26 ม.ค. 2566 | 13:41 น.
- ในยุค ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไทยประกาศยกเลิกระเบียบทรงผมของนักเรียน
- เป็นเวลายาวนานที่นักเรียนและคนรุ่นใหม่ในไทยเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบเรื่องทรงผม ซึ่งถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งในแง่อำนาจนิยมในไทย การยกเลิกครั้งนี้ยังถูกจับตาว่าจะได้ผลอย่างไร เมื่อทรงผมจะไปขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติของแต่ละสถานศึกษา
ภาพจำในอดีต ทุก 8 โมงเช้าของต้นเดือนนับเป็นความทรมานของเหล่านักเรียนที่จะต้องยืนตากแดดเพื่อรอตรวจผม ครูบางคนเอาไม้บรรทัดมาวัดขนาดความยาวของผมเป็นมิลลิเมตร ครูบางคนเอากรรไกรมาตัดผมนักเรียนที่ผมยาวให้แหว่งเพื่อเป็นการประจานและสร้างความอับอาย สะท้อนระบอบอำนาจนิยมภายในโรงเรียน
เพราะสิ่งที่ถูกทำลายไม่ใช่แค่ ‘ทรงผม’ แต่คือ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’
ใครเลยจะรู้ว่าเรื่องดังกล่าวบนหนังศีรษะ จะกลายเป็นจุดจบของหลาย ๆ ชีวิต เมื่อปี 2565 กลุ่มนักเรียนเลวออกมาเปิดเผยว่า ‘กาฟิว’ นักเรียน LGBTQIAN+ ถูกครูตำหนิเรื่องทรงผมที่ไม่ถูกระเบียบและถูกสั่งให้ไปตัดผม อีกทั้งยังถูกเพื่อนล้อว่าไม่สวย กลับมาเล่าให้คุณปู่คุณย่าฟัง ก่อนตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต ด้านคุณปู่ระบุ “ขอให้กาฟิวเป็นคนสุดท้ายที่ต้องมาเสียชีวิตด้วยระเบียบเหล่านี้”
น้องกาฟิวไม่ใช่เคสแรกที่โดนระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนทำร้าย เมื่อปี 2562 ที่จังหวัดระยอง นักเรียนชั้นม.1 ตัดสินใจลาโลกหนีความผิดหวัง ว่าตนคงไม่ได้เข้าสอบแน่ ๆ เพราะตัดผมไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่พยายามไปตัดผมแล้ว แต่ร้านใกล้บ้านปิดให้บริการ
ครั้งนั้น พระชาย วรธัมโม พระธรรมทูต จ.ปทุมธานี โพสต์เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจัดการกับโรงเรียนที่เคร่งครัดกับทรงผมของนักเรียนเกินไป ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง และส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
การต่อสู้เรียกร้องเรื่องทรงผม เราเห็นผ่านสื่อตลอดเวลา นับตั้งแต่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เมื่อครั้งยังเป็นเด็กมัธยม ออกมาเคลื่อนไหวในนามเลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทย ต่อเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 เนติวิทย์ ให้สัมภาษณ์ใน Way Magazine ขณะนั้นว่า
“เราต้องแก้ฐานคิดของสังคมไทย ฐานคิดของผู้บริหารการศึกษาไทย ให้เห็นประเด็นเรื่องความเป็นมนุษย์ ปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงคือการมองเห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ ตอนนี้พวกเขาไม่เห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ ถ้าเห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ เห็นทุกคนเป็นมนุษย์ ต้องให้พวกเขามีความสุขในการเรียน ไม่ใช่ไปพัฒนาอย่างอื่น ตอนนี้เขาเน้นไปที่ตัวอื่น ไม่เน้นความสุขของผู้เรียน”
นับตั้งแต่เนติวิทย์ ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวเหมือนกลายเป็นเผือกร้อนที่เมื่อมีการเปลี่ยนตัว ‘เสมา 1’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ละท่านจะมีท่าทีต่อประเด็นนี้อย่างไร และจุดเดือดสุดจนกลายเป็นกระแสแฮชแท็ก #ทรงผมบังเพื่อน เกิดในยุคของรัฐบาลพลังประชารัฐ เมื่อนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในยุครมว.ศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้ออกรายการดีเบทเรื่องนี้กับกลุ่มนักเรียนเลว และแสดงวิสัยทัศน์ให้นักเรียนตระหนักถึง ‘หน้าที่’ ไม่ใช่เพียง ‘สิทธิ’ โดยกล่าวว่า
“สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อ-แม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียน ผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนที่อยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม”
กลายเป็นภาพสะท้อนอำนาจนิยมมากขึ้น ซึ่งทางนายณัฏฐพล แก้ต่างเรื่องดังกล่าวว่า เยาวชนมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการแก้ไขปัญหาทันที คือการยกเลิก ข้อ 7 ของระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และยังได้มีการตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบทรงผมนักเรียนด้วย ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้เสนอแนวทางการปรับปรุงระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียนฯ แต่ท้ายที่สุดก็ไปติดกรอบการบังคับใช้ของแต่ละโรงเรียน
จนท้ายที่สุด เมื่อนายณัฏฐพล พ้นจากตำแหน่งจากคดี กปปส. เรื่องนี้ต้องถูกส่งต่อมายัง ‘เสมา 1’ คนต่อไป
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนแรกที่เป็นผู้หญิงเข้ามารับเรื่องนี้ต่อในปี 2564 ถ้าดูจากประวัติที่ผ่านมา ตรีนุช เองก็เคยผ่านงานกระทรวงศึกษาในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิริกร มณีรินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นอีกคนที่เป็นปูชนียบุคคลด้านการศึกษาไทยมาก่อน แต่เรื่องดังกล่าวนั้นไม่ง่ายเท่าที่คิด ตรีนุช ใช้เวลาผลักดันเรื่องนี้กว่า 2 ปีถึงจะเห็นความก้าวหน้า
ตรีนุช เองถือว่าเป็นรมว.ศึกษาธิการในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับระบบการเรียนการสอนในยุคของการเรียนออนไลน์ และยังต้องรับมือกับการกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบ on site อีกด้วย
และอีกเรื่องที่กลายเป็นข้อถกเถียงในสมัยของตรีนุช ก็คือเรื่องของการกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. โดยเธอคัดค้านการที่ผู้กู้ยืมไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะเชื่อว่าเพราะจะทำให้ผู้กู้ยืมขาดวินัย โดยช่วงเวลาดังกล่าวหลายพรรคการเมืองมีทั้งเสนอยกหนี้กยศ. รวมไปถึงการไม่คิดดอกเบี้ยกยศ. ในท้ายที่สุด สภาได้ผ่านร่างกฎหมายกู้ยืมกยศ. โดยให้จ่ายดอกเบี้ย 1%
โดยเริ่มมีสัญญาณไฟเขียวมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางตามความเหมาะสม นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย และข้อ 7 กำหนดให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้
เรื่องนี้ทางตรีนุช เองได้รับแรงกดดันจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปฏิรูปการศึกษา เดินทางมาแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรื่อง ‘เปิดเสรีทรงผมนักเรียน’ ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการตัดผมหน้ากระทรวงเพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์
ตรีนุช พูดถึงสถานการณ์ว่า เป็นความเข้าใจผิดด้านการสื่อสาร เพราะ ศธ. ไม่ได้มีระเบียบเรื่องของทรงผมกำหนดไว้ เนื่องจากโรงเรียนที่สังกัด ศธ. มีหลายบริบท ดังนั้น ศธ. จึงมีหน้าที่คุมระดับนโยบาย ส่วนเรื่องทรงผมเป็นอำนาจของโรงเรียน ผู้บริหาร และคณะกรรมการสถานศึกษา เป็นผู้ออกแบบและกำหนดมาตรการทรงผมของแต่ละโรงเรียน ไม่เกี่ยวข้องกับ ศธ.
ถ้าหากเราย้อนไล่เรียงที่มาว่า แล้วทำไมเด็กไทยต้องไว้ผมทรงนักเรียน เรื่องนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ได้อ้างอิงว่า เรื่องเครื่องแบบและทรงผมนั้นประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านความสัมพันธ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้นกับญี่ปุ่น ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) ของจอมพลถนอม กิตติขจร แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
จนท้ายที่สุด 24 มกราคม 2566 ตรีนุช ได้แถลงถึงแนวทางเกี่ยวกับทรงผมของศธ.ว่า ได้ลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง ซึ่งต่อไป หลังจากมีการประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียน ทั้งหมดจะอยู่ที่แต่ละสถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
ถ้ามองจากก้าวแรกในวันที่เนติวิทย์ ลุกขึ้นมายืนเด่นในการเรียกร้องเรื่องระเบียบทรงผมในวันที่สังคมบางส่วนยังมองว่าเป็นเรื่องของ ‘คนอยากหล่อ’ จนใช้เวลา 10 กว่าปีสังคมถึงตระหนักว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและอำนาจนิยม
เนติวิทย์ เคยกล่าวในรายการ Intelligence ของ VoiceTV ว่า
“ผมไม่ได้สู้เรื่องทรงผม แต่ผมกำลังสู้กับอำนาจ”
การเดินทางเรื่องนี้แสนยาวไกล และยังต้องจับตาว่าในทางปฏิบัติจริงจะเป็นเช่นไรต่อไป
อ้างอิง: