เส้นทางชีวิต ผู้การฯ ‘เรือหลวงสุโขทัย’ และ ‘ต้นเรือพลับ’ ทายาทบิ๊กทร. ที่ยังค้นหาตัวอยู่

เส้นทางชีวิต ผู้การฯ ‘เรือหลวงสุโขทัย’ และ ‘ต้นเรือพลับ’ ทายาทบิ๊กทร. ที่ยังค้นหาตัวอยู่

‘เรือหลวงสุโขทัย’ อับปาง ทำให้กองทัพเรือไทยเผชิญคำถามมากมาย รวมถึงข้อสงสัยต่อเหตุที่เกิดขึ้นบนเรือซึ่งมี นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี เป็นผู้บังคับการแห่งเรือหลวงสุโขทัย และรอดชีวิตกลับมา

  • เรือหลวงสุโขทัย อับปาง กลายเป็นฝันร้ายอีกครั้งของกองทัพเรือไทย ไม่เพียงส่งผลต่อความสูญเสีย แต่ยังทำให้เกิดคำถามมากมายตามมา
  • เรือหลวงสุโขทัยมี นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี เป็นผู้บังคับการ และรอดชีวิตกลับมา พร้อมยืนยันว่า พยายามแก้ปัญหาบนเรือตามขั้นตอนอย่างดีที่สุด
  • ในบรรดาผู้สูญหาย มี ‘ต้นเรือพลับ’ ทายาทบิ๊กทร. เป็นอีกหนึ่งกำลังพลที่หลายฝ่ายยังพยายามค้นหาตัวอยู่

เหตุการณ์ ‘เรือหลวงสุโขทัย’ เป็นฝันร้ายของ ‘ลูกประดู่’ เหตุการณ์เรือรบล่มไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ล่าสุดคือเมื่อ 71 ปีก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2494 เหตุการณ์ ร.ล.ศรีอยุธยา ถูกจมลงในเหตุการณ์ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ 29 มิ.ย. 2494 จากกลุ่มทหารเรือที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร

โดยในเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะ จอมพล ป. เดินทางไปร่วมพิธีรับมอบเรือขุดจากอเมริกันชื่อ ‘แมนฮัตตัน’ แต่ถูกทหารเรือจับเป็นตัวประกันและพาตัวไปกักขังไว้ที่ ร.ล.ศรีอยุธยา ต่อมาเรือถูกระดมยิงและถูกทิ้งระเบิดจากกองทัพอากาศ ซึ่งในเหตุการณ์นั้น จอมพล ป. กระโดดจากเรือหนีออกมาได้

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นั้น ทำให้ ‘ดุลอำนาจ’ ระหว่างเหล่าทัพเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกองทัพเรือที่โดนเด็ดอำนาจไป

เหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย อับปางในปี 2565 ทำให้มีการพูดถึงเรื่อง ‘ทางเทคนิค’ ในการรับมือสถานการณ์หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น รวมทั้งมีการพูดถึง ‘โครงสร้าง-สเปกเรือ’

สำหรับ ร.ล.สุโขทัย เป็นเรือคอร์เวต สร้างโดย TACOMA BOATBUILDING COMPANY ที่เมือง TACOMA สหรัฐอเมริกา โดยเรือหลวงสุโขทัยมีชื่อเดิมว่า RTN 252 FT PSMM MK-16 #446 ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงพร้อมปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติในเวลาเดียวกัน คือการป้องกันภัยทางอากาศ ผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

โดย ร.ล.สุโขทัย วางกระดูกงู เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 ขึ้นระวางประจำการ 19 ก.พ. 2530 ประจำการมาแล้ว 35 ปี

อย่างไรก็ตาม ร.ล.สุโขทัย ผ่านการซ่อมบำรุงเรือครั้งใหญ่ช่วงปี 2561-2563 และรับกลับมาปี 2564 เท่ากับว่าใช้งานมาได้เพียงประมาณ 2 ปีเท่านั้น ก่อนมาเกิดเหตุการณ์อับปางขึ้น โดย ทร. วางแผนปลดระวางอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะอายุการใช้งานเรือจะอยู่ที่ 40 ปี

ดังนั้น กองทัพเรือจึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนในเรื่องนี้ ตั้งแต่ระดับ ‘ผู้บังคับการเรือ’ จนถึง ‘กำลังพล’ ประจำเรือในจุดต่าง ๆ เพื่อให้ได้หลายชุดข้อมูลมาประกอบกัน เพื่อทราบที่มาที่ไปและสาเหตุเรืออับปาง โดยข้อมูลสำคัญอยู่ที่เอกสารเรือ เอกสารยุทธการ สมุดจดคำสั่ง และวิทยุสั่งการไปยังทัพเรือภาค

ทั้งนี้ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. เปิดเผยว่า กรณีที่มีการถามถึงอุปกรณ์กล่องดำนั้น ร.ล.สุโขทัย มีอายุประจำการมากว่า 35 ปี จึงไม่มีอุปกรณ์ที่จะมาเรคคอร์ด (บันทึก) ข้อมูลระบบเครื่องยนต์เครื่องจักร แต่จะใช้การสอบถามหรือสอบสวนจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาประเมินผล

หนึ่งในผู้ที่ต้องให้ข้อมูลและรับผิดชอบ คือ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปาง ซึ่งในเบื้องต้น นาวาโท พิชิตชัย ยังอยู่ระหว่างพักรักษาตัว แต่ได้เล่าถึงเหตุการณ์เรืออับปางผ่าน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ หลังได้พูดคุยกัน

โดย พล.ร.อ.อะดุง เปิดเผยว่า เรือออกจากสัตหีบ และลอยลำอยู่กลางทะเล 1 วัน จากนั้นเจอพายุที่มีคลื่นลมแรงมาก ผู้การเรือฯ ยืนยันว่าในรอบ 10 ปี ไม่เคยเจอมาก่อน และในระหว่างนั้นได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามลำดับ ครบทุกขั้นตอน และแจ้งขอเดินเรือกลับสัตหีบ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาคลื่นลมแรง จึงขอเข้าจอดจุดหลบที่บางสะพาน แต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย

“เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วมาก เริ่มจากกราบเรือด้านซ้ายเอียงก่อน ทำให้ไม่สามารถปล่อยแพชูชีพได้ ในขณะที่กราบขวาก็เผชิญกับคลื่นลมแรงอีก การเปิดใช้แพชูชีพเป็นไปค่อนข้างลำบาก ผู้การเรือฯ ยืนยันว่าได้ทำตามทุกขั้นตอนแล้ว พยายามเต็มที่ในการแก้ปัญหาในนาทีวิกฤติ แล้วประคองเรือไม่ให้จมจนสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ต้องสละเรือ” พล.ร.อ.อะดุง เปิดเผยหลังพูดคุยกับ ผู้บังคับการ ร.ล.สุโขทัย

สำหรับ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี จบเตรียมทหารรุ่น 43 นายเรือรุ่น 100 เติบโตจากกองเรือฟริเกตที่ 1 เคยเป็นต้นเรือใน ร.ล.รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรือชุดเดียวกับ ร.ล.สุโขทัย เคยเป็นผู้บังคับการ ร.ล.คำรณสินธุ

สำหรับเส้นทางการเติบโตก่อนจะขึ้นเป็น ‘ผู้การเรือ’ จะต้องผ่านตำแหน่งระดับล่างลงมา ได้แก่ ต้นเรือ (รองผู้การเรือฯ) นายทหารการอาวุธ ต้นหน (เดินเรือ) และนายทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นการเติบโตตามลำดับ ‘อาวุโส’ ของ ‘พรรคนาวิน’ ทร. ทั้งนี้ นาวาโท พิชิตชัย เป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อนนายเรือทหารที่รุ่นใกล้เคียงกันว่า เป็นคนที่เข้าถึงคนง่าย โดยคนที่รู้จักจะเรียกว่า “เถื่อน” ตามนามสกุลเถื่อนนาดี

ส่วนที่อยู่ระหว่างค้นหา คือ ‘ต้นเรือพลับ’ นาวาตรีพลรัตน์ สิโรดม บุตรชายของ ‘บิ๊กหนุ่ย’ พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม อดีตรองปลัดกลาโหม และ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทร. (ข้อมูล ณ 22 ธันวาคม 2565)

‘ต้นเรือพลับ’ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 50 เป็นนักเรียนนายเรือรุ่น 107 สำหรับ พล.ร.อ.พลวัฒน์ เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. ปี 2556 ร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รอง ผบ.ทร. , พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ เสธ.ทร. และ พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่พลาดตำแหน่ง ผบ.ทร.

ทั้งนี้ พล.ร.อ.อะดุง ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ ได้พูดคุยกับ พล.ร.อ.พลวัฒน์ หลังลูกชาย น.ต.พลรัตน์ เกิดเหตุขึ้น ท่านเป็นห่วงลูกชายมาก และท่านไม่แทรกแซงการปฏิบัติงาน เพราะท่านรู้เรามีงานมาก ท่านยังบอกให้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งยืนยันว่าทำเต็มที่เพื่อค้นหากำลังพลทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม เพราะทุกคนคือลูกเสด็จเตี่ยเหมือนกัน

มีข้อมูลน่าสนใจว่า ‘ต้นเรือพลับ’ เคยแสดงภาพยนตร์สั้น วันกองทัพเรือ 20 พ.ย.2564  เรื่อง “LUCK รักษ์” ที่ช่วยสาวน้อยผู้ประสบภัยทางทะเล ที่ ร.ล.ตากสิน ช่วยเหลือไว้และได้รู้จักชีวิตทหารเรือมากขึ้น  โดย ‘ต้นเรือพลับ’ แสดงเป็น ‘ต้นปืนกี้’ ทหารเรือที่มุ่งมั่นด้วยอุดมการณ์แรงกล้ากับหน้าที่ การปกป้องรักษาทะเล สมบัติล้ำค่าของคนไทย

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้มีภาพสะท้อนว่า ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นเพื่อน ตท.22 ทั้งหมด มีการพูดคุยประสานงานกันอยู่ตลอด เริ่มจาก พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. ที่สั่งการให้นำเฮลิคอปเตอร์  EC-725 จากหน่วยบิน 2037 และชุดประสานการค้นหาและช่วยชีวิตปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการค้นหาและช่วยชีวิตลงพื้นที่ พร้อมกับเครื่องบิน AU-23 Peacemaker บินค้นหาผู้สูญหายในทะเล ใช้พื้นที่กองบิน 5 ประจวบฯ เป็นกองบัญชาการฯ

โดยทั้ง ทอ. และ ทร. ได้แบ่งพื้นที่ค้นหาเป็น 11 พื้นที่ แบ่งตามยุทโธปกรณ์ที่นำเข้าพื้นที่ ทั้ง เรือรบ อากาศยานต่าง ๆ โดยมี ร.ล.อ่างทอง ทำหน้าที่เป็น ‘กองบัญชาการลอยน้ำ’ อยู่กลางทะเล

ในส่วนของ ทบ. ที่ไม่ได้สนับสนุนอากาศยาน โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ชี้แจงว่า อากาศยานของ ทบ. ไม่เหมาะกับการใช้งานทางทะเล แต่ได้สแตนด์บายให้ความช่วยเหลือไว้ เช่น เฮลิคอปเตอร์พยาบาล เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงกำลังพล เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง จากกองกำลังสุรสีห์ รวมทั้งกำลังพลภาคพื้น โดยมณฑลทหารบกที่ 44 จ.ชุมพร ได้สนับสนุนการให้ใช้พื้นที่เพื่อทำการบินขึ้นลงของอากาศยานและการเตรียมเชื้อเพลิงให้อากาศยาน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวอีกว่า “ตามที่กองทัพเรือชี้แจงปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรข้างหน้า ผมมองว่า ‘ผู้บังคับการเรือ’ แก้ไขสถานการณ์ได้ดีที่สุด รวมถึงผู้บังคับบัญชาในลำดับชั้นอื่น ๆ ในเรือ รวมถึง ‘ต้นเรือ’ ด้วย ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว”

เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การ ‘ถอดบทเรียน’ ในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องทางการทหาร และปฏิบัติการต่อไปคือการ ‘กู้เรือ’ ที่ในขณะนี้ ทร. ได้ส่ง ร.ล.บางระจัน ประจำกองเรือทุ่นระเบิดเข้าพื้นที่ โดยกองทัพเรือจะใช้ยานสำรวจใต้น้ำ Sea Fox เพื่อดำลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ ดูลักษณะการวางตัวของ ร.ล.สุโขทัย ว่าอยู่ในลักษณะใด นำมาใช้วางแผนกู้เรือและดูรายละเอียดเรือส่วนต่าง ๆ

ส่วนการกู้เรือก็จำเป็นให้ภาคเอกชนในประเทศไทยเข้ามาร่วม แม้กองทัพจะมีเครื่องมือ แต่ไม่ทันสมัยเท่ากับของภาคเอกชนที่มีเครื่องมือพร้อมกว่า ซึ่งการ ‘กู้เรือ’ ก็ต้องทำแข่งกับเวลาเพื่อป้องกันน้ำมันรั่วที่จะส่งผลต่อมลพิษทางทะเล

ภารกิจ ร.ล.สุโขทัย อับปาง ยังไม่จบเพียงเท่านี้...

 

เรื่อง: กุหลาบ ลายพราง

ภาพ: Royal Thai Navy และเพจ เรือหลวงสุโขทัย FSG - 442