‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ลาออกจากสายงานวิศวกร เพราะหลงใหลธุรกิจเพื่อสังคมสู่ ‘Local Alike’

‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ลาออกจากสายงานวิศวกร เพราะหลงใหลธุรกิจเพื่อสังคมสู่ ‘Local Alike’

‘ไผ - สมศักดิ์ บุญคำ’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Local Alike ลาออกจากอาชีพ ‘วิศวกร’ เพื่อเข้าใจการทำธุรกิจเพื่อสังคม ตัดสินใจเรียนต่อที่สหรัฐฯ ด้วยเงินเก็บทั้งหมด และมาเป็นเด็กฝึกงานที่ดอยตุง จนสุดท้ายผลักดัน passion ตัวเองด้วยการก่อตั้งบริษัท Local Alike

ยอมลาออกจากอาชีพวิศวกร

ไผ - สมศักดิ์ ได้เปิดใจกับ The People ว่า ก่อนที่จะมาทำธุรกิจเพื่อสังคม เคยเป็นวิศวกรโรงงานอยู่ประมาณ 3 ปีที่ประเทศเยอรมนี พอไปเจอเรื่องราวของชีวิต ก็เหมือนได้เข้าใจโลกได้อะไรมากขึ้น จนเกิดคำถามว่าต้องการทำงานอะไรกันแน่

“เราไปเจอความยากจน ไปเจอพื้นฐานแบบเดียวกับเรา ไปเจอความไม่เท่าเทียมกันของคนในชนบทกับคนในเมือง ทำให้เราอยากเปลี่ยนเพราะมองว่าทำงานวิศวกรอาจจะตอบโจทย์แค่นายจ้าง เจ้าของโรงงาน หรือลูกค้าแค่ไม่กี่ราย เราอยากใช้ทักษะของเราเพื่อให้ตอบโจทย์คนมากกว่านั้น”

วันหนึ่ง ไผ - สมศักดิ์ ได้ไปเจอกับแนวคิด ‘การทำธุรกิจเพื่อสังคม’ (Social Enterprise) และมองว่าโมเดลนี้น่าสนใจ เพราะสามารถพัฒนากลุ่มคนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถหารายได้ทำกำไรได้เช่นเดียวกัน

“เราตัดสินใจลาออกจากการเป็นวิศวกรเพื่อจะไปเรียนรู้เรื่องนี้ โดยผมใช้เงินเก็บทั้งหมดที่มีไปกับการเรียนปริญญาโทเรื่องบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนที่อเมริกา 2 ปี แล้วกลับมาเมืองไทย และตอนนั้นผมอยากทำงานกับองค์กรที่ทำเกี่ยวกับด้านนี้ เช่น ‘ดอยตุง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำเพื่อสังคมที่ผมอยากทำงานด้วย หรืออย่าง กรามีนแบงก์ (ของบังกลาเทศ) ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าต้องมาทำธุรกิจตัวเองนะ

“เรากลับเมืองไทย และก็ไปขอทำงานกับดอยตุง แต่ตอนนั้นเขายังไม่มีตำแหน่งว่าง เปิดรับแค่นักศึกษาฝึกงานปริญญาตรี ถึงแม้ว่าเราจะจบปริญญาโทแล้วแต่ก็ไปขอฝึกงานกับเขา ขอเป็นเด็กโข่งไปฝึกงานกับเขา

“ผมมีโอกาสได้ทำโครงการสำรวจหมู่บ้าน 29 หมู่บ้านทั่วดอยตุง เพราะผู้บริหารอยากจะเอาการท่องเที่ยวเข้าไป ซึ่งหลังจากนั้น 2 เดือนก็ได้เสนอแผนธุรกิจให้กับผู้บริหารดอยตุง และก็ถูกทาบทามไปทำงานต่อเป็นนักพัฒนาชุมชนของดอยตุง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาเปิดขึ้นเพื่อเรา”

‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ลาออกจากสายงานวิศวกร เพราะหลงใหลธุรกิจเพื่อสังคมสู่ ‘Local Alike’

อย่างไรก็ตาม ความใฝ่ฝันของ ไผ - สมศักดิ์ ที่อยากพัฒนาชุมชนก็ต้องหยุดลงด้วยเหตุผลเรื่องทิศทางของดอยตุง ที่อยากจะโฟกัสไปที่พื้นที่บนดอยมากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ ไผ - สมศักดิ์ พยายามหาทางช่วยเหลือชุมชนด้วยตัวเอง จึงเสนอทางดอยตุงไปว่า “ขอทำเรื่องนี้ต่อไป ควบคู่กับการทำงานที่ดอยตุงไปด้วย” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Local Alike ตั้งแต่วันนั้น

 

จุดเริ่มต้นกับเงินทุนที่ติดลบ

ด้วยความที่จุดเริ่มต้นของการเป็น Local Alike ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่ที่ ไผ - สมศักดิ์ ทำงานอยู่ที่ดอยตุง ดังนั้น ระยะเวลาการสั่งสมประสบการณ์ในเรื่องการพัฒนาชุมชน หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคมถูกบ่มเพาะมาแล้วประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะเริ่มเห็นแสงสว่างและความเป็นไปได้ของโมเดลธุรกิจ Local Alike

“เราได้โมเดลที่มันพอจะต่อยอดไปที่ชุมชนอื่นได้แล้ว จึงบอกทางดอยตุงว่าอาจถึงเวลาที่เราจะออกไปทำเรื่องนี้เต็มตัว ซึ่งก็เป็นจุดหนึ่งของชีวิตที่ต้องมาวางแผนชีวิตตัวเองเยอะมาก วางแผนการเงินและเรื่องอื่น ๆ เพราะนั่นคือการออกมาทำธุรกิจด้วยตัวเอง”

ซึ่ง Local Alike ในความหมายของ ไผ - สมศักดิ์ ก็คือ บริษัทท่องเที่ยวชุมชนที่ได้มากกว่าความสนุก ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยหน้าที่ของ Local Alike คือการจัดทัวร์ที่ประสานความร่วมมือให้เหล่าชาวบ้าน ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบทริปและนำเที่ยวเองภายในชุมชน

โดยตัวรายได้ที่มาจากการขายทัวร์ที่แยกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น Village Tour, Day Tour และ Activity-Based Tourism ซึ่ง Local Alike จะช่วยให้ความรู้ทางชุมชน และชี้นำว่ารายได้แต่ละครั้งควรนำไปพัฒนาด้านไหนบ้างตามลำดับ หรือควรเพิ่มสินค้า-บริการอะไรที่สามารถช่วยให้การท่องเที่ยวชุมชนครบถ้วนมากขึ้น

การพัฒนาชุมชนในแต่ละครั้งแต่ละหมู่บ้านตามโมเดลของ Local Alike เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยยกระดับการเป็นอยู่ของผู้คนได้อย่างทั่วถึง

การเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่ได้มีเงินทุนอะไรมากมาย จึงทำให้เส้นทางของ ไผ - สมศักดิ์ ล้มลุกคลุกคลานอยู่นานพอสมควร

เขาพูดกับเราว่า “มันเหนื่อยนะ คือตอนที่เราทำงานเป็นวิศวกรเรามีเงินเก็บเยอะใช่ไหม แต่พอกลับมาเมืองไทยเงินเดือนมันก็ลดลงไปหนึ่งในสาม หมายถึงว่าถ้าผมได้เงินเดือนตอนที่ทำงานอยู่ที่เยอรมนีได้เดือนละ 1 แสนบาท อยู่ดอยตุงผมก็จะได้เดือนละ 30,000 บาท ดังนั้น เราต้องวางแผนชีวิตการเงินของตัวเองให้ดีพอสมควร

“ช่วงแรก ๆ ในการทำธุรกิจ เราไม่มีเงินตั้งต้น เรามีแต่เงินเดือนซึ่งก็ต้องแบ่งให้พ่อแม่ด้วย เงินเก็บที่มีอยู่ก็ถูกใช้ไปกับการ pitch งานให้กับคนที่สนใจ ซึ่งเสนอไอเดียไปเยอะมาก แต่ก็โดนปฏิเสธหมดเลยครับ

จนกระทั่งเราเกือบท้อแล้วตอนนั้น เพราะโดนคำถามเยอะมาก เช่น ทำไมบริษัททัวร์ใช้เงินเยอะขนาดนั้น, ทำไมต้องพัฒนาชุมชน ฯลฯ บางคนก็จะบอกว่าโมเดลที่เราทำมันไม่เซ็กซี่พอ ถ้าเทียบกับโมเดลสตาร์ทอัพทั่วไป”

ไม่ใช่แค่ความสนใจจากนักลงทุนอื่น ๆ ที่เป็นความท้าทาย เรื่องเงินทุนก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะ ไผ - สมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า “บางทีเงินลงทุนมันก็ไม่พอ เพราะว่าเราต้องทำงานกับหลายชุมชน พอเราติดปัญหาบ่อย ๆ เข้าปีที่ 2 ปีที่ 3 ก็เริ่มกระทบกับบัญชีเงินส่วนตัวจนติดลบไป 3 รอบ ซึ่งท้อมากเหมือนกัน แต่โชคดีหน่อยที่เพื่อนเข้าใจและช่วยเหลือ”

 

‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ลาออกจากสายงานวิศวกร เพราะหลงใหลธุรกิจเพื่อสังคมสู่ ‘Local Alike’

สู้ขาดใจแม้ผลกำไรไม่เยอะ

ด้วยคำจำกัดความของการทำธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเรื่องปกติที่มักจะมีการพูดถึงเรื่องรายได้หรือกำไรน้อยมาก (แต่ก็ยังมีรายได้อยู่) ดังนั้น การทำธุรกิจในรูปแบบนี้ได้ต้องมี passion ที่หนักแน่นมาก ซึ่ง ไผ - สมศักดิ์ มองว่า สิ่งแรกที่ต้องมีคือ passion หรือความหลงใหล ตื่นขึ้นมาแล้วต้องไม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันทำอะไรอยู่?

และอีกข้อที่สำคัญคือเป้าหมาย เขาเล่าว่า เป็นคนที่มี 10 อย่างที่อยากทำก่อนตาย แล้วก็ต้องไปให้ถึงให้ได้ โดยจะค่อย ๆ achieve goal ไปทีละเรื่อง

“ผมว่าการทำตามเป้าหมายสำคัญ เพราะสุดท้ายมันเยอะมากเลย นักลงทุนแนะนำอย่างนั้น ให้คุณเปลี่ยนโมเดล คุณทำอย่างนี้ ๆ ซึ่งเราต้องเป็นคนที่น้ำไม่เต็มแก้ว รับอะไรมาแล้วก็ปรับตาม ซึ่งมันจะหาโมเดลที่ถูกที่ควรเอง เพียงแต่เราต้องมี passion เพียงพอ เพราะบางทีเป้าหมายอย่างเดียวก็ไม่ช่วยอะไร”

คำว่าธุรกิจเพื่อสังคมในมุมของ ไผ - สมศักดิ์ มองว่า เข้าใจว่ากำไรสูงสุดกับกำไรที่เราอยู่ได้ มันคนละเรื่องกันเลย เพราะไม่ใช่บริษัทที่แสวงหากำไรสูงสุดอยู่แล้ว แค่หากำไรเพื่อให้เราอยู่ได้ เพื่อให้มีเงินพอที่จะเลี้ยงทีมงาน แล้วก็มีกำไรเพื่อจะเอาไปขยายผลทางสังคมที่อยากทำ 

“เราไม่ต้องไปนั่งคอยตอบคำถามนักลงทุนว่า ทำไมคุณ margin น้อยจัง ถ้าเราเข้าใจรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ความกดดันเราจะน้อยลง สิ่งที่สำคัญก็คือ การสร้างผลกระทบต่อสังคมในทางที่ดีขึ้น ซึ่งถ้าทำดี ๆ ผมมองว่าในฐานะที่ผมทำธุรกิจเพื่อสังคมมันคือกำไรอย่างหนึ่งครับ”

‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ลาออกจากสายงานวิศวกร เพราะหลงใหลธุรกิจเพื่อสังคมสู่ ‘Local Alike’

สุดท้ายแล้ว ไผ - สมศักดิ์ ยังมองเกี่ยวกับการทำธุรกิจเพื่อสังคมด้วยว่า เป้าหมายใหญ่ของเราจริง ๆ คือการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน แล้วเราออกแบบโมเดลการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์คำว่าคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

นอกจากนี้ ในเป้าหมายนั้นยังมีเป้าหมายเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ด้วย นั่นก็คือ ไผ - สมศักดิ์ อยากให้หนึ่งในคนชุมชนสามารถจัดการการท่องเที่ยวของหมู่บ้านตัวเองได้ดี ไม่ใช่แค่เรื่องท่องเที่ยว แต่หมายถึงสินค้าและบริการ เช่น ที่พัก, โฮมสเตย์, อาหาร, ไกด์ เป็นต้น

“ผมอยากให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่า เมืองไทยไม่ได้มีแค่ sea sand sun แล้วก็ sex อยากให้เข้าใจว่ามี sustainable tourism ด้วย seasonable tourism ด้วย”

ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย