4 สาวนักอาสา ผู้ชนะการคัดเลือกไปนั่งนับเพนกวินที่แอนตาร์กติกา ทำงานในพื้นที่เวิ้งว้างสุดขอบโลกเกือบครึ่งปี

4 สาวนักอาสา ผู้ชนะการคัดเลือกไปนั่งนับเพนกวินที่แอนตาร์กติกา ทำงานในพื้นที่เวิ้งว้างสุดขอบโลกเกือบครึ่งปี

หลายครั้งที่เราได้ยินเกี่ยวกับ ‘อาชีพสุดแปลก’ จากทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันก็อาจเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคนก็ได้ อย่างตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่นับเพนกวิน’ ประจำอยู่ที่องค์กร UK Antarctic Heritage Trust (UKAHT) ท่าเรือธรรมชาติพอร์ตล็อครอย (Port Lockroy) ที่แอนตาร์กติกา

ซึ่งในพื้นที่อันห่างไกลและเคว้งคว้างใครจะคิดว่ามี ‘ที่ทำการไปรษณีย์’ ที่เปิดทำการอยู่ และมีผู้คนจำนวนน้อยนิดนั่งทำงานอยู่ที่นั่น โดยมีองค์กร UKAHT เป็นเจ้าของ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1944

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ที่แห่งนี้มีอาชีพหลัก ๆ ก็คือ นับจำนวนเพนกวินในแต่ละวัน และดูแลเพนกวินตั้งแต่คลอดลูก จนถึงทำความสะอาดมูลของเพนกวิน จุดประสงค์ก็เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับสัตว์ตามธรรมชาติในมหาสมุทรแอนตาร์กติกา ซึ่งก็คือ เพนกวิน

อย่างไรก็ตาม หน้าที่อื่นนอกเหนือจากติดตามชีวิตเพนกวิน เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 คนจะต้องทำงานเอกสาร (จดหมาย), จัดจำหน่ายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้

 

ตามติดชีวิตเพนกวินป้องกันการสูญพันธุ์

มีหลายปัจจัยว่าทำไมต้องมีทีมงานติดตามชีวิตของเพนกวินโดยเฉพาะที่แอนตาร์กติกา ข้อมูลในปี 2020 ระบุว่ามีการสูญพันธุ์ของเพนกวินสายพันธุ์ชินสแตรปมากถึง 75% เทียบกับ 50 ปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนำไปสู่การลดลงของน้ำแข็ง จนทำให้อุณหภูมิน้ำอุ่นขึ้น

ขณะที่หลายครั้งก็มีการไล่ล่าเพนกวินเกิดขึ้น ซึ่งเป็นประชากรสัตว์ที่อาศัยอยู่มากที่สุดในแถบแอนตาร์กติกา นอกจากนี้ก็จะมีสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นและอาจสูญพันธุ์เช่นเดียวกันคือ แมวน้ำ และวาฬ

ทั้งนี้ คามิลลา นิโคล หัวหน้าผู้บริหารของ UKAHT ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อของอังกฤษว่า “การใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ทีมงานต้องทำงานหนักกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน บางทีก็ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือผ่อนคลายมากนัก”

 

ผู้ชนะ 4 ใน 6,000คน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลาย ๆ สื่อในต่างประเทศรายงาน 4 ผู้หญิงนักอาสาที่ชนะการคัดเลือก ผ่านด่านผู้สมัครกว่า 6,000 คน โดยพวกเธอจะรับหน้าที่เข้ามาดูแลเหล่าเพนกวินในปีนี้ (หลังจากที่งดรับสมัครมา 2 ปี ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 คนจะต้องอยู่จนครบสัญญาเป็นเวลา 5 เดือน แต่พวกเธอต้องเข้ารับการฝึกอบรมในเคมบริดจ์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนเดินทางไปยังแอนตาร์กติกา โดย 4 ตำแหน่งดังกล่าวก็คือ หัวหน้าฐาน, ผู้จัดการร้าน และผู้ช่วยทั่วไปจำนวน 2 คน

ทั้งนี้ ผู้ชนะทั้ง 4 คน ได้แก่ แคลร์ บอลลันไทน์ (Clare Ballantyne), ไมรี่ ฮิลตัน (Mairi Hilton), นาตาลี คอร์เบตต์ (Natalie Corbett) และ ลูซี่ บรูซ์โซน (Lucy Bruzzone) โดยสิ่งที่พวกเธอจะต้องเจอแน่ ๆ ก็คือ ไม่มีไฟฟ้า, ไม่มีอินเทอร์เน็ต, ไม่มีชักโครก และนอนบนเตียงสองชั้นร่วมกัน ซึ่งยังไม่รวมสภาพอากาศที่หนาวติดลบ และเป็นทวีปที่มีลมแรงที่สุดด้วย

คุณสมบัติส่วนใหญ่ของผู้ชนะการคัดเลือกต้องมีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบที่ฐาน ‘ไมรี่ ฮิลตัน’ สาวสกอตแลนด์วัย 30 ปี เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาการอนุรักษ์ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะรับหน้าที่ในการดูแลฝูงเพนกวินเจนทูจำนวน 1,500 ตัวบนเกาะแห่งนี้

‘ลูซี่ บรูซ์โซน’ จากลอนดอนวัย 40 ปี เธอเคยใช้เวลา 3 เดือนในหมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) ในตำแหน่งหัวหน้านักวิทยาศาสตร์เพื่อการสำรวจมหาสมุทรอาร์กติก ดังนั้น เธอจึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าฐานในครั้งนี้

‘แคลร์ บอลลันไทน์’ นักอาสาอายุน้อยที่สุดในกลุ่มวัย 23 ปีจากลินคอล์นเชียร์ เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์โลกที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ส่วน ‘นาตาลี คอร์เบตต์’ สาววัย 31 ปีที่เพิ่งแต่งงานจากแฮมป์เชียร์ เธอเป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องประดับสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยเธอจะรับผิดชอบดูแลร้านขายของที่ระลึก และเป็นคนดูแลกลุ่มนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นักอาสาทั้งหมดที่เคยผ่านงานที่นี่รวมทั้งเจ้าหน้าที่คนใหม่ต่างรู้ว่าต้องเจอกับงานที่หนักหนา แต่พวกเธอมองว่า เป็นโอกาสพิเศษที่สุดในชีวิตที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขนาดนี้ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องดูแลสัตว์ตามธรรมชาติด้วย

 

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/world/2022/oct/04/newlywed-run-world-remote-post-office-antarctica-penguins

https://www.timesnownews.com/viral/four-women-to-run-worlds-most-remote-post-office-and-count-penguins-in-antarctica-article-94654210

https://metro.co.uk/2022/04/06/worlds-most-remote-post-office-in-antarctica-is-looking-for-staff-16415497/