11 ธ.ค. 2565 | 20:39 น.
- อาทิตย์ อู๋ไพจิตร สถาปนิกและนักออกแบบพิพิธภัณฑ์ เล่าถึงประสบการณ์ ทำอาคารเก่าแก่กว่า 100 ปี ในอุดรธานีให้กลายพิพิธภัณฑ์เก่ายุคใหม่ที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ เป็นแหล่งเรียนรู้ และดึงดูดคนมาเที่ยวได้มากขึ้น
- แนวคิดส่วนหนึ่งที่ได้จากงานนี้ คือ ต้องทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพื่อน ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เป็นพื้นที่ที่เปิดให้เข้ามาใช้งานได้เสมอ
ภาคการท่องเที่ยวคือฟันเฟืองสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชาวไทยมานาน พื้นที่ซึ่งถูกจับตาเป็นพิเศษจากเสน่ห์และส่วนประกอบหลากหลายมิติที่ผสมผสานกันอย่างมีสีสันจะเป็นจุดไหนไปไม่ได้ นอกจากอีสาน
ด้วยความสำคัญของการท่องเที่ยวในยุคที่ผู้คนทั่วโลกเผชิญความท้าทายมากมายยิ่งทำให้หลายภาคส่วนต้องตื่นตัว นั่นนำมาสู่งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืน ‘Isan BCG Expo 2022’ มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้แนวคิด Collaboration : ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จัดขึ้นในวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 ณ Khon Kaen Innovation Centre (KKIC) จังหวัดขอนแก่น
งานนี้มีบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจหลายสาขามาร่วมฟัง แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์มากมาย สาขาที่ข้ามไปไม่ได้เลยคือ กลุ่มผู้ประกอบการ ‘ท่องเที่ยววิถีใหม่’ ในอีสาน ที่พบว่าปัจจุบันมีการนำเสนอสินค้าการท่องเที่ยวที่โดดเด่น ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในไทยเลย
ในงานนี้มีเวทีเสวนา ‘เว่าถึงแก่น’ อันเป็นเวทีทอล์กซึ่งนำบุคลากรแถวหน้าหลากหลายแวดวงมานำเสนอแนวคิดที่จะทะลวงถึงแก่นของความเป็นอีสานในด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคปัจจุบันอย่างยั่งยืน จัดระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2565 ที่ SRICHAN Creative Stage, ตึกคอม จังหวัดขอนแก่น
หัวข้อหนึ่งของเวทีทอล์กครั้งนี้ คือ ‘เลาะบ้านเลาะเฮือน Creative Tourism กับการท่องเที่ยววิถีใหม่ในอีสาน’ จัดขึ้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2565 มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวหน้าใหม่ในภาคอีสานที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวจนประสบความสำเร็จหลายคนนำประสบการณ์อันมีค่ามาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ
ตัวอย่างของข้อมูลที่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวมาจาก อาทิตย์ อู๋ไพจิตร สถาปนิกและนักออกแบบพิพิธภัณฑ์ ผู้พัฒนาการท่องเที่ยวอุดรธานีกับพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ ซึ่งมาเล่าประสบการณ์จากโจทย์ที่ได้รับมา นั่นคือการทำอาคารเก่าแก่ของอุดรธานีให้กลายพิพิธภัณฑ์เก่ายุคใหม่ที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ เป็นแหล่งเรียนรู้ และดึงดูดคนมาเที่ยวได้มากขึ้น
หลังได้รับโจทย์ เขาเริ่มตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ และสรุปออกมาได้ว่า ที่นี่จะต้องเป็นแลนด์มาร์กสำคัญด้านวัฒนธรรมในเมืองอุดรฯ เพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้เมือง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวอีสาน นำเสนอ Land Scape ใหม่ และจัดแสดงสิ่งใหม่ ๆ
สำหรับอาคารเก่าแก่อายุ 100 ปีแห่งนี้มีชื่อว่า ‘อาคารราชินูทิศ’ ตั้งอยู่ใกล้หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เป็นอาคารสไตล์โคโลเนียล ได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศส เคยเป็นโรงเรียนและที่ทำการผู้ว่าฯ ในอดีตมาก่อน
ทีมงานเข้าไปสำรวจอาคารแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2009 แล้วปรับปรุงมาต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี จนแล้วเสร็จในปี 2016 เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยจึงเริ่มเปิดให้บริการเมื่อประมาณปี 2017
อาทิตย์ อู๋ไพจิตร เล่าเพิ่มว่า เมื่อทำงานทุกอย่างครบถ้วน บรรลุวัตถุประสงค์ทุกข้อที่ตั้งไว้ในตอนแรก มีสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ซึ่งทีมงานคิดมาก่อนเกิดขึ้นตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ การบริหารด้านการตลาด การสื่อสารถึงคนภายนอก ฯลฯ ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์
คำถามที่น่าสนใจสำหรับเขาคือ จะทำอย่างไรให้ที่นี่อยู่รอด?
คำตอบคือ ต้องทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพื่อนของเขา ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ยาก เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ทุกวัน
ยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งในชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมงานของพิพิธภัณฑ์พบว่า คุณค่าของสถานที่แห่งนี้ เกิดขึ้นจากสิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อน ไม่ได้เกิดจากวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรกด้วยซ้ำ เจ้าหน้าที่พบว่าพฤติกรรมคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักหาที่นั่งกินมื้อกลางวันกันตามตึกต่าง ๆ จึงต่อยอดมาสู่การทำร้านอาหารในพิพิธภัณฑ์ที่ให้บริการทุกวัน
รวมถึงเกิดการใช้งานในลักษณะ Meeting point แหล่งพบปะพูดคุยของผู้คน, เกิดพื้นที่ให้นั่งทำงานฟรี, เกิดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยคนท้องถิ่นคิดเอง ทำเองแล้วมาใช้พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์, จัดคอนเสิร์ต, จัดปาร์ตี้, เกิดแผนที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในพิพิธภัณฑ์จากไอเดียของเด็กน้อยคนหนึ่งในชุมชน
เรื่องเหล่านี้เกิดจากสิ่งที่ไม่เคยคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นตามกรอบวัตถุประสงค์ในตอนแรก แต่มันกลับส่งผลดีต่อทั้งตัวพิพิธภัณฑ์เองและคนในชุมชน พร้อมสลัดภาพจำเดิม ๆ ที่ว่า “พิพิธภัณฑ์ = น่าเบื่อ” ออกไป
ดังนั้น ในฐานะคนทำงาน จึงอยากส่งต่อแนวคิดสำคัญในการพัฒนางาน นั่นคือ มูลค่าจะเกิดตามคุณค่างานที่เราสร้างขึ้น แต่มูลค่าที่สูงสุดจะเกิดจากคุณค่าที่เราคาดไม่ถึง