10 ธ.ค. 2565 | 20:20 น.
- หลายคนอาจมองอาชีพ ‘เกษตรกร’ เป็นอาชีพที่เหนื่อยและรายได้น้อย
- Smart Farmer จะช่วยเข้ามายกระดับอาชีพนี้ให้ยั่งยืนทั้งการพัฒนาและรายได้
อีกหัวข้อที่น่าสนใจบนเวที “เว่าถึงแก่น” ภายในงานมหกรรม Isan BCG Expo 2022 ก็คือ "ปลูกเงินปลูกทอง" : ยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเวทีนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจ และเกษตรกรรุ่นใหม่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่พวกเขาได้ทดลองทำด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ที่ดี หรือเรียกว่าเป็นการ “ปลูกเงินปลูกคำ” ให้แก่เกษตรกรเองด้วย และสร้างภาพจำใหม่ให้ผู้คนยอมรับว่าอาชีพเกษตรกรก็ ‘คูล’ ได้ไม่แพ้อาชีพใด
กรณีศึกษาทำเกษตรยุคดิจิทัล
หนึ่งในผู้ที่มาร่วมแชร์องค์ความรู้ดังกล่าวก็คือ “กรรณิกา ว่องกุศลกิจ” ตัวแทนจากภาคธุรกิจโรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ที่ได้นำพาเกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนเข้าสู่การทำเกษตรยุคดิจิทัล โดยการที่กลุ่มมิตรผลอยู่เคียงข้างเกษตรกรไทยมายาวนาน 60 ปี แน่นอนการยืนระยะธุรกิจยาวนานขนาดนี้ ไม่สามารถเติบโตได้เพียงลำพัง แต่ต้องช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนที่ปลูกอ้อยเติบโตไปพร้อมๆ กับโรงงานด้วย
“เราอยากให้อาชีพเกษตรกรไร่อ้อยส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ให้ลูกหลานชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ๆ มองว่านี่คืออาชีพที่เขาจะต่อยอดจากพ่อแม่ได้ โดยไม่ต้องเข้าเมืองไปหางานทำที่อื่น แต่เราก็จะช่วยสนับสนุนให้เขาทำงานได้ง่ายกว่าในยุคอดีต โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น รถตัดอ้อย ระบบจีพีเอส เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และประหยัดเวลากว่าเดิม”
อีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มมิตรทำมา 11 ปีแล้ว ก็คือ การพัฒนาด้านความยั่งยืนให้แก่ชุมชนข้างเคียงโรงงาน นอกจากการจ้างงานคนในชุมชนข้างเคียงกว่า 30,000 ครัวเรือนแล้ว ยังสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชอื่นๆ เพื่อหารายได้เสริมได้ตลอดทั้งปี โดยกลุ่มมิตรผลช่วยวางแผนงาน วางแนวคิด ออกแบบการทำงาน การติดตามผล และหาตลาดขายสินค้าให้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อผักสดของเกษตรกรมาใช้ในโรงอาหารของโรงงานเอง การช่วยหาช่องทางส่งขายผักสดไปยังห้างสรรพสินค้า ตลาดชุมชน และร้านอาหารต่างๆ ในชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมได้ตลอดปี
โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่เกษตรกรขายผักตามตลาดสดไม่ได้เพราะถูกปิดล็อกดาวน์ ตรงนี้เราก็พยายามแก้ไขปัญหาให้ชุมชนด้วยการเปิดช่องทาง LINE Official ชื่อ “ข้าว ผัก ปลา” ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการค้าขายสินค้าเกษตรของชาวบ้านอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังทำโครงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ซึ่งคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่ชาวบ้านปลูกแล้วได้ประโยชน์ เช่น พันธุ์ไม้ที่เอาไปค้ำประกันเงินกู้ได้ หรือเอาไปเป็นคาร์บอนเครดิตให้หารายได้เพิ่มได้
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่กลุ่มมิตรผลได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนข้างเคียงโรงงาน ทำให้เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และมีรายได้มั่นคง เชื่อว่าหากมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้สิ่งใหม่และปรับปรุงงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เกษตรกรอีสานก็จะสามารถพัฒนาวิถีเกษตรพื้นถิ่นให้เข้มแข็ง ก็จะมีส่วนช่วยกันขับเคลื่อนครัวไทยสู่ครัวโลกได้ในที่สุด
ทำเกษตรแบบน้อยนิดมหาศาล
ด้าน “นคร ลิมปคุปตถาวร” เจ้าของฉายาเจ้าชายผัก ผู้สนับสนุนให้คนเมืองหันมาปลูกผักกินเอง ได้แชร์องค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยวิธี “ไบโอไดนามิก” ที่ทำไม่ยากอย่างที่คิด แถมยังช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี
การทำเกษตรอินทรีย์ให้เหมือนเป็นการ “ปลูกเงินปลูกคำ” หรือสร้างรายได้มากขึ้นได้นั้น หนุ่มคนนี้ยึดหลักการ “ทำเกษตรแบบน้อยนิดมหาศาล” หมายความว่า แม้จะมีที่ดินไม่เยอะแต่เกษตรกรก็สามารถมีผลผลิตจำนวนมากได้ ที่สำคัญคือมีคุณภาพดีและปลอดสารเคมีด้วย
ยกตัวอย่างเช่น “การทำนา” เขาเองมีที่นาเพียง 2 ไร่แต่สามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตมากถึง 60 ถังต่อไร่ ได้ฟางอีก 40 ก้อน และเมื่อนำข้าวที่ได้ไปให้เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรทางเลือกได้ชิมกัน ก็ได้รับฟีดแบคว่าข้าวรสชาติอร่อยคุณภาพดี
ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการทำนาแบบพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใส่ปุ๋ยคอก ไม่ฉีดยาฆ่าแมลง ใช้เพียงปุ๋ยพืชสดที่ไถกลบหญ้าวัชพืชต่างๆ ในขั้นตอนการเตรียมหน้าดิน
รวมไปถึงเทคนิคการไถหน้าดินที่เน้นให้ดินโปร่ง ซุย มีอากาศในดินเยอะ เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินและได้เป็นธาตุอาหารตามธรรมชาติ บวกกับการใช้ปุ๋ยทำเองจากขี้วัวผสมสมุนไพร อีกอันคือหินควอซผสมเขาวัวบดละเอียด แล้วเอาไปกวนกับน้ำหลายๆ รอบ ซึ่งสองอย่างหลังใช้ปริมาณน้อยมากไม่ถึง 100 กรัม แต่ทำให้ดินดี รวงข้าวสมบูรณ์ ไม่มีแมลงรบกวน ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้หมดไม่ว่าจะปลูกพืชชนิดใดๆ หรือมีพื้นที่ปลูกมากน้อยแค่ไหน
จากวิธีการคร่าวๆ ข้างต้นจะเห็นว่าต้นทุนในการทำนาน้อยมากๆ แต่กลับได้ผลผลิตมากและมีคุณภาพ ส่งขายได้ราคาดี เพียงแค่พลิกมุมมองและพลิกวิธีทำเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และลดทอนต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป
…องค์ความรู้เหล่านี้ นครค้นพบจากการเดินทางไปศึกษาหาความรู้จากอาจารย์ด้านการเกษตรหลายท่าน ทั้งในและต่างประเทศ บวกกับการทดลองและลงมือทำจนตกตะกอนได้เป็นสูตรการทำเกษตรอินทรีย์รูปแบบนี้ออกมา ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
วิธีปลูกพืชแบบไบโอไดนามิกนี้ นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มากขึ้น มีรายได้มากขึ้นแล้ว ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นก็มีคุณภาพดี รสชาติดี ซึ่งมาจากธรรมชาติเองล้วนๆ จึงอยากเอาองค์ความรู้นี้มาแชร์ให้ทุกคน อยากชวนเกษตรกรมาช่วยกันเปลี่ยนอาหารเป็นยา เปลี่ยนดินช่วยโลก นอกจากเราได้ช่วยเหลือตัวเองให้มีรายได้ดีขึ้นแล้ว ยังได้ช่วยเหลือโลกให้ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
กาแฟนายจันทร์ที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ
ปิดท้ายกับหนุ่มเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟมือใหม่อย่าง “ณฐฎล มหาจันทร์” เจ้าของไร่กาแฟนายจันทร์ ผู้บุกเบิกผลิตต้นกาแฟสายพันธุ์ขอนแก่นได้เป็นแห่งแรก เขาได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์การต่อยอดอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านกาแฟที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ
ณฐฎลเล่าว่า เดิมทีเขาเป็นพนักงานออฟฟิศที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่วันหนึ่งรู้สึกอยากกลับมาทำงานที่บ้าน เกิดประกอบกับมีที่ดินของพ่อแม่อยู่แปลงหนึ่ง จึงอยากนำที่ดินตรงนี้มาพัฒนาต่อยอดให้มีมูลค่า และด้วยความที่ตนเองชอบปลูกต้นไม้และมีแพชชันด้านกาแฟ จึงตัดสินใจเปลี่ยนที่ดินผืนนั้นให้เป็นไร่กาแฟ
แรกเริ่มเขาได้ซื้อต้นกล้ากาแฟจากหลายแหล่งมาทดลองปลูก แต่ปรากฏว่าต้นกาแฟตายหมด เนื่องจากดินไม่เหมาะสม ตนจึงได้ปรึกษากับครอบครัวและค้นคว้าหาข้อมูลในการพลิกฟื้นดิน ขณะเดียวกันก็หาเมล็ดกาแฟเอามาทดลองเพาะพันธุ์เองด้วย
ระหว่างที่ปรับปรุงที่ดินพบว่ามีน้ำอยู่ใต้ดิน จึงทำการขุดเจาะสูบน้ำขึ้นมาและวางระบบน้ำให้สามารถส่งน้ำไปรดต้นไม้ได้ทั่วทั้ง 10 ไร่ ตรงนี้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำระบบหมุนเวียนน้ำจากโซลาร์เซลล์ และเชื่อมระบบเข้าแอปฯ ซึ่งสามารถเช็กจากมือถือได้ ตรงนี้ช่วยทุ่นแรงและทำให้ดูแลต้นไม้ได้อย่างทั่วถึง หลังจากนั้นทั้งครอบครัวก็ทดลองปลูกต้นกาแฟอีกครั้งและประสบความสำเร็จ
เมื่อต้นกาแฟเติบโตจนได้ผลผลิต ณฐฎลก็ก้าวสู่สเต็ปถัดไปคือการเปิดร้านกาแฟกลางสวน ขายกาแฟหลากหลายชนิดหลากหลายรสชาติ รวมถึงชาดอกกาแฟ และเบเกอรีโฮมเมด อีกมีการปลูกต้นไม้ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมจนกลายเป็นสวนป่าที่ร่มรื่น มีพื้นที่กว้าง นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์และความรู้เรื่องกาแฟมากขึ้น เช่น กิจกรรมเก็บเมล็ดกาแฟ และต่อยอดสู่การเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนในชุมชนเข้ามาจัดกิจกรรมค่ายศิลปะให้เด็กๆ
ตรงนี้เองที่ทำให้ร้านกาแฟของณฐฎล เป็นมากกว่าร้านกาแฟทั่ว ๆ ไป เพราะได้กลายเป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้ผู้คนได้เข้ามามีความสุขกับพื้นที่นี้ได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการหารายได้จากกาแฟ นั่นคือการได้สนับสนุนชุมชนให้โตไปด้วยกัน การมีอยู่ของร้านนี้ต้องให้ประโยชน์กับคนรอบข้างได้มากกว่าแค่ขายเครื่องดื่มกาแฟ
“อยากจะสื่อสารถึงเกษตรกรอีสานหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า การทำธุรกิจแบบ Smart Farmer ทำได้จริงถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจ และอยากให้คนรุ่นพ่อแม่ได้เห็นว่า ธุรกิจแบบนี้เป็นไปได้ และอยากแบ่งปันองค์ความรู้นี้ส่งต่อให้คนอื่นๆ และสิ่งมากกว่าการปลูกเงินปลูกคำ คือต้องปลูกฝันด้วย ถ้าเรามีความฝันและมุ่งมั่นลงมือทำ เราก็จะสามารถทำธุรกิจของตัวเองให้เติบโตได้” ณฐฎล กล่าวทิ้งท้าย