27 ต.ค. 2565 | 15:32 น.
ขณะทั่วโลก(โดยเฉพาะชาวอินเดีย) ต่างปลาบปลื้มยินดีกับ ‘ริชิ ซูนัค’ (Rishi Sunak) นายกฯ คนใหม่ของอังกฤษ ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นชนเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลอังกฤษ เบื้องหลังความสำเร็จนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนสำคัญมาจากการสนับสนุนของศรีภรรยาที่ชื่อว่า ‘อัคชาตา มูรตี’ (Akshata Murty)
ชื่อของ ‘อัคชาตา มูรตี’ หรือที่สำเนียงอังกฤษออกเสียงว่า ‘เมอร์ตี’ เป็นที่รู้จักกว้างขวางตั้งแต่สมัยที่ 'ริชิ ซูนัค’ ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษนิยม หวังขึ้นทำหน้าที่นายกฯ คนใหม่แทน ‘บอริส จอห์นสัน’ (Boris Johnson) ก่อนจะพ่ายแพ้ให้กับ ‘ลิซ ทรัสส์’ (Liz Truss) ในการโหวตรอบสุดท้ายภายในพรรค (ภายหลังจากลิซ ทรัสส์ ลาออก ริชิ ซูนัค ได้รับเลือกจากพรรคขึ้นมาเป็นผู้นำ)
‘อัคชาตา’ ถูกสื่ออังกฤษ และคู่แข่งทางการเมืองของสามี หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีระหว่างการดีเบตชิงเก้าอี้ผู้นำพรรค โดยชูประเด็นความร่ำรวยและการหลบเลี่ยงภาษี ด้วยการขึ้นทะเบียนตัวเองในสถานะ ‘ผู้พักอาศัยที่มีภูมิลำเนาต่างแดน’ (non - dom) ทำให้เธอไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้จากกิจการที่อยู่นอกสหราชอาณาจักรให้รัฐบาลอังกฤษปีละ 2.1 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นยอดรวมทั้งสิ้น 280 ล้านปอนด์
(คลิกอ่านเรื่อง ริชิ ซูนัค: นักการเมืองขวัญใจ ‘แม่ยก’ (ว่าที่)นายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรก)
การกระทำดังกล่าวแม้ไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะ ‘อัคชาตา’ มีสัญชาติอินเดีย แต่สังคมพยายามตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากเวลานั้น ‘ริชิ ซูนัค’ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และโดยตำแหน่ง เขามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายภาษี รวมถึงมีอำนาจในการอนุมัติและเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบว่าด้วยสถานะ ‘non - dom’
การโจมตีภรรยาของเขาร้อนแรงถึงขั้น ‘ริชิ’ เคยออกมาตัดพ้อผ่านสื่อว่า
“การใส่ร้ายป้ายสีภรรยาเพื่อที่จะกระทบมายังผม ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ”
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ‘อัคชาตา’ ก็ออกมาแสดงความเสียสละ ช่วยสามีลดแรงกดดันทางการเมืองด้วยการประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษที่ได้รับและยอมจ่ายภาษีเงินได้ ซึ่งมาจากธุรกิจของเธอในต่างแดนให้กับอังกฤษ แม้ตามกฎหมาย เธอไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
“ฉันทำอย่างนี้เพราะว่าอยากทำ ไม่ใช่เพราะกฎหมายบังคับ” เธอโพสต์บอกความในใจบน ‘ทวิตเตอร์’ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์
“การตัดสินใจของฉัน จะไม่เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า อินเดียยังคงเป็นประเทศบ้านเกิดที่ฉันถือสถานะพลเมือง และเป็นทั้งบ้านกับภูมิลำเนาของบิดามารดา แต่ฉันก็รักสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน”
ลูกสาวเศรษฐีที่เสียสละเพื่อครอบครัว
‘อัคชาตา มูรตี’ เกิดในเดือนเมษายน ค.ศ. 1980 ที่เมืองฮูบลี (Hubli) ในรัฐกรณาฏกะ ทางภาคใต้ของอินเดีย เธอเป็นลูกคนโตจากจำนวนพี่น้อง 2 คน ซึ่งเกิดกับ ‘นารายานา มูรตี’ (Narayana Murthy) โปรแกรมเมอร์หนุ่มนักเรียนนอกที่มีไฟและวิสัยทัศน์ จนต่อมากลายเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของฉายา ‘บิล เกตส์แห่งอินเดีย’ จากการร่วมก่อตั้ง ‘อินโฟซิส’ (Infosys) บริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้
มารดาของ ‘อัคชาตา’ มีชื่อว่า ‘สุดา มูรตี’ (Sudha Murty) เธอเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรหญิงคนแรกของ ‘ทาทา มอเตอร์’ บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ก่อนจะหันมาจับอาชีพนักเขียน และทำงานสาธารณกุศล เธอบริจาคเงินช่วยก่อสร้างห้องสมุดมากถึง 60,000 แห่ง และห้องน้ำรวม 16,000 แห่ง และได้รับการยกย่องเป็นเศรษฐินีที่มีความสมถะคนหนึ่งของอินเดีย
หากสังเกตให้ดี การเขียนนามสกุล ‘มูรตี’ เป็นภาษาอังกฤษของ ‘สุดา’ และ ‘นารายานา’ จะสะกดแตกต่างกัน โดยผู้เป็นภรรยาเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เธอเลือกเขียนนามสกุลตัวเองว่า ‘Murty’ ไม่ใช่ ‘Murthy’ ตามสามี เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงความมีอิสระในครอบครัว และลูกสาวก็เลือกใช้นามสกุลตามแบบเธอ
‘มูรตีผู้พ่อ’ เคยเขียนจดหมายถึงลูกสาวบรรยายถึงความรู้สึกเสียใจที่เคยปล่อยให้ ‘อัคชาตา’ ต้องเสียสละความรักและความอบอุ่นจากอ้อมอกพ่อแม่ตั้งแต่เพิ่งออกมาลืมตาดูโลก เพื่อแลกกับการให้ครอบครัวมีเวลาสร้างเนื้อสร้างตัวได้เต็มที่
“พ่อกับแม่อายุยังน้อยในเวลานั้นและกำลังดิ้นรนเพื่อลงหลักปักฐานในหน้าที่การงาน
“หลังจากลูกเกิดที่ ‘ฮูบลี’ แค่สองเดือน เราพาลูกมา ‘มุมไบ’ แต่ก็ตระหนักได้ทันทีว่า มันเป็นภาระยุ่งยากที่จะเลี้ยงลูกและบริหารจัดการหน้าที่การงานไปพร้อมกัน ดังนั้น เราจึงตัดสินใจส่งลูกกลับไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่ ‘ฮูบลี’ ในช่วงขวบปีแรก ๆ ของชีวิต”
‘นารายานา’ ร่วมกับเพื่อน ๆ สายไอที ก่อตั้ง ‘อินโฟซิส’ ในปี 1981 หลังจากธุรกิจประสบความสำเร็จ เขารับลูกสาวและ ‘โรฮาน’ ลูกชายคนเล็กมาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน แต่ยังคงสั่งสอนให้ลูก ๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้จะมีกำลังทรัพย์จ้างคนขับรถส่วนตัวพาไปส่งโรงเรียนทุกเช้า แต่ครอบครัวเลือกจ้าง ‘รถสามล้อเครื่อง’ เพื่อให้ลูก ๆ ได้ผูกมิตรกับคนทุกชนชั้น และไม่รู้สึกแปลกแยกจากสังคม
นอกจากนี้ ‘มูรตีผู้เป็นแม่’ ยังออกกฎเหล็ก ห้ามซื้อโทรทัศน์เข้าบ้าน เพราะไม่ต้องการให้ ‘ทีวี’ มารบกวนการเรียน การอ่าน และการสนทนาของสมาชิกในครอบครัว ทุกคืนตั้งแต่เวลา 2 - 4 ทุ่ม เธอยังกำหนดให้เป็น ‘ช่วงเวลาคุณภาพ’ ของทุกคน นั่นหมายความว่าเป็นเวลาทำการบ้านของลูก ๆ และเวลาอ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติมของพ่อแม่
การศึกษาและความรักที่เลือกเอง
แม้ครอบครัว ‘มูรตี’ จะทำตัวไม่แตกต่างจากชนชั้นกลางหัวอนุรักษนิยมทั่วไปในอินเดีย แต่เรื่องความรักและการศึกษา ‘นารายานา’ และ ‘สุดา’ ให้อิสระกับลูกสาวในการเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง
หลังจบมัธยมฯ ที่เมือง ‘บังกะลอร์’ ในอินเดีย ‘อัคชาตา’ เลือกเดินทางไปศึกษาต่อที่ ‘แคลร์มองต์ แม็คเคนนา คอลเลจ’ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และภาษาฝรั่งเศส ก่อนเรียนต่ออนุปริญญาในสาขาใฝ่ฝัน นั่นคือการออกแบบเสื้อผ้าที่ ‘สถาบันแฟชั่นเพื่อการออกแบบและการค้า’ (Fashion Institute of Design and Merchandising) ในนครลอสแองเจลิส
จากนั้น ‘อัคชาตา’ ออกมาทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์เป็นเวลาสั้น ๆ กับบริษัทชื่อดังอย่าง ‘ดีลอยท์’ และ ‘ยูนิลีเวอร์’ ก่อนเข้าศึกษาต่อปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และพบรักกับ ‘ริชิ ซูนัค’ เพื่อนนักศึกษาทุน ‘ฟุลไบรต์’ จากประเทศอังกฤษ
‘นารายานา’ เคยเปิดใจถึงความรู้สึกแรกเมื่อทราบข่าวลูกสาวพบรักกับเพื่อนนักศึกษาหนุ่มในสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่าตนเอง “เศร้าและหวงลูกสาวเล็กน้อย” แต่เมื่อได้พบหน้าว่าที่ลูกเขยก็รู้สึกสบายใจ และเข้าใจว่า เหตุใดลูกสาวจึงยอม “ปล่อยให้มีคนขโมยหัวใจไป”
‘อัคชาตา’ และ ‘ริชิ’ ใช้เวลาคบหาดูใจกันประมาณ 4 ปี ก่อนจูงมือเข้าพิธีวิวาห์ที่จัดขึ้น 2 วัน 2 คืนในเมือง ‘บังกะลอร์’ เมื่อปี 2009 แม้งานจะดูยิ่งใหญ่ มีแขกเหรื่อหลากหลายอาชีพมาร่วมแสดงความยินดีมากมายนับพันคน แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า หากวัดตามมาตรฐานความรวยและชื่อเสียงของตระกูล ‘มูรตี’ งานวิวาห์ของบ่าวสาวคู่นี้ถือว่าไม่ได้หรูหราอลังการจนเกินไป
หลังจากเป็นฝั่งเป็นฝา ‘อัคชาตา’ และ ‘ริชิ’ มีทายาทร่วมกันเป็นลูกสาว 2 คน ตั้งชื่อว่า ‘กฤษณา’ (Krishna) และ ‘อนุชกา’ (Anoushka)
นอกจากนี้ ‘อัคชาตา’ ยังเดินหน้าทำอาชีพในฝันของตัวเองให้เป็นจริง ด้วยการเปิดห้องเสื้อภายใต้แบรนด์ ‘อัคชาตา ดีไซน์ส’ (Akshata Designs)
เครื่องแต่งกายคอลเลกชั่นแรกของ ‘อัคชาตา ดีไซน์ส’ เปิดตัวในปี 2011 เธอเน้นส่งเสริมและอนุรักษ์งานผ้าพื้นเมือง ด้วยการร่วมมือสร้างสรรค์ผลงานกับศิลปินท้องถิ่นในพื้นที่ชนบทห่างไกลของอินเดีย แต่สุดท้ายธุรกิจนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และปิดตัวลงภายในเวลาเพียง 3 ปี
ขุมทรัพย์และที่มาสถานะสตรีที่รวยกว่าเจ้า
แม้จะบอบช้ำจากความล้มเหลวในการเป็น ‘ดีไซเนอร์’ แต่ภริยานายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียผู้นี้ ยังคงถูกจัดให้เป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า ‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ ประมุขของราชวงศ์อังกฤษ
รายได้หลักของ ‘อัคชาตา’ ส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลหุ้น ‘อินโฟซิส’ และการลงทุนในธุรกิจ ‘สตาร์ทอัพ’
แม้ ‘อัคชาตา’ จะถือหุ้นในบริษัท ‘อินโฟซิส’ ซึ่งบิดาของเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเพียง 0.91 เปอร์เซ็นต์ แต่สื่อของอังกฤษ รายงานว่า แค่มูลค่าหุ้นในบริษัทนี้เพียงแห่งเดียวคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 700 ล้านปอนด์ มากกว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ของ ‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ ซึ่งประเมินกันว่าน่าจะอยู่ที่ราว 500 - 600 ล้านปอนด์
นอกจากรายได้เงินปันผลหุ้น ‘อินโฟซิส’ ปีละประมาณ 11.5 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นที่มาของข้อกล่าวหาหลบเลี่ยงภาษีในอังกฤษ เธอและสามียังร่วมกันก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุน ซึ่งสนับสนุนเงินให้กับผู้ประกอบการ ‘สตาร์ทอัพ’ บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ใช้ชื่อว่า ‘คาตามารัน เวนเจอร์ส ยูเค’ (Catamaran Ventures UK)
หลังจากสามีตัดสินใจเดินเข้ารัฐสภา เพื่อทำงานรับใช้บ้านเมืองแบบเต็มตัว ‘อัคชาตา’ กลายเป็นหัวเรือใหญ่ในการดูแลกิจการต่าง ๆ ของครอบครัว เธอมีชื่อเป็นผู้บริหารและถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอังกฤษอีกอย่างน้อย 6 แห่ง รวมถึง ‘นิวแอนด์ลิงวูด’ (New & Lingwood) ร้านตัดสูทสุดหรู และ ‘ดิกมี ฟิตเนส’ (Digme Fitness) ยิมออกกำลังกาย ตลอดจนร้านพิซซ่าและร้านอาหารอิตาเลียนในเครือ ‘เจมี โอลิเวอร์’ และแฟรนไชส์ร้านฟาสต์ฟูด ‘เวนดีส์’ (Wendy’s) ในอินเดีย
ทรัพย์สินที่กล่าวมายังไม่นับรวมคฤหาสน์และบ้านพักอีกอย่างน้อย 4 หลังในย่านหรูหราทั้งในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 15 ล้านปอนด์
‘ริชิ ซูนัค’ เคยตอบคำถามเกี่ยวกับความร่ำรวยของภรรยา ระหว่างขึ้นเวทีดีเบตว่า เขาภูมิใจในสถานะนี้ โดยเฉพาะพ่อตาที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็พยายามยกกรณีศึกษาการสร้างงาน - สร้างธุรกิจของ ‘นารายานา' มาเป็นตัวอย่างให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณา
ด้านภรรยาของ ‘ริชิ’ ที่ปกติเป็นคน ‘โลว์ โปรไฟล์’ ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ เธอเคยพูดที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า ครอบครัวของเธอให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ประกอบการ และตัวเธอเองก็คือส่วนผสมของคุณสมบัติดังกล่าว
“ฉันมาจากครอบครัวผู้ประกอบการ (entrepreneurs) แม่ของฉันอยู่ฝั่งช่วยเหลือสังคมผ่านโลกมูลนิธิ ส่วนพ่ออยู่ในฝั่งธุรกิจ ฉันเติบโตมาพร้อมกับมุมมองที่ว่า ความเป็นผู้ประกอบการสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน”
นั่นคือตัวตนและที่มาของ ‘อัคชาตา มูรตี’ สตรีผู้ทุ่มเทและเสียสละเพื่อครอบครัว และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตัวจริงของ ‘ริชิ ซูนัค’ นายกฯ อังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่และเป็นความภาคภูมิใจของชาวเอเชีย
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/uk-politics-63371276
https://www.theguardian.com/politics/2022/apr/07/akshata-murty-who-is-rishi-sunak-wife