ที่ราบสูงแห่งความ ‘ยั่งยืน’ ภารกิจฉบับคน ‘รักษ์โลก’

ที่ราบสูงแห่งความ ‘ยั่งยืน’ ภารกิจฉบับคน ‘รักษ์โลก’

‘ความยั่งยืน’ วันนี้ได้กลายเป็นทั้งกระแสที่ถูกพูดถึง และมิติที่ถูกใส่ลงไปทุกในมุมมอง โดยเฉพาะในธุรกิจกระแสหลักในปัจจุบันที่ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน

ไม่ว่าจะด้วยจำนวนประชากร และขนาดของพื้นที่ รูปธรรมของความยั่งยืนแห่งดินแดนที่ราบสูงฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการก้าวเดิน และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง  

ถึงเวลา พลังงานทดแทน และเท่าเทียม

ถ้าถามถึงศักยภาพของพื้นที่อีสาน ‘ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส’  อดีตนักแต่งเพลง ค่ายกามิกาเซ่ ศิลปิน นักธุรกิจ ที่ปัจจุบันผันตัวไปไปจับกับธรุกิงพลังงานทางเลือกอย่างแสงอาทิตย์แล้วล่ะก็ เขายืนยันว่าภูมิภาคนี้เหมาะสมกับพลังงานทางเลือกอย่างแสงอาทิศอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างที่รู้กันดีว่า วันนี้ พลังงานกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนชีวิต และสังคมในแทบทุกมิติ ความมั่นคง และยั่งยืนทางพลังงานจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทยตลอดมา แต่ในความเป็นจริงนั้น พลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เราจำเป็นต้องจ่ายในแต่ละเดือน วันนี้ ราคาถีบตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดอย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่ราบสูงแห่งความ ‘ยั่งยืน’ ภารกิจฉบับคน ‘รักษ์โลก’

เขาตั้งคำถามชวนคิดต่อว่า มันเกิดอะไรขึ้น และทำไม ค่าไฟที่เราเคยจ่ายอยู่หน่วยละ 3 บาทกว่าเมื่อปีกลาย ถึงกลายมาเป็น 4.7-8 บาท ในปีนี้และทำท่าว่าจะกระโดดไปที่หน่วยละ 5 บาทกว่า ในปีหน้า

หากดูโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าทั้งระบบก็จะพบว่า ที่มาของกระแสไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันนี้ มาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดต่างๆ รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งนำไปขายต่อให้กับการไฟฟ้า ราคาค่าไฟที่ถูกส่งต่อผ่าน 2-3 ทอด ค่าไฟจึงสูงกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว

ที่สำคัญกว่า 90% ของแหล่งพลังงานที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั้น เป็น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เมื่อวัตถุดิบต้นทางที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยมีปัจจัยตลาด และสถานการณ์โลกเข้ามาเป็นตัวกำกับราคาอีกทอด ทำให้ราคาไฟฟ้าในวันนี้ คนใช้ไฟอย่างเราๆ ไม่มีทางเลือกมากนัก 

"ทั้งๆ ที่ พลังงานทดแทนในโลกใบนี้มีมากมาย พลังงานลม แสงอาทิตย์ ความร้อนจากใต้ดิน หรือ น้ำ"  เขายืนยัน

ด้วยสภาพอากาศร้อน และร้อนจัดอย่างบ้านเรา ตรีรัตน์ ยืนยันว่า พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับคนไทยเป็นอย่างมาก แต่กำแพงสำคัญของอิสรภาพทางพลังงานในนิยามของเขานั้น ถูกขวางเอาไว้ด้วยใบอนุญาต และขั้นตอนของระบบราชการ โดยมี เงินทุน เป็นกุญแจดอกสำคัญ

"เรารู้ว่า พลังงานแสงอาทิตย์ มีค่าใช้จ่าย 5 ปี คืนทุน แต่การลงทุนต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 1.3 แสนบาท ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้"

เขายกตัวอย่าง อเมริกา ที่ประชาชนมีเงินกู้ที่ผ่อนกับรัฐบาลได้ 20 ปีในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชน เมื่อเทรนด์ของพลังงานทางเลือกกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

วันพรุ่งนี้จะเป็นวันของพลังงานทางเลือก ที่ทั่วถึง และเท่าเทียม อย่างแท้จริง  

 ด้วยรักษ์ จาก ‘ร้าน’ สู่โลก  

"ร้านรักษ์โลกขนาดย่อย ที่ดีต่อใจ แต่ไม่ได้ดีต่อผลกำไรนะคะ"

ที่ราบสูงแห่งความ ‘ยั่งยืน’ ภารกิจฉบับคน ‘รักษ์โลก’

ดุษฏี สุ่มมาตย์ ออกตัวติดตลกถึง ร้าน Dotlimited ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเธอ และเพื่อนๆ ที่มองเรื่องความสำคัญกับโลกในวันพรุ่งนี้อีก 3 คน เพื่อทำให้เกิดทิศทางการใช้ชีวิตในเมืองขอนแก่นมีตัวเลือกมากขึ้น

เธอเล่าถึงแก่นแนวคิดของร้าน มาจากคำว่า limited เพราะทรัพยากรบนโลกใบนี้มีอยู่อย่างจำกัด วิธีการใช้ชีวิต ใช้เวลา และทรัพยากรต่างๆ  ถ้าคิดถึงปัจจัยเหล่านี้ ก็จะเปลี่ยนวิธีคิดไปโดยทันที และกลายมาเป็นที่มาที่ไปของร้านในที่สุด

ในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร หรือหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ ร้าน zero waste หรือ refill station อาจจะดูเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ขอนแก่น เรื่องนี้ยังไม่เคยมีใครทำออกมาในรูปแบบของร้านทำนองนี้มาก่อน ก้าวเดินของสมาชิก Dotlimited สำหรับเธอจึงถือว่าท้าทายอย่างยิ่ง

"ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 เมืองศูนย์กลางความเจริญของภาคอีสานก็เพิ่งมีร้าน zero waste เกิดขึ้น"

พวกเธอเลือก อาคารไม้สี่แยกริมถนน หลังเมือง ตัดถนนชีท่าขอน เป็นทำเลที่ตั้ง ถือเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมดั้งเดิมของตัวเมืองขอนแก่น ทำให้เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงเรื่องราวกับผู้คน และเป็นการสะท้อนการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มศักยภาพ

"สังกะสี ไม้ทุกชิ้น ตะปูทุกดอก หรือแม้กระทั่งช่องเปิดช่องลมทุกอย่าง เราพยายามที่จะเก็บทุกอย่างที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่เอาไว้ให้ได้มากที่สุด"

 นอกจากทำเล แล้ว ผู้คนที่มาร่วมไม้ร่วมมือกันจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ นักออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร ก็ถือเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่เธอ และทีมต้องการนำเสนอ เน้นไปที่คุณค่าการใช้งานมากกว่าความสวยงาม โดยเฉพาะ ประสบการณ์ในการที่แต่ละคนจะได้มีโอกาสนำบรรจุภัณฑ์จากที่บ้านของตัวเองมาเลือกใส่ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในร้าน และทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ภายในร้านตามไปด้วย

"ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อยากใช้เวลาอยู่ในร้านของเรา ทำให้เรามีเวลาที่จะสื่อสาร เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ชุมชน ที่จะเป็นที่มาที่ไปที่เอามาขาย ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตเอง"

เพราะต้องการเติมเต็มในกลุ่มคนที่มีความเชื่อในความรักษ์โลกแบบเดียวกัน แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก นั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เวลา และกำไรกลายเป็นเรื่องรอง เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ได้ดูแลเครือข่ายที่มองเรื่องเดียวกัน และใช้ชีวิตแบบเดียวกันให้ก้าวผ่านกระแสของวันนี้ไปให้ได้

นอกจากเรื่องของสุขภาพแล้ว ท้องถิ่น และชุมชน ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่พวกเธอพยายามหาจุดเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน อีกทั้ง ยังมีกิจกรรม และการเวิร์กช็อป เป็นอีกกระบวนการสำคัญที่จะปลูกฝังวิธีคิดที่เป็นมิตรกับโลก และผู้คนให้กับคนรุ่นต่อไป

ทั้งหมดก็เพื่อความยั่งยืน และวันพรุ่งนี้

ทำไมวงจรการรีไซเคิลพลาสติกถึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เป็นที่รู้กันดีว่า พลาสติกอายุการใช้งานสั้น แต่ระยะเวลาการย่อยสลายยาวนาน และอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาของพลาสติกไม่เคยหมดไปจากโลกใบนี้ก็คือ ชนิด-ประเภทของพลาสติกที่ต้องผ่านกระบวนการที่นำไปสู่ต้นทุนในการคัดแยก

ที่ราบสูงแห่งความ ‘ยั่งยืน’ ภารกิจฉบับคน ‘รักษ์โลก’

มันจึงกลายเป็นความตั้งใจของ ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง CirPlas Tech ที่อยากจะเข้ามาดูแลขยะพลาสติกที่ปะปนอยู่ในชุมชนเมือง และประเทศไทย เพื่อ Recycle อย่างสร้างสรรค์เป็นมิตร และยั่งยืนไปกับโลกปัจจุบัน

เพราะรู้ว่าส่วนงานจัดเก็บเพื่อนำกลับสู่กระบวนการใช้ซ้ำหรือย่อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตครั้งใหม่ในวงจรการบริโภคยังเป็นตัวแดง จึงเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจคัดแยกขยะพลาสติก ที่เขาไปจับมือกับบริษัทที่สร้างขยะพลาสติก รวมทั้งกระจายถังคัดแยกขยะพลาสติกไปวางตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ก่อนจะนำพลาสติกเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการคัดแยก บด และหลอม จนกลายมาเป็นเม็ดพลาสติกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ทำไมการคัดแยกจึงถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกับขยะพลาสติก ทศพล ยกตัวอย่างรูปแบบการผลิตในปัจจุบันอย่าง linear economy ที่การผลิตอะไรขึ้นมาสักอย่าง จะเกิดการดึงวัตถุดิบจากธรรมชาติ เอามาใช้ ผลิตของ หลังจากนั้นก็ทิ้ง

นั่นจึงเป็นที่มาของขยะพลาสติก มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 การถือภาชนะไปเองกลายเป็นเรื่องต้องห้าม การเติบโตของธุรกิจส่งอาหาร ทำให้ปริมาณขยะในวงจรชีวิตคนเราเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อปริมาณขยะเยอะขึ้น วิธีการกำจัดที่ง่ายที่สุด ถ้าไม่เผา ก็ฝังกลบ โดยเฉพาะพลาสติก

"รถกระบะ 1 คัน ผมเคยบรรทุกขวดน้ำได้ 200 กิโลกรัม มันน้อยมากนะครับเมื่อเทียบกับคนที่บรรทุกเหล็ก หรือทองเหลืองเพื่อเอาไปรีไซเคิล"  

เมื่อลองเทียบเคียงกับค่าใช้จ่ายในการคัดแยก หรือกระบวนการนำกลับไปรีไซเคิล มันจึงเลยง่ายที่จะนำไปสู่การฝังกลบ หรือเผาทำลายมากกว่า

แต่เมื่อเราต้องสร้างพลาสติกขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ จึงเกิดคำถามในใจเขาที่อยากจะถามออกมาดังๆ

"เผาทำไมครับ"

เพราะขยะพลาสติกมีหลายประเภท และไม่สามารถแยกด้วยเครื่องจักรได้ไม่ว่าจะเป็นแก้วพลาสติก หรือขวดสี เมื่อต้นทุนการคัดแยกสูง จึงทำให้ ขยะกว่า 2 ล้านตันเหล่านั้น ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 25% เท่านั้น ส่วนขยะอีก 1.5 ล้านตันถ้าไม่จบที่ก้นบ่อขยะเพื่อฝังกลบ ก็นอนจมกองไฟระเหยเป็นไอไปปนเปื้อนอยู่ในอากาศแทน

"ลองคิดดูง่ายๆ นะครับ แชมพูยี่ห้อหนึ่ง รักษ์โลกขึ้นมา ต่อไปนี้จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทำจากใบไม้ เลิกใช้เสร็จคุณฝังกลบได้เลย หายไปแน่นอน แต่ราคาของแชมพูยี่ห้อนั้น จะต้องแพงขึ้นไปอีก 30% คำถามคือ คุณจะใช้แชมพูยี่ห้อนั้นไหม หรือคุณจะเปลี่ยนยี่ห้อ"

ปัญหาของพลาสติกจึงอยู่ที่การจัดการมากกว่า เพื่อที่จะสามารถทำให้พลาสติกที่ใช้แล้วเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้ได้มากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ขยะพลาสติก 1 ชิ้น ไม่ได้จบอยู่แต่ก้นถังขยะ หรือโรงงานกำจัดขยะ แต่มักเล็ดลอดเข้าสู่ระบบนิเวศ โดยเฉพาะมหาสมุทร เราจึงมักเห็นภาพขยะพลาสติกอยู่กับเหล่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติเสมอๆ

 .