5 หลักคิดของ ‘เคลาส์ ชวับ’ ศาสตราจารย์ผู้ตั้ง World Economic Forum ที่ผู้นำโลกมางานทุกปี

5 หลักคิดของ ‘เคลาส์ ชวับ’ ศาสตราจารย์ผู้ตั้ง World Economic Forum ที่ผู้นำโลกมางานทุกปี

‘เคลาส์ ชวับ’ ศาสตราจารย์ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum ที่ผู้นำโลกต้องมาร่วมประชุมกันทุกปีเพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย และประกาศวาระสำคัญต่าง ๆ แม้จะอายุ 85 ปีแล้ว แต่เขายังทำงานและมีบทบาทเสมอ

  • ‘เคลาส์ ชวับ’ ก่อตั้ง World Economic Forum ที่กลายเป็นงานประชุมสำคัญซึ่งผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกต้องเข้าร่วมประชุมทุกปี
  • ศาสตราจารย์ ‘เคลาส์ ชวับ’ อายุ 85 ปีแล้ว แต่ยังทำงานและมีบทบาทอยู่ โดยเขามี 5 หลักคิดที่ยึดถือสำหรับการทำงานในวัยหลังเกษียณ

ถ้าพูดถึงเวทีระดับโลกที่ทรงพลังและส่งผลต่อโลกใบนี้ที่สุดเวทีหนึ่ง คงหนีไม่พ้น WEF หรือ สภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum) มูลนิธิสัญชาติสวิสที่ไม่หวังกำไร (Non-Profit Foundation) 

หากนึกภาพไม่ค่อยออกว่าคือเวทีไหน? มันคือเวทีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ และเกรตา ธุนเบิร์ก ปรากฏตัวด้วยกันในปี 2020 และฉะเรื่องโลกร้อนกันอย่างดุเดือด

ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปคงต้องบอกว่า เวที WEF คือเวทีขององค์กรอิสระนานาชาติองค์กรเดียวที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน คนกำกับนโยบาย ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทชั้นนำ เยาวชน และนักพัฒนานวัตกรรม ฯลฯ มาร่วมนั่งประชุมด้วยกันเพื่อกำหนดทิศทางโลกว่าจะไปทางไหนโดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงอุดมการณ์และพาณิชย์ มันยังเป็นเวทีที่เอาไว้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ หรือแสดงการคว่ำบาตรประเทศต่าง ๆ อีกด้วย 

เวทีที่ทรงอิทธิพลนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดยศาสตราจารย์เคลาส์ ชวับ (Professor Klaus Schwab) ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน สาขาวิชาธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา โดยแรกเริ่มใช้ชื่อว่าสภาผู้บริหารยุโรป (European Management Forum) แล้วเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน ในปี 1987 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในโคโลจ์นี (Cologny) นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 

ชายผู้พาผู้นำโลกมานั่งประชุมร่วมกันทุกมกราคมของทุกปี

เมื่อวัยเด็ก ครอบครัวชวับย้ายจากสวิสเซอร์แลนด์มายังเยอรมนี ในยุคของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวชวับ ได้รับหน้าที่ให้มาดูแลโรงงานอุตสาหกรรมสวิส Escher Wyss AG ที่เข้ามาตั้งในเยอรมนี 

เคลาส์ ชวับ จึงเกิดเมื่อปี 1938 และเติบโตในเยอรมนี แม้ว่าเขาจะมีพี่ชายสองคนมีสัญชาติสวิสก็ตาม

ในด้านการศึกษา ในช่วงประถม 1-2 เนื่องจากสงครามเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง ชวับ จึงได้กลับไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนย้ายกลับมาเยอรมนีราว 2-3 ปี ให้หลัง เขาเรียนระดับมัธยมที่ Spohn-Gymnasium ในเมืองราเวนสเบิร์ก 

ก่อนที่ปี 1961 เขาจะกลับไปสวิสเซอร์แลนด์เพื่อเรียนปริญญาด้านวิศวะเครื่องกล (mechanical engineering) ในซูริก จนกระทั่งจบปริญญาเอก เขายังได้รับปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์ และปริญญาอื่น ๆ ตามมาด้วย

เขาทำงานเป็นวิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์ การเป็นนักคิดและนักปฏิบัติผลักดันให้เขาก่อตั้ง WEF ขึ้นในปี 1971 เพื่อหวังให้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและหน่วยงานล็อบบี้ยิสต์ โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสายธุรกิจ การเมือง นักวิชาการ และผู้นำอื่นในสังคม เพื่อกำหนดวาระดับโลก ภูมิภาค และอุตสาหกรรม

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 ชวับ เชิญผู้บริหารระดับสูง 450 คนจากบริษัทในยุโรปตะวันตกมาร่วมประชุมในดาวอส ในการประชุม European Management Symposium ภายใต้การหนุนของคณะกรรมาธิการยุโรปและสมาคมอุตสาหกรรมยุโรป

ชวับ พยายามแนะนำให้บริษัทยุโรป รู้จักกับแนวทางการบริหารจัดการของอเมริกา (American management practices) จากนั้นซิมโพเซียมดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น The World Economic Forum เพื่อดึงผู้นำโลกมาร่วมประชุมที่เจนีวาร่วมกัน ในทุกมกราคมของทุกปี

ปัจจุบัน (2023) ชวับ ในวัย 85 ปี ยังคงดำรงตำแหน่ง Executive Chairman ของ WEF ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับ และผู้นำแถวหน้าทั่วโลกต้องเข้าร่วม WEF ระดมทุนจากบริษัทกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทระดับโลก โดยระดมทุนได้กว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจาก WEF แล้ว ในด้านหน้าที่การงาน เคลาส์ ชวับ รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านนโยบายทางธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเจนีวาตั้งแต่ปี 1972 จนถึงปี 2003 และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์จากการสอนที่นี่

นอกจากนี้ เขาคือผู้ริเริ่มตีพิมพ์ Global Competitiveness Report รายงานสรุปปีความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ตั้งแต่ปี 1979 และเป็นรายงานที่กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกมานานนับหลายสิบปี

 

วิธีคิดแบบ เคลาส์ ชวับ

แน่นอนว่า ชวับ เป็นหนึ่งในศาสตราจารย์ที่ศึกษาด้านเศรษฐกิจมาอย่างคร่ำหวอด และได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

มากไปกว่านั้น ในวัยกว่า 80 ปี เขายังดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด WEF ด้วยตัวเอง เพื่อติดตามความเป็นไปของโลกใบนี้อย่างใกล้ชิด 

หากดูจากตัวเลขอายุ อาจมีข้อสงสัยว่า เขาทำงานอย่างไรในวัยที่เลยเกษียณมาแล้ว – อันที่จริงเขาเคยเปิดเผยวิธีการทำงานของเขาให้ฟัง จากเวทีสัมมนา Leaders Forum ที่ TMA ร่วมกับ World Economic Forum จัดในปี 2019 ที่ประเทศไทย ชวับ บอกว่า…มี 5 หลักสำคัญ

เขาก่อตั้ง WEF จากความเชื่อว่ามันจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งการที่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันเศรษฐกิจโลก ตัวของเขาเองต้องมีกำลังการผลิตใน 5 เรื่องด้วยกัน คือ

‘สมอง’ ทำหน้าที่สำคัญ ไว้คิดพิจารณา แก้ปัญหาต่างๆ 

‘ตาและปาก’ ทำหน้าที่เชื่อมโยงเรากับมนุษย์คนอื่นๆ 

‘ใจ’ ทำหน้าที่สร้างแรงกระตุ้น Passion ให้เราขับเคลื่อนไปข้างหน้า 

‘กล้ามเนื้อ’ หมายถึงต้องมีร่างกายที่แข็งแรง เป็นพื้นฐานของการทำงานให้สำเร็จ 

‘บทบาท’ คือหน้าที่ จุดที่ยืนอยู่ ที่เราเป็นอยู่ และเราต้องทำตามหน้าที่นั้น

ทั้งนี้ ในปี 2023 การประชุมเศรษฐกิจโลก WEF จะเกิดขึ้นระหว่าง 16–20 มกราคม ภายใต้ธีมสำคัญ “Cooperation in a Fragmented World” แปลภาษาไทยได้ใจความโดยคร่าวว่า “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก” 

เพราะโลก ณ วันนี้มีจุดเปลี่ยนสำคัญมากมาย และมีวิกฤตเกิดขึ้นต่อเนื่อง การแก้ปัญหาคือทั่วโลกต้องดำเนินการร่วมกันอย่างรวดเร็วและกล้าหาญ

ประเด็นสำคัญนี้จะถูกปักหมุดให้ผู้นำทั่วโลกร่วมพูดคุย โดยเน้นการสนทนาเชิงสร้างสรรค์และลดการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อหาทางออกผ่านความร่วมมือโดยเร็วที่สุด

 

เรื่อง: narinari

ภาพ: Klaus Schwab เมื่อปี 2020 ไฟล์จาก Getty Images

อ้างอิง:

The Standard

MFA

Tech Sauce

WE Forum