13 ธ.ค. 2565 | 22:44 น.
- แม้โลกปัจจุบันจะก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่การจะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ
- ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่าง ‘โจน จันได’ ผู้เน้นการดูแลเรื่องนี้แบบ ‘พึ่งกันเอง’ และ ‘ปฏิเสธระบบใหญ่’
- ขณะที่ ‘นพ.ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์’ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ นำเสนอการพาผู้คนกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติ บนหลักการ Healing Environment
- ด้าน ‘ลาณี เยเกอร์’ คือสะใภ้สวิสที่กลับมาโอบกอดแดนอีสาน เป็นเจ้าของโครงการ Lanee's Redidenz ที่ให้ออกแบบบั้นปลายชีวิตได้
เมื่อ “สุขภาพดี” ทั้งกายและใจ ไม่สามารถพึ่งพิงความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังควรต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ สำรวจจิตใจ และรากเหง้าแห่งวิถีชีวิตดั้งเดิม
แม้โลกปัจจุบันจะก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่การจะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดียังต้องกลับมาใส่ใจทั้งเรื่องภายใน การเป็นอยู่ในบริบทเก่าที่เราอาจหลงลืม ซึ่งการที่เรากลับไปสำรวจวิถีชีวิตดั้งเดิม ทานปลา ทานผักพื้นบ้าน อยู่กับธรรมชาติ สัมผัสชีวิตเรียบง่าย เว้นวรรคจากเทคโนโลยีบ้าง ก็สามารถจูนใจให้ชีวิตกลับสู่สมดุล
กินอยู่..รู้ทันโลก
สำหรับ “โจน จันได” หนึ่งในวิทยากรบนเวทีเสวนาครั้งนี้ หลายๆ คนมักนึกถึงเขาในวิถีชีวิตแบบ “พึ่งตนเอง” แบบสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกกินเอง ทำบ้านดินอยู่เอง ซึ่งบางครั้งก็เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า วิถีชีวิตแบบนี้ จะต้องปฏิเสธเทคโนโลยี ไม่นับถือเงินทอง จนถึงการมองว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลองไปเลยก็มี
แต่ความจริงแล้ว “การพึ่งตนเอง” ในแบบที่เขาเป็นนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่แค่พึ่งตนเอง เพราะที่มากกว่านั้น คือ “การพึ่งกันเอง” โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การปฏิเสธระบบใหญ่
“การที่คนๆ หนึ่งต้องทำอะไรเองทั้งหมด ปลูกข้าวเอง ทำอาหารเอง ทอผ้าเอง ฯลฯ อย่างนั้นเราไม่เรียกว่าการพึ่งตนเอง เราเรียกว่า การโดดเดี่ยวตัวเอง แต่การพึ่งตนเองนั้นหมายถึง การพึ่งกันเอง ด้วย”
“อาหารของเราทุกวันนี้ มาในรูปแบบเดียวกัน เรากินไก่พันธุ์เดียว กินหมูพันธุ์เดียว กินไข่จากไก่พันธุ์เดียว แล้วเราก็เริ่มกินผักน้อยชนิดลง จนคนที่รู้จักผักแว่น ผักอีฮิน ผักโหบเหบ ผักติ้ว ผักเม็ก ผักกระโดน น้อยลงๆ วันนี้เรารู้จักแค่ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว และกะหล่ำ” เขาบอก
และย้ำว่า นี่คือ “วิกฤติทางอาหาร” ที่นำไปสู่วิกฤติสุขภาพ จนถึง วิกฤติสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อเราทานไก่ราคาถูก อยากทานหมู กินไข่ ส่วนปลาก็ทานเดิมๆ ไม่พ้นปลาดุก ปลานิล หรือปลาทับทิม
“ของพวกนี้เติมโตจากข้าวโพด ก็ทำให้คนจำนวนมากต้องไปถางป่า เผาทิ้ง เพื่อปลูกข้าวโพดขายกิโลละ 3 บาท เอาข้าวโพดมาเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เพื่อให้มันราคาถูกที่สุด
แค่อาหารคำเดียวที่เราป้อนเข้าปาก ส่งผลกระเทือนถึงสุขภาพ ถึงสิ่งแวดล้อม ถึงทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา อาหารแค่คำเดียว มันยิ่งใหญ่มาก”
ไม่เพียงแค่อาหารเท่านั้น เพราะในบรรดาสิ่งของจำเป็นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้ หรือแม้จะเป็นยารักษาโรคก็ตาม เขายืนยันว่า ทั้งหมด เราสามารถ “พึ่งตนเอง” และ “พึ่งกันเอง” ได้ทั้งสิ้น
“ใช้ดินทำบ้าน ใช้ฟางทำบ้าน ใช้ยางรถยนต์ ใช้ขวดพลาสติกทำบ้าน อะไรก็ทำบ้านได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ทั้งชีวิตเพื่อมีบ้านอยู่ก็ได้ ส่วนสบู่ แชมพู ยาสีฟัน ก็ทำง่ายมาก ทำไมเราต้องซื้อแชมพูขวดละร้อยกว่าบาท ใช้เดือนเดียวหมด ส่วนเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพแบบง่ายๆ เรามีเทคนิคการใช้สมุนไพร การนวด ฯลฯ เพื่อดูแลสุขภาพเราได้ง่ายๆ
ถ้าเรากลับมาพึ่งตนเองบนสี่เรื่องนี้ จะทำให้เรามีความกลัวในชีวิตน้อยลง เราจะรู้สึกถึงอิสรภาพในการมีชีวิตอยู่
และเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถพึ่งตนเองในสี่อย่างนี้ได้ ความกลัวก็จะน้อยลง และมีอิสรภาพที่จะคิด จะทำอะไรก็ได้
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจพัง ตลาดหุ้นล้ม เกิดสงคราม หรือเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังมีอยู่ มีกิน มีใช้ นี่คือ ความงดงาม ความยิ่งใหญ่ของการมีชีวิต
“ถ้าเราไม่กังวลเรื่องปัจจัยสี่แล้ว มีอะไรให้เราต้องกลัวครับ บนโลกใบนี้” เขาเอ่ย
โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่า “การรักษา”
ขณะที่ทางฝั่งของ นพ.ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในใจชาวขอนแก่นมานานถึง 3 ทศวรรษ กับเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อการรักษาให้ลงลึกถึง "แก่น" พร้อมพาผู้คนกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติ บนหลักการของ “Healing Environment”
คุณหมอธีระวัฒน์ เล่าย้อนไปถึงเมื่อสามสิบปีที่แล้ว กับการมาสร้างโรงพยาบาลที่ขอนแก่น เขายอมรับว่า ในตอนเริ่มต้นไม่ได้มีอุดมการณ์อะไร ก็รู้สึกทุกข์ทรมานพอสมควร เนื่องจากขณะนั้น ตนเองยังไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่
“ถึงแม้จะเป็นหมอ และใช้ชีวิตดูแลคนไข้มานาน แต่ที่เราทำในตอนนั้น เราไม่เข้าใจ “แก่น” ของโรงพยาบาล ไม่ได้มาเพราะอุดมการณ์ ไม่ได้มาเพราะมีความเข้าใจ”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป “โรงพยาบาล” ในความคิดของคุณหมอธีระวัฒน์ ก็เคลียร์มากขึ้น จนมองเห็นถึง “คุณค่า” ได้อย่างชัดเจน
“สิ่งที่นำมาใช้ในการดูแลคนไข้ คือ ความเห็นใจ เป็นเรื่องสำคัญมาก นี่คือความหมายที่แท้จริงของการเป็นโรงพยาบาล เมื่อใดที่เผลอ ..เราเสร็จ
คนป่วยเป็นคนที่น่าเห็นใจอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเผลอไปมองเขาเป็นลูกค้า จะกลายเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์และเงินทองมากจนเกินไป”
แน่นอนว่า “โรงพยาบาล” ก็คือธุรกิจหนึ่ง แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่า การทำธุรกิจจะต้องเอาเงินเป็นตัวตั้งเสมอไป
“เราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนก็จะมองว่า กำไรหรือเปล่า กำไรแค่ไหน ขาดทุนไม่ได้นะ มันยิ่งมีแรงกดดัน แต่เราจะไม่ทิ้งแก่นของความหมายที่แท้จริงของโรงพยาบาล
โลกทุนนิยม เราเห็นตัวอย่างของธุรกิจมากมายที่ล้มหายตายจาก สมัยนี้เราพูดคำว่ายั่งยืนเยอะมาก ธุรกิจต้องยั่งยืน แล้วแก่นของคำว่า ยั่งยืน มันคือการทำอะไรที่ตรงกับความมุ่งหมายที่แท้จริงของธุรกิจนั้น และสร้างคุณค่าให้ตรงกับธุรกิจนั้น”
หนึ่งในภาพของ “ความยั่งยืน” ที่สะท้อนชัดเจนจากการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนโดย นพ.ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ผู้นี้ ก็คือ การก่อสร้างโรงพยาบาลราชพฤกษ์แห่งใหม่ ให้มีรูปลักษณ์เป็นมากกว่าโรงพยาบาล แต่เหมือนรีสอร์ทเสียมากกว่า
“โรงพยาบาลของเราเรียกได้ว่า เป็นโรงพยาบาลต้นแบบโรงหนึ่งของประเทศ เราทำมา 5-6 ปีแล้ว มีคนมาดูงานเยอะมาก เขาเรียกว่า Healing Environment”
เกี่ยวกับ Healing Environment นั้น เรียกได้ว่า มีความสำคัญมากกว่าแค่เทรนด์หรือกระแส เนื่องจาก สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลต่อร่างกายคนเราอย่างคาดไม่ถึง
ระบบต่างๆ ในร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็น ระบบหลอดเลือด หัวใจ ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนต่างๆ ก็มีผลศึกษาชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้มีเอฟเฟกต์จากสิ่งแวดล้อม
“ปกติเซลล์ร่างกายเรา ระบบทุกอย่างมันจะ Heal ตัวเองตลอด แล้วสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ Healing ก็คือ Stress หรือความเครียด ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศตึงเครียด ระบบทั้งหลายจะรวนหมด แต่ถ้าเราอยู่ใน Healing Environment ที่ดี ระบบเหล่านี้จะทำงานได้ดี โรงพยาบาลของเราจึงให้ความสำคัญกับ Healing Environment เพื่อให้คนที่เข้ามาได้ผ่อนคลาย
เฉพาะตัวอาคารอย่างเดียว เราใช้เวลาศึกษาประมาณปีกว่า ก่อนก่อสร้าง เราเรียกว่า “รมณียสถาน” คือต้องมีต้นไม้ใบหญ้า มีน้ำ แสงแดด ธรรมชาติ การไหลเวียนของอากาศตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ความเครียดจะลดลง”
และไม่เพียงแต่อาคาร-สถานที่เท่านั้น เพราะแนวคิดเรื่อง Healing Environment ยังรวมไปถึงแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่างๆ ก็ต้องมีลักษณะของมิตรไมตรี มีความเห็นอกเห็นใจ อยากจะช่วยเหลือตลอดเวลา จะทำให้ความเครียดต่างๆ ลดลงได้
“ในฐานะคนๆ หนึ่ง หมอก็ป่วยได้ ตายได้เหมือนกัน ถ้าเราเจ็บป่วย เวลาเข้าไปให้คนมาดูแลรักษา ก็อยากให้เขามองเห็นเราเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าความฝันของการสาธารณสุข คือ ให้บุคลากร แพทย์พยาบาล มองเห็นผู้ป่วยเป็นเพื่อนมนุษย์ ให้ความดูแลด้วยหัวใจของความเป็นเพื่อนมนุษย์” คุณหมอธีระวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
บั้นปลายชีวิต ออกแบบได้
การมีชีวิตอย่าง “อยู่ดี-มีสุข” ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในตอนอยู่เท่านั้น แต่ในยามที่เตรียมจากโลกนี้ไป ก็น่าจะเป็นเรื่องดี หากคนเราสามารถออกแบบหรือวางแผนการ “อยู่เพื่อเตรียมตัวไป” ที่เหมาะสมกับตัวเองได้
แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในใจของ “ลาณี เยเกอร์” และสามีชาวสวิส โดยเฉพาะเมื่อ คุณแม่ของสามี เคยเปรยว่า อยากจะมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองไทย ในยามที่แก่มากจนทำอะไรเองไม่ไหว
ไอเดียการก่อสร้าง Lanee's Redidenz บ้านบั้นปลายชีวิต ที่ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ จึงเกิดขึ้น โดยหวังว่า “แม่สามี” จะเป็นลูกค้าคนแรกของเธอ
“เราแต่งงานไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทำงานที่รพ.ประจำจังหวัด ชีวิตที่โน่นดีมาก ไม่ได้อยากกลับเลย แต่สามีรักเมืองไทยมาก ทุกครั้งเวลากลับไทยก็จะพาแม่สามีมาด้วย ซึ่งรักเมืองไทยเหมือนกัน แล้วท่านก็บอกว่า ตอนอายุมากๆ อยากมาอยู่ที่ประเทศไทย พูดง่ายๆ คือ อยากมาตายที่นี่ แต่ไม่อยากอยู่คนเดียว อยากมีคนที่พูดภาษาเดียวกันได้ด้วย ก็เป็นที่มาของโปรเจกต์นี้
แต่ปีที่กำลังจะกลับมา ท่านเสียชีวิตเสียก่อน แต่เราก็ยังเดินหน้าต่อ และหาคนอื่นที่จะมาอยู่กับเรา คนที่นั่นที่พอรู้จักเราอยู่แล้ว พอรู้ว่า เราทำอะไร เขาก็บอกว่า ถ้าไปอยู่ที่โน่น อยู่กับลาณี ฉันไปด้วย”
การทำธุรกิจบ้านเนิร์สซิ่งโฮม ที่มี “ทำเล” ห่างไกลความเจริญนั้น ลาณี ยอมรับว่า เป็นความท้าทายแรกๆ ที่เจอ
“บางคน ปีแรกๆ มีความสุขดี แต่ปีที่สอง ปีที่สาม เริ่มเบื่อ เพราะไม่มีสถานีรถไฟ จะเข้าเมืองที ต้องมีคนพาไป สมัยนั้นคือกันดาร จะซื้อขนมปัง หรือ ชีส ต้องวิ่งมาขอนแก่นหรือโคราช บางคนก็ย้ายออกไป
จากตอนเริ่ม เต็ม 13 หลัง เหลือแค่ 5 หลัง ก็เกิดท้อ แต่ตั้งใจว่าจะสู้ เราก็เลยพา 5 คนที่เหลือไปทำกิจกรรมในหมู่บ้าน ไปงานวัด งานกฐิน ไปเที่ยวดูช้าง ไปดูงานประเพณี ทำผ้าไหม แล้วมีทีวีสวิตเซอร์แลนด์เขามาถ่ายทำ ก็ช่วยโปรโมทให้เรา ก็เริ่มให้มาทดลองอยู่ก่อนตัดสินใจ ลองอยู่สองสามเดือน ถ้าอยู่ได้ ค่อยทำสัญญาปีต่อปี”
หลังพยายามปรับตัวทั้งการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นภาพออกว่า จะต้องมาเจอกับอะไร พร้อมๆ กันก็ทำให้สมาชิกของลาณีเร้สซิเดนซ์เป็นที่ยอมรับในชุมชน โดยเธอจะพาคุณตาคุณยายไปร่วมงานประเพณีของชุมชน และช่วยซัพพอร์ตตามกำลังที่มี
“เขาก็เริ่มเปิดใจให้เรา จนตอนนี้เขาก็รักเรา บ้านไหนดำนา เราก็พาคุณตาคุณยายไปดู ไปนั่งกินข้าวที่เถียงนาด้วยกัน ซึ่งเราอยู่ที่นี่มา 11 ปีแล้ว มีบางท่านก็เสียชีวิต คุณตาคุณยายที่อยู่ก็เห็นว่า พอเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านก็มาร่วมงานศพ แล้วลาณีทำให้ทุกอย่าง เหมือนพ่อแม่เลย เขารู้สึกประทับใจว่า ..ถ้าฉันตายไปก็ไม่โดดเดี่ยว นั่นเพราะเราไม่ได้มองเขาเป็นลูกค้า แต่มองเขาเป็นคุณย่า คุณยาย”
ชื่อเสียงของ Lanee's Redidenz เริ่มมีมากขึ้น จนแม้กระทั่งผู้สูงอายุชาวไทยเองยังติดต่อขอเข้ามาอยู่ด้วย แต่เธอจำเป็นต้องปฏิเสธไป
“เราตั้งใจแล้วว่า จะรับเฉพาะชาวต่างชาติ ไม่ใช่ว่า ไม่อยากรับคนไทยนะ แต่เป็นเรื่องของภาษา เพราะคุณตาคุณยายของเราพูดภาษาเยอรมัน ภาษาสวิส ถ้าเขามาแล้วพูดไม่ได้ ก็จะอยู่ด้วยกันยาก”
เพราะไม่อยากให้ผิดไปจากโจทย์ความตั้งใจเดิมของลาณีเร้สซิเดนซ์ เธอจึงจำเป็นต้องปฏิเสธไป อย่างไรก็ตาม นี่ยังถือเป็น “โอกาส” สำหรับใครที่คิดอยากจะทำเนิร์สซิ่งโฮมสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งลาณี เชื่อว่า ยังมีความต้องการที่จะทำได้ เพื่อรองรับผู้สูงอายุชาวไทย ที่อยากออกแบบชีวิตยามบั้นปลายด้วยเช่นกัน