‘ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร’ เด็กที่ชีวิตลำบาก สู่นักบุญล้านนาผู้เป็นที่เคารพทั่วสารทิศ

‘ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร’ เด็กที่ชีวิตลำบาก สู่นักบุญล้านนาผู้เป็นที่เคารพทั่วสารทิศ

‘ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร’ นักบุญแห่งล้านนาซึ่งเป็นที่เคารพจากผู้คนทั่วสารทิศ ได้รับคำเรียกขานว่าจะเป็น ‘เจ้าตนบุญแห่งล้านนาองค์ต่อไป’

  • ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร มีชื่อเสียงและได้รับคำความเคารพจากผู้คนหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์นักฟุตบอลติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
  • หลังจากท่านได้อุปสมบทก็จาริกไปจำพรรษา ณ ที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งลาว พม่า และภูฏาน ส่วนใหญ่มักจาริกไปจำพรรษาตรงขอบชายแดนระหว่างไทยและพม่า

ในดินแดนล้านนา หากจะกล่าวถึงพระเกจิสายครูบาทางภาคเหนือที่มีชื่อเสียงในอดีตคงหนีไม่พ้นพระเกจิรูปสำคัญ นั่นก็คือ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ที่ได้รับการยกย่องจากชาวล้านนาว่า ‘เจ้าตนบุญแห่งล้านนา’

หลังจากครูบาศรีวิชัยมรณภาพสิ้นลงแล้ว แทบไม่ปรากฏพระเกจิชาวล้านนารูปใดที่จะมีชื่อเสียงใกล้เคียงเท่าครูบาศรีวิชัย จนกระทั่งได้มีการปรากฏขึ้นของ ‘ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร’ ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชาวล้านนาส่วนใหญ่ชื่นชมว่า เจ้าตนบุญแห่งล้านนาองค์ต่อไป 

คำว่า ตนบุญ นั้นก็หมายถึง นักบุญ นั่นเอง เป็นคำที่ชาวล้านนาขนานนามพระเถระผู้ที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เป็นไปอยู่

ครูบาบุญชุ่ม หรือพระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสังวโร นามเดิมว่า บุญชุ่ม ทาแกง เป็นชาวหมู่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2508 (ขึ้น 3 ค่ำเดือน 4) เวลา 9.00 น. ซึ่งเป็นบุตรของพ่อคำหล้าและแม่แสงหล้า ทาแกง

ก่อนที่ท่านจะถือกำเนิดนั้น มารดาของท่านได้ฝันเห็นนิมิตว่า ได้ขึ้นภูเขาไปไหว้พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่เหลืองอร่ามงามยิ่งนัก หลังจากเห็นความฝันนั้นได้ไม่นานก็ได้ตั้งครรภ์ เมื่อครบ 10 เดือน ได้ให้กำเนิดเด็กน้อยนามว่า บุญชุ่ม

ในช่วงชีวิตวัยเด็กของท่าน ฐานะครอบครัวยังพออยู่พอกิน แต่เมื่อสูญเสียคุณพ่อไป ตอนท่านอายุได้ 4 ปี ก็ประสบความทุกข์ยากลำบากมาก กระทั่งต้องอพยพไปสร้างกระต๊อบน้อยอยู่กัน 4-5 คนแม่ลูก ณ ดอยม่อนเลี่ยม จ.เชียงใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าชีวิตในวัยเด็กของท่านจะทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านยังได้รับการปลูกฝังคุณความดีจากคุณยายและคุณแม่ของท่านอยู่เสมอ ด้วยการพาเข้าวัดให้ได้รับการอบรมบ่มเพาะคุณธรรมจากพระสงฆ์ เป็นเหตุให้เด็กชายบุญชุ่มได้มีความรู้สึกผูกพันกับบวรพระพุทธศาสนาอย่างมาก 

อุปนิสัยของเด็กชายบุญชุ่มเป็นเด็กที่ขยันมากกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน เพราะต้องทำงานเพื่อหารายได้แก่ครอบครัว ถึงแม้จะทำงานหนักสักเพียงใด ท่านยังสามารถเรียนหนังสือจนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ด้วยตั้งใจว่า หากเรียนจบแล้วจะบรรพชาเป็นสามเณรทันที

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2517 เด็กชายบุญชุ่มได้เข้ามาฝากตัวเป็นเด็กวัดอยู่กับ เจ้าอธิการสิน จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดบ้านด้าย ตอนท่านได้อายุ 11 ปี หลังจากที่ได้เป็นเด็กวัดตลอด 3 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ตรงกับขึ้น 8 ค่ำเดือน 11 ที่วัดศรีบุญยืน ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี พระครูหิรัญเขตคณารักษ์ วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่จัน เจ้าคณะอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นองค์พระอุปัชฌาย์

หลังจากที่ท่านได้บวชเป็นสามเณรก็ทำกิจสมณวัตรประจำวันเป็นอย่างดี เช่น ทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนา กวาดวิหารลานพระเจดีย์ ตลอดระยะเวลาเป็นสามเณรรวมทั้งสิ้น 10 พรรษา โดยตั้งแต่พรรษาแรกจนถึงพรรษาที่ 7 จำพรรษาที่วัดในประเทศไทย พรรษา 8-9 จำพรรษาที่วัดในประเทศพม่า และพรรษาสุดท้ายของการเป็นสามเณรมีโอกาสไปจำพรรษาที่ประเทศเนปาล ณ วัดอานันทกุฏีวิหาร กาฐมัณฑุ

ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ตรงกับขึ้น 11 ค่ำเดือน 8 เวลา 9.19 น. สามเณรบุญชุ่ม ได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยมีพระราชพรหมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นองค์อุปัชฌาย์ พระครูเวสุวันพิทักษ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระครูศรีปริยัตินุรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ โบสถ์วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ จ.เชียงใหม่ โดยได้รับฉายาทางพระว่า ญาณสังวโร แปลว่า ผู้มีความสำรวมด้วยปัญญา

หลังจากท่านได้อุปสมบทก็จาริกไปจำพรรษา ณ ที่ต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ คือประเทศลาว พม่า และภูฏาน แต่ส่วนใหญ่ท่านมักจะจาริกไปยังสถานที่จำพรรษาที่ตั้งอยู่ในขอบชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่เป็นนิตย์ รวมถึงท่านเป็นพระนักพัฒนาจึงพัฒนาวัดที่ตนอยู่จำพรรษาก็ตามหรือไม่ก็ตามในแต่ละปี และท่านยังบำเพ็ญบุญด้านสาธารณสงเคราะห์ตามที่ต่างๆ ทางภาคเหนือ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก  

กล่าวได้ว่า ไม่ว่าท่านจะไปในที่ไหนก็ตาม ก็เป็นที่เคารพยกย่องของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่งในพื้นที่บริเวณนั้น

เดิมทีครูบาบุญชุ่มเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มของชาวไทยภาคเหนือและชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยแถบชายแดนประเทศพม่าเท่านั้น แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนคนไทยทั่วไป ท่านได้เป็นที่รู้จักกันมากในปี 2556 หลังจากท่านวนเวียนไปจำพรรษาในที่ต่าง ๆ ในปีนั้น

ท่านได้กลับมาจำพรรษา ณ ถ้ำโพธิสัตว์ราชคฤห์ เมืองงาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นพรรษาที่ 22 ท่านได้ปรารภกับศิษยานุศิษย์ว่า “จะจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญภาวนาในถ้ำนาน 3 ปี 3 เดือน” 

พอหลังจากครบตามที่ท่านกำหนดไว้ ท่านก็ได้ออกมาจากถ้ำ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2556 โดยมีทั้งชาวไทยและชาวไทใหญ่รอการต้อนรับเพื่อทำการบูชากราบไหว้เป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุทำให้ครูบาบุญชุ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ท่านมาปรากฏตัวจนเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเหตุการณ์ทีมหมูป่า 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งเป็นข่าวที่กระแสแรงมากในช่วงนั้น ท่านได้มาทำพิธีแผ่เมตตาตลอด 3 วัน ทั้งยังทำนายอีกว่า เด็ก ๆ จะออกจากถ้ำภายใน 2 วัน ในการมาของท่านในครั้งนั้นได้สร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่และญาติพี่น้องของผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงทำให้ครูบาบุญชุ่มปรากฏแก่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในฐานะ “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา”

ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เป็นวันครบรอบแห่งการอยู่จำพรรษาของครูบาบุญชุ่ม หลังจากที่ท่านได้ประกาศจำพรรษาในถ้ำหลวงเมืองแก๊ด รัฐฉาน ประเทศพม่า ตลอด 3 ปี 3 เดือน 3 วัน จึงทำให้ศิษยานุศิษย์จำนวนมากต่างแห่กันไปจับจองพื้นที่เพื่อทำการต้อนรับและสักการบูชาครูบาบุญชุ่ม ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีจำนวนมากกว่าปี 2556 เพราะได้มีการแห่จับจองพื้นที่ตามที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ผู้เขียนได้ทราบมาว่า ผู้ที่ไปทำการต้อนรับเพื่อทำการบูชากราบไหว้ครูบาบุญชุ่ม ส่วนมากจะมีความเชื่อที่ว่า ครูบาบุญชุ่มออกจากสมาบัติ เมื่อได้บูชาสักการะผู้ที่ออกจากสมาบัติจะทำให้ตัวเองได้บุญมาก ความเชื่อลักษณะนี้ มีความคล้ายกับเนื้อหาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ดังที่มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกมีพระมหากัสสปเถระเป็นต้น ครั้นเข้าสมาบัติได้ 7 วัน ในวันที่ 8 ออกจากสมาบัติแล้วจะตรวจดูสัตว์โลกเพื่อที่จะมาอนุเคราะห์ประชาชนโดยทำให้ผู้ทำบุญถวายทานแก่ท่านแล้วได้รับผลานิสงส์เป็นอันมาก   

ภาพลักษณ์ที่ปรากฏด้วยการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ในถ้ำหลายปี รวมถึงปฏิปทาตลอดการเป็นนักบวชของท่านนั้น ถูกมองว่าคล้ายกับพระมหาเถระในอดีตตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา 

ทั้งนี้ ความเชื่อว่าครูบาบุญชุ่มออกจากสมาบัตินั้นเป็นความเชื่อของผู้มีศรัทธาในตัวท่าน ในปัจจุบันยังไม่พบตัวชี้วัดที่ปรากฏเป็นรูปธรรมซึ่งสามารถบ่งชี้ให้ทราบได้อย่างชัดเจน

แต่นอกเหนือจากเรื่องความเชื่อเรื่องครูบาบุญชุ่มจะเข้าสมาบัติแล้ว การประพฤติปฏิบัติของท่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติเจริญภาวนาและการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่มหาชน ก็สงเคราะห์เข้ากับคำที่ว่า “อัตตหิตประโยชน์ คือทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเอง” และ “ปรหิตประโยชน์ ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น” ซึ่งเป็นไปตามแนวแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั่นเอง



เรื่อง: เพิ่มพูน หงษ์เหิร

ภาพ: ครูบาบุญชุ่ม ขณะมาที่ถ้ำหลวง วนอุทยานขุนน้ำนางนอน เมื่อ 4 ก.ค. 2561 ภาพจาก Nation Photo 

อ้างอิง:

ธีรพร ชัยวัชราภรณ์. 30 พรรษาในร่มเงาพระพุทธศาสนา ของพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์เนชั่นกรุ๊ป, 2549.

รายงานวิจัยเรื่อง บทบาทการเชื่อมโยงภูมิภาคของครูบาบุญชุ่ม (2560). สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.