เบสบอลทีมชาติญี่ปุ่น: เหรียญทองโอลิมปิก กีฬามหาชนที่เป็น ‘ศาสนาใหม่’ ของชาติ

เบสบอลทีมชาติญี่ปุ่น: เหรียญทองโอลิมปิก กีฬามหาชนที่เป็น ‘ศาสนาใหม่’ ของชาติ
เบสบอลเป็นกีฬาที่คนไทยอาจไม่คุ้นเคย หรือหลายคนอาจดูไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่ที่ญี่ปุ่น ดินแดนอันร่ำรวยศิลปวัฒนธรรมและมีความชาตินิยมสูง กีฬาชนิดนี้ที่รับมาจากสหรัฐฯ กลับเป็นที่นิยมมาช้านาน ทั้งในด้านจำนวนผู้เล่นและผู้ชม เสน่ห์ของเบสบอลคือการเป็นกีฬาชิงไหวชิงพริบ ไม่เน้นการปะทะที่ก้าวร้าว ซึ่งเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่เริ่มเผยแพร่เข้ามาในสมัยเมจิ นอกจากนี้ เบสบอลยังกลายเป็นวัฒนธรรมป็อป และกีฬากระแสหลัก จากการโปรโมตของสื่อยักษ์ใหญ่ รวมถึงการ์ตูนมังงะและอนิเมะ สอดแทรกทัศนคติทีมเวิร์ก การรักษาวินัย และความมุ่งมั่นทุ่มเทด้วยหัวใจนักสู้ ที่นักเรียนมัธยมฯ ปลายทั่วประเทศที่เล่นเบสบอลมีความฝันที่จะพิชิต ‘โคชิเอ็ง’ กันสักครั้ง ด้วยเหตุนี้ การคว้าเหรียญทองเบสบอลโอลิมปิกเหรียญแรกบนแผ่นดินตัวเองได้ใน ‘โตเกียว 2020’ (+1) จึงเป็นมากกว่าความภูมิใจ แต่หมายถึงการฉลองให้กีฬาที่เป็นมากกว่าความบันเทิง หรือบางคนเรียกว่าเป็น ‘ศาสนาประจำชาติ’ ของญี่ปุ่นยุคใหม่เลยทีเดียว   จากนิวยอร์กสู่กีฬานักเรียนญี่ปุ่น แม้จุดเริ่มต้นของเบสบอลยังเป็นข้อถกเถียงกันไม่จบในหมู่นักประวัติศาสตร์ แต่ที่ยืนยันชัดเจน คือ กฎกติกาสมัยใหม่ร่างขึ้นครั้งแรกในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1845 โดยกลุ่มนักกีฬาที่ชื่อว่า ‘นิกเกอร์บอคเกอร์' ทีมนิกเกอร์บอคเกอร์เริ่มจัดการแข่งขันเบสบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1846 ด้วยการลงแข่งกับนักคริกเก็ต จนเบสบอลค่อย ๆ กลายเป็นที่นิยมและได้ฉายา ‘กิจกรรมยามว่างแห่งชาติ’ (national pastime) ของชาวอเมริกัน เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ ญี่ปุ่นย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตมาโตเกียว และเริ่มเปิดประเทศรับวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตก (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) ฮอเรซ วิลสัน ครูสอนภาษาชาวอเมริกันเดินทางไปสอนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมไคเซอิ อะคาเดมี ในปี 1872 และถูกบันทึกให้เป็นคนแรกที่นำเบสบอลเข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น ด้วยความรู้ที่เริ่มจากเหล่าครูและมิชชันนารีอเมริกันซึ่งทยอยตามเข้ามา ความนิยมในกีฬาเบสบอลช่วงแรกจึงจำกัดอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา โดยปี 1878 มีการตั้งทีมเบสบอลทีมแรกชื่อ ‘ชิมบาชิ แอธเลติก คลับ’ จากนั้นเบสบอลเริ่มแพร่หลายในหมู่นักเรียนนักศึกษามากขึ้น เมื่อสื่อญี่ปุ่นพากันกระพือข่าวทีมนักเรียนอิจิโกะ ไฮสคูล ในกรุงโตเกียว ลงแข่งชนะทีมของชาวต่างชาติจากสโมสรโยโกฮาม่า คันทรี แอนด์ แอธเลติก คลับ ในปี 1896 ข่าวนี้ช่วยปลุกกระแสให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พากันตั้งทีมเบสบอลขึ้นมา การแข่งขันเบสบอลประเพณีระหว่างสองมหาวิทยาลัยคู่รักคู่แค้นอย่าง ‘เคโอ - วาเซดะ’ คล้ายฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ของไทย ก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 1903 และยังคงจัดต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน   ความฝันเด็กมัธยมปลายอยากไปโคชิเอ็ง การแข่งขันเบสบอลทัวร์นาเมนต์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น คือ ศึกชิงแชมป์แห่งชาติของนักเรียนมัธยมฯ ปลาย ซึ่งรู้จักกันในนาม ‘โคชิเอ็ง’ โคชิเอ็ง คือ สังเวียนแข่งขันประจำปีที่เด็กมัธยมฯ ปลายผู้คลั่งไคล้เบสบอลล้วนใฝ่ฝันอยากเข้าร่วม แต่เส้นทางจะไปถึงรอบสุดท้ายที่โคชิเอ็ง สเตเดียม ในจังหวัดเฮียวโงะไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องฝ่าคู่แข่งนับหมื่นจากโรงเรียนมัธยมฯ ปลายกว่า 3,000 ทีมทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าสู่รอบสุดท้าย ทัวร์นาเมนต์นี้เริ่มจัดครั้งแรกในปี 1915 ที่โอซาก้า ก่อนย้ายมาโคชิเอ็ง สเตเดียม ซึ่งมีความจุ 80,000 ที่นั่ง ตั้งแต่ปี 1924 และกลายเป็นสนามศักดิ์สิทธิ์ของเด็กมัธยมฯ ปลายทั่วประเทศตั้งแต่นั้นมา โคชิเอ็งเป็นรายการถ่ายทอดสดกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในญี่ปุ่น มีเรตติ้งมากกว่า 50% เทียบกับรายการทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น ผู้เล่นที่โชว์ฟอร์มดี นอกจากจะกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน พวกเขายังมีโอกาสถูกแมวมองทาบทามไปเล่นลีกอาชีพ ซึ่งมีรายได้สูงและเป็นความฝันของวัยรุ่นเกือบทุกคนผู้ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ นอกจากชื่อเสียง เงินทอง และความสำเร็จ โคชิเอ็งยังเป็นบททดสอบของลูกผู้ชายในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะเป็นที่ปลูกฝังความเสียสละ ความจงรักภักดี การเชื่อฟังคำสั่ง และความภูมิใจในทีมและโรงเรียนที่ตนเองสังกัด ผู้เล่นที่เคยไปโคชิเอ็ง แม้จะไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่ยังมีโอกาสได้ค่าตอบแทนสูงจากหลายบริษัทที่ยินดีรับเป็นพนักงาน เพื่อส่งลงแข่งขันลีกย่อยในแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังอาจได้ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังแม้ผลการเรียนไม่ดี สิทธิพิเศษเหล่านี้เปรียบเหมือนเกียรติยศตลอดชีพที่ติดตัวผู้เข้าร่วมโคชิเอ็ง “เบสบอลมัธยมฯ ปลาย คือการเรียนรู้เรื่องจิตใจ พื้นสนามเปรียบเหมือนห้องเรียนของความบริสุทธิ์และยิมเนเซียมทางคุณธรรม นั่นคือความหมายที่แท้จริงของมัน” สึอิชุ โทบิตะ อดีตผู้จัดการทีมมหาวิทยาลัยวาเซดะกล่าว   สื่อผู้สร้างวัฒนธรรมป็อป อย่างไรก็ตาม ความนิยมในกีฬาเบสบอลของญี่ปุ่น แทบไม่มีโอกาสมาถึงจุดนี้ได้หากขาดแรงสนับสนุนของสื่อมวลชน โดยเฉพาะโยมิอุริ ชิมบุน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่มียอดพิมพ์มากที่สุดในโลก เฉพาะกรอบเช้าตกวันละ 7.7 ล้านฉบับ (มิ.ย. 2020) มัตสึทาโร่ โชริกิ เจ้าของโยมิอุริ ชิมบุน ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บิดา’ แห่งกีฬาเบสบอลอาชีพญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นผู้สร้างทีมเบสบอลอาชีพทีมแรกในปี 1934 ใช้ชื่อว่า ‘เดอะ เกรท เจแปน โตเกียว เบสบอล คลับ’ ต่อมาใช้ชื่อ ‘โตเกียว โยมิอุริ ไจแอนต์ส’ ทีมที่มีแฟนคลับมากที่สุดในลีกเบสบอลอาชีพในปัจจุบัน นอกจากเป็นเจ้าของสื่อและทีมกีฬายักษ์ใหญ่แล้ว ปี 1934 มัตสึทาโร่ยังทุ่มทุนจ้างทีมรวมดาราเมเจอร์ลีกเบสบอลของสหรัฐฯ (MLB) นำโดย เบบ รูธ ตำนานผู้เล่นทีมนิวยอร์ก แยงกีส์ เดินทางมาโปรโมตเบสบอลในญี่ปุ่น การเยือนญี่ปุ่นของ เบบ รูธ มีประชาชนออกมาต้อนรับตลอดสองข้างทางจากสถานีรถไฟโตเกียว - โรงแรมอิมพีเรียล กว่าครึ่งล้าน การตระเวนแข่งโชว์ของทีมรวมดารา MLB ตลอด 4 สัปดาห์ใน 12 เมืองทั่วญี่ปุ่น ยังสามารถปลุกความคลั่งไคล้ จน 2 ปีถัดมา ลีกเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่นจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้ลีกอาชีพปิดตัวลงไป แต่ในปี 1950 หลังสิ้นสุดสงคราม ลีกอาชีพใหม่ชื่อ นิปปอน โปรเฟสชันแนล เบสบอล (NPB) ได้ก่อตั้งขึ้นและมีทีมเข้าร่วมมากพอจนต้องแบ่งเป็น 2 ลีกย่อย คือ เซ็นทรัลลีก (เซลีก) และแปซิฟิกลีก (ปาลีก) หากโยมิอุริ ชิมบุน คือผู้มีพระคุณต่อลีกอาชีพ อาซาฮี ชิมบุน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อีกเจ้า คือผู้ริเริ่มลีกสมัครเล่นของนักเรียนมัธยมฯ ปลาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานโคชิเอ็ง เนื่องจากเป็นสปอนเซอร์จัดการแข่งขันเบสบอลชิงแชมป์แห่งชาติของเด็กมัธยมฯ ปลายตั้งแต่สมัยแรก อิทธิพลของสื่อทั้งสองยังส่งผลต่อการ์ตูนมังงะและอนิเมะในยุคต่อมา ซึ่งเริ่มมีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับกีฬาเบสบอลตั้งแต่ทศวรรษ 1940s และค่อย ๆ วิวัฒนาการด้านเนื้อหา จากแนวดราม่าสู่เกมการแข่งขันเข้มข้นและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ โดยเรื่องที่โด่งดังยุค 1960s คือ ‘Star of the Giants’ มังงะแนวกีฬาเบสบอล นอกจากพล็อตเรื่องส่วนใหญ่จะเน้นบอกเล่าชีวิตนักกีฬาตัวเล็ก ๆ และทีมรองบ่อน ซึ่งมุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมจนฝ่าอุปสรรคและเอาชนะทีมใหญ่ ก้าวไปเป็นแชมป์ได้ในที่สุด บางเรื่องยังเติมสีสันเกี่ยวกับมิตรภาพและความรักเข้าไปเพื่อให้เข้าถึงทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ยุค 1980s จนถึงปัจจุบัน อย่าง Touch, H2 และ Cross Game ผลงานของอาดาจิ มิซึรุ ไปจนถึง Rookies ผลงานของมาซาโนริ โมริตะ ก็เป็นมังงะและอนิเมะที่คนไทยหลายคนคุ้นเคย   จากมังงะสู่ชัยชนะในโอลิมปิก พล็อตเรื่องซึ่งปลูกฝังหัวใจนักสู้ให้กับนักกีฬาญี่ปุ่น สะท้อนออกมาได้ดีในกีฬาเบสบอลโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ เนื่องจากญี่ปุ่นยังไม่เคยคว้าเหรียญทองในกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศชนิดนี้ และหมายมั่นปั้นมือจะทำสำเร็จให้ได้ เบสบอลถูกถอดออกจากการแข่งขันโอลิมปิกหลังแข่งครั้งสุดท้ายใน ‘ปักกิ่ง 2008’ ซึ่งครั้งนั้นทีมชาติญี่ปุ่นจบแค่อันดับ 4 ดังนั้นโอลิมปิกครั้งนี้ พวกเขาจึงอาศัยความเป็นเจ้าภาพผลักดันเต็มที่ให้กลับมาบรรจุในตารางแข่งขันอีกครั้ง ญี่ปุ่นจริงจังกับการคว้าเหรียญทองเบสบอลโอลิมปิกถึงขั้นปิด NPB เพื่อเปิดทางให้นักกีฬาอาชีพที่เก่งที่สุดมาร่วมการแข่งขัน และพวกเขาก็ไม่ทำให้แฟนเจ้าภาพผิดหวัง จบรอบแบ่งกลุ่มด้วยตำแหน่งแชมป์กลุ่มเอ ชนะสาธารณรัฐโดมินิกัน 4 - 3 และชนะเม็กซิโก 7 - 4 รอบรองชนะเลิศ ญี่ปุ่นเอาชนะเกาหลีใต้ แชมป์เก่าจาก ‘ปักกิ่ง 2008’ ได้ 5 - 2 แต่ที่น่าภูมิใจที่สุดน่าจะเป็นการเอาชนะสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจเบสบอลได้ถึง 2 ครั้ง ในรอบสอง สกอร์ 7 - 6 และรอบชิงเหรียญทอง 2 - 0 “ผู้เล่นสหรัฐฯ แต่ละคนเก่งมาก หลายคนเล่นในเมเจอร์ลีกเบสบอล แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็คิดว่าเราชนะได้ถ้าเล่นในแบบของเรา และเราก็ทำได้จริง “เราเจอพวกเขา 2 เกม โดยเขายังไม่แพ้ใคร แต่เราก็เอาชนะได้ทั้ง 2 ครั้ง ผมคิดว่าเป็นเพราะพลังและความทุ่มเทของผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นทุกคน” อัตสึโนริ อินาบะ ผู้จัดการทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวอย่างภูมิใจ แม้ MLB จะไม่ปิดลีก ทำให้ทีมชาติสหรัฐฯ ต้องใช้นักกีฬาดาวรุ่งจากลีกล่าง ผสมกับผู้เล่นอาวุโสวัยปลาย 30 ปีมาแข่งขัน “ด้วยการคว้าเหรียญทองนี้ เราสามารถแสดงให้โลกเห็นถึงความแข็งแกร่งของกีฬาเบสบอลญี่ปุ่น” อินาบะกล่าวหลังจากเขาถูกลูกทีมจับโยนขึ้นฟ้าเพื่อฉลองเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่ทำได้ให้กับชาติเจ้าภาพในกีฬาชนิดนี้ หากการคว้าเหรียญทองฟุตบอลชาย คือ ความสำเร็จสูงสุดของบราซิลในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ‘ริโอ 2016’ การคว้าเหรียญทองเบสบอลใน ‘โตเกียว 2020’ ก็น่าจะเป็นความสำเร็จสูงสุดของเจ้าภาพญี่ปุ่นเช่นกัน นั่นคือการพิสูจน์ว่า กีฬาที่พวกเขารับมาจากต่างชาติกว่าร้อยปี และปลุกปั้นจนคลั่งไคล้ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ ถึงขั้นถูกขนานนามให้เป็น ‘ศาสนาใหม่ของชาติ’ ยังคงมีคุณค่า เป็นกีฬาที่เหมาะกับพวกเขา และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้อย่างแท้จริง   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/2021/08/07/sports/olympics/japan-olympics-baseball-gold-medal.html https://www.asianstudies.org/publications/eaa/archives/baseball-in-japan-and-the-us-history-culture-and-future-prospects/ https://www.manga-audition.com/the-evolution-of-baseball-manga/ https://asia.nikkei.com/Life-Arts/Life/Agony-and-ecstasy-Why-Japan-is-obsessed-with-high-school-baseball ภาพ: Getty Images