สารคดี ‘ริชาร์ด เดวิส’ ผู้ลั่นไกใส่ตัวเอง ยืนยันว่าเสื้อกันกระสุนที่คิดค้นใช้ได้จริง

สารคดี ‘ริชาร์ด เดวิส’ ผู้ลั่นไกใส่ตัวเอง ยืนยันว่าเสื้อกันกระสุนที่คิดค้นใช้ได้จริง

ชีวิตของ ริชาร์ด ซี เดวิส (Richard C. Davis) ผู้คิดค้นเสื้อกันกระสุนยุคบุกเบิก และทดสอบด้วยการลั่นไกใส่ตัวเอง เพื่อยืนยันประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่-รัฐ เชื่อใจ ยอมสวมใส่จริง ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดี ‘2nd Chance’

  • สารคดี 2nd Chance เล่าเรื่องของ ริชาร์ด ซี เดวิส ผู้ผลิตเสื้อกันกระสุนยุคแรก ๆ ใช้วิธีลั่นไกใส่ตัวเอง เพื่อการันตีประสิทธิภาพของมัน 
  • เสื้อกันกระสุนของ Second Chance กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวเมื่อพบว่า มีข้อบกพร่อง และวัสดุเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ผู้ผลิตอ้าง
  • ความผิดพลาดของ Second Chance นำมาสู่คดีความโดยการยื่นเรื่องของอดีตลูกจ้าง

“ผู้คนมากมายคิดว่าผมบ้าไปแล้วที่ทำอะไรโง่ ๆ แบบนี้” ริชาร์ด ซี เดวิส (Richard C. Davis) กล่าวพร้อมเสริมอีกว่า มันคุ้มค่ามากหากสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้ แล้วเขาก็หันปลายกระบอกปืนเข้าหาตัวเอง ลั่นไกเข้าอกของตัวเอง แล้วพูดอย่างร่าเริงว่า “มันง่ายเหมือนอบพายเลยล่ะ ทุกท่าน”

กระสุนไม่ได้เจาะทะลวงอกของเขา ลูกปืนถูกหยุดเอาไว้ด้วยชุดเกราะกันกระสุนซึ่งริชาร์ด เป็นผู้คิดค้นเกราะกันกระสุนที่ใช้สวมใส่กันอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องราวของเขาถูกบอกเล่าใน ‘2nd Chance’ สารคดีที่เล่าชีวิตของริชาร์ด ผู้ผันตัวจากเจ้าของร้านพิซซ่ามาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ชีวิตเขาผ่านการหย่าร้าง การฟ้องร้องทางกฎหมาย และอุบัติเหตุฆ่าคนตาย และรวมไปถึงการหันปืนเพื่อยิงตัวเองรวมทั้งสิ้น 192 ครั้งเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของชุดเกราะกันกระสุนที่เขาคิดค้น ไม่เพียงเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งเขาตั้งใจเอาไว้คือการสร้างชื่อเสียงในด้านความบ้าระห่ำเกินกว่าที่จะมองไปได้

เรื่องเล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของริชาร์ด น่าสนใจทีเดียว เรื่องที่เขาอ้างว่าเป็นแรงบันดาลใจมาสู่การประดิษฐ์เสื้อกันกระสุนมีอยู่ว่า เมื่อปี 1960 ริชาร์ด เคยเป็นเจ้าของร้านพิซซ่าทั้งหมด 3 สาขาในดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เมื่อมาถึงวันที่ 17 มิถุนายน ปี 1969 ริชาร์ด ไปส่งพิซซ่าที่บ้านหลังหนึ่ง แต่ไฟฟ้าทั้งบ้านหลังที่เขาไปถึงถูกปิด

เขาถามขึ้นว่า “พวกคุณสั่งพิซซ่าไว้ใช่ไหมครับ?” ท่ามกลางความมืด มีเสียงตอบกลับดังขึ้น “ใช่ครับ เอาเข้ามาในนี้เลย”

ด้วยบรรยากาศชวนสงสัย ทำให้ปืนลูกโม่ขนาด .22 ถูกดึงออกมาจากกระเป๋าคาดเอวของเขาอย่างใจเย็นแล้วซ่อนมันเอาไว้ใต้กล่องพิซซ่า

เมื่อเขาเดินตามเสียงเรียกไปก็พบกับชายสามคนยืนเป็นแนวรูปตัว V หนึ่งในนั้นหันปืนเล็งมาที่ใบหน้าของเขา ริชาร์ด ไม่ละสายตาไปจากมือคู่นั้น ทันทีที่มือนั้นเริ่มออกแรงเหนี่ยวไก ริชาร์ด ก็ส่งกระสุนนัดแรกออกจากรังเพลิงเข้าสู่ขากรรไกรของฝ่ายตรงข้ามทันที 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น สองในสามของผู้ก่อเหตุถูกยิงสาหัส ขณะที่ริชาร์ด ถูกยิงเข้า 2 นัด หลังจากพักรักษาตัวจากแผลถูกยิงแล้ว ในหัวของเขาเริ่มตระหนักถึงเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเผชิญเหตุยิงปะทะแทบทุกวัน

เขาให้เหตุผลว่า หากเจ้าหน้าที่เหล่านั้นสามารถสวมใส่บางสิ่งที่มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น และกันกระสุนใต้เครื่องแบบได้ นอกจากพวกเขาจะไม่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนแล้ว พวกเขาจะยังสามารถสู้ต่อในเหตุจำเป็นอีกด้วย

แรงบันดาลใจนั้น ขับเคลื่อนเขาให้เริ่มเสาะหาวัสดุหลาย ๆ แบบ จนได้พบ ‘ผ้าไนลอนความทนทานสูง’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Ballistic Nylon’ ที่ถูกใช้ในชุดป้องกันสะเก็ดระเบิดเมื่อยุคสงครามเวียดนาม แต่ชุดป้องกันนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันกระสุนจากปืนพกโดยตรง จนแล้วจนรอด เขาพบว่าด้วยประเภทของวัสดุและความหนาที่ถูกต้อง มันหยุดกระสุนขนาด .22 .25 .32 .38 หรือแม้แต่ .375 ได้

หลังการค้นพบ เขาได้ออกแบบชุดเกราะตัวแรกของเขาด้วยดีไซน์เรียบง่าย แม้เขามีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์อื้อฉาวและถูกครหาในหลายกรณี เช่น อุบัติเหตุในงานพลุซึ่งเขามีชื่อเป็นผู้จัดงาน ไปจนถึงอุบัติเหตุกระสุนจากการแข่งขันยิงปืนที่เขาจัดพุ่งเข้าไปในบ้านของผู้หญิงรายหนึ่ง แต่เดวิส ยังไม่ได้เผชิญการต่อสู้ทางกฎหมายในคดีอย่างจริงจัง

กระทั่งเขาเป็นผู้จำหน่ายเสื้อกันกระสุนที่มีวัสดุใหม่เรียกว่า Zylon นับแสนตัว ซึ่งภายหลังหน่วยงานรัฐพิสูจน์แล้วพบว่ามีข้อบกพร่อง และเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สวมใส่ถูกยิง กระสุนเจาะเข้าร่างกายและเสียชีวิต ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เขาเผชิญมรสุมชีวิต

ข้อบกพร่องของเสื้อกันกระสุนที่มีวัสดุดังกล่าวถูกระบุว่า วัสดุสำคัญของมันเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่บริษัทผู้ผลิตการันตีไว้ ขณะที่เอกสารจากทางการสหรัฐฯ ซึ่งทดสอบเสื้อกันกระสุนที่มีวัสดุ Zylon เป็นส่วนประกอบพบว่า กว่า 50%  ของเสื้อกันกระสุนที่ถูกใช้ไม่สามารถหยุดกระสุนตามที่บริษัทผู้ผลิตการันตีไว้ได้

การสัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อการถ่ายทำสารคดี 2nd Chance ทำให้เห็นว่าริชาร์ด ในวัย 70 ปี ไม่เต็มใจที่จะยอมรับว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเขามีส่วนผิด แต่กลับโทษว่าเป็นความผิดของโรงงานปริศนาสักแห่งในประเทศจีน

สารคดีเรื่อง 2nd Chance ได้มือเขียนบทเชื้อสายอิหร่าน-อเมริกัน และมี ‘รามิน บาฮ์รานิ’ (Ramin Bahrani) เป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ รามินเล่าว่า พวกเขาพยายามสร้างความชัดเจนว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีที่บอกเล่าถึงความภาคภูมิในแบบที่ริชาร์ด คิดเอาไว้ว่ามันจะเป็น

รามิน เสริมอีกด้วยว่า เขาเพียงแค่สนใจในตัวตนของเขา สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาเชื่อ รวมไปถึงสิ่งที่เขาเตรียมจะเปิดเผย 

ส่วนที่น่าดึงดูดของผลงานชิ้นนี้คือ มันกลับกลายเป็นเรื่องราวทางศีลธรรม เรื่องราวการเดินทางของชายคนหนึ่งที่มุ่งสู่การเป็นนักประดิษฐ์ผู้ปราดเปรื่อง สู่ชายผู้ลวงโลกและหลงตัวเอง จนในท้ายที่สุดก็กลายเป็นชายผู้คลั่งในเงินตรา และวันที่เขาได้เรียนรู้ว่าเส้นใยในชุดเกราะกันกระสุนที่เขาภาคภูมิ ที่จริงแล้วกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ 

ในด้านหนึ่ง วิธีการทดสอบอันบ้าบิ่นเพื่อการันตีผลิตภัณฑ์ของเขาทำให้ริชาร์ด ได้รับความสนใจ และมันเคยช่วยชีวิตคนเอาไว้ สารคดีเล่าเรื่องของแอรอน เวสต์ริค (Aaron Westrick) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการโดนยิงเพราะเสื้อกันกระสุนของริชาร์ด ที่ใช้ชื่อบริษัทว่า Second Chance แม้มีมุมมองว่า จุดที่แอรอน โดนยิงนั้นอาจไม่ได้มีผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่ผู้บังคับบัญชาของแอรอน ก็มองว่า เขาอาจจบชีวิตลงเพราะกระสุนนัดนั้นก็ได้

สารคดีเล่าถึงอีกด้านหนึ่งไว้ด้วย และยังตั้งคำถามกับเรื่องเล่าของเดวิส ที่อ้างซีนการต่อสู้กับอาชญากรเป็นแรงบันดาลใจมาสู่การคิดค้นเสื้อกันกระสุน

เนื้อหาสารคดียังนำเสนอการพูดคุยกับครอบครัวของ Tony Zeppetella เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเสียชีวิตขณะสวมเสื้อกันกระสุน Second Chance ผลการชันสูตรยืนยันว่า กระสุนพุ่งทะลุเสื้อเข้าไปที่หน้าอกของเขา แต่ในสารคดี เดวิส ให้สัมภาษณ์โดยยืนกรานว่า การเสียชีวิตของ Tony Zeppetella ไม่ใช่ความผิดของเสื้อกันกระสุน Second Chance

ขณะที่แอรอน เวสต์ริค ที่เคยมีประสบการณ์จริงจากการใช้เสื้อกันกระสุนของ Second Chance และยังเป็นพนักงานของบริษัทผู้ผลิตแห่งนี้มายาวนาน ภายหลัง กลับกลายเป็นผู้ยื่นเรื่องทางกฎหมายให้รัฐพิจารณาเสื้อกันกระสุนที่มีข้อบกพร่อง 

ในเอกสารทางคดี รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า แทนที่บริษัท Second Chance จะใช้เงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้จากบริษัท Toyobo ผู้ผลิต Zylon เพื่อแก้ปัญหา แต่กลับไปพบปะกับนายทุนเพื่อหาโอกาสขายบริษัท กระทั่งความพยายามขายบริษัทยุติลงหลังเกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจในเพนซิลเวเนีย ถูกยิงและบาดเจ็บ โดยกระสุนทะลุเสื้อกันกระสุน Second Chance เมื่อมิถุนายน 2003 ขณะที่ Second Chance ยื่นเรื่องล้มละลายในปี 2004

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เงินราว 132 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คืนจากบริษัท 18 แห่ง และบุคคลหลายรายที่มีส่วนขายเสื้อกันกระสุนที่มีส่วนประกอบของ Zylon

เมื่อปี 2018 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงว่า นายริชาร์ด ซี เดวิส ยอมสละสิทธิในทรัพย์สินมูลค่า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อายัดไว้ และจะจ่ายเงินให้รัฐบาลอีกจำนวน 125,000 สหรัฐ

ขณะที่แอรอน ในฐานะผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน จะได้รับเงิน 28,750 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมส่วนแบ่งอีกจำนวนหนึ่งจากเงินทุนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อายัดไว้

 

เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior)

ภาพ: สารคดี 2nd Chance

อ้างอิง:

New York Times

The Guardian

Pin Shoot

Variety

Whistleblowers Blog

Department of Justice