วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’

ชายผู้ถ่ายทอด ‘ความจริง’ ผ่านภาพถ่าย กับเรื่องราวของ วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าว และสารคดีระดับตำนานของเมืองไทย ความจริงที่เขามีโอกาสถ่ายทอดออกมาได้ก็ต่อเมื่อหลุดออกจากพันธนาการของงานประจำ

ที่เราบอกว่าเขาคือ ‘ตำนาน’ ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะชายคนนี้ นอกจากจะมีเส้นทางชีวิตและประสบการณ์บนสนามช่างภาพที่น่าสนใจแล้ว เขายังเคยเป็นช่างภาพไทยคนแรกของข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ European Pressphoto Agency (EPA) ประจำประเทศไทย ก่อนจะผันตัวมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระ เพื่อบอกเล่า ‘ความจริง’ ผ่านภาพถ่าย ความจริงที่เขามีโอกาสถ่ายทอดออกมาได้ก็ต่อเมื่อหลุดออกจากพันธนาการของงานประจำ

และเป็นความจริงที่เขามักลงสนามติดตามสถานการณ์ทางการเมืองทั้งไทยและเทศอย่างใกล้ชิด หากลองไล่ย้อนภาพถ่ายเหตุการณ์ชุมนุมบนท้องถนน หรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มคนชายขอบ และสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ไปจนถึงสถานการณ์ภัยพิบัติ ชื่อของ ‘วินัย ดิษฐจร’ มักปรากฏอยู่มุมใดมุมหนึ่งของภาพเสมอ

“เรารู้สึกว่าเราเป็นคนนอก... แต่การเป็นคนนอกของเรามันก็ดีอย่าง ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่าย ๆ เราคงเหมือนเป็นดาวหาง เราไม่ได้เป็นดาวประจำที่มีวงโคจรอยู่ในรัศมีของดาวดวงอื่น ไม่ได้อยู่ในวงจรหรืออำนาจใด”

แม้วินัยจะบอกกับเราตลอดการสนทนาว่า เขาไม่ต่างจาก ‘คนนอก’ ที่คอยบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อยู่ไกล ๆ แต่ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน เราเชื่อว่าเขาไม่เคยหลุดออกจากวงโคจรการเมืองไทย เพราะภาพถ่ายคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้คนรุ่นหลังรับรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในสังคม

และนี่คือเรื่องราวของ วินัย ดิษฐจร ช่างภาพผู้ขอใช้ชีวิตอย่าง ‘คนนอก’ คอยเฝ้ามองความเป็นไปของสังคมไทย ผ่านวงโคจรที่เขาเป็นคนกำหนดเอง

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’

วัยเด็ก ความฝัน และชีวิตท่ามกลางกองหนังสือ

“ถ้าเป็นเด็ก ๆ เลย ฝันอยากเป็นนักบิน เราชอบผจญภัย เพราะว่าพ่อทำงานอยู่ดอนเมือง เป็น Supervisor ตําแหน่งเกี่ยวกับจัดวางตำแหน่งน้ำหนักบนเครื่องบิน เลยทำให้เราเติบโตกับเอกสาร นิตยสารการบิน แล้วก็ยังมีการ์ตูนอีก ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น อเมริกันก็พยายามประชาสัมพันธ์ความเป็นอเมริกันที่เก่งกาจในการรบ

“การ์ตูนที่เราจำได้คือ เสือบิน - บั๊ก แดนนี่ (ผลงานของทีมการ์ตูนของฝรั่งเศส-เบลเยียม คือ ฌอง-มิแชล ชาร์ลิเยร์ และวิกตอร์ อูบินอง - ผู้เขียน) เราเติบโตมากับซีรีส์นี้ ซึ่งมันมีหลายตอนมาก ทำให้เราฝันอยากเป็นนักบิน แล้วมันก็เป็นหนังสือที่ดีมากด้วย ตอนเด็ก ๆ เราก็เติบโตมากับความต่างประเทศค่อนข้างเยอะ

“ซึ่งช่วงที่เราย้ายไปอีสานเราไปอยู่กันที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2516 ตอนนั้นมันก็บรรยากาศการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับพื้นที่สีแดงทางอีสาน แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ประเทศลาวก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็ประเทศเขมร แปลว่ารายรอบมันมีการคุกคามของคอมมิวนิสต์

“เราก็ไปอยู่ แต่เราก็ไม่ค่อยรู้หรอก เราไม่ค่อยรู้ลึกขนาดเชิงแบบว่าอยากไปก็ไปอะไรอย่างนี้ แต่การที่เราเดินทางเปลี่ยนสถานที่เนี่ย หมายถึงว่าเราได้เห็นสภาพแวดล้อมที่ต่างจากวัยเด็กอย่างนี้ มันเกี่ยวข้องการถ่ายรูปอยู่เหมือนกันนะ

“มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เห็นแล้วอยากจะเป็นช่างภาพเลย เพียงแต่ว่ามันเริ่มสะสมเพราะว่ามันเห็น มันมีการเดินทาง มีการเปลี่ยนสถานที่ เราได้เห็นบรรยากาศใหม่ ๆ ผู้คนใหม่ ๆ แล้วก็ได้เห็นภาพอะไรใหม่ ๆผ่านสายตาเรา ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่หมายความว่าเราอยากจะเริ่มเป็นช่างภาพหรือว่าอะไร

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’ “เราก็เด็กตอนนั้นน่าจะชั้น ป.4 ไปที่นู่นก็คือคนละเรื่องเลย คือมันไม่มีไฟฟ้าใช้นะ ไม่มีน้ำประปา อีสานมันแล้ง แต่มันยังโชคดีที่ว่า เราอยู่แต่ละที่มันจะมีบ่อน้ำบาดาล คือภายใน 3 ปี หรือ 4 ปี ที่ไปอยู่อีสาน ย้ายบ้าน 3 ครั้ง แต่เราโชคดีก็คือได้อยู่ที่มีแหล่งน้ำที่แรกอยู่ก็มีบ่อน้ำบาดาลเป็นคันโยก เป็นเหล็กคันโยกคลาสสิกมากเลย แล้วที่สอง ย้ายอีกทีหนึ่งก็ไปอยู่ในป่า ติดดินภูเขา ที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ แบบไกลเลย แล้วก็ไปมีบ่อน้ำ มีบ่อน้ำเป็นบ่อน้ำขุดไว้อยู่แล้ว แล้วก็ครั้งที่สาม ย้ายไปตัวเมือง ตัวเมืองอำเภอหนองบัวแดง

“แต่ที่อีสานไปอยู่สองที่ ก็อยู่กับพื้นที่ที่เป็นป่าช้าไกลจากชุมชน ที่แรกอยู่มันจะเป็นแบบเป็นสถานที่รับซื้อของป่า ชาวบ้านคนอีสานเขาจะปลูกมันสำปะหลัง เขาก็จะเอาของป่ามาขาย มีหนังสัตว์ มีมะขาม มีต้นปอ แต่ที่เราไปอยู่ที่แรกเป็นลานโล่ง ๆ เราไปอยู่เป็นกระท่อมที่มันเป็นเหมือนบ้านพักเล็ก ๆ ไปทำหน้าที่เฝ้าฉาง แล้วก็ค่อยมองหาลู่ทางจะไปซื้อที่ดินที่ไหนต่อ”

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’ นกไร้ปีกผู้เฝ้ามองท้องฟ้าจากบนผืนดิน

“เราย้ายบ้านบ่อย จากกรุงเทพฯ ไปอีสาน แล้วในรถบรรทุกสิบล้อ 40 เปอร์เซ็นต์คือหนังสือนะ เราเติบโตมากับหนังสือการ์ตูนแบบพวกฝรั่ง ชื่อหนังสือนิตยสารวีรธรรม เป็นของโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ยุคนั้นเป็นนิตยสารที่หน้าปกมันจะเป็นทั้งภาพวาดแล้วก็ภาพถ่าย ข้างในมีทั้งสารคดีและการ์ตูน

“เราก็จะเห็นการ์ตูนเหล่านั้น เวลาที่เราอ่านการ์ตูนเราก็มองไปที่ท้องฟ้า การที่เราอยู่ที่โล่ง ๆ ตอนหลังมันเสริมจินตนาการ มันทำให้เรามองเห็น ทำให้มีการวาดวิมานในอากาศ ตอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือชื่อ ‘โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล’ (วรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก - ผู้เขียน)

“ตอนนั้นอยู่ชั้น ป.4 - ป.5 อ่านแล้วรู้สึกได้ว่าตัวเองสัมผัสได้ เข้าใจ พอเราเงยหน้าจากหนังสือมันก็เห็นท้องฟ้า ซึ่งในหนังสือนั้นมันเป็นเรื่องนกนางนวลที่พยายามจะฝึกบิน หรือพยายามจะพัฒนาการบินให้มากกว่าการหาอาหาร คือมันไม่ใช่เพียงแค่ว่าเหมือนกับคนทั่วไป คือเกิดมา แล้วก็ใช้ชีวิตไป แล้วก็ตาย แต่มันเป็นนกมันบิน แต่มันก็พยายามหาความหมายของการบิน ค้นหาวิธีการบินของมัน

“ทำให้ช่วงที่เราอยู่อีสานมันก็เริ่มเกี่ยวข้องการถ่ายภาพบางอย่าง ก็คือมันป็นที่โล่ง คือจังหวัดชัยภูมิมันเป็นรอยต่อระหว่างแนวของเพชรบูรณ์กับชัยภูมิ แต่จุดที่เราไปอยู่มันเป็นที่โล่ง ๆ มันเหมือนบรรยากาศหนังฝรั่ง เหมือน Texas อย่างนั้น เห็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นแนวเทือกเขาสีน้ำเงินแบบตระหง่าน เราตื่นเช้ามาก็เห็น เหมือนกับกำลังอยู่ในในหนังฝรั่งที่เราเห็นพวกหนังคาวบอยอย่างนี้ ประสบการณ์พวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นที่เราอยากช่างภาพ

“แล้วหนังสือที่เราอ่าน เราก็ชอบไปนั่งตรงหน้ากระท่อมแล้วก็เปิดอ่าน มองดูบนท้องฟ้า มันก็เห็นวิวทิวทัศน์โล่ง ๆ เราอ่านหนังสือเราจะเห็นของจริง นั่นคือส่วนหนึ่งเสริมของความเป็นช่างภาพ อ่านเฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เงยจากหน้าหนังสือ เราก็จินตนาการในท้องฟ้ากับทิวเขาว่าเป็นทะเล เราชอบอ่านอะไรที่มันมาแก้ปัญหาชีวิตตัวเรา

“แต่ไม่ได้เป็นนักอ่านอะไรขนาดนั้น ก็อ่านประมาณหนึ่ง เอาเป็นว่าหนังสือกับการที่เราไปอยู่ในพื้นที่โล่งของอีสานเนี่ย มันเสริม Visual ของเรา”

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’ ชีวิตทหารและม้วนฟิล์มในความทรงจำ

“การเป็นชาวไร่ชาวสวนของพ่อก็ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือยากจน เราเลยย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ม.2 - ม.3 อยู่อีสานตั้งแต่ช่วง ป.4 - ม.1 ที่บ้านก็ไม่ค่อยมีเงิน เราต้องทำงานหาเงินเรียนเอง เช่น ขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยก ขายเรียงเบอร์ ขายธูปที่เขาไหว้เจ้า แต่งชุดนักเรียนแล้วก็ถือธูปไปตามห้องแถวที่มีคนจีน ขายน้ำหอมเลียนแบบ แล้วก็ขายเทปเพลงสากล

“แล้วก็สมัครเป็นทหารตอนอายุ 23 ปี คือตอนแรกสมัครไป 5 ปี แล้วเป็นพออยู่ไป 2 ปี ก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่การเป็นทหารสอนอะไรเราหลายอย่าง เกี่ยวกับการจัดการลำดับขั้นในการวางแผน หรือเราต้องทำอะไร

“วิชาทหารบางอย่างมันก็ดัดแปลงในชีวิตเราได้นะ การทำงาน การทำ Workflow การจัดลำดับขั้นตอน การจัดลำดับที่ควรจะต้องทำก่อน-หลัง หรือการแพคข้าวของ คือเราจะรู้สึกว่า เราจะจัดวางสิ่งของ หรือการพกพาอย่างกระชับรัดกุม ซึ่งมันยังมีอิทธิพลกับเรามาจนถึงทุกวันนี้ เพราะของใช้หรือทุกสิ่งทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ใช้งานได้จริง อยู่ในระยะมือเอื้อม ไม่พะรุงพะรัง เราจะมี Keyword ของเราอยู่ในนี้ ตั้งแต่อายุ 23 ปี ก็ยังยึดตรงนี้ในการปรับประยุกต์ใช้มาจนถึงตอนนี้

“ภาพแรกที่หัดถ่ายครั้งแรก อันนั้นอาจจะเป็นช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ (วินัยเริ่มทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ตอนอายุ 15 เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว - ผู้เขียน) เราไปยืมกล้องคุณลุงมา แล้วก็ไปพัทยา ก็ถ่ายอยู่ม้วนหนึ่ง แล้วก็เดินจากพัทยาเหนือไปถึงหาดจอมเทียน ถ่ายม้วนเดียว

.

อันนั้นคือช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ เป็นฟิล์มม้วนแรกแล้วก็ไม่ได้ถ่ายอีกเลย เพราะว่าความฝันการเป็นช่างภาพมันคือความฝันราคาแพง มันจะต้องซื้อฟิล์ม ต้องล้างฟิล์ม แต่ที่เป็นงานแรกก็คือนิตยสารหมา ที่ถ่ายรูปเป็นก็เพราะหมานี่แหละ (หัวเราะ)

“ที่เราไปพัทยาเพราะว่าการถ่ายรูปสำหรับประชาชนทั่วไปก็คือการท่องเที่ยว คิดแค่ว่าก็ถ่ายวิวทิวทัศน์พัทยาแล้วกันไหน ๆ ก็ไปเที่ยวทะเล ก็นั่ง บขส.ไปนี่แหละ ลงพัทยาเหนือพอไปถึงหัวโค้งก็ลงเลย แล้วเดินไปเรื่อยตั้งแต่ สัก 10 -11 โมง ไปจบที่ 6 โมงเย็น พระอาทิตย์ตกดินที่หาดจอมเทียน แล้วก็มาจบที่บาร์ตรงพัทยาใต้ เดี๋ยวนี้กลายเป็น Walking Street รู้สึกว่าภาพสุดท้ายน่าจะเป็นขอทานนะ (หัวเราะ) ขอทานที่บาร์พัทยาใต้นี่แหละ

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’ “จริง ๆ ก็ไม่มีความหมายหรอก ไม่ว่าจะย้อนเวลากลับไปถ่ายใหม่หรือว่าอะไร เราก็แค่เด็กวัยรุ่น การถ่ายรูปมันก็คือการพักผ่อน การค้นหา การเรียนรู้ การทดลอง ก็ถ่ายวิวสบายใจสุด แต่เราจะรู้สึกว่าเราเริ่มพิศมัยที่จะถ่ายคน เพราะจะสังเกตว่าฟิล์มม้วนแรกกับฟิล์มม้วนที่สองที่หัดถ่าย ม้วนที่สองหลังจากที่ทำงานโรงงาน ได้กล้องมาแล้วหัดถ่ายอยู่ม้วนหนึ่ง ถึงไปสมัครงานนิตยสารหมา

“ตอนม้วนหนึ่งไปถ่ายที่สนามหลวง เจอคนตาบอด คนขายล็อตเตอรี่ เจอพระ เจอวัดพระแก้ว เราก็ถ่ายสัพเพเหระ แต่ที่ก่อนหน้าหนังสือหมา คือถ่ายฟิล์มอยู่ม้วนเดียวแล้วก็ไปสมัครงานเฉย แล้วเขาก็เชื่อ ไว้ใจให้เราทำงาน เพราะว่าเจ้าของสำนักพิมพ์นิตยสารสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เขาเป็นคนอำเภอท่าแซะ เขาเป็นคนที่สนใจการเมือง รู้สึกว่าเขาจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองท้องถิ่น

“แล้วตอนที่เป็นทหารเราไปอ่านหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับการอบรมผู้สื่อข่าวชุมชน แล้วมารู้ทีหลังว่าโครงการนี้เป็นของ กอ.รมน.คือเขาต้องการที่จะอบรมผู้สื่อข่าวชุมชน รอบ ๆ ทั่วประเทศเพื่อจัดเก็บข้อมูลในการประเมินประเทศ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เราก็สมัครทางไปรษณีย์นี่แหละ แล้วก็ได้หนังสือมาอ่านเราก็ดีใจ

“มันก็จะมีฝึกเขียนการรายงานข่าว เขียนบทบรรณาธิการ แล้วก็ไปดูบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หน้า 3 มันเขียนกันยังไง เราก็ตามฝึกอะไรอย่างนี้ ทีนี้บทความอันนี้แหละเก็บไว้คือตอนนั้นเรายังไม่มี Portfolio เป็นภาพถ่ายนะ แต่เราก็มีประมาณพวกนี้ คุยกับแก คุยถูกคอแล้วแกก็รับทำงานเฉยเลย

“ช่วงต้น ๆ เราถ่ายผิดพลาดเยอะมากเลยนะ ตอนทำหนังสือหมาก็เหมือนกัน แต่เราคุมความผิดของเรา ก็คือเราจะเป็นคนที่อาสาเดินเอาฟิล์มไปล้างเองที่ร้านอัดรูป ตอนนั้นอยู่แถวสำโรง ต้องเดินฝ่าแดดไป ไป - กลับ 2 กิโล พอล้างฟิล์มเสร็จ ไปกระซิบเด็กผู้หญิงที่เป็นคนอัดรูป น้อง ๆ อะไรที่ไม่ดีปรับสีให้ตรงนะ หรือไม่ดีก็คือเราฉีกทิ้งแล้วเราก็จ่ายเงินไปเองไว้ก่อน ปกปิดความผิดอย่างนี้

“หลังจากนั้นมาก็เริ่มเป็นช่างภาพ เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่ดูว่าน่าจะใช่ที่สุด ก็ทำอยู่ 2 ปี พอทำอยู่ 2 ปี แล้วก็ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่ปีหนึ่ง

แต่เราอยากจะเรียนรู้การจัดไฟ ก็ไปอ่านหนังสือพิมพ์เจอ Bangkok Post รับสมัครช่างภาพ ก็ไปสมัครเลย วุฒิก็ไม่ถึงนะ วุฒิแค่ ม. 3 แต่เขารับปริญญาตรี

"ใบสมัครงานต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไปซื้อหนังสือ ตอนนั้นมันจะมีหนังสือขายเกี่ยวกับจดหมาย เขียนจดหมายสมัครงานภาษาอังกฤษ ก็มาฝึกภาษาแล้วก็มาดัดแปลงตัดต่อพันธุกรรม

“สุดท้ายก็คือเข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างทำงานประจำ คืออยากจะรู้อันไหนก็ไปสมัครงาน เพื่อจะทำ พอไปอยู่ Bangkok Post ได้ใช้ไฟ พอใช้ไฟเป็น ทำอยู่ 2 ปีครึ่งก็ลาออกอีก มาเป็นฟรีแลนซ์รับงานถ่ายโฆษณา ก็เอาทักษะจากการจัดไฟนี่แหละ แล้วก็เอาเงินจากการถ่ายโฆษณามาทำ Documentary

“เหมือนเราเป็นคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์เขา แต่เราจะผ่านไปได้ก็คือขอเจรจาคุยกันกับเขาว่า เราไม่ได้อยู่ในกฎของคุณนะ เราไม่มีวุฒินะ แต่เราทำให้คุณได้”

วินัย ดิษฐจร ช่างภาพข่าวระดับนานาชาติผู้เล่า ‘ความจริง’ ผ่านสายตา ‘คนนอก’ คนนอกที่ขอลิขิตชีวิตตัวเอง

“จนถึงวันนี้ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นคนนอกอยู่ตลอด แม้กระทั่งเราไปที่ไหน หรือคนในวงการ หรือเวลาเราไปเจอคีย์แมนสำคัญ ไม่ว่าทางการเมืองหรืออะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนนอก เพราะรู้ว่าเป็นคนนอกดีแล้ว เดี๋ยวนี้มันดราม่าเยอะ เราก็ไม่รู้ว่าสังคมมันใหญ่ขึ้น มันซับซ้อนขึ้นใช่ไหม แต่ละคนก็จะมี Agenda ของตัวเอง การเป็นคนนอกมันก็ดีอย่าง คือเราเหมือนดาวหาง เราไม่ได้เหมือนดาวที่ประจำ ที่มันมีวงจรอยู่ในรัศมีดาวพุธ ดาวอังคาร ไม่ได้อยู่ในวงจรในอำนาจหรือในแรงดึงดูด

“แต่เราเหมือนดาวหางที่อยู่ดี ๆ ก็ผ่านไปแล้วก็ผ่านมาอะไรอย่างนี้ คนนอกก็เหมือนดาวหางคือเราไม่ได้ผูกพันอะไรมาก เราไม่ได้พอใจว่าใครจะมารู้จักเรา มาให้เกียรติหรืออะไรอย่างนี้ เราก็อยู่แบบธรรมดาเหมือนดาวหาง ไปแล้วก็มา เห็นบ้างไกล ๆ บางทีก็มาใกล้ ๆ มันก็สบายใจดี (หัวเราะ)

“เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพคือการใช้ชีวิต คือที่ผ่านมาทั้งหมดเราจะใช้ชีวิตกับมัน สังเกตไหมว่าไทม์ไลน์ที่ผ่านมาคือเนื้อหามันเปลี่ยน เราเจอสถานที่ต่าง ๆ เราได้ใช้ชีวิตกับมัน ถามว่าภาพถ่ายมันคืออะไร คืออย่างที่บอกว่า เราลาออกมาเพื่อเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ

"เราเริ่มเห็นแล้วว่าภาพถ่ายมันมีคุณค่า มีความหมายกับเรา เพราะว่าเราเป็นเจ้าของอดีตที่มันอยู่ในภาพถ่าย ภาพถ่ายมันคืออดีต ที่มีเรื่องราวอยู่ในทุกช่วงเวลา เราจะเห็นคุณค่าของอดีตที่เราเป็นเจ้าของ ที่มันกดอยู่ในภาพถ่ายเพราะว่ามันเป็นทั้งความรู้ เป็นหลักฐาน เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็เป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตของเรานี่แหละ

 

ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย