ภูมิหลังอันซับซ้อนของ ‘อิแทวอน’ จากย่านทหารอเมริกัน มาเป็นแหล่งเที่ยวราตรีได้อย่างไร

ภูมิหลังอันซับซ้อนของ ‘อิแทวอน’ จากย่านทหารอเมริกัน มาเป็นแหล่งเที่ยวราตรีได้อย่างไร

โศกนาฏกรรมที่ ‘อิแทวอน’ ในเกาหลีใต้ ทำให้ชื่อของย่านนี้ปรากฏในหน้าสื่อทั่วโลก หากย้อนไปดูพัฒนาการของย่านนี้จะพบว่า ผ่านเรื่องราวซับซ้อน กว่าจะมาเป็นย่านท่องเที่ยวราตรีที่โด่งดัง

  • โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในย่าน ‘อิแทวอน’ ของเกาหลีใต้ เมื่อปี 2022 ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องการบริหารจัดการและความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
  • ท่ามกลางความสนใจต่อย่าน อิแทวอน ย่านท่องเที่ยวราตรีที่โด่งดัง พื้นที่บริเวณนี้มีความเป็นมาและพัฒนาการที่ซับซ้อน เชื่อมโยงกับเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง

ค่ำคืนวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2022 วันหยุดสุดสัปดาห์คือช่วงที่คนท้องถิ่นรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างออกมาปฏิสังสรรค์ เฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน (Halloween) ซึ่งกำลังจะมาถึงในวันที่ 31 ต.ค. ในพื้นที่สาธารณะครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่โลกเผชิญโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้การจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ถูกยกเลิกไป

ไม่มีใครคาดคิดว่า จำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในย่าน ‘อิแทวอน’ (Itaewon) ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จะมีจำนวนมากมายเกินคาดจนพื้นที่บางจุดอยู่ในสภาพแออัด ผู้คนเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่นจนถึงขั้นหายใจไม่ออก สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นผู้คนเบียดเสียดแออัดและทับกันจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยราย และผู้บาดเจ็บในจำนวนไล่เลี่ยกัน

ย่านอิแทวอน

ข้อมูลในเชิงพื้นที่จากบทความทางวิชาการที่เผยแพร่เมื่อปี 2016 อิแทวอน กินพื้นที่ประมาณ 1.4 กิโลเมตร มีประชากรราว 18,000 ราย จากข้อมูลในเว็บไซต์ของทางการของเกาหลีใต้เคยระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวในย่านนี้เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.6 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกหลายแห่ง รวมถึง วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) ระบุว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาย่านอิแทวอนภายในวันนั้นแตะหลักแสนรายในวันเดียว

ภูมิหลัง

ก่อนหน้าโศกนาฏกรรมที่พรากลมหายใจของคนหนุ่มสาวที่มีความฝันและอนาคตอันยาวไกลแบบไม่มีวันหวนคืน ย่านอิแทวอนเป็นแหล่งยอดฮิตสำหรับชาวต่างชาติ และขึ้นชื่อเรื่องการผสมผสานกันอย่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และต้องยอมรับว่า พัฒนาการของย่านนี้ซับซ้อนไม่น้อยทีเดียว

พื้นที่อิแทวอน อยู่ในเขตยงซาน (Youngsan) ย้อนไปในช่วงที่เกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เขตยงซานเป็นหนึ่งในที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่น

ภายหลังจากการประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งตามมาด้วยสงครามเกาหลี และการแบ่งแยกโซนเหนือ-ใต้ สนธิสัญญาการป้องกันร่วมเมื่อปี 1954 (Mutual Defense Treaty) ทำให้กำลังพลจากสหรัฐฯ สามารถมาตั้งฐานทัพในเกาหลีใต้

ในยุค 60s ย่านอิแทวอนโดยภาพรวมแล้วเป็นแหล่งรวมเจ้าหน้าที่ทางการทหารจากต่างชาติที่เกี่ยวกับงานด้านทหารในกองทหารรักษาการณ์ของยงซาน และตัวแทนของสถานทูตในบริเวณโดยรอบ สภาพแวดล้อมเหล่านี้ดึงดูดชาวเกาหลีที่เป็นคนท้องถิ่นซึ่งมีฐานะยากจนให้เข้ามาประกอบการค้าขนาดเล็กตอบสนองความต้องการชาวต่างชาติ ไม่นานนักก็มีเศรษฐกิจนอกระบบ หรือการค้าใต้ดินเกิดขึ้น

จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการของ Yebin So นักศึกษาในมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ย่านอิแทวอน ในยุค 60s มักถูกตีตราเป็นพื้นที่อันตราย

เมืองโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถ่ายจากย่านอิแทวอน

ในยุค 70s อันเป็นช่วงที่เกิดการเคลื่อนย้ายโรงพยาบาลทหารเข้ามาสู่พื้นที่บริเวณนี้ นำมาสู่การเคลื่อนย้ายหลักแหล่งของเจ้าหน้าที่ทางการทหารและแน่นอนว่า พ่อค้าชาวเกาหลีท้องถิ่นด้วย อิแทวอน เป็นย่านการค้าที่เต็มไปด้วยสินค้าราคาถูก ตั้งแต่เสื้อผ้าไซส์ใหญ่ เสื้อผ้าสั่งตัด ขนสัตว์ หนัง ซึ่งหาซื้อยากในพื้นที่อื่น

อิแทวอน ถูกรับรู้ในฐานะย่านที่มีชื่อเสียงในด้านแหล่งช้อปปิ้ง ยิ่งเมื่อรัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมด้วยนโยบายยกเว้นภาษีบางประการ ฐานลูกค้าที่เป็นทหารต่างชาติ บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล อิแทวอนจึงกลายเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวต่างชาติ

ที่สำคัญ ในช่วงยุค 80s อิแทวอน ยังเป็นที่รับรู้ในหมู่วัยรุ่นท้องถิ่นว่า เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมอเมริกัน ยกตัวอย่างเช่น สำหรับชาวเกาหลีท้องถิ่นที่เป็นคนรุ่นใหม่ อิแทวอน เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับฝั่งอเมริกาอย่างแฟชั่น ดนตรี  ในทางกลับกัน สำหรับทหารอเมริกัน อิแทวอน เป็นพื้นที่แบบอเมริกันนอกอาณาเขตดินแดนตัวเองคล้ายกับเป็นดินแดน ‘อเมริกันในแผ่นดินโซล’ ซึ่งทหารอเมริกันสามารถสัมผัสบรรยากาศบางอย่างที่คล้ายกับในบ้านเกิด

ย้อนกลับไปไม่นานนักสัก 3 ทศวรรษก่อน(นับจากปัจจุบัน) ในยุค 90s จนถึงต้นยุค 2000s พื้นที่ละแวกใกล้เคียงในย่านดังกล่าวเป็นที่รู้จักจากชื่อเสียงเรื่องสินค้าจากนักออกแบบที่มีราคาย่อมเยา และย่าน ‘โคมแดง’ ที่มีผู้อุดหนุนหลักคือทหารอเมริกัน

บริเวณโดยรอบฐานทัพของทหารอเมริกันในยงซาน กลายเป็นพื้นที่กึ่งเชิงพาณิชย์ที่ตอบสนองความต้องการของทหารอเมริกันไม่ต่ำกว่าหมื่นนายที่เข้ามาตั้งฐานทัพและพำนักในเกาหลีใต้

ขณะที่อิแทวอน ตั้งอยู่ติดกับฐานของกองกำลังทหารอเมริกันในยงซาน โดยข้อมูลในช่วงปี 2014 คาดว่ามีชาวอเมริกันอยู่ในละแวกนั้นเกือบ 17,000 นาย

ในทางยุทธศาสตร์ การเข้ามาของกองทัพสหรัฐฯ และฐานของทหารอเมริกันในยงซานสำคัญต่อกองกำลังทหารต่างชาติที่เข้ามาประจำการในเกาหลีด้วย และจากงานศึกษาทางวิชาการบางชิ้นมองว่า ฐานทัพอเมริกันและความสำคัญของกองทหารรักษาการณ์ในยงซานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรม-สังคมของอิแทวอน

ในปัจจุบัน (2022) อิแทวอน ขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี ย่านนี้ดึงดูดชาวต่างชาติจำนวนมาก สะท้อนอิทธิพลที่หลากหลายจากทั่วโลก อิแทวอนถือได้ว่าเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโซล บนท้องถนนมีทั้งเลานจ์ตกแต่งสไตล์เก๋ไก๋ ไปจนถึงบาร์และคาเฟ่ที่ตกแต่งขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ จากยุโรป, สหรัฐฯ และรัสเซีย

ไม่เพียงแค่ในเชิงกายภาพ ในเชิงแนวคิดทางสังคม ย่านอิแทวอนก็เป็นกระจกสะท้อนทัศนคติแบบเสรีนิยมที่ปรากฏอยู่ในสังคมนั้นด้วย อาทิ ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ซีรีส์ที่โด่งดังอย่าง อิแทวอน คลาส (Itaewon Class) ซึ่งใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฉากหลังและบริบทหนึ่งของเรื่องมีตัวละครผิวดำและตัวละครข้ามเพศ

และหากพูดถึงด้านรสนิยมทางเพศโดยเฉพาะ ในโลกความเป็นจริง ละแวกดังกล่าวมีคลับหรือที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ด้วย ขณะที่สังคมโดยรวมหรือแม้แต่ในสื่อบันเทิงจากเกาหลีใต้ยังมีองค์ประกอบหนึ่งที่พบเห็นได้น้อย นั่นคือเรื่องความลื่นไหลทางเพศ และความหลากหลายทางเชื้อชาติ

ย่านอิแทวอน หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวแออัดวันที่ 29 ต.ค. 2022

แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงหนึ่ง อิแทวอน เป็นพื้นที่อันตรายในมุมมองของบางกลุ่ม จากเรื่องอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ค่อนข้างสูง ธุรกิจบันเทิงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ไปจนถึงเรื่องร้านค้าที่ขายสินค้าปลอมแปลงและของลอกเลียนแบบ และยังเป็นพื้นที่ซึ่งสะท้อนสภาพการมีอยู่ของฐานทัพอเมริกันที่ภายหลังก็ถูกมองว่าอยู่ในสภาพทรุดโทรม มีเพียงสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างที่จำเป็นสำหรับให้เพียงพอต่อการทำภารกิจทางทหารเท่านั้น

 

อิแทวอนในปัจจุบัน

งานศึกษาของ Yebin So ยังระบุว่า อิแทวอน ในระยะหลังยุค 2000s เป็นต้นมา เริ่มหลุดไปจากรายละเอียดดังกล่าวแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันของนโยบายเพื่อความเปลี่ยนแปลงโดยรัฐบาลที่ต้องการโปรโมตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในโซล

แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการเป็นโซนท่องเที่ยวพิเศษเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ขับเคลื่อนและขับเร่งธุรกิจ แต่ภูมิหลังที่นำมาสู่การตัดสินใจผลักดันให้อิแทวอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวพิเศษนั้น ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากสภาพหลังจัดโอลิมปิก เกมส์ เมื่อปี 1988 ซึ่งส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคมและทางประชากรในเกาหลีอย่างมาก ต่อเนื่องมาสู่วาระที่เกาหลีจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2002 ร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้มีผู้มาเยือนชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดด

ด้วยภูมิหลังเหตุการณ์เหล่านี้ อิแทวอน จึงถูกวางหมุดหมายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพิเศษเมื่อปี 1997 กิจการยามราตรีอย่าง โรงแรม บาร์ คลับ และร้านอาหาร ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อและยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินและผลประโยชน์อื่นจากโครงการของภาครัฐเพื่อใช้พื้นที่ในเมืองแห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการต้อนรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว

ผู้ศึกษาพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของอิแทวอน กล่าวไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า

“ความเปลี่ยนแปลงนี้เปิดให้อิแทวอน ก้าวข้ามจากสถานะแค่แหล่งการค้าและย่านบันเทิงมาเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโซลและยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย”

เมื่อก้าวผ่านจุดเปลี่ยนดังกล่าว อิแทวอน ไม่ใช่แค่เป็นปากท้องสำหรับชาวอเมริกันหรือมีชาวอเมริกันเป็นกลุ่มหลักอีก ภาพจำที่โยงอิแทวอนเข้ากับเมืองที่พักของอเมริกันก็ลดลง

นับตั้งแต่นั้น รัฐบาลเกาหลีไปจนถึงเจ้าของกิจการท้องถิ่น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขับเน้นอัตลักษณ์ด้าน ‘ต่างชาติ’ ให้เพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงแปรสภาพไปสู่สัญลักษณ์ของการเติบโตแง่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขับเน้นสถานะของโซลให้เป็นเมืองที่มีความเป็นสากลแบบเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

อิแทวอน ในวันนี้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวราตรี หมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นแหล่งที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่ ท่ามกลางสภาพสังคมเกาหลีใต้ที่เบ่งบานจากกระแสการเติบโตทางวัฒนธรรมจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบันเทิง และวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญซึ่งช่วยสร้างภาพการรับรู้ไปสู่คนทั่วโลก

 

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Soo Youn. ‘Itaewon, vibrant area where tragedy struck, has complex history in Seoul’. Washington Post. Website. Published 30 OCT 2022. Access 31 OCT 2022. 

Yebin So. ‘The Making of Modern Itaewon: From Colonialism to Multiculturalism’. Website. Capstone Report, 2016. Access 2022.