย แล้วไม่ต้องไปสนใจเวทีไทย ในเมื่อไม่มีคนหันมามองไม่ต้องสนใจก็ได้ ให้เปลี่ยนมามองระดับโลกแทน วันหนึ่งเมื่อโลกมองมาที่เรา ทั้งโลกจะทำให้เราดัง ไทยก็จะหันมามองเราเอง” สุทธิพงษ์ สุริยะ: ฟู้ดสไตลิสต์ผู้นำอาหารถิ่นแดนอีสานสู่เวทีโลก ในวันที่กลับมาพัฒนาชุมชนและรากเหง้าตัวเองจนกลายเป็นตำนาน ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาคุณทำงานมาเยอะมาก ยังมีอะไรอีกไหมที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ - เราถามคำถามสุดท้ายก่อนจบการสนทนา

“หอศิลป์ที่จังหวัดบึงกาฬ” เขาตอบแทบทันที

“เพราะจังหวัดบึงกาฬมีความรุ่มรวยอารยธรรมของแถบอินโดจีน เป็นจังหวัดที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเรามีศิลปินลุ่มแม่น้ำโขงเยอะมาก การที่จะทำหอศิลป์ แล้วมีศิลปินจากทั้ง 6 ประเทศมาขึ้นตลิ่งโขงเพื่อมาร่วมสร้างสรรค์ความงดงามของวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ จะเป็นการช่วยพัฒนาให้ประเทศเหล่านี้ค่อย ๆ ร่ำรวยทางด้านศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง

“ในขณะนี้รถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนก็มาจอดที่สถานีที่เวียงจันทน์แล้ว จากเวียงจันทน์ก็สามารถกระโดดข้ามมาจากแม่น้ำโขงที่หนองคาย อีกนิดก็ถึงบึงกาฬ ฉะนั้นจะมีคนจีนจำนวนมากที่ศรัทธาและนับถือมังกร ซึ่งที่นี่เองมีพญานาค ทั้งสองอย่างเป็นสัตว์ในจินตนาการ พวกเขาก็จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับฐานรากของเราได้ในอนาคต”

 

เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน, อภิวิชญ์ แสงโสภา (The People Junior)