โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าชายซาอุฯ ยุคฟื้นสัมพันธ์ ‘สยาม’ ก้าวข้ามรอยร้าวคดี ‘เพชร’

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าชายซาอุฯ ยุคฟื้นสัมพันธ์ ‘สยาม’ ก้าวข้ามรอยร้าวคดี ‘เพชร’

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) มกุฎราชกุมาร แห่งซาอุดิอาระเบีย เจ้าชายสายปฏิรูป พลิกโฉมซาอุฯ ให้ทันสมัย ลบภาพดินแดนเคร่งศาสนา ซาอุฯ ยุคนี้ยังฟื้นฟูสัมพันธ์กับไทยอีกครั้ง หลังจากรอยร้าวคดี ‘เพชรซาอุฯ’

‘ซาอุดิอาระเบีย’ เป็นประเทศที่คนไทยหลายคนรู้จักดีถึงขั้นวง ‘คาราบาว’ เคยแต่งเพลงให้ในชื่อ ‘ซาอุดร’ ทว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 ความสัมพันธ์ที่เคยแนบแน่นก็มาขาดสะบั้น เมื่อรัฐบาลซาอุฯ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับ ‘ไทย’ แบบไม่เหลือเยื่อใย จากสาเหตุความไม่พอใจในคดี ‘เพชรซาอุฯ’

วันเวลาผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษ ความสัมพันธ์ ‘ไทย - ซาอุฯ’ ที่ดูมืดมนไร้วี่แววคืนดี จู่ ๆ ก็กลับมามีแสงสว่าง เมื่อ ‘คิงซัลมาน’ กษัตริย์องค์ที่ 7 ของซาอุฯ ทรงแต่งตั้งโอรสพระนามว่า เจ้าชาย ‘โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน’ (Mohammed bin Salman) เป็นมกุฎราชกุมาร และยกอำนาจบริหารประเทศให้ดูแล

‘โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน’ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘MBS’ คือเจ้าชายสายปฏิรูป เจ้าของ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ยุทธศาสตร์พลิกโฉมซาอุฯ ให้ทันสมัย ลบภาพดินแดนเคร่งศาสนา เลิกพึ่งพาน้ำมัน หวังพัฒนาให้กลายเป็น ‘ฮับ’ แห่งใหม่ในตะวันออกกลาง และ ‘ไทย’ คือ หนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ซาอุฯ ต้องการเป็นพันธมิตร

ด้วยเหตุนี้ เดือนมกราคม ค.ศ. 2022 รัฐบาลซาอุฯ ภายใต้การนำของ MBS จึงเชิญ ‘นายกรัฐมนตรีไทย’ เดินทางเยือนกรุงริยาด ก่อนที่เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน MBS ในวัย 37 พรรษา จะเสด็จเยือนกรุงเทพฯ ด้วยพระองค์เอง เพื่อร่วมสังเกตการณ์การประชุม ‘เอเปค’ (APEC 2022) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ปิดฉากความบาดหมางคดี ‘เพชรซาอุฯ’ ที่เคยสร้างความร้าวฉานต่อกันมายาวนาน 32 ปี

‘บลูไดมอนด์’ ที่ถูกมองข้าม

หากมองในมุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหากาพย์ ‘เพชรซาอุฯ’ ไม่ใช่คดีเล็ก ๆ เพราะเชื่อมโยงกับการ ‘อุ้มฆ่า’ ทั้งนักการทูตและนักธุรกิจซาอุฯ ที่เข้ามาตามหา ‘บลูไดมอนด์’ และผ่านมากว่า 30 ปีก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เหตุใดซาอุฯ จู่ ๆ จึงมองข้ามเรื่องนี้และหันมาคบกับ ‘ไทย’ อีกครั้ง คำตอบอาจอยู่ที่ความสัมพันธ์ภายในราชวงศ์ซาอุฯ และที่มาของผู้นำคนปัจจุบัน

‘นิวยอร์กไทมส์’ (New York Times) บรรยายความสัมพันธ์ภายในราชวงศ์ซาอุฯ และการขึ้นสู่อำนาจของ MBS ในบทความ ‘MBS: The Rise of a Saudi Prince’ เมื่อเดือนมีนาคม 2020 ว่า แม้สมาชิกราชวงศ์ ‘อัล ซาอุด’ ทุกพระองค์ล้วนสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ ‘อับดุลาซิซ’ (Abdulaziz) ผู้ก่อตั้งประเทศซาอุฯ ยุคใหม่ แต่ ‘คิงอับดุลาซิซ’ มีมเหสีอย่างน้อย 18 พระองค์ และมีทายาททั้งหมด 63 พระองค์ (โอรส 36, ธิดา 27) 

ต่อมา รัชทายาทเหล่านี้ยังมีครอบครัวและขยายจำนวน ‘เจ้าชาย - เจ้าหญิง’ เพิ่มอีกนับพัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่สมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและใกล้ชิดสนิทสนมกัน

เจ้าชาย ‘โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน’ หรือ MBS ประสูติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1985 ในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย เป็นโอรสองค์ที่ 6 จากจำนวนโอรสทั้งหมด 25 พระองค์ของ ‘คิงซัลมาน’ หากเทียบจากวันเดือนปีเกิดจะพบว่า ในช่วงที่ซาอุฯ เริ่มตัดสัมพันธ์ ‘ไทย’ เพราะปัญหา ‘เพชรซาอุฯ’ พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 4 - 5 พรรษาเท่านั้น

นอกจากวัยที่ทรงพระเยาว์ เพชรหายาก ‘บลูไดมอนด์’ และอัญมณีล้ำค่าที่ ‘เกรียงไกร เตชะโม่ง’ ขโมยกลับมาจนเป็นต้นตอของข้อพิพาท ‘เพชรซาอุฯ’ ยังเป็นสมบัติของเจ้าชาย ‘ไฟซาล’ โอรสของ ‘คิงฟาฮัด’ (King Fahd) กษัตริย์องค์ที่ 5 ของราชวงศ์ ‘อัล ซาอุด’

แม้ ‘คิงฟาฮัด’ จะเป็นพระเชษฐาของ ‘คิงซัลมาน’ กษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทำให้เจ้าชาย ‘ไฟซาล’ เจ้าของ ‘เพชรซาอุฯ’ กับ MBS มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้สนิทสนมกันจากเหตุผลจำนวนรัชทายาทมากมายตามที่กล่าวไปเบื้องต้น

ความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าชาย ‘ไฟซาล’ ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วตั้งแต่ปี 1999 จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ MBS เมื่อขึ้นมามีอำนาจ จะตัดสินใจมองข้ามความบาดหมางในอดีต ยอมก้าวข้ามรอยร้าวคดี ‘เพชรซาอุฯ’ และหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ ‘ไทย’ เพื่อเป้าหมายใหม่ในอนาคต

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

เส้นทางสู่อำนาจของผู้นำรุ่นสาม

ก่อนก้าวขึ้นเป็น ‘เจ้าชายผู้ปกครอง’ ซาอุฯ จนนำมาสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ ‘ไทย’ บทความ ‘MBS: The Rise of a Saudi Prince’ เปิดเผยว่า ‘โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน’ แทบไม่เคยอยู่ในสายตาของสื่อหรือนักการทูตต่างชาติ เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่า พระองค์จะได้รับเลือกเป็นมกุฎราชกุมาร ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป และจะเป็นเชื้อพระวงศ์รุ่นหลานของผู้ก่อตั้งประเทศองค์แรกที่ขึ้นครองราชย์

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ MBS นอกจากจะไม่ใช่โอรสองค์ต้น ๆ ของ ‘คิงซัลมาน’ พระองค์ยังเกิดกับมเหสีองค์ที่ 3 ซึ่งมาจากชาติตระกูลที่ด้อยกว่ามเหสีเอก แถมยังไม่เคยเสด็จไปศึกษาในต่างประเทศเหมือนกับบรรดาพระเชษฐาต่างมารดา ซึ่งล้วนจบการศึกษาจากตะวันตก

MBS จบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จาก ‘มหาวิทยาลัยคิง ซาอุด’ (King Saud University) ในกรุงริยาด พระองค์ทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวงของซาอุฯ เริ่มจากการเป็นผู้ติดตามพระบิดาตั้งแต่พระชนมายุเพียง 16 พรรษา สมัยที่ ‘คิงซัลมาน’ ยังเป็นแค่ ‘เจ้าชาย’ ดำรงตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการกรุงริยาด’

เหตุผลที่ MBS ทรงมีโอกาสได้ติดตามพระบิดาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะพระเชษฐาองค์โตและองค์รองล้วนสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควร 

ส่วนพระเชษฐาองค์อื่น ๆ ที่เหลือก็ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง ทำให้ MBS ซึ่งไม่เคยจากบ้านไปไกล ได้มาช่วยงานเคียงข้างพระบิดาจนกระทั่ง ‘คิงซัลมาน’ ขึ้นครองราชย์ในปี 2015 ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา

ด้วยวัยชรา ‘คิงซัลมาน’ ค่อย ๆ ถ่ายโอนอำนาจบริหารประเทศให้กับโอรสที่ร่วมงานกันมาจน ‘รู้ไส้รู้พุง’ เริ่มจากการแต่งตั้งให้เป็น ‘รัฐมนตรีกลาโหม’ ทันทีหลังขึ้นครองราชย์ ทำให้ MBS กลายเป็น ‘เจ้ากระทรวงทหาร’ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ซาอุฯ ขณะมีพระชนมายุเพียง 30 พรรษา

จากนั้นในปี 2017 ‘คิงซัลมาน’ ทรงแต่งตั้ง MBS เป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ อย่างเป็นทางการ พร้อมให้ควบเก้าอี้ ‘รองนายกรัฐมนตรี’ และต่อมาในเดือนกันยายน 2022 จึงเลื่อนขั้นเป็น ‘นายกฯ’ แบบเต็มตัว แม้ที่ผ่านมาตำแหน่งนี้จะสงวนไว้ให้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น

คนรุ่นใหม่หัวปฏิรูปกับ ‘วิชั่น 2030'

ผลงานที่โดดเด่นของ MBS ในฐานะเจ้าชายผู้ปกครองซาอุฯ คือการประกาศ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ในปี 2016 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในการพัฒนาประเทศไปสู่จุดหมายใหม่ในอนาคต

วิสัยทัศน์ดังกล่าวเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะประกาศลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน หันไปพัฒนาพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซาอุฯ ยังมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมในตะวันออกกลางไม่ต่างจาก ‘กาตาร์’ และ ‘ดูไบ’ รวมถึงขยายพอร์ตฯ ธุรกิจผ่านกองทุนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมานำเงินไปลงทุนซื้อทีมฟุตบอล ‘นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด’ ในอังกฤษ พร้อมปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ

“ถ้าคุณเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยหรือเดินทางมาซาอุดิอาระเบีย คุณมีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ตามความเชื่อความศรัทธาของคุณ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของพระศาสดา (มุฮัมมัด)”

MBS กล่าวกับนิตยสาร ‘ดิ แอตแลนติก’ (The Atlantic) ฉบับเดือนเมษายน 2022

สื่อต่างชาติรายงานในทิศทางเดียวกันว่า ซาอุฯ ภายใต้การบริหารของ MBS มีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะสวนสนุก โรงหนัง และงานคอนเสิร์ต ซึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้ามตามความเชื่อทางศาสนา สามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง ขณะที่ผู้หญิงก็มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นและได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ได้เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ‘ตำรวจศาสนา’ ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัดตามการตีความของขบวนการ ‘วะฮาบีย์’ ซึ่งถือกำเนิดบนดินแดนแห่งนี้ และเชื่อว่าเป็นต้นตอบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่ง ก็ถูกลดบทบาทและไม่มีอำนาจเหมือนในอดีต

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อผนวกกับบุคลิกส่วนตัวของ MBS ซึ่งเป็นคนกระฉับกระเฉง พูดเก่ง มีเสน่ห์ และมีวิสัยทัศน์ ทำให้พระองค์กลายเป็นผู้นำขวัญใจคนรุ่นใหม่หัวปฏิรูป แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงาม เพราะวิธีที่รัฐบาลใช้กระชับอำนาจและจัดการผู้เห็นต่าง มักถูกวิจารณ์เรื่องความโหดร้ายทารุณไม่ต่างจาก ‘รัฐตำรวจ’ หรือ ‘ทรราช’

ด้านมืดและคดี ‘ฆ่าหั่นศพ’ นักข่าว

“หากนั่นเป็นวิธีจัดการของเรา ‘คาชอกกี’ ไม่ได้อยู่ในบัญชี 1,000 คนแรกด้วยซ้ำ ถ้าคุณต้องใช้ปฏิบัติการแบบนั้นกับใครสักคน มันต้องเป็นมืออาชีพ และอยู่ในบัญชี 1,000 คนแรกเท่านั้น”

MBS บอกกับ ‘ดิ แอตแลนติก’ เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาบงการฆ่า ‘จามาล คาชอกกี’ (Jamal Khashoggi) คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ‘วอชิงตันโพสต์’ แม้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ (CIA) ยืนยันว่า นักข่าวและนักวิจารณ์ราชวงศ์ซาอุฯ ผู้นี้ ถูก ‘ฆ่าหั่นศพ’ ภายในสถานกงสุลซาอุฯ ที่นครอิสตันบูล ของตุรกี (ตุรเคีย) เมื่อปี 2018 โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นคนใกล้ชิดผู้นำซาอุฯ และ MBS น่าจะมีส่วนรู้เห็น

คดีนี้แม้ยังไม่มีน้ำหนักพอให้ ‘สหรัฐอเมริกา’ ตัดความสัมพันธ์กับซาอุฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกันมาช้านาน แต่ก็ทำให้ชื่อเสียงของ MBS มัวหมองและถูกขุดคุ้ยนโยบายที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ มาตีแผ่ เริ่มตั้งแต่สงครามโจมตีกลุ่มกบฏ ‘ฮูตี’ ในเยเมน สมัยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมใหม่ ๆ ซึ่งทำให้พลเรือนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจนกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมในชาติเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุฯ ชุดใหม่ยังใช้การสอดแนมประชาชนด้วยสปายแวร์ ‘เปกาซัส’ และใช้กองทัพ ‘ไอโอ’ (IO) ทำสงครามข่าวสารออนไลน์ ขณะเดียวกันก็มีรายงานการจับกุมและซ้อมทรมานนักเคลื่อนไหวผู้เห็นต่างอีกมากมาย

ปี 2017 หลังเป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ เต็มตัว นอกจาก MBS จะสั่งกักบริเวณเจ้าชาย ‘โมฮัมหมัด บิน นาเยฟ’ มกุฎฯ คนก่อนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และกวาดล้างบรรดาคนสนิทของมกุฎฯ คนเก่า พระองค์ยังสั่งปฏิบัติการบุกรวบตัวเศรษฐีผู้มีชื่อเสียงในประเทศพร้อมกันหลายร้อยคน ก่อนนำตัวมาคุมขังในโรงแรมหรู 5 ดาว ‘ริตซ์ คาร์ลตัน’ (Ritz-Carlton) กลางกรุงริยาด

ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดนอกจากจะเป็นนักธุรกิจชื่อดัง ยังมีรัฐมนตรี 4 คน และเจ้าชายซึ่งเป็นพระญาติในราชวงศ์เดียวกันอีก 11 พระองค์ ทั้งหมดนี้ถูกบังคับให้รับสารภาพข้อหาคอร์รัปชัน และโอนทรัพย์สินคืนให้รัฐเพื่อแลกกับอิสรภาพ

MBS เปิดเผยว่า ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้รัฐได้เงินคืนคลังมากถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในเวลาเพียง 2 - 3 เดือน และเป็นมาตรการที่ถูกใจประชาชน แต่ก็มีหลายคนตั้งคำถามว่า เป้าหมายที่แท้จริงอาจไม่ใช่แค่การปราบคอร์รัปชัน แต่เป็นการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามและกระชับอำนาจทางการเมืองของตนเอง

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

‘มาเคียเวลเลียน’ กับอนาคตระบอบกษัตริย์

หากมองจากวิธีปกครอง อาจกล่าวได้ว่า ระบอบ MBS มีความสอดคล้องกับตำรารัฐศาสตร์คลาสสิกเรื่อง ‘เจ้าชายผู้ปกครอง’ (The Prince) ของนักปรัชญาชาวเมืองฟลอเรนซ์ ในอิตาลี ที่ชื่อ ‘นิโคโล มาเคียเวลลี’

ตำราเล่มนี้หลายคนขนานนามให้เป็นคัมภีร์ทรราช เนื่องจากนักปกครองที่ถูกจัดให้อยู่ในหมู่ ‘มาเคียเวลเลียน’ มักทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจ ไม่ว่าวิธีนั้นจะขัดหลักมนุษยธรรมหรืออำมหิตเพียงใด ‘เจ้าชายผู้ปกครอง’ ที่ดีในสายตา ‘มาเคียเวลลี’ ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘คนดี’ ขอเพียงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมอยู่ใต้อำนาจ เท่านั้นก็นับว่าประสบความสำเร็จ

ต้องไม่ลืมว่า ที่ MBS สามารถใช้ทั้ง ‘ด้านสว่าง’ และ ‘ด้านมืด’ ปกครองประเทศเต็มที่ เป็นเพราะซาอุฯ ไม่ใช่ดินแดนประชาธิปไตย แต่ปกครองด้วยระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ซึ่ง ‘กษัตริย์’ มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย และชี้เป็นชี้ตายได้ทุกเรื่อง

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าซาอุฯ จะตัดสัมพันธ์ หรือกลับมาคบค้ากับใคร จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิแค่ไหน แม้แต่สิทธิพื้นฐานอย่างการขับรถ ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกษัตริย์ หรือผู้แทนพระองค์ หาใช่สิทธิที่ทุกคนควรมีมาแต่กำเนิดไม่

ส่วนคำถามที่ว่า ซาอุฯ ในอนาคตมีโอกาสเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ทันสมัย เหมือนกับ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ของว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไปหรือไม่ คำตอบคือ

“ไม่มีทาง ซาอุดิอาระเบียมีรากฐานมาจากระบอบกษัตริย์ล้วน ๆ ผมไม่สามารถก่อรัฐประหารต่อต้านพลเมือง 14 ล้านคนได้”

นั่นคือคำตอบของเจ้าชาย ‘โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน’ มกุฎราชกุมารผู้ทรงอำนาจ และสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า พระองค์ คือ ‘ผู้กุมอนาคต’ ของแดนเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ที่ชื่อ ‘ซาอุดิอาระเบีย’

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

อ้างอิง:

New York Times

The Atlantic

Al Jazeera

BBC

BBC (2)

The Crown Prince of Saudi Arabia / Frontline PBS / YouTube