แอมโบรส บาเจ็ก-ลาปายเน: ร้องโอเปร่าขณะผ่าตัดเนื้องอกในสมองโดยไม่ใช้ยาสลบ

แอมโบรส บาเจ็ก-ลาปายเน: ร้องโอเปร่าขณะผ่าตัดเนื้องอกในสมองโดยไม่ใช้ยาสลบ

ในปี 2014 ‘แอมโบรส บาเจ็ก-ลาปายเน’ (Ambrož Bajec-Lapajne) นักร้องโอเปร่าชาวสโลวีเนีย ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอก Glioblastoma หรือ GBM ซึ่งเป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในสมอง ทันทีที่เขารู้ว่าภายในสมองกำลังมีเนื้อร้ายเข้ามายึดครอง เขารีบยกเลิกตารางแสดงทั้งหมด และเข้าห้องผ่าตัดโดยด่วน

แต่การผ่าตัดครั้งนั้น มีเงื่อนไขอย่างหนึ่งคือ เขาจะต้องมีสติตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา และต้อง ‘ร้องโอเปร่า’ ไปด้วยขณะผ่าตัด นี่คือคำขอของทีมศัลยแพทย์ระบบประสาท นำโดย ‘ดร. ปิแอร์ โรบ’ (Dr. Pierre Robe) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและศัลยแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอูเทรคต์ (University Medical Center Utrecht) ประเทศเนเธอร์แลนด์

การผ่าตัดลักษณะนี้ เรียกในภาษาทางการแพทย์ว่า ‘การผ่าตัดเนื้องอกสมองขณะผู้ป่วยรู้สติ’ (Awake Craniotomy) เป็นการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ที่ถูกคิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 ใช้ในการรักษาโรคลมชัก และการผ่าตัดเนื้องอกสมอง ส่วนในประเทศไทยการผ่าตัดเนื้องอกสมองขณะผู้ป่วยรู้สติ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2000 

หลังจากได้ยินคำขอจากคุณหมอ แอมโบรสให้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสาร iSing ว่าเขาค่อนข้างทำใจลำบากในตอนแรก แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด เขาจึงตอบตกลง และเลือกเพลง ‘Gute Nacht’ (ราตรีสวัสดิ์) ของ ‘ฟรานซ์ ชูเบิร์ต’ (Franz Schubert) คีตกวีชาวออสเตรียมาใช้ขับกล่อมระหว่างผ่าตัด

“ตอนที่ผมปรึกษาคุณหมอ เขารู้อยู่แล้วว่าผมเป็นนักร้องโอเปร่า หมอก็เลยแนะนำว่าผมควรจะร้องเพลงขณะผ่าตัดไปด้วย เพราะว่าสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจเข้า-ออก ไปจนถึงกล่องเสียง มันมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมโดยเฉพาะ”

แต่ก่อนที่เขาจะรู้ว่าร่างกายกำลังประท้วงอยู่นั้น แอมโบรสบอกว่าเขาไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัวเองกำลังป่วย “ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการผิดปกติอะไร จำได้แค่ว่าตอนร้องเพลงอยู่ดี ๆ ผมก็รู้สึกหายใจไม่ออก ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าตัวผมเองอาจจะเครียดหรือกดดันมากไปหน่อย

“แต่หลังจากนั้นผมก็เริ่มมีอาการชักบ่อยขึ้น เลยคิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่ต้องไปหาหมอ พอทำ MRI ก็ได้รู้ว่าตัวเองกำลังมีเนื้องอกขนาดใหญ่อยู่ในสมอง

13 มิถุนายน 2014 คือวันที่แอมโบรสเข้าห้องผ่าตัด และเป็นวันที่ตัดสินว่าชีวิตต่อจากนี้ของเขาจะยังสามารถร้องเพลงที่เขารักได้อีกไหม แม้วิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้ามากเพียงใด แต่ต้องยอมรับว่าทุกการรักษาย่อมมีความเสี่ยง และความเสี่ยงเหล่านั้น นักร้องโอเปร่าคนนี้เข้าใจเป็นอย่างดี...

แอมโบรสได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 12:37 นาที ลงในชาแนลยูทูป Ambrož Bajec-Lapajne พร้อมเขียนคำอธิบายใต้คลิปว่านี่คือขั้นตอนการผ่าตัดเปิดกะโหลก เพื่อรักษาเนื้องอกในสมอง โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอูเทรคต์ ไม่มีเลือด ไม่มีภาพน่ากลัว มีเพียงแค่ตัวเขาที่นอนร้องโอเปร่าอยู่บนเตียงผ่าตัด

นอกจากนี้ แอมโบรสยังได้ไฮไลท์ช่วงเวลาสำคัญในนาทีที่ 2:40 เอาไว้ โดยระบุสั้น ๆ ว่าทุกอย่างกำลังผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่งมีบางอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้น...

บางอย่างที่ว่าคือ ‘เสียง’ ของเขาค่อย ๆ แผ่วลง จนแทบจะเปล่งออกมาไม่เป็นภาษา เขาไม่สามารถควบคุมลิ้นได้เหมือนปกติ จนพยาบาลต้องเข้ามาจับมือและปลอบเขา น้ำตาของแอมโบรสไหลออกมาอาบแก้ม แต่เขายังคงพยายามร้องเพลงต่อ แม้เสียงที่ร้องออกมาจะฟังไม่เป็นภาษาก็ตาม

ความเงียบปกคลุมห้องผ่าตัดไปชั่วขณะ มีเพียงคำปลอบโยนจากพยาบาล ‘เก่งมาก แอมโบรส, คุณทำได้ดีมาก’ ซึ่งทำให้เขายิ้มออกมาได้อีกครั้ง

“ผมรู้สึกได้เลยว่าหมอกำลังทำอะไรบางอย่างกับสมองผมอยู่สักพักหนึ่ง แล้วจู่ ๆ ผมก็ไม่สามารถควบคุมลิ้นตัวเองได้ มันเป็นความรู้สึกที่ประหลาดมาก”

หลังจากหยุดพักไปชั่วขณะ แอมโบรสก็เริ่มร้องเพลงอีกครั้ง การผ่าตัดผ่านไปอย่างราบรื่น เพราะทีมศัลยแพทย์รู้แล้วว่าสมองส่วนไหนที่แตะต้องได้หรือไม่ได้

ภาพความประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏในคลิปวิดีโอคือ พยาบาลสาวที่คอยนั่งกุมมือให้กำลังแอมโบรสไม่ห่างกาย พร้อมพูดให้กำลังใจเขาตลอดจนจบการผ่าตัด และหนึ่งในบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเธอและแอมโบรสคือ เธอถามแอมโบรสถึงความฝันในการใช้ชีวิตว่าต่อจากนี้เขาอยากจะทำอะไร

“ผมอยากไปเรียน... อยากไปเรียนที่อังกฤษ แต่มันมีค่าใช้จ่ายที่เยอะมาก...” บทสนทนาขาดช่วงไปชั่วขณะ เนื่องจากเขาไม่สามารถควบคุมลิ้นได้อีกครั้ง จนพยาบาลต้องขอให้เขาขยับลิ้นไป-มา และขยับนิ้วมือเพื่อตรวจสอบการสั่งการของสมอง

“ผ่านไปหนึ่งปีกว่า ๆ หลังจากที่ผมเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง ตอนนี้ผมก็ยังคงร้องโอเปร่า ร่วมแสดงในคอนเสิร์ต ทุกอย่างยังเหมือนเดิม”

ส่วนบทเรียนที่เขาได้รับผ่านการผ่าตัดเนื้องอกในสมองคือ เขามองเห็นเส้นทางชีวิตของตัวเองแตกต่างไปจากเดิม การทุ่มเทให้กับงานมากเกินไปมีแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เขาไม่อยากกลับไปเป็นแบบเดิมอีกแล้ว ชีวิตนับจากนี้ของเขาจึงหมดไปกับการใช้เวลาอยู่กับคนที่รัก

“ผมไม่สนใจเรื่องยิบย่อยในชีวิตอีกแล้ว สิ่งที่เคยทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ ผมก็แค่ปล่อยวางมันลง ผมไม่ตื่นเวที ไม่คิดมาก คิดแค่ว่าจะทำยังไงให้โชว์ออกมาดีที่สุด แต่ต้องไม่กระทบกับชีวิตมากจนเกินไป เพราะผมรู้แล้วว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคืออะไร

“สิ่งนั้นคือ ‘เวลา’ ผมอยากใช้เวลาอยู่กับคนที่รัก รายล้อมไปด้วยเพื่อนที่จริงใจ บอกตามตรงว่าชีวิตของผมไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยการร้องโอเปร่าเหมือนเมื่อก่อน ผมไม่เอาตัวเองไปใส่ในกรอบนั้นอีกแล้ว เพราะผมแค่อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการผ่าตัดครั้งนั้น”

 

ภาพ: Ambroz Bajec-Lapajne – Courtesy the artist

 

อ้างอิง:

วรรณิศา ชัยวิสิทธิ์ และจันทนา คล้ายเจริญ. บทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกสมองขณะผู้ป่วยรู้สติ (Awake Craniotomy). เวชบันทึกศิริราช ปีที่ 10. ฉบับที่ 2 พ.ค. - ส.ค. 2560

https://www.youtube.com/watch?v=obiARnsKUAo

https://www.wqxr.org/story/watch-opera-singer-performs-during-his-own-brain-surgery/

https://www.classicfm.com/composers/schubert/opera-singer-sings-during-brain-surgery/

https://www.isingmag.com/brain-surgery-aria/

https://www.npr.org/sections/thetwo-way/2015/12/19/460380252/brain-surgery-serenade-man-plays-saxophone-during-tumor-removal

https://www.washingtonpost.com/news/speaking-of-science/wp/2015/08/14/watch-as-man-sings-opera-throughout-his-own-brain-surgery